Tuesday, 1 July 2025
LITE TEAM

30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์นักประชาธิปไตย เสด็จสวรรคต

30 พ.ค. ของทุกปี เป็น ‘วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ น้อมรำลึกวันสวรรคตของล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 กษัตริย์นักประชาธิปไตย 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงศึกษาในระดับมัธยมที่วิทยาลัยอีตัน ประเทศอังกฤษ

จากนั้นทรงศึกษาต่อด้านวิชาการทหารที่โรงเรียนนายร้อยเมืองวูลิช และทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ เมื่อพ.ศ. 2461 เสด็จขึ้นครองราชย์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบพระราชสันตติวงศ์เมื่อพุทธศักราช 2467 

ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 (นับตามปฏิทินปัจจุบัน คือ พ.ศ. 2469) และทรงสละราชสมบัติขณะประทับที่ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (พ.ศ. 2478 ตามปฏิทินปัจจุบัน) เนื่องด้วยความคิดเห็นที่ขัดแย้งทางการเมืองบางประการ

หลังจากนั้นได้ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษจนกระทั่งสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2484 ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นการส่วนพระองค์อย่างเรียบง่าย ปราศจากพิธีการใด ๆ ที่สุสานโกลเดอร์ส กรีน (Golders Green)

กระทั่งในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมมหาราชวัง ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีทักษิณานุปทานอุทิศถวายตามพระราชประเพณี

หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิ ซึ่งอยู่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนพระบรมสรีรางคารนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุไว้ที่พระพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสภายในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

พระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ การฉลองพระนครครบ 150 ปี รัชกาลที่ 7 เสด็จฯเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและสะพานพุทธฯ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 และในปีเดียวกันนี้เอง พระองค์ยังทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรครั้งแรกในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศชาติและประชาชน ทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และศาสนา

พระราชดำริที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การพัฒนาการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยทรงพระกรุณาให้มีการเตรียมร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานแก่ชาวไทยทั้งมวล แม้จะยังมิได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในปี พ.ศ. 2475

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลังอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในปลายปีพ.ศ. 2544

สถาบันพระปกเกล้าจึงมีความเห็นว่า สมควรที่จะเสนอให้มี วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้น สถาบันฯ จึงแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยมี นายทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา เป็นประธาน คณะทำงานชุดดังกล่าวนี้ มีมติว่า สมควรกำหนดให้วันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 7 คือ วันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น 'วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว' ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดวันที่ 30 พฤษภาคมของทุกปีเป็น 'วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว'

28 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนญี่ปุ่นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ

ในช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และหนึ่งในประเทศที่พระองค์เลือกเสด็จพระราชดำเนินเยือน คือ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2506

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 ในหลวง ร.9 และ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ไปยังพระราชวังอิมพีเรียล และทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระราชินีแห่งญี่ปุ่น ในโอกาสนี้ พระองค์ได้ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นมงคลยิ่ง ราชมิตราภรณ์ แด่สมเด็จพระจักรพรรดิและเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรี บรมราชวงศ์ แด่สมเด็จพระราชินี 

หลังจากนั้นสมเด็จพระจักรพรรดิทรงจัดงานถวายพระกระยาหารค่ำ ณ พระบรมมหาราชวังอิมพีเรียล และทรงมีพระดำรัสต้อนรับ จากนั้นทรงเชิญชวนดื่มถวายพระพร

26 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมผู้อพยพชาวเขมรเป็นการฉุกเฉิน

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมผู้อพยพชาวเขมรที่ลี้ภัยสงครามที่ บ.เขาล้าน ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เป็นการฉุกเฉิน และมีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดสร้างศูนย์สภากาชาดไทยขึ้นที่บริเวณเขาล้านทันที เพื่อเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพ และดูแลผู้ป่วยเจ็บ โดยเน้นในด้านสุขภาพอนามัย รวมถึงการให้การศึกษาแก่ชาวเขมรอพยพเหล่านั้นด้วย 

โดยมีพระราชเสาวนีย์ว่า “ฉันตัดสินใจที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เหล่านี้ เท่าที่กำลังความสามารถของฉันจะมี”

