สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 27 - 31 มี.ค.66  จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 3 - 7 เม.ย.66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น จากนักลงทุนคลายความวิตกต่อวิกฤติภาคธนาคาร ประกอบกับท่อขนส่งน้ำมันดิบ Kirkuk - Ceyhan (0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ที่สูบถ่ายน้ำมันดิบจากเขตปกครองพิเศษเคอร์ดิสถานทางตอนเหนือของอิรักสู่ตุรกีปริมาณ 4 - 4.5 แสนบาร์เรลต่อวัน ต้องระงับการสูบถ่ายชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 66 หลังอิรักชนะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทการส่งออกน้ำมันเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 66 

อย่างไรก็ดี วันที่ 2 เม.ย. 66 รัฐบาลอิรักและรัฐบาลท้องถิ่นเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Regional Government: KRG) บรรลุข้อตกลงกลับมาส่งออกน้ำมันดิบแล้ว และคาดว่าจะเริ่มส่งออกน้ำมันได้ในวันที่ 3 เม.ย. 66

สัปดาห์นี้ ทางเทคนิคคาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 80 – 88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากอุปทานน้ำมันมีแนวโน้มตึงตัว หลังประเทศสมาชิก OPEC+ จำนวน 7 ประเทศ ประกาศลดการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจ ปริมาณรวม 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. - ธ.ค. 66 เพิ่มเติมจากโควตาเดิมของ OPEC+ ซึ่งลดการผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ย. 65 - ธ.ค. 66 ประกอบกับรัสเซียประกาศลดการผลิตน้ำมันดิบ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. - ธ.ค. 66 ซึ่งจะสนับสนุนราคาน้ำมัน โดย Goldman Sachs ปรับประมาณการณ์ราคาน้ำมันดิบ Brent ในปี 66 และ 67 เพิ่มขึ้น 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากคาดการณ์เดิม มาอยู่ที่ 95 และ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
-Reuters รายงาน OPEC ผลิตน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. 66 ลดลง 7 หมื่นบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 28.90 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยอัตราการปฏิบัติตามข้อตกลง (Compliance Rate) เพิ่มขึ้น 4% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 173%

-Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทของรัสเซีย วันที่ 1-19 มี.ค. 66 ลดลง 3 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 9.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ รัสเซียผลิตคอนเดนเสทประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวั

-ธนาคารโลก (World Bank) ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในปี 2566 อยู่ที่ +5.1% จากปีก่อนหน้า (คาดการณ์ครั้งก่อนที่ +3.5% จากปีก่อนหน้า) และคาดการณ์ GDP ของจีน อยู่ที่ +5.1% จากปีก่อนหน้า (คาดการณ์ครั้งก่อนที่ +3% จากปีก่อนหน้า)

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
-กระทรวงการคลัง (Ministry of Finance) ของญี่ปุ่นรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ก.พ. 66 ลดลง 3.5% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 2.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน

-กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 4/65 อยู่ที่ +2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ +2.7% จากไตรมาสก่อนหน้า