Saturday, 18 January 2025
LITE TEAM

14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ‘ยูเนสโก’ ยก ‘ดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ ขึ้นมรดกโลกทางธรรมชาติ นับเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศไทย ต่อจาก 'ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง'

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศให้เป็น ‘มรดกโลกทางธรรมชาติ’ จากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘ดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ นับเป็นมรดกโลกแหล่งที่ 5 ของไทย และเป็นอันดับที่ 2 มรดกทางธรรมชาติของไทย ต่อจาก ‘ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง’ โดยได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกโลก ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก 1 แห่ง มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นราว 3,874,863 ไร่ หรือ 6,155 ตารางกิโลเมตร ถูกเรียกว่าเป็นผืนป่าตะวันออก ซึ่งเปรียบเทียบกับผืนป่าตะวันตก ในเขตจังหวัดตาก และรอบ ๆ

อย่างไรก็ตาม ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นผืนป่าอนุรักษ์เชิงระบบนิเวศ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า มีความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนมีทัศนียภาพทางธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง อยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดนครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ ได้แก่

- อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครนายก จ.สระบุรี จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี
- อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี
- อุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี
- อุทยานแห่งชาติตาพระยา จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์

โดยลักษณะภูมิประเทศที่สลับซับซ้อนของภูเขาใหญ่น้อยแห่งเทือกเขาสันกำแพง โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มียอดเขาสูงสุดของพื้นที่ สลับกับพื้นที่ราบและทุ่งระหว่างหุบเขา สภาพป่าโดยทั่วไปมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ชนิดป่า ชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่า โดยเฉพาะยังเป็นแหล่งที่อยู่อายของสัตว์ป่าหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์หลายชนิด เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญ ๆ หลายสาย ได้แก่ แม่น้ำนครนายก แม่น้ำประจันตคาม แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำปราจีนบุรี ลำพระเพลิงและลำตะคอง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตกเหวสุวัต น้ำตกเหวนรก ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ป่าลานผืนสุดท้ายของประเทศในอุทยานแห่งชาติทับลาน ตลอดจนมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่หลากหลาย เช่น การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การดูนก การดูผีเสื้อ การส่องสัตว์ การล่องแก่ง ปั่นจักรยานชมธรรมชาติ เป็นต้น

13 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ครบรอบ 131 ปี วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 การคุกคามจากอำนาจตะวันตก รำลึกความหาญกล้าแห่งยุทธนาวีไทย ที่มิหวั่นแสนยานุภาพฝรั่งเศส

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (เอกสารภาษาอังกฤษเรียกว่า Franco-Siamese War หรือสงครามฝรั่งเศส-สยาม) เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศส ในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2436 จากการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศลาวในปัจจุบัน)

ผู้มีบทบาทสำคัญในวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือ โอกุสต์ ปาวี รองกงสุลฝรั่งเศสประจำนครหลวงพระบาง ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายฝรั่งเศสในดินแดนลาว โดยใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของสยามที่ไม่สามารถดูแลหัวเมืองชายแดนได้ทั่วถึง การก่อกบฏในเวียดนามที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ การปราบฮ่อซึ่งแตกพ่ายจากเหตุการณ์กบฏไท่ผิงในจีน และการทวีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลฝรั่งเศสที่กรุงปารีส

การรบที่ปากน้ำเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 โดยเกิดการต่อสู้บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทร ต่างฝ่ายต่างได้รับความเสียหาย โดยฝรั่งเศสสามารถฝ่ากระสุนเข้ามาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสได้และยื่นคำขาดต่อไทย ดังนี้...

1. ไทยต้องเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่าง ๆ ตั้งแต่ภาคเหนือของลาวไปจนถึงพรมแดนเขมร

2. ให้ไทยรื้อถอนด่านทั้งหมดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้เสร็จภายใน 1 เดือน

3. ให้ไทยจัดการปัญหาทุ่งเชียงคำ เมืองคำพวน และความเสียหายที่เรือรบฝรั่งเศสและชาวฝรั่งเศสได้รับจากการปะทะกัน

4. ให้ไทยลงโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่รับผิดชอบในการยิงปืนที่ปากน้ำ

5. ให้ไทยชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวฝรั่งเศสเป็นเงิน 2 ล้านฟรังก์