และในเวลาต่อมา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมผู้อพยพชาวกัมพูชาด้วยพระองค์เองอีกด้วย

ภายหลังจากการปิดศูนย์ช่วยเหลือฯ ได้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ 'ศาลาราชการุณย์' เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่ชาวไทยชายแดนและชาวเขมรอพยพ

25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเป็น ‘พระมหากษัตริย์วังหน้า’

วันนี้เมื่อ 174 ปีก่อน คือ วันพระราชพิธีราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ ในลำดับรัชกาลที่ 4 พระองค์ที่ 2

25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 หรือ พระมหากษัตริย์วังหน้า ทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2351 

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2394 ขุนนางผู้ใหญ่ได้กราบทูลเชิญ เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมติเทวาวงศ์พงษ์อิศรกษัตริย์ ซึ่งขณะนั้นได้ผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ให้เสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จากนั้นพระองค์ได้ทรงมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจุฬามณี ทรงมีพระปรีชาสามารถรอบรู้ในการพระนคร และการต่างประเทศ ตลอดจนขนบธรรมเนียมต่าง ๆ อีกทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีนิยมนับถือมาก จึงโปรดเกล้าให้จัด พระราชพิธีอุปราชาภิเษก ขึ้นเป็น พระมหาอุปราช พระราชวังบวรสถานมงคล 

พร้อมทั้งพระราชทานพระนามอย่างพระเจ้าแผ่นดินว่า พระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระเกียรติยศเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดิน เหมือนเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกย่องสมเด็จพระเอกาทศรถ ราชอนุชามหาอุปราชครั้งกรุงเก่า 

ชาวต่างประเทศรู้จักพระองค์ในนาม 'the second king' พระราชพิธีอุปราชาภิเษกให้มีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์นี้ เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมา สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และปฏิรูประบบการปกครองใหม่ ให้มกุฎราชกุมารเป็นผู้สืบต่อราชสมบัติ

24 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ‘ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก’ สร้างประวัติศาสตร์ คว้ามงกุฎนางงามจักรวาลเป็นคนที่ 2 ของไทย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 หรือวันนี้ 37 ปีที่แล้ว ประเทศไทยได้กลายเป็นที่รู้จักของชาวโลกอีกครั้ง กับการขึ้นไปคว้าตำแหน่งนางงามจักรวาลคนที่ 37 ของ ‘ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก’ ตัวแทนสาวงามจากประเทศไทย

ซึ่งเธอถือเป็นตัวแทนชาวไทยคนที่ 2 ที่ได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาล หลังจาก ‘อาภัสรา หงสกุล’ นางงามจักรวาลชาวไทยคนแรกที่ชนะการประกวดนางงามจักรวาลในปี ค.ศ. 1965 หรือ พ.ศ. 2508

สำหรับการประกวดนางงามจักรวาล ค.ศ. 1988 หรือ พ.ศ. 2531 จัดขึ้น ณ เมืองไทเป เกาะไต้หวัน โดยมีผู้เข้าประกวด 66 คน ซึ่งตัวเก็งการประกวดในสายสื่อมวลชน คือ นางงามสหรัฐอเมริกา นางงามเม็กซิโก นางงามสาธารณรัฐโดมินิกัน นางงามนิวซีแลนด์ และนางงามของไทย รวมถึงนางงามจากไอซ์แลนด์ ที่เคยได้รับตำแหน่งรองอันดับ 2 มิสเวิลด์ 1987 ที่ อังกฤษ มาแล้ว ซึ่งก็พ่ายให้กับสาวในแถบเอเชีย ในการประกวดรอบแรก

