Thursday, 9 May 2024
LITE TEAM

18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประกาศต่อประชาราษฎร์เรื่องจะทรงผนวช

วันนี้เมื่อ 63 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงแถลงพระราชดำริในการที่จะทรงผนวช จึงได้ประกาศให้ราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ได้รับทราบ ความว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงมาร่วมประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริที่จะบรรพชาอุปสมบทให้บรรดาอาณาประชาราษฎร์ทราบทั่วกัน”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง

เมื่อ พ.ศ. 2499 มีพระราชประสงค์ที่จะทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชภาระสนองพระเดชพระคุณในการทรงผนวชในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย

และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร์

โดยหลังจากที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และคณะทูตานุทูต เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อทรงแถลงพระราชดำริในการที่จะเสด็จออกทรงพระผนวช ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 แล้ว 

จากนั้นวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากทรงเจริญพระเกศา โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงจรดพระกรรไกรบิดเปลื้องพระเกศาเป็นปฐมฤกษ์แล้ว

ทรงเครื่องเศวตพัสตรีทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ทรงรับผ้าไตรจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแล้วทรงเข้าบรรพชาอุปสมบทในท่ามกลางสังฆสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงได้รับสมญานามจากพระราชอุปัชฌาจารย์ ว่า ‘ภูมิพโล’

ในระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ ทรงรับประเคนผ้าไตรจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงรับไทยธรรมจากสมเด็จพระบรมราชชนนี ตามลำดับ

จากนั้น พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทำทัฬหิกรรม ณ พระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระศาสนโศภน (จวน อุฏฺฐายี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

จากนั้นทรงประกอบพิธีตามขัตติยราชประเพณี แล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า-เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัยนอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ เช่น

วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในพระบรมราชินูปถัมภ์

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต ณ วังสระปทุม

วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ได้เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาตจากประชาชนทั้งในบริเวณถนนพระสุเมรุ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี อีกด้วย

วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงลาผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร รวมเวลาทรงผนวชทั้งสิ้น 15 วัน

16 ตุลาคม พ.ศ. 2336 พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ราชินีแห่งฝรั่งเศส ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีน ช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส

พระนางมารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) นามเดิมตอนประสูติคือ อาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทนีอา โยเซฟา โยฮันนา (Maria Antonia Josepha Johanna)

พระนางมารี อ็องตัวแน็ต เป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แกรนด์ดยุกแห่งตอสคานา (ราชวงศ์ลอแรน) กับจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา แห่งฮังการีและโบฮีเมีย อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย (ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค) พระราชสมภพเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 เป็นพระธิดาองค์ที่ 14 ในจำนวน 16 พระองค์ของพระบิดาและพระมารดา

มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) องค์หญิงจากออสเตรีย วัย 14 ชันษา ถูกส่งตัวมาฝรั่งเศส จากนั้นอภิเษกสมรสกับ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) ในปี ค.ศ. 1770 เป็นการเชื่อมอำนาจระหว่าง ออสเตรีย-ฝรั่งเศส สองผู้ยิ่งใหญ่ในยุโรปแห่งศตวรรษที่ 18 แต่วิถีชีวิตที่อยู่กับความมั่งคั่งจากมรดกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14-15 กลายเป็นความฟุ้งเฟ้อ หรูหรา และลงท้ายด้วยการถูกประชาชนประณามถึงการใช้ทรัพย์สินในท้องพระคลัง จนเกือบถึงขั้นล้มละลาย ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างลำบากยากแค้น ปัญหาเศรษฐกิจที่แก้ไม่ออก จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวปฏิวัติโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เพื่อสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นมาแทน

