Tuesday, 7 May 2024
พงษ์ภาณุ_เศวตรุนทร์

โอกาสที่ไม่ควรมองข้าม!! ‘พงษ์ภาณุ’ มอง ศก.ไทยจะฟื้นตัวด้วยท่องเที่ยว แนะ รบ.ดันคาสิโนถูก กม. ดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศ

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้มุมมองถึงเศรษฐกิจของประเทศไทย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 66 ว่า เศรษฐกิจของไทยและทั่วโลก กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว หลังจากเผชิญวิกฤตหลายด้านในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น ภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันและก๊าซแพงขึ้น ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ส่งผลให้ธนาคารกลางของหลายประเทศปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง แต่มาถึงปีนี้ มีข่าวดีเกิดขึ้นพอสมควร อัตราเงินเฟ้อที่เริ่มลดลง ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ที่เคยสูงถึง 10% ปัจจุบันลดลงมาอยู่ประมาณ 6-7% ในขณะที่ดอกเบี้ย แม้จะยังปรับเพิ่ม แต่ก็ชะลอลง ขณะที่ประเทศจีน ประกาศเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้ 

แน่นอนว่า จากปัจจัยบวกเหล่านี้ ทำให้เกิดความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ ซึ่งเริ่มมีสัญญาณที่เกิดขึ้นมาบ้างแล้วในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม นายพงษ์ภาณุ ได้ย้ำเตือนว่า แม้จะมีสัญญาณที่ดี แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นภาคธุรกิจของไทย จะต้องระมัดระวังและเรียนรู้ในการบริหารความเสี่ยง เพราะเศรษฐกิจที่กลับมาดีขึ้นแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีตลอดไป วันดีคืนดี โรคโควิดอาจจะกลับมาระบาดในจีน และจะทำให้ต้องปิดประเทศอีกก็ได้ การท่องเที่ยวที่กำลังกลับมาฟื้นตัวก็อาจจะได้รับผลกระทบอีก ดังนั้นไม่ควรที่จะพึ่งพาต่างประเทศมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม นายพงษ์ภาณุ ยังเชื่อมั่นว่าหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ภาคท่องเที่ยวจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อย่างก้าวกระโดด แม้กระทั่งนักลงทุนต่างชาติเอง ยังเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะเติบโตด้วยภาคธุรกิจท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งสัญญาณการกลับมาของธุรกิจท่องเที่ยวประเทศไทยเห็นชัดเจนมาก จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งจากตะวันตกและจีน

‘พงษ์ภาณุ’ แนะรัฐ เร่งปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษี มุ่งเพิ่มสัดส่วนรายได้ นำเงินพัฒนาประเทศระยะยาว

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 66 ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ครั้งล่าสุด อีก 0.25% เพิ่มจาก 1.50% เป็น 1.75% นั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับในต่างประเทศ เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน แม้ว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งของสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับวิกฤตแบงก์ล้มอยู่ก็ตาม นั่นเพราะปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯยังเป็นปัญหาใหญ่อยู่นั่นเอง

แน่นอนว่า การขึ้นดอกเบี้ยในแต่ละครั้ง ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในฐานะลูกหนี้ ที่จะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันความสามารถในการขอสินเชื่อของประชาชนก็จะลดลงด้วย ยกตัวอย่าง การกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารก็อาจจะพิจารณาให้เงินกู้ในสัดส่วนที่ลดลง จากเดิมกู้ได้ 2 ล้านบาท อาจจะเลือกเพียง 1.5 ล้านบาท เพราะต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่ม แต่เงินเดือนหรือรายได้ของผู้ยื่นกู้อยู่เท่าเดิม เป็นต้น

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ผลพวงความผิดพลาดเชิงนโยบายของแบงก์ชาติ

(10 พ.ย.66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับประเทศไทย ไว้ว่า...

ขณะนี้สัญญาณเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) ดังที่ผมมักจะพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ไว้เสมอ โดยได้เคยส่งสัญญาณเตือนไว้กว่า 6 เดือนมาแล้ว ว่า...

ไทยอาจจะตามจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนตุลาคม ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาที่ -0.31% น่าจะถือเป็นการตบหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อ้างเงินเฟ้อสูงในการปรับดอกเบี้ยขึ้นจาก 2.25% เป็น 2.50% เมื่อเดือนที่แล้ว ท่ามกลางความตกใจและถือเป็นการกระทำที่สวนทางกับการคาดการณ์ของตลาด 

ดังนั้นเงินฝืดที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงมิใช่เป็นผลกระทบจากโลก แต่มีสาเหตุมาจากความผิดพลาดทางนโยบายเป็นหลัก และเป็นความผิดพลาดที่สร้างความเสียหายสูงมากกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งควรจะต้องมีผู้รับผิดชอบและน่าจะยังความจำเป็นให้รัฐบาลต้องมี Fiscal Stimulus ออกมาแก้ไขความผิดพลาดของแบงก์ชาตินี้

‘อ.พงษ์ภาณุ’ หวั่น!! หากภาวะ ‘เงินฝืด’ เกิดขึ้นในเมืองไทย ก่อผลกระทบ ‘รุนแรง-กว้างขวาง’ แก้ไขได้ยากกว่า ‘เงินเฟ้อ’

(11 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับประเทศไทย ภาคต่อ ไว้ว่า…

‘ภาวะเงินฝืด’ (Deflation) เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะเรามักคุ้นเคยกับ ‘เงินเฟ้อ’ (Inflation) มากกว่า แต่เมื่อเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นแล้ว จะก่อเกิดผลกระทบรุนแรง กว้างขวาง และแก้ไขได้ยากกว่า 

เนื่องจากผู้บริโภคจะชะลอการจับจ่ายใช้สอยและธุรกิจชะลอการลงทุน เพราะภาระหนี้ที่แท้จริงจะสูงขึ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเป็นเวลากว่า 20 ปี และที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีนขณะนี้ หรือในประเทศตะวันตกหลังวิกฤตการเงินแฮมเบอร์เกอร์ ธนาคารกลางต้องใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% ร่วมกับ Quantitative Easing (QE) เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเป็นเวลากว่า 10 ปี

อาจจะเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าไทยเริ่มเข้าภาวะเงินฝืด แต่ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากปีที่แล้วที่มีเงินเฟ้อสูงสุดในโลกประเทศหนึ่ง จนกลายเป็นอัตราเงินเฟ้อติดลบเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

แน่นอนไทยได้รับผลกระทบจากจีนที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย แต่ภาวะเงินฝืดในไทยมีสาเหตุอีกส่วนหนึ่งจากการดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะได้มีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่ล่าช้ากว่าประเทศอื่นในระยะที่เงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาลงแล้ว ซึ่งเป็นการซ้ำเติมวัฏจักรธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ขณะนี้รัฐบาลได้เริ่มทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะต้องมีการก่อหนี้เพื่อระดมเงินมาใช้จ่าย แต่ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายครั้งเดียวจบและไม่ผูกพันงบประมาณแผ่นดินในอนาคต 

อีกทั้งขนาดและความเร็วในการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ภาคเศรษฐกิจจริงๆ เหล่านี้ ก็จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นภาวะเงินฝืดได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่แม้จะใช้ได้จริงก็เป็นเดือนพฤษภาคมปีหน้า แต่ความชัดเจนจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี ย่อมสร้างผลที่เรียกว่า Announcement Effect ในทันที และกระตุ้นให้ภาคธุรกิจลงทุนเพื่อผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครองรับการใช้จ่ายที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในปีหน้าด้วยความมั่นใจต่อไป...

