Sunday, 6 October 2024
TODAY SPECIAL

25 กันยายน พ.ศ. 2541 วันสถาปนา ‘มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง’ รำลึกถึง ‘สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’

‘มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง’ เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ภายหลังการเรียกร้องของชาวจังหวัดเชียงรายที่ต้องการมีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น และเพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงใช้พระราชสมัญญา ‘แม่ฟ้าหลวง’ เป็นชื่อมหาวิทยาลัย

หลังจากที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ประชาชนชาวเชียงรายร่วมกับหน่วยราชการในจังหวัดเชียงรายเห็นพ้องต้องกันว่า โดยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลต่ออาณาประชาราษฎร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวเชียงรายที่ได้ทรงเลือกจังหวัดเชียงรายเป็นสถานที่สร้างพระตำหนัก หรือบ้านหลังแรกของพระองค์ และทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งได้นำความเจริญรุ่งเรือง มายังจังหวัดและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง

ฉะนั้น เพื่อแสดงความจงรักภักดีตลอดจนเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาคน จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงรายต่อรัฐบาลที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีการดำเนินการเพื่อการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงราย ได้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2539 ให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย โดยอาจยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้

ต่อมารัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีมติใหม่ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ในจังหวัดเชียงราย และได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับงบประมาณในการดำเนินการเพื่อการเตรียมการจัดตั้ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 และงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างมหาวิทยาลัยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2542 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,325 ล้านบาท การก่อสร้างตามโครงการระยะแรกเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 5 ปี บนพื้นที่ 4,997 ไร่ ณ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

24 กันยายน วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันไทย

‘วันมหิดล’ ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า ‘พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย’ คณะแพทยศาสตร์สิริราชพยาบาล ได้ขนานนามวันอันเป็นที่ระลึกสำคัญนี้ว่า ‘วันมหิดล’ เพื่อเป็นการถวายสักการะ

‘สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก’ ทรงพระราชสมภพวันที่ 1 มกราคม (ตามปฏิทินเก่าคือ ปี พ.ศ. 2434 แต่ตามปฏิทินใหม่คือ ปี พ.ศ. 2435) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระเชษฐา และพระเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา 7 พระองค์

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และเป็นพระอัยกาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10)

พระองค์มีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทย ประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า ‘กรมหลวงสงขลานครินทร์’ หรือ ‘พระราชบิดา’ และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า ‘เจ้าฟ้าทหารเรือ’ และ ‘พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย’ ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า ‘เจ้าฟ้ามหิดล’

หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์ทรงพระประชวร ต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. เมื่อพระชนมายุ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน

ด้วยความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่าง ๆ จากพระองค์ จึงได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุม

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493 และ ในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกัน นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศให้วัน ที่ 24 กันยายน ของทุกปีเป็น ‘วันมหิดล’ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในฐานะพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย

23 กันยายน ของทุกปี ‘วันภาษามือโลก’ (International Day of Sign Languages) ตระหนักถึงความสำคัญของภาษามือ-สิทธิผู้พิการทางการได้ยิน

23 กันยายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันภาษามือโลก’ โดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษามือ รวมไปถึงเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชนของคนหูหนวก

นอกจากนี้วันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1951 ก็เป็นวันก่อตั้งสมาคมคนหูหนวกโลก หรือ WFD ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงเลือกวันที่ 23 กันยายน เป็นวันภาษามือโลก (International Day of Sign Languages) โดยปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการในงานสัปดาห์คนหูหนวกแห่งชาติ ซึ่งจัดในปี ค.ศ. 2018

จุดประสงค์ในการก่อตั้งวันภาษามือโลก เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษามือ รวมไปถึงเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชนของคนหูหนวกด้วย โดยข้อมูลจากสมาคมคนหูหนวกโลก (WDF) เผยว่า ปัจจุบันมีผู้พิการทางการได้ยินมากกว่า 70 ล้านคนทั่วโลก และกว่า 80% อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา นั่นหมายความว่า มีภาษามือกว่า 300 ภาษาที่ใช้อยู่ตอนนี้ ซึ่งถือว่ามีความหลากหลายอย่างมาก และเราก็ไม่ควรมองข้ามภาษามือเหล่านี้

