Tuesday, 10 December 2024
LITE TEAM

1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 วันสวรรคต ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เสด็จทรงพระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ปีชวด ฉศก จุลศักราช 1166 ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 มีพระนามเดิมว่า ‘เจ้าฟ้ามงกุฎ’ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย และที่ 2 ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด) และทรงเป็นพระราชนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สถาปนา พระบรมราชจักรีวงศ์และสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี

เมื่อ พ.ศ. 2367 ได้เสด็จออกผนวชเป็นเวลา 27 พรรษา ระหว่างทรงอยู่ในสมณเพศ ได้สนพระราชหฤทัยศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ปรากฏในพงศาวดารว่า ได้เป็นเปรียญ ในพ.ศ.  2394 ได้ทรงลาผนวชเนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ และเสนาบดีผู้ใหญ่ ได้อัญเชิญให้เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันพุธ เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีกุน จุลศักราช 1213 ตรงกับวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามตามที่เฉลิมพระบรมนามาภิไธย จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธิสมมติเทพยพงษ์ วงษาดิศวร กระษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาษ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นเวลา 17 ปี 6 เดือน เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระชนมพรรษา 65 พรรษา มีพระราชโอรส 39 พระองค์ และพระราชธิดา 43 พระองค์

30 กันยายน พ.ศ. 2395 วันก่อตั้ง ‘กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย’ โรงเรียนประจำแห่งแรกของสยาม

วันนี้เมื่อ 172 ปีก่อน ถือเป็นวันก่อตั้ง ‘กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย’ โรงเรียนมิชชันนารีชาย ที่เป็นแบบเรียนประจำแห่งแรกของสยาม

ย้อนกลับไป เมื่อปี พ.ศ. 2380 คริสตจักรเพรสไบทีเรียนในอเมริกา ได้จัดตั้งคณะกรรมการแผนกต่างประเทศขึ้น คณะกรรมการใหม่นี้ได้จัดส่งมิชชันนารีมายังประเทศสยามตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2383 มิชชันนารีเพรสไบทีเรียนคนสำคัญ ได้แก่ ศาสนาจารย์สตีเฟน แมตตูน, ศาสนาจารย์ ดร.ซามูเอล อาร์. เฮาส์, ศาสนาจารย์ ดร.แดเนียล แมคกิลวารี, ศาสนาจารย์ เอส. จี. แมคฟาร์แลนด์ เป็นต้น ท่านเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งคริสตจักรเพรสไบทีเรียนแห่งแรกในสยามและสภาคริสตจักรในประเทศไทยในเวลาต่อมา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2394 สถานการณ์ของมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนในแดนสยามก็ดีขึ้นมาก พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เช่าที่ดินระยะยาวที่กุฎีจีน ใกล้ ๆ บริเวณวัดอรุณราชวราราม โดยเริ่มแรกในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2395 นางแมรี่ แอล แมตตูน ได้เริ่มต้นสอนหนังสือแก่ เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง ในละแวกนั้น จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2395 มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน โดยศาสนาจารย์ ดร.ซามูเอล เรโนลด์ เฮ้าส์ และศาสนาจารย์สตีเฟน แมตตูน ได้ก่อตั้งโรงเรียนที่ทำการสอนตามแบบสากล เพื่อให้เด็กสยามและเด็กเชื้อสายจีนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ทันสมัยตามแบบตะวันตก โดยตั้งชื่อโรงเรียนว่า ‘โรงเรียนคริสเตียนบอยส์สกูลที่กุฎีจีน’ (กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) และมีซินแสกีเอ็ง ก๋วยเซียน เป็นครูใหญ่

คริสเตียนบอยส์สกูลที่กุฎีจีน (กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) ถือเป็นโรงเรียนประจำแห่งแรกในสยามและยังเป็นโรงเรียนแรกที่มีการนำระบบการศึกษาสากลมาใช้อีกด้วย

