Friday, 10 May 2024
กรมพระศรีสวางควัฒน

๔ กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าคณะผู้บริหารและพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIME

4 กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระนาม จุฬาภรณ์ หมายถึง การอัญเชิญพระนาม "จุฬา" ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นคำต้นพระนามของพระองค์ เนื่องด้วยในวันประสูตินั้น เป็นวันมหาปีติของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ทรงเริ่มศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงได้รับการปลูกฝังทางศิลปะ นาฏศิลป์และดนตรี จากพระอาจารย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งยังทรงสนพระทัยวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันโปรดศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาศิลปะควบคู่กันไป โดยทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมปลาย เพื่อนำความรู้มาต่อยอดทำประโยชน์เพื่อความสุขของประชาชน

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย ทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงสอบได้ที่ 1 ในวิชาเคมีและชีววิทยา ทั้งยังทรงได้รับรางวัลเรียนดีจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ

พ.ศ.2528 ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ยังทรงสำเร็จการอบรมระดับหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอูล์ม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

พ.ศ.2550 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ.2557 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำความรู้ไปช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ

ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงอุทิศพระวรกายเพื่ออาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุข อยู่ดีกินดี และร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ไม่ว่าจะในแขนงใด

4 กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระนาม จุฬาภรณ์ หมายถึง การอัญเชิญพระนาม 'จุฬา' ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นคำต้นพระนามของพระองค์ เนื่องด้วยในวันประสูตินั้น เป็นวันมหาปีติของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ทรงเริ่มศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงได้รับการปลูกฝังทางศิลปะ นาฏศิลป์และดนตรี จากพระอาจารย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งยังทรงสนพระทัยวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันโปรดศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาศิลปะควบคู่กันไป โดยทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมปลาย เพื่อนำความรู้มาต่อยอดทำประโยชน์เพื่อความสุขของประชาชน

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย ทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงสอบได้ที่ 1 ในวิชาเคมีและชีววิทยา ทั้งยังทรงได้รับรางวัลเรียนดีจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ

พ.ศ.2528 ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ยังทรงสำเร็จการอบรมระดับหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอูล์ม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

พ.ศ.2550 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ.2557 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำความรู้ไปช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ

ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงอุทิศพระวรกายเพื่ออาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุข อยู่ดีกินดี และร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ไม่ว่าจะในแขนงใด

ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์นั้น ทรงมีพระราชปณิธานในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยทรงแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ของชาวโลก

ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จากยูเนสโก ในปี พ.ศ.2530

ทรงก่อตั้งมูลนิธิจุฬาภรณ์ขึ้น ก่อนพัฒนาเป็นสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ต่อมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย ทั้งทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการทางการแพทย์และการเงินแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ทำให้ทรงได้รับการยกย่องเป็น เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) และได้เสด็จฯไปทรงร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิ พอ.สว. ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยทุกภูมิภาคของไทย

ทรงมีพระเมตตาแผ่ถึงบรรดาสัตว์ป่วยอนาถา ทรงรับเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนิน “โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ทั้งยังมีพระดำริให้ก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์ขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศด้วย

พระอัจฉริยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมของพระองค์ยังได้ฉายชัด ทรงดนตรี ทรงขับร้องเพลง ทรงนิพนธ์เพลง ทรงวาดภาพ และทรงออกแบบเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ทรงเชี่ยวชาญเปียโน และกีตาร์

พ.ศ.2543 ขณะเสด็จฯ ไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนได้บรรเลง 'กู่เจิง' ถวาย ทำให้ทรงประทับใจและมุ่งมั่นศึกษา ฝึกซ้อมอย่างจริงจัง จนถึงระดับสูงสุด โดยทรงมีพระดำริให้จัดการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม 'สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน' กระชับสัมพันธไมตรีไทยกับจีน

ทรงออกแบบเครื่องประดับผนวกกับงานการกุศล เช่นโครงการ 'ถักร้อย สร้อยรัก' และโครงการ 'ดร.น้ำจิต' นำรายได้สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทั้งยังทรงจัดนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองด้วย

ด้านการศาสนา ทรงดำรงพระองค์เป็นพุทธมามกะ และพุทธศาสนูปถัมภก เอาพระทัยใส่ในพุทธศาสนา ทั้งยังทรงเป็นประธานของโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการเฉลิมพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี" เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏและเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1

