Friday, 26 April 2024
เรื่องเล่าจากนิวแฮมเชียร์

บ๊ายบายบางกอก!! ย้อนอดีต 30 ปี เมื่อครั้งจากเมืองไทยสู่อเมริกา ประสบการณ์สุดล้ำค่า กับภาพจำที่ยังชัดเจน

หลังจากที่เขียนบทความทางการเมืองเป็นชิ้นแรก ก็มานั่งคิดดูว่าคอลัมน์ที่เราเขียนนั้นชื่อว่า “เรื่องเล่าจากนิวแฮมเชียร์” แล้วไฉนเราถึงดันไปเล่าเรื่องชาวบ้าน จึงขออนุญาตตั้งต้นใหม่ คราวนี้เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง เล่าจากมุมมองของตัวเอง ต้องขออภัยแต่เนิ่น ๆ ว่าข้อเท็จจริงอาจจะบิดเบือนไปบ้าง เนื่องจากกาลเวลาผ่านมานานกว่า 30 ปีแล้วที่ขึ้นเครื่องบินมาเพื่อศึกษาต่อ ขอเปลี่ยนชื่อบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในเรื่องเล่า เพื่อปกป้องสิทธิส่วนบุคคลของพวกเขา ไม่อยากให้มีการขุ่นข้องหมองใจเหมือนบล็อกเล่าเรื่องรักหลายเศร้าที่เป็นละครซีรีย์ดังทะลุฟ้าเมื่อหลายปีมาแล้ว ก็อย่างที่เอ่ยมาแล้วข้างต้น มุขปาฐะนั้นมาจากความทรงจำของตนเองล้วน ๆ ไม่ได้อิงอนุทิน เพราะเป็นคนที่เสียนิสัยไม่ชอบจด หวังว่าท่านผู้อ่านคงได้รับความบันเทิงและสาระจากงานเขียนไม่มากก็น้อย

ภาพยนตร์ยอดมนุษย์ที่ดังๆของมาร์เวล เช่น แบตแมน ซุปเปอร์แมน หรือ ชางซี เปิดเรื่องโดยอ้างถึงปูมหลังของแต่ละตัวละคร เพื่อให้เข้าใจถึงที่มาและเหตุการณ์ในอดีตที่หล่อหลอมความคิด จุดประสงค์ และความสามารถของตัวละครนั้นๆ แต่ก็มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่เริ่มต้นจากฉากที่เร้าใจที่สร้างปมในโครงเรื่อง ซึ่งเทคนิคในการดำเนินเรื่องแบบนี้เรียกว่า In medias res เทคนิคนี้จะใช้ในภาพยนตร์สืบสวนเป็นส่วนใหญ่ เพื่อสร้างความระทึกใจให้แก่ผู้ชม ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนขึ้น สมมุติว่า ถ้าสโนวไวท์ เปิดเรื่องตอนที่นางกัดแอปเปิลแล้วสลบไป แทนที่จะเริ่มจากตอนที่พ่อนางแต่งงานกับแม่มดจำแลงตอนนางเด็กๆ ก็จะทำให้ผู้อ่านสนใจอยากรู้ว่าทำไมตัวเอกถึงมีคนปองร้ายอยากกำจัดนาง เนื่องจากเราไม่ใช่สโนวไวท์ และไม่ได้อยากให้ท่านผู้อ่านหัวใจเต้นตูมตาม จึงตั้งใจเริ่มเรื่องจากวันที่ออกเดินทางจากประเทศไทยไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา

ทุกวันนี้ยังจำวันที่ออกเดินทางมาเรียนเป็นครั้งแรกได้อย่างกับเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ วันนั้นคือวันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2534 ออกเดินทางแต่เช้าตรู่โดยสายการบิน Northwest ทั้งครอบครัวมาส่งที่สนามบินดอนเมือง สมัยนั้นเวลาออกเดินทางไปต่างประเทศ ผู้ใหญ่มักจะให้พรและคล้องพวงมาลัยให้เป็นสิริมงคล ทั้งคุณพ่อคุณแม่และพี่ๆคล้องพวงมาลัยให้ ตัวเราเหมือนกับนักร้องลูกทุ่งดังบนเวที เมื่อถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันอย่างหนำใจแล้ว ก็ถึงเวลาอำลาอาลัย น้ำตาหยดแหมะๆไปตามกันทั้งคณะ ผู้เขียนเดินจากครอบครัวอย่างใจหาย ไม่แน่ใจว่าเราจะเผชิญอะไรบ้างในอนาคตอันใกล้นี้ 

เมื่ออยู่ในเครื่องบินน้ำตายังไหลพราก ตัวเราก็ต้องควานหาเพลงมากล่อมอารมณ์ ตอนนั้นพกชาวเบาท์ เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ทขนาดพึ่งพาและหูฟัง จริงๆแล้วชื่อเต็มๆของเครื่องเล่นเทปนี้คือ ชาวอเบาท์ (Sound about) ตามที่โซนี่ได้เริ่มผลิตในปีค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) คนไทยก็ติดเรียกกันมาว่าซาวอเบาท์ทั้ง ๆ ที่โซนี่เปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์เป็น Walkman ในปีถัดมา 

นอกจากนั้นคนไทยยังใช้คำว่าซาวเบาท์กับเครื่องเล่นเทปขนาดพกพาของยี่ห้ออื่นๆที่ไม่ใช่โซนี่อีกด้วย ในแนวเดียวกับเรียกผงซักฟอกว่าแฟบ เนื่องจากเวลาการเดินทางรวมทั้งเปลี่ยนเครื่องบินที่ชิคาโกประมาณ 27 ชั่วโมง ในกระเป๋าถือขึ้นเครื่องจึงหนักอึ้งไปด้วยเทปเพลงทั้งไทยและเทศและถ่านไฟฉายเพื่อไว้ใช้ฟังเพลงฆ่าเวลา

ขณะที่ฟังเพลงเพลิน พนักงานต้อนรับก็มาถามว่าจะรับเครื่องดื่มหรืออาหารอะไร พอเงยหน้าขึ้นไปจะตอบถึงกับผงะเล็กน้อยเพราะเคยชินกับพนักงานต้อนรับของสายการบินไทยสมัยก่อนนั้นอายุไม่เกินสามสิบปี รูปร่างสันทัด และสวยงามเหมือนนางงาม พนักงานต้อนรับของสายการบินต่างประเทศนั้นมีหลากหลายอายุและสัดส่วน สุภาพสตรีที่บริการอาหารและเครื่องดื่มในเที่ยวบินนั้นอายุประมาณเกือบหกสิบ แต่งหน้าเข้ม และท้วม เวลาเธอเข็นรถอาหารเครื่องดื่ม เธอต้องเอียงเข็น ขณะนั้นตัวเราไม่เข้าใจว่าทำไมสายการบินต่างชาติถึงจ้างหญิงสูงอายุและรูปร่างอวบ เมื่อได้มาอยู่ที่อเมริกาถึงเข้าใจว่าเขามีกฎหมายพิทักษ์การจ้างงาน ถ้าหากผู้สมัครสามารถทำงานที่ทางบริษัทกำหนดได้อย่างมาประสิทธิผล ผู้จ้างไม่สามารถเกี่ยงรูปลักษณ์ของผู้สมัครได้

