Monday, 2 December 2024
LITE TEAM

22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ (โต พรหมรังสี) มรณภาพ พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญแห่งต้นสมัยรัตนโกสินทร์

วันนี้ในอดีต สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือนามที่นิยมเรียก ‘สมเด็จโต’, ‘หลวงปู่โต’ หรือ ‘สมเด็จวัดระฆัง’ พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญแห่งต้นสมัยรัตนโกสินทร์ มรณภาพ สิริอายุรวม 84 ปี

ทั้งนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต ซึ่งตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มารดาบิดาของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด มีผู้กล่าวประวัติของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายฉบับ เช่น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อนางงุด บุตรของนายผลกับนางลา ชาวนาเมืองกำแพงเพชร หรือฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อเกตุ คนท่าอิฐ อำเภอบางโพ อย่างไรก็ดีมารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือ (คำเรียกในสมัยอยุธยา) เพราะทุกแหล่งอ้างอิงกล่าวตรงกันว่ามารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือแต่ได้ลงมาทำมาหากินแถบภาคกลางในช่วงหลัง

สำหรับบิดาของท่านนั้น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่าท่านเป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งทรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าพระยาจักรี ส่วนฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล และฉบับของตรียัมปวายกล่าวว่าท่านเป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และแม้ในฉบับของตรียัมปวายจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อยืนยันหลายข้อ แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติทั้งสองฉบับกล่าวตรงกันเพียงว่า ข้อสันนิษฐานว่าด้วยบิดาของท่านนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่าซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นกล่าวและเชื่อกันโดยทั่วไป

เมื่อถึงวัยพอสมควรแล้ว ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2343 ต่อมาปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า ‘พฺรหฺมรํสี’ เนื่องจากเป็นเปรียญธรรม จึงเรียกว่า ‘พระมหาโต’ มานับแต่นั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รับพระมหาโตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดปรานพระมหาโตเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2395 พระองค์จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์พระมหาโตเป็นครั้งแรก เป็นพระราชาคณะที่ ‘พระธรรมกิติ’ และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี โดยปกติแล้วพระมหาโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด อีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2397) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ ‘พระเทพกระวี’ หลังจากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะที่ ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า

สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ

สมณศักดิ์ดังกล่าวนี้นับเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดและเป็นชั้นสุดท้ายที่ท่านได้รับตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า ‘สมเด็จโต’ หรือ ‘สมเด็จวัดระฆัง’ ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่านเรียกท่านว่า ‘ขรัวโต’

ราวปี พ.ศ. 2410 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่วัดอินทรวิหาร (ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน) ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่ทันสำเร็จ โดยขณะนั้นก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี

14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ สั่ง ‘ทุบหม้อข้าว’ บุกตีเมืองจันทบุรี ยุทธวิธีอันลือลั่นในปัจจุบัน ที่ปลุกขวัญกำลังใจทหารกล้าจนสำเร็จ

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ คือ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ ได้ยกทัพบุกตีเมืองจันทบูร หรือเมืองจันทบุรี และได้ปลุกขวัญกำลังใจเหล่าทหารด้วยการ ‘ทุบหม้อข้าว’ หมายจะได้กินข้าวเช้าในเมืองจันทบุรี หากตีเอาเมืองไม่ได้ ก็ให้ตายด้วยกันเสียให้หมด ถือว่าเป็นกลศึกที่ปลุกขวัญกำลังใจแก่ทหารกล้าเป็นอย่างมาก และเป็นยุทธวิธีอันลือลั่นมาจนถึงทุกวันนี้

จากเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน สมเด็จพระเจ้าตากฯ เดินทัพจากระยองผ่านแกลงเข้าบางกระจะ มุ่งยึดจันทบุรี เจ้าเมืองจันทบุรีไม่ยอมสวามิภักดิ์ สมเด็จพระเจ้าตากฯ ต้องการยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นที่มั่นเพื่อรวบรวมกำลังมาตีพม่า จึงสั่งทหารทุกคนว่า

"เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเสร็จแล้ว ทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ ก็จะให้ได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว"

