Sunday, 6 July 2025
ECONBIZ

ทำสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต  นวัตกรรมใหม่ตลาดทุนไทย ตอบโจทย์องค์กรปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.66) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทย) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ บริษัท PTT International Trading Pte Ltd ประเทศสิงคโปร์ (PTTT ถือหุ้น 100% โดย ปตท.) ในการเข้าทำสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต หรือ Carbon Credit Linked Derivatives ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ของตลาดทุนไทย ที่ธนาคารได้ออกแบบและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการบริหารความเสี่ยงทางการเงินของ ปตท. รวมถึงเป็นการส่งเสริมเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งสองบริษัท 

นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างองค์กรในประเทศ โดย PTTT ประเทศสิงคโปร์ จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาคาร์บอนเครดิตที่มีมาตรฐานให้เพื่อใช้สำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่างๆ ในอนาคต นอกจากนี้ ข้อตกลงยังครอบคลุมถึงการบรรลุเป้าหมายด้าน ESG ของ ปตท. 

นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของ United Nations Development Programme (UNDP) โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทิศทางที่ผู้บริโภค และธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยล่าสุดธนาคารลงนามบันทึกข้อตกลงกับ ปตท. และ บริษัท PTTT ประเทศสิงคโปร์ ในการเข้าทำสัญญาอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน (Derivatives) ที่เชื่อมโยงกับคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Linked Derivatives) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ข้อตกลงยังครอบคลุมถึงการบรรลุเป้าหมายด้าน ESG ถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นพัฒนาและการเป็นผู้นำตลาด ESG Financial Solution ของธนาคาร ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ และสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

เคลียร์ชัด!! 'หนี้สาธารณะ' มุมมองที่หลายคนอาจเขิน หากนำไปแถแบบไม่เข้าใจ

หลายคนอาจจะยังคงสงสัยกับคำว่า ‘หนี้สาธารณะ’ และอาจเคยได้ยินว่า ‘คนไทย’ มีหนี้ต่อหัวสูงมาก แต่เคยรู้หรือไม่ว่า ในความเป็นจริงแล้วการกู้หนี้สาธารณะ นับเป็นการลงทุนในระยะยาวอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ผลตอบแทนสูง 

สำหรับเรื่องนี้ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘เศรษฐกิจติดบ้าน’ ทางช่อง Thai PBS เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ดดยบางช่วงบางตอนได้ระบุว่า…

“หนี้สาธารณะ คือ หนี้ของประเทศจริงๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ ตามคำนิยาย พ.ร.บ.หนี้ของไทยค่อนข้างกว้าง รวมตั้งแต่ หนี้ของกระทรวงคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวที่จะกู้เงินให้ประเทศได้ หนี้รัฐบาลกลาง หนี้รัฐวิสาหกิจ ถึงแม้บางแห่งจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่การก่อหนี้ก็จะนับเป็นหนี้สาธารณะด้วยเช่นกัน รวมถึงหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ด้วย” 

“คำนิยามหนี้สาธารณะของไทยกว้างมาก กว้างกว่าประเทศอื่นๆ เยอะ ไม่ใช่ว่าประเทศไม่มีเงินจึงต้องก่อหนี้ แต่เพราะจริงๆ แล้ว การก่อหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ คือการก่อหนี้เพื่อการลงทุน และเพื่อโครงการที่เป็นสังคม สาธารณะประโยชน์”

'รัฐบาล' ปลื้ม!! โมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปไกล หลังวงประชุม UNCTAD หนุนนักธุรกิจ-นักวิจัยผู้หญิง

(5 เม.ย.66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศ ว่า ผู้แทนรัฐบาลไทย โดย น.ส.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สกสว. ได้เข้าร่วมการประชุม Commission on Science and Technology for Development (CSTD) ครั้งที่ 26 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อระหว่างวันที่ 26-30 มี.ค.ที่ผ่านมา  

โดยร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจสีเขียวให้กับนักธุรกิจและนักวิจัยหญิง จากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 15 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ที่กรุงเทพฯ ผ่านโครงการ STI Capacity Building Programs on Female Researchers and Entrepreneurs to promote Bio – Circular – Green Economic (BCG) MODEL 

INTERLINK หนุน 'สร้างงาน สร้างคน สร้างอาชีพ' เสริมทักษะความรู้ สร้างกูรูสายสัญญาณป้อนไทย

