Monday, 2 December 2024
LITE TEAM

๘ ตุลาคม วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร และพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับวีระยุทธ ดิษยะศริน เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระภาคิไนยในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

>>พระประวัติ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ หรือพระนามลำลองว่า พระองค์หริภา ประสูติเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2525 ณ พระตำหนักใหม่ สวนจิตรลดา เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับนาวาอากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน มีพระขนิษฐาหนึ่งพระองค์ คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

เมื่อประสูติพระองค์ดำรงพระยศที่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า ด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระโอรสพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ให้ดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า ทุกพระองค์ ซึ่งพระยศดังกล่าวเทียบเท่าตำแหน่ง "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"

>>การศึกษา
พระองค์เข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลปีที่ 1 - ประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนจิตรลดา, ประถมศึกษาปีที่ 5 - มัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนฮอล์ตัน-อามส์ (Holton-Arms School) รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา, ระดับเกรด 8 โรงเรียนเฮอร์เบิร์ตฮูเวอร์มิดเดิล (Herbert Hoover Middle School) สหรัฐอเมริกา, ระดับเกรด 8-11 โรงเรียนมัธยมวอลเตอร์ จอห์นสัน (Walter Johnson High School) สหรัฐอเมริกา ภายหลังได้นิวัติกลับประเทศไทยและเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 โรงเรียนจิตรลดา

ส่วนระดับอุดมศึกษา ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภาพพิมพ์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาศิลปไทย ภาควิชาศิลปไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร

>>พระกรณียกิจ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงประกอบพระกรณียกิจทั้งในด้านการสนองพระเดชพระคุณในฐานะพระราชวงศ์ และพระกรณียกิจในด้านต่าง ๆ อาทิ

- รองประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมกีฬาทางอากาศและการบินแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ประธาน ศูนย์ปฏิบัติการบินอาสา อนุรักษ์และกู้ภัย สิริภาจุฑาภรณ์ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ
- โครงการงานบ้านกู้ภัย ‘โครงการบ้านกู้ภัยร่วมใจสิริภา’ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบพิบัติภัย

>>ด้านศิลปะ
ทรงส่งเสริมงานด้านต่าง ๆ ของคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย ต่าง ๆ อาทิ

- ทรงจัดประมูลงาน ‘ภาพฝีพระหัตถ์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์’ เพื่อช่วยเหลือสุนัขจรจัด ในงาน ‘นิทรรศการศิลปะเพื่อสุนัข My Friends’
- งานบูรณะพระวิหาร บูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนังบูรณะศาลาบ่อทิพย์ และปรับพื้นที่ภูมิทัศน์ วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
- โครงการจัดสร้างสวนประติมากรรม ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพุทธศาสนา’ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ และสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับชุมชน
- โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เวียงท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
- โครงการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังพระวิหารวัดหนองน้ำขุ่น ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

7 ตุลาคม พ.ศ. 2463 ‘เรือหลวงพระร่วง’ เดินทางถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เรือรบหลวงลำแรกของไทยจากเงินเรี่ยไรชาวสยาม

วันนี้ เมื่อ 103 ปีก่อน ‘เรือหลวงพระร่วง’ เรือรบหลวงลำแรกของไทย เดินทางมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้การบังคับการโดย ‘กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์’ 

เรือหลวงพระร่วง เป็นเรือหลวงลำแรกในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งข้าราชการและประชาชนผู้มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างเรือรบไว้เพื่อป้องกันราชอาณาจักรทางทะเล จึงร่วมกันจัดตั้ง ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Royal Navy League of Siam) ขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 เพื่อเรี่ยไรทุนทรัพย์ซื้อเรือรบถวายเป็นราชพลี 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความยินดีและเห็นชอบ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามเรือนี้ว่า พระร่วง อันเป็นสิริมงคลตามวีรกษัตริย์อันเป็นที่นับถือของชาวไทยทั่วไป พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการหาทุนเพื่อสร้างเรือลำนี้ เช่น ได้แก้ไขบทละครเรื่อง ‘มหาตมะ’ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 ทรงนำเรื่องการเสียสละทุนทรัพย์สมทบทุนสร้างเรือรบเข้ามาเป็นหัวใจของเรื่อง และได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงเพื่อเก็บเงินสมทบทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ทั้งยังมีการแสดงละครพระราชนิพนธ์อีกหลายเรื่องตลอดจนโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวดภาพเพื่อหารายได้อีกด้วย 

