'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยเริ่มคึกคัก แม้จะเป็นเพียงภาคสมัครใจ แต่โตไวจนน่าผลักแรงๆ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'เปลี่ยนคาร์บอนเป็นเงิน' เมื่อวันที่ 26 พ.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

พลานุภาพในการเปลี่ยนคาร์บอนเป็นเงิน นับวันจะมีพลังสูงขึ้น เมื่อตลาดและสังคมร่วมกันกดดันให้ธุรกิจลดการปล่อยคาร์บอน แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตลาดคาร์บอนในไทยยังเป็นเพียงประเภทสมัครใจ แต่ อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้การรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกไปแล้วกว่า 400 โครงการ และรับรองคาร์บอนเครดิตไปแล้วกว่า 16 ล้านตัน

ตลาดคาร์บอนของสหภาพยุโรป หรือ EU Emissions Trading System เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องหนาแน่นที่สุด ทางการสหภาพยุโรปจัดสรรสิทธิการปล่อยคาร์บอน (Emissions Allowances) ไปยังธุรกิจสาขาต่างๆ กิจการไหนปล่อยมากกว่าสิทธิที่มี ก็จะต้องหาซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย หรือไม่ก็ต้องเสียภาษีคาร์บอน  ส่วนกิจการไหนที่มีสิทธิส่วนเกินเหลืออยู่ ก็สามารถนำออกขายในตลาดได้ ระบบ Cap and Trade นี้ได้ทำให้ตลาดมีประสิทธิภาพ สิทธิการปล่อยคาร์บอนนี้นับวันจะมีปริมาณลดลงเพื่อให้ประเทศต่างๆบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ตามข้อผูกพัน ซึ่งเมื่อสิทธิลดลง ราคาก็ย่อมสูงขึ้นตามกลไกตลาด 

ตลาด ETS ของสหภาพยุโรป มีปริมาณและสภาพคล่องสูง กำหนดราคาคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้คาร์บอนเป็นสินทรัพย์ (Asset Class) ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าคาร์บอนได้เป็นสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายเงินที่เป็นสื่อกลางการซื้อขายแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) เข้าไปทุกที

ตลาดคาร์บอนไทย แม้จะยังเป็นเพียงภาคสมัครใจแต่ก็มีการขยายตัวค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คาร์บอนจะเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน เช่นเดียวกับในสหภาพยุโรป และในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ตลาดการเงินและสถาบันการเงินในประเทศได้ปรับตัวไปบ้างแล้ว ก.ล.ต. ส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนรวมและกองทรัสต์ที่ลงทุนในที่ดินเพื่อการปลูกป่าและขายคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้หลัก กองทุน ESG ซึ่งลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อเพื่อการลดโลกร้อน

ธุรกิจหลายสาขาก็กำลังแปลงโฉมเป็นธุรกิจคาร์บอนตำ่ ในภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว น่าจะต้องเร่งปรับปรุงตัวเข้าสู่ความเป็น Net Zero หรืออย่างน้อยความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยเร็ว เพื่อจะไม่พลาดโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากแนวโน้มใหม่ของโลกนี้

วันนี้ คาร์บอนกลายเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่สำคัญทั่วโลก และนับวันจะมีค่ามากขึ้น อบก. พร้อมที่จะทำงานกับธุรกิจและสังคมทุกภาคส่วน ด้วยวิธีการเปลี่ยนคาร์บอนเป็นเงิน