Wednesday, 15 January 2025
LITE TEAM

13 มกราคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจการแผนกการบินเป็นครั้งแรก

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพอากาศ คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ส่งทหาร 3 นาย ประกอบด้วย พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาตไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2454 โดยได้สำเร็จการศึกษากลับมาเป็นมนุษย์อากาศชุดแรกของไทย 

ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งแผนกการบินขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพบกเมื่อ พ.ศ. 2456 (จุดกำเนิดของกองทัพอากาศไทย) โดยมีการทดลองบินครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 29 ธันวาคม 2456 และรัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการแผนกการบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2457

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงริเริ่มและมีสายพระเนตรก้าวไกลต่อการบินของประเทศไทย จึงกำหนดให้วันที่ 13 มกราคม ของทุกปีเป็น 'วันการบินแห่งชาติ'

12 มกราคม พ.ศ. 2476 ในหลวง ร. 7 และพระบรมราชินี เสด็จประพาสยุโรป นับเป็นการอำลา ‘แผ่นดินสยาม’ ครั้งสุดท้าย

วันนี้เมื่อ 92 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จประพาสยุโรป และประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจในโลก หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ทั้งนี้ในห้วงระยะ เวลา 10 ปีที่ พระองค์ทรงครองราชย์ เรื่องที่ดูหนักหนาสาหัสที่สุด คือ การปฏิวัติที่เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร์ ในปี 2475 ซึ่งขณะนั้นทั้งสอง พระองค์ ทรงประทับอยู่ที่ พระราชวังไกลกังวลได้ มีคณะตัวแทนคณะราษฎร์ กราบบังคับทูลเชิญทั้งสองพระองค์เสด็จ กลับพระนคร 

และพระองค์ได้เสด็จกลับมาเป็นพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จากนั้นในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 พระองค์ได้เสด็จเยือนยุโรป และนั่นถือเป็นการอำลาแผ่นดินสยามครั้งสุดท้ายของพระองค์และในหลวงรัชกาลที่ 7 เนื่องจากขณะที่ พระองค์ทรงรักษาพระเนตรจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในประเทศอังกฤษ ได้ทรงขัดแย้งกับคณะรัฐบาล จึงตัดสิน พระราชหฤทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ณ พระตำหนักโนล ในขณะ ที่สองพระองค์มิได้เป็นคิงส์แห่งสยาม นับเป็นช่วง เวลาที่สงบสุข ณ พระตำหนักเวนคอร์ต ประเทศอังกฤษ

10 มกราคม พ.ศ. 2489 ‘สหประชาชาติ’ จัดประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรก โดยมีตัวแทนจากภาคีสมาชิก 51 ชาติ เข้าร่วม

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) เป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดและเป็นหนึ่งในเสาหลักของสหประชาชาติ เป็นเพียงองค์กรเดียวของสหประชาชาติที่ตัวแทนของแต่ละประเทศสมาชิกมีสิทธิและฐานะเท่าเทียมกัน สมัชชาใหญ่มีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณและการใช้จ่ายในโครงการของสหประชาชาติ แต่งตั้งสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง รับรายงานจากทั่วทุกมุมโลกเพื่ออภิปรายและให้ความเห็น ตลอดจนจัดตั้งองค์กรลูกต่าง ๆ มากมายของสหประชาชาติ

การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกมีขึ้นในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ที่ศาลากลางนครเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน โดยในขณะนั้นมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งสิ้น 51 ประเทศ โดยสมัชชาใหญ่จะมีวาระการประชุมตามที่ประธานที่ประชุมหรือเลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกประชุมตามขั้นตอนปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งโดยมักจะเริ่มเปิดวาระการประชุมตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป ซึ่งจะหารือกันในหัวข้อหลักต่าง ๆ ไปจนถึงราวเดือนธันวาคม และหารือกันในหัวข้อย่อยตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนกระทั่งสิ้นสุดทุกประเด็นตามที่ได้แถลงไว้

