Thursday, 8 June 2023
TODAY SPECIAL

20 มีนาคม พ.ศ. 2279 วันพระบรมราชสมภพ ล้นเกล้า รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

วันนี้ เมื่อ 287 ปี เป็นวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ล้นเกล้า รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิม ด้วง หรือทองด้วง เป็นบุตรพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีกรมพระคลังในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับท่านหยก ธิดาเศรษฐีจีน มีพระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 

ต่อมาได้ทรงรับราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต จนพระชนมพรรษาครบ 21 พรรษา ได้ทรงผนวช ณ วัดมหาทลายพรรษาหนึ่ง หลังจากทรงลาผนวชแล้วทรงกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอีกครั้ง ครั้นพระชนมพรรษาได้ 25 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร ออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรี

ใน พ.ศ. 2311 หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ได้โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปปราบก๊กต่าง ๆ จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจ

ต่อจากนั้นทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นแม่ทัพไปปราบหัวเมืองต่าง ๆ หลายครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จความชอบให้เป็นพระยายมราช และทรงทำหน้าที่สมุหนายกด้วย 

ในปีต่อมาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม

19 มีนาคม พ.ศ.2533 วันสถาปนาคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นับเป็นคณะแพทยศาสตร์ลำดับที่ 9 ของประเทศไทย

วันนี้ เมื่อ 33 ปีก่อน เป็นวันสถาปนา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็นคณะแพทยศาสตร์ ลำดับที่ 9 ของประเทศไทย

นโยบายจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 โดยมี ศ.ปรีดี พนมยงศ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีขณะนั้น จัดตั้งคณะกรรมการร่างโครงการจัดตั้งขึ้นชุดหนึ่ง และได้ดำเนินการอย่างจริงจังในสมัย ศาสตราจารย์คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 8/2526 ได้ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับนโยบายทางวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ประยุกต์ โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตแพทย์ และมอบหมายให้อธิการบดีดำเนินการตามนโยบาย

โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินตามแผนโดยการสร้างโรงพยาบาลขึ้น โดยศาสตราจารย์คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มีคำสั่ง ที่ 747/2529 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2529 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาทุนสร้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีศาสตราจารย์ สุธี นาทวรทัน เป็นประธานกรรมการ และ นายประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น เป็นประธานกิตติมศักดิ์ ระดมทุนจากศิษย์เก่าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การดำเนินการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ ได้ดำเนินการต่อมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นชอบด้วยตามหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร.0203/126 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2529 ซึ่งอธิการบดีได้พบปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ขอดำเนินการโรงพยาบาลให้ครบ 1 ปีก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานของคณะแพทยศาสตร์ แล้วจึงจะดำเนินการเรื่องคณะแพทยศาสตร์ โดยมีการสานต่อในสมัย ศาสตราจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในปี พ.ศ. 2531

18 มีนาคม ของทุกปี ‘วันท้องถิ่นไทย’ รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ร.5

18 มีนาคม ของทุกปี เป็น วันท้องถิ่นไทย เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะ ตำบลท่าฉลอมขึ้นเป็นสุขาภิบาลท่าฉลอม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 ถือเป็น 'ปฐมบทแห่งการปกครองท้องถิ่นไทย'

ในปี ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานดำริในการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่นขึ้น โดยทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ 'พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116' ขึ้นจากการที่ทรงมอบหมายให้ไปศึกษาดูงานการปกครองในแถบประเทศพม่า มลายู และยุโรป และได้เริ่มทำการทดลองเพื่อเป็นการศึกษาขึ้นในกรุงเทพมหานคร แต่การบริหารงานของสุขาภิบาลกรุงเทพฯ นี้ดำเนินการโดยข้าราชการทั้งหมด จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 เป็นการปกครองท้องถิ่น เนื่องจากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลแห่งแรกขึ้นที่ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร อันถือเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของชาติไทย ปฐมบทแห่งการปกครองท้องถิ่น รากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

‘กลุ่มสตรี-อสม.น่าน’ ผุดไอเดีย ส่งอาหารให้กลุ่มเปราะบาง เพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันน้ำใจ เอื้ออาทรต่อกัน

