29 มีนาคม พ.ศ. 2561 ‘กรมพระศรีสวางควัฒนฯ’ เสด็จฯ เปิดนิทรรศการจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ สะท้อนอีกมุมพระปรีชาด้านงานศิลปะที่รัก ควบคู่ภารกิจนานัปการ

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 นับเป็นผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่รวบรวมมาจัดแสดงครั้งแรก ภายใต้ชื่อนิทรรศการศิลปกรรม ‘หลากลาย หลายชีวิต’ ขณะเดียวกันก็เป็นการนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ ในการทรงศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.)

โดยการนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดและทอดพระเนตรนิทรรศการ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยพระองค์ทรงพระนิพนธ์ในวิทยานิพนธ์ถึงแรงดลใจที่ทำให้สนพระทัยในการวาดรูปว่า

“สมเด็จแม่เคยรับสั่งว่าทรงมีลูกเพียง 4 คน โปรดที่จะให้ศึกษาในแขนงต่าง ๆ กัน เพื่อที่จะได้มาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้หลายด้าน ดังนั้นเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงศึกษาทางด้านอักษรศาสตร์ก่อนแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินใจมาเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ แม้จะชอบศิลปะก็ตาม”

“แต่เมื่อข้าพเจ้ากลับมาดำเนินชีวิตที่ผ่านมา ทำให้ข้าพเจ้าค้นพบตัวเองว่ายังมีสิ่งที่ข้าพเจ้ารัก และมีความสุขเมื่อได้คิดถึงและมีโอกาสทำได้ สิ่งนั้นคือ การทำงานศิลปะ ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ามีเวลาเหลือจากการปฏิบัติพระราชภาระ ข้าพเจ้ามีความสุขมากเมื่อได้ทำงานที่อยู่กับตัวเองและรู้สึกถึงโลกของตัวเอง มีอิสรภาพ ไม่คิดฝัน จินตนาการได้ตามใจไม่มีขีดจำกัด ความรู้สึกขณะนั้นทำให้เข้าใจและตระหนักรู้ได้ว่า สิ่งนี้อาจเป็นวิถีทางหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ได้พบกับความสุขที่แท้จริง ข้าพเจ้าจึงเลือกใช้การทำงานศิลปะเพื่อเป็นการบำบัดทุกข์ให้กับตัวเอง”

ส่วนแรงบันดาลพระทัยที่ทำให้ทรงวาดรูป ‘เสือ’ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

“เสือและสิงโตเป็นสัตว์สี่เท้าที่ข้าพเจ้ารักและสนใจมาตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้ข้าพเจ้าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้เสือและสิงโตเป็นรูปธรรมในการแสดงออกในผลงานศิลปะของข้าพเจ้า”

และเหนือสิ่งอื่นใด ‘พระราชบิดา’ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นแรงบันดาลพระทัยในผลงานศิลปะครั้งนี้ด้วย

“เสือที่ปรากฏในผลงานชุดวิทยานิพนธ์ คือรูปสัญลักษณ์แทนความหมายของเจ้าป่าหรือพระราชา เป็นราชาผู้ปกครองดินแดนด้วยพระเมตตา ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9”

“แรงบันดาลใจจากความใกล้ชิดผูกพัน เคารพรัก เทิดทูน และตระหนักซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ผสมผสานกับภาพลักษณ์ของเสือ สิ่งมีชีวิตที่สงบสง่าเป็นเจ้าป่า เป็นราชาแห่งพงไพร นำมาซึ่งการสร้างสรรค์ทางศิลปะเชิงจินตนาการ โดยหยิบยืมลักษณะของเสือที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตามาถ่ายทอดผ่านทักษะกระบวนการวาดเส้นและงานจิตรกรรม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในจิตใจภายใต้แนวคิด ราชาแห่งความรักและความเมตตา”

