Wednesday, 8 May 2024
LITE TEAM

20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันนี้เมื่อ 56 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเป็นทางการ และทรงปลูกต้นกาลพฤกษ์ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย 

ในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบพระบรมราโชวาทเนื่องในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า

"...การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนา ยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรจะยินดี..."

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอุดมศึกษาสถานแห่งแรก ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้กำเนิดของมหาวิทยาลัยจะมีแนวความคิดย้อนหลังไปได้ถึงก่อน สงครามโลกครั้งที่สอง แต่การเตรียมการก่อสร้างอย่างจริงจัง กระทำกันในรัฐบาล ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่เริ่ม พัฒนาภูมิภาคส่วนนี้ของประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2505 การลงมือก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2507 โดยมีมติจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ขึ้นที่บ้านสีฐาน จังหวัดขอนแก่น และเสนอชื่อสถาบันนี้ว่า มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Khon Kaen Institute of Technology มีชื่อย่อ K.I.T. โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ

ต่อมาในปีพ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อ เป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชบัญญัติ ‘มหาวิทยาลัยขอนแก่น’ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2509 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาของมหาวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 

มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค ตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินลูกคลื่นสีแดง มีชื่อเรียกว่า 'มอดินแดง' บนพื้นที่ประมาณ 5,500 ไร่ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และหน่วยงานเทียบเท่าคณะอีกจำนวนมาก

14 ธันวาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันลิงโลก’ สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ลิง

‘วันลิงโลก’ ตรงกับวันที่ 14 ธันวาคม ของทุกปี ถูกตั้งขึ้นโดย ‘Casey Sorrow’ และ ‘Eric Millikin’ นักศึกษาจาก Michigan State University ในปี 2000 ต่อมาวันดังกล่าวมีการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ลิง สัตว์โลกที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด

ลิงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับวานร มีมากกว่า 260 ชนิด อาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ลิงเป็นสัตว์ฉลาด โดยลิงและมนุษย์มีบรรพบุรุษร่วมกันมาก่อนที่จะมีวิวัฒนาการแยกตัวออกจากกัน

อย่างไรก็ตามลิงหลายสายพันธุ์ก็กำลังตกอยู่ในอันตราย เผชิญภัยคุกคามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกล่า การถูกทำลายแหล่งอาศัย และอื่น ๆ 

ในประเทศไทยมีลิงหลากหลายชนิด โดยมี 6 ชนิดที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง คือลิงกัง ลิงลม ลิงวอก ลิงเสน ลิงแสม ลิงอ้ายเงี้ยะ โดยห้ามจับล่า ห้ามค้า หรือครอบครอง

13 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงรับ ‘คุณทองแดง’ เป็นสุนัขทรงเลี้ยง

วันนี้ เมื่อ 25 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงรับ ‘คุณทองแดง’ เป็นสุนัขทรงเลี้ยง

คุณทองแดง เป็นลูกของ ‘แดง’ สุนัขจรจัดบริเวณซอยศูนย์แพทย์พัฒนา ถนนพระราม 9 เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงนำมาเลี้ยงหลังจากเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดศูนย์การแพทย์พระราม 9 และนายแพทย์คนหนึ่งนำคุณทองแดงมาทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตร คุณทองแดงเกิดหลังลูก ๆ ของคุณมะลิไม่กี่วัน และทรงยกให้คุณมะลิเลี้ยงดู ทองแดง มีพี่น้องรวม 7 ตัว ซึ่งชาวบ้านตั้งชื่อให้ว่าทองแดง เพศเมีย, คาลัว เพศเมีย, หนุน เพศเมีย, ทองเหลือง เพศผู้ ได้ไปอยู่บ้านของข้าราชบริพารคนหนึ่ง, ละมุน เพศเมีย, โกโร เพศเมีย, โกโส เพศเมีย

คุณทองแดงมีลักษณะพิเศษต่างจากลูกสุนัขตัวอื่น คือ มีสายสร้อยรอบคอครึ่งเส้น มีถุงเท้าขาวทั้ง 4 ขา มีหางม้วนขดเป็นวง ปลายหางดอกสีขาว และมีจมูกแด่น ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายตัวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ขณะมีอายุได้ 5 สัปดาห์ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงค้นในหนังสือว่า ‘คุณทองแดง’ มีลักษณะคล้ายคลึงกับสุนัขพันธุ์บาเซนจิ ซึ่งเป็นสุนัขพันธุ์โบราณ มีถิ่นกำเนิดทางแอฟริกาใต้ นิยมใช้งานในการล่าสัตว์ แต่ ‘คุณทองแดง’ มีขนาดตัวใหญ่กว่าสุนัขพันธุ์บาเซนจิทั่วไป พระองค์จึงทรงเรียกคุณทองแดงว่าเป็นสุนัขพันธุ์ไทยซูเปอร์บาเซนจิ ก่อนหน้านี้ทรงเรียกว่า เป็นสุนัขพันธุ์เทศ (ย่อมาจาก เทศบาล)

