Sunday, 6 October 2024
TODAY SPECIAL

17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญกลางกรุงเทพมหานคร คนร้ายวางระเบิดบริเวณ ‘ศาลท้าวมหาพรหม’ คร่าชีวิต 20 ราย

เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 18.50 น. ของวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ในขณะที่เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างปกติ จู่ ๆ ก็เกิดเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว บริเวณรอบศาลท้าวมหาพรหม หน้าโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ แรงระเบิดส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 130 คน และมีผู้เสียชีวิต 20 คน เป็นชาวไทย 6 คน และชาวต่างชาติอีก 14 คน

ภายหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้เก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนเป้, ชิ้นส่วนลูกเหล็กกลม และชิ้นส่วนของท่อเหล็ก ซึ่งตกอยู่ในที่เกิดเหตุจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีหลักฐานชิ้นสำคัญ นั่นคือ ภาพจากกล้องวงจรปิด ยืนยันว่าผู้ต้องสงสัยเป็นชายใส่เสื้อสีเหลือง

วันต่อมา 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ยังมีระเบิดเกิดขึ้นอีกครั้งบริเวณท่าเรือย่านสาทร ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถแกะรอยเพิ่มเติม จนเข้าทำการจับกุม นายอาเดม คาราดัก และนายเมียไรลี ยูซุฟู ชายชาวอุยกูร์ พร้อมหลักฐาน อาทิ อุปกรณ์ประกอบระเบิด สารเคมีเอทีพี รวมทั้งเสื้อผ้าที่สวมใส่ในวันเกิดเหตุ

ในเวลาต่อมา ยังมีการออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีกกว่า 17 คน ในจำนวนนั้นมีคนไทยร่วมขบวนการด้วยอยู่สองคน โดยการก่อเหตุรุนแรงถูกเชื่อมโยงไปยังเรื่องการก่อการร้ายข้ามชาติ แต่ต่อมามีประเด็นเรื่องความขัดแย้งในธุรกิจค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ปัจจุบัน ผ่านมาแล้วกว่า 9 ปี เหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ควรเป็นบทเรียนครั้งสำคัญต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในเรื่องการดูแลความปลอดภัย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนต่อไป

16 สิงหาคม ของทุกปี คนไทยร่วมรำลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยวันนี้ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันสันติภาพไทย’ ด้วย

‘วันสันติภาพไทย’ คือ วันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ระลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ประเทศไทย โดยนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการกระทำอันขัดต่อเจตจำนงของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนชาวไทยทั้งในและนอกประเทศได้ร่วมกันแสดงเจตจำนงไม่ยอมรับคำประกาศดังกล่าวด้วยการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยอยู่ในระหว่างสงคราม (ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484) โดยที่ประเทศไทยประกาศว่าจะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้ ประกาศสันติภาพนี้มีนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงตั้งชื่อถนนภายในศูนย์ท่าพระจันทร์ ที่เชื่อมระหว่างประตูถนนพระอาทิตย์กับประตูท่าพระจันทร์และผ่านหน้าตึกโดมว่า ถนน 16 สิงหาคม

15 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ‘อร-อุดมพร พลศักดิ์’ คว้าเหรียญทองยกน้ำหนัก ในโอลิมปิก ครั้งที่ 28 นับเป็นนักกีฬาหญิงไทยคนแรกที่สามารถคว้าเหรียญอันทรงเกียรตินี้ได้

พันโทหญิง อุดมพร พลศักดิ์ หรือชื่อเล่น อร เป็นอดีตนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย และเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกของราชอาณาจักรไทย ที่ได้เหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ฤดูร้อน โดยได้จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 28 ณ กรุงเอเธนส์ สาธารณรัฐเฮลเลนิก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ในการแข่งขันยกน้ำหนัก รุ่นไม่เกิน 53 กก. โดยยกในท่าสแนชได้ 97.5 กก. ท่าคลีนแอนด์เจิร์กได้ 125 กก. รวม 222.5 กก. โดยเป็นการทำลายสถิติโอลิมปิก ในท่าคลีนแอนด์เจิร์กของประเภทนี้ด้วย