นอกจากนี้ อาจมีเปิดวาระการประชุมในกรณีพิเศษหรือกรณีฉุกเฉิน ซึ่งการประชุม กลไก อำนาจหน้าที่ และการลงคะแนนของสมัชชาใหญ่นั้น เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ โดยการลงคะแนนของสมัชชาใหญ่เพื่อออกเป็นมติสมัชชาใหญ่ในหัวข้อสำคัญ ข้อแนะนำด้านสันติภาพและความมั่นคง ข้องบประมาณ การเข้าร่วมสหประชาชาติ การระงับหรือเพิกถอนสมาชิกภาพ จะต้องได้รับคะแนนเสียงในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในที่ประชุม

ส่วนหัวข้อย่อยอื่น ๆ นั้นใช้เพียงคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกในที่ประชุม โดยที่ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศมีเพียงหนึ่งเสียงเท่านั้น สมัชชาใหญ่อาจให้ข้อแนะนำเรื่องใด ๆ ก็ตามที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของสหประชาชาติ ยกเว้นอำนาจในการดำเนินการรักษาสันติภาพและความมั่นคงซึ่งเป็นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ปัจจุบัน สมัชชาใหญ่มีสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ ซึ่งกว่าสองในสามเป็นประเทศกำลังพัฒนา และมีผู้สังเกตการณ์ 2 ประเทศ คือ นครรัฐวาติกัน กับ รัฐปาเลสไตน์

9 มกราคม พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ ก่อสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 บ้านเมืองในฝั่งพระนครขยายตัวตามความเจริญ และการเพิ่มของประชากร ผิดกับฝั่งธนบุรีที่เป็นเรือกสวนไร่นา การเดินทางไปมาระหว่างกันต้องใช้เรือข้ามฟาก 

เมื่อจะฉลองพระนคร ในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานคร 150 ปี นอกจากจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระบรมราชานุสรณ์เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ยังทรงพระราชดำริให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกอีกด้วย 

โดยได้รับสั่งให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบให้มีลักษณะคล้ายลูกศร สื่อถึงตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 7 โดยหัวศรพุ่งตรงไปยังฝั่งธนบุรี พร้อมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พุทธศักราช 2472 พระราชทานนามว่า “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” 

สำหรับ สะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานโครงเหล็ก เชื่อมถนนตรีเพชรกับถนนประชาธิปก ตรงกลางเปิดให้เรือใหญ่ผ่านได้ นอกจากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ยังเป็นสะพานสำคัญที่ใช้สัญจรในปัจจุบัน

6 มกราคม พ.ศ. 2481 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จฯ ทรงเปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล จ.ลพบุรี

วันนี้เมื่อ 87 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล จ.ลพบุรี

โรงพยาบาลอานันทมหิดล (อังกฤษ: Ananda Mahidol Hospital) กรมแพทย์ทหารบก ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของกองทัพบกไทย ให้บริการทั้งข้าราชการทหารและพลเรือนรวมถึงประชาชนทั่วไป และมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่สามรองจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลค่ายสุรนารี

โรงพยาบาลอานันทมหิดลก็ได้เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2480 และแล้วเสร็จในปีถัดมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ มากระทำพิธีเปิดเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2481 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันเปิดค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

5 มกราคม พ.ศ. 2516 ในหลวง ร.9 เสด็จฯหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลั๊วะ อ.แม่สะเรียง เยี่ยมราษฎรพร้อมส่งเสริมการปลูกกาแฟและการเลี้ยงไหม

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ หมู่บ้านป่าแป๋ ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลั๊วะ ทรงพระราชทาน ห่าน สิ่งของและยารักษาโรค พระองค์ทรงให้ส่งเสริมการปลูกต้นกาแฟและพระราชทานเงินให้หญิงชาวเขาเข้าเรียนการเลี้ยงไหมและกลับมาสอนให้ชาวเขาภายในครอบครัวต่อไป

และในวันเดียวกันนัน ยังได้เสด็จองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) หน่วยแม่โจ้ครั้งแรก ณ อาคารแผ่พืชน์ วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ พร้อมทั้งทรงมีพระบรมราโชวาทสำคัญตอนหนึ่งความว่า 

"แม่โจ้นั้นรักสามัคคีกันมาก และหากพลังแห่งสามัคคี ถ้าไปใช้ในทางที่ถูกต้อง ที่ดี ที่สร้างสรรค์ จะนำไปสู่ความเจริญ ไปสู่ความดี และผู้ปฏิบัติจะได้รับผลดีคือ ความยกย่องของชุมชน และความยกย่องของประชาชนทั้งประเทศ..."