อ่านบทความเกี่ยวเนื่อง : ‘เงินฝืดจ่อไทย’ >> https://www.facebook.com/100064606066871/posts/pfbid02UjG5nDK1oHfcZqdWee1KWQp963cCQoZ7K29Z5W5tsfz4ShNBBq5qhHKeUdXy4xM4l/

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! สัญญาณดี แก้ฝุ่น PM 2.5 แบบยั่งยืน เมื่อรัฐบาลจัดมาตรการเชิงรุก และเอกชนช่วยผลักดันอีกแรง

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'การกลับมาของฝุ่น PM 2.5 ภารกิจสำคัญที่รัฐบาลต้องยกให้เป็นวาระแห่งชาติ' เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ฝุ่น PM 2.5 กำลังจะเป็นประเด็นขึ้นมาอีก รัฐบาลควรต้องเตรียมการป้องกันแก้ไขและยกเป็นวาระแห่งชาติ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาโลกร้อนมีหลายประเด็นที่น่าสนใจในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการประชุม COP 28 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) 

ความพยายามที่จะให้มีการยุติการใช้เชื้อเพลิง Fossil Fuels อย่างสิ้นเชิง แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี 

ส่วนผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมน่าจะเป็นการจัดตั้งกลไกการเงินที่เรียกว่า กองทุน Loss and Damage ที่จะทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนเยียวยาและสนับสนุนการปรับตัวของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงและได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน 

ประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินใหม่นี้ด้วย กองทุนนี้น่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2567 โดยมีธนาคารโลกเป็นผู้จัดการกองทุน

ทั้งนี้ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในไทย ก็เป็นผลพวงหนึ่งจากภาวะโลกร้อน ความพยายามของรัฐบาลก่อนที่ใช้มาตรการภาคบังคับทางกฏหมายได้พิสูจน์แล้วว่าไม่บังเกิดผลและล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จนภาคประชาชนที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ได้ตัดสินให้รัฐบาลเป็นฝ่ายแพ้และต้องเร่งแก้ไขสภาพอากาศให้กับคนเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของคนเชียงใหม่และเป็นการยืนยันว่ามาตรการของรัฐไม่สามารถดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนได้

ทางออกของเรื่องฝุ่น PM 2.5 นี้ จึงน่าจะอยู่ที่การใช้กลไกตลาดและกลไกทางธุรกิจของภาคเอกชน และก็เป็นที่น่ายินดี ที่ขณะนี้ธุรกิจเอกชนได้ริเริ่มโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ โดยเข้ามารับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากชาวไร่ชาวนา เพื่อนำไปแปรรูปเป็นแท่งเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass Pellets) และส่งขายให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถนำปริมาณคาร์บอนที่ลดได้จากการหยุดเผามาขายเป็นคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งต่อเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกรอีกด้วย

มาตรการริเริ่มของรัฐบาลที่น่าชมเชยคือ การจัดตั้งกองทุน ESG เพื่อระดมทุนจากประชาชนและนักลงทุนและจัดสรรเงินลงทุนไปสู่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ได้มาตรฐานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาล จึงเป็นโอกาสอันดีที่คนไทยทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทย ปัญหาที่เริ่มส่อเค้า จะเขย่าโครงสร้างประเทศ หรือแก้นโยบายการเงินที่ผิดพลาด

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'หนี้วิกฤตแล้ว จริงไหม?' เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

ปัญหาหนี้มักจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทุกครั้งที่เศรษฐกิจมีการเติบโตช้าและหรือดอกเบี้ยขึ้นสูง อาทิตย์ก่อนเราคุยกันเรื่องหุ้นกู้ที่อาจจะเป็นปัญหาขึ้นมาได้ เพราะเริ่มมีสัญญาณมาเป็นระยะๆ ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ กล่าวคือ ตลาดการเงินเริ่มขาดสภาพคล่อง ดอกเบี้ยขึ้นสูง เงินเฟ้อติดลบ และ GDP ขยายตัวต่ำ

หนี้ครัวเรือนก็เริ่มตั้งเค้าส่อปัญหาขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว อาทิตย์ที่ผ่านมาบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิต (เครดิตบูโร) รายงานภาวะหนี้ครัวเรือนเมื่อสิ้นปี 2566 ปรากฏว่ามีการเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 13.7 ล้านล้านบาท (ไม่รวมหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้ กยศ. และหนี้นอกระบบ) เพิ่มขึ้น 3.7% year on year และเร็วกว่าการเติบโตของ GDP กว่า 2 เท่าตัว ในจำนวนนี้หนี้ที่เป็น NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มหนี้สินเชื่อรถยนต์ แต่ที่น่าวิตกกว่านั้นก็คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มมีปัญหาผิดชำระหนี้ และกลายเป็นหนี้รอการเสีย (Special Mention-SM) ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 30% และส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อซื้อบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ลูกหนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ หากไม่สามารถชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ได้ จะกลายเป็น NPL และถูกยึดบ้านในที่สุด 