‘น่าน’ ผุดไอเดียเจ๋ง ‘ไรเดอร์อิป้อ อิแม่’ ส่งข้าวส่งน้ำให้กลุ่มเปราะบาง

(17 มี.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.น่าน ว่า เทศบาลเมืองน่าน ริเริ่มโครงการ ‘ไรเดอร์ อิป้อ อิแม่’ นำโดยนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ทำการส่งข้าวส่งน้ำให้กับกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมืองน่าน โดยกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ได้ประสานความร่วมมือไปยังสมาชิกสภาเทศบาล หัวหน้าบ้าน ผู้นำชุมชน กลุ่มสตรีเทศบาลเมืองน่าน และ อสม. ช่วยคัดกรองหาชาวบ้านกลุ่มเปราะบางที่มีความต้องการปัจจัยจำเป็นในการยังชีพโดยเฉพาะอาหารและน้ำดื่ม เบื้องต้นมีจำนวน 8 ราย จาก 6 ชุมชน

นายสุรพล กล่าวว่า เทศบาลเมืองน่านได้ริเริ่มโครงการ ‘ไรเดอร์ อิป้อ อิแม่’ ขึ้นเป็นครั้งแรก จากการสำรวจข้อมูลประชากรในพื้นที่เทศบาลเมืองน่าน พบว่า มีประชาชนจำนวนหนึ่งยังต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอาหาร และปัจจัยในการดำรงชีพ โดยแหล่งงบประมาณมาจากการจัดทำผ้าป่าสามัคคีของกลุ่มสตรีเทศบาลเมืองน่าน นอกจากนี้กลุ่มสตรีเทศบาลเมืองน่าน ยังใช้เอกลักษณ์การสวมใส่ผ้าถุง หรือผ้าซิ่น และการฟ้อนล่องน่านประยุกต์ทำการแสดงเปิดรับบริจาคจากนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ณ ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่านและงานอีเวนต์ต่าง ๆ เบื้องต้นระดมทุนได้ราว 100,000 บาท เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าวัตถุดิบปรุงอาหารได้ตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ กลุ่มสตรีทั้ง 31 ชุมชน หมุนเวียนทำหน้าที่จิตอาสาประกอบอาหารจัดทำเป็นชุดอาหารกลางวัน เพื่อรอเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองน่าน มารับชุดอาหารดังกล่าวนำไปส่งให้ชาวบ้าน ที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือดังกล่าวแบบ Food Delivery โดยเริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 และมีแนวโน้มที่จะขยายการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือให้สังคมมีคุณภาพ สังคมแห่งการแบ่งปันและสังคมแห่งความเอื้ออาทร ตามนโยบาย “เมืองน่าน เมืองมงคล คนใจดี” ต่อไป

17 มีนาคม ของทุกปี วันนักมวย หรือ วันมวยไทย รำลึกถึงบรมครูมวยไทย ‘นายขนมต้ม’

วันมวยไทย หรือวันนักมวย ตรงกับวันที่ 17 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งในวันนี้ถือเป็นวันระลึกเหตุการณ์ในอดีตสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 ที่ ‪ 

วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2317 นายขนมต้ม‬ นักมวยคาดเชือกชาวกรุงศรีอยุธยา ได้ขึ้นชกมวยต่อหน้าพระที่นั่งพระเจ้ามังระ และสามารถชนะได้ถึงสิบคน ทำให้ศิลปะการต่อสู้ การป้องกันตัวของไทยได้เป็นที่รู้จัก และมีชื่อเสียงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาพร้อมกันนี้นายขนมต้มยังได้รับการยกย่องให้เป็นเสมือน 'บิดามวยไทย' อีกด้วย

นายขนมต้ม เกิดที่ตำบล บ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายเกิดและ นางอี มีพี่สาวชื่อ เอื้อย แต่หลังการบุกของทัพพม่าได้ทำให้พ่อแม่และพี่สาวถูกพม่าฆ่าตายทั้งหมด มีเพียงแต่นายขนมต้มคนเดียว ที่รอดชีวิตมาได้ จากการถูกจับเป็นเชลยในระหว่างการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และได้ไปอาศัยอยู่ในวัดตั้งแต่เล็ก ก็ได้เรียนรู้วิชาการต่อสู้แม่ไม้มวยไทยอย่างต่อเนื่อง จนมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ ดังปรากฏในพงศาวดารว่า

