Sunday, 15 December 2024
LITE TEAM

28 พฤศจิกายน 2063 เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน ค้นพบมหาสมุทรแปซิฟิก 'แปซิฟิก' ในภาษาละติน หมายถึง 'ความสงบและสันติ'

28 พฤศจิกายน ค.ศ.1520 หรือตรงกับพ.ศ. 2063 ร่วมสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งอาณาจักรอยุธยา กองเรือโปรตุเกสที่ควบคุมโดย เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน นักเดินเรือชาวโปรตุเกส ได้เดินเรือจากเมืองเซบียา ประเทศสเปน เข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติกผ่านช่องแคบอเมริกาจนเข้าสู่มหาสมุทรแห่งใหม่ คือ มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นมหาสมุทรที่กว้างใหญ่และมีคลื่นลมสงบ ซึ่งสาเหตุที่ตั้งชื่อว่า มหาสมุทรแปซิฟิก เพราะคำว่า แปซิฟิก ในภาษาละติน มีความหมายว่า ความสงบและสันติ

มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นมหาสมุทรที่ใหญ่และลึกที่สุดในโลก มีอาณาเขตติดกับมหาสมุทรอาร์กติกตอนเหนือ และจรดทวีปแอนตาร์กติกาตอนใต้ ติดกับทวีปเอเชียและทวีปออสเตรเลียทางทิศตะวันตก และติดทวีปอเมริกาทางทิศตะวันออก

มหาสมุทรแปซิฟิก มีพื้นที่กว่า 165,250,000 ตารางกิโลเมตร กลายเป็นมหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลกครอบคลุมพื้นที่ผิวโลกทั้งหมด 32% และคิดเป็น 46% ของพื้นผิวน้ำบนโลก นอกจากนี้ มหาสมุทรแปซิฟิกยังมีขนาดมากกว่าพื้นดินทั้งหมดบนโลกรวมกันอีกด้วย มหาสมุทรแปซิฟิกมีความลึกเฉลี่ยที่ 4,000 เมตร มีจุดที่ลึกที่สุดคือแชลเลนเจอร์ดีปในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา โดยมีสถิติความลึกอยู่ที่ 10,928 เมตร  

นอกจากนี้ช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งอาณาจักรอยุธยา ยังเป็นครั้งแรกที่อาณาจักรอยุธยาติดต่อกับชาวโปรตุเกสซึ่งถือเป็นชาติตะวันตกชาติแรกด้วย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรอยุธยาและชาติตะวันตก

27 พฤศจิกายน 2461 รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศตั้ง 'กรมสาธารณสุข' ต่อมายกระดับเป็น ‘กระทรวงสาธารณสุข’ และถือเป็นวันสาธารณสุขแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รวมหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กองบัญชาการ, กองสุขศึกษา, กองสาธารณสุข, กองยาเสพติดให้โทษ, กองโอสถศาลารัฐบาล และกองบุราภิบาล เข้าด้วยกัน และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘กรมสาธารณสุข’ ซึ่งในเวลานั้นมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุขคนแรก ถือเป็นการใช้คำว่า 'สาธารณสุข' เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย จึงได้กำหนดให้วันที่ 27 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น ‘วันสาธารณสุขแห่งชาติ’ เพื่อเฉลิมฉลองการก่อตั้งกรมสาธารณสุข

ก่อนหน้านี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 กิจการทางการแพทย์ในประเทศไทยยังคงแบ่งออกเป็นหลายหน่วยงาน เช่น กองบัญชาการ กองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล และกองบุราภิบาล โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงมหาดไทยได้มีความประสงค์ที่จะปรับปรุงกิจการด้านการแพทย์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจากกรมประชาภิบาลเป็นกรมสาธารณสุข และทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย เป็นอธิบดีคนแรกของกรมสาธารณสุข

ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 กรมสาธารณสุขได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุข จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งทางราชการยังได้กำหนดให้วันที่ 27 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสาธารณสุขแห่งชาติ

25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตเมื่อเวลา 01.45 น. ของเช้าวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 แต่ประเพณีไทยถือว่ายังเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ด้วยพระโรคพระอันตะ (ลำไส้) หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 7 ต่อจากพระองค์ โดยทรงสืบทอดพระราชภารกิจของพระบรมเชษฐาธิราช

ตลอดรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงสร้างผลงานที่โดดเด่นในด้านวัฒนธรรม ทั้งในฐานะนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2524 องค์การยูเนสโกจึงได้ยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 ตรงกับวันยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สิริพระชนมายุ 45 พรรษา รวมระยะเวลาที่ทรงดำรงราชสมบัติ 15 ปี

พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพในหลายด้าน เช่น การเมือง การปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข และการต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองนับพันเรื่อง ซึ่งทำให้พระองค์ได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า 'สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า' เมื่อเสด็จสวรรคต

24 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียว ในรัชกาลที่ 6

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี ประสูติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ ภายในพระบรมมหาราชวัง  ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี  พระนาม เพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ในพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ขณะทรงพระเยาว์พระองค์ได้ทรงพระอักษรและประทับรักษาพระอนามัย ณ ประเทศอังกฤษ เป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ก่อนจะเสด็จนิวัติประเทศไทยในปี 2502 

ในฐานะพระบรมวงศ์ชั้นสูง พระองค์ได้ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะด้านสังคมสงเคราะห์ โดยเสด็จออกเยี่ยมราษฎรตามหัวเมืองทั้งใกล้ไกล พร้อมพระราชทานพระอนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้อยู่เสมอ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงรับสถาบันและองค์กรต่างๆ ไว้ในพระอุปถัมภ์เป็นจำนวนกว่า ๓๐ แห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปการ วชิรพยาบาล กิจการลูกเสือ-เนตรนารี ตลอดจนการสังคมสงเคราะห์อื่นๆ

23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2440 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระบิดาเจ้าดารารัศมี เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 ถึงแก่พิราลัย

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 พระนามเดิมคือ เจ้าอินทนนท์ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อดอยอินทนนท์ เป็นพระชนกของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์แก่พระองค์ ซึ่งถือเป็นพระเจ้าประเทศราชพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รับพระราชทานและยกย่องพระเกียรติยศดังกล่าว

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ปกครองเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ. 2413-2440 มีพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า "พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พหลเทพยภักดี ศรีโยนางคราชวงษาธิปไตย์ มโหดดรพิไสยธุรสิทธิธาดา ประเทศราชานุภาวบริหารภูบาลบพิตร สถิตยชิยางคราชวงษ พระเจ้านครเชียงใหม่" ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2440 ด้วยโรคชรา สิริพระชันษา 80 ปี รวมระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ 24 ปี จากนั้นบุตรของพระองค์ คือ เจ้าอุปราชอินทรวโรรส ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเจ้าหลวงเชียงใหม่เป็นองค์ที่ 8

หลังการเสด็จสวรรคต พระอัฐิส่วนหนึ่งได้ถูกเชิญไปประดิษฐานในพระสถูปพระอัฐิที่กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ณ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ และอีกส่วนหนึ่งถูกอัญเชิญไปประดิษฐานในสถูปบนยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงรักและหวงแหนมากที่สุด และยังเป็นสถานที่ที่ได้รับการตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์เองอีกด้วย

22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ถูกลอบสังหาร ระหว่างการเยือนเมืองดัลลัสในรัฐเท็กซัสด้วยรถเปิดประทุน

“จงอย่าถามว่าประเทศชาติให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามตัวท่านเองว่าท่านจะทำอะไรให้ประเทศชาติ” (Ask not what your country can do for you – Ask what you can do for your country) จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี (John Fitzgerald Kennedy) หรือ JFK ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา ถูกลอบสังหารในวันที่  22 พฤศจิกายน 2506

ในขณะที่ขบวนรถของเขาชะลอความเร็วและเลี้ยวขวาจากถนนเมนเข้าถนนฮิวสตัน ก่อนที่จะเลี้ยวซ้ายไปยังถนนเอล์ม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้อาคารเก็บหนังสือโรงเรียนเท็กซัส และมุ่งหน้าเข้าสู่ Dealey Plaza เกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่คาดคิดขึ้น

เคนเนดีมีอาการผิดปกติและใช้มือทั้งสองข้างกุมที่ลำคอ ก่อนที่กระสุนจะพุ่งเข้าสู่ศีรษะของเขาอย่างรุนแรง ตรงหน้าสตรีหมายเลขหนึ่ง

เคนเนดีเสียชีวิตที่โรงพยาบาลปาร์คแลนด์ โดยบันทึกทางการแพทย์ระบุว่าเขาเสียชีวิตอย่างเป็นทางการเวลา 13.00 น.

