Friday, 4 July 2025
LITE TEAM

๔ กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต 

ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระนาม จุฬาภรณ์ หมายถึง การอัญเชิญพระนาม 'จุฬา' ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นคำต้นพระนามของพระองค์ เนื่องด้วยในวันประสูตินั้น เป็นวันมหาปีติของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา  

ทรงเริ่มศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงได้รับการปลูกฝังทางศิลปะ นาฏศิลป์และดนตรี จากพระอาจารย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งยังทรงสนพระทัยวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันโปรดศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาศิลปะควบคู่กันไป โดยทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมปลาย เพื่อนำความรู้มาต่อยอดทำประโยชน์เพื่อความสุขของประชาชน

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย ทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงสอบได้ที่ 1 ในวิชาเคมีและชีววิทยา ทั้งยังทรงได้รับรางวัลเรียนดีจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ 

พ.ศ.2528 ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ยังทรงสำเร็จการอบรมระดับหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอูล์ม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

พ.ศ.2550 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ.2557 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำความรู้ไปช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ

ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงอุทิศพระวรกายเพื่ออาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุข อยู่ดีกินดี และร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ไม่ว่าจะในแขนงใด 

ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์นั้น ทรงมีพระราชปณิธานในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยทรงแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ของชาวโลก 

ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จากยูเนสโก ในปี พ.ศ.2530 ทรงก่อตั้งมูลนิธิจุฬาภรณ์ขึ้น ก่อนพัฒนาเป็นสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ต่อมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย ทั้งทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการทางการแพทย์และการเงินแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ทำให้ทรงได้รับการยกย่องเป็น เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) และได้เสด็จฯไปทรงร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิ พอ.สว. ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยทุกภูมิภาคของไทย 

ทรงมีพระเมตตาแผ่ถึงบรรดาสัตว์ป่วยอนาถา ทรงรับเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนิน “โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ทั้งยังมีพระดำริให้ก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์ขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศด้วย

พระอัจฉริยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมของพระองค์ยังได้ฉายชัด ทรงดนตรี ทรงขับร้องเพลง ทรงนิพนธ์เพลง ทรงวาดภาพ และทรงออกแบบเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ทรงเชี่ยวชาญเปียโน และกีต้าร์ 

พ.ศ.2543 ขณะเสด็จฯ ไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนได้บรรเลง 'กู่เจิง' ถวาย ทำให้ทรงประทับใจและมุ่งมั่นศึกษา ฝึกซ้อมอย่างจริงจัง จนถึงระดับสูงสุด โดยทรงมีพระดำริให้จัดการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม 'สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน' กระชับสัมพันธไมตรีไทยกับจีน 

ทรงออกแบบเครื่องประดับผนวกกับงานการกุศล เช่นโครงการ 'ถักร้อย สร้อยรัก' และโครงการ 'ดร.น้ำจิต' นำรายได้สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทั้งยังทรงจัดนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองด้วย ด้านการศาสนา ทรงดำรงพระองค์เป็นพุทธมามกะ และพุทธศาสนูปถัมภก เอาพระทัยใส่ในพุทธศาสนา ทั้งยังทรงเป็นประธานของโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการเฉลิมพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี” เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏและเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

ในวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี พสกนิกรชาวไทยต่างร่วมกันรำลึกถึง 'วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ' ซึ่งเป็นวันสำคัญที่แสดงถึงจุดเริ่มต้นของกิจการลูกเสือในประเทศไทย อันเป็นรากฐานสำคัญในการบ่มเพาะและพัฒนาเยาวชนให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดี มีระเบียบวินัย และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

กิจการลูกเสือในประเทศไทยถือกำเนิดขึ้นด้วยพระบรมราชโองการของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการฝึกอบรมเยาวชนให้มีคุณธรรม จริยธรรม ความมีวินัย ความอดทน และความเสียสละ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ โดยได้ทรงจัดตั้ง 'กองลูกเสือ' ขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย)