‘คริสเตียนบอยส์สกูลที่กุฎีจีน’ ถือเป็นสถาบันการศึกษาแบบสากลแห่งแรกในสยาม มีอาคารและห้องเรียนเป็นหลักแหล่ง มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ชัดเจน ซึ่งนอกจากจะเรียนหัดอ่านหัดเขียนแล้ว ยังมีวิชาคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ และการสอนทางศาสนา นอกจากนี้มิชชันนารียังได้ริเริ่มให้มีการตรวจสุขภาพเด็ก ๆ ก่อนเข้าเรียน นับว่าเป็นมาตรการทางสาธารณสุขที่ก้าวหน้ามากในสมัยนั้น

ปี พ.ศ. 2400 คณะมิชชันนารีเริ่มตั้งหลักปักฐานที่สำเหร่ ได้มีการสร้างพระวิหาร โรงเรียน โรงพิมพ์ บ้านพักมิชชันนารี โกดังเก็บของ ต่อมาได้ย้ายโรงเรียนจากกุฎีจีนมายังสำเหร่ใช้ชื่อว่า ‘สำเหร่บอยส์สกูล’ ที่โรงเรียนแห่งนี้มีขุนนางผู้ใหญ่จนถึงพระเจ้าแผ่นดินให้ความร่วมมือสนับสนุน ส่งเด็ก ๆ มาเล่าเรียนหนังสือ ซึ่งมีทั้งเจ้านาย 2 พระองค์ ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของรัชกาลที่ 4 และพระราชนัดดาของรัชกาลที่ 3 บุตรชายของอัครมหาเสนาบดี บุตรชายของพวกมหาดเล็กมาเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่สำเหร่ 

นอกจากนี้ชาวบ้านก็ส่งลูกหลานมาเรียน โดยพวกที่อยู่ไกลก็ได้เป็นนักเรียนประจำ กินนอนอยู่ที่โรงเรียน ส่วนใหญ่เด็กเหล่านี้จะตอบแทนโรงเรียนด้วยในการช่วยทำงานต่าง ๆ มากกว่าจะจ่ายเงินเป็นค่าเล่าเรียน ในปี พ.ศ. 2402 นายชื่นได้รับเชื่อเป็นคริสเตียนในคณะเพรสไบทีเรียนคนแรกและเป็นครูสอนภาษาไทยคนแรกของโรงเรียนที่สำเหร่ในเวลาต่อมา

ในขณะที่กิจการของโรงเรียนกำลังดำเนินไปดี โรงเรียนกลับต้องประสบกับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนครู อันเนื่องมาจากปัญหาความไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศเขตร้อนและมลพิษจากโรงสีในบริเวณนั้น ครูหลายคนล้มป่วยจนต้องเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน คณะมิชชันนารีได้ขอความช่วยเหลือไปยังอาจารย์จอห์น แอนเดอร์สัน เอกิ้น ซึ่งเปิดโรงเรียน ‘บางกอกคริสเตียนไฮสกูล’ อยู่ที่กุฎีจีน (โรงเรียนแห่งนี้ตั้งขึ้นหลังจากโรงเรียน ‘คริสเตียนบอยส์สกูล’ ของศาสนาจารย์แมตตูนที่กุฎีจีน 36 ปี (ปี พ.ศ. 2431)) อาจารย์เอกิ้นจึงตัดสินใจย้ายโรงเรียนของตัวเองมารวมกันเมื่อปี พ.ศ. 2433 โดยมาสร้างตึกเรียนใหม่ให้ใหญ่โตกว้างขวางขึ้น เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นปูน ชั้นบนเป็นไม้หลังคามุงกระเบื้องตั้งชื่อว่า ‘สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสกูล’

แม้จะรวมโรงเรียนส่วนตัวที่กุฎีจีน ‘บางกอกคริสเตียนไฮสกูล’ และโรงเรียนของมิชชันที่สำเหร่ ‘สำเหร่บอยส์สกูล’ จนมีขนาดใหญ่โตโดยใช้ชื่อว่า ‘สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสกูล’ ผู้บริหารวิสัยทัศน์ไกลเช่นอาจารย์จอห์น เอ. เอกิ้น ยังได้ตระหนักว่าโรงเรียนควรจะมีที่ตั้งบริเวณฝั่งพระนครเพื่อความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ท่านจึงหารือกับอาจารย์เจ. บี. ดันแลป ในการหาซื้อที่ดินใหม่ 