นอกจากการถูกฝ่ายฝักใฝ่สาธารณรัฐ เกลียดชังในความฟุ้งเฟ้อแล้ว พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ยังถูกเรื่องฉาวข่าวลือซุบซิบในราชสำนักไม่ว่างเว้น และหนึ่งในเรื่องที่เล่าขานต่อๆ กันมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือพระนางมารี กับความสัมพันธ์ลับ ๆ กับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้รัก เคานต์ แอ็กเซิล ฟอน แฟร์ซอง (Axel von Fersen) เอกอัครราชทูตสวีเดน ซึ่งมาประจำการที่พระราชวังแวร์ซาย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1774 

ข่าวลือเรื่องชู้รักรุนแรงถึงขั้นที่กล่าวกันว่า องค์รัชทายาท หลุยส์ที่ 18 (Dauphin Louis XVII เกิดปีค.ศ. 1785 - เสียชีวิต ปี ค.ศ. 1795) นั้นเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของแฟร์ซอง ไม่ใช่ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดยพบจดหมายที่ทั้งสองเขียนถึงกันหลายฉบับ เนื้อหาในจดหมายส่วนใหญ่เป็นการบอกข่าวความเป็นอยู่อย่างยากลำบากในสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียด และความพยายามขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อหนีจากเงื้อมมือคณะปฏิวัติ รวมทั้งการติดต่อขอความช่วยเหลือจากเหล่าผู้ปกครองราชวงศ์และขุนนางในยุโรป

หลังเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศส ในฐานะนักโทษของแผ่นดิน พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ถูกกักบริเวณหรือจองจำอยู่ในพระราชวังตุยเลอรี ก่อนที่จะถูกสมัชชาแห่งชาติของคณะผู้นำการปฏิวัติฝรั่งเศสดำเนินคดีและพิพากษาประหารชีวิตบนแท่นกิโยตีนในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2336 (ค.ศ. 1793) ในข้อหาผู้ทรยศโกงชาติ

15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรกมาถึงไทย ด้วยเครื่องบินขนส่ง ‘Antonov’

วันนี้เมื่อ 20 ปีก่อน รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรก เดินทางถึงประเทศไทย ก่อนจะนำมาให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 เป็นวันที่รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรก ซึ่งเป็นรุ่น ซีเมนส์ โมดูลาร์ เมโทร ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากยุโรปมาถึงประเทศไทย โดยถูกบรรทุกมาด้วยเครื่องบินขนส่ง Antonov ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

โดยรถไฟฟ้ารุ่นซีเมนส์ โมดูลาร์ เมโทร ได้เริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ในเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลหรือสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกในประเทศไทย มีระยะทาง 20 กิโลเมตร จากสถานีหัวลำโพง - สถานีบางซื่อ รวม 18 สถานี

เป็นเวลากว่า 19 ปีแล้ว ที่รถไฟฟ้ารุ่นนี้ยังคงวิ่งให้บริการอยู่ ทั้งหมด 19 ขบวน ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ จนได้มีการเปิดให้บริการเพิ่มเติมครบลูปสายสีน้ำเงิน ไม่ว่าจะเป็นช่วงหัวลำโพง-บางแค หรือบางซื่อ-ท่าพระ โดยได้รับการดูแล บำรุงรักษาตามมาตรฐานอย่างดีเพื่อให้มีความปลอดภัย และพร้อมให้บริการอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินมีรถไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด 54 ขบวน 

14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ‘รัฐบาลทหาร’ ใช้กำลังสลายการชุมนุม จนนำไปสู่ ‘วันมหาวิปโยค’ ของคนไทย

ครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อ นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาประท้วงรัฐบาลทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร อย่างรุนแรง

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มาจาก นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมา เรียกร้องรัฐธรรมนูญ สถานการณ์ในตอนนั้นเกิดจากการสั่งสมกดดันของการเมืองการปกครองของไทย ที่ ถูกปกครองในระบอบเผด็จการทหารมาเป็นเวลาถึง 15 ปี นับตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี 2501 จนมาถึงการรัฐประหารซ้ำ ในปี 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร

แต่หลังจากนั้น รัฐบาลจอมพลถนอม ตอบโต้ด้วยควบคุมตัวกลุ่มบุคคล 13 คน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘13 กบฏรัฐธรรมนูญ’ ที่บางส่วนออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พร้อมตั้งข้อหาหลายข้อ รวมทั้งข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์