ก่อนขึ้นยกน้ำหนักและคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน น้องอรตะโกนคำว่า "สู้โว้ย" ออกมาดัง ๆ เพื่อปลุกขวัญกำลังใจ จนกลายเป็นฉายาประจำตัว และเป็นวลีติดปากคนไทยมาจนปัจจุบัน ซึ่งเวลาผ่านมา 20 ปีเต็มพอดิบพอดี

อุดมพร เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ที่จังหวัดนครราชสีมา เริ่มเข้ารับการศึกษาในชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสวนหม่อน และศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนบุญวัฒนา และโรงเรียนเทพลีลา ก่อนจะมาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพจนจบปริญญาตรี

สำหรับในการแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก 2003 ที่เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา อุดมพรทำได้สองเหรียญทอง โดยทำน้ำหนักได้ 100 กก. ในท่าสแนช และ 222.5 กก. ในน้ำหนักรวม

14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’ ยุติลงอย่างเป็นทางการ หลัง ‘ญี่ปุ่น’ ประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

วันนี้เมื่อ 79 ปีก่อน ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้ ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’ (World War II) ในแปซิฟิก-เอเชีย ยุติลงอย่างเป็นทางการ

14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) ในแปซิฟิก-เอเชีย ยุติลงอย่างเป็นทางการ (หากนับตามเวลาในญี่ปุ่นจะเป็นวันที่ 15) โดย พระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต (Emperor Hirohito) แห่งญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรผ่านทางวิทยุกระจายเสียงทั่วญี่ปุ่น (นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นกว่าพันปี ที่คนญี่ปุ่นได้ยินเสียงจักรพรรดิของตน) ภายหลังจากที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ส่งผลให้ฝ่ายญี่ปุ่นบาดเจ็บและเสียชีวิตนับล้านคน บ้านเมืองเสียหายยับเยิน

พระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต ทรงเรียกร้องให้คณะรัฐบาลญี่ปุ่นยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อรักษาชาติพันธุ์ญี่ปุ่น ให้ยอมรับ ‘ข้อตกลงพอตสดัม’ (Potsdam Declairation) และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาโมรุ ชิเกะมึทซึ (Mamoru Shigemitsu) กับ นายพล โยชิจิโร คุเมซุ (Yoshijiro Umezu) ลงนามในสัญญาสงบศึก (Japanese Instrument of Surrender) กับ นายพล แมคอาเธอร์ (Douglas MacArthur) ท่ามกลางสักขีพยานจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรอื่น ๆ บนดาดฟ้าเรือประจัญบาน มิสซูรี (USS Missouri) เหนืออ่าวโตเกียวในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ซึ่งได้มีการเผยแพร่ภาพไปทั่วโลกด้วย

13 สิงหาคม พ.ศ. 2536 โศกนาฏกรรม ‘โรงแรมรอยัลพลาซ่า’ จ.โคราช พังถล่ม หนึ่งในภัยพิบัติร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย

‘โรงแรมรอยัลพลาซ่า’ เป็นโรงแรมขนาด 6 ชั้นในจังหวัดนครราชสีมา ที่ถล่มลงมาภายในเวลาไม่ถึงสิบวินาที เมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2536 เวลา 10.12 น. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 137 ราย และบาดเจ็บ 227 ราย โดยอาคารทั้ง 6 ชั้นพังทลายหมด เหลือเพียงโถงลิฟท์โดยสารซึ่งสร้างแยกออกมาจากโครงสร้างอาคารที่เหลือที่ไม่ถล่มลงมาเท่านั้น 

