Tuesday, 1 July 2025
LITE TEAM

29 ธันวาคม 2453 รัชกาลที่ 6 สถาปนา 'โรงเรียนมหาดเล็กหลวง' ต่อมาได้กลายเป็น 'วชิราวุธวิทยาลัย'

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2453 รัชกาลที่ 6 พระราชทานกำเนิด 'โรงเรียนมหาดเล็กหลวง' ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น 'วชิราวุธวิทยาลัย' โดยมีวัตถุประสงค์ในการทดลองจัดการศึกษาของชาติและให้การศึกษาแก่ราษฎรเพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต นอกจากนี้ยังพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนี้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี รับทราบการจัดการศึกษาของชาติ โดยในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2453 พระองค์ทรงพระกรุณาให้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในพระบรมมหาราชวัง ก่อนที่จะพระราชทานชื่อใหม่ว่า 'โรงเรียนมหาดเล็กหลวง'

พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เงิน 100,000 บาทเพื่อเป็นทุนของโรงเรียน และในภายหลังได้พระราชทานที่ดินสวนกระจังจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนถาวร ซึ่งมีการออกแบบโดยเอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ และพระสมิทธเลขา

โรงเรียนมหาดเล็กหลวงดำเนินการตามหลักการของระบบการศึกษาของอังกฤษ แต่พระราชดำริของพระองค์คือการสร้างเยาวชนที่มีคุณธรรมและพร้อมรับภาระในอนาคต แทนที่จะเน้นผลการเรียนเพียงอย่างเดียว

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในปี 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชทานนามใหม่ว่า 'วชิราวุธวิทยาลัย' เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์

วชิราวุธวิทยาลัยได้รับการจัดตั้งเป็นโรงเรียนประจำชายล้วน และยังคงมีตึกที่พักนักเรียนที่เรียกว่า 'คณะ' ซึ่งแบ่งเป็นคณะต่าง ๆ ปัจจุบัน ดำเนินการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 

28 ธันวาคม ของทุกปี วันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี

วันที่ 28 ธันวาคม เป็น 'วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช' ซึ่งตรงกับวันปราบดาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี พระองค์ทรงพระนามเดิมว่า 'สิน' (หรือในภาษาจีน 'เซิ้นเซิ้นซิน') พระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 บิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋วชื่อ 'นายไหฮอง' มารดาเป็นหญิงไทยชื่อ 'นางนกเอี้ยง'

สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เริ่มต้นชีวิตในฐานะมหาดเล็กและได้รับการอุปการะจากเจ้าพระยาจักรี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2309 เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าโจมตีและเสียกรุงเป็นครั้งที่สอง พระองค์ได้นำทหาร 500 คนฝ่าวงล้อมของพม่าและหลบหนีไปยังหัวเมืองภาคตะวันออก ต่อมาได้ยึดเมืองจันทบุรีและรวบรวมกำลังเพื่อกอบกู้เอกราชจากพม่า

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 พระองค์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์และทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ซึ่งเป็นการกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติไทย หลังจากนั้นพระองค์ทรงปราบปรามก๊กต่าง ๆ และรวบรวมอาณาจักรไว้ได้สำเร็จในระยะเวลาเพียง 3 ปี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2325 สิริพระชนมายุ 48 พรรษา ทรงครองราชย์เป็นเวลา 15 ปี โดยเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวของกรุงธนบุรี และเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในการกอบกู้ชาติและรักษาอิสรภาพให้กับประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี เป็น 'วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช' เพื่อยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของชาติไทย พร้อมทั้งสร้างอนุสาวรีย์พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ประทับบนอัศวราชพาหนะที่วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อชาติไทย

27 ธันวาคม ของทุกปี วันจิตอาสา วันแห่งผู้อุทิศตน ทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม

วันที่ 27 ธันวาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น 'วันจิตอาสา' เพื่ออุทิศให้กับการทำงานอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และส่งเสริมการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน วันจิตอาสานี้มีต้นกำเนิดจากเหตุการณ์สึนามิที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งทำให้มีอาสาสมัครจำนวนมากหลั่งไหลลงไปยังพื้นที่ประสบภัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน สิ่งตอบแทนเดียวที่พวกเขาได้รับ คือการเห็นผู้รอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น เครือข่ายจิตอาสาจึงได้กำหนดให้วันที่ 27 ธันวาคมเป็นวัน 'จิตอาสา' เพื่อระลึกถึงความร่วมมือและความเสียสละในการช่วยเหลือผู้อื่น โดยมุ่งหวังให้ผู้คนหันมาทำความดีต่อกันโดยไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตัว

26 ธันวาคม 2547 20 ปี เหตุแผ่นดินไหวสุมาตรา 9.0 ริกเตอร์ ก่อคลื่นสึนามิถล่มไทย-เอเชียใต้ เสียชีวิตกว่า 230,000 ราย

เมื่อเวลา 07.58 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม 2547 (ตามเวลาประเทศไทย) หรือเมื่อ 20 ปีก่อน เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่มีศูนย์กลางบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีขนาดความรุนแรงถึง 9.0 ริกเตอร์ ซึ่งทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย รวมถึง 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต, พังงา, ระนอง, กระบี่, ตรัง และสตูล

ผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และมีผู้สูญหายจำนวนมาก บ้านเรือนประชาชน โรงแรม รีสอร์ต รวมถึงระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และถนนได้รับความเสียหายหลายพันล้านบาท

นอกจากนี้ในเวลา 08.30 น. ของวันเดียวกัน ยังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ริกเตอร์ที่รัฐฉาน ประเทศพม่า ซึ่งทำให้เกิดความสั่นสะเทือนในหลายจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย เช่น ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน

คลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลที่เกาะสุมาตราได้ถล่มพื้นที่ต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ รวมถึงอินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา และมาเลเซีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 230,000 คน

เหตุการณ์ในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ถือเป็นเหตุการณ์สึนามิครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นความสูญเสียที่เกินกว่าจะคาดคิด ทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สิน

25 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ในหลวงร.9 เสด็จฯเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ามูเซอ พร้อมพระราชทานเหรียญที่ระลึกแทนบัตรประชาชน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ามูเซอ ณ หมู่บ้านผาหมี หมู่ที่ 15 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

การเสด็จพระราชดำเนินของพระองค์ในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทรงส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชต่าง ๆ เช่น กาแฟ ลิ้นจี่ แมคคาเดเมีย รวมถึงพระราชทานวัวให้ชาวเขาเลี้ยง พร้อมกับหาจุดรับซื้อผลิตผล เพื่อให้ชาวเขาเหล่านั้นไม่ต้องปลูกฝิ่นหรือทำไร่เลื่อนลอย และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ยังทรงยืนยันว่า ชาวเขาเผ่ามูเซอทุกคนคือคนไทย ไม่ใช่คนเร่ร่อนไร้สัญชาติ

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังทรงพระราชทาน ‘เหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา’ ซึ่งมีตัวย่อ ‘ชร’ (หมายถึงจังหวัดเชียงราย) และหมายเลขโค้ด 6 หลักที่ใช้แทนหมายเลขบัตรประชาชน ให้แก่ชาวเขาบ้านผาหมี โดยทรงพระราชทานเหรียญที่ระลึกนี้แก่ชาวเขาในหลายจังหวัดทั่วประเทศประมาณ 20 จังหวัดในปี พ.ศ. 2506 รวมกว่า 200,000 เหรียญ ทุกเหรียญจะมีอักษรย่อของจังหวัดและหมายเลขประจำเหรียญ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการสำรวจสำมะโนประชากรและการพิสูจน์สัญชาติในการทำบัตรประชาชนให้แก่ชาวเขา

24 ธันวาคม 2483 ไทยประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตามสากล

24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศไทย แทนวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย

ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงนี้ ประเทศไทยเคยกำหนดวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งในปฏิทินจันทรคติไทยมักเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ก่อนที่จะปรับมาใช้วันที่ 1 มกราคม ตามประกาศของรัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

รัฐบาลระบุเหตุผล 4 ประการที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้แก่ 1.สอดคล้องกับหลักพุทธศาสนา การนับวันเดือนและการเฉลิมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญไม่ขัดกับหลักธรรมทางศาสนา 2. ลดอิทธิพลลัทธิพราหมณ์ เลิกการใช้คติพราหมณ์ที่เคยมีบทบาทในการกำหนดวันสำคัญของชาติ 3. มาตรฐานสากล ให้ประเทศไทยใช้ปฏิทินเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก เพื่อความสะดวกในการติดต่อระหว่างประเทศ 4. ฟื้นฟูวัฒนธรรมไทย สอดคล้องกับคตินิยมและจารีตประเพณีดั้งเดิมของชาติ