นอกจากนั้นพระองค์ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวน 80,000 บาท กับเงินที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้พร้อมใจกันออกทุนเรี่ยไรถวายเมื่อครั้งจัดงานพระราชพิธีทวีธาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งยังเหลือจากการใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน 116,324 บาท ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์อีกเป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท เมื่อรวมกับเงินที่เรี่ยไรทั่วพระราชอาณาจักร ได้จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,514,604 บาท 1 สตางค์ ในปี พ.ศ. 2463

ต่อมา นายพลเรือโท พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงพิเศษออกไปจัดซื้อเรือในภาคพื้นยุโรปพร้อมด้วยนายทหารอีก 5 นาย คณะข้าหลวงพิเศษตรวจการซื้อเรือในภาคพื้นยุโรปชุดนี้คัดเลือกได้เรือพิฆาตตอร์ปิโด มีนามว่า ‘เรเดียนท์’ (RADIANT) ของบริษัทธอร์นิครอฟท์ (Thornycroft Co.,) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเห็นว่าเหมาะสมแก่ความต้องการของกองทัพเรือและเป็นเรือที่ต่อขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้นสงครามยุติลงเมื่อ พ.ศ. 2461 อังกฤษจึงยินดีขาย คณะข้าหลวงพิเศษได้ตกลงซื้อเรือลำนี้เป็นเงิน 200,000 ปอนด์ ส่วนเงินที่เหลือจากการซื้อเรือนั้นได้พระราชทานให้แก่กองทัพเรือไว้สำหรับใช้สอย เสด็จในกรมฯ ได้เป็นผู้บังคับการเรือลำนี้จากประเทศอังกฤษเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2463 นับเป็นเกียรติประวัติครั้งแรกที่คนไทยเดินเรือทะเลได้ไกลถึงเพียงนี้

สำหรับสมรรถนะของเรือหลวงพระร่วงมีดังนี้ คือ มีระวางขับน้ำ 1,046 ตัน ความยาวตลอดลำ 83.57 เมตร ความกว้างสุด 8.34 เมตร กินน้ำลึก 4 เมตร อาวุธปืน 102 ม.ม. 3 กระบอก ปืน 76 ม.ม. 1 กระบอก ต่อมาติดปืน 40 ม.ม. 2 กระบอก ปืน 20 ม.ม. 2 กระบอก มีตอร์ปิโด 21 นิ้ว 4 ท่อ มีรางปล่อยระเบิดลึก และมีแท่นยิงปืนระเบิดลึก 2 แท่น เครื่องจักรเป็นแบบไอน้ำแบบ บี.ซี. เกียร์ เทอร์ไบน์ จำนวน 2 เครื่อง ใบจักรคู่ กำลัง 29, 000 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 35 น นอต ความเร็วมัธยัสถ์ 14 นอต รัศมีทำการเมื่อความเร็วมัธยัสถ์ 1,896 ไมล์ ทหารประจำเรือ 135 คน

6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 ‘กัมพูชา’ ฟ้องเรียกร้องสิทธิเหนือ ‘เขาพระวิหาร’ สุดท้าย ‘ศาลโลก’ ให้ไทยแพ้ 9 ต่อ 3 เสียง

วันนี้ เมื่อ 64 ปีก่อน กัมพูชา ยื่นฟ้องต่อศาลโลก เรียกร้องกรรมสิทธิ์เหนือเขาพระวิหาร ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษของไทย

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 รัฐบาลกัมพูชา นำโดย เจ้านโรดม สีหนุ ได้ยื่นฟ้องต่อ ศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เรียกร้องกรรมสิทธิ์เหนือ เขาพระวิหาร ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษของไทย โดยอ้างว่าประเทศไทยละเมิดอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารซึ่งเป็นของกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2497 เป็นต้นมา และขอเรียกร้องให้คืนอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารคืนแก่กัมพูชา 

การไต่สวนพิจารณาคดียาวนานถึง 3 ปี มีการนัดพิจารณาสืบพยานทั้งหมด 73 ครั้ง จนในที่สุด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกก็ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะคดีด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง ยังผลให้ประเทศไทยต้องยินยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อของกัมพูชา 

หลังจากแพ้คดี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยินยอมให้นักศึกษาเดินขบวนประท้วงคำตัดสิน และปิดทางขึ้นปราสาทซึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย เป็นการตอบโต้กัมพูชา เหลือเพียงทางขึ้นเป็นช่องเขาแคบ ๆ สูงชันและอันตราย ในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของกัมพูชา เขาพระวิหารก็ถูกปิด ๆ เปิด ๆ ให้เข้าชมอยู่หลายครั้งตามสถานการณ์ภายในประเทศ ก่อนจะเกิดความร่วมมือกันอีกครั้งระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบันนี้ เขาพระวิหารนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จ. ศรีสะเกษ