'กรมพระศรีสวางควัฒนฯ' โปรดเกล้าให้นำผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ CM 1957 มาจำหน่าย โดยรายได้นำไปสมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ยากไร้

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2565 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จทอดพระเนตรการออกร้านจัดแสดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของจังหวัดอุดรธานี ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าอุดรธานี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี นำ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ มาร่วมจัดกิจกรรม เพื่อประชาสัมพันธ์ สินค้า OTOP ของดีของจังหวัด 

พระองค์ทรงโปรดให้นำผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ CM 1957 และโครงการถักร้อยสร้อยรัก จากร้านค้าในพระดำริ 906 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงออกแบบ มาจำหน่าย อาทิ สร้อยมุก, ต่างหูมุก, เข็มกลัด, กระเป๋า, นาฬิกา, พวงกุญแจ โดยรายได้นำไปสมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ยากไร้ของมูลนิธิจุฬาภรณ์, มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ และมูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วยและสัตว์ไร้ที่พึ่ง ในพระอุปถัมภ์ 

ปัจจุบัน จังหวัดอุดรธานี มีการส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ผลิตชุมชน ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีกลุ่มผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ที่ลงทะเบียน OTOP จำนวน 1,669 กลุ่ม ส่วนผลิตภัณฑ์ในชุมชน มีการลงทะเบียนสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น รวม 3,406 ผลิตภัณฑ์ สำหรับกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 3-5 ดาว ที่เข้าร่วมแสดงสินค้ามี 20 กลุ่ม อาทิ...

กลุ่มหัตถกรรมพื้นเมืองบ้านผาสิงห์ ตำบลหมากหญ้า, กลุ่มทอผ้าไหมหมี่ขิดบ้านศรีชมชื่น ตำบลหนองอ้อ, กลุ่มทอผ้าชุมชนคุณธรรมวัดโนนสว่าง, กลุ่มผ้าไหมแพรวา ของชุมชนภูไทดำจังหวัดกาฬสินธุ์ 

ทั้งนี้ สินค้า OTOP ของจังหวัดอุดรธานี เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการทางความคิด การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการรักษาภูมิปัญญาไทย ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้สร้างมูลค่าให้กับการท่องเที่ยว เชิงศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ของจังหวัดอุดรธานีด้วย

24 มีนาคม พ.ศ. 2565 ‘กรมพระศรีสวางควัฒนฯ’ พระราชทานพระโอวาทแก่บัณฑิต ม.เกษตรศาสตร์ “ผู้มีความกตัญญูรู้คุณ ย่อมปรารถนาที่จะตอบแทนคุณในทางที่ดีที่ชอบ”

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตบางเขน ทรงเปิดอาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา ซึ่งสร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงได้รับการยกย่องเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา รวมถึงในโอกาสการสถาปนา คณะวิทยาศาสตร์ครบรอบ 50 ปี โดยได้รับพระราชทานนาม จากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พร้อมกับพระราชทานพระอนุญาต ให้เชิญอักษรพระนาม จภ. ประดับที่อาคาร โดยเป็นอาคารคู่ สูง 6 ชั้น และ 12 ชั้น ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2561

ภายในมีการออกแบบ ให้เป็นอาคารต้นแบบประหยัดพลังงาน ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน รองรับงานปฏิบัติการค้นคว้าวิจัย และการจัดประชุมสัมมนา ตลอดจนการดำเนินงานอื่นๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ ในการส่งเสริมการผลิตบัณฑิต ที่มีศักยภาพสูง มีความพร้อมในการทำงาน และสร้างสรรค์คุณค่าให้เกิดประโยชน์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ และการจัดการเทคโนโลยี ที่รวบรวมผลงาน ด้านวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่น ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ แก่บุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมชุมชนและสังคม ให้นำความรู้ไปเป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทางการเกษตร อาหาร พลังงาน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนต่อไป

จากนั้น เวลา 13.37 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เสด็จแทนพระองค์ ไปยังอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 4 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีผลงานดีเด่น เข้ารับพระราชทานปริญญา ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 1 คน มีผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี จากคณะศึกษาศาสตร์, คณะเศรษฐศาสตร์ ศรีราชา, คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศรีราชา, คณะพาณิชยนาวี-นานาชาติ, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะวิทยาการจัดการ และคณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รวม 1,714 คน