ทั้งนี้ ในวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 ครั้นถึงเวลา 19.00 น. สมเด็จพระเจ้าตากฯ จึงได้สั่งให้ทหารไทยและจีนลอบเข้าไปอยู่ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้ว ให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเมืองพร้อมกัน จึงให้โห่ขึ้นให้พวกอื่นรู้ เมื่อเวลา 03.00 น. สมเด็จพระเจ้าตากฯ ก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาณพร้อมกับบอกพวกทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากฯ ก็ไสช้างเข้าพังประตูเมืองจนทำให้บานประตูเมืองพังลง ทหารสมเด็จพระเจ้าตากฯ จึงกรูกันเข้าเมืองได้ พวกชาวเมืองต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีไป ส่วนพระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยังเมืองบันทายมาศ สมเด็จพระเจ้าตากฯ ตีเมืองจันทบุรีได้ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เพลา 3 ยามเศษ ตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 03.00 น. หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน

หลังจากนั้น สมเด็จพระเจ้าตากฯ ได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองตราด พวกกรมการและราษฎรเกิดความเกรงกลัวต่างพากันมาอ่อนน้อมโดยดี ที่ปากน้ำเมืองตราดมีเรือสำเภาจีนมาทอดทุ่นอยู่หลายลำ สมเด็จพระเจ้าตากฯ จึงได้เรียกนายเรือมาพบ แต่พวกจีนนายเรือขัดขืนต่อสู้ สมเด็จพระเจ้าตากฯ จึงนำกองเรือไปล้อมสำเภาจีนเหล่านั้น ได้ทำการต่อสู้กันอยู่ประมาณครึ่งวันก็ยึดสำเภาจีนไว้ได้หมด ได้ทรัพย์สินสิ่งของมาเป็นจำนวนมาก

แผนการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากฯ ได้เดินทางกลับจากตราดมาตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่เมืองจันทบุรี เพื่อวางแผนปฏิบัติการรบเพื่อตีกรุงศรีอยุธยาคืนจากข้าศึก พร้อมกับสั่งให้ต่อเรือรบและรวบรวมเครื่องศาสตราวุธและยุทธภัณฑ์ภายในเวลา 3 เดือน พร้อมกับฝึกไพร่พลให้พร้อมที่จะปฏิบัติการ

เมื่อสิ้นฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากฯ ได้ยกกองทัพเรือจากจันทบุรีเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเข้าโจมตีข้าศึกที่เมืองธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากฯ ยึดเมืองธนบุรีและปราบนายทองอินได้แล้ว จึงเคลื่อนทัพต่อไปที่กรุงศรีอยุธยาเข้า ยึดค่ายโพธิ์สามต้นปราบพม่าจนราบคาบ สามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมา เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 13.00 น. ใช้เวลา 7 เดือนหลังจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยา

13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 สิ้น 'พุ่มพวง ดวงจันทร์' นักร้องขวัญใจคนไทย เจ้าของฉายา ‘ราชินีลูกทุ่ง’ ในความทรงจำ

‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ มีชื่อจริงว่า ‘รำพึง จิตร์หาญ’ โดยมีชื่อเล่นว่า ‘ผึ้ง’ เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งชาวไทย ได้รับฉายาว่าเป็น ‘ราชินีลูกทุ่ง' โดยพุ่มพวงเกิดที่จังหวัดชัยนาท ต่อมาเติบโตที่ จังหวัดสุพรรณบุรี ครอบครัวเป็นชาวไร่ฐานะยากจน เมื่ออายุได้ 15 ปี บิดาฝากให้เป็นบุตรบุญธรรมของ ‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’

ระหว่างที่อยู่วงดนตรีของไวพจน์ พุ่มพวงทดลองร้องเพลงหน้าเวที ครั้งแรกในงานประจำปี ที่ตลาดลำนารายณ์ อำเภอไชยบาดาลจังหวัดลพบุรี ต่อมาไวพจน์แต่งเพลง 'แก้วรอพี่' ให้พุ่มพวงร้องบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อว่า ‘น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ’ และที่นี้อีกเช่นกันที่พุ่มพวงได้พบรักกับ ‘ธีระพล แสนสุข’ สามีคนแรกซึ่งเป็นนักดนตรีอยู่ในวง