ผจญภัยในสนามบิน ประสบการณ์ ‘คนเข้าเมือง’ สู่ถิ่นลุงแซม อาการวิตกจริต ที่ทั้งตื่นเต้นและตื่นตัว 

เมื่อเครื่องบินมาลงที่สนามบินโอแฮร์ที่ชิคาโก เราก็เข้าแถวยาวเหยียดรอตรวจคนเข้าเมือง 

พวกนักเรียนที่จะมาเรียนต่อที่สหรัฐฯ นอกจากต้องขอวีซ่านักเรียนที่เรียกว่า F-1 แล้ว ยังต้องพกเอกสารหนาปึ๊กที่เรียกว่า I-20 มาให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองด้วย 

เราก็ใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่หน้าดุจะถามอะไรบ้าง เขาจะอนุญาตให้เราเข้าประเทศไหม หรือเราจะโดนส่งกลับบ้าน ในใจปลอบตัวเองว่าส่งกลับบ้านได้ก็ดี เราจะได้กลับไปเจอเพื่อนๆ และแฟนของเรา 

และแล้วเมื่อมาถึงตาเรา เจ้าหน้าที่หน้าดุถามว่าจะมาเรียนอะไร เราก็ตอบอย่างฉาดฉานและมั่นใจสุดๆ ว่าเราจะมาต่อปริญญาโท แต่เราจะมาเรียนภาษาก่อน เขาพยักหน้าและตีตราหนังสือเดินทางให้ แถมยังเอ่ยปากต้อนรับเราสู่อเมริกา

หลังจากที่ผ่านตรวจคนเข้าเมืองแล้ว เราก็ต้องไปที่เอากระเป๋าเดินทาง ขณะที่เรารอกระเป๋าตรงสายพาน มีเจ้าหน้าที่สนามบินเดินเตร็ดเตร่กับสุนัขหูตูบ เราก็สงสัยว่าเค้าเดินไปมาทำไม สักพักก็เห็นว่าเจ้าตูบไปดมๆ สูดๆ กระเป๋าของผู้โดยสารบางคนโดยไม่ยอมตีจาก จนเจ้าหน้าที่ที่เดินกับเจ้าตูบต้องสั่งให้ผู้โดยสารเอากระเป๋าไปเปิดที่ตรวจ 

มองตามพวกเขาไป ก็เห็นว่าของบางชิ้นที่เป็นอาหารถูกโยนทิ้งถังขยะใหญ่ยักษ์ 

เอาล่ะหว่า!! ตัวเราจะโดนทิ้งของบ้างไหมนี่ 

สมัยนั้นเดินทางกันทีนักเดินทางจะขนของไปล้นหลามกันแทบทุกคน เพราะรู้กันดีว่า ถ้ากระเป๋าเกินพิกัดน้ำหนัก ทางสายการบินจะอะลุ่มอล่วยไม่ต้องเสียเงินค่าน้ำหนักเกิน แถมตอนนั้นตัวเราจะมาอาศัยอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน จึงคิดว่าตัวเองต้องแต่งตัวเก๋ล้ำแฟชั่นกว่าคนอื่น เลยขนเสื้อผ้าดีไซเนอร์ไทยมาเพียบ ทั้งยัสปาลเอย, เกรย์ฮาวด์เอย, โซดากายเอย เต็มปรี่หนึ่งกระเป๋า 

ส่วนทางคุณพ่อคุณแม่เป็นห่วงกลัวเราไม่มีอาหารและของขบเคี้ยวไทยกิน ท่านก็สั่งจัดน้ำพริกปลาดุกฟู น้ำพริกเผา กรอบเค็ม และข้าวเกรียบทรงเครื่องมาเต็มล้นอีกหนึ่งกระเป๋า พอถึงเวลาจะปิดกระเป๋าที ต้องเอาก้นของเราและคนงานที่บ้านไปนั่งทับอย่างสุดแรงแล้วถึงจะกดที่ปิดลงได้ 

ดังนั้นเมื่อเห็นคนอื่นเขาถูกเปิดกระเป๋าตรวจ เราเกิดอาการวิตกจริตว่า ถ้ากระเป๋าเราถูกเรียกตรวจ ของคงเด้งดึ๋งดั๋งออกจากกระเป๋าเหมือนติดสปริง ไม่มีทางที่จะยัดกลับเข้าไปหมด เราจึงแอบจ้องไอ้ตูบที่กำลังเดินวนเวียนอยู่ใกล้ๆ แล้วแผ่เมตตาให้ว่าอย่ามาจองเวรกะฉันเลย  

แล้วก็อย่างกับเจ้าตูบอ่านใจเราออก HE ก็เดินออกไปอีกทาง แล้วเราก็เข็นกระเป๋ากำลังจะออกประตู 

แต่ศุลกากรดันเรียกให้หยุด เราก็สะดุ้งโหยง!! นึกในใจว่าเสร็จแน่ๆ แล้วตรู เขาบอกว่าเราไม่ได้ยื่นใบที่กรอกสำแดงของเข้าเมืองให้เขา พอเรายื่นให้เสร็จ เขาก็ขอบคุณและอวยพรให้เราโชคดี

หลังจากที่เข็นรถวางกระเป๋าออกมา เราก็สังเกตตามคนที่จะต้องต่อเที่ยวบินภายในประเทศว่าเขาต้องเอากระเป๋าโหลดอีกที เราก็จึงพุ่งตัวไปที่เคาน์เตอร์ของสายการบินและเช็กอินกระเป๋า ทางพนักงานบอกเราว่าเครื่องจะออกอีกภายในสี่สิบห้านาที ให้รีบไปอีกเทอร์มิเนิลโดยต้องนั่งรถไฟในสนามบิน ทางพนักงานเห็นเราเหลอหลาเหมือนหนูน้อยหมวกแดงหลงป่า เธอก็เลยเวทนาโทรเรียกเจ้าหน้าที่สนามบินให้พาเราไปที่รถไฟและกำชับว่าให้ลงที่เทอร์มินัลที่เครื่องบินเราจะออกไปโคลัมบัส เมืองหลวงของรัฐโอไฮโอ

เหตุเกิดจาก...ความชะล่าใจ สุดท้ายต้องได้พักในที่ไม่อยากอยู่

ฮัลโหลบอสตัน

เมื่อเราขับรถเข้าถึงเมืองบอสตันก็ตกเย็นแล้ว เราสองคนก็เลยตั้งใจหาโรงแรมพักใกล้ๆ Boston University สถานศึกษาที่เราสมัครมาเรียนภาษา เราจึงตัดสินใจพักอยู่ Howard Johnson หนึ่งคืน เพราะเป็นโรงแรมชั้นกลางราคาพอสมควร แถมอยู่ในบริเวณของมหาวิทยาลัย จะไปทำธุระก็ไม่ต้องขับรถไปไกล 