ฝ่ายไทยจึงยอมรับทุกข้อยกเว้นข้อ 1 ทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจ จึงถอนคณะทูตออกจากประเทศไทย เรือรบจึงได้ไปยังเกาะสีชังและปฏิบัติการปิดอ่าวไทย จึงเป็นเหตุให้ไทยรับเงื่อนไขคำขาดโดยไม่ต่อรองใด ๆ เพื่อให้ฝรั่งเศสยุติการปิดอ่าว แต่รัฐบาลฝรั่งเศสกลับยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติมที่รุนแรงขึ้นคือ เรียกร้องจะเข้ายึดครองแม่น้ำและท่าเรือจังหวัดจันทบุรีและไทยต้องไม่มีกำลังทหารอยู่ที่พระตะบอง เสียมราฐ และบริเวณรัศมี 25 กิโลเมตรบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ฝ่ายไทยจึงยอมรับเงื่อนไขที่เพิ่มเติมมาแต่โดยดี หลังจากนั้นฝรั่งเศสได้ส่งผู้แทนรัฐบาลมาเจรจาขอทำสนธิสัญญาเพื่อยุติกรณีพิพาท ร.ศ. 112 ในร่างสัญญาดังกล่าวไทยมีข้อเสียเปรียบหลายประการ

ท้ายที่สุดวิกฤตการณ์ครั้งนี้จบลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436

วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญที่คนไทยพึงเรียนรู้ เพื่อเตือนใจลูกหลานไทยตระหนักว่าครั้งหนึ่งผืนแผ่นดินไทยได้ประสบกับภัยสงคราม โดยนับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จวบจนต้นรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยต้องประสบกับภัยคุกคามจากชาติมหาอำนาจตะวันตกเป็นเวลาหลายสิบปี และแม้ว่าฝ่ายไทยจะด้อยแสนยานุภาพกว่าฝรั่งเศสด้วยประการทั้งปวง ทว่าจิตใจและความหาญกล้าของทหารไทยนั้นมิได้ย่นย่อเกรงกลัวข้าศึกแต่ประการใด 

สำหรับ วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ครั้งนั้น ได้นำมาสู่สถานการณ์ที่ฝรั่งเศสเรียกร้องผลประโยชน์ และการครอบครองดินแดนไทยยืดเยื้ออยู่นานกว่า 10 ปี ไทยต้องยอมสูญเสียดินแดนเป็นจำนวน ถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดให้ฝรั่งเศส เพื่อรักษาผืนแผ่นดินส่วนใหญ่ และเอกราชไว้ (ยกดินแดนลาวฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส - สูญเสียดินแดนประเทศราชของไทยในเขมรและลาวที่เหลืออยู่ในเวลาต่อมา)

โดยในปัจจุบัน ป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงวีรชนผู้ที่เสียสละชีพในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 และเป็นสถานที่สำหรับศึกษาด้านประวัติศาสตร์ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์ป้อมพระจุลจอมเกล้า ป้อมปืนเสือหมอบ พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง ลานจัดแสดงอาวุธกลางแจ้ง และ เส้นทางชมป่าชายเลนอันร่มรื่นและแวดล้อมด้วยสัตว์ประจำถิ่นนานาชนิด

11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ‘สมเด็จพระนารายณ์มหาราช’ เสด็จสวรรคต กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ปราสาททอง

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ปราสาททอง กรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศ เมืองลพบุรี หลังจากประชวรหนักในช่วงที่ ‘พระเพทราชา’ กระทำการชิงราชสมบัติ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 4 ของราชวงศ์ปราสาททอง ทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าปราสาททองและพระนางเจ้าสิริกัลยานี พระราชสมภพในปีพ.ศ. 2175 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2199 มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะทรงมีพระชนมายุ 25 พรรษา

หลังจากประทับที่กรุงศรีอยุธยาได้ 10 ปี พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 ในปีพ.ศ. 2209 และเสด็จไปประทับทุก ๆ ปี ครั้งละเป็นเวลานานหลายเดือน กระทั่งเสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. 2231 ขณะพระชนมายุได้ 56 พรรษา รวมเวลาที่ทรงครองราชสมบัติ 32 ปี

พระองค์ได้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก ด้วยพระปรีชาสามารถหลายด้านของพระองค์ ทั้งด้านการปกครอง การทหาร ทรงชำนาญด้านการศึก ทรงปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ ให้มาสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งเสด็จออกรับคณะฑูต ฝีมือวาดช่างฝรั่งเศส จากหนังสือนวนิยายเรื่อง รุกสยาม ในนามของพระเจ้า โดย มอร์กาน สปอร์แตช