การจับกุมตัวบุคคลกลุ่มดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงเริ่มต้น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และหยุดชุมนุมประท้วงรัฐบาลอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

การประท้วงต่อเนื่องกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ จนรัฐบาลเปลี่ยนท่าที และสัญญาว่าจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญ และปล่อยตัวประชาชนที่ออกมาเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปี

แต่หลังจากเจรจากลุ่มนักศึกษายังคงชุมนุมต่อไปอีกหนึ่งคืน และบางส่วนได้เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อใช้ระบบวิทยุกระจายเสียงของรัฐ

เหตุการณ์ที่ควรจะจบลงด้วยความสงบ กลับถูกแทนที่ด้วยความรุนแรง ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 รัฐบาลได้ใช้กำลังสลายฝูงชนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

หลังเกิดเหตุรุนแรง จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงขอให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว

หลังมีการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุการณ์ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป จนถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่มีข่าวว่า จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง และทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถูกจารึกในฐานะ ‘ชัยชนะของประชาชน’

ต่อมารัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ทำการตั้ง ‘สมัชชาแห่งชาติ’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘สภาสนามม้า’ ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 2,347 คน และให้เลือกกันเองให้เหลือ 299 คน จากนั้นจึงแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกไปเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2517

ปัจจุบัน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว จึงมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง รวมถึง ในปี พ.ศ. 2546 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันประชาธิปไตย’ เป็นวันสำคัญของชาติ

๑๓ ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย

ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม เพื่อให้บ้านเมืองและประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นับจากวันนั้น พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนมาโดยตลอด

ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ทรงห่วงใยในทุกข์สุข ของอาณาประชาราษฎร์ มิต่างจากทุกข์สุขของพระองค์เอง กษัตริย์ผู้ทรงอุทิศพระวรกาย ในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ มากมาย นำพาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ สะท้อนออกมาเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและ การพัฒนาประเทศทั้งสิ้น อาทิ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาด้านการเกษตร พัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม พัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ พัฒนาด้านสาธารณสุข พัฒนา ด้านคมนาคมและการสื่อสาร พัฒนาด้านสวัสดิการสังคมและการศึกษา โครงการพัฒนา แบบบูรณาการและอื่น ๆ ซึ่งทุกโครงการที่พระองค์ได้พระราชทาน ยังประโยชน์สุข มากมายแก่ประชาชนชาวไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน

สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย ด้วยการน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน มาเป็นแนวปฏิบัติในการดำรงตน ตามวิถีแห่งความพอเพียง พออยู่ พอกิน และคงไว้ ซึ่งความดี ความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติงานในฐานะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะเป็นองค์กรรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมก้าวเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท แห่งศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

12 ตุลาคม พ.ศ. 2546 แพนด้ายักษ์ ‘ช่วงช่วง - หลินฮุ่ย’ ทูตสันถวไมตรีจากจีนเดินทางถึงไทย

วันนี้ เมื่อ 20 ปีก่อน ประเทศไทย ได้ต้อนรับ ‘ช่วงช่วง - หลินอุ่ย’ แพนด้ายักษ์ ทูตสันถวไมตรีไทย - จีน เป็นครั้งแรก

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2546 แพนด้าคู่แรกได้เดินทางจากประเทศจีนมาถึง จ.เชียงใหม่ ด้วยเที่ยวบินพิเศษ ‘เรารักแพนด้า’ ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ท่ามกลางความชื่นชมยินดีจากชาวเชียงใหม่ ก่อนที่จะนำแพนด้าทั้งคู่ไปที่สวนสัตว์เชียงใหม่ โดยทางไทยได้มีการสร้างสถานที่พัก ส่วนงานวิจัยและสถานที่จัดแสดงขึ้นแบบควบคุมอุณหภูมิ ก่อนจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2546

