Friday, 29 March 2024
NAVYTIME

วิทยุทันสมัย!! ‘กิจการวิทยุกระจายเสียงทหารเรือ’ พลิกโฉม NAVY TIME

กิจการวิทยุกระจายเสียงทหารเรือผนึกกำลัง THE STATES TIMES สำนักข่าวออนไลน์สำหรับคนรุ่นใหม่ ปรับรูปแบบรายการวิทยุ 'NAVY TIME’ ในคอนเซปต์ 'เรื่องดีดีประเทศไทยยามเช้า’ ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เวลา 7-8 โมงเช้าทุกวัน จันทร์ ถึง อาทิตย์

พลเรือเอก อำนวย ทองรอด ประธานกรรมการบริหารกิจการวิทยุกระจายเสียงทหารเรือ (ประธาน กบว.ทร.) พร้อมด้วยพลเรือโท ชยุต นาเวศภูติกร ผู้อำนวยการกิจการวิทยุกระจายเสียงทหารเรือ เปิดเผยถึงแผนการปรับคอนเทนต์ รายการ  NAVY TIME ครั้งใหม่ ทั้งเนื้อหาและแพลตฟอร์มออนไลน์ ในการเข้าถึงที่มากกว่าเดิม ทาง ส.ทร.วังนันทอุทยาน คลื่น FM93 ด้วยการเขย่ารายการแรก 'NAVY TIME’ ปรับเนื้อหา สาระดีๆ สร้างแรงบันดาลใจ มุ่งเข้าหาประชาชนชาวไทยในยามเช้า

พลเรือเอก อำนวย กล่าวว่า “ปัจจุบันสื่อวิทยุยังเป็นช่องทางหลักที่พี่น้องชาวไทยทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัดให้ความสนใจอยู่อย่างมาก ขณะที่กลุ่มคนเมืองมีการปรับพฤติกรรมโดยมุ่งไปที่คอนเทนต์ที่ตรงใจ และฟังจาก แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นกิจการวิทยุกระจายเสียงทหารเรือ วิทยุเพื่อความตระหนักรู้ ข้อมูลข่าวสาร ความมั่นคงของชาติทางทะเล รายงานข่าวอากาศและเทียบเวลามาตรฐาน ซึ่งมุ่งมั่นในการนำเสนอคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาอันเป็นประโยชน์ รวมถึงเรื่องราวที่มีความทันสมัย ภายใต้ช่องทางรับฟัง/รับชมใหม่ๆ เพื่อขยายไปสู่ผู้ฟังทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง จึงได้ร่วมมือกับ THE STATES TIMES สำนักข่าวออนไลน์สำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นสำนักข่าวออนไลน์ที่มีการเติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมา และมีความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตคอนเทนต์ข่าวที่หลากหลาย ถือเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นจากกิจการวิทยุกระจายเสียงทหารเรือ ที่ต้องการนำสิ่งดีๆ มาสู่ผู้ฟัง พร้อมทั้งเป็นเพื่อน ทุกๆ ท่านตลอดวัน แค่หมุนคลื่น หรือคลิกฟัง/ชม ทาง ส.ทร.วังนันทอุทยาน FM93 ครับ” พลเรือเอก อำนวย ทิ้งท้าย

สิ่งที่ไทยต้องระวัง จากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน หากมองว่า ‘สหรัฐฯ’ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเรื่องไกลตัว

(19 มี.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้มุมมองถึงผลกระทบต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศไทยที่อาจต้องขี้นตาม ว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวพวกเราเกินคาด ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 66 ระบุว่า...