ขณะที่กำลังจะอาบน้ำเตรียมตัวเข้านอน พี่เขาถามว่าโรงเรียนเปิดเมื่อไหร่ เราก็เปิดแฟ้มที่มหาวิทยาลัยส่งมาให้ เราถึงกับอึ้งกิมกี่ เพราะโรงเรียนเปิดไปเมื่อสองวันที่แล้ว พี่เขาถามเราว่าเราจัดเรื่องที่พักอาศัยเรียบร้อยแล้วใช่ไหม เราบอกโรงเรียนน่าจะจัดให้แล้ว เราก็เปิดดูในปึกเอกสารเพื่อตรวจสอบข้อมูล เปิดหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ เลยเกิดอาการหน้าซีด ใจหาย ตระหนักว่าเรายังไม่ได้ทำเรื่องที่พักเลย พี่เขาปลอบว่าไม่ต้องกังวล เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยไปติดต่อถามทางมหาวิทยาลัยว่าเขายังมีห้องพักให้เราหรือเปล่า เราก็เลยนอนอย่างใจตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย

วันรุ่งเราเดินทางไป CELOP (The Center of English & Orientation Programs) ศูนย์ภาษาของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหน่วยจัดสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนต่างชาติ ทางโรงเรียนบอกว่าสองวันก่อนนั้นเขามีการปฐมนิเทศ (Orientation) เกี่ยวกับโรงเรียน มหาวิทยาลัย และชีวิตในเมืองบอสตัน 

วันต่อมาทางโรงเรียนจัดการสอบเทียบระดับเพื่อให้นักเรียนได้เข้าเรียนตามระดับความถนัดทางภาษาอังกฤษ ดังนั้นวันที่เราไปที่โรงเรียนคือวันแรกของการเรียน เจ้าหน้าที่กลัวเราจะขาดเรียนหลายวัน เลยรีบให้เราสอบวัดระดับตอนเช้านั้นเลย เพื่อที่จะได้เข้าเรียนในวันรุ่งขึ้น เราทั้งเหนื่อยทั้งไม่ได้เตรียมตัวพร้อม แต่ก็จำต้องสอบ โชคดีที่ฟลุ๊กได้เข้าชั้นระดับรองลงมาจากชั้นสูงสุด เนื่องจากเราต้องจัดการเรื่องที่พัก เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนอนุญาตให้เราหยุดหนึ่งวันโดยไม่นับว่าขาดเรียน เราและพี่เลยพุ่งไปที่แผนกจัดที่พักนักเรียนโดยทันที

เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้เปิดเทอมมาแล้วเป็นเวลาสองวัน เจ้าหน้าที่บอกว่าห้องพักที่มีห้องน้ำส่วนตัวนั้นนักเรียนได้เช่ากันไปหมดแล้ว ถ้าเราจะอยู่ ต้องไปพักกับเพื่อนร่วมห้องและแชร์ห้องน้ำกับเหล่านักเรียนที่พักในชั้นนั้นซึ่งเป็นนักเรียนปีหนึ่งและปีสองที่ศึกษาระดับปริญญาตรี นอกจากนั้นเขาเพิ่มเติมข้อมูลว่า วันพุธถึงวันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายนซึ่งตรงกับเทศการขอบคุณพระเจ้า ทั้งมหาวิทยาลัยซึ่งรวมถึงหอพักนักศึกษาจะปิด 

ถ้าเรายังจะอยู่ในบอสตัน เราต้องหาที่พักในช่วงเวลานั้นเอง เมื่อเราได้รับข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับที่พัก ใจเราก็หดหู่ แถมหัวมึนตึ้บ มืดไปแปดด้าน จะหันไปไหนก็ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องจำใจยอมรับสภาพอยู่ในห้องรวมในหอพักกับเพื่อนร่วมห้องรุ่นน้อง ผู้เขียนอยากให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองเป็นอุทาหรณ์ต่อท่านผู้อ่านที่มีลูก หรือตนเองที่จะไปเรียนต่างประเทศว่า ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่างประเทศ นอกจากจะจัดการเรื่องการเรียนให้เรียบร้อยแล้ว อย่าลืมหาที่พักไว้ด้วย จะได้ไม่ตกที่นั่งลำบาก ต้องตัดสินใจแบบขายผ้าเอาหน้ารอด พักในที่ที่ตนเองไม่อยากอยู่ จะเซ็งไปอย่างน้อยหนึ่งเทอมถึงหนึ่งปีเลยเชียว

เจอะเจอคุณอา เมื่อความเกรงใจแบบคนไทย ต้องแพ้พ่ายต่อที่พักที่เกินจะรับไหว

หลังจากที่คุณอาผู้หญิงได้ยินชื่อเต็มซึ่งรวมทั้งนามสกุลของเราท่านก็บอกโอเปอเรเตอร์ว่า ท่านยินยอมจ่ายเงินค่าโทรศัพท์ที่จะคุยกับเรา ทางโอเปอเรเตอร์เลยสับสายให้เราได้คุยกับคุณอา คุณอาเริ่มต้นบทสนทนาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของครอบครัวเราและตัวเรา 

สุดท้ายท่านถามว่าเราพักอยู่ที่ไหน เราตอบท่านตรงๆ ว่าเราอยู่หอพักนักศึกษา แต่ต้องแบ่งห้องกับรุ่นน้องที่เรียนปริญญาตรีที่เรายังไม่ได้ทำความรู้จัก ท่านถามต่อว่าเราซื้อฟูกนอนแล้วหรือ เราก็งงเต็กนึกว่าทางมหาวิทยาลัยจะจัดที่นอนให้เรียบร้อยเหมือนโรงแรม เพราะเราแค่เข้าไปนอน 

คุณอาบอกว่าเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องซื้อฟูก หมอน และผ้าห่ม เราก็เลยยอมรับกับท่านไปว่า เราโง่สนิทไม่ได้รู้มาก่อนเลยว่าเราต้องเตรียมเครื่องนอนก่อนที่จะเข้าหอพัก ท่านเลยอาสาว่าท่านกับสามีจะมารับเราไปซื้อของเข้าห้อง แต่ก่อนวางสายท่านถามเราว่าจะมาอยู่กับท่านก่อนไหม แล้วค่อยย้ายออกเมื่อเราเจอที่พักที่ถูกใจ 

เราเพิ่งมาจากประเทศไทย ก็ติดนิสัยเกรงใจกลัวว่าเราจะกวนท่านและครอบครัว เลยอ้ำอึ้ง ตอบท่านอย่างกระอ้อมกระแอ้มว่า ไม่เป็นไรเราอยู่หอพักได้ ท่านคงจับความลังเลในน้ำเสียงของเราได้ ท่านเลยบอกว่าท่านมาอยู่ที่อเมริกาเกินกว่า 20 ปีแล้ว ท่านคิดอย่างคนอเมริกัน เราต้องการอะไรอย่าอ้อมค้อมเพราะความเกรงใจ ตอบมาตรงๆ ท่านจะได้ทราบความจริงแล้วจัดการให้เรียบร้อยก่อนที่จะดึกเกินไป 

เมื่อได้ยินท่านพูดเช่นนั้น เราเลยยอมรับกับท่านไปว่า สงสัยจะอยู่หอพักไม่ได้ เพราะกลัวการแชร์ห้องน้ำกับคนอื่น แถมห้องนอนก็ทั้งเล็กทั้งเก่า ท่านเลยให้เราไปรอท่านมารับหน้าหอพัก

