14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2419 อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ยื่นจดสิทธิบัตรโทรศัพท์อย่างเป็นทางการ
14 กุมภาพันธ์ คือวันที่มีการจดสิทธิบัตรโทรศัพท์อย่างเป็นทางการ และเป็นวันแห่งความขัดแย้งระหว่าง 2 นักประดิษฐ์ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ และ เอลิชา เกรย์ เพราะพวกเขาต่างก็ประดิษฐ์โทรศัพท์ด้วยกันทั้งคู่ แถมมาจดทะเบียนในวันเดียวกัน
สำหรับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ คือวันที่คนส่วนใหญ่ต่างรู้ว่าเป็นวันแห่งความรัก แต่ยังเป็นวันที่สำคัญอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์อีกด้วย นั่นคือวันที่ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ได้ยื่นจดสิทธิบัตรเครื่องส่งสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาจนถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับไปในอดีต อินโนเซนโซ มันเซตติ นักประดิษฐ์ชาวอิตาเลียน คือบุคคลแรกที่มีแนวคิดเรื่องการสื่อสารในรูปแบบของเสียง แต่มันก็เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น แต่ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ และ เอลิชา เกรย์ คือผู้ที่สามารถทำให้แนวคิดนี้กลายเป็นความจริง พวกเขาสามารถประดิษฐ์เครื่องส่งสัญญาณโทรศัพท์ได้เป็นผลสำเร็จในเวลาไล่เลี่ยกัน และได้จดสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการในวันเดียวกันคือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) แต่บิดาแห่งโทรศัพท์ที่โลกรู้จักกลับมีแต่เพียงเบลล์คนเดียวเท่านั้น
สำหรับนักประดิษฐ์ทั้ง 2 ท่าน คือ เอลิชา เกรย์ เป็นชาวอเมริกัน เกิดในปี ค.ศ. 1835 (พ.ศ. 2378) เป็นวิศวกรมากความสามารถที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีหลายอย่าง ส่วน อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ นั้นเป็นชาวสกอตแลนด์ เขาเกิดในปี ค.ศ. 1847 (พ.ศ. 2390) สมาชิกในครอบครัวของเบลล์หลายคนเป็นผู้พิการทางหู เขาศึกษาเกี่ยวกับผู้ที่มีปัญหาด้านการได้ยินจนเชี่ยวชาญ สามารถใช้ภาษามือในการสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว และมีความสามารถในการแยกแยะเสียงต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด
ในช่วงทศวรรษที่ 70 เกรย์ทำงานเป็นวิศวกรอยู่ในรัฐอิลลินอยส์ เขาได้ใช้เวลาทั้งหมดทุ่มไปกับการประดิษฐ์ "โทรเลขพูดได้" หรือโทรศัพท์ ซึ่งสามารถส่งข้อความในรูปแบบของเสียงได้ครั้งละหลาย ๆ ข้อความ และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เบลล์ประกอบอาชีพเป็นครูสอนคนหูหนวกอยู่ที่เมืองบอสตัน สหรัฐฯ ก็ใช้เวลาที่ว่างเว้นจากการสอนหนังสือมาประดิษฐ์เครื่องมือสื่อสารที่มีจุดประสงค์ไม่ต่างจากเกรย์ เพียงแต่เกรย์ประสบผลสำเร็จก่อน โดยเขาได้นำผลงานไปสาธิตโชว์ที่โบสถ์ไฮแลนด์ ปาร์ค ในปี ค.ศ. 1874 (พ.ศ. 2417) ในขณะที่เบลล์ประดิษฐ์ได้เป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) ซึ่งช้ากว่าเกรย์ไป 2 ปี
แต่ปัญหามาเกิดขึ้นเพราะเรื่องลิขสิทธิ์ โดยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) ทนายของเกรย์เดินทางไปยื่นคำร้องขอจดสิทธิบัตรแสดงความเป็นเจ้าของเครื่องส่งสัญญาณโทรศัพท์ที่สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐฯ โดยเขาเขียนในใบคำร้องว่าขอแจ้งจดสิทธิบัตร แต่ไม่ได้อธิบายรายละเอียดโดยแจ้งว่าเกรย์จะตามมาระบุด้วยตนเองในภายหลัง ในวันเดียวกันนั้นทนายของเบลล์ก็ได้ยื่นเรื่องขอจดสิทธิบัตรเช่นกัน
ด้วยความที่ในสมัยนั้นการตรวจสอบทางกฎหมายยังไม่เข้มข้นเหมือนในปัจจุบันที่ว่าใครจะจดลิขสิทธิ์อะไรก็ต้องตรวจสอบให้แน่ชัด และเนื่องจากทั้งคู่มาจดทะเบียนสิทธิบัตรในวันเดียวกันแถมยังสิ่งประดิษฐ์แบบเดียวกันอีกด้วย จึงเกิดเป็นปัญหาฟ้องร้องกันขึ้น แต่สุดท้ายเบลล์ชนะคดีและได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โทรศัพท์ เพราะในใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมระบุไว้ว่าเบลล์มาจ่ายเงินค่าธรรมเนียมก่อน และในลำดับการยื่นคำร้องนั้น เบลล์อยู่ลำดับที่ 5 ส่วนเกรย์อยู่ลำดับที่ 39 ซึ่งแปลว่าเบลล์มายื่นเรื่องก่อน เมื่อเบลล์ชนะคดีในครั้งนั้นเขาได้ตั้งบริษัท อเมริกัน เบลล์ เทเลโฟน (American Bell Telephone) ขึ้นมาและเริ่มประดิษฐ์โทรศัพท์อย่างจริงจัง ส่วนเกรย์นั้นได้ตั้งบริษัท เวสเทิร์น ยูเนียน เทเลกราฟ (Western Union Telegraph) และได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโทรเลขต่อไป
ที่มา : kapook