ต่อมาคณะมิชชันนารีได้ตกลงซื้อที่ดินของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีที่ถนนประมวญ ย่านสีลม โดยใช้เงินที่ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ในปี พ.ศ.2445 โรงเรียนชายในระบบสากลโรงเรียนแรกในสยามก็ถือกำเนิดขึ้น โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ‘กรุงเทพคริสเตียนไฮสกูล’ นอกจากโรงเรียนแห่งใหม่บนถนนประมวญจะดำเนินการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างจริงจังแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการอบรมเชิงจริยธรรมและความมีระเบียบวินัย มาตรฐานการศึกษาที่สูงทำให้โรงเรียนได้รับการยกระดับขึ้นเป็นวิทยาลัยในปีพ.ศ. 2456 และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย’

29 กันยายน พ.ศ. 2566 ‘กองทัพเรือไทย’ ต้อนรับ ‘ทัพเรือแคนาดา’ เยือนประเทศไทย เสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 66 ฐานทัพเรือสัตหีบ ให้การต้อนรับ เรือ HMCS OTTAWA เนื่องในโอกาสเดินทางมาเข้าจอดตามกิจวัตรปกติ ระหว่างวันที่ 29 กันยายน 2566 - 6 ตุลาคม 2566 ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 

สำหรับ เรือหลวงของประเทศแคนาดา ที่ชื่อว่า ‘ออตตาวา’ (Ottawa) เป็นหนึ่งในเรือฟริเกต ชั้นฮาลิแฟ็กซ์ ของกองทัพเรือแคนาดา ซึ่งมีทั้งหมด 12 ลำ จะจอดเทียบท่าที่ประเทศไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่มีอย่างต่อเนื่อง 

โดยเรือหลวงออตตาวา มาพร้อมกับเฮลิคอปเตอร์ ประจำการบนเรือ รุ่นไซโคลน ซีเอช-148 (CH-148 Cyclone) ที่พร้อมปฏิบัติการ อีกทั้งยังมีทหารเรือ ทหารบก และนักบิน ซึ่งล้วนได้รับการฝึกฝนขั้นสูงและมีความเป็นมืออาชีพ ประจำเรือ รวม 250 นาย พร้อมทั้งมีการติดตั้งระบบอาวุธและเซนเซอร์สำหรับการปราบเรือดำน้ำ การรบผิวน้ำด้วย

24 กันยายน วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันไทย

‘วันมหิดล’ ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า ‘พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย’ คณะแพทยศาสตร์สิริราชพยาบาล ได้ขนานนามวันอันเป็นที่ระลึกสำคัญนี้ว่า ‘วันมหิดล’ เพื่อเป็นการถวายสักการะ

‘สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก’ ทรงพระราชสมภพวันที่ 1 มกราคม (ตามปฏิทินเก่าคือ ปี พ.ศ. 2434 แต่ตามปฏิทินใหม่คือ ปี พ.ศ. 2435) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระเชษฐา และพระเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา 7 พระองค์

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และเป็นพระอัยกาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10)

พระองค์มีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทย ประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า ‘กรมหลวงสงขลานครินทร์’ หรือ ‘พระราชบิดา’ และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า ‘เจ้าฟ้าทหารเรือ’ และ ‘พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย’ ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า ‘เจ้าฟ้ามหิดล’

หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์ทรงพระประชวร ต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. เมื่อพระชนมายุ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน

ด้วยความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่าง ๆ จากพระองค์ จึงได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุม

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493 และ ในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกัน นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศให้วัน ที่ 24 กันยายน ของทุกปีเป็น ‘วันมหิดล’ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในฐานะพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย

23 กันยายน ของทุกปี ‘วันภาษามือโลก’ (International Day of Sign Languages) ตระหนักถึงความสำคัญของภาษามือ-สิทธิผู้พิการทางการได้ยิน

23 กันยายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันภาษามือโลก’ โดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษามือ รวมไปถึงเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชนของคนหูหนวก

นอกจากนี้วันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1951 ก็เป็นวันก่อตั้งสมาคมคนหูหนวกโลก หรือ WFD ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงเลือกวันที่ 23 กันยายน เป็นวันภาษามือโลก (International Day of Sign Languages) โดยปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการในงานสัปดาห์คนหูหนวกแห่งชาติ ซึ่งจัดในปี ค.ศ. 2018