(4 เม.ย.66) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตบุคลากรในสายวิชาชีพ กับสถาบันเทคโนโลยี หนุนสร้างงาน สร้างคน สร้างอาชีพ ส่งเสริมทักษะความรู้เฉพาะด้านการเป็นผู้นำด้านสายสัญญาณของประเทศไทยที่แข็งแกร่ง นำสู่การต่อยอดอาชีพในอนาคตได้อย่างเติบโต ต่อเนื่อง และยั่งยืน

โดยมี คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ และ ดร. ชลิดา อนันตรัมพร ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิง สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา และประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ทางวิชาการระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ณ ห้องประชุมสภา สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 27 - 31 มี.ค.66  จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 3 - 7 เม.ย.66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น จากนักลงทุนคลายความวิตกต่อวิกฤติภาคธนาคาร ประกอบกับท่อขนส่งน้ำมันดิบ Kirkuk - Ceyhan (0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ที่สูบถ่ายน้ำมันดิบจากเขตปกครองพิเศษเคอร์ดิสถานทางตอนเหนือของอิรักสู่ตุรกีปริมาณ 4 - 4.5 แสนบาร์เรลต่อวัน ต้องระงับการสูบถ่ายชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 66 หลังอิรักชนะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทการส่งออกน้ำมันเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 66 

อย่างไรก็ดี วันที่ 2 เม.ย. 66 รัฐบาลอิรักและรัฐบาลท้องถิ่นเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Regional Government: KRG) บรรลุข้อตกลงกลับมาส่งออกน้ำมันดิบแล้ว และคาดว่าจะเริ่มส่งออกน้ำมันได้ในวันที่ 3 เม.ย. 66

สัปดาห์นี้ ทางเทคนิคคาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 80 – 88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากอุปทานน้ำมันมีแนวโน้มตึงตัว หลังประเทศสมาชิก OPEC+ จำนวน 7 ประเทศ ประกาศลดการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจ ปริมาณรวม 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. - ธ.ค. 66 เพิ่มเติมจากโควตาเดิมของ OPEC+ ซึ่งลดการผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ย. 65 - ธ.ค. 66 ประกอบกับรัสเซียประกาศลดการผลิตน้ำมันดิบ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. - ธ.ค. 66 ซึ่งจะสนับสนุนราคาน้ำมัน โดย Goldman Sachs ปรับประมาณการณ์ราคาน้ำมันดิบ Brent ในปี 66 และ 67 เพิ่มขึ้น 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากคาดการณ์เดิม มาอยู่ที่ 95 และ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

‘สงกรานต์ 66’ คึกคัก!! คนไทยเที่ยวไทยพุ่ง!! คาด!! เงินสะพัดกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท

(3 เม.ย.66) สงกรานต์ปี 2566 ความกังวลโควิดหมดไป หลายจังหวัดเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์อย่างเต็มรูปแบบในรอบ 3 ปีกันอย่างคึกคัก จากผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ 44.7% มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ (หลักๆ จะเป็นกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน และกลุ่มที่ท่องเที่ยวระหว่างการเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเยี่ยมญาติพี่น้องด้วย) โดยเกือบทั้งหมดมีแผนท่องเที่ยวในประเทศ โดยแหล่งท่องเที่ยวที่คนกรุงเทพฯ มีแผนส่วนใหญ่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวทางทะเล อาทิ พัทยา หัวหิน เกาะช้าง เป็นต้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 วันระหว่างวันที่ 13-17 เม.ย. 2566 น่าจะมีจำนวน 5.1 ล้านคน-ครั้งเพิ่มขึ้น 28.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

‘เซ็นทรัลฯ’ เผย ทุ่มงบ 400 ล้าน จัด 2 อีเวนต์ใหญ่ช่วงสงกรานต์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว คาด ยอดใช้จ่าย-ลูกค้าเพิ่มขึ้น 30%

(3 เม.ย.66) แหล่งข่าวจากห้างสรรพสินค้า ระบุว่า ในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ทุกห้างค้าปลีกตื่นตัวกับการจัดกิจกรรมช่วงสงกรานต์ และแต่ละค่ายเตรียมใช้งบประมาณอย่างต่ำ 50-100 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นประชาชนให้ออกมาฉลองสงกรานต์ หลังจาก 3 ปีที่ผ่านมาเจอการระบาดของโควิด-19 ทำให้การจัดงานต้องงด อีกทั้งเดือนเมษายนนี้ คาดว่าอากาศร้อนอบอ้าว ทำให้ชูเป็นจุดขายดึงคนออกนอกบ้าน และเล่นน้ำตามสถานที่ต่างๆ ก็จะทำให้เกิดการเข้าซื้อสินค้าและสังสรรค์ทานอาหารกันมากขึ้น โดยประเมินว่าจะเกิดขึ้นสะพัดกว่า 1 หมื่นล้านบาทในช่วงสงกรานต์ปีนี้ ที่เน้นเรื่องอาหารดับร้อน เสื้อผ้า เป็นต้น