ในวันนี้ หากมองไปถึงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แล้ว ถือเป็นอีกเรื่องที่ไม่ได้ไกลตัวผู้คนอย่างที่คิด แล้วถ้าหากใครคิดว่าไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ หากไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามนั้น ผมคิดว่าคงไม่ใช่ เพราะในวันที่อเมริกาขึ้นดอกเบี้ยไปเยอะ แบงก์ชาติไทยก็มีแรงกดดันที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามไปด้วย

คำถาม คือ หากไทยไม่ขึ้นดอกเบี้ยตาม จะเกิดอะไรขึ้น?
ปกติแล้ว แบงก์ชาติไทย มีกรอบอัตราเงินเฟ้อเหมือนแบงก์ชาติอเมริกา โดยเขาจะมีสิ่งที่ภาษาการเงินเรียกว่า Inflation Targeting เป็นกรอบเป้าเงินเฟ้อว่าต้องไม่ให้เกินเท่าไหร่ จึงจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งของอเมริกานั้น จะอยู่ที่ 2% ส่วนไทยอยู่ที่ 3% และหากเงินเฟ้อออกนอกกรอบ 3% เมื่อไหร่ สถานการณ์แบบนี้แบงก์ชาติของไทยก็มีโอกาสที่จะต้องขี้นดอกเบี้ย เพราะอันนี้คือ สัญญาประชาคมของแบงก์ชาติ ที่ให้ไว้กับประชาชนและรัฐบาล ว่าเขาจะคุมเงินเฟ้อให้ไม่เกิน 3% หากจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย

ทว่าวันนี้ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.8-3.9% ก็เกินจากกรอบ 3% เพราะฉะนั้นแบงก์ชาติจะต้องถูกบังคับให้ขึ้นดอกเบี้ย เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ให้ดึงลงมาอยู่ในกรอบ 3% ที่สัญญาไว้กับประชาชน ถ้าผิดสัญญาถือว่าสอบตก

ดังนั้นในวันที่ระบบการเงินของไทย มีความเชื่อมต่อกันกับโลกพอสมควรนั้น จึงปฏิเสธได้ยากว่า ถ้าเกิดอัตราดอกเบี้ยของแต่ละชาติมันมีความต่างกันเยอะ มันจะสะเทือนไปสู่ปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราไปในตัว เช่น...

‘พงษ์ภาณุ’ แนะรัฐ เร่งปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษี มุ่งเพิ่มสัดส่วนรายได้ นำเงินพัฒนาประเทศระยะยาว

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 66 ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ครั้งล่าสุด อีก 0.25% เพิ่มจาก 1.50% เป็น 1.75% นั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับในต่างประเทศ เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน แม้ว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งของสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับวิกฤตแบงก์ล้มอยู่ก็ตาม นั่นเพราะปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯยังเป็นปัญหาใหญ่อยู่นั่นเอง

แน่นอนว่า การขึ้นดอกเบี้ยในแต่ละครั้ง ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในฐานะลูกหนี้ ที่จะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันความสามารถในการขอสินเชื่อของประชาชนก็จะลดลงด้วย ยกตัวอย่าง การกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารก็อาจจะพิจารณาให้เงินกู้ในสัดส่วนที่ลดลง จากเดิมกู้ได้ 2 ล้านบาท อาจจะเลือกเพียง 1.5 ล้านบาท เพราะต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่ม แต่เงินเดือนหรือรายได้ของผู้ยื่นกู้อยู่เท่าเดิม เป็นต้น

‘พงษ์ภานุ’ วอน ภาครัฐฯ-สมาคม เร่งแก้ไขวงการกีฬาไทย แนะ เพิ่มงบหนุนเพื่อต่อยอดอุตฯ กีฬา สร้างรายได้ให้ประเทศ

(4 มิ.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้พูดคุยในประเด็น ‘โอกาสและแนวทางในการพัฒนากีฬาไทย’ ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 โดยได้ให้มุมมองถึงเหตุผลที่วงการกีฬาไทยยังไปไม่ถึงดวงดาว รวมถึง ‘มวยไทย’ มรดกทางกีฬาและศิลปะวัฒนธรรมของชาติไทย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกมุมโลก แต่เหตุใดยังเทียบชั้นเทควันโดของเกาหลี หรือยูโดของญี่ปุ่นได้ในระดับสากลไม่ได้? และเพราะเหตุใด? มวยไทยถึงยังไม่ได้รับบรรจุเข้าเป็นชนิดกีฬาในโอลิมปิก