ต่อมา ‘รุ่ง โพธาราม’ นักร้องรุ่นพี่ชักชวนให้แยกมาตั้งวงดนตรีเอง ด้วยการสนับสนุนของมนต์ เมืองเหนือ และมีการเปลี่ยนชื่อจาก ‘น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ’ เป็น 'พุ่มพวง ดวงจันทร์' แต่กิจการวงดนตรีไม่ประสบความสำเร็จและต้องเลิกไปในที่สุด แต่พุ่มพวงไม่ถอดใจ เธอตั้งวงดนตรีอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ขาดทุนจนเลิกกิจการไป พุ่มพวงจึงหันมาเป็นนักร้องประจำวงของ ศรเพชร ศรสุพรรณ และขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด

พุ่มพวง เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นเมื่อไปทำงานกับบริษัท เสกสรรค์ จำกัด ของประจวบ จำปาทอง แต่ที่เรียกว่า 'โด่งดัง' คือ พ.ศ. 2525 เมื่อมาอยู่บริษัท อโซน่าโปรโมชั่น โดยมี ลพ บุรีรัตน์ (ชื่อจริง วิเชียร คำเจริญ) ครูเพลงชื่อดังแต่งเพลงให้, ประยงค์ ชื่นเย็น และอเนก รุ่งเรือง เรียบเรียงดนตรี ทำให้เพลง สาวนาสั่งแฟน, นัดพบหน้าอำเภอ, กระแซะเข้ามาซิ, อื้อหือ…หล่อจัง, ห่างหน่อยถอยนิด ฯลฯ ดังระเบิดไปทั่วประเทศ

กล่าวได้ว่า เพลงที่พุ่มพวงเป็นร้อง, ลพแต่ง, ประยงค์/อเนกเรียบ เพลงไหนเพลงนั้น 'ดัง' ติดหูคนฟังหมด ผลงานของทั้งสามคนจึงทยอยออกมาอีกมากมาย เช่น ตั๊กแตนผูกโบว์, เงินน่ะมีไหม, ขอให้รวย, หนูไม่รู้, คนดังลืมหลังควาย ฯลฯ

จังหวะนี้เองพุ่มพวง ตั้งวงดนตรีพุ่มพวง ดวงจันทร์ อีกครั้ง คราวนี้เธอประสบความสำเร็จทางธุรกิจเพลงและวงดนตรี ทุกอย่างไปด้วย ยกเว้นชีวิตครอบครัว ประมาณปี 2526 พุ่มพวงตัดสินใจแยกทางกับ ธีระพล แสนสุข ในปีเดียวกันนี้เองที่พุ่มพวงเริ่มอาชีพ ‘นักแสดง’ ผลงานเรื่องแรกของเธอคือ ‘สงครามเพลง’ ของฉลอง ภักดีวิจิตร มีเพลงประกอบชื่อ ‘ดาวเรืองราวโรย’ ที่ลพ บุรีรัตน์เป็นผู้แต่งให้พุ่มพวงร้องในเรื่อง

หลังจากนั้นก็มีอีกหลายเรื่อง เช่น ผ่าโลกบันเทิง (พ.ศ. 2526), สาวนาสั่งแฟน (พ.ศ. 2527), มนต์รักนักเพลง (พ.ศ. 2528), อาจารย์เด๋อเจอพุ่มพวง (พ.ศ. 2528) ฯลฯ การเข้าวงการแสดงทำให้พุ่มพวงได้พบกับ ‘ไกรสร แสงอนันต์’ สามีคนที่ 2 (ที่มีลูกชายด้วยกัน 1 คน คือ ชื่อ ‘น้องเพชร’) ซึ่งเข้ามาเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้พุ่มพวง เขาได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพุ่มพวง ด้วยการนำวงดนตรีของพุ่มพวง เปิดคอนเสิร์ตการกุศลหน้าพระพักตร์พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ที่ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี เมื่อปี 2529 ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการลูกทุ่งไทย