ด้านนายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัล แถลงว่า เซ็นทรัลพัฒนา ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน กระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 2/2566 และเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่กำลังกลับมาเที่ยวเมืองไทย จึงใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท จัด 2 อีเวนต์ใหญ่ คือ แคมเปญซัมเมอร์ ด้วยงบ 300 ล้านบาท และ THAILAND’S SONGKRAN FESTIVAL 2023 ด้วยงบ 100 ล้านบาท

‘EA-SCB’ ลงนามสินเชื่อ หนุนธุรกิจ Pay Pop เดินเครื่องผลักดัน EV Bus สู่สังคมไทยเต็มสูบ

EA - SCB ลงนามสินเชื่อ Green Loan 2,000 ล้านบาท เดินเครื่องรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ (EV-Bus) เต็มสูบ ขยายธุรกิจ ‘Pay Pop’ สร้างการลงทุนโครงการใหม่ในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร

ไม่นานมานี้ บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ร่วมลงนามสัญญาเงินกู้สีเขียว 2,000 ล้านบาท เพื่อการลงทุนในโครงการรถโดยไฟฟ้าสารสาธารณะ (EV-Bus) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สยายปีกเปย์ป๊อป (Pay Pop) ธุรกิจให้เช่าซื้อรถโดยสารไฟฟ้า สนับสนุน EA สู่ธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ไร้มลพิษอย่างครบวงจร โดยมี นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมพิธีลงนาม ณ SCB Academy ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็วๆ นี้

นายสมโภชน์ เปิดเผยว่า การร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) มูลค่า 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 4 ปี สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เสริมความแข็งแกร่งทางการเงินของกลุ่มบริษัทฯ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจใหม่ (New S-Curve) 

แก้แล้ง กันท่วม!! สำรวจความพร้อม 'คลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร' คลองระบายน้ำยุทธศาสตร์ ตามแผนแม่บทแก้ปัญหาน้ำท่วม

(3 เม.ย.66) เพจ 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้เผยความคืบหน้า #คลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร มูลค่าโครงการกว่า 21,000 ล้านบาท แก้ปัญหาน้ำท่วม เพิ่มพื้นที่เก็บน้ำ ตามแผนแม่บทแก้ปัญหาน้ำท่วม ว่า...
.
วันนี้ผมผ่านไปทางบางไทร เลยเอาภาพความคืบหน้าของโครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร ซึ่งเป็นหนึ่งในคลองระบายน้ำยุทธศาสตร์ ตามแผนแม่บทการแก้ปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยา

คลิปรายละเอียดโครงการ
https://youtu.be/0YvJp12v9ik
—————————
>> รายละเอียดคลองระบายน้ำ บางบาล-บางไทร 

โดยคลองนี้จะเป็นการขุดคลองใหม่เพื่อแก้ปัญหาคอขวดของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ วัดพนัญเชิง ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งในจุดนี้สามารถรองรับอัตราการไหลได้เพียง 1,200 m3/วินาที ซึ่งคลองใหม่ ก็มีอัตราการไหลเท่ากัน

ซึ่งทำให้แม่น้ำเจ้าพระยา มีความสามารถในการรองรับน้ำได้สูงสุดถึง 2,930 m3/hr เพียงพอในการรับมวลน้ำในช่วงปี 2554 ได้เลยทีเดียว

โดยโครงการนี้จะมีการขุดคลอง กว้าง 200-110 เมตร ยาวรวมกว่า 22 กิโลเมตร เพื่อเป็นทั้งช่องทางระบายน้ำหลาก เป็นพื้นที่เก็บน้ำในยามน้ำแล้ง และเป็นวิธีแก้ปัญหาน้ำกร่อยของน้ำประปากรุงเทพ ได้อย่างเด็ดขาด จากการวางแผนเดินท่อรับน้ำประปาใหม่ ของการประปานครหลวง

พร้อมกับการพัฒนาถนนเลียบคลองระบายน้ำ และสะพานข้ามคลองถึง 11 สะพาน เพื่อเชื่อมต่อเมืองสองฝั่งของคลอง