ด้านการทูต ทรงสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ทั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน เช่น พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งคณะราชทูตไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส การค้ากับต่างประเทศจึงเจริญมาก มีชาวต่างชาติเข้ามารับติดต่อค้าขาย และบางส่วนเข้ารับราชการในพระราชอาณาจักรด้วย

อีกทั้งยังทรงรับวิทยาการสมัยใหม่ เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์บางประการ การวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังอีกด้วย

นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระองค์เป็นยุคที่วรรณคดีและศิลปะเจริญถึงขีดสุด มีงานวรรณคดีชิ้นสำคัญเกิดขึ้นหลายชิ้น อาทิ สมุทรโฆษคำฉันท์, คำฉันท์กล่อมช้าง, อนิรุทธคำฉันท์ และ จินดามณี ของพระโหราธิบดี ซึ่งจัดเป็นตำราเรียนเล่มแรกของไทย

10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 วันสถาปนา ‘คณะครุศาสตร์’ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งส่งเสริมมาตรฐานการสอน-เปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์เป็นครู

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 คณะครุศาสตร์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นคณะที่ 7 ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตาม ‘พระราชกฤษฎีกาแยกแผนกวิชาครุศาสตร์จากคณะอักษรศาสตร์’ ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 74 ตอนที่ 63 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2500 หน้า 1164 - 1166 ประกอบด้วย 4 มาตรา มาตราที่ 3 ระบุว่า ‘ให้จัดตั้งคณะครุศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่ง’

โดยเหตุผลในการประกาศพระราชกฤษฎีกา ระบุท้ายประกาศว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์จะเป็นครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษา ได้เข้าศึกษาทางวิชาการและการวิจัยในวิชาครุศาสตร์ และวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องมากขึ้น และเพื่อส่งเสริมมาตรฐานการสอน และการประกอบอาชีพเกี่ยวกับวิชาดังกล่าวให้กว้างขวางขึ้นจนถึงขั้นปริญญาโท และปริญญาเอกในโอกาสต่อไป โดยมีศาสตราจารย์พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกวิชาครุศาสตร์ในขณะนั้น (ศาสตราจารย์กิตติคุณ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา) เป็นคณบดีคนแรก

ประกอบกับคณะครุศาสตร์มีโครงการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ทดลองฝึกปฏิบัติงานครูและวิจัยงานวิชาการของคณะครุศาสตร์ จึงได้รับการจัดสรรเนื้อที่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบริเวณด้านทิศตะวันตกของถนนพญาไท จำนวน 4 หมอน หรือประมาณ 40 ไร่ (1 หมอน เท่ากับสิบไร่) นับเป็น ‘คณะแรกที่ได้บุกเบิกออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย’ และเมื่อเป็น ‘คณะครุศาสตร์’ ได้แบ่งการสอนออกเป็น 4 แผนกวิชา คือ 1. แผนกวิชาสารัตถศึกษา 2. แผนกวิชาประถมศึกษา 3. แผนกวิชามัธยมศึกษา และ 4. แผนกวิชาวิจัยการศึกษา

9 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ‘ไมค์ ไทสัน’ โดนปรับ 3 ล้านดอลลาร์ฯ - ถูกแบนไม่ให้ขึ้นชกมวย หลังสร้างเรื่องช็อกโลก!! กัดหู ‘อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์’ จนแหว่ง

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ‘ไมค์ ไทสัน’ เจ้าของฉายามฤตยูดำ ถูกปรับเงิน 3 ล้านดอลลาร์ พร้อมถูกยึดใบอนุญาตชกมวย จากเหตุการณ์ช็อกโลกกัดใบหู ‘อีแวนเดอร์ โฮลิฟิลด์’ ในการชกชิงแชมป์โลก รุ่น เฮฟวีเวท

ซึ่งชนวนเหตุ เริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ไมค์ ไทสัน หรือที่ทั่วโลกรู้จักเขาในฉายา มฤตยูดำ ต้องพบกับความพ่ายแพ้เป็นครั้งที่ 2 ในการชกมวยอาชีพ ด้วยน้ำมือของ อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ ด้วยการถูกน็อกในยก 11 พร้อมกับทำให้ ไทสัน เสียเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวทของสมาคมมวยโลก (WBA) ไปแบบสุดเจ็บช้ำ ซึ่งจากความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น ทำให้ไทสันพยายามที่จะขอรีแมตช์เพื่อแย่งแชมป์โลกคืนมา และในที่สุดทั้งคู่ก็ตกลงดวลกำปั้นกันอีกครั้งในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2540 ที่สังเวียน เอ็มจีเอ็ม แกรนด์ ลาสเวกัส พร้อมกับมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