5 ตุลาคม ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ’ เทิดพระเกียรติ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ ‘พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย’

วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ’ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รำลึกถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินโครงการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และทรงได้มีพระราชดำรัสแสดงถึงความเป็นนวัตกรรมของ ‘โครงการแกล้งดิน’ ที่ไม่มีใครทำมาก่อน ทั้งนี้ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริให้ทำเป็นตำรา คือ ‘คู่มือปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อการเกษตร’ สำหรับที่จะใช้พัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวอื่น ๆ ต่อไป

ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านนวัตกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และความตั้งพระราชหฤทัยที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยนั้น เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่สรรเสริญพระเกียรติคุณกันทั่วทิศานุทิศ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเทิดพระเกียรติพระองค์เป็น ‘พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย’ จากการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสภาพดินเปรี้ยว ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ 

คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ให้ดำเนินโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้

1. เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น 'พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย'
2. ให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เป็น 'วันนวัตกรรมแห่งชาติ'

3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 วันประสูติ ‘สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร’ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 เป็นวันประสูติ ‘สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน)’ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับพระนามเดิมนั้นมีว่า ‘เจริญ คชวัตร’ ประสูติที่ อ.เมืองกาญจนบุรี พระชนกชื่อ ‘น้อย คชวัตร’ พระชนนีชื่อ ‘กิมน้อย คชวัตร’

ปี 2469 บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) จ.กาญจนบุรี เมื่ออายุครบ 20 พรรษาก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุวัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี จากนั้นได้ทรงทำทัฬหีกรรม (ญัตติซ้ำ) เป็นธรรมยุต ที่วัดบวรนิเวศวิหารเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476

ต่อมาทรงสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคในปี พ.ศ. 2484 และอีก 6 ปีต่อมาได้เป็นพระราชาคณะสามัญที่พระโสภนคณาภรณ์ และได้เลื่อนขั้นขึ้นตามลำดับจนได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่ง ‘สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก’ ลำดับที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นอกจากนี้ ยังถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีตและเป็นพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี โดยสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

ตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญ ที่ได้รับการถวาย คือ ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา (Supreme Holiness of World Buddhism) อันเป็นตำแหน่งที่ได้รับการทูลถวายจากผู้นำชาวพุทธโลกจาก 32 ประเทศเข้าร่วมประชุมสุดยอดพุทธศาสนิกชนแห่งโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ ปี 2555 ในฐานะที่ทรงได้รับการเคารพอย่างสูงสุด

รวมทั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแห่งประเทศไทย ผู้สอนพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทุกคนปฏิบัติธรรมตั้งอยู่ในพระปัญญาธรรมและพระกรุณาธรรม นำไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองมีพระบารมีปกแผ่ไพศาลไปทั่วราชอาณาจักรไทยและทั่วโลก นับเป็นแบบอย่างของสากลโลก ซึ่งเป็นการมอบตำแหน่งนี้เป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย

1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 วันสวรรคต ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เสด็จทรงพระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ปีชวด ฉศก จุลศักราช 1166 ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 มีพระนามเดิมว่า ‘เจ้าฟ้ามงกุฎ’ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย และที่ 2 ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด) และทรงเป็นพระราชนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สถาปนา พระบรมราชจักรีวงศ์และสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี

เมื่อ พ.ศ. 2367 ได้เสด็จออกผนวชเป็นเวลา 27 พรรษา ระหว่างทรงอยู่ในสมณเพศ ได้สนพระราชหฤทัยศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ปรากฏในพงศาวดารว่า ได้เป็นเปรียญ ในพ.ศ.  2394 ได้ทรงลาผนวชเนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ และเสนาบดีผู้ใหญ่ ได้อัญเชิญให้เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันพุธ เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีกุน จุลศักราช 1213 ตรงกับวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามตามที่เฉลิมพระบรมนามาภิไธย จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธิสมมติเทพยพงษ์ วงษาดิศวร กระษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาษ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นเวลา 17 ปี 6 เดือน เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระชนมพรรษา 65 พรรษา มีพระราชโอรส 39 พระองค์ และพระราชธิดา 43 พระองค์

30 กันยายน พ.ศ. 2395 วันก่อตั้ง ‘กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย’ โรงเรียนประจำแห่งแรกของสยาม