พระองค์ทรงพระราชทานคำขวัญอันเป็นอมตะแก่ลูกเสือว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" ซึ่งสะท้อนถึงอุดมการณ์ของลูกเสือที่มุ่งเน้นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และทรงถือว่ากิจการลูกเสือเป็น "การเตรียมกำลังสำรองในการป้องกันประเทศ" ควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีงาม

29 มิถุนายน พ.ศ. 2424 วันคล้ายวันประสูติ ‘เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์’ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระโอรสพระองค์ที่ 33 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงประสูติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2424 ทรงเป็นต้นราชสกุลบริพัตร ทรงศึกษาชั้นต้นที่พระตำหนักสวนกุหลาบ ก่อนจะเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษและเยอรมันในด้านวิชาทหาร รวมถึงวิชาดนตรีและการประพันธ์เพลง

เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยในปี 2446 ขณะพระชนมายุ 23 พรรษา ทรงเริ่มรับราชการในตำแหน่งเสนาธิการทหารบก และทรงสร้างความเจริญก้าวหน้าในด้านการทหาร การปกครอง การสาธารณสุข และการศึกษา ทรงวางรากฐานสำคัญให้กับกองทัพเรือ กองทัพบก กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย

ในฐานะเสนาธิการทหารบก ทรงเปลี่ยนชื่อกรมอากาศยานทหารบกเป็นกรมอากาศยาน ทรงจัดหาเครื่องบินไว้ใช้ในราชการมากขึ้น จัดตั้งกองบิน สนามบินในต่างจังหวัด และเปิดสายการบินไปรษณีย์ทางอากาศ พร้อมทั้งส่งเสริมการบินในระดับประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมประชาชนบริจาคซื้อเครื่องบินเพื่อราชการอีกด้วย

นอกจากความโดดเด่นทางด้านทหารแล้ว พระองค์ยังทรงพระปรีชาสามารถทางดนตรี ทรงพระนิพนธ์เพลงไทยและเพลงฝรั่งจำนวนมาก เช่น วอลซ์ปลื้มจิต และเพลงมหาโศก ได้รับพระนามว่า 'พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม' ในปี 2474 พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2487 ณ เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย สิ้นพระชนมายุ 63 พรรษา

26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ย้อนรำลึกวันคล้ายวันเกิด ‘พระสุนทรโวหาร’ หรือ ‘สุนทรภู่’ ที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็น ‘กวีเอกโลก’ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เป็นวันคล้ายวันเกิดของ 'พระสุนทรโวหาร' หรือ 'สุนทรภู่' กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมไทยไว้อย่างทรงคุณค่า เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 เริ่มต้นชีวิตการศึกษาที่วัดชีปะขาว (ปัจจุบันคือวัดศรีสุดาราม) ย่านบางกอกน้อย และเริ่มต้นชีวิตราชการในกรมพระคลังสวน ก่อนจะเข้าสู่กรมอาลักษณ์ในสมัยรัชกาลที่ 2

แม้มีความสามารถด้านงานราชการ แต่สุนทรภู่มีใจรักการแต่งกลอนเป็นพิเศษ ในสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ต้องโทษจำคุกจากเรื่องเมาสุรา ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงตัดสินใจบวช และหลังจากลาสิกขาได้ถวายตัวอยู่กับพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กระทั่งสิ้นที่พึ่ง จึงต้องเร่ร่อนและใช้ชีวิตอย่างยากลำบากด้วยการแต่งหนังสือขาย

ด้วยพรสวรรค์ด้านการประพันธ์ ในปี พ.ศ. 2394 สุนทรภู่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็น 'พระสุนทรโวหาร' ผลงานสำคัญของเขามีมากมาย อาทิ พระอภัยมณี, นิราศภูเขาทอง, นิราศพระบาท ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นวรรณกรรมที่มีอิทธิพลและได้รับความนิยมอย่างยาวนาน

จากผลงานที่เป็นคุณูปการต่อวัฒนธรรมและภาษาไทย องค์การยูเนสโกจึงประกาศยกย่องให้สุนทรภู่เป็น 'บุคคลสำคัญของโลก' ด้านวรรณกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2539 และในทุกวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ประเทศไทยยังถือเป็น 'วันสุนทรภู่' เพื่อรำลึกถึงกวีเอกผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้