โอกาสนี้ พระราชทานพระโอวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า "ในวันนี้ ใคร่จะกล่าวเพิ่มเติม ถึงคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง อีกประการหนึ่ง คือความกตัญญู ความกตัญญูนั้น หมายถึง ความตระหนักรู้ถึงคุณความดี ของบุคคลต่าง ๆ และสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น ว่าบิดามารดาและผู้ปกครอง ซึ่งให้ชีวิตและเลี้ยงดูมา ครูบาอาจารย์ ซึ่งถ่ายทอดสรรพวิชา และอบรม บ่มนิสัย สังคมและชาติบ้านเมือง ซึ่งเป็นที่อยู่ที่อาศัย และประกอบอาชีพการงาน ผู้มีความกตัญญูรู้คุณ ย่อมปรารถนาที่จะตอบแทนคุณ ด้วยการประพฤติตน ปฏิบัติงานแต่ในทางที่ดีที่ชอบ ก่อให้เกิดผลดี ที่พึงประสงค์ คือความเจริญมั่นคง ทั้งในชีวิตและกิจการงาน พร้อมทุกส่วน จึงขอให้บัณฑิตทุกคน พิจารณาคุณค่าของความกตัญญู ให้ทราบชัด แล้วตั้งใจปลูกฝัง สร้างเสริมคุณธรรมข้อนี้ให้งอกงาม"

29 มีนาคม พ.ศ. 2561 ‘กรมพระศรีสวางควัฒนฯ’ เสด็จฯ เปิดนิทรรศการจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ สะท้อนอีกมุมพระปรีชาด้านงานศิลปะที่รัก ควบคู่ภารกิจนานัปการ

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 นับเป็นผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่รวบรวมมาจัดแสดงครั้งแรก ภายใต้ชื่อนิทรรศการศิลปกรรม ‘หลากลาย หลายชีวิต’ ขณะเดียวกันก็เป็นการนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ ในการทรงศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.)

โดยการนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดและทอดพระเนตรนิทรรศการ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยพระองค์ทรงพระนิพนธ์ในวิทยานิพนธ์ถึงแรงดลใจที่ทำให้สนพระทัยในการวาดรูปว่า

“สมเด็จแม่เคยรับสั่งว่าทรงมีลูกเพียง 4 คน โปรดที่จะให้ศึกษาในแขนงต่าง ๆ กัน เพื่อที่จะได้มาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้หลายด้าน ดังนั้นเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงศึกษาทางด้านอักษรศาสตร์ก่อนแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินใจมาเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ แม้จะชอบศิลปะก็ตาม”

“แต่เมื่อข้าพเจ้ากลับมาดำเนินชีวิตที่ผ่านมา ทำให้ข้าพเจ้าค้นพบตัวเองว่ายังมีสิ่งที่ข้าพเจ้ารัก และมีความสุขเมื่อได้คิดถึงและมีโอกาสทำได้ สิ่งนั้นคือ การทำงานศิลปะ ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ามีเวลาเหลือจากการปฏิบัติพระราชภาระ ข้าพเจ้ามีความสุขมากเมื่อได้ทำงานที่อยู่กับตัวเองและรู้สึกถึงโลกของตัวเอง มีอิสรภาพ ไม่คิดฝัน จินตนาการได้ตามใจไม่มีขีดจำกัด ความรู้สึกขณะนั้นทำให้เข้าใจและตระหนักรู้ได้ว่า สิ่งนี้อาจเป็นวิถีทางหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ได้พบกับความสุขที่แท้จริง ข้าพเจ้าจึงเลือกใช้การทำงานศิลปะเพื่อเป็นการบำบัดทุกข์ให้กับตัวเอง”

ส่วนแรงบันดาลพระทัยที่ทำให้ทรงวาดรูป ‘เสือ’ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

“เสือและสิงโตเป็นสัตว์สี่เท้าที่ข้าพเจ้ารักและสนใจมาตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้ข้าพเจ้าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้เสือและสิงโตเป็นรูปธรรมในการแสดงออกในผลงานศิลปะของข้าพเจ้า”

และเหนือสิ่งอื่นใด ‘พระราชบิดา’ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นแรงบันดาลพระทัยในผลงานศิลปะครั้งนี้ด้วย

“เสือที่ปรากฏในผลงานชุดวิทยานิพนธ์ คือรูปสัญลักษณ์แทนความหมายของเจ้าป่าหรือพระราชา เป็นราชาผู้ปกครองดินแดนด้วยพระเมตตา ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9”