คุณทองแดงเป็นสุนัขทรงเลี้ยงตัวโปรดและปรากฏตัวตามสื่ออยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง 'ทองแดง’ หรือ ส.ค.ส. พระราชทาน โดยพระองค์ทรงฉายพระบรมรูปร่วมกับสุนัขทรงเลี้ยงต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2559 รวมไปถึงระหว่างที่พระองค์ประทับรักษาพระอาการประชวรที่โรงพยาบาลศิริราช ก็มีคุณทองแดงเฝ้าติดตามพระวรกายไม่ห่าง จนเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2558 หลังอายุได้ 17 ปี คุณทองแดงก็สิ้นลมหายใจด้วยโรคชรา ณ วังไกลกังวล

12 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน เลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและขบวนราบ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 15.30 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและขบวนราบ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ณ ท่าวาสุกรี

ในครั้งนั้น บรรยากาศตลอดเส้นทางขบวนเรือพระราชพิธี ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ตั้งแต่บริเวณท่าวาสุกรีจนถึงท่าราชวรดิฐ มีปวงชนชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ เฝ้ารอรับเสด็จเนืองแน่น

เพื่อสัมผัสบรรยากาศแห่งความงดงามของประเพณีและวัฒนธรรมไทยของริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติเพียงแห่งเดียวของโลก พร้อมกับการได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในเส้นทางเสด็จพระราชดําเนินเป็นเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้มาตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

4 ธันวาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันสิ่งแวดล้อมไทย’ วันที่ ในหลวง ร.9 ดำรัสถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

วันสิ่งแวดล้อมไทย ตรงกับวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เพื่อระลึกถึงพระราชดำรัสของของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม 

ประวัติของวันสิ่งแวดล้อมไทย เกิดจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ทรงมีพระราชดํารัสแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีใจความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงปัญหาการจัดการน้ำว่า

“สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และของโลกที่มีความรุนแรงขึ้น และทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนชาวไทยกําลังประสบอยู่ พร้อมทั้งตรัสเตือนพสกนิกรให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ มิใช่เพียงเพื่อประเทศไทยเท่านั้น หากเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของโลกด้วย”

กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี พ.ศ. 2534 ให้กำหนดวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันมีความสำคัญต่อชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยต้องร่วมมือกันปกป้อง รักษาให้คงอยู่สมบูรณ์ในประเทศอย่างยั่งยืนตลอดไป

3 ธันวาคม ของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็น ‘วันคนพิการสากล’

3 ธันวาคม ของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็น วันคนพิการสากล เพื่อส่งเสริมความเข้าใจต่อคนพิการและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการ

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็น 'วันคนพิการสากล' เพื่อรำลึกถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2525 ที่สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติรับรองแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ (World Programme of Action concerning Disabled Persons) พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เฉลิมฉลองวันคนพิการสากลทุกปี เพื่อขับเคลื่อนปฏิบัติการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยอยู่บนฐานของสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม และได้มาตรฐานในระดับสากล อนึ่ง ตั้งแต่ปี 2530 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อวันคนพิการในแต่ละปีด้วย เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ศักดิ์ศรีและความยุติธรรมเพื่อคนทั้งมวล ทุกเรื่องคนพิการต้องมีคนพิการ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจทางสถิติขององค์การสหประชาชาติ พบว่า กลุ่มประเทศแถบเอเชียและแปซิฟิกนี้มีจำนวนประชากรที่เป็นบุคคลพิการมากที่สุดในโลก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากปัญหาของความยากจน นอกเหนือจากนั้นก็เป็นเพราะสาเหตุของความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุและผลของสงคราม 

พร้อมกันนี้ทางคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ก็ได้มีแนวนโยบายที่จะเร่งผลักดันและส่งเสริมคนพิการให้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละชาติ ตั้งคณะกรรมการประสานงานให้ความร่วมมือช่วยเหลือคนพิการและองค์การต่าง ๆ ที่จะร่วมมือสร้างชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น ทั้งในระดับชาติและระดับสากล ตลอดจนเร่งพัฒนาส่งเสริมให้คนพิการทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับการฟื้นฟู บำบัดรักษา การศึกษา การฝึกฝีมือและอาชีพ หรือแม้กระทั่งมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ทั้งทางการกีฬา วัฒนธรรมประเพณีและสิ่งแวดล้อม