พุ่มพวง ยังเป็นนักร้องลุกทุ่งหญิงคนเดียว ที่เดินทางไปเปิดการแสดงที่สหรัฐอเมริกาตามคำเชิญของแฟนเพลงแดนไกลบ่อยที่สุด สถิติจากร้านจำหน่ายเพลงของคนไทยในลอสแอนเจลิส ปี 2533-34 แจ้งว่ามียอดจำหน่ายสูงสุดถึง 1 ล้านตลับ

อย่างไรก็ตาม ขณะที่พุ่มพวงกำลังโด่งดังเรื่องการงาน สุขภาพเธอกลับย่ำแย่

ต่อมาเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534 พุ่มพวงป่วยเป็นโรคไต อาการรุนแรงจนต้องส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ต่อมามีการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแพทย์ตรวจพบว่า พุ่มพวงป่วยเป็นโรค 'เอสแอลดี' หรือโรคลูปัส

โรคเอสแอลอี เป็นโรคในกลุ่มข้ออักเสบและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทําให้ร่างกายสร้างสารโปรตีนชนิดหนึ่งต่อต้านเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายตนเองและเกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่เป็นพิษต่ออวัยวะขึ้น (แพ้ภูมิตนเอง) ทําให้มีอาการและอาการแสดงได้กับทุกระบบในร่างกาย

ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 พุ่มพวงที่มีอาการป่วยเรื้อรัง และญาติ ๆ เดินทางไปนมัสการพระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีมหาธาตุ จ.พิษณุโลก พุ่มพวงเกิดหมดสติกะทันหันจนต้องนำส่งโรงพยาบาล แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น...สุดท้ายเธอก็เสียชีวิตลงในค่ำคืนนั้น

ทั้งนี้ งานศพของพุ่มพวง จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติที่วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีแฟนเพลงนับแสนเดินทางจากทั่วประเทศมาอำลานักร้องในดวงใจของพวกเขา ที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ คงเหลือแต่ผลงานเพลงของเธอที่ฝากไว้ให้แฟน ๆ ชาวไทยได้จดจำและหวนคิดถึงอยู่ร่ำไป

12 มิถุนายน ของทุกปี ‘ILO’ กำหนดเป็น ‘วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก’ กระตุ้นสังคมตระหนักรู้และยุติบังคับใช้แรงงานเด็ก

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ได้กำหนดให้วันที่ 12 มิถุนายนของทุกปี เป็น ‘วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก’ (World Day Against Child Labour) เพื่อให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนขึ้นของแรงงานเด็ก และช่วยกันยุติการกระทำเหล่านี้ โดยความร่วมมือกันของหน่วยงานรัฐบาล ลูกจ้าง องค์กรผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เป็นล้านคนจากทั่วทุกมุมโลกที่จะร่วมหารือถึงการช่วยเหลือเด็กเหล่านี้และทำให้แรงงานเด็กลดจำนวนลง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาแรงงานเด็กที่ทั่วโลกต้องรับรู้…หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นเวลาเกือบสองทศวรรษที่โลกมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการลดการใช้แรงงานเด็ก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้ง วิกฤตการณ์ และการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ครอบครัวจำนวนมากต้องตกอยู่ในความยากจน และบังคับให้เด็กอีกนับล้านกลายเป็นแรงงานเด็ก

การเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่เพียงพอหรือครอบคลุมเพียงพอเพื่อลดแรงกดดันที่ครอบครัวและชุมชนจำนวนมากรู้สึก และนั่นทำให้พวกเขาหันไปใช้แรงงานเด็ก ทุกวันนี้เด็กกว่า 160 ล้านคนยังคงใช้แรงงานเด็ก ซึ่งเท่ากับจำนวนเด็กเกือบ 1 ใน 10 ของเด็กทั่วโลก

