Tuesday, 10 December 2024
LITE TEAM

22 สิงหาคม พ.ศ. 2407 วันก่อตั้ง 'กาชาดสากล' 12 ชาติยุโรปลงนามในอนุสัญญาเจนีวา มุ่งหวังเป็นองค์กรกลาง ช่วยดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม

วันนี้เมื่อ 160 ปีก่อน เป็นวันที่ ‘สภากาชาดสากล’ ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากประเทศในยุโรป 12 ชาติ ลงนามในอนุสัญญาเจนีวา

โดยหากย้อนกลับไป ซึ่งก็คือวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2407 อองรี ดูนังต์ (Henri Dunant) นักธุรกิจชาวสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำการร่างสัญญาฉบับหนึ่งขึ้นมา เพื่อร่วมลงนามกับประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเป็นจำนวน 12 ประเทศ เพื่อเสนอให้มีการก่อตั้งองค์กรกลางเพื่อดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม ซึ่งถูกเรียกว่า อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) ฉบับที่ 1 และเกิดเป็นการก่อตั้ง ‘กาชาดสากล’ ขึ้น

โดยสัญลักษณ์ที่หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คือจะใช้เป็นรูปกากบาทสีแดงบนพื้นที่มีสีขาว ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของธงประจำชาติสวิตเซอร์แลนด์นั่นเอง นอกจากนี้ ยังถือเป็นกฎหมายมนุษยธรรมฉบับแรกของโลกอีกด้วย

และด้วยการทำงานขององค์กรกาชาดนี้ ที่เข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นอย่างดี ส่งผลให้ นายอังรี ดูนังต์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพครั้งแรกของโลกในปี พ.ศ. 2444 อีกด้วย

20 สิงหาคม พ.ศ. 2447 ประหาร ‘นางล้วน’ นักโทษหญิง คดีฆ่าสามีแล้วเผาทั้งบ้าน ด้วยวิธีการ ‘ตัดศีรษะ’ เป็นรายสุดท้ายของประเทศไทย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2447 มีการประหารชีวิตนักโทษหญิง ด้วยการตัดศีรษะเป็นครั้งสุดท้ายในประเทศไทย ที่วัดหนองจอก ริมคลองแสนแสบ อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร)

โดยมีการบันทึกไว้ว่า มีการประหารชีวิตนักโทษหญิง ชื่อ ‘นางล้วน’ ด้วยวิธีตัดหัวเป็นรายสุดท้ายของประเทศไทย แต่เป็นรายสุดท้ายสำหรับผู้หญิง ส่วนรายสุดท้ายที่ถูกประหารด้วยวิธีตัดหัวเป็นผู้ชาย ก็คือนายบุญเพ็ง นักโทษผู้โด่งดัง เจ้าของฉายา ‘บุญเพ็งหีบเหล็ก’ ที่ได้ก่อคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ ฆ่าชิงทรัพย์ตั้งแต่ขณะอยู่ในผ้าเหลือง สุดท้ายถูกประหารที่วัดภาษี คลองตัน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2462

สำหรับนางล้วน นักโทษหญิงรายสุดท้ายที่ถูกตัดหัวนั้น ไม่มีเรื่องราวที่พูดถึงกันมากนัก จึงถูกบันทึกไว้เพียงสั้น ๆ ว่า ต้องโทษด้วยข้อหาว่าฆ่าผัวตายแล้วเผาทั้งบ้าน ถูกประหารที่วัดหนองจอก ริมคลองแสนแสบ มีนบุรีหลังจากเพิ่งคลอดลูกในคุกได้เพียง 1 เดือน ก่อนเข้าหลักประหาร นางล้วนได้มีโอกาสให้นมลูกเป็นครั้งสุดท้ายที่ท่าน้ำวัดหนองจอก ส่วนลูกของนางนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งได้รับไปอุปการะ

19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 'พสกนิกรไทย' ร่วมส่งเสด็จฯ 'ในหลวง ร.9' พร้อมตะโกนก้อง ขออย่าละทิ้งพวกเขา พระองค์ทรงนึกตอบในใจ “ถ้าปชช.ไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งปชช.อย่างไรได้”