เมื่อเริ่มยกแรก โฮลีฟิลด์ คู่ปรับเดินหน้าเข้าใส่ทันที และทำได้ดีจนกระทั่งเข้าสู่ยกที่ 2 โฮลีฟิลด์ ได้เอาหัวไปโขกไทสันจนบริเวณตาขวาบวมขึ้นมา แต่กรรมการ มิลล์ เลน ไม่ได้ลงโทษใด ๆ เนื่องจากมองว่าเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งจากอุบัติเหตุครั้งนี้ก็ทำให้ ไทสัน เริ่มออกอาการหัวเสีย

เมื่อเข้าสู่ยกที่ 3 ไทสัน ดูจะฟิวส์ขาดอย่างชัดเจน เพียงแค่ 40 วินาทีสุดท้ายก่อนหมดยก ในขณะที่ทั้งคู่กำลังคลุกวงในอยู่ ไทสันที่ฟิวส์ขาดจนฉุดไม่อยู่ ก็ได้สร้างเหตุการณ์ช็อกโลก ไทสันแอบคายฟันยางและกัดเข้าที่ใบหูข้างขวาของ โฮลีฟิลด์ จนขาดติดปาก ก่อนจะถ่มลงพื้นเวที ทำเอา โฮลีฟิลด์ กระโดดไปทั่วด้วยความเจ็บปวดปนช็อกที่ไม่คิดว่าจะมาเจออะไรแบบนี้บนสังเวียน และการชกก็ต้องหยุดลงไปหลายนาทีเพื่อปฐมพยาบาล

โดยเมื่อแพทย์ได้ห้ามเลือดและดูบาดแผลแล้วก็ยังอนุญาตให้ชกได้ กรรมการจึงประกาศหักคะแนนไทสัน 2 แต้ม จากการทำผิดกติกาก่อนจะให้ชกกันต่อ แต่ดูเหมือนไทสันจะยังไม่หนำใจ เพราะเขาได้ทิ้งรอยแผลที่หูอีกข้าง ด้วยการกัดไปอีกหนึ่งรอบ ก่อนระฆังจะหมดยก ซึ่งกรรมการ มิลล์ เลน ก็ได้ ปรับให้ไทสันแพ้ฟาวล์ในการกัดหูรอบที่สอง

22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ (โต พรหมรังสี) มรณภาพ พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญแห่งต้นสมัยรัตนโกสินทร์

วันนี้ในอดีต สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือนามที่นิยมเรียก ‘สมเด็จโต’, ‘หลวงปู่โต’ หรือ ‘สมเด็จวัดระฆัง’ พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญแห่งต้นสมัยรัตนโกสินทร์ มรณภาพ สิริอายุรวม 84 ปี

ทั้งนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต ซึ่งตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มารดาบิดาของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด มีผู้กล่าวประวัติของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายฉบับ เช่น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อนางงุด บุตรของนายผลกับนางลา ชาวนาเมืองกำแพงเพชร หรือฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อเกตุ คนท่าอิฐ อำเภอบางโพ อย่างไรก็ดีมารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือ (คำเรียกในสมัยอยุธยา) เพราะทุกแหล่งอ้างอิงกล่าวตรงกันว่ามารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือแต่ได้ลงมาทำมาหากินแถบภาคกลางในช่วงหลัง

สำหรับบิดาของท่านนั้น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่าท่านเป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งทรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าพระยาจักรี ส่วนฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล และฉบับของตรียัมปวายกล่าวว่าท่านเป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และแม้ในฉบับของตรียัมปวายจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อยืนยันหลายข้อ แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติทั้งสองฉบับกล่าวตรงกันเพียงว่า ข้อสันนิษฐานว่าด้วยบิดาของท่านนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่าซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นกล่าวและเชื่อกันโดยทั่วไป

เมื่อถึงวัยพอสมควรแล้ว ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2343 ต่อมาปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า ‘พฺรหฺมรํสี’ เนื่องจากเป็นเปรียญธรรม จึงเรียกว่า ‘พระมหาโต’ มานับแต่นั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รับพระมหาโตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดปรานพระมหาโตเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2395 พระองค์จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์พระมหาโตเป็นครั้งแรก เป็นพระราชาคณะที่ ‘พระธรรมกิติ’ และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี โดยปกติแล้วพระมหาโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด อีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2397) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ ‘พระเทพกระวี’ หลังจากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะที่ ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า

สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ

สมณศักดิ์ดังกล่าวนี้นับเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดและเป็นชั้นสุดท้ายที่ท่านได้รับตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า ‘สมเด็จโต’ หรือ ‘สมเด็จวัดระฆัง’ ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่านเรียกท่านว่า ‘ขรัวโต’

ราวปี พ.ศ. 2410 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่วัดอินทรวิหาร (ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน) ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่ทันสำเร็จ โดยขณะนั้นก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี

14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ สั่ง ‘ทุบหม้อข้าว’ บุกตีเมืองจันทบุรี ยุทธวิธีอันลือลั่นในปัจจุบัน ที่ปลุกขวัญกำลังใจทหารกล้าจนสำเร็จ

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ คือ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ ได้ยกทัพบุกตีเมืองจันทบูร หรือเมืองจันทบุรี และได้ปลุกขวัญกำลังใจเหล่าทหารด้วยการ ‘ทุบหม้อข้าว’ หมายจะได้กินข้าวเช้าในเมืองจันทบุรี หากตีเอาเมืองไม่ได้ ก็ให้ตายด้วยกันเสียให้หมด ถือว่าเป็นกลศึกที่ปลุกขวัญกำลังใจแก่ทหารกล้าเป็นอย่างมาก และเป็นยุทธวิธีอันลือลั่นมาจนถึงทุกวันนี้

จากเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน สมเด็จพระเจ้าตากฯ เดินทัพจากระยองผ่านแกลงเข้าบางกระจะ มุ่งยึดจันทบุรี เจ้าเมืองจันทบุรีไม่ยอมสวามิภักดิ์ สมเด็จพระเจ้าตากฯ ต้องการยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นที่มั่นเพื่อรวบรวมกำลังมาตีพม่า จึงสั่งทหารทุกคนว่า

"เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเสร็จแล้ว ทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ ก็จะให้ได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว"

ทั้งนี้ ในวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 ครั้นถึงเวลา 19.00 น. สมเด็จพระเจ้าตากฯ จึงได้สั่งให้ทหารไทยและจีนลอบเข้าไปอยู่ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้ว ให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเมืองพร้อมกัน จึงให้โห่ขึ้นให้พวกอื่นรู้ เมื่อเวลา 03.00 น. สมเด็จพระเจ้าตากฯ ก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาณพร้อมกับบอกพวกทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากฯ ก็ไสช้างเข้าพังประตูเมืองจนทำให้บานประตูเมืองพังลง ทหารสมเด็จพระเจ้าตากฯ จึงกรูกันเข้าเมืองได้ พวกชาวเมืองต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีไป ส่วนพระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยังเมืองบันทายมาศ สมเด็จพระเจ้าตากฯ ตีเมืองจันทบุรีได้ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เพลา 3 ยามเศษ ตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 03.00 น. หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน

หลังจากนั้น สมเด็จพระเจ้าตากฯ ได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองตราด พวกกรมการและราษฎรเกิดความเกรงกลัวต่างพากันมาอ่อนน้อมโดยดี ที่ปากน้ำเมืองตราดมีเรือสำเภาจีนมาทอดทุ่นอยู่หลายลำ สมเด็จพระเจ้าตากฯ จึงได้เรียกนายเรือมาพบ แต่พวกจีนนายเรือขัดขืนต่อสู้ สมเด็จพระเจ้าตากฯ จึงนำกองเรือไปล้อมสำเภาจีนเหล่านั้น ได้ทำการต่อสู้กันอยู่ประมาณครึ่งวันก็ยึดสำเภาจีนไว้ได้หมด ได้ทรัพย์สินสิ่งของมาเป็นจำนวนมาก

แผนการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากฯ ได้เดินทางกลับจากตราดมาตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่เมืองจันทบุรี เพื่อวางแผนปฏิบัติการรบเพื่อตีกรุงศรีอยุธยาคืนจากข้าศึก พร้อมกับสั่งให้ต่อเรือรบและรวบรวมเครื่องศาสตราวุธและยุทธภัณฑ์ภายในเวลา 3 เดือน พร้อมกับฝึกไพร่พลให้พร้อมที่จะปฏิบัติการ