ทวีปแอฟริกาอยู่ในอันดับสูงสุดในการใช้แรงงานเด็ก ทั้งในด้านเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ถูกใช้แรงงาน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 และจำนวนเด็กทั้งหมดที่ใช้แรงงานเด็กเท่ากับ 72 ล้านคน เอเชียและแปซิฟิกอยู่ในอันดับ 2 สูงสุดในมาตรการทั้งสองนี้ โดยนับเป็น 7% ของเด็กทั้งหมด หรือ 62 ล้านคนที่อยู่ในการใช้แรงงานเด็กในภูมิภาคนี้

ภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียและแปซิฟิกรวมกันมีเด็กเกือบ 9 ใน 10 คนที่ถูกใช้แรงงานทั่วโลก ประชากรแรงงานเด็กที่เหลืออยู่แบ่งเป็นทวีปอเมริกา (11 ล้านคน) ยุโรปและเอเชียกลาง (6 ล้านคน) และรัฐอาหรับ (1 ล้านคน) ในแง่ของอุบัติการณ์ เด็ก 5% ตกเป็นแรงงานเด็กในอเมริกา 4% ในยุโรปและเอเชียกลาง และ 3% ในประเทศอาหรับ

9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 วันสวรรคต ‘ในหลวงรัชกาลที่ 8’ พระมหากษัตริย์ผู้สร้างคุณูปการต่อวงการแพทย์ไทย

‘วันอานันทมหิดล’ ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ด้วยความสำนึกในพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้สร้างคุณูปการไว้อเนกอนันต์โดยเฉพาะในด้านการแพทย์และการศึกษา รัฐบาลจึงถือเอาวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี เป็น ‘วันอานันทมหิดล’

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาเกือบ 12 ปีที่ทรงครองราชย์ ( 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงมีพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการปกครอง การศาสนา การแพทย์และการศึกษา เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร ณ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 พระองค์ได้มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของประเทศไทยจึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบันคือ ‘คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ นั่นเอง

>> พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมือง ไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชนก (องค์พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย) และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระอนุชา คือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระองค์ได้ทรงศึกษาจากต่างประเทศและได้เสด็จนิวัตประเทศไทยภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่7) ทรงสละราชสมบัติโดยมิได้ทรงสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท

คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงมีการลงมติเห็นชอบอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สืบพระราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ทรงได้รับการเฉลิมพระนามใหม่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2478 ว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล’ ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียงราว 9 พรรษา จึงทรงมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อทำการบริหารแผ่นดินแทนจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

ในระหว่างการศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้เสด็จนิวัตเมืองไทย เพื่อกลับมาเยี่ยมเยือนดูแลทุกข์สุขของราษฎร ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 21 พรรษาทรงเสด็จนิวัตเมืองไทยอีกครั้งด้วยทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายในฐานะประมุขของประเทศ ระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ในพระนคร เมื่อคราวเสด็จนิวัติเมืองไทยครั้งที่ 2 นั้น พระองค์เสด็จสวรรคต เนื่องจากถูกพระแสงปืน ณ พระแท่นบรรทมในพระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังจากเสวยราชสมบัติเป็นเวลา 12 ปี

ปวงชนชาวไทยต่างน้อมรำลึกถึงพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านโดยถือเอาวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปีเป็น ‘วันอานันทมหิดล’ โดยในปี พ.ศ. 2528 สมาคมศิษย์เก่าแพทย์ จุฬาลงกรณ์ ได้รวบรวมทุนจากเงินบริจาคของศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ที่หน้าตึกอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อเป็นการรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงบันดาลให้เกิดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ ให้ประชาชนได้รำลึกถึงพระองค์ท่านสืบไป

2 มิถุนายน ของทุกปี ‘วันส้มตำสากล’ ตอกย้ำเมนูสุดแซ่บจากแดนสยาม ที่สร้างชื่อเสียงกระฉ่อนโลก พร้อมสถานะสำคัญ ภายใต้บทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ใน 'กรมสมเด็จพระเทพฯ'

‘ส้มตำไทย’ อร่อยไม่แพ้ชาติใดในโลกจริง ๆ อร่อยจนนานาชาติยกย่องให้เป็นอาหารสากล และให้วันที่ 2 มิถุนายน กำหนดเป็น ‘วันส้มตำสากล’ หรือ International Somtum Day อีกด้วย