แพนด้ายักษ์ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางการทูตของเมืองจีน โดยทางจีนได้ส่งแพนด้ายักษ์คู่นี้มาเพื่อให้เป็นทูตสันถวไมตรีไทย-จีน เพื่อสานสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา จีนได้ยกเลิกการใช้หมีแพนด้าในฐานะทูตสันถวไมตรี โดยเปลี่ยนมาใช้วิธีการให้ ‘ยืม’ จัดแสดง เป็นเวลา 10 ปี โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานปีละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีข้อกำหนดว่าลูกของแพนด้ายักษ์ใด ๆ ที่เกิดระหว่างการยืมนั้น ถือเป็นทรัพย์สินของจีน

กระแสแพนด้าฟีเวอร์คู่นี้ได้รับความนิยมจากชาวไทยเป็นอย่างมากถึงขั้นทรูวิชันส์ได้เปิดช่องถ่ายทอดความเคลื่อนไหวของแพนด้าแบบเรียลลิตี้ 24 ชั่วโมง ให้เห็นความน่ารักของคู่รักแพนด้าในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนอน เดิน กินใบไผ่  ซึ่งเป็นกระแสอย่างมากในช่วงนั้น หลินฮุ่ยเองได้ให้กำเนิดลูกแพนด้า ‘หลินปิง’ ซึ่งเกิดจากการผสมเทียมสำเร็จเมื่อ 27 พฤษภาคม 2552 

เดิมทีไทยจะต้องส่งคืนช่วงช่วง แพนด้าเพศผู้กลับคืนจีนในปี 2556 ตามสัญญาครบรอบ 10 ปี แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ จีนจึงต่อสัญญาขยายเวลายืมจัดแสดงช่วงช่วง-หลินฮุ่ยอีกครั้งไปจนถึงปี 2566 

แต่เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2562 ช่วงช่วง แพนด้าเพศผู้ได้จากไปอย่างกะทันหัน ด้วยอายุ 19 ปี ซึ่งสาเหตุการตายมาจากภาวะหัวใจล้มเหลว ส่งผลให้อวัยวะภายในทั่วร่างกายขาดออกซิเจน

และหลังจากนั้น หลินฮุ่ย แพนด้าเพศเมีย ได้จากไปในวัย 21 ปี เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2566 ปิดตำนานแพนด้ายักษ์ ‘ทูตสันถวไมตรีไทย - จีน’

11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เกิดเหตุการณ์ ‘กบฏบวรเดช’ การก่อกบฏครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

วันนี้ เมื่อ 90 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์ "กบฏบวรเดช” ซึ่งเป็นกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างขุนนางเก่าที่นิยมเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร์ผู้ทำการอภิวัตน์การปกครอง 

‘กบฏบวรเดช’ เป็นการกบฏด้วยกำลังเพื่อล้มล้างรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา การกบฏเริ่มขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการปฏิวัติสยาม สาเหตุเกิดมาจากความผิดหวังตำแหน่งทางการเมืองของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และมีความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่เข้ามาสมทบ

สำหรับสาเหตุนั้นมีข้อมูลระบุว่า ชนวนสำคัญที่สุด คือ ข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ เป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ ‘กบฏบวรเดช’

อีกทั้งการกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดชในครั้งนี้ เกิดจากความมุ่งหวังอำนาจทางการเมือง นับตั้งแต่สมัยที่ทรงลาออกจากเสนาบดีกลาโหมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อทรงพลาดพลั้งจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ทรงมุ่งหวัง และถูกกีดกันจากอำนาจทางการเมือง จึงเป็นเหตุที่กระตุ้นให้พระองค์ก่อการยึดอำนาจจากคณะราษฎร

โดยในวัน 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เพียงสิบวันหลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเดินทางกลับประเทศสยาม พระองค์เจ้าบวรเดชได้นำกำลังเข้าแจ้งต่อข้าราชการหัวเมืองว่า รัฐบาลคณะราษฎรจะเอาระบอบคอมมิวนิสต์มาใช้และจะไม่มีกษัตริย์จึงต้องนำทหารเข้าไปปราบปราม อย่าได้ทำการขัดขวาง โดยพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำกองกำลังกบฏที่ชื่อว่า คณะกู้บ้านเมือง 