ภาษามือของแต่ละประเทศมีวิวัฒนาการที่เป็นอิสระจากกัน คนที่อยากเรียนภาษามือก็จะเข้าเรียนในโรงเรียนโสตศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนผู้พิการทางการได้ยิน ดังนั้นภาษามือของแต่ละประเทศก็จะแตกต่างจากกัน แม้แต่ประเทศที่มีภาษาพูดใกล้เคียงกันอย่างเช่น สหราชอาณาจักรกับสหรัฐอเมริกา ก็มีภาษามือที่แตกต่างกันลิบลับ จนใช้สื่อสารระหว่างกันไม่ได้ 

ในปีค.ศ. 1973 สมาคมคนหูหนวกโลก (World Federation of the Deaf) ริเริ่มเผยแพร่ชุดคำศัพท์ภาษามือมาตรฐานที่เรียกกันว่า ‘ภาษามือสากล’ เพื่อที่จะให้เป็นภาษากลางของภาษามือ เช่นเดียวกับภาษาเอสเปอรันโตที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นภาษากลางในโลกของภาษาพูด ทุกวันนี้ในการประชุมระดับนานาชาติ บางครั้งก็ใช้ภาษามือสากลเป็นภาษาหลัก

และเพื่อให้คนหูหนวกสามารถรับรู้ข่าวสารและสามารถเสพสื่อได้อย่างเข้าใจ ทำให้ในปัจจุบันรายการต่าง ๆ ทั้งรายการข่าวและสื่อบันเทิงมักมีล่ามภาษามือคอยบรรยายอยู่มุมล่างขวามือของจอเสมอ

22 กันยายน ‘วันสงขลานครินทร์’ รำลึก ‘ในหลวง ร.9’ พระราชทานชื่อ ‘มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์’ ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ ‘สมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์’

วันที่ 22 กันยายน ของทุกปี เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งคือ ‘วันสงขลานครินทร์’ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยภาคใต้ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2510 ว่า ‘สงขลานครินทร์’ ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ที่ได้ทรงดำรงพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์เป็น ‘กรมหลวงสงขลานครินทร์’

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่ภาคใต้ โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้ง ‘วิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์’ เพื่อรอการพัฒนาขึ้นเป็นระดับมหาวิทยาลัย 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติหลักการในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคใต้ขึ้นที่ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยจะใช้เป็นที่ตั้งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และใช้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า ‘มหาวิทยาลัยภาคใต้’ ซึ่งมีสำนักงานชั่วคราวของมหาวิทยาลัยอยู่ที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (อาคารคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน)

หลังจากนั้น คณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ โดย พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขอพระราชทานชื่อให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า ‘มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์’ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2510 ตามพระนามทรงกรมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คือ ‘กรมหลวงสงขลานครินทร์’ และใช้อักษรย่อ ‘ม.อ.’ คืออักษรย่อมาจากพระนาม ‘มหิดลอดุลเดช’ อันเป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ และทรงพระราชทานตราประจำพระองค์ เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย

ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงถือว่าวันที่ 22 กันยายนของทุกปีเป็น ‘วันสงขลานครินทร์’

ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2511 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขึ้น มหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็น ‘วันสถาปนามหาวิทยาลัย’

มหาวิทยาลัยมีคติพจน์ว่า ‘ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์’ ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ดอกศรีตรัง สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีน้ำเงิน

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อักษรย่อ ม.อ. ไม่ใช่ มอ. ชื่อภาษาอังกฤษ Prince of Songkla University อักษรย่อ PSU (ภาษาอังกฤษใช้ Songkla ซึ่งเขียนเหมือนพระนามประจำพระองค์ แตกต่างจากจังหวัดสงขลาที่ปัจจุบันใช้ภาษาอังกฤษ Songkhla)

21 กันยายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันประมงแห่งชาติ’ สนับสนุนคนทำอาชีพประมง ตระหนักถึงความสำคัญ พร้อมสร้างขวัญกำลังใจให้ชาวประมงไทย

วันประมงแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี เพื่อเป็นการสนับสนุนในการทำอาชีพประมง และเป็นที่ระลึก สร้างขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพของชาวประมงไทย

จุดเริ่มต้นของ ‘วันประมงแห่งชาติ’ เกิดจาก ‘สหกรณ์ประมงสมุทรสาคร’ ได้ทําหนังสือลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 ถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เสนอให้รัฐบาลกําหนดวันประมงแห่งชาติขึ้น เพื่อให้เป็นกําลังใจในการประกอบอาชีพและอาสาปกป้องประเทศทางด้านทะเล 

นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งได้มอบให้ ‘กรมประมง’ เป็นผู้รับเรื่อง เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรง 

นอกจากนี้สํานักเลขาธิการฯ ได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ สั่งการให้ราชบัณฑิตยสถานและกรมศิลปากรร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมอีกด้วย กรมประมงจึงได้ประสานงานกับกองทัพเรือและมีความเห็นร่วมกันให้ ‘วันสงกรานต์’ ซึ่งประชาชนชาวไทยยึดถือเสมือนเป็นวันขึ้นปีใหม่มาตั้งแต่อดีต เป็นวันที่หยุดปฏิบัติภารกิจประจําวัน ในวันดังกล่าว เพื่อไปทําบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา เพื่อความเป็นสิริมงคลและในวันนี้ทางราชการได้ถือว่าเป็น ‘วันขยายพันธุ์ปลาแห่งชาติ’ โดยสนับสนุนให้ประชาชนนําพันธุ์ปลาไปปล่อย ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ในโอกาสที่วันนี้เป็นวันสําคัญวันหนึ่งโดยมีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงสมควร กําหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็น ‘วันประมงแห่งชาติ’ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา 

นอกจากนี้ยังเห็นสมควรให้หยุดทําการประมง มีการปล่อยปลาในแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมทั้งในทะเลด้วย เพื่อเป็นการชดเชยสําหรับการที่ได้ทําการประมงมาตลอดปี 

แต่ในปัจจุบันกรมประมงพิจารณาแล้วเห็นว่าสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยโดยรวมในช่วง เดือนเมษายนแล้งมากในทุกจังหวัด แหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำต่าง ๆ มีปริมาณค่อนข้างน้อย ดังนั้นการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในช่วงวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงอุณหภูมิอากาศสูงมากพันธุ์สัตว์น้ำ ที่กรมประมงเตรียมมาให้ประชาชนปล่อยมีอัตราการตายสูง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นฤดูฝน แหล่งน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้ำมาก สภาพทางธรรมชาติของแหล่งน้ำเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน 

กอปรกับวันที่ 21 กันยายน เป็น ‘วันสถาปนากรมประมง’ ดังนั้นเพื่อเป็นการรําลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชโองการเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2469 ตั้ง ‘กรมรักษาสัตว์น้ำ’ ขึ้น ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘กรมประมง’ ดังนั้นจึงมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2549 กําหนดให้เปลี่ยน ‘วันประมงแห่งชาติ’ จากเดิมวันที่ 13 เมษายน เป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยให้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา

20 กันยายน ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันเยาวชนแห่งชาติ’ รำลึกวันพระราชสมภพ 2 ยุวกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

วันที่ 20 กันยายนของทุกปี ถือเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 

โดยพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ได้ขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์ 

ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดวันที่ 20 กันยายน เป็นวันสำคัญหลายเหตุการณ์ เช่น 

- ปี พ.ศ. 2528 กำหนดให้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งตรงกับที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี 2528 เป็นปีเยาวชนสากล และเป็นวันพระราชสมภพและได้ขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์ของพระมหากษัตริย์ไทยทั้ง 2 พระองค์

- ปี พ.ศ. 2538 กำหนดเป็นวันอนุรักษ์และรักษาคูคลองแห่งชาติ เนื่องจากเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จประพาสทางเรือจากท่าน้ำสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปจนถึงประตูน้ำท่าไข่ จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมระยะทางทั้งสิ้น 72 กิโลเมตร ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง การเสด็จประพาสทางเรือครั้งนี้สร้างความปลื้มปีติแก่พสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นที่มาของความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่จะสืบสานปณิธาน และพระราชดำรัสของพระองค์ที่ว่า “คลองแสนแสบเป็นคลองสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สมควรได้รับการดูแลรักษาต่อไป”

- ปี พ.ศ. 2544 กำหนดให้เป็นวันรัฐวิสาหกิจไทย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

19 กันยายน พ.ศ. 2417 ‘รัชกาลที่ 5’ โปรดเกล้าฯ จัดตั้ง ‘พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย’ ถือเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของประเทศไทย

19 กันยายนของทุกปี รัฐบาลได้ประกาศให้เป็น ‘วันพิพิธภัณฑ์ไทย’ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เมื่อปี พ.ศ. 2538 รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 19 กันยายนของทุกปีเป็น ‘วันพิพิธภัณฑ์ไทย’ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงเห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย ขึ้นในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 และเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดพิพิธภัณฑ์ด้วยพระองค์เอง

‘พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย’ หรือ ‘หอมิวเซียม’ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของไทย โดยสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2417 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคม ซึ่งเป็นอาคารใหม่ภายในพระบรมมหาราชวัง จัดแสดงศิลปะโบราณ วัตถุของไทย ของพระมหากษัตริย์ และต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ ได้บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของคนรุ่นก่อน ผ่านกาลเวลามานับร้อยปี และได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 เพื่อได้ศึกษา ได้เรียนรู้รากเหง้าตัวของเราเองมากขึ้น

18 กันยายน พ.ศ. 2521 ‘ในหลวง ร.9’ ทรงมีรับสั่ง “ถ้าน้ำแรง ทำไมไม่คิดทำไฟฟ้าด้วย” จุดเริ่มต้นก่อสร้าง ‘โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ’ จังหวัดยะลา

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2521 หรือ 46 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง ร.9 พร้อมด้วยสมเด็จฯพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้ง 2 พระองค์ เสด็จฯ ไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนบางลาง ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งจากการเสด็จฯ ในวันนี้ ได้ทำให้เกิดโครงการ ‘โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ’ ขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนบางลาง ในเวลาต่อมา 

ในช่วงเวลาของการก่อสร้างเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกของภาคใต้ตอนล่างนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากในการก่อสร้าง เนื่องด้วยในขณะนั้นยังมีการต่อสู้กับผู้ก่อการความไม่สงบคอมมิวนิสต์ โดยในระหว่างการก่อสร้างในหลวง ร.9 และพระราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขื่อนแห่งนี้หลายครั้ง ด้วยพระราชประสงค์จะพระราชทานกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน 

ในการเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อ 46 ปีก่อน เพื่อมาทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างเขื่อนบางลาง โดยมีนายเกษม จาติกวณิช ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในขณะนั้นร่วมรับเสด็จ พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรฝายละแอ ซึ่งเป็นฝายทดน้ำขนาดเล็กจากคลองละแอที่สร้างด้วยการเจาะอุโมงค์ขนาดเล็กและต่อท่อส่งน้ำไปให้ประชาชนในหมู่บ้านสันติใช้ 

พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กราบบังคมทูลว่า น้ำประปาไหลแรง เพราะต่อน้ำลงมาจากที่สูงทำให้ก๊อกน้ำเสียเป็นประจำ ในหลวง ร.9 จึงทรงมีรับสั่งขึ้นว่า 

“ถ้าน้ำแรง ทำไมไม่คิดทำไฟฟ้าด้วย”

จากแนวพระราชดำริดังกล่าวนั้นเอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนบางลาง โดยติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 1,275 กิโลวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง และติดตั้งท่อส่งน้ำยาว 1,800 เมตร สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในเดือนตุลาคม 2525 

นับเป็นอีกหนึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ที่เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริ เพราะทรงห่วงใยต่อพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารหรือในพื้นที่ห่างไกล ทรงสนพระทัยสอบถามถึงความเป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องน้ำบริโภคและทำการเกษตร ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้แต่ละชุมชนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พึ่งพาตนเองได้ และทุกครั้งที่ทรงมองเห็นโอกาสในการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน จะทรงมีแนวพระราชดำริ ให้ใช้ประโยชน์จากการก่อสร้างเขื่อนขนาดเล็ก ที่นอกจากเพื่อเก็บกักน้ำแล้วยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในชุมชนได้อีกด้วย

17 กันยายน พ.ศ. 2403 ‘ในหลวง รัชกาลที่ 4’ ปฏิวัติระบบเงินตราครั้งใหญ่ ประกาศใช้ ‘เงินเหรียญบาท’ ครั้งแรกในสยาม

วันนี้เมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2403 หรือ 164 ปีก่อน ‘สยาม’ ประกาศใช้เงินเหรียญบาทเป็นครั้งแรก โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้ผลิตขึ้นโดยเครื่องจักรที่สั่งจากประเทศอังกฤษ เพื่อใช้แทนเงินพดด้วง เป็นตราพระมหามงกุฎ-ช้างในวงจักร

