Friday, 24 May 2024
คาร์บอนเครดิต

'ดร.ก้องเกียรติ' เตือน!! อีก 20 ปี ภาวะโลกเดือด อาจพามนุษย์ล้มตายครั้งใหญ่ ชู!! คาร์บอนเครดิต ทางออกรักษ์โลกที่มีเงินมาช่วยดึงดูดทุกภาคส่วน

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ 'ดร.ก้องเกียรติ สุริเย' ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต และประธานกรรมการ บริษัท จีอาร์ดี เทค จำกัด ในประเด็นปัญหาโลกร้อน (Global Warming) สู่ปัญหาโลกเดือด (Global Boiling) ในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 6 เม.ย.67 โดยมีเนื้อหาดังนี้ ว่า...

ปัญหาทุกวันนี้เกิดจากก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ซึ่งมีหน้าที่สะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ เพื่อควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้ร้อนจัดหรือเย็นจัด หรือเปรียบเสมือนเป็นผ้าห่มคลุมโลกของเราอยู่นั่นเอง แต่เนื่องจากมนุษย์ได้ดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการปล่อยควัน ปล่อยก๊าซพิษต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมเรื่อยมา เช่น ควันไอเสียจากรถยนต์ มลพิษที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ก๊าซเรือนกระจกที่เปรียบเสมือนผ้าห่มคลุมโลกมีความหนามาก จนมาแตะโลก จึงทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็เกิดปรากฏการณ์ Monster Asian Heatwave อากาศร้อนจัดอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อประเทศในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะจังหวัดตากของประเทศไทย

นอกจากนี้ โลกร้อนยังส่งผลกระทบให้เกิดปัญหา PM 2.5 อีกด้วย เนื่องจากเมื่อสภาพอากาศร้อนจัด ฝุ่น PM 2.5 จะลอยตัวขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ แต่เมื่อกระทบกับก๊าซเรือนกระจกที่ปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น ฝุ่นก็ไม่สามารถลอยขึ้นไปได้ เมื่อฝุ่นนิ่งไม่เคลื่อนไหวจึงทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 เมื่อหายใจเข้าไปอาจส่งผลอันตรายและเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง 

ส่วนสำคัญของปัญหาเหล่านี้ มาจากในปัจจุบันมนุษย์มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีล้ำหน้าไปมาก แต่ก็อยากรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งมันสวนทาง ก็เลยเกิดกฎเกณฑ์ใหม่อย่าง คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) และคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ขึ้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการดำเนินกิจกรรมหรือการกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์ เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน 

ปัจจุบันในระดับโลกให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยมีการจัดประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ซึ่งมีเป้าหมายใน ค.ศ. 2030 ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องช่วยกันลดความหนาของก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 45%-50% ด้วยการหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือปลูกต้นไม้เพื่อดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) ภายใต้คำเตือนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่หากประเทศต่าง ๆ ยังนิ่งเฉย ภาวะโลกร้อนนี้ ก็จะทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้นได้อีกด้วย

เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้ทุกคนไม่คิดจะทำอะไรเลย ปัญหาโลกร้อนจะเป็นอย่างไร? ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า โลกจะเย็นลงและอาจจะเกิดหายนะขึ้นได้ เช่น น้ำท่วมโลก ปรากฏการณ์พายุรุนแรง ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มมากขึ้น จนทำให้มนุษย์ล้มตายจำนวนมาก คล้าย ๆ กับทฤษฎีการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ก็เป็นได้ 

ทั้งนี้ ดร.ก้องเกียรติ ได้แนะอีกด้วยว่า หลักการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในตอนนี้ คือ การนำปัญหานี้มาเป็นธุรกิจ สร้างธุรกิจรักษ์โลก ที่ได้เงิน หรือก็คือการใช้กลไก คาร์บอนเครดิต หมายถึง ถ้าเราช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือลดความหนาของผ้าห่มคลุมโลกได้เท่าไหร่ แล้วนำปริมาณนั้นมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ สร้างมูลค่าเพิ่มได้ ด้วยการทำกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีองค์กรกลางในการตรวจสอบรับรอง จึงจะสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ 

สุดท้าย ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า การรักษ์โลกต่อจากนี้ อาจไม่ใช่การทำ CSR (Corporate Social Responsibility) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างให้เป็นธุรกิจได้จริงเสียที

อ.พงษ์ภาณุ ชี้!! 'ก๊าซเรือนกระจก-คาร์บอน' กำลังมีค่าเสมือนทองคำ แนะรัฐบาลเร่งส่งเสริมสังคมไทยเปลี่ยนคาร์บอนให้กลายเป็นเงิน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'เปลี่ยนคาร์บอนให้เป็นเงิน' เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

วันนี้คาร์บอนฯ ไม่ได้เป็นเพียงของเสียที่ทำให้โลกร้อนอีกต่อไป...

ความพยายามของประชาคมโลกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอิงกลไกตลาดในการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ได้ทำให้ก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งคาร์บอนมีคุณค่าเสมือนทองคำ หน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ของประเทศไทย มีการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการเปลี่ยนสภาพคาร์บอนให้เป็นเงินตราและ/หรือหลักทรัพย์

เป็นที่น่ายินดีที่วันนี้เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมได้ช่วยให้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เทคโนโลยีดูดกลับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage-CCS) ได้แสดงให้เห็นศักยภาพในการลดคาร์บอนในปริมาณมาก แม้จะยังคงมีต้นทุนค่อนข้างสูงอยู่ บริษัท ปตท.สผ. ได้ลงทุนจำนวนมหาศาลจัดทำระบบ CCS ที่แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ แหล่งอาทิตย์ กลางอ่าวไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดคาร์บอนไดอ็อกไซด์ได้ถึงประมาณ 700,000 ถึง 1 ล้านตันต่อปี นับเป็นโครงการ CCS โครงการแรกของประเทศไทย