ประมาณ 30 นาทีผ่านไป ก็มีรถเก๋ง 4 ประตูสีขาวมาจอด สตรีชาวเอเชียผมม้าเต่อใส่แว่นเปิดประตูรถลงมาแล้วมองรอบๆ แบบงงๆ เนื่องจากเราเจอคุณอาครั้งสุดท้ายเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ส่วนคุณอาก็เจอเราตอนที่เราอายุ 14 ช่วงที่กำลังอวบสุดๆ น้ำหนักประมาณ 90 กิโล ตอนที่เรามาถึงบอสตันเราน้ำหนักประมาณ 70 

ทั้งเราทั้งคุณอาก็ต่างจำกันไม่ได้ เราเดาๆ ว่าสตรีผู้นั้นน่าจะใช่คุณอา เลยเดินเข้าไปไหว้ทัก โชคดีที่ใช่คุณอา เลยต่างคนต่างดีใจที่ได้เจอกัน คุณอาได้แนะนำให้รู้จักกับสามีท่าน เมื่อทักทายกันพอหอมปากหอมคอแล้วคุณอาทั้งสองท่านก็พาไปทานอาหารไทยในไชน่าทาวน์ สมัยนั้นร้านไทยชื่อสยามสแควร์ ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยร้านเดียวในไชน่าทาวน์และเป็นที่รู้จักดีของเหล่าคนไทยในบอสตัน เพราะทำอาหารไทยรสชาติแบบคนไทยทาน

ลุยรถไฟใต้ดิน ครั้งแรก!! การใช้บริการระบบรางสู่ ม.บอสตัน ถามตัวเองว่า “เราจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่อีกกี่ปีหนอ”

เช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น เราก็รีบตื่นนอนก่อนคนอื่น เพื่อที่จะได้ใช้ห้องน้ำให้เสร็จ ญาติๆ จะได้ไม่ต้องมาทนฟังเราทำธุรกิจส่วนตัวให้ขยะแขยงโสตประสาท พอคุณอาหญิงตื่นขึ้นมา ก็บอกให้เราหาอาหารทาน 

ตอนเช้าบ้านคุณอา น้องๆ จะทานซีเรียลกันก่อนไปโรงเรียน ส่วนเราเป็นคนไม่ชอบทานอาหารเช้า เราก็เลยขอบคุณคุณอาและไปนั่งดื่มกาแฟอ่านนิตยสารไทยรอไปพลางๆ ในห้องนั่งเล่น เมื่อคุณอาทั้งสองอาบน้ำแต่งตัวเสร็จก็พาเราเข้าเมืองไปพร้อมๆ กัน 

ขณะที่ขับรถจะผ่านโรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น (Mount Auburn Hospital) ในเมืองแคมบริดจ์ (Cambridge) คุณอาทั้งสองก็เล่าให้ฟังว่า ในหลวงรัชกาลที่เก้าประสูติที่โรงพยาบาลนี้ เราถึงกับปลื้มใจยกมือไหว้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านมีต่อประเทศชาติและเหล่าพสกนิกร และทำเช่นนี้ทุกครั้งที่ผ่านโรงพยาบาลนี้ เมื่อมาถึงร้านแว่นตาที่คุณอาทั้งสองทำงาน คุณอาหญิงก็บอกว่าท่านจะสอนให้เราเดินทางไปกลับจากที่ทำงานท่านและโรงเรียนสอนภาษา ตอนนั้นที่ทำงานท่านอยู่ในถนนบอยล์สตัน (Boylston Street) ถนนช็อปปิ้งสายหลักของบอสตัน ซึ่งมีร้านค้าต่างๆ มากมาย 

นอกจากนั้นสถานีรถไฟใต้ดินก็อยู่ใกล้กับออฟฟิศคุณอา เดินไม่เกินสามนาทีก็ถึง ท่านสอนเราง่ายๆ ว่าเวลาเรานั่งรถจากออฟฟิศท่านไปโรงเรียนให้ขึ้นสถานีออกนอกเมือง (Outbound) และลงที่สถานีบียูเซ็นทรัล (BU Central) ส่วนขากลับมาหาท่านให้ขึ้นสถานีเข้าเมือง (Inbound) และลงที่ป้ายถนนบอยล์สตัน เนื่องจากเป็นวันแรกที่เราใช้ขนส่งมวลชนของรัฐ (MBTA หรือ Massachusetts Bay Transportation Authority) คุณอาเลยให้เหรียญที่จ่ายค่าโดยสาร (token) เป็นเหรียญทองเหลืองใหญ่กว่าเหรียญบาท แต่เล็กกว่าเหรียญห้าบาทปัจจุบัน ท่านให้ไว้สองเหรียญ เพื่อขาไปและกลับ และชี้ให้เราเห็นตู้ที่มีพนักงานขายเหรียญ 

ท่านบอกว่าจริงๆ แล้วเราสามารถที่จะเอาเศษเหรียญจริงๆ จำนวนแปดสิบห้าเซ็นต์มาหยอดได้ ไม่ต้องแลกเหรียญค่าโดยสารก็ได้ แต่บางทีคนก่อนเราอาจจะหยอดเหรียญไม่ครบ ทำให้เราต้องเสียเวลามาจ่ายค่าต่างแทนคนอื่น ดังนั้นแลกเหรียญจ่ายค่าโดยสารไว้ใช้ดีที่สุด โดยเฉพาะบางสถานีจะไม่มีพนักงานขายเหรียญ ถ้าเราไม่มีเงินจ่าย คนขับรถจะพาลไม่ให้ขึ้นเอา ต้องเดินขาลากมาออฟฟิศคุณอา เราได้ยินดังนั้นก็จำไว้ติดใจว่าต้องมีเหรียญไว้จ่ายค่าเดินทางไว้ติดกระเป๋าอยู่เสมอเพื่อไม่ให้พลาดรถ

เมื่อพูดถึงรถไฟใต้ดินของรัฐแมสซาซูเซตส์ ต้องขออนุญาตนอกเรื่องเล่าถึงระบบและสายรถไฟต่างๆ ในยุคนั้นไว้เป็นสังเขป จริงๆ แล้วการที่ใช้คำว่ารถไฟใต้ดินนั้นไม่ถูกเลยทีเดียว เพราะรถโดยสารประเภทนี้ลงทั้งใต้ดินและแล่นบนถนนเคียงข้างกับรถยนต์ ควรจะเรียกว่ารถรางจะเหมาะกว่า ส่วนที่ว่าคนไทยติดใช้คำว่ารถไฟใต้ดินคงจะเป็นเพราะคุ้นเคยกับระบบรถใต้ดินจริงๆ ของปารีสที่รู้จักกันอย่างดีในนามเมโทร (Metro) ส่วนรถใต้ดินของรัฐแมสซาซูเซตส์นั้นเรียกว่าซับเวย์ (Subway) หรือผู้โดยสารทั่วๆ ไปจะเรียกย่อๆ ว่าที (T) มีสี่สาย แต่ละสายใช้สีต่างๆ เป็นสัญลักษณ์คือ เขียว, แดง, ส้ม และน้ำเงิน 