เมื่อพูดถึงการพัฒนาทางด้านกีฬาของประเทศไทยนั้น มีเป้าหมายหลักๆ อยู่ 3-4 ประการด้วยกัน คือ พื้นฐาน มวลชน เหรียญทองเป็นเลิศ อาชีพ และอุตสาหกรรม ได้แก่

เป้าหมายที่ 1 คือ อยากให้เด็กไทย ได้รับการศึกษาทางด้านพละศึกษาที่ถูกต้อง ออกกำลังกายอย่างถูกต้อง รู้จักชนิดของกีฬา และเล่นกีฬาเป็น

เป้าหมายที่ 2 คือ อยากให้คนไทยหันมาใส่ใจการออกกำลังกายให้มากขึ้น

เป้าหมายที่ 3 คือ อยากให้นักกีฬาไทย ได้เหรียญทองเยอะๆ จากมหกรรมการแข่งขันกีฬาต่างๆ ระหว่างประเทศ สร้างทีมชาติ สร้างนักกีฬาให้มีความสามารถ

เป้าหมายที่ 4 คือ อาชีพ และอุตสาหกรรม อยากให้นักกีฬาไทยที่เป็นมืออาชีพ ได้รางวัลเยอะๆ ได้งบสนับสนุนเยอะๆ สามารถที่จะอยู่กับอาชีพนักกีฬา เป็นฐานการใช้ชีวิต

เป้าหมายที่ 5 คือ การพัฒนาศักยภาพวงการกีฬา จนสามารถต่อยอดไปถึงอุตสาหกรรมการกีฬาได้ในอนาคต

นายพงษ์ภาณุ ยังกล่าวต่อว่า วงการกีฬาไทยนับได้ว่าพัฒนาขึ้นระดับหนึ่ง หลังจากมีการปรับบทบาทและเพิ่มวงเงินกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติเมื่อปี 2558 โดยมีแหล่งรายได้จากภาษีบาปปีละกว่า 4,000 ล้านบาท ฟุตบอลไทยลีกกลายเป็นลีกฟุตบอลชั้นนำของเอเชีย นักกอล์ฟหญิงไทยขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก ธุรกิจการกีฬามีรายได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่พัฒนาอย่างไรก็ไปไม่ถึงดวงดาวเสียที คนไทยมีสัดส่วนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตำ่มากเมื่อเทียบกับมาตรฐานโลก ทีมนักกีฬาไทยมีผลงานได้เหรียญแค่ที่สองในซีเกมส์ที่พนมเปญ ถูกเวียดนามทิ้งห่างทั้งๆที่เวียดนามใช้เงินรัฐฯ อุดหนุนไม่ถึงครึ่ง

ประเด็นต่อมาคือ ‘มวยไทย’ ซึ่งถือเป็นมรดกชาติและศิลปะวัฒนธรรมไทย และเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกมุมโลก แต่ในระดับสากลยังเทียบชั้นไม่ได้กับเทควันโดของเกาหลี หรือยูโดของญี่ปุ่น วันนี้มวยไทยยังไม่ได้รับบรรจุเข้าเป็นชนิดกีฬาในโอลิมปิก ด้วยเหตุที่วงการมวยไทยขาดเอกภาพและไม่มีมาตรฐานกลาง ที่เป็นที่ยอมรับสภาพวงการกีฬาไทย วันนี้สะท้อนการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับรัฐบาลและสมาคมกีฬา เงินพัฒนากีฬาซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากและมาจากภาษีอากรของประชาชน มีการบริหารจัดการที่ด้อยธรรมาิบาล สมาคมกีฬาขาดความโปร่งใสและการตรวจสอบบัญชีที่เป็นที่ยอมรับ การใช้เงินจึงขาดประสิทธผลและผลงานนักกีฬาไทยไม่เป็นตามคาดหวังทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค

“คงต้องฝากรัฐบาลใหม่แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่กีฬาไทยจะตกต่ำและเงินภาษีจะสูญเสียไปกว่านี้ รัฐฯ ต้องเสริมสร้างการกำกับดูแลสมาคมกีฬาให้มี Corporate Governance ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้ การพัฒนากีฬาในเชิงพาณิชย์ตามแนวทางของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนากีฬาอย่างเต็มที่ โดยให้สิ่งจูงใจที่เหมาะสมและจัดโครงสร้างการร่วมลงทุนแบบ PPP ที่มีการกระจายความเสี่ยงและภาระค่าใช้จ่ายที่สมดุล” นายพงษ์ภาณุ กล่าวทิ้งท้าย

‘พงษ์ภาณุ’ ระบุ ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดต่ำ ขาดแคลน ‘คนวัยแรงงาน’ ที่จะมาขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ

(18 มิ.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้พูดคุย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2566 โดยได้ให้มุมมองถึง โครงสร้างทางประชากรที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีอัตราการเกิดของประชากรต่ำ โดยนายพงษ์ภาณุมองว่า

โลกกำลังเข้าสู่สภาวะผู้สูงอายุ รวมทั้งประเทศไทย สังคมไทยเป็นสังคมที่แก่เร็วมาก มีตัวเลข ว่าถ้าชาติใดมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ก็จะนับว่าประเทศนั้นเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันชาติไทยก็ได้เกินหลักเกณฑ์นั้นไปแล้ว อายุเฉลี่ยของคนในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 40 ปี นั่นก็หมายความว่าคนไทยมีอายุมากกว่า 40 ปีและน้อยกว่า 40 ปีในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน โดยในอาเซียนจะมีอายุเฉลี่ย น้อยกว่าประเทศไทยยกเว้นสิงคโปร์ที่มีอายุเฉลี่ยสูงกว่าประเทศไทย สาเหตุตรงนี้ก็คือเด็กเกิดใหม่นั้นมีน้อยส่วนผู้สูงอายุนั้น ก็มีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ และวัฒนธรรมการมีลูกของคนไทยในปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนไป ถ้าย้อนกลับไป เมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว ต่อผู้หญิงไทย 1 คนจะมีลูกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6 คน จากวันนั้นถึงวันนี้ ผู้หญิงไทย จะมีลูกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.3 คน ซึ่งอันนี้นับว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่งถ้าจะคงที่ของประชากรไทยไว้ผู้หญิง 1 คนจะต้องมีลูกประมาณ 2 คนนิดๆถึงจะคงค่าเฉลี่ยของประชากรไทยไว้ได้เหมือนเดิม ค่าอยู่ที่ประมาณ 2.1 คนไทยมีอยู่ประมาณ 70 ล้านคนซึ่งวิเคราะห์ตัวเลขนี้แล้วก็บอกว่าคงจะไม่เติบโตไปมากกว่านี้ อันนี้ฟังแล้วก็น่าใจหาย ที่อัตราการเกิดของประชากรในประเทศไทยลดลงมาก สืบเนื่องจากว่าในปัจจุบันประชากรจากชนบทนั้นได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานกันอยู่ในเมือง ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ทำเกษตรกรรมกันทำไร่ทำนากันอยู่ตามท้องไร่ท้องนา คนเมืองที่อยู่ในบ้านในเมืองใหญ่ซึ่งบ้านจะเล็กกว่าบ้านตามชนบทการมี ลูก ก็เลยจะน้อยลงต่างกับคนชนบทที่จะมีลูกกันมาก

เรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ คนที่จะมีลูกนั้นก็จะต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายค่าเลี้ยงดูค่าเล่าเรียนการศึกษา ค่าอาหารการกินค่าที่พักอาศัยซึ่งจะตามมาอีกมาก เพราะฉะนั้นการมีลูกถือเป็นเรื่องใหญ่ และนโยบายจากทางภาครัฐนั้นก็ถือว่าสำคัญ อย่างถุงยางอนามัยถุงยางมีชัยนั้นก็ถือว่าได้ผลเกินคาด

เมื่อเราเป็น ผู้สูงวัยเกษียณอายุ ชีวิตก็จะมีอยู่ 3 ทางเลือก 1 ถอนเงินออมออกมาใช้ 2 พึ่งบำนาญจากทางราชการ 3 ให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูเรา สิ่งที่น่าเป็นห่วงของสังคมผู้สูงอายุ และในภาวะที่อัตราการเกิดลดลงก็คือ อัตรากำลังในภาคแรงงาน นั้นจะมีขนาดลดลงเมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรประเทศ ซึ่งตรงนี้คือตัวที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ เป็นส่วนที่ผลักดันทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญ

หลายๆประเทศก็ได้แก้ไขปัญหานี้ด้วยการ เพิ่มจำนวนผู้อพยพเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งก็จะเข้ามาเพิ่มจำนวนของประชากรในประเทศไปโดยปริยาย อย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาก็จะดึงดูดประชากรใหม่เข้ามาในประเทศปีละเป็นแสนเป็นล้านคน ในประเทศไทยก็ได้เปิดให้แรงงาน เข้ามา ในระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบนโยบายการรับ ผู้อพยพเข้าเมืองระหว่างประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างกันมาก ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเปิดรับผู้อพยพที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเข้ามาคิดค้น นวัตกรรมใหม่ๆให้กับประเทศ อย่างเช่นสตีฟ จ๊อบ ก็มีพ่อแม่ซึ่งอพยพมาจากประเทศจอร์แดน หรือใน ปัจจุบัน CEO ของ Microsoft หรือ CEO ของ Google ก็เป็นคนที่เป็นแขก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยผู้อพยพที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็จะเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ก็จะเห็นความแตกต่างว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาผู้บริหารก็จะเป็นคนต่างด้าวพอสมควร แต่สำหรับประเทศไทย เราไม่มี เราบอกว่า คนต่างด้าวจะให้เข้ามาแข่งขันกับคนไทยไม่ได้ เราจึงเอาเฉพาะแรงงานระดับรากหญ้าระดับที่ติดดินเข้ามา ซึ่งความคิดตรงนี้อาจจะต้องเปลี่ยน

‘พงษ์ภาณุ’ มองเศรษฐกิจไทยเติบโตน่าพอใจ ภาคอสังหาฯ แนวโน้มสดใส ทั้งบ้านเดี่ยว-คอนโด

(25 มิ.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้พูดคุย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566 โดยได้ให้มุมมองถึง เศรษฐกิจของประเทศไทยในเวลานี้ ซึ่งผ่านมาแล้วครึ่งปี การวิเคราะห์ในตัวเลขที่ผ่านมาครึ่งปีนั้น ส่งผลอย่างมากในการที่จะพยากรณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
โดยนายพงษ์ภาณุมองว่า ...

เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้อย่างน่าพอใจ ที่ระดับใกล้ๆ 4% ต่อปี ทั้งนี้สำนักพยากรณ์ทั้งไทยและเทศยังไม่มีการปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ช่วงกลางปี (mid year review) อย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะมี downside risk อยู่มากมาย อาทิเช่น ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูง ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก การส่งออกขยายตัวได้ต่ำ และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ

การเติบโตในปีนี้ไม่เพียงแต่ได้รับการขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมาจากส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มมีแนวโน้มสดใสตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยทั้งประเภทบ้านเดี่ยวและคอนโด ทั้งนี้แรงซื้อจากลูกค้าต่างชาติก็มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพปริมณฑลและเมืองหลักทั่วประเทศ หากมีการเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้เป็นอย่างดี จึงขอฝากเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาลหน้าด้วย

‘ดีเจศร’ แห่ง NAVY TIME ปล่อยซิงเกิ้ลแรก ‘กินข้าวบ้านเธอ’ แฟนรายการชอบใจ ชมเปาะ!! ‘เพลงเพราะ-ฟังง่าย-ติดหู’

(19 ต.ค. 66) พันจ่าเอก อดิศร จันทรวัฒน์ หรือ ดีเจศร ประจำรายการ 'NAVY TIME’ เรื่องดีดีประเทศไทยยามเช้า ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เวลา 7-8 โมงเช้าทุกวัน จันทร์ ถึง อาทิตย์ และมีการ Live สดผ่านเพจ เสียงจากทหารเรือ และ เพจ THE STATES TIMES