ทั้งนี้ ‘ส้มตำ’ เป็นอาหารปรุงมาจากการทำตำส้ม คือการทำให้เปรี้ยว ในลาวเรียกว่า ’ตำหมากหุ่ง‘ โดยนำมะละกอดิบที่สับแล้วฝานหรือขูดเป็นเส้นมาตำในครกเป็นหลัก พร้อมด้วยวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น มะเขือเทศลูกเล็ก, มะเขือสีดา, มะเขือเปราะ, พริกสดหรือพริกแห้ง, ถั่วฝักยาว กระเทียม และปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา และมะนาว

โดยส่วนผสมและเครื่องปรุงต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ส้มตำมีรสเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว โดยในภาคอีสานนิยมส้มตำรสเผ็ดเค็ม ส่วนไทยภาคกลางนิยมรสเปรี้ยวหวาน ซึ่งนิยมรับประทานกับข้าวเหนียวและไก่ย่าง โดยในบางครั้งรับประทานกับขนมจีน เส้นเล็กลวก เส้นหมี่ และแคบหมู

ซึ่งร้านส้มตำส่วนใหญ่มักขายอาหารอีสานอื่นด้วย เช่น ซุบหน่อไม้, อ่อม, ลาบ, ก้อย, แจ่ว, ปลาแดกบอง, น้ำตก, ซกเล็ก, ตับหวาน, ไก่ย่าง, คอหมูย่าง, พวงนม, กุ้งเต้น (ก้อยกุ้ง) และข้าวเหนียว

นอกจากนี้ ‘ส้มตำ’ ยังเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งเนื้อร้องและทำนองขึ้นใน ปี พ.ศ. 2513 โดยมี ‘อ.ประยงค์ ชื่นเย็น’ เป็นผู้เรียบเรียงดนตรี

ต่อมาเพลงพระราชนิพนธ์ส้มตำได้ถูกอัญเชิญมาขับร้องโดย ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ ราชินีเพลงลูกทุ่งไทยในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งก็ทำให้เพลงนี้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง ก่อนที่จะถูกนำมาขับร้องบันทึกเสียงโดย ‘สุนารี ราชสีมา’ ที่เป็นอีกหนึ่งเวอร์ชันอมตะของบทเพลงพระราชนิพนธ์ส้มตำเพลงนี้ นอกจากนี้ทางวงคาราบาวก็เคยอัญเชิญเพลงส้มตำไปร้องในคอนเสิร์ตอยู่บ่อยครั้ง รวมถึง ‘ต่าย อรทัย’ ที่ก็มีการอัญเชิญเพลงนี้มาขับร้องด้วย

สำหรับบทเพลงพระราชนิพนธ์ส้มตำใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีเนื้อร้องดังนี้

ต่อไปนี้จะเล่า            ถึงอาหารอร่อย
คือส้มตำกินบ่อย        รสชาติแซ่บจัง
วิธีการก็ง่าย            จะกล่าวได้ดังนี้
มันเป็นวิธี            วิเศษเหลือหลาย

ไปซื้อมะละกอ            ขนาดพอเหมาะเหมาะ
สับสับเฉาะเฉาะ        ไม่ต้องมากมาย
ตำพริกกับกระเทียม        ยอดเยี่ยมกลิ่นอาย
มะนาวน้ำปลาน้ำตาลทราย    น้ำตาลปีปถ้ามี

ปรุงรสให้เยี่ยมหนอ        ใส่มะละกอลงไป
อ้อ อย่าลืมใส่            กุ้งแห้งป่นของดี
มะเขือเทศเร็วเข้า        ถั่วฝักยาวเร็วรี่
เสร็จสรรพแล้วซี        ยกออกจากครัว

กินกับข้าวเหนียว        เที่ยวแจกให้ทั่ว
กลิ่นหอมยวนยั่ว        น่าน้ำลายไหล
จดตำราจำ            ส้มตำลาวเอาตำรามา
ใครหม่ำเกินอัตรา        ระวังท้องจะพัง

ขอแถมอีกนิด            แล้วจะติดใจใหญ่
ไก่ย่างด้วยเป็นไร        อร่อยแน่จริงเอย...