โครงการภูมิปัญญาผ้าไทยลดโลกร้อน เป็นอีกโครงการที่สมควรกล่าวถึง ผ้าไทยทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายไทย ที่เกิดจากการถักทอของชาวบ้านทั่วประเทศ จากนี้ไปจะใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดเลิกการใช้สารเคมี และได้รับการรับรอง Carbon Footprint โดย อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) จะสามารถนำไปแสดงและวางขายในงานแสดงสินค้าในสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้ ซึ่งจะเป็นช่องทางการตลาดและรายได้ของชาวบ้านอย่างมากมาย นอกจากนี้ กระบวนการถักทอผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสามารถทำเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้เสริมให้ชาวบ้านอีกด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันคาร์บอนแห่งเอเชีย (Asia Carbon Institute-ACI) ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ที่สิงคโปร์ ได้ทำความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท Green Standards เพื่อวิจัยและพัฒนา Biochar ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ผ่านกระบวนการทางเคมี และเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการดูดซับคาร์บอนจากอากาศและสามารถฝังลงใต้ดินเพื่อกักเก็บได้เป็นระยะเวลายาวนาน โครงการนี้นอกจากจะช่วยลดเลิกการเผาซากวัสดุการเกษตร ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังจะช่วยสร้างคาร์บอนเครดิตและรายได้เสริมให้เกษตรกรอีกด้วย

สิงคโปร์ภายใต้ทีมบริหารชุดใหม่ นำโดยนายกรัฐมนตรี Lawrence Wong ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอน (Carbon Trading Hub) ของเอเชีย 

ประเทศไทยซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานในด้านนี้ที่ดีพอสมควร ก็ไม่ควรที่จะรีรอที่จะเดินหน้าสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียในเรื่องการลดคาร์บอน รวมทั้งรัฐบาลให้การส่งเสริมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการลด/ยกเว้นภาษี การให้เงินอุดหนุน รวมทั้งการออกกฎหมายภาคบังคับ และการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ไทยเดินหน้าไปกับสิงคโปร์ในฐานะ Carbon Hub แห่งเอเชีย

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยเริ่มคึกคัก แม้จะเป็นเพียงภาคสมัครใจ แต่โตไวจนน่าผลักแรงๆ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'เปลี่ยนคาร์บอนเป็นเงิน' เมื่อวันที่ 26 พ.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

พลานุภาพในการเปลี่ยนคาร์บอนเป็นเงิน นับวันจะมีพลังสูงขึ้น เมื่อตลาดและสังคมร่วมกันกดดันให้ธุรกิจลดการปล่อยคาร์บอน แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตลาดคาร์บอนในไทยยังเป็นเพียงประเภทสมัครใจ แต่ อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้การรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกไปแล้วกว่า 400 โครงการ และรับรองคาร์บอนเครดิตไปแล้วกว่า 16 ล้านตัน

ตลาดคาร์บอนของสหภาพยุโรป หรือ EU Emissions Trading System เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องหนาแน่นที่สุด ทางการสหภาพยุโรปจัดสรรสิทธิการปล่อยคาร์บอน (Emissions Allowances) ไปยังธุรกิจสาขาต่างๆ กิจการไหนปล่อยมากกว่าสิทธิที่มี ก็จะต้องหาซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย หรือไม่ก็ต้องเสียภาษีคาร์บอน  ส่วนกิจการไหนที่มีสิทธิส่วนเกินเหลืออยู่ ก็สามารถนำออกขายในตลาดได้ ระบบ Cap and Trade นี้ได้ทำให้ตลาดมีประสิทธิภาพ สิทธิการปล่อยคาร์บอนนี้นับวันจะมีปริมาณลดลงเพื่อให้ประเทศต่างๆบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ตามข้อผูกพัน ซึ่งเมื่อสิทธิลดลง ราคาก็ย่อมสูงขึ้นตามกลไกตลาด 

ตลาด ETS ของสหภาพยุโรป มีปริมาณและสภาพคล่องสูง กำหนดราคาคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้คาร์บอนเป็นสินทรัพย์ (Asset Class) ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าคาร์บอนได้เป็นสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายเงินที่เป็นสื่อกลางการซื้อขายแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) เข้าไปทุกที

ตลาดคาร์บอนไทย แม้จะยังเป็นเพียงภาคสมัครใจแต่ก็มีการขยายตัวค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คาร์บอนจะเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน เช่นเดียวกับในสหภาพยุโรป และในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ตลาดการเงินและสถาบันการเงินในประเทศได้ปรับตัวไปบ้างแล้ว ก.ล.ต. ส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนรวมและกองทรัสต์ที่ลงทุนในที่ดินเพื่อการปลูกป่าและขายคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้หลัก กองทุน ESG ซึ่งลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อเพื่อการลดโลกร้อน

ธุรกิจหลายสาขาก็กำลังแปลงโฉมเป็นธุรกิจคาร์บอนตำ่ ในภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว น่าจะต้องเร่งปรับปรุงตัวเข้าสู่ความเป็น Net Zero หรืออย่างน้อยความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยเร็ว เพื่อจะไม่พลาดโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากแนวโน้มใหม่ของโลกนี้

วันนี้ คาร์บอนกลายเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่สำคัญทั่วโลก และนับวันจะมีค่ามากขึ้น อบก. พร้อมที่จะทำงานกับธุรกิจและสังคมทุกภาคส่วน ด้วยวิธีการเปลี่ยนคาร์บอนเป็นเงิน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top