4 มกราคม ของทุกปี ‘วันทหารม้า’ น้อมสดุดีวีรกรรม ‘พระเจ้าตาก’ ทำการรบบนหลังม้าต่อสู้กับทหารพม่าจนได้ชัยชนะ

วันทหารม้าถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มกราคมของทุกปี เป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้นำกำลังทหารตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยา หลังจากที่ทหารพม่ารวบรวมกำลังไล่ติดตามมาถึง ณ บ้านพรานนก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพร้อมด้วยทหารเอกคู่พระทัยจำนวน 4 นาย ได้ทำการรบบนหลังม้าต่อสู้กับทหารพม่าจำนวน 30 นายจนได้รับชัยชนะ

โดยตลอดการรบในครั้งนั้นชาวบ้านได้จัดส่งข้าวเม่าให้เป็นเสบียงและส่งธนูให้แก่ทหารใช้เป็นอาวุธ กองทหารได้ปะทะกับพม่าที่คลองแห่งหนึ่ง จนเมื่อพระยาตากตีทหารพม่าแตกพ่าย จึงตั้งชื่อคลองว่า 'คลองชนะ' ฝ่ายทหารพม่าได้ติดตามไปอย่างกระชั้นชิดตลอดระยะทางที่หนีออกจากกรุงศรีอยุธยา พระยาตากต้องต่อสู้กับพม่าถึง 4 ครั้ง แต่กองทหารพม่าก็ไม่ยอมลดละ และไล่ตามไปทันที่บ้านโพธิ์สังหาร ซึ่งมีหญิงสาวชาวบ้านชื่อนางโพ ได้ช่วยรบกับพม่าจนเสียชีวิต โดยภายหลังจากพระยาตากกู้ชาติได้แล้วจึงได้ระลึกถึงกลับมาตั้งชื่อหมู่บ้านโพธิ์สังหาร เป็นหมู่บ้านโพสาวหาญและยังใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งคือ 'พรานนก' หรือเฒ่าคำ ซึ่งเป็นผู้ช่วยจัดเสบียงอาหารให้กับกองทหารพระยาตากในระหว่างสงคราม โดยในปัจจุบันมีรูปปั้นให้ประชาชนเคารพที่หมู่บ้านพรานนก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ จากการสู้รบในครั้งนั้นแสดงให้เห็นถึงการใช้คุณลักษณะของทหารม้าในการรบ คือความคล่องแคล่วและรวดเร็วในการเคลื่อนที่ จึงยกย่องพระองค์เป็นบูรพาจารย์แห่งการรบบนหลังม้า และเป็นพระบิดาของเหล่าทหารม้า และได้ถือเอาวันที่พระองค์สร้างวีรกรรมในครั้งนั้นคือวันที่ 4 มกราคม ของทุกปีเป็น 'วันทหารม้า'

31 ธันวาคม วันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2568

ในปฏิทินเกรกอเรียน วันที่ 31 ธันวาคม หรือที่เรียกว่า 'วันส่งท้ายปีเก่า' เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดของปีเก่าและการต้อนรับปีใหม่ ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของปี ในหลายประเทศ การเฉลิมฉลองคืนวันปีใหม่มักจะเต็มไปด้วยการเฉลิมฉลอง และการชมพลุดอกไม้ไฟ นอกจากนี้ ในบางประเทศที่มีคริสเตียนก็จะมีการไปทำพิธีนมัสการในคืนวันปีใหม่ การเฉลิมฉลองมักจะดำเนินต่อไปจนถึงเที่ยงคืนและต้อนรับวันปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม

ประเทศในแถบเกาะไลน์ อาทิ คีริบาส, ซามัว และ ตองกา ในมหาสมุทรแปซิฟิก จะเป็นพื้นที่แรกของโลกที่ต้อนเข้าสู่ศักราชใหม่ ขณะที่ อเมริกันซามัว, เกาะเบเคอร์ และ เกาะฮาวแลนด์ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะอเมริกัน) จะต้อนรับปีใหม่เป็นพื้นที่สุดท้ายของโลกที่เข้าสู่ปี 2025 

ในแต่ชาติจะมีวัฒนธรรมการเฉลิมฉลองที่แตกต่างกัน ในประเทศจีน แม้ว่าจะมีการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนอยู่แล้ว แต่ก็มีการฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ตามแบบปฏิทินเกรกอเรียนเช่นกัน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง ที่มีการจัดแสดงพลุและคอนเสิร์ตร็อก และในเซี่ยงไฮ้ที่มีการแสดงแสงและเสียงก่อนเที่ยงคืน

ใน ญี่ปุ่น, ค่ำคืนวันปีใหม่ถือเป็นเวลาที่ชาวญี่ปุ่นจะเตรียมตัวต้อนรับ 'เทพเจ้าแห่งปีใหม่' หรือ โทชิกามิ ชาวญี่ปุ่นมักนิยมทำความสะอาดบ้านและเตรียม 'คาโดมัตสึ' หรือ 'ชิเมนาวะ' เพื่อการต้อนรับเทพเจ้าถือเป็นประเพณีที่สำคัญ โดยที่วัดพุทธในญี่ปุ่นจะตีระฆัง 108 ครั้งในคืนวันปีใหม่เพื่อขจัดสิ่งไม่ดีทั้งหลาย

ใน ประเทศไทย มีหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยต่างจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่ากันอย่างคึกคัก อาทิ  กรุงเทพฯ และพัทยา มีการจัดงานเคานต์ดาวน์ การแสดงพลุไฟ และคอนเสิร์ต รวมไปถึงงานปาร์ตี้ในโรงแรม ร้านอาหาร และสถานบันเทิงต่าง ๆ 

ใน ฝรั่งเศส, การเฉลิมฉลองวันปีใหม่ หรือ 'la Saint-Sylvestre' มักจะมีการจัดเลี้ยงอาหารมื้อใหญ่ หรือ 'Réveillon de la Saint-Sylvestre' ซึ่งมีอาหารพิเศษเช่น ฟัวกราส, ซีฟู้ด, และแชมเปญ และมีไฮไลต์คือการแสดงพลุที่หอไอเฟลเป็นประจำทุกปี

ใน รัสเซีย, การเฉลิมฉลองวันปีใหม่ที่เรียกว่า 'Novy God' แม้ว่ารัสเซียจะนับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ (Orthodox) ที่จะมีการเฉลิมฉลองบางอย่างแตกต่างจากคริสตชนประเทศอื่น แต่ก็มีรัสเซียก็มีวันหยุดที่เหมือนกับวันคริสต์มาส โด จะมีการประดับตกแต่งไฟและขอของขวัญจาก 'Ded Moroz' หรือ ซานตาคลอสในภาษารัสเซีย 

ในสหรัฐอเมริกา ไฮไลท์การถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ที่ไทม์สแควร์ในนิวยอร์ก เริ่มต้นครั้งแรกในปี 1970 ก่อนที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเฉลิมฉลองนี้ในเวลาต่อมา ในปีนี้ลูกบอลยักษ์ที่ประดับด้วยคริสตัล จำนวน 2,688 ชิ้นที่ผลิตโดยบริษัท Gillinder Glass พร้อมติดตั้งไฟ LED มีน้ำหนักถึง 11,875 ปอนด์และเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 ฟุต จะตกลงมาในไทม์สแควร์ช่วงเวลาใกล้เที่ยงคืน พร้อมอักษรไฟคำว่า '2025' ที่มีน้ำหนักราว 545 กิโลกรัม มีความสูง 7 ฟุต ได้รับการประดับประดาด้วยหลอดไฟแอลอีดีจำนวน 620 ดวง จะสว่างไสวสร้างความประทับใจให้กับคนทั่วโลกในคืนสุดท้ายของปี