หลังการลอบสังหารไม่นาน ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ ถูกจับกุมในข้อหาสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ และในอีก 45 นาทีหลังจากการลอบสังหารเคนเนดี

ออสวอลด์ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และสองวันต่อมา เมื่อเขาถูกย้ายจากสถานีตำรวจไปยังเรือนจำท้องถิ่น เขาถูกยิงโดยแจ็ค รูบี้ เจ้าของไนต์คลับในดัลลัส ต่อหน้าประชาชนหลายล้านคนที่รับชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์

คณะกรรมการวอร์เรน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์นี้โดยเฉพาะ ได้ยืนยันว่าออสวอลด์เป็นผู้ลงมือเพียงลำพัง โดยไม่มีเบื้องหลังใดๆ ขณะที่แจ็ค รูบี้ที่สังหารออสวอลด์ก็ทำเพียงลำพัง แม้จะมีข้อสงสัยและทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับการลอบสังหารประธานาธิบดีที่ทรงเสน่ห์ที่สุดของสหรัฐอเมริกาคนหนึ่ง

เคนเนดีดำรงตำแหน่งในช่วงที่โลกเต็มไปด้วยความตึงเครียดและความวุ่นวาย โดยเป็นช่วงสงครามเย็นและการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกัน สหภาพโซเวียตก็กำลังทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศ และสหรัฐฯ เองก็เริ่มทดลองตอบโต้ในลักษณะเดียวกัน

14 พฤศจิกายน ของทุกปี วันพระบิดาแห่งฝนหลวง น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ร.9

สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระองค์ทรงพบว่าราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมและฝนแล้ง ทำให้ทรงมีพระราชดำริในการแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของราษฎรอย่างฉับพลันในขณะนั้นว่า "สมควรที่จะสร้างฝายหรือเขื่อนขนาดเล็ก และอ่างเก็บน้ำจำนวนมากขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงการไหลบ่าของน้ำ และกักเก็บน้ำไว้ในฤดูแล้งซึ่งเป็นการบรรเทาสภาวะแห้งแล้งได้ทางหนึ่ง" ที่สำคัญทรงเกิดประกายความคิดด้วยความมั่นพระราชหฤทัยว่าน่าจะนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยให้เกิดฝนได้ และน่าจะมีวิธีการที่จะรวมเมฆที่กระจายอยู่ในท้องฟ้า ไปรวมตัวกันเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นที่แห้งแล้ง

จาก พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปรสภาพอากาศ เมื่อทรงมั่นพระราชหฤทัยแล้ว ทรงพระราชทานแนวคิดนี้แก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 – 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 โดยใช้พื้นที่บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองโดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้งขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลอง ทำให้กลุ่มเมฆทดลองมีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของเมฆทำให้เกิดการกลั่นรวมตัวกันอย่างหนาแน่น และต่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว และจากการติดตามผล ก็ได้รับรายงานว่าเกิดฝนตกลงสู่พื้นที่บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในที่สุด การทดลองดังกล่าวจึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่บ่งชี้ให้เห็นว่าการบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และความสำเร็จดังกล่าวยังส่งผลให้มีการพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอดโครงการฝนหลวงเรื่อยมา 

จากการที่ทรงศึกษาค้นคว้า ทรงทดลองทางวิทยาศาสตร์ และปฏิบัติการทำฝนที่ประสบความสำเร็จมาโดยลำดับ โดยทรงประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีในการทำฝนเบื้องต้น และทรงบัญญัติคำศัพท์ การทำฝน 3 ขั้นตอน เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและการสื่อสารคือ 'ก่อกวน เลี้ยงอ้วน และโจมตี' โดยเฉพาะเทคนิคการโจมตีให้ฝนตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายอย่างแม่นยำ และเพิ่มปริมาณฝนตกให้สูงขึ้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียกว่า เทคนิคการโจมตีแบบแซนด์วิช (SANDWICH) และพระราชทานให้ใช้เป็นเทคโนโลยีการทำฝนตั้งแต่ พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา

พ.ศ. 2542 ได้เกิดสภาวะแห้งแล้งรุนแรงต่อพื้นที่เกษตรกรรม และราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดส่งคณะปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง โดยในการปฏิบัติการนี้ ทรงพัฒนาเทคนิคการโจมตีที่เรียกว่า 'เทคนิคการโจมตี แบบ SUPER SANDWICH' อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พระราชทานให้ใช้เป็นเทคโนโลยีฝนหลวงที่สามารถกู้ภัยแล้งให้คืนสู่สภาวะปกติได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่ง และพระราชทานให้ใช้เป็น 'ตำราฝนหลวงพระราชทาน' ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ได้ดำเนินงานโครงการพระราชดำริฝนหลวงมาตั้งแต่เริ่มแรกโครงการได้เสนอให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น 'วันพระบิดาแห่งฝนหลวง' ในการประชุมคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2545

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงคิดค้น วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงจนประสบผลสำเร็จสามารถช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากภัยแล้งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้จนถึงปัจจุบัน

12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 พิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรก สร้างที่โรงงานมักกะสัน ตามโครงการพัฒนาของการรถไฟฯ ปี 2510 - 2514