“แรงบันดาลใจจากความใกล้ชิดผูกพัน เคารพรัก เทิดทูน และตระหนักซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ผสมผสานกับภาพลักษณ์ของเสือ สิ่งมีชีวิตที่สงบสง่าเป็นเจ้าป่า เป็นราชาแห่งพงไพร นำมาซึ่งการสร้างสรรค์ทางศิลปะเชิงจินตนาการ โดยหยิบยืมลักษณะของเสือที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตามาถ่ายทอดผ่านทักษะกระบวนการวาดเส้นและงานจิตรกรรม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในจิตใจภายใต้แนวคิด ราชาแห่งความรักและความเมตตา”

ส่วนรูปแบบและแนวความคิดของผลงานสร้างสรรค์ศิลปะ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเสนอในรูปแบบของงานศิลปะกึ่งแฟนตาซี กึ่งเหนือจริงผสมผสานกับคุณลักษณะของงานศิลปะที่ซื่อตรง บริสุทธิ์ใจ โดยไม่ยึดถือแนวทางตามหลักวิชาการ โดยทรงใช้เทคนิคการทรงงานด้วยสีวิทยาศาสตร์สำเร็จรูป ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ทรงงานด้านการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสีเมจิกหลายสีชนิดหัวแหลม เป็นสีน้ำที่ไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษ ไม่มีกลิ่นและทำลายสภาพแวดล้อม

ทั้งนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระนิพนธ์ในวิทยานิพนธ์ตอนหนึ่งว่า

“การสร้างสรรค์ผลงานชุดวิทยานิพนธ์ จะให้ความสำคัญกับการสื่อสารแสดงแนวคิดเกี่ยวกับเสือเจ้าป่า ผู้เปรียบเสมือนราชา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน โดยการสร้างสรรค์ของเสือท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปตามเรื่องราวของเนื้อหาในแต่ละภาพ เป็นเสือที่ใจดี มีเมตตา เพียรสอนสั่งและกระทำแต่สิ่งที่ดีงามเพื่อผู้อื่น เป็นเสือที่มีความรักและความปรารถนาดีต่อทุกคน เป็นเสือที่มีแต่ความรู้สึกด้านบวก มีพลังแห่งความดีงามอยู่ภายในจิตใจเสมอ”

ทั้งนี้ นิทรรศการศิลปกรรม ‘หลากลาย หลายชีวิต’ จัดแสดงภาพวาดฝีพระหัตถ์ชุดเสือและผีเสื้อในอิริยาบถต่างๆ รวม 239 ภาพ แบ่งเป็นนิทรรศการชั้น 1 จัดแสดงผลงานประติมากรรมเสือ, ชั้น 2 ภาพฝีพระหัตถ์ชุดเสือกับสิ่งแวดล้อมและการจัดวาง เสือกับสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์ และเสือกับจินตนาการสร้างสรรค์, ชั้น 3 เสือกับลายเส้น ขาว-ดำ อัตลักษณ์ของเสือ และเสือกับธรรมชาติ และชั้น 4 ภาพฝีพระหัตถ์ชุดผีเสื้อ ลวดแขวนชุดผีเสื้อ และผลงานอินเตอร์แอคทีฟ (Interactive) ชุดผีเสื้อ

ด้าน ศ.พิษณุ ศุภนิมิตร ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มศก. กล่าวว่า การที่พระองค์เสด็จเข้าศึกษาในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาทัศนศิลป์ ได้สร้างความแปลกใจแก่ตนอย่างมาก เนื่องจากพระองค์ทรงเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์มาก่อน จนกระทั่งมีผู้ขอพระราชทานถวายพระสมัญญาว่า ‘เจ้าฟ้านักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี’ แต่เมื่อเสด็จฯ มาทรงศึกษาในสาขาศิลปกรรม กลับทรงสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปกรรมในระดับเท่าเทียมกับศิลปินอาชีพ

“ในระหว่างทรงศึกษาในสาขาวิชาทัศนศิลป์ ทรงปฏิบัติพระองค์ดังเช่นนักศึกษาทั่วไป ทรงปฏิบัติตามเงื่อนไขของหลักสูตรและการสอน ทรงเสนอผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์เพื่อให้คณาจารย์กราบทูลสอนและแนะนำ จนมีจำนวนผลงานที่มากกว่านักศึกษาที่ศึกษากันตามปกติ แสดงให้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะกับผลงานมากกว่า 300 ชิ้น และเมื่อคณาจารย์กราบทูลสอนแต่ละครั้ง ทรงมีผลงานมากกว่า 10 ชิ้น มาพระราชทานคณาจารย์กราบทูลแนะนำทุกครั้ง ทำให้คณาจารย์ตั้งข้อสงสัยว่า การที่ต้องทรงปฏิบัติภารกิจอื่นๆ เป็นอันมาก แต่ยังทรงมีเวลาเพื่อทำงานศิลปะได้มากมายเช่นนั้นได้อย่างไร” ศ.พิษณุ กล่าว