ในรัชสมัย ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘โรงกระสาปน์สิทธิการ’ โรงกษาปณ์แห่งแรกของไทย ภายในพระบรมมหาราชวังบริเวณที่เคยเป็นโรง ทำเงินพดด้วงเดิม ด้านหน้าพระคลังมหาสมบัติ บริเวณมุมถนนใกล้กับทางออกประตูสุวรรณบริบาลด้านทิศตะวันออก และติดตั้งเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์ขับเคลื่อนด้วยแรงดันไอน้ำเป็นเครื่องแรก ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่สั่งจากประเทศอังกฤษ

วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2403 รัชกาลที่ 4 ได้ออกประกาศพิกัดราคาเงินเหรียญบาทและเงินแป โดยให้นำเงินเหรียญอย่างใหม่ซึ่งเป็นเงินแบนที่ผลิตได้จากโรงกระสาปน์สิทธิการ นำออกใช้แทน เงินพดด้วง เหรียญดังกล่าวนั้น ด้านหน้าเป็นรูปพระมหามงกุฎ มีฉัตรกระหนาบทั้ง 2 ข้าง ด้านหลังเป็นรูปช้าง อยู่กลางพระแสงจักร เหรียญเนื้อเงินแท้ ราคา ๑ บาท น้ำหนัก 15.33 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางเหรียญ 31 มิลลิเมตร

และเหรียญชนิดต่าง ๆ ประกอบด้วยเหรียญเงินราคา 1 บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง กึ่งเฟื้อง และเหรียทองพัดดึงส์อีกจำนวนหนึ่ง นับเป็นการปฏิวัติระบบเงินตราครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทย

อนึ่ง โรงกษาปณ์แห่งนี้ ภายหลังจากการสร้างโรงกษาปณ์แห่งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นโรงหมอตอนหนึ่ง และเป็นคลังราชพัสดุอีกตอนหนึ่ง และต่อมาในปี พ.ศ. 2440 เกิดไฟไหม้หมดทั้งหลัง

16 กันยายน พ.ศ. 2465 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 6’ พระราชทานที่ดินทรงสงวนที่สัตหีบ ก่อสร้าง ‘ฐานทัพเรือ’ เพื่อดูแลผลประโยชน์ชาติทางทะเล

วันนี้ เมื่อ 102 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ได้ขอพระราชทาน

ย้อนไป เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2465 หรือ 102 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ได้ขอพระราชทาน และกองทัพเรือสร้างฐานทัพเรือที่สัตหีบ ตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ

ฐานทัพเรือสัตหีบ เริ่มก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2457 ขณะที่เสด็จประพาสทางชลมารคเลียบฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี พระองค์ได้เสด็จฯ มาประทับในอ่าวสัตหีบ เพื่อทอดพระเนตรการซ้อมรบของกองทัพเรือด้วย

ในการเสด็จคราวนั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรหมู่บ้านสัตหีบ เห็นว่า เป็นชัยภูมิอันเหมาะที่จะตั้งเป็นฐานทัพเรือ จึงได้มีพระบรมราชโองการด้วยพระโอษฐ์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2457 แก่พระยาราชเสนาผู้แทนสมุหเทศาภิบาล มณฑลจันทบุรี และพระยาประชาไศรยสรเดช ผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี

ขณะทรงประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งว่า มีพระราชประสงค์ที่ดินฝั่งตำบลสัตหีบ และที่ใกล้เคียงตลอดทั้งเกาะใหญ่น้อยบรรดาที่มีอยู่ริมฝั่งน้ำ อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับใบเหยียบย่ำ หรือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินบนฝั่ง หรือเกาะที่สงวนไว้แล้วนั้นเป็นอันขาด

ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2465 พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ได้มีหนังสือไปกราบถวายบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานที่ดินตำบลสัตหีบที่ทรงสงวนไว้เพื่อจัดเป็นฐานทัพเรือ โดยทรงเน้นให้เห็นคุณและโทษ ของการจัดสัตหีบเป็นฐานทัพเรือไว้

ต่อมาทางกองทัพเรือจึงได้ก่อสร้างฐานทัพเรือ จนมาเป็นฐานทัพเรือสัตหีบ จวบจนถึงปัจจุบัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top