31 พฤษภาคม ของทุกปี ‘องค์กรอนามัยโลก’ กำหนดเป็น ‘วันงดสูบบุหรี่โลก’ สร้างสังคมตระหนักรู้ถึง 'พิษภัย-อันตราย' ที่เกิดจากการสูบบุหรี่

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2531 ‘องค์กรอนามัยโลก’ ได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวัน ‘งดสูบบุหรี่โลก’ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ทุกประเทศ ตระหนักถึงอันตราย และความสูญเสียทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยได้ประกาศให้มีการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยใช้ชื่อว่า ‘World Spidemic’ หรือการสูบบุหรี่เป็นโรคระบาดยู่ทั่วโลก

ดังนั้นรัฐบาลไทย ได้ตระหนักถึงความสูญเสียในชีวิตของประชากร ที่เกิดจากการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ให้รับทราบถึงอันตราย โทษของการสูบบุหรี่ซึ่งก็เป็นที่รู้กัน แต่จะให้เลิกสูบเลย เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผู้ที่ติดบุหรี่แล้ว

จึงได้มีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ และกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลนำมาใช้ โดยการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้สูบบุหรี่ พยายามเลิกสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเลิกได้สำเร็จหรือไม่ก็ตาม ดังเช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุขประกาศบังคับใช้ มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ให้มีการพิมพ์คำเตือนโทษของการสูบบุหรี่ที่ข้างซอง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา

30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 วันคล้ายวันสวรรคต ‘พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ กษัตริย์ผู้ทรงได้รับการยกย่องเป็น 'นักประชาธิปไตย'

หลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ประพาสยุโรป เพื่อทอดพระเนตรการพัฒนาด้านต่าง ๆ และทรงรับการผ่าตัดรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ แต่เนื่องด้วยพระราชดำริที่ไม่ตรงกัน กับรัฐบาลคณะราษฎรหลายประการ และทรงพิจารณาแล้วว่า ไม่ทรงสามารถประสานกับรัฐบาล

เพื่อให้บรรลุประโยชน์แก่ปวงชนส่วนรวมได้ จึงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ขณะประทับพักฟื้นพระวรกายที่พระตำหนักโนล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 เมื่อพระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ อันเนื่องมาจากพระพลานามัยของพระองค์ ทรงไม่แข็งแรงมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

กระทั่งเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวาย ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา 6 เดือน 23 วัน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเรียบง่าย ณ ฌาปนสถานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกจากท่าเรือเมืองเซาแธมตันโดยรัฐบาลอังกฤษ ตั้งกองเกียรติยศส่งเสด็จ เรือ Willem Ruys นำเสด็จฯ สู่สิงคโปร์ และเรือภาณุรังษีของบริษัทอีสต์เอเชียติก ได้นำเสด็จฯ เข้าสู่ประเทศไทยถึงเกาะสีชัง รัฐบาลไทย ซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรือหลวงแม่กลองไปรับเสด็จที่เกาะสีชัง มาถึงท่าราชวรดิฐ วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เฝ้าฯ รับเสด็จฯ และอัญเชิญพระบรมอัฐิ โดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ เข้าสู่พระบรมมหาราชวังประดิษฐาน ร่วมกับสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

อย่างไรก็ตาม พระองค์ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง โปรดให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรี ทรงตรากฎหมายเพื่อควบคุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน ระบบเทศบาล ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น พระองค์โปรดให้สร้างหอพระสมุด ทรงปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีการปรับปรุงการศึกษาจนยกระดับมาตรฐานถึงปริญญาตรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยสมบูรณ์ ชื่อว่า ‘พระไตรปิฎกสยามรัฐ’ เป็นต้น

นอกจากนี้ พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 ปี พระองค์ทรงได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์บางส่วนว่าเป็น ‘กษัตริย์นักประชาธิปไตย’ เนื่องจากทรงยินยอมสละพระราชอำนาจของพระองค์ให้เป็นของประชาชน และลดพระราชฐานะของพระองค์ให้เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญพระองค์แรก