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สวรรคตกะทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ในวันเดียวกัน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สืบต่อไป

แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์

เดิมทีรัชกาลที่ 9 ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงครองราชสมบัติ แค่ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบรมเชษฐาธิราชเท่านั้น เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน แต่ก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น ที่ทรงจดจำไม่มีวันลืม คือ…

พระราชนิพนธ์บันทึกประจำวันบางส่วนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ระหว่างวันเสด็จพระราชดำเนิน จากสยามสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คงพอจะสะท้อนให้เห็นถึงความรักของประชาชน ที่พร้อมใจส่งเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดิน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 

“...วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้นแล้ว ก็ไปยังวัดพระแก้วเพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ ตลอดทางที่รถพระที่นั่งแล่นผ่านฝูงชนที่มาส่งเสด็จอย่างล้นหลาม ได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนที่แสดงความจงรักภักดี บางแห่งใกล้จนทอดพระเนตรเห็นดวงหน้าและแววตาชัด ที่บ่งบอกถึงความเสียขวัญอย่างใหญ่หลวง ทั้งเต็มไปด้วยความรักและห่วงใย อันเป็นภาพที่ทำให้อยากรับสั่งกับเขาทุกคน ถึงความหวังดีที่ทรงเข้าพระทัย และขอบใจเขาเช่นกัน ขวัญของคนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าขาดกำลังใจ ถ้าขวัญเสียมีแต่ความหวาดระแวง ประเทศจะมีแต่ความอ่อนแอและแตกสลาย

พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริง ๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพรได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดัง ๆ เข้าพระกรรณ์ ว่า…”

“ในหลวง อย่าละทิ้งประชาชน...”

พระองค์จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า “...ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้...”

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสตอบชายคนเดิมนั้นในอีก 20 ปีต่อมา หลังจากที่จบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จเยือนกรุงปารีส ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระอิสริยยศ ขณะนั้น) ซึ่งเป็นธิดาของเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นครั้งแรก

17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญกลางกรุงเทพมหานคร คนร้ายวางระเบิดบริเวณ ‘ศาลท้าวมหาพรหม’ คร่าชีวิต 20 ราย

เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 18.50 น. ของวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ในขณะที่เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างปกติ จู่ ๆ ก็เกิดเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว บริเวณรอบศาลท้าวมหาพรหม หน้าโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ แรงระเบิดส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 130 คน และมีผู้เสียชีวิต 20 คน เป็นชาวไทย 6 คน และชาวต่างชาติอีก 14 คน

ภายหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้เก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนเป้, ชิ้นส่วนลูกเหล็กกลม และชิ้นส่วนของท่อเหล็ก ซึ่งตกอยู่ในที่เกิดเหตุจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีหลักฐานชิ้นสำคัญ นั่นคือ ภาพจากกล้องวงจรปิด ยืนยันว่าผู้ต้องสงสัยเป็นชายใส่เสื้อสีเหลือง

วันต่อมา 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ยังมีระเบิดเกิดขึ้นอีกครั้งบริเวณท่าเรือย่านสาทร ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถแกะรอยเพิ่มเติม จนเข้าทำการจับกุม นายอาเดม คาราดัก และนายเมียไรลี ยูซุฟู ชายชาวอุยกูร์ พร้อมหลักฐาน อาทิ อุปกรณ์ประกอบระเบิด สารเคมีเอทีพี รวมทั้งเสื้อผ้าที่สวมใส่ในวันเกิดเหตุ

ในเวลาต่อมา ยังมีการออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีกกว่า 17 คน ในจำนวนนั้นมีคนไทยร่วมขบวนการด้วยอยู่สองคน โดยการก่อเหตุรุนแรงถูกเชื่อมโยงไปยังเรื่องการก่อการร้ายข้ามชาติ แต่ต่อมามีประเด็นเรื่องความขัดแย้งในธุรกิจค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ปัจจุบัน ผ่านมาแล้วกว่า 9 ปี เหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ควรเป็นบทเรียนครั้งสำคัญต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในเรื่องการดูแลความปลอดภัย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนต่อไป

