Sunday, 5 May 2024
คาร์บอนเครดิต

'ส.อ.ท.' จับมือ 'อบก.' สร้างศูนย์ซื้อขาย 'คาร์บอนเครดิต' พร้อมเปิดตัว 'FTIX' แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาด

สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดพิธีลงนามความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตและพิธีเปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต หรือ FTI : CC/RE/REC X Platform (FTIX) ในงาน 'ลงมือทำ ลดโลกร้อน : ทางรอด ทางรุ่ง ของโลก ของไทย' Take Climate Action : Save The Earth, Prosper All ในวันพุธที่ 21 กันยายน 2565 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม ซี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว 

นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อตระหนักถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการส่งออก ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา คือ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการ และช่วยขับเคลื่อนการนำนโยบายของภาครัฐไปสู่การปฏิบัติ ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ. 2608 ของประเทศ

คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกการตลาดที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจและเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการในการลดก๊าซเรือนกระจก ส.อ.ท. มีการดำเนินงานร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จากความร่วมมือที่มีมาอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส.อ.ท. และ อบก. จึงมีความเห็นร่วมกันในการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินกิจกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนตลาดคาร์บอนภายในประเทศ จึงเป็นที่มาของการลงนามความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตในครั้งนี้

ส.อ.ท. ได้พัฒนาและบริหารจัดการแพลตฟอร์ม FTIX เพื่อประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบของ อบก. นอกจากนี้ ยังมีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) รวมถึงการซื้อขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ REC อีกด้วย โดย ส.อ.ท. ได้ยื่นแพลตฟอร์ม FTIX นี้เข้าร่วมในโครงการ ERC Sandbox 2 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อทดสอบระบบของตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้มีความโปร่งใสและเชื่อถือได้ โดยที่อุตสาหกรรมทุกขนาดทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ จะสามารถเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีจะได้ทำการเปิดตัวแพลตฟอร์ม FTIX พร้อมกับศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต

การจัดงานนี้เป็นไปในรูปแบบของ Green Event โดยมีการควบคุมอุณหภูมิห้องไม่ให้ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส จึงขอให้ผู้เข้าร่วมงานงดการใส่สูท และเปลี่ยนมาใส่เสื้อเชิ้ตฮาวายและเสื้อยืดแทน โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจาก 'โครงการเซ็นทรัลทำ' ของกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล นอกจากนี้ ยังได้รับความช่วยเหลือจากทาง อบก. ในการคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนในงานนี้ และได้รับความอนุเคราะห์จากกลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ Energy Absolute (EA) และกลุ่มบริษัทซุปเปอร์ เอ็นเนอร์ยี บริจาคคาร์บอนเครดิตรวมกันเป็นจำนวน 260 ตันคาร์บอนเทียบเท่า ซึ่งสามารถ Offset หรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของการจัดงานนี้ได้ทั้งหมด เพื่อเป็นงานที่นำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral Event อีกด้วย 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ 'ภาครัฐ ประสาน ภาคเอกชน ขับเคลื่อนไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน' โดยกล่าวถึง ประเด็นผลกระทบที่ทั่วโลกต้องเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรง เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมใหญ่ในเกาหลีใต้ และปากีสถาน โดยที่ประเทศไทยนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 21 ของโลก (ประมาณ 0.8% ของโลก) และเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุด

จากถ้อยแถลงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ว่า “ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608” ทำให้ประเทศไทยต้องปรับปรุง 'ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย' หรือ LT-LEDS ซึ่งจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนเพื่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อยู่ระหว่างการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (The 2nd updated NDC) ที่ 40% ในปี พ.ศ. 2573 ประเทศสามารถดำเนินการได้เอง 30% และการดำเนินงานที่ต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากต่างประเทศอีก 10% 

เจ้าแรกในเอเชีย!! EA ปลื้ม!! โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถเมล์ EV ผ่านฉลุย พร้อมเดินหน้า ‘ลดก๊าซเรือนกระจก-มลพิษ’ ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ฉลุย!! โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถโดยสารประจำทาง EV ของบริษัท ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์และรัฐบาลไทยเรียบร้อยแล้ว หวังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและมลพิษต่างๆ ในบริเวณจังหวัดกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยเป็นโครงการแรกของทวีปเอเชียที่มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส Article 6 ขณะที่ ‘Kilk Foundation’ เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงินผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิต ช่วยส่งเสริมให้โครงการมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้น 

นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนากลยุทธ์และวางแผนการลงทุน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส Article 6 ของรถโดยสารประจำทาง EV นี้ เป็นโครงการอันดับแรก ๆ ของโลก และเป็นโครงการแรกของทวีปเอเชียโดยทาง EA มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างประเทศในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การเดินหน้าของโครงการเราจะเป็นการสนับสนุนให้เราก้าวเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจแบบปลอดคาร์บอน และช่วยกระตุ้นบรรยากาศที่ดีสำหรับภาคเอกชนในการพัฒนากิจกรรมที่ช่วยรักษาและปกป้องสิ่งแวดล้อม

Mr. Michael Brennwald, Head International, Kilk Foundation กล่าวว่า โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส Article 6 ของรถโดยสารประจำทาง EV นี้ เป็นโครงการนำร่องเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตผ่าน Article 6 นั้นมีการร่วมกันพัฒนามาอย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วน 

นอกจากนี้เรายังมองหาโอกาสในการร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศไทยและประเทศข้างเคียงเพื่อที่จะสร้างโครงการในการร่วมมือกันระหว่างประเทศกับสวิตเซอร์แลนด์ 

ทำสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต  นวัตกรรมใหม่ตลาดทุนไทย ตอบโจทย์องค์กรปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.66) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทย) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ บริษัท PTT International Trading Pte Ltd ประเทศสิงคโปร์ (PTTT ถือหุ้น 100% โดย ปตท.) ในการเข้าทำสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต หรือ Carbon Credit Linked Derivatives ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ของตลาดทุนไทย ที่ธนาคารได้ออกแบบและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการบริหารความเสี่ยงทางการเงินของ ปตท. รวมถึงเป็นการส่งเสริมเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งสองบริษัท 

นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างองค์กรในประเทศ โดย PTTT ประเทศสิงคโปร์ จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาคาร์บอนเครดิตที่มีมาตรฐานให้เพื่อใช้สำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่างๆ ในอนาคต นอกจากนี้ ข้อตกลงยังครอบคลุมถึงการบรรลุเป้าหมายด้าน ESG ของ ปตท. 

นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของ United Nations Development Programme (UNDP) โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทิศทางที่ผู้บริโภค และธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยล่าสุดธนาคารลงนามบันทึกข้อตกลงกับ ปตท. และ บริษัท PTTT ประเทศสิงคโปร์ ในการเข้าทำสัญญาอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน (Derivatives) ที่เชื่อมโยงกับคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Linked Derivatives) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ข้อตกลงยังครอบคลุมถึงการบรรลุเป้าหมายด้าน ESG ถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นพัฒนาและการเป็นผู้นำตลาด ESG Financial Solution ของธนาคาร ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ และสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

'คาร์บอนเครดิต' ความหวังใหม่ แก้วิกฤต 'ฝุ่นควัน-โลกร้อน' แนวโน้มเริ่มมา หลังภาคเอกชนพากันคิกออฟ ลุ้นรัฐเข็น

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ประจำวันที่ 30 ก.ค.66 ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นของวิกฤตโลกร้อน โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

วิกฤตโลกร้อน (Global Warming หรือ Climate Change) ที่กำลังเป็นภัยคุกคามโลกและประเทศไทยอยู่ในปัจจุบัน ได้พิสูจน์แล้วว่ามิอาจแก้ไขได้ด้วยวิธีการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว และกลไกภาครัฐไม่สามารถรับประกันความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนได้ ดังคำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ กรณีฝุ่น PM 2.5 เมื่อเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม โลกได้คิดค้นมาตรการที่อิงกลไกตลาด (Market based Solutions) ขึ้นมาเพื่อช่วยเสริมให้ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ได้ตามกำหนด เช่น การใช้ตลาดคาร์บอนเครดิต (Cap and Trade) ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และการปรับส่วนต่างที่พรมแดนของสหภาพยุโรป (Border Adjustment Mechanism) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตลาดกำหนดราคาและปริมาณคาร์บอน แต่ล้วนก็มีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะราคาหรือภาษีคาร์บอนจะทำให้ราคาสินค้าและพลังงานสูงขึ้น จึงต้องอาศัยความกล้าหาญและมุ่งมั่นทางการเมือง

ทว่าเป็นที่น่ายินดีที่ภาคเอกชนได้ริเริ่มงานด้านนี้ในหลายเรื่อง ตลาดเงินตลาดทุนได้นำแนวปฏิบัติการลงทุนแบบ ESG (Environmental, Social and Governance) มาใช้ ขณะที่ภาคการธนาคารได้มุ่งเน้นทำธุรกิจธนาคารยั่งยืน (Sustainable Banking) เพื่อให้มีการจัดสรรเงินทุนมากขึ้นไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