ประสบการณ์แห่งการเงียบที่ทำท้อใจ แต่นานไปกลับพูดได้จนน่าแปลกใจตัวเอง

ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่าผู้เขียนได้มาที่ตึกนี้แล้วครั้งหนึ่งแล้วเพื่อมาสอบเทียบระดับภาษา ตอนนั้นทั้งใจเสียที่เรามาหลังจากวันโรงเรียนเปิดเทอม ทั้งกลัวที่จะไม่มีที่ซุกหัวนอน และทั้งหัวสมองมึนเพราะต้องปรับตัวกับเวลาที่หมุนช้าจากกรุงเทพฯไปสิบเอ็ดชั่วโมง เราเลยไม่มีเวลาสำรวจว่าสถานศึกษาที่อเมริกากับประเทศเราต่างกันอย่างไร 

งวดนี้มาตัวคนเดียวเป็นหนแรกความอยากรู้อยากเห็นเลยบันดาลใจให้เราสังเกตสิ่งรอบตัวมากขึ้น ตึกเป็นตึกค่อนข้างเก่าผสมทั้งอิฐและปูนซีเมนต์ ประตูเข้าเหมือนประตูสำนักงานห้องแถวทั่ว ๆ ไป ความคิดที่แว่บขึ้นมาตอนนั้นเดาว่าตึกนี้คงเคยเป็นของภาควิชาอื่นมาก่อน เมื่อภาคนั้นขยายจำนวนอาจารย์และนักเรียนเลยย้ายไปที่ตึกสร้างใหม่ ตึกนี้จึงยกให้กับโรงเรียนสอนภาษา จึงไม่มีการบูรณะให้เข้ากับสมัย 

ข้างล่างเป็นห้องโถงโล่ง ๆ กลิ่นเก่าชื้น ๆ มีโปสเตอร์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยและโปรแกรมภาษาอังกฤษแปะเต็มไปหมด ไม่มีพนักงานหรือยามคอยให้ข้อมูลนักเรียนที่มาใหม่ มีป้ายอธิบายแผนกต่าง ๆ ในแต่ละชั้นแต่ไม่เด่น เนื่องจากเราเคยมาแล้วถึงรู้ว่าสำนักงานและห้องเรียนนั้นอยู่บนชั้นสอง

เมื่อเดินขึ้นบันไดขั้นสุดท้าย ข้างหน้ามีเคาน์เตอร์ยาวซึ่งพนักงานกำลังง่วนให้ข้อมูลต่าง ๆ กับนักเรียนอยู่ บนบอร์ดไม้ข้าง ๆ พนักงานมีกระดาษแปะเลขที่ห้องเรียนและชื่อนักเรียน เรามองหาชื่อตัวเองซึ่งไม่ยากนักเพราะว่าทั้งชื่อทั้งนามสกุลนั้นขึ้นด้วย C จึงเป็นคนต้น ๆ ของนักเรียนในห้อง พอเรารู้เลขที่ห้องเรียนแล้วเลยจรลีไปหาที่นั่งหลังห้อง เพื่อนร่วมห้องก็มองอย่างแปลกใจเพราะวันแรกไม่เห็นเราในห้อง เราก็ยิ้มเขิน ๆ ให้พวกเขาและนั่งรอจนครูเข้าห้องมา 

ครูของเราเป็นผู้หญิงรูปร่างสันทัดชื่อเอเดรียน ซัลส์ (Adrienne Saltz) อายุประมาณสามสิบปีผมดำหยักศกตัดสั้นประคอดูกระฉับกระเฉง เนื่องจากเป็นวันแรกที่เราเข้าเรียนครูก็แนะนำตัวเองโดยใช้ชื่อ,นามสกุล,ชื่อที่ต้องการให้คนในห้องเรียนเรียก, และเมืองและประเทศที่มา 

เมื่อได้ยินครูบอกว่าให้เรียกเธอว่าเอเดรียน เราก็รู้สึกแปลกใจมากเพราะเท่าที่ได้ฟังมาจากภาพยนตร์อเมริกันนั้น ครูส่วนใหญ่จะให้นักเรียนเรียกคำนำหน้ามิสเตอร์ มิส หรือมิสซิสแล้วตามด้วยนามสกุล ในกรณีอย่างครูเอเดรียนนี่ควรจะเป็นมิสซิสซัลส์ เพราะเธอใส่แหวนแต่งงานนิ้วนางซ้ายแล้ว แต่ตอนหลังถึงเข้าใจว่าครูสอนภาษาส่วนใหญ่ให้เรียกชื่อต้นเพื่อความเป็นกันเองนักเรียนจะได้สนทนาภาษาอังกฤษอย่างไม่เคอะเขิน 

ส่วนตัวเราเองนั้นชาวต่างชาติเรียกว่าโจมาตั้งแต่อายุเก้าขวบตอนที่มาเยี่ยมพี่ชายคนโตที่รัฐโอไฮโอ ตอนนั้นมาอยู่ที่อเมริกาสามเดือน คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้อยู่บ้านเฉย ๆ เลยส่งให้ไปเรียนกับเด็กอนุบาลเพื่อให้เราได้ภาษา คุณพ่อก็กลัวว่าเด็ก ๆ จะเรียกชื่อจริงหรือชื่อเล่นไทยไม่ได้ เลยเอาชื่อหมาที่เฝ้าบ้านที่กรุงเทพฯ มาตั้งให้ เพราะเป็นชื่อที่มาจากภาษาอังกฤษอยู่แล้ว หลังจากที่เราแนะนำตัวเองเพื่อน ๆ แต่ละคนก็แนะนำตัวเอง เพื่อน ๆ ในห้องนั้นมาจากหลากประเทศทั่วโลก แต่คนที่เราสนิทด้วยก็คือ เพื่อนสาวชาวไทยชื่อเหมียวและชาวฝรั่งเศสชื่อกาเบรียล (Gabrielle)

เนื่องจากเราเรียนภาษาระดับสูง ตอนบ่ายเราสามารถจะเลือกเรียนวิชาที่เตรียมตัวไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ ตอนนั้นมีให้เลือกสามสายคือ การเมือง วรรณคดี และธุรกิจ ตัวเราเองนั้นตั้งใจจะมาเรียนต่อทางด้านโฆษณาจึงเลือกสายธุรกิจ ซึ่งครูเอเดรียนจะเอานิตยสารทางด้านธุรกิจ เช่น Forbes หรือ Businessweek มาให้อ่าน แล้วเหล่านักเรียนก็จะตอบคำถามของครูเพื่อเช็กความเข้าใจบทความที่อ่านไป 

ชมบ้านใหม่ แท็กติกหาอพาร์ตเมนต์เช่าในบอสตัน ต้องกล้าต่อรอง เพื่อทางเลือกที่ดีที่สุด

จบจากประสบการณ์ในการปรับปูพื้นฐานภาษาไปเมื่อตอนก่อน ในตอนนี้ผมจะเล่าถึงพี่ลิซสาวสวยผมยาวตาโตและยิ้มหวานเป็นแฟนลูกชายของคุณป้า ซึ่งผมเคยรู้จักพี่ลิซแบบเผินๆ ตอนที่พี่เขาเรียนที่รัฐศาสตร์จุฬาฯ 