เมื่อสิ้นฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากฯ ได้ยกกองทัพเรือจากจันทบุรีเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเข้าโจมตีข้าศึกที่เมืองธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากฯ ยึดเมืองธนบุรีและปราบนายทองอินได้แล้ว จึงเคลื่อนทัพต่อไปที่กรุงศรีอยุธยาเข้า ยึดค่ายโพธิ์สามต้นปราบพม่าจนราบคาบ สามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมา เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 13.00 น. ใช้เวลา 7 เดือนหลังจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยา

13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 สิ้น 'พุ่มพวง ดวงจันทร์' นักร้องขวัญใจคนไทย เจ้าของฉายา ‘ราชินีลูกทุ่ง’ ในความทรงจำ

‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ มีชื่อจริงว่า ‘รำพึง จิตร์หาญ’ โดยมีชื่อเล่นว่า ‘ผึ้ง’ เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งชาวไทย ได้รับฉายาว่าเป็น ‘ราชินีลูกทุ่ง' โดยพุ่มพวงเกิดที่จังหวัดชัยนาท ต่อมาเติบโตที่ จังหวัดสุพรรณบุรี ครอบครัวเป็นชาวไร่ฐานะยากจน เมื่ออายุได้ 15 ปี บิดาฝากให้เป็นบุตรบุญธรรมของ ‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’

ระหว่างที่อยู่วงดนตรีของไวพจน์ พุ่มพวงทดลองร้องเพลงหน้าเวที ครั้งแรกในงานประจำปี ที่ตลาดลำนารายณ์ อำเภอไชยบาดาลจังหวัดลพบุรี ต่อมาไวพจน์แต่งเพลง 'แก้วรอพี่' ให้พุ่มพวงร้องบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อว่า ‘น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ’ และที่นี้อีกเช่นกันที่พุ่มพวงได้พบรักกับ ‘ธีระพล แสนสุข’ สามีคนแรกซึ่งเป็นนักดนตรีอยู่ในวง

ต่อมา ‘รุ่ง โพธาราม’ นักร้องรุ่นพี่ชักชวนให้แยกมาตั้งวงดนตรีเอง ด้วยการสนับสนุนของมนต์ เมืองเหนือ และมีการเปลี่ยนชื่อจาก ‘น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ’ เป็น 'พุ่มพวง ดวงจันทร์' แต่กิจการวงดนตรีไม่ประสบความสำเร็จและต้องเลิกไปในที่สุด แต่พุ่มพวงไม่ถอดใจ เธอตั้งวงดนตรีอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ขาดทุนจนเลิกกิจการไป พุ่มพวงจึงหันมาเป็นนักร้องประจำวงของ ศรเพชร ศรสุพรรณ และขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด

พุ่มพวง เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นเมื่อไปทำงานกับบริษัท เสกสรรค์ จำกัด ของประจวบ จำปาทอง แต่ที่เรียกว่า 'โด่งดัง' คือ พ.ศ. 2525 เมื่อมาอยู่บริษัท อโซน่าโปรโมชั่น โดยมี ลพ บุรีรัตน์ (ชื่อจริง วิเชียร คำเจริญ) ครูเพลงชื่อดังแต่งเพลงให้, ประยงค์ ชื่นเย็น และอเนก รุ่งเรือง เรียบเรียงดนตรี ทำให้เพลง สาวนาสั่งแฟน, นัดพบหน้าอำเภอ, กระแซะเข้ามาซิ, อื้อหือ…หล่อจัง, ห่างหน่อยถอยนิด ฯลฯ ดังระเบิดไปทั่วประเทศ

กล่าวได้ว่า เพลงที่พุ่มพวงเป็นร้อง, ลพแต่ง, ประยงค์/อเนกเรียบ เพลงไหนเพลงนั้น 'ดัง' ติดหูคนฟังหมด ผลงานของทั้งสามคนจึงทยอยออกมาอีกมากมาย เช่น ตั๊กแตนผูกโบว์, เงินน่ะมีไหม, ขอให้รวย, หนูไม่รู้, คนดังลืมหลังควาย ฯลฯ

จังหวะนี้เองพุ่มพวง ตั้งวงดนตรีพุ่มพวง ดวงจันทร์ อีกครั้ง คราวนี้เธอประสบความสำเร็จทางธุรกิจเพลงและวงดนตรี ทุกอย่างไปด้วย ยกเว้นชีวิตครอบครัว ประมาณปี 2526 พุ่มพวงตัดสินใจแยกทางกับ ธีระพล แสนสุข ในปีเดียวกันนี้เองที่พุ่มพวงเริ่มอาชีพ ‘นักแสดง’ ผลงานเรื่องแรกของเธอคือ ‘สงครามเพลง’ ของฉลอง ภักดีวิจิตร มีเพลงประกอบชื่อ ‘ดาวเรืองราวโรย’ ที่ลพ บุรีรัตน์เป็นผู้แต่งให้พุ่มพวงร้องในเรื่อง