นอกจากงานในด้านสังคมแล้ว ในด้านอาชีพก็เช่นกัน จึงได้สนับสนุนคนพิการในด้านต่าง ๆ เช่น งานหัตถกรรม เป็นต้น ขายลอตเตอรี่ พนักงานรับโทรศัพท์ งานช่างต่าง ๆ เช่น ช่างไม้ ช่างกระจก เป็นต้น ทำให้คนพิการได้มีโอกาสประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้มากขึ้น

ส่วนงานที่เกี่ยวกับการศึกษานั้น นานาชาติก็มิได้ละเลย โดยให้โอกาสในการศึกษาของคนพิการด้านต่าง ๆ เช่น การให้ทุนเกี่ยวกับการศึกษาแก่คนพิการ และการผลิตอุปกรณ์ทางการศึกษาแก่คนพิการต่าง ๆ เช่น การผลิตเครื่องเรียงสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์และสแกนเนอร์ของคนตาบอด การผลิตลูกคิดสเลตและสไตลัสสำหรับคนตาบอด ทำให้คนตาบอดศึกษาหาความรู้ได้สะดวกขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังมีการจัดแปลหนังสือเรียนของคนปกติมาพิมพ์เป็นหนังสือเรียน เป็นตัวอักษรเบรลล์แก่คนตาบอดอีกด้วย

2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติยุบ 3 พรรคการเมือง ‘พลังประชาชน - ชาติไทย - มัชฌิมาธิปไตย’

วันนี้เมื่อ 15 ปีก่อน ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบ 3 พรรคการเมือง ‘พลังประชาชน - ชาติไทย - มัชฌิมาธิปไตย’ ปมทุจริตการเลือกตั้งปี 2550

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เวลา 12.00-13.32 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากกระทำผิดทุจริตการเลือกตั้ง เมื่อปี 2550 โดยศาลฯ มีคำสั่งให้ยุบพรรคทั้ง 3 พรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคเป็นจำนวน 37 คน, 43 คน, และ 29 คน ตามลำดับ มีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญคำสั่งให้ยุบพรรคสามารถสรุปได้ดังนี้

สำหรับกรณีของ ‘พรรคพลังประชาชน’ นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า กรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคกระทำการฝ่าฝืนและขัดต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ที่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต และได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่พรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคคนอื่น ๆ ต้องร่วมรับผิดชอบ

ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่าคำแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น เนื่องจากนายยงยุทธ เป็นนักการเมืองหลายสมัย มีฐานะเป็นถึงรองหัวหน้าพรรค และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ย่อมต้องเพิ่มความเข้มงวดที่จะไม่กระทำการใด ๆ อันฝ่าฝืนกฎหมาย แต่นายยงยุทธ ติยะไพรัช กลับกระทำผิดเสียเอง

นอกจากนี้กรณีที่พรรคพลังประชาชนโต้แย้งว่าได้จัดการประชุมชี้แจงเพื่อกำชับไม่ให้ผู้สมัครของพรรคกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งแล้วก็ตามนั้น ศาลเห็นว่าแม้พรรคจะมีการกระทำดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นความรับผิดในการที่กรรมการบริหารพรรคจะไปกระทำผิดเอง เพราะทำให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้มีผลบังคับใช้

ส่วนที่มีข้อโต้แย้งว่าผลการสืบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ละเมิดสิทธิและไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมนั้น ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า กกต.มีหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาล และได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายมาอย่างถูกต้องแล้ว

สำหรับกรณีของ ‘พรรคมัชฌิมาธิปไตย’ และ ‘พรรคชาติไทย’ ในการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของนายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตยและนายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรคชาติไทยนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินไปในทิศทางเดียวกันคือวินิจฉัยให้ยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้งแก่กรรมการบริหารพรรคคนละ 5 ปี

อย่างไรก็ดี ในส่วนข้อโต้แย้งของพรรคมัชฌิมาธิปไตยเกี่ยวกับสถานภาพการเป็นกรรมการบริหารพรรคนั้น ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่าแม้นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ จะได้ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคไปตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2550 อันจะมีผลให้กรรมการบริหารพรรคต้องพ้นสภาพไปด้วยก็ตาม แต่ยังมีข้อกำหนดที่ให้กรรมการบริหารพรรคต้องทำหน้าที่รักษาการต่อไปจนกว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะตอบรับการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น จึงถือว่านายสุนทร ยังคงทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย อยู่ในขณะเกิดเหตุ แม้จะมีสถานภาพเป็นเพียงผู้รักษาการก็ตาม อันเป็นเหตุให้การกระทำใด ๆ ของกรรมการบริหารพรรคที่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มีเหตุให้ต้องยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคดังกล่าว