ประกาศระบุว่า “นานาอารยประเทศตลอดจนประเทศใหญ่ ๆ ทางตะวันออก ได้ใช้งานวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปีมานานกว่า 2,000 ปี การเปลี่ยนแปลงนี้มิได้เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนา จารีตประเพณี หรือการเมืองของชาติใด แต่เป็นผลจากการคำนวณทางดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่นานาประเทศยอมรับ”

นับตั้งแต่การประกาศดังกล่าว ประเทศไทยได้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม ของทุกปีเป็นวันเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่เรื่อยมา จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สำคัญในสังคมไทย

22 ธันวาคม 2431 เสียดินแดนครั้งที่ 8 สยามสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทให้ฝรั่งเศส

เมื่อ 22 ธันวาคม 2431 ประเทศสยามต้องทำสัญญากับฝรั่งเศสที่เมืองแถง (ปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟูในประเทศเวียดนาม) ส่งผลให้สยามสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหกให้กับฝรั่งเศส โดยพื้นที่กว่า 87,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ที่ติดต่อกับแขวงพงศาลีของลาว

ดินแดนสิบสองจุไทเคยเป็นบ้านของชาวไทน้อย ซึ่งประกอบไปด้วยชาวไทดำ ไทขาว และไทพวน มีทั้งหมด 12 เมืองที่มีเจ้าผู้ปกครองเป็นของตัวเอง ส่วนหัวพันทั้งห้าทั้งหกประกอบด้วยหกเมืองที่มีการปกครองอิสระเช่นกัน ในยุคก่อนหน้านี้ ดินแดนเหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง และต่อมาเป็นประเทศราชของสยาม

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการกบฏของกลุ่มจีนฮ่อที่เข้ามายึดครองพื้นที่ทางภาคเหนือของสยาม และส่งผลให้ไทยต้องส่งกองทัพเข้าไปปราบปราม ซึ่งแม้จะได้รับชัยชนะ แต่ฝรั่งเศสซึ่งขยายอิทธิพลในเวียดนามได้อ้างสิทธิ์ในดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหก

การเจรจาระหว่างไทยและฝรั่งเศสที่เมืองแถงในปี 2431 ทำให้ไทยต้องยอมรับให้ฝรั่งเศสควบคุมดินแดนสิบสองจุไท โดยฝรั่งเศสยังคงตั้งทหารอยู่ในพื้นที่สิบสองจุไท ขณะที่ทหารไทยอยู่ที่หัวพันทั้งห้าทั้งหก และไม่ให้ฝ่ายใดละเมิดเขตแดนของกันและกัน  แม้ต่างฝ่ายต่างยืนยันสิทธิเหนือดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหก และต้องการให้อีกฝ่ายถอนกำลังทหารออกไป แต่ฝรั่งเศสมีกองทัพที่แข็งแกร่งกว่าไทย และดินแดนพิพาทยังอยู่ใกล้กับญวนมากกว่าไทย หากเกิดสงครามขึ้นจริงก็ยากที่ไทยจะเป็นฝ่ายชนะ

จากการทำสัญญาดังกล่าว สยามจึงสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันห้าทั้งหกให้กับฝรั่งเศส และในที่สุดก็เสียสิทธิเหนือดินแดนเหล่านี้อย่างสมบูรณ์ในอีก 5 ปีต่อมา ในเหตุการณ์วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112

20 ธันวาคม 2510 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ เปิด ม.ขอนแก่น มหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคอีสาน

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเป็นทางการ และทรงปลูกต้นกาลพฤกษ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

ในโอกาสนี้ พระองค์ทรงมีพระบรมราโชวาทว่า "...การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรยินดี..."

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งแรก แม้แนวคิดในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยจะเริ่มขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่การเตรียมการจริงจังก็เกิดขึ้นในรัฐบาลพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี พ.ศ. 2505 และเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2507 โดยมีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงในด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ที่บ้านสีฐาน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น 'มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ' หรือ 'Khon Kaen Institute of Technology' (K.I.T.) ภายใต้การดูแลของสภาการศึกษาแห่งชาติ

ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นคือรูปองค์พระธาตุเต็มองค์ประดิษฐานบนขอนไม้แก่น สลักชื่อมหาวิทยาลัย โดยมีเทวดาอัญเชิญมิ่งมงคลสองข้าง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นมงคล ส่วนพื้นหลังแบ่งเป็น 3 ช่อง เพื่อแสดงถึงคุณธรรม 3 ประการ ได้แก่ วิทยา (ความรู้ดี), จริยา (ความประพฤติดี), และปัญญา (ความฉลาดที่เกิดจากการเรียนรู้และคิด)

