4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ‘ในหลวง ร.5’ โปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’ จุดกำเนิดกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไป จุดเริ่มต้นของการสื่อสารในสมัยก่อนนั้น เกิดจากการสร้างเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการค้า โดยมีการติดต่อข่าวสารกันอย่างง่าย ทั้งผ่านทางพ่อค้า ใช้ม้าเร็ว จนถึงการจัดตั้งคนเร็วไว้ตามเมืองสำคัญ ก็ถือเป็นพัฒนาการทางการส่งข่าวสารอย่างง่ายอีกช่องทางหนึ่งและเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นยุคแรกของ ‘การไปรษณีย์ไทย’ ด้วยการจัดตั้ง ‘กรมไปรษณีย์’ ในประเทศไทย และการผลิต ‘แสตมป์ชุดโสฬส’ แสตมป์ชุดแรกของประเทศ รวมไปถึงจัดพิมพ์ไปรษณียบัตรครั้งแรก เพื่อรองรับกิจการไปรษณีย์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
โดยปี พ.ศ. 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายคำแนะนำให้เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดส่งหนังสือพิมพ์รายวัน ‘ข่าวราชการ’ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์
เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงวางโครงการและเตรียมการไว้พร้อมที่จะเปิดบริการไปรษณีย์แล้ว ได้ประกาศเปิดรับฝากส่งจดหมายหรือหนังสือ เป็นการทดลองในเขตพระนครและธนบุรีขึ้น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 มีที่ทำการตั้งอยู่ ณ ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อใช้ที่สร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า) ที่ทำการแห่งแรกนี้ใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์สำหรับจังหวัดพระนคร ด้วยเรียกกันว่า ‘ไปรษณียาคาร’
ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการกราบบังคมทูลเสนอความเห็นว่าราชการของกรมไปรษณีย์และราชการของกรมโทรเลข ซึ่งตั้งขึ้นก่อนกรมไปรษณีย์แล้วนั้นเป็นงานในด้านสื่อสารด้วยกัน ควรรวมเป็นหน่วยราชการเดียวกันเสีย เพื่อความสะดวกแก่การดำเนินงาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นเป็นการสมควรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้รวมหน่วยงานทั้งสองเข้าด้วยกันเรียกว่า ‘กรมไปรษณีย์โทรเลข’
ต่อมาได้ย้ายไปใช้อาคารและที่ดินริมถนนเจริญกรุงเป็นที่ทำการและเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘ที่ทำการไปรษณีย์กลาง’ การไปรษณีย์เป็นบริการสาธารณะ จำเป็นต้องมีระเบียบข้อบังคับเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการและเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินบริการทราบและถือปฏิบัติ เมื่อเปิดการไปรษณีย์โทรเลขได้ประมาณ 2 ปีแล้ว รัฐบาลจึงได้ตรากฎหมายขึ้นในปี พ.ศ. 2428 เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติการไปรษณีย์ไทย จุลศักราช 1248’
ทั้งนี้ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงมีแก่กิจการไปรษณีย์ไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2526 กำหนดให้ วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น ‘วันสื่อสารแห่งชาติ’ และจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 โดยจัดร่วมกับงานครบรอบ 100 ปี การสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข และการเฉลิมฉลองปีการสื่อสารโลกของสหประชาชาติ