1 ธันวาคม พ.ศ. 2487 ธนาคารกรุงเทพ เปิดให้บริการเป็นวันแรก

วันนี้เมื่อ 79 ปีก่อน ธนาคารกรุงเทพ เปิดทำการวันแรก ปัจจุบันเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 6 ของอาเซียน และเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์รวม

ธนาคารกรุงเทพเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2487 มีสำนักงานใหญ่แห่งแรกเป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหาในย่านราชวงศ์ ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร โดยเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ร่วมกับคุณหลวงรอบรู้กิจ มีทุนจดทะเบียน 4.0 ล้านบาท มีพนักงานรุ่นแรก 23 คน คณะกรรมการบริหารประกอบด้วย พล.อ.เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นประธาน และหลวงรอบรู้กิจ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกและเป็นผู้ริเริ่มสร้างฐานลูกค้าของธนาคารด้วยการบริการให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ธนาคารกรุงเทพได้ขยายสาขาไปต่างประเทศ แห่งแรกคือที่ ฮ่องกง ต่อมาได้ไปเปิดที่ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาได้ไปเปิดที่ สิงคโปร์

จากนั้น ในปี 2518 ธนาคารกรุงเทพ ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งนับเป็นธนาคารแห่งแรกของไทยที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย

ปัจจุบัน ธนาคารกรุงเทพ เป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในประเทศ มีสินทรัพย์ทั้งหมดประมาณ 3.80 ล้านล้านบาท มีสาขาทั้งหมดกว่า 1,135 สาขา เครื่องเอทีเอ็มกว่า 9,362 เครื่อง สาขาไมโคร (Micro Branch) ที่เปิดให้บริการ 7 วัน มีเครือข่ายสาขาต่างประเทศ 31 แห่ง ในเขตเศรษฐกิจสำคัญ 14 แห่ง นอกเหนือจากสาขาอีกประมาณ 300 แห่ง ของธนาคารเพอร์มาตา ประเทศอินโดนีเซีย ที่เข้ามาอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 (ข้อมูลเมื่อปี 2565)

30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ ‘กรมทหารเรือ’ เป็น ‘กองทัพเรือ’

วันนี้ เมื่อ 90 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ ‘กรมทหารเรือ’ เป็น ‘กองทัพเรือ’ ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม 

กองทัพเรือมีกำเนิดควบคู่มากับการสร้างอาณาจักรไทยนับตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กองทัพไทยในสมัยเดิมนั้นมีเพียงทหารเหล่าเดียวมิได้แบ่งแยกออกเป็นกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อย่างเช่นในสมัยปัจจุบัน หากยาตราทัพไปทางบกก็เรียกว่า ทัพบก หากยาตราทัพไปทางเรือก็เรียกว่า ทัพเรือ การจัดระเบียบการปกครองบังคับบัญชากองทัพไทยในยามปกติยังไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ในยามศึกสงครามได้ใช้ทหารทัพบกและทัพเรือรวม ๆ กันไป ในการ ยาตราทัพเพื่อทำศึกสงครามภายในอาณาจักรหรือนอกอาณาจักร ก็มีความจำเป็นต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการลำเลียงทหารและเครื่องศัสตราวุธ 

เรือนอกจากจะสามารถลำเลียงเสบียงอาหารได้คราวละมาก ๆ แล้ว ยังสามารถลำเลียงอาวุธหนัก เช่น ปืนใหญ่ ไปได้สะดวกและรวดเร็วกว่าทางบกด้วย จึงนิยมยกทัพไปทางเรือจนสุดทางน้ำแล้วจึงยกทัพต่อไปทางบก กิจการทหารเรือดำเนินไปเช่นนี้จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

พ.ศ. 2394 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการทหารเรือเริ่มแบ่งออกมาชัดเจน และแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ทหารเรือวังหน้า ขึ้นตรงกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กับทหารเรือวังหลวง หรือทหารมะรีนสำหรับเรือรบ ขึ้นตรงกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม โดยทหารเรือวังหน้ามีหน่วยขึ้นในสังกัด คือ กรมเรือกลไฟ กรมอาสาจาม และกองทะเล (บางทีเรียกว่ากองกะลาสี) ส่วนกรมอรสุมพลมีหน่วยขึ้นในสังกัด คือ กรมเรือกลไฟ กรมอาสามอญ และกรมอาสาจาม ซึ่งทหารทั้งสองหน่วยนี้เป็นอิสระจากกัน