23 มิถุนายน พ.ศ.2561 รำลึก 7 ปี ภารกิจช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่า ติดอยู่ใน ‘ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน’ ที่ทั้งโลกจดจำได้ดี

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2561 วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ได้รับแจ้งว่าเด็กนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอคาเดมี่ พร้อมโค้ช รวม 13 คน หายตัวไปภายในถ้ำหลวง หลังเดินทางเข้าไปเที่ยวตั้งแต่ช่วงเย็นของวันดังกล่าว

เหตุการณ์กลายเป็นปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือครั้งใหญ่ที่กินเวลารวม 221 ชั่วโมง 41 นาที หรือ 17 วันเต็ม โดยมีเจ้าหน้าที่จากหลากหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศระดมกำลังเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มืดมิด น้ำท่วม และอันตรายสูง

ความพยายามจนนำไปสู่การพบทั้ง 13 ชีวิตในวันที่ 2 กรกฎาคม และสามารถทยอยช่วยเหลือทั้งหมดออกมาได้สำเร็จภายในวันที่ 10 กรกฎาคม โดยหนึ่งในผู้เสียสละคือ 'จ่าแซม' นาวาตรีสมาน กุนัน อดีตหน่วยซีล ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่วางถังอากาศในถ้ำ

เพื่อเป็นการระลึกถึงวีรบุรุษผู้กล้า อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติและศิลปินสราวุฒิ คำมูลชัย ได้ร่วมกันสร้างรูปปั้นนาวาตรีสมาน ขนาดใหญ่สองเท่าของมนุษย์หล่อด้วยบรอนซ์ สูง 3.2 เมตร ฐานกว้าง 2.5 เมตร มีหมูป่า 13 ตัวล้อมรอบฐานเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนหมูป่าและโค้ช โดยรูปปั้นนี้ได้ถูกนำไปตั้งไว้ที่วัดร่องขุ่น ก่อนเคลื่อนย้ายไปยังหน้างานอนุสรณ์สถานถ้ำหลวงเมื่อเดือนธันวาคม 2561

นอกจากนี้ โครงการอนุสรณ์ถ้ำหลวงยังคงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งพื้นที่สวนภูมิทัศน์ สระมรกต และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ รอบอนุสรณ์สถานจ่าแซมมีพิธีทำบุญปีละครั้ง ทั้งนี้ ความทรงจำเกี่ยวกับความสามัคคี การเสียสละ และมิตรภาพระหว่างชาติยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลกไม่ลืมเหตุการณ์นี้จนถึงทุกวันนี้

22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 วันมรณภาพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระเกจิแห่งวัดระฆังฯ ผู้เปลี่ยนธรรมะให้เข้าถึงใจประชาชน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก เวลาเที่ยง ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี

สมเด็จโตสมภพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ณ บ้านไก่จ้น บ้านท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จโตออกธุดงค์ตามป่าเขาเพื่อฝึกจิตอย่างต่อเนื่องถึง 15 ปี ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม และได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์องค์ที่ 5 และท่านยังเป็นผู้ค้นพบคัมภีร์ 'คาถาชินบัญชร' ซึ่งภายหลังกลายเป็นหนึ่งในบทสวดมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยนิยมจนถึงปัจจุบัน

แม้มรณภาพไปนานกว่า 150 ปีแล้ว แต่ชื่อเสียงของสมเด็จโตยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวไทยในฐานะพระเกจิผู้มีปรีชาธรรมลึกซึ้ง มีเมตตาธรรม และเป็นสัญลักษณ์ของพระสงฆ์ผู้ทรงธรรมที่ประชาชนเลื่อมใสศรัทธาอย่างมั่นคงไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะพระเครื่อง 'สมเด็จวัดระฆัง' ที่ท่านปลุกเสก ถือเป็นหนึ่งในเบญจภาคีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในวงการพระเครื่องไทย

21 มิถุนายน พ.ศ. 2526 วันก่อตั้งบริษัท ‘ชินวัตร คอมพิวเตอร์’ จุดเริ่มต้นอาณาจักรเทคโนโลยีของ 'ทักษิณ ชินวัตร'