ด้าน อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรมปี 2557 หนึ่งในคณาจารย์ผู้ถวายการสอน กล่าวว่า พระองค์เคยมีรับสั่งถึงแรงบันดาลพระทัยด้านศิลปะ มาจากการได้ทรงออกแบบจิวเวลรีให้บริษัทแห่งหนึ่งจากประเทศอังกฤษ ที่ว่าจ้างเพื่อนำไปผลิตและจำหน่าย ขณะที่ทรงนำรายได้จากการออกแบบไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กระทั่งทรงออกแบบต่อเนื่องเป็นหลายร้อยชิ้น จึงสนพระทัยงานศิลปะโดยตรงอย่างจริงจัง

“ตอนสอนก็สังเกตว่า พระองค์หากสนพระทัยด้านใด ก็จะไปศึกษาค้นคว้า แต่กับงานด้านศิลปะ ทราบว่าพระองค์ไม่เคยเรียนที่ไหนมาก่อน แต่ทรงศึกษาเองโดยธรรมชาติ จึงเป็นจุดเด่นของศิลปะของพระองค์คือ การใช้จินตนาการและความคิดที่มองข้ามการใช้ทักษะ อย่างวาดเสือ ผีเสื้อ ดอกไม้ จากจินตนาการกว่าความเป็นจริงทางธรรมชาติ และทรงต้องการจะสื่อความหมายออกมา”

“อย่างช่วงงานพระบรมศพในหลวง ร.9 ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ผีเสื้อกับดอกบัวที่สวยมาก ไปถวายที่เบื้องหน้าพระบรมโกศ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ไม่ได้นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ แต่ผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ที่นำมาจัดแสดงอื่น ๆ ก็สื่อไปด้วยความหมายต่อความรักความผูกพันที่มีต่อในหลวง ร.9 เช่น เสือที่นอนแนบกับแผ่นดิน เสือลุยไฟ ที่ต้องการสื่อถึงความยากลำบาก อุปสรรคของในหลวง ร.9 เสือที่มองเหลียวกลับมายังแผ่นดิน แฝงความหมายว่าในหลวง ร.9 มองมาที่แผ่นดินและราษฎร เหล่านี้ทรงสื่อความหมายเสือคือผู้ปกครองเหนือราชอาณาจักร อันสื่อถึงในหลวง ร.9 พระราชาผู้ปกครองแผ่นดินด้วยพระเมตตา”

ซึ่ง อ.ปัญญา จึงขอยกย่อง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ว่าทรงเป็นศิลปินที่หายากในโลก ด้วยทรงใช้เหตุผลและจินตนาการสร้างสรรค์ออกมาเป็นงานศิลปะ ดั่งศิลปินระดับโลก เช่น เลโอนาร์โด ดาวินชี และเหมือนอัครศิลปินคือ ในหลวง ร.9 และมีความเพียรในการวาดภาพฝีพระหัตถ์ โดยจะทรงพกกระดานวาดภาพไปทุกครั้ง อย่างบนเฮลิคอปเตอร์ก็ยังทรงงานด้านศิลปะ ทรงวาดภาพเป็นประจำทุกวัน กระทั่งภายใน 3 ปี มีภาพวาดฝีพระหัตถ์กว่า 300 ภาพดังกล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสื้อลายเสือ จากภาพวาดฝีพระหัตถ์ บริเวณบูธ Art Shop ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้นเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสสนับสนุนผลิตภัณฑ์ โดยเสื้อลายเสือจากภาพวาดฝีพระหัตถ์นี้ จะเป็นภาพเสือในอิริยาบถต่าง ๆ และด้านล่างจะมีลายเซ็นพระนาม ‘ChulabhornMahidol’ ทุกตัว ราคาจำหน่าย ‘เสื้อยืด’ 350 บาท และ ‘เสื้อโปโล’ 450 บาท โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะทูลเกล้าถวายสมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วยยากไร้ในพระอนุเคราะห์ สนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนและนักศึกษาที่เรียนดี ประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยพิบัติ ตลอดจนพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ และเสริมรายได้ให้ประชาชน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top