ตามการวิเคราะห์ของเครดิตบูโร นอกจากเหตุผลด้านรายได้แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากดอกเบี้ยหน้ากระดาน (MRR) ที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เงินงวดที่จะต้องผ่อนชำระกระโดดขึ้นสูงเกินกว่าวิสัยที่จะรับภาระได้ สถานการณ์เช่นนี้หากไม่ได้รับการแก้ไข จะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ไม่พียงแต่ผลทางการเงินต่อลูกหนี้ และระบบสถาบันการเงินเท่านั้น แต่จะมีผลในทางสังคมอย่างมากเพราะบ้านเป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการครองชีพ

เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้ยกปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ และตั้งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ ที่ผ่านมาได้มีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมออกมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ

หนี้ครัวเรือนที่ระดับ 90% ของ GDP โดยตัวเองแล้วไม่น่าจะถือว่าเป็นระดับที่น่าตื่นตระหนก ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีระบบการเงินก้าวหน้าล้วนมีหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูงกว่านี้ ในทางตรงกันข้าม หนี้ครัวเรือนในระดับสูงอาจบ่งบอกว่าครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในสังคมสมัยใหม่ แต่ที่ภาครัฐควรทำคือการให้การศึกษาและการปลูกฝังวินัยการเงินแก่ประชาชนให้มีการวางแผนการใช้จ่ายเงินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้

และที่สำคัญกว่านั้น ขณะนี้สถานการณ์ทางการเงินของประเทศได้สร้างความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหนี้เป็นอย่างยิ่ง การตึงตัวของตลาดการเงิน และการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทางการ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย สร้างขึ้นมาเอง แต่ไม่ยอมรับผิดชอบ กลับโยนความผิดไปที่ปัญหาโครงสร้างของประเทศ แน่นอนทุกประเทศรวมทั้งไทย ต่างก็มีปัญหาโครงสร้างแตกต่างกันไป ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข ที่ผ่านมาเรามีการปฏิวัติรัฐประหารก็เพื่อปฏิรูปและปรับโครงสร้างประเทศมิใช่หรือ? ทำให้ผมคิดถึงลุงกำนันแห่ง กปปส. ซึ่งกล่าวไว้ว่าประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่ 10 ปีให้หลังก็ยังปฏิรูปไม่แล้วเสร็จ 

ทุกวันนี้ ธปท. ก็ยังโทษโครงสร้างประเทศอยู่วันยังค่ำ เห็นทีจะต้องมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกสักทีใช่ไหม? กว่าจะปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างเสร็จ คนไทยคงโดนยึดบ้านและกลายเป็นคนไร้บ้าน (Homeless) กันทั้งประเทศ

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! Carbon Pricing กุญแจสำคัญสู่ Net Zero ตอบโจทย์ธุรกิจในโลกยุคใหม่ ช่วยต่อลมหายใจให้โลกใบเก่า

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'Carbon Pricing กุญแจสู่ Net Zero' เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงสุดเป็นอันดับ 9 ของโลก ที่จะได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่มากับภาวะโลกร้อน 

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเราต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติครั้งแล้วครั้งเล่า ที่รุนแรงที่สุดดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 และฝุ่น PM 2.5 ซึ่งยังคงหลอกหลอนเราอยู่ในปัจจุบัน

แม้ว่าไทยจะไม่ใช่ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก แต่ก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความกดดันที่จะต้องมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ 

แรงกดดันดังกล่าวมาจากทั้งองค์การระหว่างประเทศ ตลาดเงินตลาดทุน Supply Chains ในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้บริโภคและ NGO ต่าง ๆ