15 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ‘อร-อุดมพร พลศักดิ์’ คว้าเหรียญทองยกน้ำหนัก ในโอลิมปิก ครั้งที่ 28 นับเป็นนักกีฬาหญิงไทยคนแรกที่สามารถคว้าเหรียญอันทรงเกียรตินี้ได้

พันโทหญิง อุดมพร พลศักดิ์ หรือชื่อเล่น อร เป็นอดีตนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย และเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกของราชอาณาจักรไทย ที่ได้เหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ฤดูร้อน โดยได้จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 28 ณ กรุงเอเธนส์ สาธารณรัฐเฮลเลนิก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ในการแข่งขันยกน้ำหนัก รุ่นไม่เกิน 53 กก. โดยยกในท่าสแนชได้ 97.5 กก. ท่าคลีนแอนด์เจิร์กได้ 125 กก. รวม 222.5 กก. โดยเป็นการทำลายสถิติโอลิมปิก ในท่าคลีนแอนด์เจิร์กของประเภทนี้ด้วย

ก่อนขึ้นยกน้ำหนักและคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน น้องอรตะโกนคำว่า "สู้โว้ย" ออกมาดัง ๆ เพื่อปลุกขวัญกำลังใจ จนกลายเป็นฉายาประจำตัว และเป็นวลีติดปากคนไทยมาจนปัจจุบัน ซึ่งเวลาผ่านมา 20 ปีเต็มพอดิบพอดี

อุดมพร เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ที่จังหวัดนครราชสีมา เริ่มเข้ารับการศึกษาในชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสวนหม่อน และศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนบุญวัฒนา และโรงเรียนเทพลีลา ก่อนจะมาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพจนจบปริญญาตรี

สำหรับในการแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก 2003 ที่เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา อุดมพรทำได้สองเหรียญทอง โดยทำน้ำหนักได้ 100 กก. ในท่าสแนช และ 222.5 กก. ในน้ำหนักรวม

12 สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ทรงเป็นธิดาในหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ภายหลังคือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นอนุบาล ณ โรงเรียนราชินี ก่อนที่จะย้ายไปทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ต่อมาพระบิดาต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตยังประเทศอังกฤษ จึงทรงตามเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในเวลาต่อมา ทรงได้เข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรี ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษา

ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ประเทศฝรั่งเศส หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ซึ่งทรงเสด็จประพาสกรุงปารีส จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสานพระราชสัมพันธ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 จึงได้มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ณ วังสระปทุม ก่อนที่ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยพระปรีชาสามารถอันล้นพ้น ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีว่า ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย โดยเสด็จพระราชดำเนินร่วมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยมาโดยตลอด

ในวาระวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยสืบไป ทรงพระเจริญ

8 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ครบรอบ 8 ปี ‘BLACKPINK’ เดบิวต์อย่างเป็นทางการ เกิร์ลกรุ๊ปที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก

หากเอ่ยชื่อ แบล็กพิงก์ (BLACKPINK) เชื่อว่าคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพราะนี่คือเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังของประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้สังกัด YG Entertainment ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 4 คน คือ จีซู, เจนนี่, โรเซ่ และ ลิซ่า นั่นเอง

BLACKPINK เดบิวต์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559 พร้อมกับซิงเกิลอัลบั้ม Square One โดยมีซิงเกิลเปิดตัวอย่าง ‘Whistle’ และ ‘Boombayah’ ขึ้นถึงอันดับ 1 บน Gaon Digital Chart ในเกาหลีใต้ และ Billboard World Digital Song Chart ตามลำดับ ทำให้วงคว้ารางวัล Golden Disc Awards และ Seoul Music Awards สาขาศิลปินหน้าใหม่แห่งปี 2016