ส่วนรูปแบบและแนวความคิดของผลงานสร้างสรรค์ศิลปะ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเสนอในรูปแบบของงานศิลปะกึ่งแฟนตาซี กึ่งเหนือจริงผสมผสานกับคุณลักษณะของงานศิลปะที่ซื่อตรง บริสุทธิ์ใจ โดยไม่ยึดถือแนวทางตามหลักวิชาการ โดยทรงใช้เทคนิคการทรงงานด้วยสีวิทยาศาสตร์สำเร็จรูป ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ทรงงานด้านการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสีเมจิกหลายสีชนิดหัวแหลม เป็นสีน้ำที่ไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษ ไม่มีกลิ่นและทำลายสภาพแวดล้อม

ทั้งนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระนิพนธ์ในวิทยานิพนธ์ตอนหนึ่งว่า

“การสร้างสรรค์ผลงานชุดวิทยานิพนธ์ จะให้ความสำคัญกับการสื่อสารแสดงแนวคิดเกี่ยวกับเสือเจ้าป่า ผู้เปรียบเสมือนราชา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน โดยการสร้างสรรค์ของเสือท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปตามเรื่องราวของเนื้อหาในแต่ละภาพ เป็นเสือที่ใจดี มีเมตตา เพียรสอนสั่งและกระทำแต่สิ่งที่ดีงามเพื่อผู้อื่น เป็นเสือที่มีความรักและความปรารถนาดีต่อทุกคน เป็นเสือที่มีแต่ความรู้สึกด้านบวก มีพลังแห่งความดีงามอยู่ภายในจิตใจเสมอ”

ทั้งนี้ นิทรรศการศิลปกรรม ‘หลากลาย หลายชีวิต’ จัดแสดงภาพวาดฝีพระหัตถ์ชุดเสือและผีเสื้อในอิริยาบถต่างๆ รวม 239 ภาพ แบ่งเป็นนิทรรศการชั้น 1 จัดแสดงผลงานประติมากรรมเสือ, ชั้น 2 ภาพฝีพระหัตถ์ชุดเสือกับสิ่งแวดล้อมและการจัดวาง เสือกับสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์ และเสือกับจินตนาการสร้างสรรค์, ชั้น 3 เสือกับลายเส้น ขาว-ดำ อัตลักษณ์ของเสือ และเสือกับธรรมชาติ และชั้น 4 ภาพฝีพระหัตถ์ชุดผีเสื้อ ลวดแขวนชุดผีเสื้อ และผลงานอินเตอร์แอคทีฟ (Interactive) ชุดผีเสื้อ

ด้าน ศ.พิษณุ ศุภนิมิตร ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มศก. กล่าวว่า การที่พระองค์เสด็จเข้าศึกษาในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาทัศนศิลป์ ได้สร้างความแปลกใจแก่ตนอย่างมาก เนื่องจากพระองค์ทรงเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์มาก่อน จนกระทั่งมีผู้ขอพระราชทานถวายพระสมัญญาว่า ‘เจ้าฟ้านักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี’ แต่เมื่อเสด็จฯ มาทรงศึกษาในสาขาศิลปกรรม กลับทรงสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปกรรมในระดับเท่าเทียมกับศิลปินอาชีพ

“ในระหว่างทรงศึกษาในสาขาวิชาทัศนศิลป์ ทรงปฏิบัติพระองค์ดังเช่นนักศึกษาทั่วไป ทรงปฏิบัติตามเงื่อนไขของหลักสูตรและการสอน ทรงเสนอผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์เพื่อให้คณาจารย์กราบทูลสอนและแนะนำ จนมีจำนวนผลงานที่มากกว่านักศึกษาที่ศึกษากันตามปกติ แสดงให้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะกับผลงานมากกว่า 300 ชิ้น และเมื่อคณาจารย์กราบทูลสอนแต่ละครั้ง ทรงมีผลงานมากกว่า 10 ชิ้น มาพระราชทานคณาจารย์กราบทูลแนะนำทุกครั้ง ทำให้คณาจารย์ตั้งข้อสงสัยว่า การที่ต้องทรงปฏิบัติภารกิจอื่นๆ เป็นอันมาก แต่ยังทรงมีเวลาเพื่อทำงานศิลปะได้มากมายเช่นนั้นได้อย่างไร” ศ.พิษณุ กล่าว

