Thursday, 10 October 2024
TODAY SPECIAL

12 สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ทรงเป็นธิดาในหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ภายหลังคือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นอนุบาล ณ โรงเรียนราชินี ก่อนที่จะย้ายไปทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ต่อมาพระบิดาต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตยังประเทศอังกฤษ จึงทรงตามเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในเวลาต่อมา ทรงได้เข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรี ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษา

ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ประเทศฝรั่งเศส หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ซึ่งทรงเสด็จประพาสกรุงปารีส จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสานพระราชสัมพันธ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 จึงได้มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ณ วังสระปทุม ก่อนที่ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยพระปรีชาสามารถอันล้นพ้น ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีว่า ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย โดยเสด็จพระราชดำเนินร่วมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยมาโดยตลอด

ในวาระวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยสืบไป ทรงพระเจริญ

10 สิงหาคม พ.ศ. 2435 ถือกำเนิด ‘ผู้ใหญ่บ้าน’ ครั้งแรก ที่บ้านเกาะ อ.บางปะอิน จ.อยุธยา พระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล) คือบุคคลแรกที่ถูกเลือก

ทุกวันที่ 10 สิงหาคม ถือเป็น ‘วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน’ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงจัดระเบียบการการปกครองท้องที่ ในระดับตำบลหมู่บ้านขึ้นใหม่ โดยให้ราษฎรทำการเลือกผู้ใหญ่บ้านเป็นครั้งแรกที่บ้านเกาะ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2435

โดยกำนันผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ พระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล)

“ต่อมาถึง พ.ศ. 2437 ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ได้ทรงเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา เมื่อลงมือจัดการปกครองท้องที่ พวกราษฎรชาวบางปะอินเลือกพระยารัตนกุลฯ เปนผู้ใหญ่บ้าน แล้วเลือกเป็นกำนันด้วยอีกชั้น…” (พระยารัตนกุลอดุยภักดี (จำรัส รัตนกุล) ใน “คำนำ โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” หนังสือลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ 2, พ.ศ. 2465)

ส่วนประวัติของ พระยารัตนกุลอดุลยภักดี หรือ นายจำรัส รัตนกุล (พ.ศ. 2402-65)) ผู้ใหญ่บ้านและกำนันคนแรกของประเทศไทย เกิดในรัชกาลที่ 4 ตรงกับวันอังคารที่ 22 พ.ศ. 2402 ปีมะแม เป็นบุตรหลวงพิเศษสุวรรณกิจ (ชื่น) รับราชการตำแหน่งสุดท้ายเป็นสมุหเทศาภิบาล จนเมื่อ พ.ศ. 2452 ก็กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง

และในวันที่ 10 สิงหาคม ของทุกปี จึงถือเป็น ‘วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน’

9 สิงหาคม พ.ศ. 2551 สิ้น ‘ยอดรัก สลักใจ’ พระเอกลูกทุ่งไทยตลอดกาล เจ้าของเพลง '30 ยังแจ๋ว' เพลงฮิตที่คนไทยรู้จักกันดี

‘ยอดรัก สลักใจ’ มีชื่อเล่นคือ แอ๊ว เกิดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ที่ตำบลงิ้วราย อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เป็นบุตร นายบุญธรรม และ นางบ่าย ไพรวัลย์ มีพี่น้อง 8 คน ชาย 7 คน หญิง 1 คน โดยยอดรักเป็นคนสุดท้อง

ยอดรักจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านหาดแตงโม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เนื่องจากทางบ้านไม่มีเงินส่งเสียค่าเล่าเรียน บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ยอดรักอายุได้ 7 ขวบ มารดามีฐานะยากจนและมีพี่น้องหลายคน จึงได้ออกเร่ร่อนร้องเพลงที่บาร์รำวง ได้เงินคืนละ 5-10 บาท ได้เงินมาก็หาซื้อหนังสือมาอ่านเอง และเรียนด้วยตนเอง จนกระทั่งได้เรียนที่โรงเรียนถาวรวิทยา อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ โดยเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ และสอบเทียบจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

ยอดรักได้มีโอกาสเข้าเรียนที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2534 และศึกษาต่อจนกระทั่งปี พ.ศ. 2537 ได้รับปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศศ.บ.) สาขาศิลปศาสตร์ สายดนตรีและศิลปะ การแสดง วิทยาลัยครูธนบุรี