"แนวโน้มหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างน่าสังเกต คือ การเกิดธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ที่มุ่งจัดเก็บ/กำจัดคาร์บอน เพื่อนำมาขายต่อแก่ธุรกิจอื่นที่ปล่อยคาร์บอนเกินโควตา หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ธุรกิจจัดเก็บคาร์บอนน่าจะมีอนาคตที่สดใสและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโลกร้อนต่อไป" อาจารย์พงษ์ภาณุกล่าว

‘คาร์บอนเครดิต’ ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน หนึ่งในหมัดเด็ด ช่วยฟื้นเชียงใหม่จาก PM2.5

ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งความร้อน อุณหภูมิและความชื้น และที่เห็นได้ชัดเจนคือการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายส่วน ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตและภาคเกษตรกรรม

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ มาบ้าง ซึ่งคาร์บอนเครดิตถูกนำมาใช้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เพื่อหวังลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ซีอีโอ เครือจีอาร์ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา PM2.5 ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ ในโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ กล่าวว่า เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศ ได้รายงานว่า จังหวัดตากของประเทศไทย มีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นอุณหภูมิที่สูงมากจนน่าตกใจ ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นหายนะจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักและช่วยกันทำให้โลกนี้เย็นขึ้น

และไม่เพียงเท่านั้น ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ยังเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมเข้าไปอีกด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีว่า โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน 50 องค์กร ได้จับมือเพื่อเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับจังหวัดเชียงใหม่อย่างจริงจัง โดยทาง จีอาร์ดี จะเข้ามาช่วยในด้านคาร์บอนเครดิต สร้างธุรกิจสร้างรายได้ให้คืนสู่เกษตรกรและจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านการลดขยะ ลดการเผา ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะคืนกลับมาเป็นรายได้และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

“ผมพร้อมเชื่อมโยงธุรกิจคาร์บอนเครดิตมาช่วยจังหวัดเชียงใหม่แก้ปัญหา PM 2.5 เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นอีกช่องทางสนับสนุนโดยนำธุรกิจเข้ามาสร้างเม็ดเงินสู่ภาครัฐและภาคประชาชนให้มีรายได้เพียงพอที่จะสามารถกลับมาคิดพร้อมพัฒนาช่วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ได้ ซึ่งประเด็นในเรื่องของคาร์บอนเครดิต ที่เกิดมาจากสภาวะโลกร้อน คือการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป โชคดีที่ประเทศไทยตระหนักในเรื่องของคาร์บอนเครดิตมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนนี้จึงเป็นที่มาของการเอาคาร์บอนเครดิตมาช่วยสร้างธุรกิจ และเอาธุรกิจนั้นมาสร้างเม็ดเงินป้อนกลับมาสู่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วทำให้จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินนั้นไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหา PM 2.5 นั้นให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่ทางภาคีเครือข่ายต้องโฟกัสคือการจัดการขยะทางการเกษตร และการดูแลรักษาป่าเพื่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

‘กรมประมง’ เล็งลดการปล่อยคาร์บอนฯ ในฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล หารือ 3 องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม หวังเปิดทางกุ้งไทยสู่ตลาดสหรัฐฯ-ยุโรป

เมื่อวานนี้ (27 ต.ค. 66) นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) กรมประมงได้มีการหารือ กับ Dr. Aaron Mcnevin Global Network Lead จากองค์กร World Wildlife Fund (WWF), ดร.ระวี วิริยธรรม ตัวแทนจาก Seafood Task Force (STF), ผู้แทนจาก Gordon and Betty Moore Foundation และนางพิชญา ชัยนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง

ทั้งนี้ องค์กร World Wildlife Fund (WWF) เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ด้านทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำจืด และทรัพยากรทางทะเล เพื่อมุ่งมั่นที่จะปกป้องดูแลรักษาธรรมชาติและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการทำงานเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และองค์กร Seafood Task Force (STF) เป็นความร่วมมือกันของบริษัทอาหารทะเลระดับโลกภาครัฐ รวมถึงภาคประชาสังคม ที่ร่วมสนับสนุนการทำประมงโดยใช้เครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศจากการจับสัตว์น้ำ และป้องกันทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) 

ส่วนองค์กร Gordon and Betty Moore Foundation เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเป้าหมายสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ร่วมหารือการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ในระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างระบบนิเวศที่หมุนเวียนกลับคืนมา ซึ่งกรมประมงมีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่น่าเชื่อถือ และครบวงจรตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิต การแปรรูป จนถึงมือผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสัตว์น้ำได้ 