การรถไฟแห่งประเทศไทย ทำพิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรกที่สร้างโดยกองโรงงานมักกะสัน ฝ่ายการช่างกล ตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของการรถไฟฯ พ.ศ.2510 - 2514 ออกจากโรงงานมักกะสัน จำนวน 14 คัน ได้แก่ รถ บชส. 10 คัน และรถ บพห. (ข้างโถง) 4 คัน โดยมี พลเอกครวญ สุทธานินทร์ ประธานคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย มาเป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2511 

สำหรับโครงการ 5 ปีดังกล่าวข้างต้น ได้กำหนดสร้างรถโดยสาร 180 คัน และรถสินค้า 597 คัน เป็นงบประมาณที่ตั้งไว้รวมทั้งสิ้น 223.55 ล้านบาท ในการสร้างรถโดยสารนี้ จำนวนหนึ่งเป็นการสร้างตัวรถขึ้นใหม่ทั้งคัน และอีกจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นการประหยัดโดยใช้โครงประธาน และแคร่โบกี้ของเดิมของรถโบกี้โดยสารที่ตัดบัญชีแล้ว นำมาสร้างตัวรถบนโครงประธานเหล่านี้ เรียกว่าประเภทรถ Rebuilt

11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เปิด 'พระบรมรูปทรงม้า' ด้วยพระองค์เอง

วันนี้ในอดีต เมื่อ 116 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเปิดพระบรมรูปทรงม้า ด้วยพระองค์เอง

ทั้งนี้ พระบรมรูปทรงม้า สร้างขึ้นเนื่องในงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ซึ่งเป็นพิธีที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และสมโภชสิริราชสมบัติ ในมหามงคลสมัยที่ทรงครองแผ่นดินครบ 40 ปี ซึ่งยาวนานกว่าทุกพระองค์ โดยจ้างบริษัท Susse Frères (Fondeur) ทำการหล่อที่ประเทศฝรั่งเศส มีขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเล็กน้อย อยู่ในอิริยาบถทรงม้า ฉลองพระองค์เครื่องแบบจอมพลทหาร สร้างเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 เสร็จทันในวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ. 2451 นับเป็นอนุสาวรีย์บุคคลแห่งแรกในไทยที่สร้างขึ้นในขณะที่บุคคลนั้นยังมีชีวิต

เมื่อพระบรมรูปสร้างเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย ส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เปิดด้วยพระองค์เองก่อนจะเสด็จสวรรคตอีก 2 ปีต่อมา

ขณะที่ประเพณีถวายบังคมและวางพวงมาลาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า พระราชวังดุสิตนั้น เริ่มขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังจากที่พระบรมชนกนาถ ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยเสด็จสวรรคต จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า เพื่อแสดงความจงรักภักดีในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคลของพระองค์

ในปีต่อมา มีพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนวันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้ามาเป็นวันที่ 23 ตุลาคมแทน ซึ่งกลายเป็นพิธีสืบเนื่องต่อมา

10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ กลับคืนสู่ไทย หลังถูกลักลอบนำออกนอกประเทศกว่า 30 ปี

วันนี้ เมื่อ 36 ปีก่อน นับเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประเทศไทย เมื่อ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลังศิลาโบราณวัตถุล้ำค่าของไทย ซึ่งถูกลักลอบนำไปจากปราสาทหินเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเวลาเกือบ 30 ปี กลับคืนสู่ไทยอีกครั้ง 

โบราณวัตถุชิ้นนี้เป็นประติมากรรมศิลาจำหลักบนทับหลังประตูของปรางค์ประธาน ด้านทิศตะวันออกของปราสาทหินพนมรุ้ง โบราณวัตถุชิ้นนี้ มานิต วัลลิโภดม ภัณฑารักษ์พิเศษ แห่งกรมศิลปากร ได้สำรวจและบันทึกภาพไว้เมื่อ พ.ศ. 2503 ปรากฏว่าทับหลังชิ้นนี้นั้น หักออกเป็นสองท่อน ตกอยู่ที่เชิงประตูปรางค์ประธาน และต่อมาทับหลังทั้งสองชิ้น ได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย จนปี พ.ศ. 2508 จึงได้ พบทับหลังชิ้นนี้ขนาด 1 ใน 3 ของด้านขวาที่ร้านขายของเก่าแห่งหนึ่ง กรมศิลปากรจึงได้ยึดมาเก็บรักษาไว้ แล้วนำไปประดับไว้ที่เดิม เมื่อมีการซ่อมปราสาทแต่ยังขาดชิ้นส่วนของทับหลังที่เหลืออีกสองส่วน 

ต่อมาในปี 2515 ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ไปพบทับหลังส่วนที่เหลือซึ่งเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่สถาบันศิลปะชิคาโก (The Art Institute of Chicaco) ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยบังเอิญ จึงแจ้งให้กรมศิลปากรทราบ จนเกิดการเรียกร้อง จนผู้ครอบครองยอมคืนให้ในที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top