หลังจากนั้นก็ได้ปล่อยผลงานเพลงฮิตออกมามากมาย อาทิ Playing with Fire, Stay, As If It's Your Last และ Ddu-Du Ddu-Du รวมถึงได้ร่วมร้องกับนักร้องต่างประเทศชื่อดังอย่าง Selena Gomez ในเพลง Ice Cream, Dua Lipa ในเพลง Kiss and Make Up และ Lady Gaga ในเพลง Sour Candy

ทั้งนี้ ชื่อวง BLACKPINK นั้นสื่อความหมายถึงธรรมชาติของสมาชิกในวงที่มีความหลากหลายทางมิติ ทั้งความงามของหน้าตา บุคลิกลักษณะ และความสามารถที่เพียบพร้อม เต็มเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์และการฝึกฝนที่จริงจัง

นอกจากนี้ สมาชิกทุกคนต่างมีความเป็นผู้นำในแต่ละด้านได้ ทางค่ายและวงจึงตัดสินใจว่าจะไม่มีหัวหน้าวง อีกทั้งชื่อแฟนคลับอย่างเป็นทางการของ BLACKPINK คือ BLINK (บลิงก์) ที่เป็นการรวมกันของคำว่า BLACK และ PINK ซึ่งมีความหมายว่า คนที่รักและปกป้อง BLACKPINK เสมอ

ปัจจุบัน BLACKPINK เป็นหนึ่งในเกิร์ลกรุ๊ปที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับไม่เพียงแต่ในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก

7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 วันสิ้นพระชนม์ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ฯ’ ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น ‘พระบิดาแห่งกฎหมายไทย’

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาตลับ ประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 ปีจอ จุลศักราช 1236 ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2417 ทรงมีพระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นต้นราชสกุลรพีพัฒน์

ทั้งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้พระราชโอรสไปศึกษายังต่างประเทศ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสกลุ่มแรกที่ทรงไปศึกษาต่อในทวีปยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2428 คราวนั้นเสด็จไปพร้อมกัน 4 พระองค์ คือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (กรมพระจันทบุรีนฤนาถ), พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์), พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงปราจิณกิติบดี) และพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช)

เมื่อพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายจากประเทศอังกฤษได้กลับมารับราชการ ทรงเป็นผู้วางรากฐานด้านกฎหมายในเมืองไทย ทรงปรับปรุงศาลยุติธรรมสู่ระบบใหม่ ทรงตรวจชำระสะสางกฎหมาย ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายเพื่อเปิดการสอนกฎหมายครั้งแรก ทรงรวบรวมและแต่งตำราคำอธิบายกฎหมายลักษณะต่าง ๆ มากมาย ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกาซึ่งทำหน้าที่ศาลสูงสุดของประเทศ ทรงตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้น เมื่อพ.ศ.2443 สำหรับตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาในคดีอาญา อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพิสูจน์ลายมือที่กรมตำรวจในปัจจุบัน จนได้รับพระสมัญญานามว่า ‘พระบิดาแห่งกฎหมายไทย’

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่  7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 จึงกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปีเป็น ‘วันรพี’ เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีและคุณูปการของพระองค์ต่อวงการกฎหมายไทย

6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ‘สหรัฐอเมริกา’ ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่ม ‘เมืองฮิโรชิมะ’ โศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นทันที 80,000 คน

วันนี้เมื่อ 79 ปีที่แล้ว ซึ่งก็คือวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เป็นอีกหนึ่งวันที่คนญี่ปุ่นไม่มีวันลืม เมื่อระเบิดปรมาณู ‘ลิตเติลบอย (Little Boy)’ ของสหรัฐอเมริกา ถูกทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีประมาณ 80,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีอีก 60,000 คน

‘ลิตเติลบอย (Little Boy)’ เป็นชื่อระเบิดปรมาณู ที่ถูกนำไปทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น โดยเครื่องบิน B-29 Superfortress (เครื่องบินลำนี้มีชื่อ Enola Gay) และระเบิดลูกนี้ ยังนับเป็นระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ใช้ในการสงครามอีกด้วย