จุดประสงค์ในการก่อตั้งวันภาษามือโลก เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษามือ รวมไปถึงเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชนของคนหูหนวกด้วย โดยข้อมูลจากสมาคมคนหูหนวกโลก (WDF) เผยว่า ปัจจุบันมีผู้พิการทางการได้ยินมากกว่า 70 ล้านคนทั่วโลก และกว่า 80% อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา นั่นหมายความว่า มีภาษามือกว่า 300 ภาษาที่ใช้อยู่ตอนนี้ ซึ่งถือว่ามีความหลากหลายอย่างมาก และเราก็ไม่ควรมองข้ามภาษามือเหล่านี้

ภาษามือของแต่ละประเทศมีวิวัฒนาการที่เป็นอิสระจากกัน คนที่อยากเรียนภาษามือก็จะเข้าเรียนในโรงเรียนโสตศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนผู้พิการทางการได้ยิน ดังนั้นภาษามือของแต่ละประเทศก็จะแตกต่างจากกัน แม้แต่ประเทศที่มีภาษาพูดใกล้เคียงกันอย่างเช่น สหราชอาณาจักรกับสหรัฐอเมริกา ก็มีภาษามือที่แตกต่างกันลิบลับ จนใช้สื่อสารระหว่างกันไม่ได้ 

ในปีค.ศ. 1973 สมาคมคนหูหนวกโลก (World Federation of the Deaf) ริเริ่มเผยแพร่ชุดคำศัพท์ภาษามือมาตรฐานที่เรียกกันว่า ‘ภาษามือสากล’ เพื่อที่จะให้เป็นภาษากลางของภาษามือ เช่นเดียวกับภาษาเอสเปอรันโตที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นภาษากลางในโลกของภาษาพูด ทุกวันนี้ในการประชุมระดับนานาชาติ บางครั้งก็ใช้ภาษามือสากลเป็นภาษาหลัก

และเพื่อให้คนหูหนวกสามารถรับรู้ข่าวสารและสามารถเสพสื่อได้อย่างเข้าใจ ทำให้ในปัจจุบันรายการต่าง ๆ ทั้งรายการข่าวและสื่อบันเทิงมักมีล่ามภาษามือคอยบรรยายอยู่มุมล่างขวามือของจอเสมอ

20 กันยายน ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันเยาวชนแห่งชาติ’ รำลึกวันพระราชสมภพ 2 ยุวกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

วันที่ 20 กันยายนของทุกปี ถือเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 

โดยพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ได้ขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์ 

ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดวันที่ 20 กันยายน เป็นวันสำคัญหลายเหตุการณ์ เช่น 

- ปี พ.ศ. 2528 กำหนดให้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งตรงกับที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี 2528 เป็นปีเยาวชนสากล และเป็นวันพระราชสมภพและได้ขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์ของพระมหากษัตริย์ไทยทั้ง 2 พระองค์

- ปี พ.ศ. 2538 กำหนดเป็นวันอนุรักษ์และรักษาคูคลองแห่งชาติ เนื่องจากเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จประพาสทางเรือจากท่าน้ำสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปจนถึงประตูน้ำท่าไข่ จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมระยะทางทั้งสิ้น 72 กิโลเมตร ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง การเสด็จประพาสทางเรือครั้งนี้สร้างความปลื้มปีติแก่พสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นที่มาของความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่จะสืบสานปณิธาน และพระราชดำรัสของพระองค์ที่ว่า “คลองแสนแสบเป็นคลองสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สมควรได้รับการดูแลรักษาต่อไป”

- ปี พ.ศ. 2544 กำหนดให้เป็นวันรัฐวิสาหกิจไทย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

16 กันยายน พ.ศ. 2465 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 6’ พระราชทานที่ดินทรงสงวนที่สัตหีบ ก่อสร้าง ‘ฐานทัพเรือ’ เพื่อดูแลผลประโยชน์ชาติทางทะเล

วันนี้ เมื่อ 102 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ได้ขอพระราชทาน