วันนี้เมื่อ 172 ปีก่อน ถือเป็นวันก่อตั้ง ‘กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย’ โรงเรียนมิชชันนารีชาย ที่เป็นแบบเรียนประจำแห่งแรกของสยาม

ย้อนกลับไป เมื่อปี พ.ศ. 2380 คริสตจักรเพรสไบทีเรียนในอเมริกา ได้จัดตั้งคณะกรรมการแผนกต่างประเทศขึ้น คณะกรรมการใหม่นี้ได้จัดส่งมิชชันนารีมายังประเทศสยามตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2383 มิชชันนารีเพรสไบทีเรียนคนสำคัญ ได้แก่ ศาสนาจารย์สตีเฟน แมตตูน, ศาสนาจารย์ ดร.ซามูเอล อาร์. เฮาส์, ศาสนาจารย์ ดร.แดเนียล แมคกิลวารี, ศาสนาจารย์ เอส. จี. แมคฟาร์แลนด์ เป็นต้น ท่านเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งคริสตจักรเพรสไบทีเรียนแห่งแรกในสยามและสภาคริสตจักรในประเทศไทยในเวลาต่อมา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2394 สถานการณ์ของมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนในแดนสยามก็ดีขึ้นมาก พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เช่าที่ดินระยะยาวที่กุฎีจีน ใกล้ ๆ บริเวณวัดอรุณราชวราราม โดยเริ่มแรกในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2395 นางแมรี่ แอล แมตตูน ได้เริ่มต้นสอนหนังสือแก่ เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง ในละแวกนั้น จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2395 มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน โดยศาสนาจารย์ ดร.ซามูเอล เรโนลด์ เฮ้าส์ และศาสนาจารย์สตีเฟน แมตตูน ได้ก่อตั้งโรงเรียนที่ทำการสอนตามแบบสากล เพื่อให้เด็กสยามและเด็กเชื้อสายจีนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ทันสมัยตามแบบตะวันตก โดยตั้งชื่อโรงเรียนว่า ‘โรงเรียนคริสเตียนบอยส์สกูลที่กุฎีจีน’ (กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) และมีซินแสกีเอ็ง ก๋วยเซียน เป็นครูใหญ่

คริสเตียนบอยส์สกูลที่กุฎีจีน (กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) ถือเป็นโรงเรียนประจำแห่งแรกในสยามและยังเป็นโรงเรียนแรกที่มีการนำระบบการศึกษาสากลมาใช้อีกด้วย

‘คริสเตียนบอยส์สกูลที่กุฎีจีน’ ถือเป็นสถาบันการศึกษาแบบสากลแห่งแรกในสยาม มีอาคารและห้องเรียนเป็นหลักแหล่ง มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ชัดเจน ซึ่งนอกจากจะเรียนหัดอ่านหัดเขียนแล้ว ยังมีวิชาคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ และการสอนทางศาสนา นอกจากนี้มิชชันนารียังได้ริเริ่มให้มีการตรวจสุขภาพเด็ก ๆ ก่อนเข้าเรียน นับว่าเป็นมาตรการทางสาธารณสุขที่ก้าวหน้ามากในสมัยนั้น

ปี พ.ศ. 2400 คณะมิชชันนารีเริ่มตั้งหลักปักฐานที่สำเหร่ ได้มีการสร้างพระวิหาร โรงเรียน โรงพิมพ์ บ้านพักมิชชันนารี โกดังเก็บของ ต่อมาได้ย้ายโรงเรียนจากกุฎีจีนมายังสำเหร่ใช้ชื่อว่า ‘สำเหร่บอยส์สกูล’ ที่โรงเรียนแห่งนี้มีขุนนางผู้ใหญ่จนถึงพระเจ้าแผ่นดินให้ความร่วมมือสนับสนุน ส่งเด็ก ๆ มาเล่าเรียนหนังสือ ซึ่งมีทั้งเจ้านาย 2 พระองค์ ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของรัชกาลที่ 4 และพระราชนัดดาของรัชกาลที่ 3 บุตรชายของอัครมหาเสนาบดี บุตรชายของพวกมหาดเล็กมาเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่สำเหร่ 