ทั้งนี้ ภรณ์ทิพย์ สามารถทำคะแนนในชุดว่ายน้ำได้ลำดับที่ 11 แต่เมื่อรวมคะแนนจากชุดราตรีและการสัมภาษณ์แล้ว สามารถเข้ารอบ 10 คนสุดท้ายมาในลำดับที่ 4 โดยมีคะแนนตามหลัง นางงามสหรัฐอเมริกา นางงามสาธารณรัฐโดมินิกัน และนางงามเกาหลีใต้ ซึ่งในการประกวดรอบ 10 คน เธอได้สร้างความประทับใจให้กับกรรมการอย่างมาก ระหว่างช่วงการประกวดรอบสัมภาษณ์ซึ่งทำให้เธอกวาดชัยชนะทั้ง 3 รอบ และกลายเป็นผู้ชนะอย่างขาดลอยของการประกวดนางงามจักรวาลในปีนั้น และนอกจากได้รับมงกุฎนางงามจักรวาลแล้วยังได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมอีกตำแหน่งเพิ่มด้วย

นอกจากนี้ เธอยังเป็นนักธุรกิจ และได้ดำรงตำแหน่งผู้แทนองค์การสหประชาชาติ สำหรับโครงการช่วยเหลือเด็กและสตรีในระดับนานาชาติ รวมถึงเป็นประธานตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กอีกหลายแห่ง

23 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 รัชกาลที่ 10 ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ 'โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ'

ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ไปทรงประกอบพิธี วางศิลาฤกษ์ พร้อมพระราชทานนาม 'โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ' ณ บ้านปลาดุก หมู่ 3 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

สำหรับโรงพยาบาลแห่งนี้ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลสงฆ์ต้นแบบ เพื่อบำบัดโรคาพาธ ดูแลสุขภาพพระภิกษุสามเณร และดูแลสุขภาพประชาชนผู้ด้อยโอกาส ในชนบทของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด

เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา พระสงฆ์ในชนบทของประเทศไทย เวลาอาพาธจะเข้ารับการบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลท้องถิ่นในอำเภอ หรือในจังหวัดของตนปะปนและแออัดกับคนไข้คฤหัสถ์ ซึ่งมีจำนวนมากอยู่แล้วจนเตียงและห้องไม่เพียงพอ อันเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญก็จะเข้าไปรับการบำบัดที่โรงพยาบาลสงฆ์ในกรุงเทพฯ ซึ่งก็มักจะมีปัญหาในเรื่องหาที่พำนักก่อนเข้าโรงพยาบาล รวมถึงปัญหาค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น ค่าพาหนะและภัตตาหารตลอดถึงจะต้องหาพระเถระผู้ใหญ่ให้การรับรองเข้าโรงพยาบาลเป็นต้น

ปัญหาเรื้อรังตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็คือ พระสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในประเทศ ต่างประสบความเดือดร้อนในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น พระสงฆ์และประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงต้องการให้มี 'โรงพยาบาลสงฆ์' ขึ้น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อขจัดขั้นตอนปัญหาต่าง ๆ ในการบำบัดอาพาธของพระสงฆ์ และเพื่อแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลท้องถิ่น ในการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บของประชาชนในชนบทด้วย แต่ความต้องการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว ยังมิได้รับการสนองตอบจากรัฐบาล เนื่องจากภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ คณะสงฆ์และประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเห็นควรรณรงค์ประชาชนร่วมกันบริจาคต้นทุนก่อสร้างตามกำลัง ก่อนที่จะได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งยังเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทราบถึงปัญหาและทรงตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลนี้ เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ ในมหามงคลเฉลิมพระชนม 50 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2545 พร้อมพระราชทานนามโรงพยาบาลนี้ว่า 'โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ'

22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 วันสวรรคต สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระองค์ทรงเป็นพระอัครมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมเหสีพระองค์แรกตามแบบยุโรปและระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย หลังจากพระราชสวามีสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2477 พระองค์ประทับอยู่ประเทศอังกฤษจวบจนพระราชสวามีเสด็จสวรรคต และเสด็จนิวัติกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2492 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลในขณะนั้น

ในอดีตกล่าวกันว่าพระองค์เป็นสตรีชาวไทยที่ทรงพระสิริโฉมสามารถเลือกฉลองพระองค์ยุโรปมาสวมใส่ได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังมีพระจริยวัตรนุ่มนวล พระพักตร์แจ่มใส แย้มพระสรวลอยู่เนืองนิตย์ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ประสบกับโลกธรรมและความสูญเสียอันใหญ่ยิ่งมาแล้ว

พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะพระบรมราชินีในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังหัวเมือง รวมทั้งต่างประเทศเพื่อเป็นการเชื่อมพระราชไมตรีระหว่างประเทศ ภายหลังการนิวัติประเทศไทยหลังการสวรรคตของพระราชสวามีแล้ว พระองค์ได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชหลายครั้ง 

เมื่อเสด็จย้ายไปประทับ ณ จังหวัดจันทบุรี ทรงดำเนินกิจการในด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และทรงพัฒนาการทอเสื่อ เพื่อเป็นโครงการตัวอย่างและนำความรู้นั้นออกเผยแพร่แก่ประชาชน นอกจากนี้ พระองค์ยังมีส่วนในการพัฒนาการสาธารณสุขและการศึกษาของชาวจันทบุรี โดยรับเป็นพระราชภาระในการปรับปรุงโรงพยาบาลพระปกเกล้า รวมทั้งทรงตั้งมูลนิธิพระปกเกล้าเพื่อสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

พระองค์ทรงเริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคความดันพระโลหิตสูง ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 และวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เวลา 15.50 นาฬิกา พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายโดยพระอาการสงบ ณ พระตำหนักวังศุโขทัย รวมพระชนมายุได้ 79 พรรษา 5 เดือน 2 วัน

19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 วันสิ้นพระชนม์ ‘กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์’ ชาวไทยถือเอาวันนี้ของทุกปีเป็น 'วันอาภากร'

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระราชโอรสองค์ที่ 28 ในรัชกาลที่ 5 ทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ในขณะที่ประทับอยู่ที่หาดทรายรีปากน้ำเมืองชุมพร พระองค์ทรงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณและรักษาโรคแก่คนทั่วไป จึงเรียกพระองค์ว่า 'หมอพร' หรือ 'เตี่ย' 

ต่อมาทหารเรือได้เรียกพระองค์ว่า 'เสด็จเตี่ย' นอกจากนี้พระองค์ทรงริเริ่มวางรากฐานกิจการทหารเรือไทย กองทัพเรือจึงพร้อมใจกันถวายสมัญญาพระนามแด่พระองค์ท่านว่า 'พระบิดาแห่งทหารเรือไทย' และถือเอาวันที่ 19 พฤษภาคมเป็น 'วันอาภากร'

18 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 ร.9 ทรงกลัดปีกนักกระโดดร่มกิตติมศักดิ์ ให้ ร.10 ที่ทรงเข้ารับการฝึกเยี่ยงกำลังพลทั่วไปของตำรวจพลร่ม

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงกลัดปีกกระโดดร่มกิตติมศักดิ์ที่กรมตำรวจทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน (ขณะดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร) ณ ห้องประชุมค่ายนเรศวร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2514

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสนพระทัยในกิจการด้านการกระโดดร่ม ทั้งรายละเอียดทางเทคนิคและทางทฤษฎี และทรงเข้ารับการฝึกเยี่ยงกำลังพลทั่วไปของตำรวจพลร่มครบถ้วนตามหลักสูตร ตลอดระยะเวลาของการฝึกฝน

17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเปิด 'เขื่อนภูมิพล' เขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย

วันนี้ เมื่อ 61 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ทรงเปิด 'เขื่อนภูมิพล' (เขื่อนยันฮี) เขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย และเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้งขนาดใหญ่ที่สูงที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ที่ให้ประโยชน์ทั้งด้านการเกษตรและเป็นจุดเริ่มต้นโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ของประเทศ 

โดยมีพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสเสด็จฯ ประกอบพิธีเปิดเขื่อนภูมิพล ความว่า “ข้าพเจ้าเห็นพ้องกับรัฐบาลว่า โครงการอเนกประสงค์โครงการแรกของประเทศไทยนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจก้าวใหม่ให้ไพศาลออกไป ปัจจุบันน้ำเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงชีวิต และน้ำกับไฟฟ้าส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชีวิต เมื่อพลเมืองเพิ่มมากและเร็ว ก็ต้องเพิ่มน้ำและไฟฟ้าให้ทันความต้องการของพลเมือง”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top