หลังจากนั้นก็มีอีกหลายเรื่อง เช่น ผ่าโลกบันเทิง (พ.ศ. 2526), สาวนาสั่งแฟน (พ.ศ. 2527), มนต์รักนักเพลง (พ.ศ. 2528), อาจารย์เด๋อเจอพุ่มพวง (พ.ศ. 2528) ฯลฯ การเข้าวงการแสดงทำให้พุ่มพวงได้พบกับ ‘ไกรสร แสงอนันต์’ สามีคนที่ 2 (ที่มีลูกชายด้วยกัน 1 คน คือ ชื่อ ‘น้องเพชร’) ซึ่งเข้ามาเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้พุ่มพวง เขาได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพุ่มพวง ด้วยการนำวงดนตรีของพุ่มพวง เปิดคอนเสิร์ตการกุศลหน้าพระพักตร์พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ที่ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี เมื่อปี 2529 ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการลูกทุ่งไทย

พุ่มพวง ยังเป็นนักร้องลุกทุ่งหญิงคนเดียว ที่เดินทางไปเปิดการแสดงที่สหรัฐอเมริกาตามคำเชิญของแฟนเพลงแดนไกลบ่อยที่สุด สถิติจากร้านจำหน่ายเพลงของคนไทยในลอสแอนเจลิส ปี 2533-34 แจ้งว่ามียอดจำหน่ายสูงสุดถึง 1 ล้านตลับ

อย่างไรก็ตาม ขณะที่พุ่มพวงกำลังโด่งดังเรื่องการงาน สุขภาพเธอกลับย่ำแย่

ต่อมาเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534 พุ่มพวงป่วยเป็นโรคไต อาการรุนแรงจนต้องส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ต่อมามีการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแพทย์ตรวจพบว่า พุ่มพวงป่วยเป็นโรค 'เอสแอลดี' หรือโรคลูปัส

โรคเอสแอลอี เป็นโรคในกลุ่มข้ออักเสบและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทําให้ร่างกายสร้างสารโปรตีนชนิดหนึ่งต่อต้านเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายตนเองและเกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่เป็นพิษต่ออวัยวะขึ้น (แพ้ภูมิตนเอง) ทําให้มีอาการและอาการแสดงได้กับทุกระบบในร่างกาย

ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 พุ่มพวงที่มีอาการป่วยเรื้อรัง และญาติ ๆ เดินทางไปนมัสการพระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีมหาธาตุ จ.พิษณุโลก พุ่มพวงเกิดหมดสติกะทันหันจนต้องนำส่งโรงพยาบาล แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น...สุดท้ายเธอก็เสียชีวิตลงในค่ำคืนนั้น

ทั้งนี้ งานศพของพุ่มพวง จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติที่วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีแฟนเพลงนับแสนเดินทางจากทั่วประเทศมาอำลานักร้องในดวงใจของพวกเขา ที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ คงเหลือแต่ผลงานเพลงของเธอที่ฝากไว้ให้แฟน ๆ ชาวไทยได้จดจำและหวนคิดถึงอยู่ร่ำไป

12 มิถุนายน ของทุกปี ‘ILO’ กำหนดเป็น ‘วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก’ กระตุ้นสังคมตระหนักรู้และยุติบังคับใช้แรงงานเด็ก

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ได้กำหนดให้วันที่ 12 มิถุนายนของทุกปี เป็น ‘วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก’ (World Day Against Child Labour) เพื่อให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนขึ้นของแรงงานเด็ก และช่วยกันยุติการกระทำเหล่านี้ โดยความร่วมมือกันของหน่วยงานรัฐบาล ลูกจ้าง องค์กรผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เป็นล้านคนจากทั่วทุกมุมโลกที่จะร่วมหารือถึงการช่วยเหลือเด็กเหล่านี้และทำให้แรงงานเด็กลดจำนวนลง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาแรงงานเด็กที่ทั่วโลกต้องรับรู้…หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นเวลาเกือบสองทศวรรษที่โลกมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการลดการใช้แรงงานเด็ก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้ง วิกฤตการณ์ และการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ครอบครัวจำนวนมากต้องตกอยู่ในความยากจน และบังคับให้เด็กอีกนับล้านกลายเป็นแรงงานเด็ก

การเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่เพียงพอหรือครอบคลุมเพียงพอเพื่อลดแรงกดดันที่ครอบครัวและชุมชนจำนวนมากรู้สึก และนั่นทำให้พวกเขาหันไปใช้แรงงานเด็ก ทุกวันนี้เด็กกว่า 160 ล้านคนยังคงใช้แรงงานเด็ก ซึ่งเท่ากับจำนวนเด็กเกือบ 1 ใน 10 ของเด็กทั่วโลก

ทวีปแอฟริกาอยู่ในอันดับสูงสุดในการใช้แรงงานเด็ก ทั้งในด้านเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ถูกใช้แรงงาน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 และจำนวนเด็กทั้งหมดที่ใช้แรงงานเด็กเท่ากับ 72 ล้านคน เอเชียและแปซิฟิกอยู่ในอันดับ 2 สูงสุดในมาตรการทั้งสองนี้ โดยนับเป็น 7% ของเด็กทั้งหมด หรือ 62 ล้านคนที่อยู่ในการใช้แรงงานเด็กในภูมิภาคนี้

ภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียและแปซิฟิกรวมกันมีเด็กเกือบ 9 ใน 10 คนที่ถูกใช้แรงงานทั่วโลก ประชากรแรงงานเด็กที่เหลืออยู่แบ่งเป็นทวีปอเมริกา (11 ล้านคน) ยุโรปและเอเชียกลาง (6 ล้านคน) และรัฐอาหรับ (1 ล้านคน) ในแง่ของอุบัติการณ์ เด็ก 5% ตกเป็นแรงงานเด็กในอเมริกา 4% ในยุโรปและเอเชียกลาง และ 3% ในประเทศอาหรับ

9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 วันสวรรคต ‘ในหลวงรัชกาลที่ 8’ พระมหากษัตริย์ผู้สร้างคุณูปการต่อวงการแพทย์ไทย

‘วันอานันทมหิดล’ ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ด้วยความสำนึกในพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้สร้างคุณูปการไว้อเนกอนันต์โดยเฉพาะในด้านการแพทย์และการศึกษา รัฐบาลจึงถือเอาวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี เป็น ‘วันอานันทมหิดล’

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาเกือบ 12 ปีที่ทรงครองราชย์ ( 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงมีพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการปกครอง การศาสนา การแพทย์และการศึกษา เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร ณ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 พระองค์ได้มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของประเทศไทยจึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบันคือ ‘คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ นั่นเอง

>> พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมือง ไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชนก (องค์พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย) และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระอนุชา คือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระองค์ได้ทรงศึกษาจากต่างประเทศและได้เสด็จนิวัตประเทศไทยภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่7) ทรงสละราชสมบัติโดยมิได้ทรงสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท

คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงมีการลงมติเห็นชอบอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สืบพระราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ทรงได้รับการเฉลิมพระนามใหม่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2478 ว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล’ ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียงราว 9 พรรษา จึงทรงมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อทำการบริหารแผ่นดินแทนจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

ในระหว่างการศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้เสด็จนิวัตเมืองไทย เพื่อกลับมาเยี่ยมเยือนดูแลทุกข์สุขของราษฎร ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 21 พรรษาทรงเสด็จนิวัตเมืองไทยอีกครั้งด้วยทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายในฐานะประมุขของประเทศ ระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ในพระนคร เมื่อคราวเสด็จนิวัติเมืองไทยครั้งที่ 2 นั้น พระองค์เสด็จสวรรคต เนื่องจากถูกพระแสงปืน ณ พระแท่นบรรทมในพระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังจากเสวยราชสมบัติเป็นเวลา 12 ปี

ปวงชนชาวไทยต่างน้อมรำลึกถึงพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านโดยถือเอาวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปีเป็น ‘วันอานันทมหิดล’ โดยในปี พ.ศ. 2528 สมาคมศิษย์เก่าแพทย์ จุฬาลงกรณ์ ได้รวบรวมทุนจากเงินบริจาคของศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ที่หน้าตึกอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อเป็นการรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงบันดาลให้เกิดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ ให้ประชาชนได้รำลึกถึงพระองค์ท่านสืบไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top