29 ธันวาคม 2453 รัชกาลที่ 6 สถาปนา 'โรงเรียนมหาดเล็กหลวง' ต่อมาได้กลายเป็น 'วชิราวุธวิทยาลัย'

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2453 รัชกาลที่ 6 พระราชทานกำเนิด 'โรงเรียนมหาดเล็กหลวง' ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น 'วชิราวุธวิทยาลัย' โดยมีวัตถุประสงค์ในการทดลองจัดการศึกษาของชาติและให้การศึกษาแก่ราษฎรเพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต นอกจากนี้ยังพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนี้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี รับทราบการจัดการศึกษาของชาติ โดยในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2453 พระองค์ทรงพระกรุณาให้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในพระบรมมหาราชวัง ก่อนที่จะพระราชทานชื่อใหม่ว่า 'โรงเรียนมหาดเล็กหลวง'

พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เงิน 100,000 บาทเพื่อเป็นทุนของโรงเรียน และในภายหลังได้พระราชทานที่ดินสวนกระจังจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนถาวร ซึ่งมีการออกแบบโดยเอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ และพระสมิทธเลขา

โรงเรียนมหาดเล็กหลวงดำเนินการตามหลักการของระบบการศึกษาของอังกฤษ แต่พระราชดำริของพระองค์คือการสร้างเยาวชนที่มีคุณธรรมและพร้อมรับภาระในอนาคต แทนที่จะเน้นผลการเรียนเพียงอย่างเดียว

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในปี 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชทานนามใหม่ว่า 'วชิราวุธวิทยาลัย' เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์

วชิราวุธวิทยาลัยได้รับการจัดตั้งเป็นโรงเรียนประจำชายล้วน และยังคงมีตึกที่พักนักเรียนที่เรียกว่า 'คณะ' ซึ่งแบ่งเป็นคณะต่าง ๆ ปัจจุบัน ดำเนินการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 

28 ธันวาคม ของทุกปี วันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี

วันที่ 28 ธันวาคม เป็น 'วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช' ซึ่งตรงกับวันปราบดาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี พระองค์ทรงพระนามเดิมว่า 'สิน' (หรือในภาษาจีน 'เซิ้นเซิ้นซิน') พระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 บิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋วชื่อ 'นายไหฮอง' มารดาเป็นหญิงไทยชื่อ 'นางนกเอี้ยง'

สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เริ่มต้นชีวิตในฐานะมหาดเล็กและได้รับการอุปการะจากเจ้าพระยาจักรี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2309 เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าโจมตีและเสียกรุงเป็นครั้งที่สอง พระองค์ได้นำทหาร 500 คนฝ่าวงล้อมของพม่าและหลบหนีไปยังหัวเมืองภาคตะวันออก ต่อมาได้ยึดเมืองจันทบุรีและรวบรวมกำลังเพื่อกอบกู้เอกราชจากพม่า

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 พระองค์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์และทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ซึ่งเป็นการกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติไทย หลังจากนั้นพระองค์ทรงปราบปรามก๊กต่าง ๆ และรวบรวมอาณาจักรไว้ได้สำเร็จในระยะเวลาเพียง 3 ปี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2325 สิริพระชนมายุ 48 พรรษา ทรงครองราชย์เป็นเวลา 15 ปี โดยเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวของกรุงธนบุรี และเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในการกอบกู้ชาติและรักษาอิสรภาพให้กับประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี เป็น 'วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช' เพื่อยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของชาติไทย พร้อมทั้งสร้างอนุสาวรีย์พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ประทับบนอัศวราชพาหนะที่วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อชาติไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top