ด้าน อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรมปี 2557 หนึ่งในคณาจารย์ผู้ถวายการสอน กล่าวว่า พระองค์เคยมีรับสั่งถึงแรงบันดาลพระทัยด้านศิลปะ มาจากการได้ทรงออกแบบจิวเวลรีให้บริษัทแห่งหนึ่งจากประเทศอังกฤษ ที่ว่าจ้างเพื่อนำไปผลิตและจำหน่าย ขณะที่ทรงนำรายได้จากการออกแบบไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กระทั่งทรงออกแบบต่อเนื่องเป็นหลายร้อยชิ้น จึงสนพระทัยงานศิลปะโดยตรงอย่างจริงจัง

“ตอนสอนก็สังเกตว่า พระองค์หากสนพระทัยด้านใด ก็จะไปศึกษาค้นคว้า แต่กับงานด้านศิลปะ ทราบว่าพระองค์ไม่เคยเรียนที่ไหนมาก่อน แต่ทรงศึกษาเองโดยธรรมชาติ จึงเป็นจุดเด่นของศิลปะของพระองค์คือ การใช้จินตนาการและความคิดที่มองข้ามการใช้ทักษะ อย่างวาดเสือ ผีเสื้อ ดอกไม้ จากจินตนาการกว่าความเป็นจริงทางธรรมชาติ และทรงต้องการจะสื่อความหมายออกมา”

“อย่างช่วงงานพระบรมศพในหลวง ร.9 ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ผีเสื้อกับดอกบัวที่สวยมาก ไปถวายที่เบื้องหน้าพระบรมโกศ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ไม่ได้นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ แต่ผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ที่นำมาจัดแสดงอื่น ๆ ก็สื่อไปด้วยความหมายต่อความรักความผูกพันที่มีต่อในหลวง ร.9 เช่น เสือที่นอนแนบกับแผ่นดิน เสือลุยไฟ ที่ต้องการสื่อถึงความยากลำบาก อุปสรรคของในหลวง ร.9 เสือที่มองเหลียวกลับมายังแผ่นดิน แฝงความหมายว่าในหลวง ร.9 มองมาที่แผ่นดินและราษฎร เหล่านี้ทรงสื่อความหมายเสือคือผู้ปกครองเหนือราชอาณาจักร อันสื่อถึงในหลวง ร.9 พระราชาผู้ปกครองแผ่นดินด้วยพระเมตตา”

ซึ่ง อ.ปัญญา จึงขอยกย่อง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ว่าทรงเป็นศิลปินที่หายากในโลก ด้วยทรงใช้เหตุผลและจินตนาการสร้างสรรค์ออกมาเป็นงานศิลปะ ดั่งศิลปินระดับโลก เช่น เลโอนาร์โด ดาวินชี และเหมือนอัครศิลปินคือ ในหลวง ร.9 และมีความเพียรในการวาดภาพฝีพระหัตถ์ โดยจะทรงพกกระดานวาดภาพไปทุกครั้ง อย่างบนเฮลิคอปเตอร์ก็ยังทรงงานด้านศิลปะ ทรงวาดภาพเป็นประจำทุกวัน กระทั่งภายใน 3 ปี มีภาพวาดฝีพระหัตถ์กว่า 300 ภาพดังกล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสื้อลายเสือ จากภาพวาดฝีพระหัตถ์ บริเวณบูธ Art Shop ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้นเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสสนับสนุนผลิตภัณฑ์ โดยเสื้อลายเสือจากภาพวาดฝีพระหัตถ์นี้ จะเป็นภาพเสือในอิริยาบถต่าง ๆ และด้านล่างจะมีลายเซ็นพระนาม ‘ChulabhornMahidol’ ทุกตัว ราคาจำหน่าย ‘เสื้อยืด’ 350 บาท และ ‘เสื้อโปโล’ 450 บาท โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะทูลเกล้าถวายสมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วยยากไร้ในพระอนุเคราะห์ สนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนและนักศึกษาที่เรียนดี ประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยพิบัติ ตลอดจนพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ และเสริมรายได้ให้ประชาชน