รวมถึงการเปิดแนวการเดินเรือใหม่ จากการมี Lock เพื่อยกระดับน้ำ 

โดยมูลค่าโครงการรวม กว่า 21,000 ล้านบาท!!!
—————————

‘พงษ์ภาณุ’ แนะรัฐ เร่งปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษี มุ่งเพิ่มสัดส่วนรายได้ นำเงินพัฒนาประเทศระยะยาว

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 66 ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ครั้งล่าสุด อีก 0.25% เพิ่มจาก 1.50% เป็น 1.75% นั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับในต่างประเทศ เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน แม้ว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งของสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับวิกฤตแบงก์ล้มอยู่ก็ตาม นั่นเพราะปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯยังเป็นปัญหาใหญ่อยู่นั่นเอง

แน่นอนว่า การขึ้นดอกเบี้ยในแต่ละครั้ง ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในฐานะลูกหนี้ ที่จะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันความสามารถในการขอสินเชื่อของประชาชนก็จะลดลงด้วย ยกตัวอย่าง การกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารก็อาจจะพิจารณาให้เงินกู้ในสัดส่วนที่ลดลง จากเดิมกู้ได้ 2 ล้านบาท อาจจะเลือกเพียง 1.5 ล้านบาท เพราะต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่ม แต่เงินเดือนหรือรายได้ของผู้ยื่นกู้อยู่เท่าเดิม เป็นต้น

‘นทท.ไทย-เทศ’ แห่ร่วม ‘งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง’ ชมขบวนนางรำสักการะสุดยิ่งใหญ่ คาด เงินสะพัดหลายล้าน!!

นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติจำนวนมาก เดินทางมาเที่ยว ‘งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง’ อย่างคึกคัก ชมขบวนแห่เทพพาหนะทั้ง 10 ขบวนแห่พระนางภูปตินทรลักษมีเทวี แสดงโดย ‘บิ๊นท์ สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์’ มิสอินเตอร์ เนชั่นแนล 2019-2021 พร้อมชมขบวนแห่สักการะ ‘น้อมจิตบังคม พนมรุ้งนาฏการ’ นางรำจากทุกอำเภอ ร่วมพันคน รำถวายสักการะ ตลอดงาน คาดจะมีเงินสะพัดหลายล้านบาท
.
(2 เม.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 1 เม.ย. 2566 ที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ประจำปี 2566 ที่ทางจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรมศิลปากร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดขึ้น อย่างยิ่งใหญ่ ในระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน 2566 เพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณี และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางอารยธรรมขอมโบราณ ที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัด และยังเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกีฬามาตรฐานโลก โดยมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มารอชมขบวนแห่กันเป็นจำนวนมาก

ภายในงานได้มี ขบวนแห่พาหนะเทพ ผู้พิทักษ์ทิศทั้ง 10  และขบวนเสด็จของพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี แสดงโดย ‘บิ๊นท์ สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์’ มิสอินเตอร์ เนชั่นแนล 2019-2021 และนางจริยา นำเครื่องบวงสรวงประกอบด้วย เทพพาหนะทั้ง 10 นางสนมกำนัล เหล่าทหาร ข้าทาสบริวาร ดำเนินผ่านเสานางเรียงประดับด้วยธงทิวยิ่งใหญ่อลังการ ขึ้นไปบนอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

จากนั้น เป็นการแสดงแสงแห่งศรัทธาปราสาทพนมรุ้ง และขบวนแห่สักการะ ‘น้อมจิตบังคม พนมรุ้งนาฏการ’ การรำถวายสักการะใต้ร่มพนมรุ้ง จากนางรำ ทั้ง 23 อำเภอ ร่วม 1,000 คน แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองประจำถิ่นของแต่ละอำเภอ มาฟ้อนรำถวายอย่างงดงามอลังการ ซึ่งได้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มารอชมขบวนแห่กันเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น ยังได้จัดแสดงและจำหน่ายสินค้าโอท็อป ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม ผ้าฝ้ายที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ทั้งผ้าซิ่นตีนแดง ผ้าหางกระรอกคู่ตีนแดง ผ้าภูอัคนี (ผ้าฝ้ายย้อมดินภูเขาไฟ) รวมถึงผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร เครื่องใช้ และของที่ระลึกอื่น ๆ อีกมากมาย

‘ธนาคารโลก’ เชื่อ!! ศก.ไทยฟื้นตัว ดันจีดีพีปี 66 โต 3.6% ชี้!! ท่องเที่ยวยังเด่น ลุ้นโกย 27 ล้าน นทท.เข้าประเทศ