พ.ศ. 2408 ในสมัยต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปกครองประเทศยังเป็นระบบจตุสดมภ์อยู่โดยมีกรมพระกลาโหมว่าการฝ่ายทหาร ในขณะนั้นกิจการฝ่ายทหารเรือแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ทหารเรือวังหน้า หรือทหารเรือฝ่ายพระราชวังบวร ขึ้นตรงกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ) และทหารเรือวังหลวง หรือกรมอรสุมพล ขึ้นตรงกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2412 ขึ้นตรงกับเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ สมุหพระกลาโหม

พ.ศ. 2435 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองแผ่นดินใหม่ และยกเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ กำหนดให้มีกระทรวงในราชการ โดยกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ปกครองบรรดาหัวเมืองต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร เป็นผลให้กระทรวงกลาโหม ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการปกครองทางหัวเมือง คงมีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทหารอย่างเดียว จึงได้โอนกรมทหารเรือมาขึ้นกับกระทรวงกลาโหม

11 ธันวาคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนฐานะกรมทหารเรือเป็นกระทรวงทหารเรือ และในวันเดียวกันนั้นก็ได้ประกาศแต่งตั้งจอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ

8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงทหารเรือกับกระทรวงทหารบกเป็นกระทรวงเดียวกัน ภายใต้นามกระทรวงกลาโหม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เป็นผลทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบกระเทือนดังกล่าวนี้ด้วย ทำให้ฐานะทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำ จำเป็นต้องพิจารณาตัดทอนรายจ่ายของประเทศให้น้อยลงให้สมดุลกับรายได้ เป็นผลทำให้มีการปรับปรุงการจัดระเบียบราชการใหม่ด้วย 

พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศ กองทัพเรือถูกลดฐานะเป็นเพียงกรมทหารเรือเช่นเดิม กรมต่างๆ ของทหารเรือลดฐานะมาเป็นกองทั้งหมด เว้นแต่กรมเสนาธิการทหารเรือเท่านั้น นอกจากนั้นส่วนราชการของทหารเรือบางส่วนซึ่งได้เอาไปรวมกับฝ่ายทหารบกก็กลับมาสังกัดอยู่ในกรมทหารเรือตามเดิม

30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อกรมทหารเรือเป็นกองทัพเรือ ให้เป็นการสอดคล้องกับการเรียกชื่อส่วนรวมของทหารบกว่ากองทัพบก และขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม

29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ในหลวง ร.9 ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้ เมื่อ 60 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงปลูกต้นนทรี 9 ต้น พร้อมร่วมการแสดงดนตรีที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จของคณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

และได้ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ บริเวณหน้าหอประชุม มก. ทั้งยังมีพระราชดำรัสถึงบุคลากรและนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในคราวนั้นว่า

“ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น”

นอกจากนี้ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระมหากรุณาธิคุณร่วมการแสดงดนตรีที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก อันนำไปสู่การเสด็จ ‘เยี่ยมต้นนนทรี’ ที่ทรงปลูกและ ‘ทรงดนตรี’ สืบเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2515

โดย ‘ต้นนนทรี’ เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เพราะต้นนนทรีเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย 

ซึ่งต้นนนทรีทั้ง 9 ต้น ได้สร้างความเป็นสง่าราศี เป็นขวัญกำลังใจ เป็นจิตวิญญาณและให้ความร่มเย็น แก่เหล่าลูกนนทรีมาโดยตลอด ปัจจุบันนนทรีทั้ง 9 ต้นเจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ เต็มวัย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 53 เซนติเมตร มีความสูงเฉลี่ย 15 เมตร 

มีพื้นที่เรือนยอดปกคลุม 123 ตารางเมตรต่อต้น หรือพื้นที่เรือนยอดรวม 1,108 ตารางเมตร ด้วยต้องยืนตระหง่านฝ่าร้อนฝ่าฝนและหนาวมาเป็นระยะเวลายาวนานย่อมถูก โรคภัยเบียดเบียน มหาวิทยาลัยได้เฝ้าดูแลต้นนนทรีทั้ง 9 ต้น ด้วยความใส่ใจมาตลอด พร้อมทั้งทำศัลยกรรมตกแต่งปิดโพรงภายในจากการทำลายของโรคอย่างถูกวิธี เพื่อให้นนทรีทั้ง 9 ต้นดำรงความเป็นเกียรติประวัติแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สืบไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top