นอกจากนี้ชาวบ้านก็ส่งลูกหลานมาเรียน โดยพวกที่อยู่ไกลก็ได้เป็นนักเรียนประจำ กินนอนอยู่ที่โรงเรียน ส่วนใหญ่เด็กเหล่านี้จะตอบแทนโรงเรียนด้วยในการช่วยทำงานต่าง ๆ มากกว่าจะจ่ายเงินเป็นค่าเล่าเรียน ในปี พ.ศ. 2402 นายชื่นได้รับเชื่อเป็นคริสเตียนในคณะเพรสไบทีเรียนคนแรกและเป็นครูสอนภาษาไทยคนแรกของโรงเรียนที่สำเหร่ในเวลาต่อมา

ในขณะที่กิจการของโรงเรียนกำลังดำเนินไปดี โรงเรียนกลับต้องประสบกับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนครู อันเนื่องมาจากปัญหาความไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศเขตร้อนและมลพิษจากโรงสีในบริเวณนั้น ครูหลายคนล้มป่วยจนต้องเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน คณะมิชชันนารีได้ขอความช่วยเหลือไปยังอาจารย์จอห์น แอนเดอร์สัน เอกิ้น ซึ่งเปิดโรงเรียน ‘บางกอกคริสเตียนไฮสกูล’ อยู่ที่กุฎีจีน (โรงเรียนแห่งนี้ตั้งขึ้นหลังจากโรงเรียน ‘คริสเตียนบอยส์สกูล’ ของศาสนาจารย์แมตตูนที่กุฎีจีน 36 ปี (ปี พ.ศ. 2431)) อาจารย์เอกิ้นจึงตัดสินใจย้ายโรงเรียนของตัวเองมารวมกันเมื่อปี พ.ศ. 2433 โดยมาสร้างตึกเรียนใหม่ให้ใหญ่โตกว้างขวางขึ้น เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นปูน ชั้นบนเป็นไม้หลังคามุงกระเบื้องตั้งชื่อว่า ‘สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสกูล’

แม้จะรวมโรงเรียนส่วนตัวที่กุฎีจีน ‘บางกอกคริสเตียนไฮสกูล’ และโรงเรียนของมิชชันที่สำเหร่ ‘สำเหร่บอยส์สกูล’ จนมีขนาดใหญ่โตโดยใช้ชื่อว่า ‘สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสกูล’ ผู้บริหารวิสัยทัศน์ไกลเช่นอาจารย์จอห์น เอ. เอกิ้น ยังได้ตระหนักว่าโรงเรียนควรจะมีที่ตั้งบริเวณฝั่งพระนครเพื่อความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ท่านจึงหารือกับอาจารย์เจ. บี. ดันแลป ในการหาซื้อที่ดินใหม่ 

ต่อมาคณะมิชชันนารีได้ตกลงซื้อที่ดินของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีที่ถนนประมวญ ย่านสีลม โดยใช้เงินที่ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ในปี พ.ศ.2445 โรงเรียนชายในระบบสากลโรงเรียนแรกในสยามก็ถือกำเนิดขึ้น โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ‘กรุงเทพคริสเตียนไฮสกูล’ นอกจากโรงเรียนแห่งใหม่บนถนนประมวญจะดำเนินการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างจริงจังแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการอบรมเชิงจริยธรรมและความมีระเบียบวินัย มาตรฐานการศึกษาที่สูงทำให้โรงเรียนได้รับการยกระดับขึ้นเป็นวิทยาลัยในปีพ.ศ. 2456 และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย’

29 กันยายน พ.ศ. 2566 ‘กองทัพเรือไทย’ ต้อนรับ ‘ทัพเรือแคนาดา’ เยือนประเทศไทย เสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 66 ฐานทัพเรือสัตหีบ ให้การต้อนรับ เรือ HMCS OTTAWA เนื่องในโอกาสเดินทางมาเข้าจอดตามกิจวัตรปกติ ระหว่างวันที่ 29 กันยายน 2566 - 6 ตุลาคม 2566 ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 

สำหรับ เรือหลวงของประเทศแคนาดา ที่ชื่อว่า ‘ออตตาวา’ (Ottawa) เป็นหนึ่งในเรือฟริเกต ชั้นฮาลิแฟ็กซ์ ของกองทัพเรือแคนาดา ซึ่งมีทั้งหมด 12 ลำ จะจอดเทียบท่าที่ประเทศไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่มีอย่างต่อเนื่อง 

โดยเรือหลวงออตตาวา มาพร้อมกับเฮลิคอปเตอร์ ประจำการบนเรือ รุ่นไซโคลน ซีเอช-148 (CH-148 Cyclone) ที่พร้อมปฏิบัติการ อีกทั้งยังมีทหารเรือ ทหารบก และนักบิน ซึ่งล้วนได้รับการฝึกฝนขั้นสูงและมีความเป็นมืออาชีพ ประจำเรือ รวม 250 นาย พร้อมทั้งมีการติดตั้งระบบอาวุธและเซนเซอร์สำหรับการปราบเรือดำน้ำ การรบผิวน้ำด้วย