และได้มีการปะทะกันที่อำเภอปากช่อง แล้วคณะผู้ก่อการได้ยกกองกำลังเข้ามาทางดอนเมือง และยึดพื้นที่เอาไว้ โดยเรียกชื่อคณะตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” และเรียกแผนการปฏิวัติครั้งนี้ โดยใช้กองกำลังทหารจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้าล้อมเมืองหลวงว่า แผนล้อมกวาง

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ได้รู้ล่วงหน้าถึงการกบฏครั้งนี้ถึง 2 วัน และพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ดำเนินการต่อต้าน โดยประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 12 ตุลาคม 2476 ในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพ และแต่งตั้งพันโทหลวงพิบูลสงคราม หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ยศขณะนั้น) เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม พร้อมรถ ปตอ. รุ่น 76 และรถถัง รุ่น 76 บรรทุกรถไฟยกออกไปปราบปรามได้สำเร็จ ขณะที่ยังส่งพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ เข้าเจรจาให้ฝ่ายกบฏเลิกราไปเสีย และจะขอพระราชทานอภัยโทษให้ แต่ทางฝ่ายกบฏได้จับตัวพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ไว้เป็นตัวประกัน

จนกระทั่งเวลาเที่ยงตรงฝ่ายกบฏได้ส่งหนังสือยืนเงื่อนไขทั้งหมด 6 ข้อ แต่ทางฝ่ายรัฐบาลยืนกรานไม่ยินยอม จึงเกิดการต่อสู้กันของทั้งสองฝ่าย ทั้งกำลังทหารปืนใหญ่จากนครสวรรค์, กำลังทหารม้าจำนวน 5 กองร้อยของนครราชสีมา พร้อมปืนกล ไหนจะรถเกราะ ส่งผลให้มีทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมากกินเวลาหลายวัน

จนวันที่ 15 ตุลาคมฝ่ายปฏิวัติพ่ายแพ้จนพระองค์เจ้าบวรเดชขึ้นเครื่องบินหนีออกนอกประเทศไปยังเมืองไซ่ง่อน และฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามฝ่ายปฏิวัติได้สำเร็จในที่สุด

จากนั้นในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่บริเวณหลักสี่ บางเขน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบ เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ได้มีการย้ายอนุสาวรีย์หลีกเส้นทางรถไฟฟ้า กระทั่งถึงปัจจุบันยังไม่ทราบว่าได้นำไปไว้ที่ใด

9 ตุลาคม ของทุกปี ตรงกับ ‘วันไปรษณีย์โลก’ ย้อนรำลึกวันวานส่งข่าวสารผ่านจดหมาย

วันไปรษณีย์โลก (World Post day) จะมีขึ้นทุกปีในวันที่ 9 ตุลาคม เพื่อเป็นการระลึกถึง วันเริ่มก่อตั้งสหภาพไปรษณีย์สากล

ก่อนที่จะมีสหภาพไปรษณีย์สากล การที่ประเทศหนึ่งจะแลกเปลี่ยนไปรษณีย์กับประเทศอื่นได้ต้องมีการทำสนธิสัญญากับแต่ละประเทศคู่สัญญา อีกทั้งการส่งจดหมายระหว่างประเทศมักต้องติดแสตมป์ของประเทศต่าง ๆ ที่จดหมายเดินทางผ่าน จึงมีการเรียกร้องให้มีการประชุมนานาชาติในเรื่องนี้ จนกระทั่ง เมื่อ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2417 ในการประชุมที่กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ลงนามในสนธิสัญญาเบิร์น จัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศได้สำเร็จ ใช้ชื่อว่า สหภาพไปรษณีย์ทั่วไป และในการประชุมไปรษณีย์สากลสมัยถัดไป พ.ศ. 2421 (ค.ศ. 1878) ที่กรุงปารีส เห็นว่าจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น จึงได้ลงมติเปลี่ยนมาใช้ชื่อ สหภาพไปรษณีย์สากล Universal Postal Union จนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 สมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ได้กำหนดให้วันที่ 9 ตุลาคม เป็นวันไปรษณีย์โลก World Post Day และประเทศสมาชิกตกลงร่วมกันที่จะเฉลิมฉลองในโอกาสนี้โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเขียนจดหมาย อันเป็นการสร้างสัมพันธภาพ และเสรีภาพผ่านตัวอักษร โดยไม่จำกัดเชื้อชาติหรือศาสนา ให้ทุกคนบนโลกใบนี้สามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างทั่วถึง

