‘พงษ์ภาณุ’ แนะรัฐ เร่งปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษี มุ่งเพิ่มสัดส่วนรายได้ นำเงินพัฒนาประเทศระยะยาว

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 66 ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ครั้งล่าสุด อีก 0.25% เพิ่มจาก 1.50% เป็น 1.75% นั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับในต่างประเทศ เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน แม้ว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งของสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับวิกฤตแบงก์ล้มอยู่ก็ตาม นั่นเพราะปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯยังเป็นปัญหาใหญ่อยู่นั่นเอง

แน่นอนว่า การขึ้นดอกเบี้ยในแต่ละครั้ง ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในฐานะลูกหนี้ ที่จะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันความสามารถในการขอสินเชื่อของประชาชนก็จะลดลงด้วย ยกตัวอย่าง การกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารก็อาจจะพิจารณาให้เงินกู้ในสัดส่วนที่ลดลง จากเดิมกู้ได้ 2 ล้านบาท อาจจะเลือกเพียง 1.5 ล้านบาท เพราะต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่ม แต่เงินเดือนหรือรายได้ของผู้ยื่นกู้อยู่เท่าเดิม เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ว่าแบงก์ชาติ จะประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว ทางธนาคารพาณิชย์ อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามหรือไม่ก็ได้ 

อย่างไรก็ตาม นายพงษ์ภาณุ มองว่า รัฐบาลควรจะหาโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประชาชนมากขึ้น เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จากต้นทุนสินค้าที่ขยับตัวแพงขึ้น อาทิ ต้นทุนพลังงาน ที่ส่งผลต่อสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีรายได้เลี้ยงชีพด้วยตัวเอง ไม่ใช่เป็นการนำเงินมาแจก เพราะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาปากท้องหรือเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

นอกจากนี้ นายพงษ์ภาณุ ได้เสนอแนะให้รัฐบาลเร่งปรับโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐ เพราะในปัจจุบันรัฐมีสัดส่วนรายได้เพียง 13% ต่อจีดีพีเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีสัดส่วนรายได้รัฐต่อจีดีพีสูงถึง 30% ซึ่งตรงนี้เองประเทศไทยจะต้องออกแรงอย่างหนัก เพื่อปฏิรูประบบภาษีอากร ด้วยการทำฐานภาษีให้ใหญ่ขึ้น เพราะหากมีฐานภาษีที่ใหญ่ขึ้น ทางรัฐบาลก็จะมีช่องว่างและสามารถกำหนดนโยบายช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน และการปฏิรูปภาษีควรจะกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ฝากไว้ให้กับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศหลังจากนี้ ให้ทำอย่างเร่งด่วน


ที่มา : https://www.facebook.com/events/222275937143783/?ref=newsfeed