24 กันยายน วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันไทย

‘วันมหิดล’ ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า ‘พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย’ คณะแพทยศาสตร์สิริราชพยาบาล ได้ขนานนามวันอันเป็นที่ระลึกสำคัญนี้ว่า ‘วันมหิดล’ เพื่อเป็นการถวายสักการะ

‘สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก’ ทรงพระราชสมภพวันที่ 1 มกราคม (ตามปฏิทินเก่าคือ ปี พ.ศ. 2434 แต่ตามปฏิทินใหม่คือ ปี พ.ศ. 2435) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระเชษฐา และพระเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา 7 พระองค์

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และเป็นพระอัยกาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10)

พระองค์มีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทย ประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า ‘กรมหลวงสงขลานครินทร์’ หรือ ‘พระราชบิดา’ และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า ‘เจ้าฟ้าทหารเรือ’ และ ‘พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย’ ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า ‘เจ้าฟ้ามหิดล’

หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์ทรงพระประชวร ต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. เมื่อพระชนมายุ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน

ด้วยความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่าง ๆ จากพระองค์ จึงได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุม

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493 และ ในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกัน นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศให้วัน ที่ 24 กันยายน ของทุกปีเป็น ‘วันมหิดล’ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในฐานะพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย

23 กันยายน ของทุกปี ‘วันภาษามือโลก’ (International Day of Sign Languages) ตระหนักถึงความสำคัญของภาษามือ-สิทธิผู้พิการทางการได้ยิน

23 กันยายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันภาษามือโลก’ โดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษามือ รวมไปถึงเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชนของคนหูหนวก

นอกจากนี้วันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1951 ก็เป็นวันก่อตั้งสมาคมคนหูหนวกโลก หรือ WFD ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงเลือกวันที่ 23 กันยายน เป็นวันภาษามือโลก (International Day of Sign Languages) โดยปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการในงานสัปดาห์คนหูหนวกแห่งชาติ ซึ่งจัดในปี ค.ศ. 2018

จุดประสงค์ในการก่อตั้งวันภาษามือโลก เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษามือ รวมไปถึงเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชนของคนหูหนวกด้วย โดยข้อมูลจากสมาคมคนหูหนวกโลก (WDF) เผยว่า ปัจจุบันมีผู้พิการทางการได้ยินมากกว่า 70 ล้านคนทั่วโลก และกว่า 80% อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา นั่นหมายความว่า มีภาษามือกว่า 300 ภาษาที่ใช้อยู่ตอนนี้ ซึ่งถือว่ามีความหลากหลายอย่างมาก และเราก็ไม่ควรมองข้ามภาษามือเหล่านี้

ภาษามือของแต่ละประเทศมีวิวัฒนาการที่เป็นอิสระจากกัน คนที่อยากเรียนภาษามือก็จะเข้าเรียนในโรงเรียนโสตศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนผู้พิการทางการได้ยิน ดังนั้นภาษามือของแต่ละประเทศก็จะแตกต่างจากกัน แม้แต่ประเทศที่มีภาษาพูดใกล้เคียงกันอย่างเช่น สหราชอาณาจักรกับสหรัฐอเมริกา ก็มีภาษามือที่แตกต่างกันลิบลับ จนใช้สื่อสารระหว่างกันไม่ได้ 

ในปีค.ศ. 1973 สมาคมคนหูหนวกโลก (World Federation of the Deaf) ริเริ่มเผยแพร่ชุดคำศัพท์ภาษามือมาตรฐานที่เรียกกันว่า ‘ภาษามือสากล’ เพื่อที่จะให้เป็นภาษากลางของภาษามือ เช่นเดียวกับภาษาเอสเปอรันโตที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นภาษากลางในโลกของภาษาพูด ทุกวันนี้ในการประชุมระดับนานาชาติ บางครั้งก็ใช้ภาษามือสากลเป็นภาษาหลัก

และเพื่อให้คนหูหนวกสามารถรับรู้ข่าวสารและสามารถเสพสื่อได้อย่างเข้าใจ ทำให้ในปัจจุบันรายการต่าง ๆ ทั้งรายการข่าวและสื่อบันเทิงมักมีล่ามภาษามือคอยบรรยายอยู่มุมล่างขวามือของจอเสมอ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top