สำหรับสาเหตุเกิดจากการถล่มของโครงสร้างอาคารอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเกิดจากการคืบของดิน จนเสารับน้ำหนักในชั้นดินเกิดถล่มตาม ๆ กันจนหมด อันเป็นผลให้อาคารเกือบทั้งหมดถล่มลงมา ผู้รอดชีวิตบางส่วนได้รับการกู้ภัยหลังติดอยู่ภายใต้ซากอาคารจากการโทรศัพท์มือถือติดต่อ ผลสรุปเหตุการณ์ระบุความผิดเกิดจากการฝ่าฝืนข้อบังคับในการก่อสร้างและความไม่เป็นมืออาชีพของวิศวกรโครงสร้าง 

ภายหลังเหตุการณ์ เจ้าของอาคารและบุคคลอื่นอีก 5 คนถูกตำรวจจับกุม ปฏิบัติการกู้ภัยดำเนินไปเป็นเวลา 20 วัน จนกระทั่งสิ้นสุดในวันที่ 3 กันยายน เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย

12 สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ทรงเป็นธิดาในหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ภายหลังคือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นอนุบาล ณ โรงเรียนราชินี ก่อนที่จะย้ายไปทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ต่อมาพระบิดาต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตยังประเทศอังกฤษ จึงทรงตามเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในเวลาต่อมา ทรงได้เข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรี ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษา

ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ประเทศฝรั่งเศส หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ซึ่งทรงเสด็จประพาสกรุงปารีส จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสานพระราชสัมพันธ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 จึงได้มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ณ วังสระปทุม ก่อนที่ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยพระปรีชาสามารถอันล้นพ้น ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีว่า ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย โดยเสด็จพระราชดำเนินร่วมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยมาโดยตลอด

ในวาระวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยสืบไป ทรงพระเจริญ

10 สิงหาคม พ.ศ. 2435 ถือกำเนิด ‘ผู้ใหญ่บ้าน’ ครั้งแรก ที่บ้านเกาะ อ.บางปะอิน จ.อยุธยา พระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล) คือบุคคลแรกที่ถูกเลือก

ทุกวันที่ 10 สิงหาคม ถือเป็น ‘วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน’ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงจัดระเบียบการการปกครองท้องที่ ในระดับตำบลหมู่บ้านขึ้นใหม่ โดยให้ราษฎรทำการเลือกผู้ใหญ่บ้านเป็นครั้งแรกที่บ้านเกาะ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2435

โดยกำนันผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ พระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล)

“ต่อมาถึง พ.ศ. 2437 ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ได้ทรงเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา เมื่อลงมือจัดการปกครองท้องที่ พวกราษฎรชาวบางปะอินเลือกพระยารัตนกุลฯ เปนผู้ใหญ่บ้าน แล้วเลือกเป็นกำนันด้วยอีกชั้น…” (พระยารัตนกุลอดุยภักดี (จำรัส รัตนกุล) ใน “คำนำ โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” หนังสือลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ 2, พ.ศ. 2465)

ส่วนประวัติของ พระยารัตนกุลอดุลยภักดี หรือ นายจำรัส รัตนกุล (พ.ศ. 2402-65)) ผู้ใหญ่บ้านและกำนันคนแรกของประเทศไทย เกิดในรัชกาลที่ 4 ตรงกับวันอังคารที่ 22 พ.ศ. 2402 ปีมะแม เป็นบุตรหลวงพิเศษสุวรรณกิจ (ชื่น) รับราชการตำแหน่งสุดท้ายเป็นสมุหเทศาภิบาล จนเมื่อ พ.ศ. 2452 ก็กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง

และในวันที่ 10 สิงหาคม ของทุกปี จึงถือเป็น ‘วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน’

9 สิงหาคม พ.ศ. 2551 สิ้น ‘ยอดรัก สลักใจ’ พระเอกลูกทุ่งไทยตลอดกาล เจ้าของเพลง '30 ยังแจ๋ว' เพลงฮิตที่คนไทยรู้จักกันดี