๘ ตุลาคม วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับวีระยุทธ ดิษยะศริน เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระภาคิไนยในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

>>พระประวัติ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ หรือพระนามลำลองว่า พระองค์หริภา ประสูติเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2525 ณ พระตำหนักใหม่ สวนจิตรลดา เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับนาวาอากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน มีพระขนิษฐาหนึ่งพระองค์ คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

เมื่อประสูติพระองค์ดำรงพระยศที่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า ด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระโอรสพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ให้ดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า ทุกพระองค์ ซึ่งพระยศดังกล่าวเทียบเท่าตำแหน่ง "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"

>>การศึกษา
พระองค์เข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลปีที่ 1 - ประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนจิตรลดา, ประถมศึกษาปีที่ 5 - มัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนฮอล์ตัน-อามส์ (Holton-Arms School) รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา, ระดับเกรด 8 โรงเรียนเฮอร์เบิร์ตฮูเวอร์มิดเดิล (Herbert Hoover Middle School) สหรัฐอเมริกา, ระดับเกรด 8-11 โรงเรียนมัธยมวอลเตอร์ จอห์นสัน (Walter Johnson High School) สหรัฐอเมริกา ภายหลังได้นิวัติกลับประเทศไทยและเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 โรงเรียนจิตรลดา

ส่วนระดับอุดมศึกษา ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภาพพิมพ์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาศิลปไทย ภาควิชาศิลปไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร

>>พระกรณียกิจ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงประกอบพระกรณียกิจทั้งในด้านการสนองพระเดชพระคุณในฐานะพระราชวงศ์ และพระกรณียกิจในด้านต่าง ๆ อาทิ

- รองประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมกีฬาทางอากาศและการบินแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ประธาน ศูนย์ปฏิบัติการบินอาสา อนุรักษ์และกู้ภัย สิริภาจุฑาภรณ์ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ
- โครงการงานบ้านกู้ภัย ‘โครงการบ้านกู้ภัยร่วมใจสิริภา’ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบพิบัติภัย

>>ด้านศิลปะ
ทรงส่งเสริมงานด้านต่าง ๆ ของคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย ต่าง ๆ อาทิ

- ทรงจัดประมูลงาน ‘ภาพฝีพระหัตถ์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์’ เพื่อช่วยเหลือสุนัขจรจัด ในงาน ‘นิทรรศการศิลปะเพื่อสุนัข My Friends’
- งานบูรณะพระวิหาร บูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนังบูรณะศาลาบ่อทิพย์ และปรับพื้นที่ภูมิทัศน์ วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
- โครงการจัดสร้างสวนประติมากรรม ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพุทธศาสนา’ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ และสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับชุมชน
- โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เวียงท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
- โครงการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังพระวิหารวัดหนองน้ำขุ่น ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

7 ตุลาคม พ.ศ. 2463 ‘เรือหลวงพระร่วง’ เรือรบหลวงลำแรกของไทย เดินทางมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา

วันนี้ เมื่อ 103 ปีก่อน ‘เรือหลวงพระร่วง’ เรือรบหลวงลำแรกของไทย เดินทางมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้การบังคับการโดย ‘กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์’ 