เมื่อยอดรักยังเด็ก เขาไปสมัครร้องเพลงกับคณะรำวง ‘เกตุน้อยวัฒนา’ ซึ่งได้เงินมาครั้งละ 5 - 10 บาท และต่อมามีโอกาสไปร้องเพลงในห้องอาหารที่ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยได้ใช้เพลงของไพรวัลย์ ลูกเพชร, ชาย เมืองสิงห์, สุรพล สมบัติเจริญ, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นต้น จนกระทั่งวันหนึ่ง ‘เด็ดดวง ดอกรัก’ นักจัดรายการของสถานีวิทยุ ท.อ.04 ตาคลี ได้มาฟังเพลงที่ห้องอาหาร และประทับใจยอดรักที่ร้องเพลง 'ใต้เงาโศก' ของ 'ไพรวัลย์ ลูกเพชร' จึงได้มาชักชวนเข้าสู่วงการ โดยนำมาฝากกับ ‘อาจารย์ ชลธี ธารทอง’ ยอดรักก็ได้อยู่เลี้ยงลูกให้อาจารย์ชลธีเกือบหนึ่งปี และตั้งชื่อให้ว่า ‘ยอดรัก ลูกพิจิตร’ และได้บันทึกแผ่นเสียง 3 เพลงคือ สงกรานต์บ้านนา, น้ำสังข์หลั่งน้ำตาริน, เต่าหมายจันทร์

ต่อมาปี พ.ศ. 2550 ยอดรักถูกตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งตับระยะแรก และได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เวลา 01.05 น. ณ โรงพยาบาลพระรามเก้า แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานครด้วยวัย 52 ปี พิธีศพของยอดรักได้จัดขึ้นไว้ ณ วัดไร่ขิง ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดหาดแตงโม ตำบลงิ้วราย อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร

อย่างไรก็ตาม แม้ยอดรัก จะจากไป แต่เขาก็ยังเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่ง, ลูกกรุง, ป๊อป, บัลลาดที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในเมืองไทย หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘พระเอกลูกทุ่งไทยตลอดกาล’ มีผลงานที่สร้างชื่อหลากหลายเพลง หรือที่รู้จักกันดี ได้แก่เพลง ‘30 ยังแจ๋ว’

8 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ครบรอบ 8 ปี ‘BLACKPINK’ เดบิวต์อย่างเป็นทางการ เกิร์ลกรุ๊ปที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก

หากเอ่ยชื่อ แบล็กพิงก์ (BLACKPINK) เชื่อว่าคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพราะนี่คือเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังของประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้สังกัด YG Entertainment ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 4 คน คือ จีซู, เจนนี่, โรเซ่ และ ลิซ่า นั่นเอง

BLACKPINK เดบิวต์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559 พร้อมกับซิงเกิลอัลบั้ม Square One โดยมีซิงเกิลเปิดตัวอย่าง ‘Whistle’ และ ‘Boombayah’ ขึ้นถึงอันดับ 1 บน Gaon Digital Chart ในเกาหลีใต้ และ Billboard World Digital Song Chart ตามลำดับ ทำให้วงคว้ารางวัล Golden Disc Awards และ Seoul Music Awards สาขาศิลปินหน้าใหม่แห่งปี 2016

หลังจากนั้นก็ได้ปล่อยผลงานเพลงฮิตออกมามากมาย อาทิ Playing with Fire, Stay, As If It's Your Last และ Ddu-Du Ddu-Du รวมถึงได้ร่วมร้องกับนักร้องต่างประเทศชื่อดังอย่าง Selena Gomez ในเพลง Ice Cream, Dua Lipa ในเพลง Kiss and Make Up และ Lady Gaga ในเพลง Sour Candy

ทั้งนี้ ชื่อวง BLACKPINK นั้นสื่อความหมายถึงธรรมชาติของสมาชิกในวงที่มีความหลากหลายทางมิติ ทั้งความงามของหน้าตา บุคลิกลักษณะ และความสามารถที่เพียบพร้อม เต็มเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์และการฝึกฝนที่จริงจัง