ย้อนไป เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2465 หรือ 102 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ได้ขอพระราชทาน และกองทัพเรือสร้างฐานทัพเรือที่สัตหีบ ตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ

ฐานทัพเรือสัตหีบ เริ่มก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2457 ขณะที่เสด็จประพาสทางชลมารคเลียบฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี พระองค์ได้เสด็จฯ มาประทับในอ่าวสัตหีบ เพื่อทอดพระเนตรการซ้อมรบของกองทัพเรือด้วย

ในการเสด็จคราวนั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรหมู่บ้านสัตหีบ เห็นว่า เป็นชัยภูมิอันเหมาะที่จะตั้งเป็นฐานทัพเรือ จึงได้มีพระบรมราชโองการด้วยพระโอษฐ์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2457 แก่พระยาราชเสนาผู้แทนสมุหเทศาภิบาล มณฑลจันทบุรี และพระยาประชาไศรยสรเดช ผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี

ขณะทรงประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งว่า มีพระราชประสงค์ที่ดินฝั่งตำบลสัตหีบ และที่ใกล้เคียงตลอดทั้งเกาะใหญ่น้อยบรรดาที่มีอยู่ริมฝั่งน้ำ อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับใบเหยียบย่ำ หรือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินบนฝั่ง หรือเกาะที่สงวนไว้แล้วนั้นเป็นอันขาด

ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2465 พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ได้มีหนังสือไปกราบถวายบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานที่ดินตำบลสัตหีบที่ทรงสงวนไว้เพื่อจัดเป็นฐานทัพเรือ โดยทรงเน้นให้เห็นคุณและโทษ ของการจัดสัตหีบเป็นฐานทัพเรือไว้

ต่อมาทางกองทัพเรือจึงได้ก่อสร้างฐานทัพเรือ จนมาเป็นฐานทัพเรือสัตหีบ จวบจนถึงปัจจุบัน

15 กันยายน ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันศิลป์ พีระศรี’ เพื่อรำลึกถึง ‘ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี’ บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย ผู้ก่อตั้ง ‘มหาวิทยาลัยศิลปากร’

วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันศิลป์ พีระศรี’ เพื่อรำลึกถึง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ครูผู้อุทิศตนทั้งชีวิต เพื่อนักเรียนและศิลปะ

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีชื่อเดิมว่า CORRADO FEROCI เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci และมารดาชื่อ นาง Santina Feroci เมื่ออายุ 23 ปี สามารถสอบผ่านเป็นศาสตราจารย์ จากราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ (The Royal Academy of Art of Florence)

สำหรับเรื่องการศึกษานั้น ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เข้าศึกษาในระดับชั้นประถม เมื่อปี 2441 พอจบหลักสูตร 5 ปี ก็ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอีก 5 ปี หลังจากนั้นก็ได้เข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ จนจบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปี และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ในขณะที่มีอายุ 23 ปี หลังจากนั้นไม่นานก็รับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์ ที่มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ วิจารณ์ศิลป์และปรัชญา นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมอีกด้วย

เมื่อปี 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป ซึ่งผลการประกวดครั้งนี้เองที่ทำให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เดินทางมารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และในวันที่ 14 มกราคม 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา

จนกระทั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 2484 ประเทศอิตาลียอมพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้ชาวอิตาเลียนที่อาศัยอยู่ภายในประเทศไทยตกเป็นเชลยของประเทศเยอรมนีกับญี่ปุ่น แต่รัฐบาลไทยได้ขอควบคุมตัวศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ไว้เอง ก่อนที่จะให้หลวงวิจิตรวาทการ ดำเนินการเดินเรื่องขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘นายศิลป์ พีระศรี’ เพื่อป้องกันมิให้ต้องถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกไปสร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี

สำหรับการวางรากฐานการศึกษา ในช่วงแรก ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้จัดตั้ง ‘โรงเรียนประณีตศิลปกรรม’ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง’ เมื่อปี 2480 ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรม และในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งให้แยกกรมศิลปากรออกจากกระทรวงศึกษาธิการ และให้มาขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีแทน เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้ พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้น ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและตราพระราชบัญญัติ เพื่อยกฐานะ ‘โรงเรียนศิลปากร’ ขึ้นเป็น ‘มหาวิทยาลัยศิลปากร’ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 

โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้อำนวยการสอนและดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก และคณะวิชาเดียวที่มีการเปิดสอน คือ คณะจิตรกรรมประติมากรรม (สาขาจิตรกรรมและสาขาประติมากรรม)

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระราชานุสาวรีย์ และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทย อาทิ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ปี 2475), อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ปี 2477), พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (ปี 2484) และพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช (ปี 2493-2494) เป็นต้น

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีประโยคที่มักใช้สอนนักเรียนอยู่เสมอว่า "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่า ชีวิตของมนุษย์ช่างแสนสั้นนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการยืนยงคงอยู่ของศิลปกรรมที่จะยืนยงคงอยู่ยาวนานนับร้อยนับพันปี หรือประโยคที่ว่า "นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร" เพื่อเตือนใจลูกศิษย์ให้หมั่นศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะความรู้ใหม่ ๆ 

และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน

14 กันยายน พ.ศ. 2485 คนไทยร่วมใจ ‘ยืนตรงเคารพธงชาติ’ วันแรก ต้นแบบที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

“ธงชาติและเพลงชาติไทย…เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย…เราจงร่วมใจกันยืนตรงเคารพธงชาติ…ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราชและความเสียสละของบรรพบุรุษไทย…” 

นี่คือเสียงเชิญชวนให้ยืนตรง ‘เคารพธงชาติ’ ที่ฟังกันจนคุ้นหู และปฏิบัติกันจนเป็นกิจวัตร โดยเราจะยืนเคารพธงชาติเมื่อถึงเวลา 8.00 น. และ 18.00 น. โดยทำติดต่อกันเป็นจริงเป็นจังมา 82 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2485) ทั้งที่ประเทศไทยมีการใช้ธงชาติมานาน เฉพาะธงไตรรงค์ที่ใช้เป็นธงชาติในปัจจุบันก็มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว

เหตุใดคนไทยจึงยืนเคารพธงชาติ?

ต้องย้อนกลับไปในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ออกกฎกระทรวงมหาดไทยเรื่อง ระเบียบการชักธงชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่กำหนดถึงระเบียบในการชักธงและการประดับธงชาติ แต่การยืนเคารพธงชาติก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก

แต่ความสำเร็จในการยืนเคารพธงชาตินั้น เกิดจากรายการวิทยุกระจายเสียง ‘นายมั่น-นายคง’ ซึ่งผู้ดำเนินการทั้ง 2 คนจะสนทนากับผู้ฟังทางบ้านในประเด็นต่าง ๆ (วิทยุเป็นเครื่องมือโฆษณาที่สำคัญของรัฐบาลในเวลานั้น) โดยการออกอากาศวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2485 ได้เชิญชวนและนัดหมายกับประชาชนให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันว่า…

“เวลา 8.00 น. นับตั้งแต่เช้าวันพรุ่งนี้เปนต้นไปผู้ที่มีเครื่องรับวิทยุ ก็ขอได้โปรดเปิดไห้ดัง ๆ ด้วย เพื่อเพื่อนบ้านไกล้เรือนเคียง และคนสัญจรไปมาจะได้ยินทั่ว ๆ กัน…

“สิ่งแรกฉันหยากขอไห้ยุวชนช่วยฉันไห้พร้อมเพรียง เมื่อเวลาประกาสไห้เคารพทงชาติไห้ทำทุกคนเปนการเคารพชาติที่มีคุนแก่เรา และไห้บอกคนไนบ้านทุกคนทำการเคารพด้วยบอกว่าทงชาติยังหยู่ชักขึ้นแล้ว เอกราชของไทยยังบุญมั่นขวันยืนดี เราต้องพร้อมไจกันทำการเคารพทั่วทั้งชาติ และไนเวลาเดียวกันแหละ…

“ฉันเชื่อมั่นว่าการเคารพทงชาติคราวหน้านี้จะสำเหร็ดได้ด้วยความรักชาติของยุวชนเปนสำคัน ทำตามนี้เรียกว่ายุวชนสร้างชาติ”