‘ยอดรัก สลักใจ’ มีชื่อเล่นคือ แอ๊ว เกิดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ที่ตำบลงิ้วราย อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เป็นบุตร นายบุญธรรม และ นางบ่าย ไพรวัลย์ มีพี่น้อง 8 คน ชาย 7 คน หญิง 1 คน โดยยอดรักเป็นคนสุดท้อง

ยอดรักจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านหาดแตงโม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เนื่องจากทางบ้านไม่มีเงินส่งเสียค่าเล่าเรียน บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ยอดรักอายุได้ 7 ขวบ มารดามีฐานะยากจนและมีพี่น้องหลายคน จึงได้ออกเร่ร่อนร้องเพลงที่บาร์รำวง ได้เงินคืนละ 5-10 บาท ได้เงินมาก็หาซื้อหนังสือมาอ่านเอง และเรียนด้วยตนเอง จนกระทั่งได้เรียนที่โรงเรียนถาวรวิทยา อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ โดยเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ และสอบเทียบจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

ยอดรักได้มีโอกาสเข้าเรียนที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2534 และศึกษาต่อจนกระทั่งปี พ.ศ. 2537 ได้รับปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศศ.บ.) สาขาศิลปศาสตร์ สายดนตรีและศิลปะ การแสดง วิทยาลัยครูธนบุรี

เมื่อยอดรักยังเด็ก เขาไปสมัครร้องเพลงกับคณะรำวง ‘เกตุน้อยวัฒนา’ ซึ่งได้เงินมาครั้งละ 5 - 10 บาท และต่อมามีโอกาสไปร้องเพลงในห้องอาหารที่ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยได้ใช้เพลงของไพรวัลย์ ลูกเพชร, ชาย เมืองสิงห์, สุรพล สมบัติเจริญ, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นต้น จนกระทั่งวันหนึ่ง ‘เด็ดดวง ดอกรัก’ นักจัดรายการของสถานีวิทยุ ท.อ.04 ตาคลี ได้มาฟังเพลงที่ห้องอาหาร และประทับใจยอดรักที่ร้องเพลง 'ใต้เงาโศก' ของ 'ไพรวัลย์ ลูกเพชร' จึงได้มาชักชวนเข้าสู่วงการ โดยนำมาฝากกับ ‘อาจารย์ ชลธี ธารทอง’ ยอดรักก็ได้อยู่เลี้ยงลูกให้อาจารย์ชลธีเกือบหนึ่งปี และตั้งชื่อให้ว่า ‘ยอดรัก ลูกพิจิตร’ และได้บันทึกแผ่นเสียง 3 เพลงคือ สงกรานต์บ้านนา, น้ำสังข์หลั่งน้ำตาริน, เต่าหมายจันทร์

ต่อมาปี พ.ศ. 2550 ยอดรักถูกตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งตับระยะแรก และได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เวลา 01.05 น. ณ โรงพยาบาลพระรามเก้า แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานครด้วยวัย 52 ปี พิธีศพของยอดรักได้จัดขึ้นไว้ ณ วัดไร่ขิง ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดหาดแตงโม ตำบลงิ้วราย อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร

อย่างไรก็ตาม แม้ยอดรัก จะจากไป แต่เขาก็ยังเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่ง, ลูกกรุง, ป๊อป, บัลลาดที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในเมืองไทย หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘พระเอกลูกทุ่งไทยตลอดกาล’ มีผลงานที่สร้างชื่อหลากหลายเพลง หรือที่รู้จักกันดี ได้แก่เพลง ‘30 ยังแจ๋ว’

8 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ครบรอบ 8 ปี ‘BLACKPINK’ เดบิวต์อย่างเป็นทางการ เกิร์ลกรุ๊ปที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก

หากเอ่ยชื่อ แบล็กพิงก์ (BLACKPINK) เชื่อว่าคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพราะนี่คือเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังของประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้สังกัด YG Entertainment ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 4 คน คือ จีซู, เจนนี่, โรเซ่ และ ลิซ่า นั่นเอง

BLACKPINK เดบิวต์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559 พร้อมกับซิงเกิลอัลบั้ม Square One โดยมีซิงเกิลเปิดตัวอย่าง ‘Whistle’ และ ‘Boombayah’ ขึ้นถึงอันดับ 1 บน Gaon Digital Chart ในเกาหลีใต้ และ Billboard World Digital Song Chart ตามลำดับ ทำให้วงคว้ารางวัล Golden Disc Awards และ Seoul Music Awards สาขาศิลปินหน้าใหม่แห่งปี 2016

หลังจากนั้นก็ได้ปล่อยผลงานเพลงฮิตออกมามากมาย อาทิ Playing with Fire, Stay, As If It's Your Last และ Ddu-Du Ddu-Du รวมถึงได้ร่วมร้องกับนักร้องต่างประเทศชื่อดังอย่าง Selena Gomez ในเพลง Ice Cream, Dua Lipa ในเพลง Kiss and Make Up และ Lady Gaga ในเพลง Sour Candy

ทั้งนี้ ชื่อวง BLACKPINK นั้นสื่อความหมายถึงธรรมชาติของสมาชิกในวงที่มีความหลากหลายทางมิติ ทั้งความงามของหน้าตา บุคลิกลักษณะ และความสามารถที่เพียบพร้อม เต็มเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์และการฝึกฝนที่จริงจัง

นอกจากนี้ สมาชิกทุกคนต่างมีความเป็นผู้นำในแต่ละด้านได้ ทางค่ายและวงจึงตัดสินใจว่าจะไม่มีหัวหน้าวง อีกทั้งชื่อแฟนคลับอย่างเป็นทางการของ BLACKPINK คือ BLINK (บลิงก์) ที่เป็นการรวมกันของคำว่า BLACK และ PINK ซึ่งมีความหมายว่า คนที่รักและปกป้อง BLACKPINK เสมอ

ปัจจุบัน BLACKPINK เป็นหนึ่งในเกิร์ลกรุ๊ปที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับไม่เพียงแต่ในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก

7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 วันสิ้นพระชนม์ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ฯ’ ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น ‘พระบิดาแห่งกฎหมายไทย’

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาตลับ ประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 ปีจอ จุลศักราช 1236 ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2417 ทรงมีพระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นต้นราชสกุลรพีพัฒน์

ทั้งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้พระราชโอรสไปศึกษายังต่างประเทศ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสกลุ่มแรกที่ทรงไปศึกษาต่อในทวีปยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2428 คราวนั้นเสด็จไปพร้อมกัน 4 พระองค์ คือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (กรมพระจันทบุรีนฤนาถ), พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์), พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงปราจิณกิติบดี) และพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช)

เมื่อพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายจากประเทศอังกฤษได้กลับมารับราชการ ทรงเป็นผู้วางรากฐานด้านกฎหมายในเมืองไทย ทรงปรับปรุงศาลยุติธรรมสู่ระบบใหม่ ทรงตรวจชำระสะสางกฎหมาย ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายเพื่อเปิดการสอนกฎหมายครั้งแรก ทรงรวบรวมและแต่งตำราคำอธิบายกฎหมายลักษณะต่าง ๆ มากมาย ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกาซึ่งทำหน้าที่ศาลสูงสุดของประเทศ ทรงตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้น เมื่อพ.ศ.2443 สำหรับตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาในคดีอาญา อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพิสูจน์ลายมือที่กรมตำรวจในปัจจุบัน จนได้รับพระสมัญญานามว่า ‘พระบิดาแห่งกฎหมายไทย’

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่  7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 จึงกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปีเป็น ‘วันรพี’ เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีและคุณูปการของพระองค์ต่อวงการกฎหมายไทย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top