โดยอาวุธนี้พัฒนาขึ้น ในระหว่างจัดตั้ง ‘โครงการแมนฮัตตัน’ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย ‘จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์’ ผู้ที่ได้ฉายาว่า ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’

สำหรับ ‘ลิตเติลบอย’ มีความยาว 3 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 71 เซนติเมตร และน้ำหนัก 4,000 กิโลกรัม บรรจุธาตุยูเรเนียมประมาณ 64 กิโลกรัม และจากเหตุการณ์นี้นับเป็นโศกนาฏกรรมที่โลกไม่เคยลืม

4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ‘ในหลวง ร.5’ โปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’ จุดกำเนิดกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไป จุดเริ่มต้นของการสื่อสารในสมัยก่อนนั้น เกิดจากการสร้างเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการค้า โดยมีการติดต่อข่าวสารกันอย่างง่าย ทั้งผ่านทางพ่อค้า ใช้ม้าเร็ว จนถึงการจัดตั้งคนเร็วไว้ตามเมืองสำคัญ ก็ถือเป็นพัฒนาการทางการส่งข่าวสารอย่างง่ายอีกช่องทางหนึ่งและเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นยุคแรกของ ‘การไปรษณีย์ไทย’ ด้วยการจัดตั้ง ‘กรมไปรษณีย์’ ในประเทศไทย และการผลิต ‘แสตมป์ชุดโสฬส’ แสตมป์ชุดแรกของประเทศ รวมไปถึงจัดพิมพ์ไปรษณียบัตรครั้งแรก เพื่อรองรับกิจการไปรษณีย์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

โดยปี พ.ศ. 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายคำแนะนำให้เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดส่งหนังสือพิมพ์รายวัน ‘ข่าวราชการ’ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์

เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงวางโครงการและเตรียมการไว้พร้อมที่จะเปิดบริการไปรษณีย์แล้ว ได้ประกาศเปิดรับฝากส่งจดหมายหรือหนังสือ เป็นการทดลองในเขตพระนครและธนบุรีขึ้น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 มีที่ทำการตั้งอยู่ ณ ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อใช้ที่สร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า) ที่ทำการแห่งแรกนี้ใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์สำหรับจังหวัดพระนคร ด้วยเรียกกันว่า ‘ไปรษณียาคาร’

ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการกราบบังคมทูลเสนอความเห็นว่าราชการของกรมไปรษณีย์และราชการของกรมโทรเลข ซึ่งตั้งขึ้นก่อนกรมไปรษณีย์แล้วนั้นเป็นงานในด้านสื่อสารด้วยกัน ควรรวมเป็นหน่วยราชการเดียวกันเสีย เพื่อความสะดวกแก่การดำเนินงาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นเป็นการสมควรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้รวมหน่วยงานทั้งสองเข้าด้วยกันเรียกว่า ‘กรมไปรษณีย์โทรเลข’

ต่อมาได้ย้ายไปใช้อาคารและที่ดินริมถนนเจริญกรุงเป็นที่ทำการและเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘ที่ทำการไปรษณีย์กลาง’ การไปรษณีย์เป็นบริการสาธารณะ จำเป็นต้องมีระเบียบข้อบังคับเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการและเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินบริการทราบและถือปฏิบัติ เมื่อเปิดการไปรษณีย์โทรเลขได้ประมาณ 2 ปีแล้ว รัฐบาลจึงได้ตรากฎหมายขึ้นในปี พ.ศ. 2428 เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติการไปรษณีย์ไทย จุลศักราช 1248’

ทั้งนี้ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงมีแก่กิจการไปรษณีย์ไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2526 กำหนดให้ วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น ‘วันสื่อสารแห่งชาติ’ และจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 โดยจัดร่วมกับงานครบรอบ 100 ปี การสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข และการเฉลิมฉลองปีการสื่อสารโลกของสหประชาชาติ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top