นอกจากนี้ สมาชิกทุกคนต่างมีความเป็นผู้นำในแต่ละด้านได้ ทางค่ายและวงจึงตัดสินใจว่าจะไม่มีหัวหน้าวง อีกทั้งชื่อแฟนคลับอย่างเป็นทางการของ BLACKPINK คือ BLINK (บลิงก์) ที่เป็นการรวมกันของคำว่า BLACK และ PINK ซึ่งมีความหมายว่า คนที่รักและปกป้อง BLACKPINK เสมอ

ปัจจุบัน BLACKPINK เป็นหนึ่งในเกิร์ลกรุ๊ปที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับไม่เพียงแต่ในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก

7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 วันสิ้นพระชนม์ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ฯ’ ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น ‘พระบิดาแห่งกฎหมายไทย’

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาตลับ ประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 ปีจอ จุลศักราช 1236 ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2417 ทรงมีพระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นต้นราชสกุลรพีพัฒน์

ทั้งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้พระราชโอรสไปศึกษายังต่างประเทศ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสกลุ่มแรกที่ทรงไปศึกษาต่อในทวีปยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2428 คราวนั้นเสด็จไปพร้อมกัน 4 พระองค์ คือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (กรมพระจันทบุรีนฤนาถ), พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์), พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงปราจิณกิติบดี) และพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช)

เมื่อพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายจากประเทศอังกฤษได้กลับมารับราชการ ทรงเป็นผู้วางรากฐานด้านกฎหมายในเมืองไทย ทรงปรับปรุงศาลยุติธรรมสู่ระบบใหม่ ทรงตรวจชำระสะสางกฎหมาย ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายเพื่อเปิดการสอนกฎหมายครั้งแรก ทรงรวบรวมและแต่งตำราคำอธิบายกฎหมายลักษณะต่าง ๆ มากมาย ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกาซึ่งทำหน้าที่ศาลสูงสุดของประเทศ ทรงตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้น เมื่อพ.ศ.2443 สำหรับตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาในคดีอาญา อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพิสูจน์ลายมือที่กรมตำรวจในปัจจุบัน จนได้รับพระสมัญญานามว่า ‘พระบิดาแห่งกฎหมายไทย’

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่  7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 จึงกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปีเป็น ‘วันรพี’ เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีและคุณูปการของพระองค์ต่อวงการกฎหมายไทย

6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ‘สหรัฐอเมริกา’ ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่ม ‘เมืองฮิโรชิมะ’ โศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นทันที 80,000 คน

วันนี้เมื่อ 79 ปีที่แล้ว ซึ่งก็คือวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เป็นอีกหนึ่งวันที่คนญี่ปุ่นไม่มีวันลืม เมื่อระเบิดปรมาณู ‘ลิตเติลบอย (Little Boy)’ ของสหรัฐอเมริกา ถูกทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีประมาณ 80,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีอีก 60,000 คน

‘ลิตเติลบอย (Little Boy)’ เป็นชื่อระเบิดปรมาณู ที่ถูกนำไปทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น โดยเครื่องบิน B-29 Superfortress (เครื่องบินลำนี้มีชื่อ Enola Gay) และระเบิดลูกนี้ ยังนับเป็นระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ใช้ในการสงครามอีกด้วย

โดยอาวุธนี้พัฒนาขึ้น ในระหว่างจัดตั้ง ‘โครงการแมนฮัตตัน’ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย ‘จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์’ ผู้ที่ได้ฉายาว่า ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’

สำหรับ ‘ลิตเติลบอย’ มีความยาว 3 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 71 เซนติเมตร และน้ำหนัก 4,000 กิโลกรัม บรรจุธาตุยูเรเนียมประมาณ 64 กิโลกรัม และจากเหตุการณ์นี้นับเป็นโศกนาฏกรรมที่โลกไม่เคยลืม

5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 ‘ในหลวง ร.5’ ทรงพระราชทานกำเนิด ‘โรงเรียนนายร้อย จปร.’ มุ่งมั่นผลิตนายทหารที่มีคุณลักษณะตามกองทัพต้องการ