‘เวิลด์แบงก์’ เคาะจีดีพีไทยปีนี้โต 3.6% อานิสงส์บริโภคภายในประเทศ-ท่องเที่ยวหนุนเต็มสูบ ลุ้นต่างชาติทะยาน 27 ล้านคน ส่งออกโคม่าติดลบ 1.8% ซมพิษเศรษฐกิจโลก หนุนปฏิรูปเศรษฐกิจ ช่วยดันเติบโตระยะยาว

(2 เม.ย. 66) นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2566 ยังคงขยายตัวได้ที่ระดับ 3.6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 2.6% โดยต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค ที่ส่วนใหญ่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เร็วกว่าไทย โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตดีขึ้นต่อเนื่อง มาจากภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับอานิสงส์จากการที่จีนเปิดประเทศ โดยคาดว่าปีนี้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเพิ่มขึ้นเป็น 27 ล้านคน คิดเป็น 68% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และการบริโภคภายในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการคลัง โดยเฉพาะการตรึงราคาพลังงาน ที่ช่วยพยุงให้การบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันเสถียรภาพทางการคลังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จากสัดส่วนหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยปัจจุบันอยู่ที่ราว 60% ต่อจีดีพี และคาดว่าจะลดลงเหลือราว 59% ต่อจีดีพี เนื่องจากอัตราการใช้จ่ายของภาครัฐที่ลดลง แต่ก็ยังสูงกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการตรึงราคาพลังงานเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกไทยในรูปเงินดอลล่าร์สหรัฐ ปีนี้คาดว่าจะหดตัวที่ 1.8% โดยได้รับผลกระทบชัดเจนจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/2565 ส่วนอัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 3.2%

ทั้งนี้ มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 3.7% และปี 2568 ที่ระดับ 3.5% โดยประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่ได้สูงมากนัก นั่นเพราะในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยค่อนข้างช้า แต่มองว่ายังมีโอกาสที่ไทยจะเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจให้ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากยังมีศักยภาพและเสถียรภาพด้านการเงิน และการคลัง ที่จะสามารถนำสิ่งนี้มาใช้ในการปฏิรูปเศรษฐกิจได้อย่างจริงจัง

“ประเด็นสำคัญในการเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจของไทย เพื่อเพิ่มรายได้จากภาษี โดยเฉพาะภาคบริการ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง รายได้ดี และใช้แรงงานที่มีทักษะสูง แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎเกณฑ์ กติกาในภาคบริการที่ค่อนข้างเยอะ ถือเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ทำให้การลงทุนในส่วนนี้ยังมีข้อจำกัด ส่วนภาคการท่องเที่ยว ก็ต้องมีการเพิ่มมูลค่า เพิ่มการลงทุนด้านการท่องเที่ยวไม่ใช่เฉพาะในเมืองหลัก อย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือภูเก็ต เท่านั้น รวมทั้งต้องยกระดับมาตรการการให้บริการด้านการท่องเที่ยว เราคิดว่าภาคการท่องเที่ยวอาจจะยังไม่ใช่เครื่องมือหลักที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น แต่ก็ยังเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญรวมถึงต้องเร่งปฏิรูปการลงทุนของภาครัฐ ที่ต้องเน้นคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ตลอดจนประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น ต้องมีการปฏิรูปเรื่องสวัสดิการที่พุ่งเป้า เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และคนจนให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเรื่องระบบการศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องมีการปฏิรูปในวงกว้าง เพื่อเสริมทักษะให้กับเยาวชน หรือคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เรื่องนี้ที่ผ่านมาไทยไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

ปตท. รับรางวัล ‘องค์กรโปร่งใส’ 5 ปีซ้อน  ตอกย้ำการบริหารจัดการองค์กรบนหลักธรรมาภิบาล

เมื่อไม่นานมานี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) รับรางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 11 (NACC Integrity Awards) ประจำปี 2565 จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สะท้อนการเป็นองค์กรที่บริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล และมีจริยธรรม เพื่อยกระดับความโปร่งใสของประเทศไทยให้เป็นแบบอย่างตามมาตรฐานสากล

‘รฟท.’ จัดโปรฯ เที่ยวไทยสไตล์ญี่ปุ่น ด้วยขบวนรถไฟ ‘KIHA 183’ ในธีม ‘ย้อนรอยประวัติศาสตร์’ กระจายรายได้-กระตุ้นการท่องเที่ยว