พันจ่าเอก อดิศร จันทรวัฒน์ (ดีเจศร) ระหว่างที่จัดรายการ เป็นดีเจอารมณ์ดีและชอบร้องเพลงระหว่างจัดรายการ มีการจัดรายการที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองจนทำให้แฟนคลับรายการถูกใจเป็นอย่างมาก ทั้งจัดรายการข่าวที่มีความสนุกสนาน และ ยังมีการร้องเพลงออกอากาศ ให้แฟนคลับฟังอยู่บ่อย ๆ รวมถึงการทำ ชาเลนจ์ติ๊กต็อกออกรายการอยู่บ่อยครั้ง อาทิ เช่น เทพสามตา นกกรงหัวจุก ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นการจัดรายการวิทยุรูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนใคร

ล่าสุด พันจ่าเอก อดิศร จันทรวัฒน์ ได้ออกซิงเกิ้ลแรก 'กินข้าวบ้านเธอ' โดยเหล่าแฟนคลับ ที่รับฟังรายการ NEVY TIME ต่างพากันเข้าไปฟัง เพลง 'กินข้าวบ้านเธอ' ของดีเจศร โดยต่างมีคอมเมนต์ เป็นเสียงเดียวกันว่า "เพลงเพราะ และติดหูง่ายมาก" ใครยังไม่ได้รับฟัง ไปฟังกันได้ที่: https://youtu.be/YqNaq3wprw4 

ส่วนใครอยากออกลูกคอตามดีเจศร ก็สามารถร้องตายเนื้อร้องนี้ได้เลย

ทำงานมาหนักก็อยากจะพัก จะผ่อน
อาบเหงื่อต่างน้ำมาร้อนๆ ขอนั่งพักก่อนจะได้ไหม 
ท้องร้องเสียงดัง มันหิวข้าวจัง จนตาลาย 
กินข้าวสักจาน ก่อนได้หรือไม่ ให้มีแรงกายอยู่ได้ทั้งวัน 

พอมีบ้านใดแบ่งปันกับข้าวสักจาน 
ขอให้เป็นบ้านน้องนาง พี่รับประทานอาหารง่ายๆ 
อยากกินฝีมือของน้องสักมื้อจะเป็นไรไป 
กับข้าวไม่ต้องมากมาย แค่น้องมีใจเชื้อเชิญพี่มา 

*จะผัดจะยำ ทำแกงพี่ไม่เคยเกี่ยง 
ฝากท้องน้องตอนมื้อเที่ยง มื้อเย็นก็ได้ไม่มีปัญหา 
แกงน้องหม้อเล็ก หรือจะหม้อใหญ่ พี่ก็จะมา 
เผ็ด หวาน เปรี้ยว เค็ม ไม่ว่า 
อยากมาเจอหน้าทุกมื้อ ทุกวัน 

**ให้เป็นลูกมือ หรือกินเสร็จจะช่วยเช็ดล้าง 
จะช่วยน้องทำทุกอย่าง ไม่มีข้ออ้างเพราะพี่ขยัน 
ขอเพียงยินดี ให้พี่นั้นมาที่บ้านทุกวัน 
พี่จะมาผูกมาสานสัมพันธ์ จะมากินข้าวบ้านเธอ

Solo

*จะผัดจะยำ ทำแกงพี่ไม่เคยเกี่ยง 
ฝากท้องน้องตอนมื้อเที่ยง มื้อเย็นก็ได้ไม่มีปัญหา 
แกงน้องหม้อเล็ก หรือจะหม้อใหญ่ พี่ก็จะมา 
เผ็ด หวาน เปรี้ยว เค็ม ไม่ว่า 
อยากมาเจอหน้าทุกมื้อ ทุกวัน 

**ให้เป็นลูกมือ หรือกินเสร็จจะช่วยเช็ดล้าง 
จะช่วยน้องทำทุกอย่าง ไม่มีข้ออ้างเพราะพี่ขยัน 
ขอเพียงยินดี ให้พี่นั้นมาที่บ้านทุกวัน 
พี่จะมาผูกมาสานสัมพันธ์ 
จะมากินข้าวบ้านเธอ......


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top