ตอนที่เจอพี่ลิซที่บอสตันนั้น พี่เขาก็เรียนที่ BU เหมือนกัน แต่เขาอยู่กับน้องสาวที่อพาร์ตเมนต์นอกเมืองที่ Natick เมืองทางตะวันตกของบอสตัน เพราะพี่เขาชอบห้องนอนกว้างและตู้เสื้อผ้าใหญ่ที่ขนาดครึ่งหนึ่งของห้องนอน เวลาพี่เขาจะขับมาเรียนก็ใช้เวลาเกือบชั่วโมง ส่วนเรานั้นเป็นคนที่ไม่ชอบขับรถไกล ยิ่งมาใหม่ ๆ ยังไม่คุ้นชินกับถนนหนทาง สมัยนั้นยังไม่มีจีพีเอส ต้องดูแผนที่ซึ่งเราดูไม่เป็น จากเหนือเป็นใต้ เราก็เลยบอกให้พี่เขาช่วยหาที่พักใกล้ขนส่งมวลชน ไปไหนมาไหนจะได้ขึ้นรถใต้ดินอย่างสบายใจเฉิบ 

พี่เขาพาผมไปดูอพาร์ตเมนต์หลายแห่ง แต่ราคาค่อนข้างสูงประมาณมากกว่าหนึ่งพันเหรียญต่อเดือน ไอ้เราก็เกรงใจคุณพ่อคุณแม่เลยขอดูที่ถูกกว่า ซึ่งพอดีพี่เขาก็เห็นโฆษณาอพาร์ตเมนต์สร้างใหม่ในแหล่งช็อปปิงหรู Copley Place ในใจกลางเมืองบอสตัน เขาจึงพาเรามาลองดูเผื่อว่าจะมีโปรโมชันดีสำหรับตึกที่พักใหม่ 

เรานัดพนักงานฝ่ายเช่ามาก่อน พอเรามาถึงที่ตึก ก็มีผู้หญิงผมทองตาสีเขียวทับทิมตัวสูงเปรียวอายุประมาณสามสิบปลาย ๆ นั่งรออยู่ที่ล็อบบี้ เธอแนะนำตัวเองว่าชื่ออแมนดา แล้วพาเราผ่านพนักงานเฝ้าประตูเพื่อขึ้นลิฟต์ไปดูห้องพัก สีที่ใช้ในตึกนี้มีอยู่สี่สีคือแดงเลือดนก ดำ ขาว และน้ำตาลเข้ม 

อแมนดาพาเราไปดูห้องพักชั้นสิบซึ่งเป็นห้องนอนเดียวขนาดใหญ่ ซึ่งค่าเช่าประมาณหนึ่งพันสองร้อยเหรียญ เราบอกอแมนดาว่าห้องนี้เกินงบที่เราตั้งไว้ เราไม่อยากได้ห้องที่เกินพันเหรียญ เธอบอกว่ามีห้องขนาดกลางชั้นสามที่ยังว่างอยู่ราคาเดือนละแปดร้อยห้าสิบเหรียญ เราได้ยินราคาเลยหูผึ่งสนใจ พอเปิดประตูห้อง ห้องน้ำอยู่ด้านซ้ายติดกับห้องนอน ด้านขวาของประตูเข้ามีครัวเป็นซอกเล็ก ๆ โดยมีกำแพงกั้นเป็นสัดเป็นส่วนจากห้องนั่งเล่น สภาพห้องต่าง ๆ มีกลิ่นสีใหม่ นอกจากประตูหลักที่เปิดเข้าห้องทีเป็นสีแดงเลือดนกแล้ว ทุกอย่างในห้องชุดนั้นเป็นสีขาวโพลนหมด เมื่อเรามองห้องอีกทีจากประตูเข้า ก็คิดในใจว่าขนาดของห้องเหมาะสมกับสองคนอยู่เผื่อตอนแฟนเรามาจากเมืองไทย เราจึงตอบตกลงอแมนดาว่า เราตัดสินใจที่จะเช่าห้อง

เมื่อพี่ลิซได้ยินเราตอบกับอแมนดา เธอก็รีบส่งสัญญาณจุ๊ปากว่าอย่าเพิ่ง แล้วเธอก็รีบบอกอแมนดาสวนไปว่าจริง ๆ แล้วเธอกำลังจะพาเราไปดูอพาร์ตเมนต์อีกที่แถว Allston ใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย แถมทางผู้บริหารของตึกนั้นทำโปรโมชันค่าเช่าเดือนแรกฟรี

กว่าจะได้ขึ้นบ้านใหม่ ขอบคุณบุญคุณอันยิ่งใหญ่ของ ‘คุณอา’ แต่ต้องเหวอกันถ้วนหน้า เมื่อรถแวนหายไป

หลังจากตอนก่อน ที่ผมได้ไปดูอพาร์ตเมนต์กับพี่ลิซ ผมก็รีบกุลีกุจอไปทำบัตรประกันสังคมเพื่อที่จะได้เลขที่ของบัตรมาเปิดบัญชีธนาคาร 

ย้อนความไปเล็กน้อยว่า สมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต เวลาต้องการข้อมูลเกี่ยวกับอะไรสักอย่าง ต้องถามคนที่มีประสบการณ์ เราก็เลยถามคุณอาผู้หญิงว่า เราจะไปทำบัตรประกันสังคมได้ที่ไหน คุณอาบอกว่าต้องไปที่ตึกของทางรัฐบาลกลาง (Federal building) ซึ่งอยู่ในใจกลางเมืองที่เรียกว่า North Station และถ้าหากเราจะไปตั้งต้นจากโรงเรียนต้องนั่งรถใต้ดินสายเขียว B เข้าเมือง (Inbound) และลงเปลี่ยนรถสายเขียวอีกขบวนที่จุดปลายทางคือ North Station ที่สถานี Boylston ซึ่งใกล้กับที่ทำงานคุณอา คุณอาเลยบอกว่าถ้าเรามาถึงที่สถานีแล้วให้เดินมาหาท่าน จะได้ไปด้วยกัน 

พอเราไปถึงตึกรัฐบาลกลางแล้ว เราต้องเดินผ่านโต๊ะต้อนรับ พนักงานที่จุดนั้นบอกให้ทุกคนหยุดเข้าแถวเพื่อรอตรวจเอกสารว่ามีครบตามที่ทางการได้ระบุไว้หรือไม่ ถ้าใครมีเอกสารไม่ครบ เขาก็จะให้กลับไปและมาใหม่เมื่อมีเอกสารพร้อม พอถึงตาเราเขาก็ตรวจว่าเรามีหนังสือเดินทางและเอกสารที่ทางโรงเรียนรับรองว่าเราเป็นนักเรียน (I-20) หรือเปล่า เมื่อเขาเห็นว่าเรามีครบ เขาก็ยื่นบัตรคิวให้เรา 

ผมรออยู่สักประมาณชั่วโมงกว่า ๆ กว่าจะทำเรื่องเสร็จ แต่แล้วก็อึ้งสนิทเมื่อพนักงานบอกว่าบัตรจะส่งมาที่บ้านภายใน 7-10 วัน เราก็นึกในใจว่าทางอพาร์ตเมนต์เขาคงยึดเงินมัดจำที่พี่ลิซให้ไว้แน่ ๆ เพราะกว่าบัตรจะมาเพื่อให้เราไปเปิดบัญชีธนาคาร ก็คงผ่านหนึ่งอาทิตย์ไปแล้ว 