ซึ่งทั้ง 3 องค์กรยินดีให้การสนับสนุนกรมประมงเพื่อร่วมกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม (Carbon Credit) ในระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล โดย Gordon and Betty Moore Foundation ยินดีจะช่วยประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการตลาดสำหรับการผลิตสินค้าที่สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม (Carbon Credit) และสร้างการรับรู้ จูงใจให้ผู้ซื้อ นำไปสู่การตัดสินใจนำเข้าสินค้ากุ้งของไทยทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่น ๆ จึงส่งผลให้สินค้าประเภทนี้มีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าทั่วไป จึงเป็นโอกาสดี และทางเลือกของเกษตรกรที่สนใจ

นอกจากนี้ยังได้มีการหารือวิธีการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอน เช่น การใช้หอยสองฝาและสาหร่ายช่วยลดปริมาณคาร์บอนในระบบการเลี้ยงซึ่งจะนำไปสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตในอนาคตซึ่งในการหารือในครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของไทย

‘EA’ เริ่มส่งมอบคาร์บอนเครดิตโครงการ E-Bus ในกทม. ให้สวิตเซอร์แลนด์  ตามข้อตกลงปารีส Article 6.2 มุ่งขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย NDC

(9 ม.ค.67) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้เริ่มส่งมอบคาร์บอนเครดิตจากโครงการ ‘รถโดยสารประจำทางไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร’ (Bangkok E-Bus Programme) ซึ่งเป็นโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศโครงการแรกของโลกที่มีการซื้อขายกันเกิดขึ้น ภายใต้ความตกลงปารีส Article 6.2 ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ผ่านกรอบความร่วมมือกันระหว่างประเทศที่มีการระบุชัดเจนว่าจะต้องเป็นโครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่อยู่นอกเหนือจากแผนการดำเนินงานของประเทศ (Nationally Determined Contributions : NDC) มีการปฏิบัติตรงตามมาตรฐานด้านคุณภาพต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน โดยมี Klik Foundation เป็นผู้ซื้อ Carbon Credit ที่เกิดขึ้นและนำ Carbon Credit ดังกล่าวไปลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการโครงการกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อตกลงปารีส 6.2 ซึ่งรถโดยสารประจำทาง EV นี้เป็นโครงการอันดับแรก ๆ ของโลกที่มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตสำเร็จ โดยทาง EA มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างประเทศในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การเดินหน้าของโครงการดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนให้เราก้าวเข้าสู่สังคม เศรษฐกิจแบบปลอดคาร์บอนฯ อีกทั้งสามารถเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยเป็นแรงกระตุ้นที่ดีสำหรับภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการที่ช่วยรักษาและปกป้องสิ่งแวดล้อม

Mr. Michael Brennwald Head International, Klik Foundation กล่าวว่า “โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส ของรถโดยสารประจำทาง EV นี้ เป็นโครงการนำร่อง เพื่อการสนับสนุนกิจกรรมการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อตกลงปารีส 6.2 นั้น มีการร่วมกันพัฒนามาอย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสในการร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศไทยและประเทศข้างเคียง เพื่อที่จะสร้างโครงการในการร่วมมือกันระหว่างประเทศกับสวิตเซอร์แลนด์

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทั้งประเทศไทยและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้มีการลงนามในความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงปารีส 6.2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565   โดยสัญญาแบบทวิภาคีกำหนดกรอบความร่วมมือกันระหว่างทั้งสองประเทศและสร้างแนวทางสำหรับ การพัฒนาโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือโดยสมัครใจสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศและเป็นส่วนสำคัญในการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ครั้งประวัติศาสตร์ TSB เริ่มส่งมอบคาร์บอนเครดิตแก่สวิตเซอร์แลนด์ จากรถเมล์พลังงานสะอาดเจ้าแรกของโลก

นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB เปิดเผยว่า จากความพยายามของบริษัทในการพัฒนาขนส่งมวลชนของประเทศไทยให้เป็นรูปแบบพลังงานไฟฟ้า 100% ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ฝุ่นควันดำอันจะส่งผลต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน ทั้งยังช่วยเก็บคาร์บอนเครดิต ที่เป็นสิทธิจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น ล่าสุด ทางเครือไทยสมายล์กรุ๊ป และหน่วยงานพันธมิตร ได้เริ่มส่งมอบคาร์บอนเครดิตที่บันทึกได้จากโครงการ “Bangkok E-Bus Programme” โครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศโครงการแรกของโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้ความตกลงปารีส Article 6.2  การร่วมมือกันระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ด้วยกรอบความร่วมมือภาคสมัครใจ ทั้งยังมีการปฏิบัติตรงตามมาตรฐานด้านคุณภาพต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน โดยมี Klik Foundation เป็นผู้ซื้อ Carbon Credit ที่เกิดขึ้นและนำ Carbon Credit ดังกล่าวไปลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