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2526 นายทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ได้ก่อตั้งบริษัท “ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน)” ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรกเพียง 20 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นธุรกิจด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคมในยุคที่ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

ต่อมาในปี 2542 บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น “ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” หรือ “ชินคอร์ป” โดยขยายธุรกิจครอบคลุมทั้งการสื่อสารดาวเทียมผ่านบริษัทไทยคม, ธุรกิจโทรคมนาคมผ่านบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) และธุรกิจสื่อ-โฆษณาอีกหลายแขนง

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 เมื่อครอบครัวชินวัตรขายหุ้นชินคอร์ป 49% ให้กับเทมาเส็ก โฮลดิงส์ (Temasek Holdings) กลุ่มทุนจากสิงคโปร์ มูลค่ากว่า 7.3 หมื่นล้านบาท โดยไม่ต้องเสียภาษี ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง และนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหนึ่งในชนวนเหตุสำคัญที่นำไปสู่การรัฐประหารในเดือนกันยายนปีเดียวกัน

ปัจจุบัน 'ชินคอร์ป' ได้เปลี่ยนชื่อเป็น 'อินทัช โฮลดิ้งส์' (Intouch Holdings) และยังคงดำเนินธุรกิจในหลากหลายสาขา เช่น การสื่อสารโทรคมนาคมผ่าน AIS, ดาวเทียมผ่านไทยคม, ธุรกิจการเงิน และการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยบริษัทนี้ยังถือเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยยุคใหม่

20 มิถุนายน พ.ศ. 2520 ในหลวง ร.๙ ทรงแปลวรรณกรรมระดับโลก ‘นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ’ นิยายแห่งความเสียสละ

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงเริ่มแปลวรรณกรรมระดับโลกเรื่อง 'นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ' หรือ 'A Man Called Intrepid' ผลงานของเซอร์วิลเลียม สตีเวนสัน (Sir William Stevenson) ซึ่งเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์จากชีวิตจริงของ 'Intrepid' หัวหน้าหน่วยข่าวกรองลับของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านลัทธินาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเห็นว่าเนื้อหาในวรรณกรรมเล่มนี้มีคุณค่าและประโยชน์ต่อมนุษยชาติ จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยแปลผลงานจากต้นฉบับภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง โดยเริ่มจากหน้าแรกในปี 2520 และทรงใช้เวลาแปลต่อเนื่องด้วยพระราชวิริยะอุตสาหะจนแล้วเสร็จในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2523 รวมระยะเวลากว่า 2 ปีครึ่ง

เนื้อหาในนิยายแสดงให้เห็นถึงจิตใจแห่งความเสียสละ ความกล้าหาญ และการอุทิศตนเพื่อส่วนรวม ผ่านบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเงียบงันโดยไม่หวังชื่อเสียง ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำริและหลักการทรงงานในพระองค์ตลอดรัชสมัย จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทรงเลือกวรรณกรรมเล่มนี้มาแปล

ด้วยความยาวกว่า 600 หน้า 'นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ' กลายเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าทั้งในด้านสาระและแรงบันดาลใจ ผู้อ่านแม้ต้องใช้เวลานานในการอ่าน แต่ก็ไม่รู้สึกเบื่อ ด้วยกลวิธีการถ่ายทอดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่งดงาม ลุ่มลึก และเปี่ยมด้วยความเข้าใจในต้นฉบับอย่างถ่องแท้

17 มิถุนายน พ.ศ. 2496 ในหลวง ร.๙ เสด็จฯ ประพาสสวนทุเรียนนนท์ ประชาชนเปล่งเสียงไชโย เฝ้าชมพระบารมีใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2496 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยพระประยูรญาติ เสด็จประพาสสวนทุเรียนที่จังหวัดนนทบุรี โดยเสด็จทางเรือพระที่นั่ง 'ตะวันส่องแสง' ท่ามกลางการเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่นของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เสียงไชโยดังกึกก้องเมื่อเรือพระที่นั่งเข้าสู่เขตจังหวัดนนทบุรี และจอดเทียบท่าที่บ้านริมน้ำตำบลบางกระสอ