‘โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า’ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานกำเนิดเมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 ณ บริเวณพระราชวัง สราญรมย์ ต่อมาเมื่อปี 2451 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมมาอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก เนื่องจากมีผู้นิยมเข้าเรียนจำนวนมากและสถานที่เดิมคับแคบ จนกระทั่งปี 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งมาอยู่ที่บริเวณเขาชะโงก จังหวัดนครนายก ด้วยเหตุที่สถานที่ตั้งเดิมแออัด ประกอบกับสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยในการฝึกศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2524 และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าแห่งนี้ เมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 ยังความปลาบปลื้มแก่บรรดานักเรียนนายร้อย ศิษย์เก่า และกำลังพลของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าอย่างหาที่สุดมิได้

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้มีการเปลี่ยนชื่อมาแล้วหลายครั้ง เริ่มแรกใช้ชื่อว่า ‘คะเด็ตสกูล’ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนให้เหมาะสม ได้แก่ โรงเรียนทหารสราญรมย์ โรงเรียนสอนวิชาทหารบก โรงเรียนทหารบก โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมและโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม โรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก จนกระทั่ง 1 มกราคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามโรงเรียนนายร้อยทหารบกว่า ‘โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า’ ต่อมาเมื่อปี 2493 ได้พระราชทานตราอาร์มหรือตราแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ใช้เป็นตราประจำโรงเรียน และยังให้ใช้เป็นเครื่องหมายเหล่าและสังกัดของนักเรียนนายร้อยด้วย

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสมกับยุคสมัย นับตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาวิชาสามัญและวิชาทหารหลักสูตรตามแนวทางของโรงเรียนโปลีเทคนิค ประเทศฝรั่งเศส 5 ปี หลักสูตรตามแนวทางของโรงเรียนนายร้อยทหารบกเวสต์ปอยต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา 5 ปี ต่อมาในปี 2544 ได้ปรับปรุงหลักสูตร 4 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของกองทัพบก และมติคณะกรรมการพัฒนาระบบการศึกษาของกองทัพบกใช้ชื่อหลักสูตรว่า ‘หลักสูตรนักเรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พุทธศักราช 2544’ ต่อมาหลักสูตรนี้ได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน มีการประเมินและปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต 9 หลักสูตร หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต 6 หลักสูตร และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต 3 หลักสูตร การจัดการศึกษาในแต่ละภาคการศึกษาประกอบด้วย การศึกษาวิชาการ วิชาทหาร และการเสริมสร้างคุณลักษณะผู้นำ

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าจะได้รับพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา พิธีพระราชทานกระบี่ได้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2471 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานกระบี่และรางวัลการศึกษา ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ถนนราชดำเนินนอก นับตั้งแต่นั้นมาได้มีการจัดพิธีพระราชทานกระบี่ขึ้นเป็นประจำจนถึงทุกวันนี้ 

ต่อมาเมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้บัญชาการพิเศษโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตลอดระยะเวลาหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ามุ่งมั่นผลิตนายทหารสัญญาบัตรหลักที่มีคุณลักษณะตามที่กองทัพต้องการ มีความเป็นสุภาพบุรุษ นักรบ นักพัฒนา เป็นผู้นำที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ เทิดทูนชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มุ่งพัฒนากองทัพและประเทศชาติ พร้อมเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทย

4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ‘ในหลวง ร.5’ โปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’ จุดกำเนิดกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไป จุดเริ่มต้นของการสื่อสารในสมัยก่อนนั้น เกิดจากการสร้างเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการค้า โดยมีการติดต่อข่าวสารกันอย่างง่าย ทั้งผ่านทางพ่อค้า ใช้ม้าเร็ว จนถึงการจัดตั้งคนเร็วไว้ตามเมืองสำคัญ ก็ถือเป็นพัฒนาการทางการส่งข่าวสารอย่างง่ายอีกช่องทางหนึ่งและเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นยุคแรกของ ‘การไปรษณีย์ไทย’ ด้วยการจัดตั้ง ‘กรมไปรษณีย์’ ในประเทศไทย และการผลิต ‘แสตมป์ชุดโสฬส’ แสตมป์ชุดแรกของประเทศ รวมไปถึงจัดพิมพ์ไปรษณียบัตรครั้งแรก เพื่อรองรับกิจการไปรษณีย์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

โดยปี พ.ศ. 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายคำแนะนำให้เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดส่งหนังสือพิมพ์รายวัน ‘ข่าวราชการ’ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์

เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงวางโครงการและเตรียมการไว้พร้อมที่จะเปิดบริการไปรษณีย์แล้ว ได้ประกาศเปิดรับฝากส่งจดหมายหรือหนังสือ เป็นการทดลองในเขตพระนครและธนบุรีขึ้น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 มีที่ทำการตั้งอยู่ ณ ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อใช้ที่สร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า) ที่ทำการแห่งแรกนี้ใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์สำหรับจังหวัดพระนคร ด้วยเรียกกันว่า ‘ไปรษณียาคาร’

ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการกราบบังคมทูลเสนอความเห็นว่าราชการของกรมไปรษณีย์และราชการของกรมโทรเลข ซึ่งตั้งขึ้นก่อนกรมไปรษณีย์แล้วนั้นเป็นงานในด้านสื่อสารด้วยกัน ควรรวมเป็นหน่วยราชการเดียวกันเสีย เพื่อความสะดวกแก่การดำเนินงาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นเป็นการสมควรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้รวมหน่วยงานทั้งสองเข้าด้วยกันเรียกว่า ‘กรมไปรษณีย์โทรเลข’

ต่อมาได้ย้ายไปใช้อาคารและที่ดินริมถนนเจริญกรุงเป็นที่ทำการและเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘ที่ทำการไปรษณีย์กลาง’ การไปรษณีย์เป็นบริการสาธารณะ จำเป็นต้องมีระเบียบข้อบังคับเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการและเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินบริการทราบและถือปฏิบัติ เมื่อเปิดการไปรษณีย์โทรเลขได้ประมาณ 2 ปีแล้ว รัฐบาลจึงได้ตรากฎหมายขึ้นในปี พ.ศ. 2428 เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติการไปรษณีย์ไทย จุลศักราช 1248’

ทั้งนี้ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงมีแก่กิจการไปรษณีย์ไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2526 กำหนดให้ วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น ‘วันสื่อสารแห่งชาติ’ และจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 โดยจัดร่วมกับงานครบรอบ 100 ปี การสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข และการเฉลิมฉลองปีการสื่อสารโลกของสหประชาชาติ

3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ‘ในหลวง-พระราชินี’ เสด็จฯ เปิด ‘สวนป่าเบญจกิติ’ ระยะ 2-3 พื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมชาวกรุงฯ

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ณ สวนสาธารณะเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมข้าราชการ เฝ้า ฯ รับเสด็จ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล จากนั้นเสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธีทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายสวนเบญจกิติ โดยถ่ายทอดผ่านจอมอนิเตอร์ แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ) ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

ต่อมา เสด็จฯ ไปยังบริเวณจัดนิทรรศการ ‘สวนป่าเบญจกิติ’ ทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสวนป่าระยะที่ 2-3 ในสวนสาธารณะเบญจกิติ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 1 ต้น เมื่อสมควรแก่เวลาเสด็จฯ กลับ

ทั้งนี้ โครงการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ดำเนินการออกแบบภายใต้แนวคิดในการสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปลูกป่าในใจคน ด้วยการเป็นสวนป่าสำหรับคนเมือง (Urban Forest) ที่เชื่อมโยงและเอื้อต่อการเข้ามาทำกิจกรรมและใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตของ คนเมือง เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิต ที่สร้างความผูกพันและสำนึกรักในคุณค่าของป่า น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม และสำนึกหวงแหนดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ในการออกแบบได้เน้นให้มีพื้นที่สวนป่ามากที่สุด มีพื้นที่ป่าและพื้นที่น้ำร้อยละ 85 โดยปลูกต้นไม้เพิ่ม ในพื้นที่โครงการฯ กว่า 7,000 ต้น มีพรรณไม้ประมาณ 350 ชนิด ทั้งไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน และไม้น้ำ และเพื่อให้สวนป่าแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองจึงได้ออกแบบให้มีบึงน้ำจำนวน 4 บึง สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 128,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคต

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในโครงการได้ใช้ระบบบำบัดน้ำแบบบึงประดิษฐ์ โดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติของระบบรากพืชชุ่มน้ำ และได้ออกแบบบ่อดักตะกอน ซึ่งเป็นจุดแรกในการรับน้ำจากคลองไผ่สิงโต มีสารแขวนลอยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำจากคลองไผ่สิงโต เพื่อนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ในโครงการ อีกทั้งมีเส้นทางเดิน ทางวิ่ง ทางจักรยาน ระยะทางรวม 4 กิโลเมตร มีทางเดินศึกษาธรรมชาติลัดเลาะไปตามต้นไม้ใหญ่และบึงน้ำ มีการออกแบบทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk) ความสูง 5-8 เมตร ที่สามารถมองเห็นมุมมองในระยะสูงเป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลท์ของสวนที่สามารถให้ทุก ๆ คน เดินเชื่อมไปยังส่วนอื่น ๆ ของพื้นที่สวนป่าได้ในส่วนของงานสถาปัตยกรรมได้ออกแบบอาคารโรงงานผลิตยาสูบเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต การเรียนรู้ที่หลากหลาย

มีพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำหรับอาคารโกดังเดิมจำนวน 3 หลัง ได้ปรับปรุงเป็นอาคารกีฬา และได้เปิดพื้นที่กลางอาคารทั้ง 4 หลัง ให้โปร่งโล่งและปลูกต้นไม้เพิ่มกลางอาคารโดยใช้แนวคิดออกแบบอาคารเขียว เป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน

โดยสวนป่าแห่งนี้เป็นสวนที่แสดงให้เห็นถึงการน้อมนำพระราชดำริมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับปวงชนชาวไทยที่สร้างการตระหนักรู้ถึงการอยู่ร่วมกันระหว่าง คน สัตว์ ป่า การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน สวนแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมแสดงความจงรักภักดี ต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 และกรมธนารักษ์ คาดหวังว่า สวนป่าแห่งนี้จะช่วยให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งความสุขต่อไปได้

2 สิงหาคม พ.ศ. 2413 ‘Tower Subway’ รถไฟใต้ดินสายแรกของโลก เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ที่กรุงลอนดอน

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2413 ทาวเวอร์ ซับเวย์ (Tower Subway) รถไฟใต้ดินสายแรกของโลก เปิดให้บริการที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีลักษณะเป็นอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเทมส์ (Thames) ซึ่งมี 2 สถานีคือ ทาวเวอร์ ฮิลล์ (Tower hill) และ ไวน์ เลน (Vine lane) โดยรถไฟใต้ดินสายนี้ได้ชื่อมาจาก ‘หอคอยแห่งลอนดอน’ (Tower of London)

ทั้งนี้ อุโมงค์ออกแบบและก่อสร้างโดย เจมส์ เกรทีด (James Henry Greathead) ส่วนเปลือกอุโมงค์ออกแบบโดย ปีเตอร์ บาร์โลว์ (Peter William Barlow) และมีลูกชายของบาร์โลว์คือ ปีเตอร์ บาร์โลว์ จูเนียร์(Peter W. Barlow Jr.) เป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งเริ่มก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2412 โดยขุดอุโมงค์รถไฟด้วยเครื่องจักรไฮดรอลิก ลึกประมาณ 18 เมตรใต้ผืนดิน ในระยะแรกอุโมงค์ยาวเพียง 410 เมตร กว้าง 2.1 เมตร รางกว้าง 76.2 เซนติเมตร ใช้เครื่องจักรไอน้ำขนาด 4 แรงม้าเป็นตัวลากรถเคเบิลคาร์ ขนาด 12 ที่นั่ง ใช้เวลาโดยสารเที่ยวละประมาณ 70 วินาที

หลังจากเปิดใช้งานได้ประมาณ 3 เดือน ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เพราะความคับแคบและไม่สะดวกของสถานี ประชาชนจึงนิยมเดินเท้ามากกว่า ต่อมาในที่สุดทางการจึงปรับปรุงใหม่ นำลิฟต์มาแทนบันได เปลี่ยนเครื่องจักรไอน้ำเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้รถไฟฟ้าใต้ดินสายนี้กลับมาได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โดยมีผู้โดยสารกว่า 2 หมื่นคนต่อสัปดาห์ ก่อนจะคลายความนิยมไปหลังจากมีการก่อสร้างสะพาน ’ทาวเวอร์ บริดจ์‘ (Tower Bridge) ในปีพ.ศ. 2437 เนื่องจากไม่ต้องเสียเงินเหมือนรถไฟฟ้า ไม่นานก็ขาดทุนจนรัฐบาลต้องขายกิจการให้เอกชนดำเนินการต่อ ก่อนจะปิดการใช้งานในปีพ.ศ. 2441


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top