การเลือกพระธาตุพนมเป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น เป็นการแสดงถึงการเคารพในพระธาตุพนม ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญของชาวไทยและลาว และมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางทางความคิดและสติปัญญาของสังคม รวมทั้งเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในปี พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็น 'มหาวิทยาลัยขอนแก่น' และในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2509 พระราชบัญญัติการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510

มหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 5,500 ไร่ บริเวณมอดินแดง ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินลูกคลื่นสีแดง โดยมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ให้บริการการศึกษาครบครันทุกสาขาวิชาและการดูแลทางการแพทย์ที่ทันสมัยในภาคอีสาน

17 ธันวาคม 2498 วันสวรรคตของ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หรือพระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 60 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติจากสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2405 ณ พระบรมมหาราชวัง

ในพระเยาว์วัย ทรงศึกษาตามประเพณีราชสำนัก เรียนรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และมีความสนพระทัยในวรรณคดี นิทาน สุภาษิต รวมถึงหนังสือประวัติศาสตร์ ทรงฝึกฝนและเชี่ยวชาญในงานศิลปหัตถกรรมไทย เช่น การทำดอกไม้ใบตองและการปักถักกรอง ทรงเผยแพร่ผลงานศิลปกรรมเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 10 พระองค์ ซึ่งประกอบด้วยพระราชโอรส 4 พระองค์ และพระราชธิดา 4 พระองค์ รวมทั้งพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ล่วงลับไปแล้ว ได้แก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์, สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระนามเดิม) ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จสวรรคตในรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2498 ณ พระตำหนักใหญ่ วังงสระปทุม สิริพระชนมายุ 93 พรรษา ทรงเจริญพระชนม์ชีพในยุคที่ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากสังคมดั้งเดิมสู่สมัยใหม่ ในฐานะขัตติยราชนารี ทรงรักษาขนบประเพณีและทรงนำสิ่งดีงามจากอดีตมาผสมผสานกับสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์แก่สังคม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่ประชุมใหญ่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ เป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 150 ปีวันคล้ายวันพระราชสมภพ ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพและการอนุรักษ์พัฒนาด้านวัฒนธรรม พร้อมกับบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกอีก 97 รายการ

16 ธันวาคม วันกีฬาแห่งชาติ น้อมระลึกถึงพระปรีชาสามารถ ในหลวง ร.9 ทรงร่วมแข่งขันกีฬาเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นตัวแทนของนักกีฬาทีมชาติไทย เข้าร่วม การแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ และทรงชนะเลิศได้รับเหรียญทองในการแข่งขันเรือใบประเภท โอ.เค. ซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ทางการกีฬาของประเทศไทย นอกเหนือจากกีฬาเรือใบแล้ว แบดมินตันก็เป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดปรานมากเช่นกัน ในหอประชุมวังจิตรลดาฯ ได้ปรับแต่งเป็นสนามแบดมินตันมาตรฐาน ส่วนมากพระองค์จะทรงแบดมินตันในตอนเย็นและวันศุกร์ และเช้าวันอาทิตย์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางการกีฬานี้ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกว่า พระองค์ทรงเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริงและทรงสนับสนุนกีฬาจนเป็นที่ปรากฏชัด

ดังนั้นในการประชุมใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลครั้งที่ 29 ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยมีนายฮวน อันโตนีโอ ซามาร้านซ์ ประธานคณะโอลิมปิกสากล เป็นประธานการประชุมพร้อมทั้งสมาชิกเข้าร่วมประชุมอีก 87 ประเทศ ได้มีมติเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิกสากล คือ 'อิสริยาภรณ์โอลิมปิกชั้นสูงสุด' (ทอง) แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯถวายเหรียญโอลิมปิกชั้นสูง สมควรที่นักกีฬาและประชาชนชาวไทยควรที่จะเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท อันจะเป็นโอกาสให้สามารถนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติและวงศ์ตระกูล

เพื่อเป็นการระลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นนักกีฬาตัวแทนของชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 และเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนชาวไทยเห็นคุณค่าความสำคัญของการกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย จึงได้มีมตินำเสนอคณะรัฐมนตรีลงความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2529 กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวัน 'วันกีฬาแห่งชาติ'


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top