เรือหลวงพระร่วง เป็นเรือหลวงลำแรกในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งข้าราชการและประชาชนผู้มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างเรือรบไว้เพื่อป้องกันราชอาณาจักรทางทะเล จึงร่วมกันจัดตั้ง ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Royal Navy League of Siam) ขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 เพื่อเรี่ยไรทุนทรัพย์ซื้อเรือรบถวายเป็นราชพลี 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความยินดีและเห็นชอบ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามเรือนี้ว่า พระร่วง อันเป็นสิริมงคลตามวีรกษัตริย์อันเป็นที่นับถือของชาวไทยทั่วไป พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการหาทุนเพื่อสร้างเรือลำนี้ เช่น ได้แก้ไขบทละครเรื่อง ‘มหาตมะ’ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 ทรงนำเรื่องการเสียสละทุนทรัพย์สมทบทุนสร้างเรือรบเข้ามาเป็นหัวใจของเรื่อง และได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงเพื่อเก็บเงินสมทบทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ทั้งยังมีการแสดงละครพระราชนิพนธ์อีกหลายเรื่องตลอดจนโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวดภาพเพื่อหารายได้อีกด้วย 

นอกจากนั้นพระองค์ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวน 80,000 บาท กับเงินที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้พร้อมใจกันออกทุนเรี่ยไรถวายเมื่อครั้งจัดงานพระราชพิธีทวีธาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งยังเหลือจากการใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน 116,324 บาท ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์อีกเป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท เมื่อรวมกับเงินที่เรี่ยไรทั่วพระราชอาณาจักร ได้จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,514,604 บาท 1 สตางค์ ในปี พ.ศ. 2463

ต่อมา นายพลเรือโท พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงพิเศษออกไปจัดซื้อเรือในภาคพื้นยุโรปพร้อมด้วยนายทหารอีก 5 นาย คณะข้าหลวงพิเศษตรวจการซื้อเรือในภาคพื้นยุโรปชุดนี้คัดเลือกได้เรือพิฆาตตอร์ปิโด มีนามว่า ‘เรเดียนท์’ (RADIANT) ของบริษัทธอร์นิครอฟท์ (Thornycroft Co.,) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเห็นว่าเหมาะสมแก่ความต้องการของกองทัพเรือและเป็นเรือที่ต่อขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้นสงครามยุติลงเมื่อ พ.ศ. 2461 อังกฤษจึงยินดีขาย คณะข้าหลวงพิเศษได้ตกลงซื้อเรือลำนี้เป็นเงิน 200,000 ปอนด์ ส่วนเงินที่เหลือจากการซื้อเรือนั้นได้พระราชทานให้แก่กองทัพเรือไว้สำหรับใช้สอย เสด็จในกรมฯ ได้เป็นผู้บังคับการเรือลำนี้จากประเทศอังกฤษเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2463 นับเป็นเกียรติประวัติครั้งแรกที่คนไทยเดินเรือทะเลได้ไกลถึงเพียงนี้

สำหรับสมรรถนะของเรือหลวงพระร่วงมีดังนี้ คือ มีระวางขับน้ำ 1,046 ตัน ความยาวตลอดลำ 83.57 เมตร ความกว้างสุด 8.34 เมตร กินน้ำลึก 4 เมตร อาวุธปืน 102 ม.ม. 3 กระบอก ปืน 76 ม.ม. 1 กระบอก ต่อมาติดปืน 40 ม.ม. 2 กระบอก ปืน 20 ม.ม. 2 กระบอก มีตอร์ปิโด 21 นิ้ว 4 ท่อ มีรางปล่อยระเบิดลึก และมีแท่นยิงปืนระเบิดลึก 2 แท่น เครื่องจักรเป็นแบบไอน้ำแบบ บี.ซี. เกียร์ เทอร์ไบน์ จำนวน 2 เครื่อง ใบจักรคู่ กำลัง 29, 000 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 35 น นอต ความเร็วมัธยัสถ์ 14 นอต รัศมีทำการเมื่อความเร็วมัธยัสถ์ 1,896 ไมล์ ทหารประจำเรือ 135 คน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top