13 กันยายน พ.ศ. 2425 วันประสูติ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ ผู้ปรีชาสามารถด้านดนตรี นิพนธ์เพลงอมตะ ‘ลาวดวงเดือน’

ครบรอบ 142 ปี ประสูติกาล ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ พระราชโอรสพระองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชสกุลเพ็ญพัฒน เป็นผู้นิพนธ์เพลงลาวดวงเดือน

‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ พระนามเดิม พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดามรกฎ ในรัชกาลที่ 5 ธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ประสูติเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2425 เสด็จไปศึกษาทางด้านเกษตรศาสตร์จากประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2446 ขณะพระชันษา 20 ปี กลับมารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ

ในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและทอผ้าของประเทศ โดยได้ว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ทดลองเลี้ยงไหมตามแบบฉบับของญี่ปุ่น สอนและฝึกอบรมนักเรียนไทยในวิชาการเลี้ยงและการทำไหม พร้อมกับสร้างสวนหม่อนและสถานีเลี้ยงไหมขึ้นที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพ ทรงจัดตั้งกองช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ 

ต่อมา วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2446 กระทรวงเกษตราธิการได้รวมกองการผลิต, กองการเลี้ยงสัตว์ และกองช่างไหม ตั้งขึ้นเป็น ‘กรมช่างไหม’ โดยมี พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ เป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก นับว่ามีพระกรณียกิจในการวางรากฐานเรื่องไหมไทย โดยตั้งโรงเรียนและโรงเลี้ยงไหมขึ้นที่กรุงเทพฯ นครราชสีมา และบุรีรัมย์

งานหลักของกรมช่างไหม คือ การดำเนินงานตามโครงการของสถานีทดลองเลี้ยงไหม เริ่มด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นในพระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2446 และเปิดโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ปทุมวัน เรียกว่า ‘โรงเรียนกรมช่างไหม’ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2447 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาวิจัย และฝึกพนักงานคนไทยขึ้นแทนคนญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงสนพระทัยดนตรีไทย โปรดให้มีวงปี่พาทย์วงหนึ่ง เรียกกันว่า ‘วงพระองค์เพ็ญ’ พระองค์ยังทรงเล่นดนตรีได้หลายชนิด และทรงเป็นนักแต่งเพลงที่สามารถ เมื่อครั้งเสด็จกลับจากประเทศอังกฤษ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมได้เสด็จไปนครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2446 ทรงชอบพอกับ เจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่ พระธิดาใน เจ้าราชสัมพันธวงศ์ ธรรมลังกา ณ เชียงใหม่, เจ้าราชสัมพันธวงศ์นครเชียงใหม่ กับเจ้าหญิงคำย่น (ณ ลำพูน) ณ เชียงใหม่ ได้โปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอ แต่ได้รับการทัดทาน ไม่มีโอกาสที่จะได้สมรสกัน ทำให้พระองค์โศกเศร้ามาก และได้ทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดำเนินเกวียน (หรือลาวดวงเดือน) ขึ้น เมื่อใดที่ทรงระลึกถึง เจ้าหญิงชมชื่น ก็จะทรงดนตรีเพลงนี้มาตลอดพระชนมชีพ

วังที่ประทับของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม เป็นบ้านของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) บิดาของเจ้าจอมมารดามรกฎ มีชื่อเรียกว่าวังท่าเตียน (เรียกชื่อตามสถานที่ตั้งวัง เช่นเดียวกับวังท่าเตียนหรือวังจักรพงษ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์) มีโรงละครอยู่โรงหนึ่ง ในสมัยนั้นเรียกกันว่า ปรินส์เทียเตอร์

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงศักดินา 15000

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ผู้เป็นต้นราชนิกุล ‘เพ็ญพัฒน์’ มีพระพลามัยไม่สมบูรณ์นัก อาจจะเป็นเพราะพระทัยที่เศร้าสร้อยจากความผิดหวังเรื่องความรัก จึงมีพระชนมายุสั้นเพียง 28 พรรษา สิ้นพระชนม์ด้วยโรคปอดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452

และบังเอิญเสียเหลือเกิน ในปี 2453 เจ้าหญิงชมชื่นก็สิ้นชีพิตักษัยในวัยเพียง 21 ปีเท่านั้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top