นายกรัฐมนตรีไทยได้ประกาศในที่การประชุม COP 26 ที่ Glasgow สหราชอาณาจักร ว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 ซึ่งแม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ก็ยังล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ รวมทั้ง มาเลเซีย, ลาว และกัมพูชา

เป้าหมายดังกล่าว กอปรกับแรงกดดันจากทุกภาคส่วน ยังคงความจำเป็นให้ต้องมี Roadmap ที่ชัดเจนและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดในด้านทรัพยากรและขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมาย 

ดังนั้น การใช้กลไกตลาด จึงน่าจะเป็นกุญแจสำคัญของเส้นทางไปสู่เป้าหมาย Net Zero การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) อาจกระทำโดยการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และการจัดระบบซื้อขายคาร์บอนผ่านกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต

ประการแรก การจัดเก็บภาษีคาร์บอนที่สะท้อนต้นทุนทางสังคม เป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ กรมสรรพสามิตเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์จัดเก็บภาษีบาป (Sin Tax) อยู่ในปัจจุบัน ทั้งจากสุรา, ยาสูบ และน้ำตาล จึงไม่มีปัญหาในการเพิ่มคาร์บอนเข้าไปในรายการสินค้าบาปแต่อย่างใด แต่ปัญหาอยู่ที่ช่วงการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อประชาชนในระยะสั้น, ความสามารถในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสู่พลังงานสะอาด และที่สำคัญที่สุดความกล้าหาญทางการเมืองของรัฐบาล

ประการที่สอง การซื้อขายคาร์บอนผ่านกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะในยุโรป สำหรับในประเทศไทยก็มีพัฒนาการในระดับที่น่าพอใจ แต่ยังต้องกระตุ้นให้เกิดสภาพคล่องมากกว่านี้ 

กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะออกมาบังคับใช้ในเร็ววันนี้ จะมีการกำหนดระดับการปล่อยคาร์บอนภาคบังคับของธุรกิจขนาดใหญ่ในบางสาขาอุตสาหกรรม และน่าจะช่วยให้ตลาดคาร์บอนของไทยมีความคึกคักมากขึ้นทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง รวมทั้งยกระดับคาร์บอนเครดิตของไทยให้เป็นมาตรฐานสากล 

ดังนั้น จึงเชื่อมั่นได้ว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ประเทศไทยน่าจะสามารถเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนในระดับภูมิภาคได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกำหนดราคาคาร์บอนจะเป็นหัวใจของเส้นทางเดินสู่ Net Zero ก็ตาม แต่คงไม่เพียงพอที่จะยับยั้งความเสื่อมโทรมของสภาพภูมิอากาศได้ 

ฉะนั้น ประเทศไทย จำเป็นต้องระดมทรัพยากรและสรรพกำลังทุกภาคส่วนมาร่วมกันแก้ปัญหาที่เลวร้ายที่สุดของมนุษยชาติในวันนี้ และก็จำเป็นที่ต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนเป้าหมายเดิมที่ประกาศไว้ด้วย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ แนะรัฐหาแรงจูงใจเอกชน ลุยธุรกิจลดโลกร้อน ปั้นระบบนิเวศให้พร้อม สู่การสร้างเงินจากสภาพภูมิอากาศ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'การเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ' (Climate Finance) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) โดยการเก็บภาษีคาร์บอน และการใช้กลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะเป็นกุญแจสำคัญสู่เป้าหมาย Net Zero แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกสีเขียว (Green Transition) ได้อย่างราบรื่นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากภาคการเงินการคลังไม่ช่วยระดมทรัพยากรมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และเทคโนโลยี ที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว

ประการแรก ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากรของรัฐบาล เงินลงทุนส่วนใหญ่จึงต้องมาจากภาคเอกชน ภาครัฐต้องจัดโครงสร้างสิ่งจูงใจ (Incentive Structure) ที่เอื้อให้เอกชนกล้าลงทุนในโครงการ/อุตสาหกรรมที่ลดโลกร้อน การเก็บภาษีคาร์บอนและคาร์บอนเครดิตเป็นก้าวแรก ที่สำคัญกว่านั้นคือ การยกเลิกการอุดหนุนคาร์บอน (Carbon Subsidies) ที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน

ประการที่สอง การจัดทำข้อมูลสารสนเทศ การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นมาตรฐานและมีการรับรอง รวมทั้งการจัดกลุ่ม/นิยามกิจกรรมที่ลดโลกร้อน (Green Taxonomy) จะช่วยให้ตลาดการเงินและสถาบันการเงินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและจัดสรรทรัพยากรอย่างตรงเป้ามากขึ้น

ตลาดการเงินและธนาคารพาณิชย์เริ่มนำผลิตภัณฑ์สีเขียวมาให้บริการบ้างแล้ว สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มเป็นที่นิยม กองทุน ESG มีจำนวนมากขึ้นและได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ แม้ว่ายังไม่ชัดเจนว่าหลักเกณฑ์ ESG ของตลาดกับเป้าหมายการลดคาร์บอนจะตรงกันหรือไม่ หรือบางทีอาจขัดแย้งกันด้วยซ้ำ และอาจนำไปสู่การฟอกเขียว (Greenwashing)

ในสาขาพลังงาน ซึ่งเป็นสาขาที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด ปัจจุบันยังมีโครงสร้างที่พึ่งพา Fossils อยู่ค่อนข้างสูง กล่าวคือ การผลิตพลังงานไฟฟ้าในไทยยังอาศัยก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเป็นตัวขับเคลื่อนถึงกว่า 80% และใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วนน้อย ดังนั้นภาคพลังงานจึงมีความจำเป็นต้องลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งจากภาครัฐในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและระบบสายส่ง และภาคเอกชนในรูปแบบโรงไฟฟ้า IPP SPP และ VSPP รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย

การลงทุนและการแบ่งรับภาระความเสี่ยงระหว่างรัฐกับเอกชนร่วมกันในรูปแบบ PPP น่าจะเป็นทางออกสำคัญ IPP และ SPP เป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับเอกชนที่ประสบความสําเร็จมาแล้วในภาคพลังงาน มีความเป็นไปได้ที่จะขยาย PPP ในโครงการลดคาร์บอนในสาขาอื่นๆ ด้วย

ตลาดการเงินและสถาบันการเงินระหว่างประเทศมีเครื่องมือทางการเงินมากมายที่สามารถเสริมทรัพยากรในประเทศได้ รัฐบาลประเทศร่ำรวยประกาศใน COP 28 สนับสนุนงบประมาณแก่ประเทศกำลังพัฒนา 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีบริการพิเศษที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนในโครงการลดคาร์บอนในประเทศกำลังพัฒนา

ประการสุดท้าย ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียว ย่อมมีกลุ่มเปราะบางที่อาจไม่สามารถรับมือกับผลกระทบได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะนำรายได้ที่จัดเก็บได้เพิ่มเติมจากภาษีคาร์บอนไปช่วยเป็นมาตรการรองรับทางสังคมแก่กลุ่มคนเหล่านี้

'ครม.' มีมติแต่งตั้ง 'อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์' นั่งประธานกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 คณะรัฐมนตรี มีมติแต่งตั้ง โยกย้าย หลายตำแหน่ง โดยหนึ่งในตำแหน่งที่กำลังถูกจับตามอง คือ การแต่งตั้ง 'ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก' 

โดยจะมาสานต่อภารกิจในการสนับสนุนการประเมินผลการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ ทางคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวม 6 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ดังนี้...

1. นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ
2. นายพิสิทธิ์ ปทุมบาล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารธุรกิจ
3. นายบัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงาน
4. นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
5. นายนิคม แหลมสัก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านป่าไม้
6. นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

ภายหลังรับทราบเรื่อง อาจารย์พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ในฐานะประธานกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า...

"In pursuit of a net zero world : โลกสีเขียวคืออนาคตของเราและลูกหลาน ขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความไว้วางใจ"

สำหรับ อาจารย์พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ เคยดำรงตำแหน่งอดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา, อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ 

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ทรงเกียรติที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เกี่ยวกับประเด็นด้านเศรษฐกิจ, การเงิน, ธุรกิจ, นวัตกรรม และกระแสสังคมที่สำคัญ ๆ ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top