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลังอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สถาบันพระปกเกล้า จึงได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีวันสำคัญเกี่ยวกับพระองค์ว่า สมควรกำหนดให้วันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ คือ วันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น ‘วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 โดยให้กำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น ‘วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ อันเป็นวันรัฐพิธีโดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

25 พฤษภาคม ของทุกปี กำหนดเป็น 'วันเด็กหายสากล' (International Missing Children’s Day) รณรงค์ให้สังคมร่วมตระหนักถึง ‘สวัสดิภาพ-ความปลอดภัย’ ของเด็ก

ความเป็นมาของ ‘วันเด็กหายสากล’ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 เมื่อเด็กชายอีตัน แพตซ์ วัย 6 ขวบ ชาวเมืองแมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สูญหายไประหว่างเดินออกจากอพาร์ตเมนต์เพื่อไปขึ้นรถโรงเรียน ซึ่งขณะนั้นสหรัฐอเมริกายังไม่มีองค์กรช่วยเหลือในการตามหาเด็กหาย มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครเท่านั้นที่ร่วมมือกันค้นหา 

จากคดีดังกล่าวส่งผลให้เริ่มมีการวางระบบติดตามหาเด็กหายที่ถูกลักพาตัวอย่างจริงจัง โดยภาพของอีตันที่ใช้ในการประกาศหาตัวอยู่บนกล่องนมที่วางจำหน่ายทั่วสหรัฐฯ กลายเป็นต้นแบบของการประกาศหาคนหายบนกล่องนมจนถึงปัจจุบัน แต่น่าเสียดายที่ถึงแม้จะมีความพยายามเป็นอย่างมาก สุดท้ายแล้วก็ไม่พบเด็กชายคนนี้ 

ต่อมาในปี 2526 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน จึงกำหนดให้วันที่ 25 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น วันเด็กหายสากล (International Missing Children’s Day) เพื่อให้ทั่วโลกร่วมกันตระหนักถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็ก รวมถึงมีความหวังที่จะตามหาเด็กให้กลับคืนสู่ครอบครัวได้อย่างปลอดภัย 

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยของเรานั้น ในหนึ่งวันมีเด็กหายไม่น้อยกว่า 3 คน โดยที่ 2 ใน 3 ของเด็กที่หายไป มีอายุน้อยกว่า 15 ปี ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก และอายุเฉลี่ยของเด็กที่หายไป หรือถูกลักพาตัวออกจากบ้านคือ 4 ขวบ โดยข้อมูลนี้อ้างอิงจาก สถิติศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา และแน่นอนว่าปัญหาเด็กหายจากบ้านนั้น จะต้องเจอกับความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งการคุกคาม หาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก ถูกล่อลวง รวมไปถึงกระทำความรุนแรง

23 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร สองวีรสตรีผู้ปกป้องเมืองถลาง จากทัพข้าศึกพม่าในสงครามเก้าทัพ

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร และปิดทอง เจิมช่อฟ้าพระอุโบสถวัดเจริญสมณกิจ (วัดหลังศาล) เมื่อครั้งเสด็จประพาส จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2510

โดยในปัจจุบัน รูปอนุสาวรีย์นำไปใช้เป็นตราประจำจังหวัดภูเก็ต โดยเริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2528 เป็นรูปอนุสาวรีย์สองวีรสตรี อยู่ในวงกลมล้อมด้วยลายกนก ซึ่งแสดงถึงวีรกรรมอันห้าวหาญของท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร 

ทั้งนี้ ท้าวเทพกระษัตรี และ ท้าวศรีสุนทร นามเดิมว่าคุณหญิงจันและคุณมุกตามลำดับ เป็นสองวีรสตรีในประวัติศาสตร์ไทย ผู้มีบทบาทในการป้องกันเมืองถลาง เกาะภูเก็ต จากการรุกรานของพม่าในสงครามเก้าทัพเมื่อปี พ.ศ. 2328


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top