(31 มีค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย แผนเดินหน้าเพิ่มรายได้ขบวนรถไฟท่องเที่ยว KIHA 183 เชิญชวนประชาชนสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยว รถไฟไทย สไตล์ญี่ปุ่น ด้วยแนวคิด ‘ย้อนรอยประวัติศาสตร์’ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

“ในเดือนเมษายน 2566 รฟท. ได้จัดโปรแกรมท่องเที่ยวกับขบวนรถไฟ KIHA 183 ภายใต้แนวคิดย้อนรอยประวัติศาสตร์ โดยมีโปรแกรมท่องเที่ยวไปตามเส้นทางต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบ รองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม เพื่อสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวในรูปแบบรถไฟไทย สไตล์ญี่ปุ่น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

วันที่ 1 - 2 เมษายน 2566 โปรแกรม แต่งกายย้อนยุค นั่งรถไฟ KIHA 183 ‘เที่ยวงานแก่งคอย ย้อนรอยอดีตสงครามโลกครั้งที่ 2’

วันที่ 8 - 9 เมษายน 2566 โปรแกรม นั่งรถไฟ KIHA 183 ‘ย้อนรอยประวัติศาสตร์เมืองแปดริ้ว เติมความหวาน ในวันมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้ว’

วันที่ 22 - 23 เมษายน 2566 โปรแกรม นั่งรถไฟ KIHA 183 ‘แต่งชุดไทย แลหาพี่หมื่น ตามหาออเจ้า ที่กรุงเก่าอโยธยา’

วันที่ 29 - 30 เมษายน 2566 โปรแกรม นั่งรถไฟ KIHA 183 ‘เที่ยวเมืองอาร์ต ราชบุรี ชมเชิดหนังใหญ่ – เพ้นท์โอ่ง (มังกร)’

นอกจากนี้ รฟท. ยังมีการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวต่อเนื่องในทุกเดือน เช่น เดือนพฤษภาคม โปรแกรมท่องเที่ยว ในแนวคิด ‘ผจญภัยเหนือสายน้ำ’ เดือนมิถุนายน โปรแกรมท่องเที่ยวในแนวคิด ‘Save The World รักษ์โลก รัก(ของ)เรา’ ในเส้นทางจังหวัดต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบ รองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

‘ธนากร’ เผย กลุ่มธุรกิจขายเหล้า-เบียร์ ยอดขายกระเตื้อง จ่อผลักดัน ‘ยกเลิกห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ บ่าย 2-5 โมง

(31 มี.ค.66) เมื่อวันที่ 30 มี.ค.66 นายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า ความต้องการและกำลังซื้อฟื้นตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ขึ้นปี 2566 ภาพรวมแต่ละเดือนพบว่ายอดขายขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20% ขณะนี้ยิ่งเห็นความชัดเจนของยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งเบียร์และสุราขยายตัวสูงขึ้นมากอย่างมีนัยะสำคัญ

นายธนากรกล่าว เชื่อว่าปัจจัยหนุนต่อการขยายตัวของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศจากการมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลาต่อเนื่องกัน ได้แก่ ปลดล็อกมาตรการทั้งหมดที่ใช้คุมเข้มการระบาดของโควิด เปิดประเทศเกิดการเดินทางและท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอัตราเร่งตัวหลังจากอั้นมานานหลายปีเพื่อการใช้จ่ายงบประมาณและแย่งชิงฐานผู้บริโภค วันหยุดยาวต่อเนื่อง จึงเห็นถึงบรรยากาศสังสรรค์ งานเลี้ยงและพบปะ หนาแน่นขึ้นในหลายพื้นที่

“ยิ่งใกล้วันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผนวกกับบรรยากาศหาเสียงของพรรคการเมือง และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เกิดการพบปะสังสรรค์ จัดเลี้ยงในวงเล็กวงใหญ่ เป็นตัวแปรสำคัญและมีนัยะต่อความต้องการและสั่งซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคม เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ จากเฉลี่ยไตรมาสแรกโตไม่ต่ำกว่า 20% ในไตรมาส 2 ปีนี้ ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น่าจะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทต่อเดือน โดยเดือนเมษายนนี้น่าจะคึกคักมากที่สุด จากความพอดีที่มีทั้งเทศกาลเที่ยวและดื่มกินในช่วงสงกรานต์ และจัดเลี้ยงก่อนการเลือกตั้งหรือหลังเลือกตั้ง ก็เชื่อว่าจะมีการชนแก้ว ร่วมยินดีและฉลองกันต่อเนื่อง” นายธนากรกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top