ตอนนั้นผมมืดแปดด้าน ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จึงปรับทุกข์กับคุณอา ท่านบอกว่าเดี๋ยวท่านจะลองติดต่อไปหาอแมนดาเผื่อจะมีวิธีแก้ไข เมื่อถึงออฟฟิศคุณอา ท่านก็โทรคุยกับอแมนดาอยู่พักใหญ่ พอท่านวางหู ท่านก็บอกให้เราเตรียมตัวเดินไปหาอแมนดาด้วยกัน 

ตึกอพาร์ตเมนต์อยู่ประมาณสามสี่ช่วงตึกจากออฟฟิศคุณอา เดินประมาณสิบนาทีก็ถึง พอเราสองคนเจออแมนดา คุณอาก็หยิบสมุดเช็คออกมาแล้วเขียนเช็คให้อแมนดาสองใบ ซึ่งเป็นเงินมัดจำค่าเช่าเดือนสุดท้ายและค่าประกันความเสียหายของห้อง หลังจากที่อแมนดารับเช็คเธอก็ยื่นเอกสารมาให้เราและคุณอาเซ็น เราก็ถึงบางอ้อว่าคุณอาช่างมีความกรุณามาค้ำประกันให้เราได้มีบ้านอยู่ เราตื้นตันใจในความมีน้ำใจของคุณอา และตั้งปณิธานว่าเราจะไม่ลืมท่าน ทุกวันนี้ผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว เรายังโทรหาท่านและซื้อของฝากท่านอย่างสม่ำเสมอ

ขับรถในบอสตัน กฎระเบียบสุดเคร่งครัด ‘ทั้งจอด-ทั้งขับ’ สุ่มสี่สุ่มห้า เจอค่าปรับแบบไร้ปรานี

ความเดิมจากตอนที่แล้ว...เมื่อทุกคนไม่เห็นรถแวนที่จอดทิ้งไว้ ต่างก็หน้าม่อยไปตาม ๆ กัน คิดว่ารถถูกสอยไปเรียบร้อยแล้ว เผอิญคุณอาผู้หญิงมองรอบ ๆ อีกครั้ง ตาท่านก็ไปหยุดอยู่ที่ป้ายบนเสา ที่มีตัวหนังสือสีเขียว ‘ที่จอดรถของผู้พักอาศัย’ (Resident Permit Parking) ท่านเลยถึงบางอ้อ!! ว่ารถของท่านจอดผิดกฎหมาย คงถูกบริษัทลากรถเอาไปไว้ที่รถชานเมืองแน่ ๆ 

เมื่อคิดได้ดังนั้น ท่านจึงโทรศัพท์ไปที่อู่จอดรถ เราสามคนต้องนั่งรถแท็กซี่ไป ตอนลงรถจ่ายรวมค่าบริการ 30 เหรียญ แถมต้องจ่ายค่าปรับอีก 100 เหรียญ รวมแล้วก็มากโขอยู่สำหรับค่าของเงินเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ว่าแล้วผู้เขียนก็ขออนุญาตเอาเรื่องที่เกิดขึ้นกับคุณอามาเป็นอุทาหรณ์สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจจะไปเที่ยวหรือเรียนที่รัฐแมสซาซูเซตส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในใจกลางเมืองบอสตันว่า ‘อย่าจอดรถสุ่มสี่สุ่มห้า’ ให้สังเกตสภาพแวดล้อมให้ดีเสียก่อน อ่านป้ายที่ทางการติดไว้ให้เข้าใจว่าจอดได้จริงๆ จำไว้ว่าถ้าเราหยอดมิเตอร์แล้วจ่ายเงินเต็มช่วงเวลา สมมติว่าหยอดมิเตอร์ได้สูงสุดสองชั่วโมง เขาไม่อนุญาตให้เรามาหยอดต่อเมื่อใกล้หมดสองชั่วโมง เราต้องย้ายไปจอดที่อื่น มิฉะนั้นเขาจะปรับ 40 เหรียญ 

และอย่าคิดว่าถ้ามีมิเตอร์ให้หยอดเหรียญจ่ายค่าจอดแล้วเราจะจอดได้ทั้งวันทั้งคืน เพราะบางแห่ง วันจันทร์ถึงศุกร์หลัง 6 โมงเย็น จนถึง 10 เช้าของวันถัดไป เขาอนุญาตให้แต่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นที่มีสติ๊กเกอร์จอด ป้ายจะเขียนว่า ‘Resident Permit Parking 6 pm - 10 am Mon. to Fri.’ ถ้าเราไปฝืนกฎ เราต้องจ่ายค่าปรับหกสิบเหรียญ 

นอกจากนั้นแล้ว ต้องระมัดระวังวันและเวลาที่ทางเมืองทำความสะอาดถนน บางแห่งจะจอดข้ามคืนไม่ได้ในวันที่เขากำหนดเช่น ‘Street Cleaning Tuesday 2 AM - 7 AM’ ถ้าวันที่เราจะจอด เช่น วันจันทร์กลางคืนข้ามไปถึงอังคารเช้า เราก็ต้องไปหาที่อื่น บางแห่งป้ายยิ่งชวนงง เช่น ‘Street Cleaning 2nd & 4th Tuesday 12 noon - 4 pm’ ถ้าเจอแบบนี้ ต้องงัดปฏิทินในมือถือมาดูว่าอังคารนี้ที่ 2 หรือ 4 ของเดือนหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็ห้ามจอดจากเที่ยงวันถึง 4 โมงเย็น ถ้าฝืนเราจะโดนปรับ 40 เหรียญ 

แต่ส่วนใหญ่หลังจาก 30 พฤศจิกายน ถึง 31 มีนาคม เขาจะไม่ทำความสะอาดถนน เพราะเข้าฤดูหนาว สิ่งที่เราต้องระวังในช่วงนั้นคือเขามีป้าย ‘No Parking During Snow Emergency’ หรือเปล่า ถ้ามี เราเห็นหิมะตก เราต้องคอยดูข่าวว่ามีประกาศห้ามจอดหรือไม่ ถ้าขี้เกียจดูข่าว ก็สามารถโทรไปเช็กที่ (617) 635-3050 ถ้าเราดันทุรังจอด เราจะต้องจ่าย 45 เหรียญ ที่แย่กว่านั้นถ้าหากรถเราโดนลากไปอู่ เราต้องจ่ายทั้งค่าปรับและค่าลาก ยิ่งไปกว่านั้นสมมติว่าเราจอดในช่วงที่เขาประกาศห้ามจอดเพราะหิมะตกหนัก แล้วรถเราถูกลาก เราต้องจ่ายค่าปรับ 45 เหรียญบวกกับค่าลากอีกประมาณ 100 เหรียญ รวมสะระตะแล้ว 145 เหรียญเลยครับ แล้วโปรดจำไว้ด้วยว่าเขารับแค่เงินสดเท่านั้น 

ฉะนั้นถ้าหากเราสงสัยว่ารถถูกลาก แล้วอยากจะรู้ว่ารถเราอยู่อู่ไหน เราสามารถไปเว็บไซต์ https://www.cityofboston.gov/towing/search แล้วใส่เบอร์ทะเบียนรถเราลงไป เราก็จะได้ข้อมูลว่ารถเราถูกลากหรือไม่ ถ้าถูกลาก เขาจะบอกว่าเราจะไปเอารถได้จากอู่ไหน