สำหรับการพัฒนาในปี 2567 นางสาวกุลพรภัสร์ ทิ้งท้ายไว้ว่า ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นความภูมิใจของบริษัทกับพนักงานทุกคน ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ครั้งนี้ แม้ตนเองเป็นบริษัทเอกชน 100% ก็จะขออาสาช่วยพัฒนาการคมนาคมขนส่งของไทยอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน ทั้งในเรื่องของคุณภาพการให้บริการ ความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดั่งความตั้งใจที่ว่า "เดินทางด้วยรอยยิ้ม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม" โดยภายในปีนี้จะมีการทยอยนำรถเข้ามาเพิ่มเติม จากปัจจุบันมีรถพร้อมให้บริการอยู่จำนวน 2,200 คัน เป็น 3,100 คันตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันบริษัทก็จะพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่เข้ามาให้บริการมากขึ้นควบคู่กันไปด้วย

’หนุ่มใหญ่‘ ชี้ ‘คาร์บอนเครดิต’ คือ ‘เรื่องจริง’ ที่ ‘ลวงโลก’ กลวิธีของ ’นายทุน‘ ที่ผูกขาดผลประโยชน์ตัวเอง

เมื่อวานนี้ (11 ก.พ.67) ช่องติ๊กต็อก ‘วาริช ออร์แกนิค ฟาร์ม’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอในหัวข้อ ‘คาร์บอนเครดิตของจริงหรือลวงโลก?’ เพื่อแชร์มุมมองเกี่ยวกับกระแสคาร์บอนเครดิตในปัจจุบัน โดยระบุว่า…

’คาร์บอนเครดิต‘ มันคือ ‘เรื่องจริง’ ที่เอาไป ‘ลวงโลก’ ซึ่งแปลว่าวันนี้คาร์บอนเครดิตเป็นเรื่องจําเป็นกับโลก แต่มนุษย์โลกที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไรก็เอาเรื่องนี้ไปค้าขายหาความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับตัวเองและก็อ้างว่าได้ช่วยโลก ที่จริงคาร์บอนเครดิตภาคอุตสาหกรรมมันทําตัวยิ่งใหญ่ และที่จริงแค่อัฐยายซื้อขนมยายคนหนึ่ง อย่างมือซ้ายเราปล่อยคาร์บอนฯ ส่วนมือขวาเราลด แล้วก็เลยขายของมือซ้ายให้มือขวาแค่นั้นเอง และก็เมินเฉยต่อคาร์บอนภาคป่าไม้ที่ดูดคาร์บอนไดออกไซด์กลับมา ซึ่งที่จริงโลกนี้ก็ต้องการคาร์บอนไดออกไซด์กลับมา ไม่ใช่แค่หยุดการปลดปล่อยเช่นกัน

แต่กระแสที่เกิดจากระบบทุนและคนที่ปล่อยคาร์บอนก็บอกว่าการลดถือว่าเป็นสิ่งที่สูงสุด ซึ่งก็ผูกขาดความถูกต้องของตัวเองไป ทําให้คนอื่นไม่มีความหมาย และที่สําคัญเขาสําคัญที่สุด เนื่องจากว่าเขาเป็นคนจ่ายตังค์ เขาเลือกที่จะจ่ายตังค์ให้กับตัวเอง โดยมือซ้ายของตัวเองที่จะจ่ายให้กับมือขวา หรือจะจ่ายให้กับคนตุนต้นไม้ซึ่งคือคนอื่น 

แล้วเผอิญว่าคุณปลูกต้นไม้จํานวนหนึ่ง ไม่ได้นิ่งกับการปลูกต้นไม้จริง แต่คิดเพ้อฝันไปว่าจะได้เงินจากคาร์บอนเครดิต ซึ่งจริง ๆ แล้วมูลค่าต้นไม้ที่เอาเข้าแบงก์ได้ เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ หรือการขายเนื้อไม้ได้ มันสูงกว่าคาร์บอนเครดิตเยอะมาก แต่เราไม่ทํากันเท่านั้นเอง

จึงขอสรุปว่าคนที่ไปหลงกับกระแสคาร์บอนเครดิต ทําตัวให้อินเทรนด์ทันสมัย แต่สยบยอมกับการถูกโกหกถูกลวงโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top