“เมื่อพระเจ้ามังระโปรดให้ปฏิสังขรณ์และก่อเสริมพระเจดีย์ชเวดากองในเมืองย่างกุ้งเป็นการใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลงในปี พ.ศ. 2317 พอถึงวันฤกษ์งามยามดี คือวันที่ 17 มีนาคม จึงโปรดให้ทำพิธียกฉัตรใหญ่ขึ้นไว้บนยอดเป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทรงเปิดงานมหกรรมฉลองอย่างมโหฬาร ขุนนางพม่ากราบทูลว่า “นักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก”

พระเจ้ามังระจึงตรัสสั่งให้เอาตัวนายขนมต้ม นักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาถวาย พระเจ้ามังระได้ให้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่านายขนมต้มชกพม่าไม่ทันถึงยกก็แพ้ถึงเก้าคนสิบคนก็สู้ไม่ได้

พระเจ้ามังระทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า

“คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน นี่หากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว และโคตรตระกูลแล้ว ไฉนเลยกรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึก ดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ”

แฟนคลับไทยกรี๊ดสนั่น!! ‘Fujii Kaze’ ศิลปินสุดฮอตจากญี่ปุ่น สวม ‘ชุดมวยไทย’ เต็มยศโพสต์ลงไอจี พร้อมแคปชัน ‘ธงไทย’

ทำเอาแฟนคลับชาวไทยตื่นเต้นกันใหญ่เลยทีเดียวหลังจากทางด้านศิลปินสุดฮอตชาวญี่ปุ่นอย่าง Fujii Kaze เจ้าของเพลงฮิตอย่าง Shinunoga E-Wa และ Matsuri ได้มีการโพสต์ภาพตัวเองในที่มีการสกรีนคำว่ามวยไทยทั้งเสื้อและกางเกง แถมยังมีการโพสต์แคปชันเป็นรูปธงไทย อีกต่างหาก

คาเสะ ฟูจิอิ เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2540 ที่โอคายามา โดยเจ้าตัวเริ่มเล่นเปียโนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ก่อนจะอัดคลิปตนเองผ่านช่องยูทูบและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ในปี 2019 เจ้าตัวปล่อยผลงานอัลบั้มแรกชื่อ ‘HELP EVER HURT NEVER’ ก่อนสร้างปรากฏการณ์มากมาย ทั้งอันดับ 1 ของ ORICON , อันดับ 1 บน Billboard JAPAN HOT ALBUMS chart , รางวัล Blue ที่เป็นรางวัลสูงสุดของรายการ 13th CD shop award

16 มีนาคม พ.ศ. 2424 พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระนางเรือล่ม อัครมเหสีองค์แรกในล้นเกล้า รัชกาลที่ 5

วันนี้ เมื่อ 142 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานเพลิงพระศพ ‘สมเด็จพระนางเรือล่ม’ อัครมเหสีองค์แรกในล้นเกล้า รัชกาลที่ 5

ถ้าเอ่ยถึงพระนาม 'สมเด็จพระนางเรือล่ม' คนไทยจะคุ้นเคยดี เพราะพระนามนี้มาจากเหตุการณ์สลดที่พระองค์ต้องมาสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่มลงกลางแม่น้ำ

อย่างไรก็ดี สำหรับพระนามเต็มนั้น คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี โดยทรงมีพระนามเดิมว่า 'พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์' ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 และ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 เป็นพระเจ้าลูกเธอรุ่นเล็ก ลำดับที่ 50 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์

นอกจากนี้ที่สำคัญยิ่งคือ พระองค์ยังทรงเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระขนิษฐาร่วมพระโสทรทั้ง 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)

โดยภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 8 ปี จึงเปลี่ยนพระฐานันดรศักดิ์จาก 'พระเจ้าลูกเธอ' เป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

และเมื่อพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ได้ถวายตัวรับราชการเป็นภรรยาเจ้าเมื่อพระชนมายุประมาณ 15–16 พรรษา จึงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

เป็นที่รู้กันดีว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์มีพระสิริโฉมงดงาม พระสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น 'พระอัครมเหสี' ทรงรับราชการรับใช้สนองพระเดชพระคุณชิดใกล้ และยังทรงเป็นที่นับถือในพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร

ต่อมาวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2421 พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรกของพระองค์ โดยเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 21 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนียลักษณ์ อัครวรราชกุมารี

แต่แล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินพร้อมพระมเหสีทุกพระองค์ และข้าราชบริพาร

โดยวันนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เคลื่อนขบวนเรือต่างๆ ออกไปก่อนในเวลาประมาณ 2 โมงเช้า ซึ่งพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ประทับบนเรือเก๋งกุดัน โดยมีเรือปานมารุตซึ่งเป็นเรือกลไฟจูงเรือพระประเทียบ

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จพระราชกิจแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งโสภาณภควดีตามไป เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาดนั้น จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้ายลงมากราบทูลข่าวร้ายว่า

“เรือพระที่นั่งพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้นล่มที่บางพูด องค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ แลพระชนนีสิ้นพระชนม์” ยังความโทมนัสแก่พระองค์เป็นอันมากหาที่เปรียบมิได้

15 มีนาคม พ.ศ. 2401 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานกำเนิดหนังสือราชกิจจานุเบกษา

วันนี้ เมื่อ 165 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้จัดพิมพ์หนังสือแจ้งข่าวราชการที่เรียกว่า 'ราชกิจจานุเบกษา' นับเป็นสิ่งพิมพ์ของไทยเล่มแรกที่จัดทำโดยคนไทย

ราชกิจจานุเบกษา (Royal Thai Government Gazette ปกติเรียกสั้น ๆ ว่า Government Gazette) เป็นหนังสือรวบรวมคำประกาศของทางราชการ โดยเริ่มจัดพิมพ์ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย นพศก จุลศักราช 1219 ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2401 นับเป็นเอกสารหลักในการแจ้งประกาศ กฎหมาย และคำสั่งทางราชการให้ประชาชนทราบอย่างเป็นทางการจวบจนปัจจุบันนี้

โดยมีสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบจัดพิมพ์และเผยแพร่

ประเภทของราชกิจจานุเบกษา

14 มีนาคม พ.ศ. 2422 วันเกิด ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะชาวเยอรมนี

14 มีนาคม พ.ศ. 2422 เป็นวันเกิด อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพและสูตรอันโด่งดัง E=mc2 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เมื่อปี 2465 

อัลแบร์ท ไอน์ชไตน์ (Albert Einstein) หรือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์และนักฟิสิกส์ทฤษฎี ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ไอน์สไตน์เป็นชาวยิวที่เกิดในเยอรมนี เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจตัดสินใจอพยพจากเยอรมนีไปอเมริกา และคัดค้านการขยายอิทธิพลของลัทธินาซี มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้สหรัฐสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาเป็นผู้เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพ และมีส่วนร่วมในการพัฒนากลศาสตร์ควอนตัม กลศาสตร์สถิติ และจักรวาลวิทยา เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ใน 2464 จากการอธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก และจาก 'การทำประโยชน์แก่ฟิสิกส์ทฤษฎี'

13 มีนาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันช้างไทย’ ปลูกฝัง ปชช. หันอนุรักษ์สัตว์คู่บ้านคู่เมือง

‘ช้าง’ เป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์และผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยโบราณ ช้างเป็นพระราชพาหนะเคียงคู่พระบารมีพระมหากษัตริย์ไทยทุกยุคทุกสมัยเลยทีเดียว แต่สมัยปัจจุบัน คนไทยกลับเห็นคุณค่าและความสำคัญของช้างไทยลดลงไปทุกขณะ จนช้างถูกนำไปเร่ร่อนหาผลประโยชน์โดยควาญช้าง และล้มตายเป็นจำนวนมากขึ้นทุกที 

ดังนั้น เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญ และการดำรงอยู่ของช้างไทย รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนทุกคนหันมาช่วยกันอนุรักษ์ช้าง ทางคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบกำหนดให้ทุก ๆ วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็นวันช้างไทย 

ทั้งนี้ วันช้างไทยริเริ่มขึ้นจากคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทยคณะกรรมการ เอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น จะช่วยให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น

คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำยุทธหัตถีมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้พิจารณาวันอื่น และเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสม จึงได้นำเสนอมติตามลำดับขั้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น ‘วันช้างไทย’ และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2541


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top