กลับมาที่เหตุการณ์ปัจจุบัน หลังจากที่ย้ายเข้าบ้านอีกไม่นาน ผมก็ต้องไปสอบใบขับขี่เพื่อที่จะไปเอารถที่พี่ชายทิ้งไว้ให้ที่บ้านลูกพี่ลูกน้องในเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ โดยปัจจุบันสมัครสอบข้อเขียนได้ที่ https://www.mass.gov/how-to/apply-for-a-passenger-class-d-learners-permit สำหรับใบขับขี่รถส่วนตัว ซึ่งทางอเมริกาเขาเรียกว่าใบขับขี่แบบ ‘Class D’ พอกรอกใบสมัครเสร็จ อย่าลืมขอคู่มือผู้ขับรถ (Driver’s Manual) จากในเว็บไซต์มาอ่านและจำให้ขึ้นใจเพราะข้อสอบจะมาจากข้อมูลในหนังสือเล่มนั้น เมื่อถึงวันสอบทางรัฐแมสซาซูเซตส์ให้ยื่นเอกสารที่แสดงว่าเราถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ามีเอกสาร I-20 ทางสถานศึกษาหรือวีซ่าทำงานก็ใช้ได้ พร้อมด้วยเลขที่บัตรประกันสังคม (Social Security Number) และหลักฐานว่าเราอยู่อาศัยในรัฐ เช่นใบแจ้งหนี้จากบริษัทไฟฟ้า น้ำ หรือสัญญาเช่าอพาร์ตเมนต์ 

ย้ำว่า!! ทุกเอกสารต้องเป็นตัวจริง ก่อนจะไปสมัครสอบข้อเขียนควรจะเช็กข้อมูลอีกทีที่เว็บไซต์ https://mass.gov/guides/massachusetts-identification-id-requirements เพราะได้อ่านข่าวมาว่าทางรัฐกำลังจะเปลี่ยนแปลงให้คนต่างด้าวที่อยู่อย่างผิดกฎหมายสมัครใบขับขี่ได้ ถ้าสอบข้อเขียนผ่าน ก็จะได้ใบขับขี่ชั่วคราว (Learner’s Permit) แต่ไม่สามารถขับรถได้ถ้าหากไม่มีผู้ที่มีใบขับขี่ในรัฐมาแล้วหนึ่งปีขึ้นไปนั่งในรถไปด้วย 

รู้จัก ‘ทริปเปิ้ลเอ’ บริการช่วยแนะนำเส้นทาง แก่ผู้ขับรถต่างเมือง ในยุคก่อนมีจีพีเอส

สมัยนั้นเขายังอนุญาตให้คนมารับผู้โดยสารเข้ามาถึงที่หน้าประตูทางออก หลังจากที่เครื่องบินไปแตะพื้นธรณีของเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ พอออกมาก็เจอพี่มิก เพื่อนของพี่ชายมารับที่ประตูทางออก และผมก็มุ่งหน้าไปบ้านของพี่อิ๊งค์ ลูกพี่ลูกน้องที่ฝากรถเราไว้ 

ตอนนั้นพี่อิ๊งค์กับครอบครัวกลับมาเยี่ยมบ้านที่กรุงเทพฯ แต่รู้กันก่อนหน้าแล้วว่าเราจะมา พี่อิ๊งค์เลยส่งกุญแจและเอกสารสำคัญเกี่ยวกับรถไปให้กับพี่มิก เมื่อผมมาถึง ก็ขับรถได้เลย แต่ต้องบอกเลยว่าตอนนั้นยังไม่ชินถนนหนทางในประเทศอเมริกาสักเท่าไหร่ จะขับทางไกลที ใจเต้นรัวเป็นเพลง EDM แทบจะเป็นลม โชคดีที่พี่มิกมาด้วย แกเลยให้ขับตาม แต่แกก็ขับเร็วเหลือเกิน เราเลยต้องคอยเร่งไล่ตามให้ทัน ไม่ให้คลาดสายตา 

ผมถอนหายใจซะหมดปอดเมื่อมาถึงบ้านพี่มิกที่เมืองซินซินแนติ (Cincinnati) หลังจากที่จอดรถเสร็จ ผมก็ไปทานอาหารจีนสไตล์อเมริกันที่หวานและเค็มนำ ส่วนใหญ่คนอเมริกันจะชอบสั่งเกี๊ยวทอดไส้ครีมชีสและปูอัดที่เรียกกันว่าปูร่างกุ้ง (Crab Rangoon) หมูแดงในรูปของซี่โครง ข้าวผัดซีอิ๊วดำใส่ต้นหอมและถั่วงอก และหมูชุบแป้งทอดผัดเปรี้ยวหวาน 

ตอนชำระเงินทางร้านจะเอาคุกกี้ทรงอีแปะใส่กระดาษพิมพ์คำคมหรือดวงแบบสั้นมาให้ ซึ่งคุกกี้แบบนี้จะเรียกว่าคุกกี้ดูดวง (Fortune cookie) และคนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยได้ทานกัน เพราะจะอิ่มจนแน่น จึงแค่หักคุกกี้เพื่ออ่านข้อความที่อยู่บนกระดาษเพื่อความบันเทิง ส่วนคนไทยจะชอบเอาตัวเลขที่อยู่บนกระดาษมาซื้อลอตเตอรี่ เราเองชอบทานคุกกี้แบบนี้เพราะแป้งมีความหวานอ่อนๆ กลิ่นวานิลาเป็นการล้างปากจากอาหารคาว  

พี่มิกรู้ว่าวันรุ่งขึ้นเราต้องขับรถกลับกันมาที่บอสตัน แกจึงพาเราไปแวะที่สำนักงานของทริปเปิ้ลเอ (AAA) เพื่อไปปรึกษาหาเส้นทางที่จะขับมาถึงแมสซาชูเซตส์อย่างเร็วที่สุด ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจว่าสมัยนั้นยังไม่มีจีพีเอส เวลาจะขับรถกันไปต่างเมืองทีต้องพึ่งแผนที่ ทางองค์กรทริปเปิ้ลเอ ชึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า American Automobile Association มีบริการช่วยแนะนำเส้นทางขับรถต่างเมืองให้คนที่สมัครเป็นสมาชิกรายปี ซึ่งขณะนี้ตกประมาณ 65 เหรียญสหรัฐ นอกจากนั้นสมาชิกยังสามารถรับสิทธิ์ซื้อประกันรถให้ราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ได้รับบริการลากรถและช่วยเปลี่ยนล้อที่ยางแบน คนทั่วไปจึงนิยมกันเป็นสมาชิกทริปเปิ้ลเอ จนเป็นองค์กรที่ใหญ่โตของสหรัฐฯ และแคนาดา ถึงแม้ว่ายุคนี้จะไม่ต้องพึ่งเรื่องแผนที่เหมือนแต่ก่อน ก็ยังมีประโยชน์กับการขับรถทางไกลอยู่ ถ้าสนใจอยากจะทราบรายละเอียดลองเช็กดูโดยตรงที่เว็บไซต์ https://www.aaa.com/stop 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top