1 สิงหาคม พ.ศ. 2367 ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เถลิงถวัลยราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี
‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ เป็นพระราชพิธีราชาภิเษกที่พระมหากษัตริย์ไทยได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการด้วยการถวายน้ำอภิเษก โดยแบ่งออกเป็น 2 พระราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นการผสมผสานกันระหว่างธรรมเนียมของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ซึ่งต้องย้อนกลับไปหลายศตวรรษ โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบไปด้วย พระราชพิธีสรงพระมูรธาภิเษก พระราชพิธีถวายน้ำอภิเษก พระราชพิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และการสถาปนาพระราชินี และพระราชวงศ์ ส่วนพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นโดยเหล่าสมาชิกของราชวงศ์ในพระบรมมหาราชวัง
ภายหลังจากประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นแล้ว พระมหากษัตริย์จะประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทองไปประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะและเสด็จไปสักการะพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชบูรพการี
อย่างไรก็ตาม สำหรับวันที่ 1 ของเดือนสิงหาคมปี 2567 นี้ หากย้อนกลับเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2367 ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 3 ทรงประกอบ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เถลิงถวัลยราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรีอย่างเต็มกระบวนการเยี่ยงอย่างบรรพราชประเพณีสืบ ๆ มา หลังจากที่เสด็จเสวยราชสมบัติต่อจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367
ทั้งนี้ พระองค์ทรงเป็นราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 กับ เจ้าจอมมารดาเรียม เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ก่อนที่จะขึ้นครองราชย์ได้ทรงรับราชการหลายตำแหน่ง อาทิ กำกับราชการกรมท่าและกรมตำรวจ ทรงว่าราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ เป็นแม่กองกำกับลูกขุน ณ ศาลหลวงและตุลาการทุกศาล ทรงค้าขายทางสำเภาจีน นำเงินรายได้เข้าท้องพระคลังเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา รวบรวมสรรพตำราวิทยาการต่าง ๆ พัฒนาการเศรษฐกิจไทยหลาย ๆ ด้าน โดยการเจริญสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ทำให้รัฐมั่งคั่งเป็นอันมาก