การเสด็จครั้งนี้มีขึ้นเพื่อทอดพระเนตรสวนทุเรียน ผลไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัด โดยสวนที่จัดถวายเป็นของนายประวิทย์ สงวนเงิน ซึ่งได้รับการปรับภูมิทัศน์อย่างเหมาะสม ทางจังหวัดได้จัดพลับพลาไม้ไผ่ และเส้นทางเดินไม้กระดาน รวมถึงจัดลวดผูกทุเรียนป้องกันผลร่วง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จเยี่ยมชมสวนอย่างใกล้ชิด พร้อมซักถามถึงวิธีปลูก การบำรุงรักษา และทรงสอยผลไม้ด้วยพระองค์เอง

เมื่อเสด็จประทับยังพลับพลา ทรงทอดพระเนตรภูมิทัศน์โดยรอบอย่างพอพระราชหฤทัย และทรงมีพระราชประสงค์จะเสวยอาหารพื้นเมืองที่แม่ค้าจัดถวายบนเรือ โดยมิได้ใช้ภาชนะและโต๊ะเสวยที่จัดเตรียมไว้ ทรงเสวยอย่างเรียบง่ายด้วยชามและตะเกียบธรรมดา พร้อมทรงโปรดอาหารพื้นบ้านอย่างแกงปลาไหลและไอศกรีมเป็นพิเศษ ท่ามกลางบรรยากาศเป็นกันเองและเต็มเปี่ยมด้วยพระเมตตา

ก่อนเสด็จกลับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า “ขอบใจทุกคน” แก่ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จ พร้อมทรงถ่ายภาพประชาชนด้วยพระองค์เอง เมื่อเรือเคลื่อนออกจากท่า ทรงโบกพระหัตถ์ด้วยพระอิริยาบถร่าเริง ขณะที่ประชาชนเปล่งเสียงไชโยกึกก้อง แสดงความปลื้มปีติในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

16 มิถุนายน พ.ศ. 2442 วันเกิด ‘หลวงกลการเจนจิต’ ผู้บุกเบิกวงการหนังไทย สร้างภาพยนตร์ ‘โชคสองชั้น’ เรื่องแรกของสยาม

วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2442 วันเกิดหลวงกลการเจนจิต หรือ เภา วสุวัต หนึ่งในผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ไทยยุคแรก ท่านเกิดในครอบครัววสุวัตที่มีบทบาทด้านสิ่งพิมพ์และสื่อ ท่านเริ่มต้นทดลองถ่ายภาพยนตร์เชิงสารคดีเรื่อง 'น้ำท่วมซัวเถา' ในปี พ.ศ. 2465 ก่อนจะเข้าสู่วงการภาพยนตร์บันเทิงเต็มตัว

ในปี พ.ศ. 2470 หลวงกลการเจนจิตได้ร่วมสร้างภาพยนตร์เรื่อง 'โชคสองชั้น' ภาพยนตร์บันเทิงเรื่องแรกที่ทำขึ้นเพื่อการค้า ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย โดยภาพยนตร์เรื่องนี้นับเป็นผลงานเรื่องแรกที่สร้างและผลิตทุกขั้นตอนโดยคนสยามเอง เป็นภาพยนตร์เงียบ ถ่ายทำด้วยฟิล์มขาวดำขนาด 35 มม. ความยาว 90 นาที ผลิตโดย 'กรุงเทพ ภาพยนตร์ บริษัท' ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น 'ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง' ภายใต้การนำของคุณมานิต วสุวัต พี่ชายของท่าน

'โชคสองชั้น' ได้เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร และประสบความสำเร็จในแง่การเปิดทางให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงได้ผลิตภาพยนตร์เสียงในฟิล์มเรื่องแรกของไทยในชื่อ 'หลงทาง' ซึ่งหลวงกลการเจนจิตก็มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสร้างเช่นกัน

แม้หลวงกลการเจนจิตจะเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2491 แต่ผลงานของท่านยังคงส่งอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์ไทยมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นผู้วางรากฐานสำคัญให้กับศิลปะภาพยนตร์ของชาติ และเป็นบุคคลผู้ควรแก่การรำลึกในฐานะผู้บุกเบิกยุคบุกเบิกของจอเงินไทยอย่างแท้จริง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top