ลุยรถไฟใต้ดิน ครั้งแรก!! การใช้บริการระบบรางสู่ ม.บอสตัน ถามตัวเองว่า “เราจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่อีกกี่ปีหนอ”

เช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น เราก็รีบตื่นนอนก่อนคนอื่น เพื่อที่จะได้ใช้ห้องน้ำให้เสร็จ ญาติๆ จะได้ไม่ต้องมาทนฟังเราทำธุรกิจส่วนตัวให้ขยะแขยงโสตประสาท พอคุณอาหญิงตื่นขึ้นมา ก็บอกให้เราหาอาหารทาน 

ตอนเช้าบ้านคุณอา น้องๆ จะทานซีเรียลกันก่อนไปโรงเรียน ส่วนเราเป็นคนไม่ชอบทานอาหารเช้า เราก็เลยขอบคุณคุณอาและไปนั่งดื่มกาแฟอ่านนิตยสารไทยรอไปพลางๆ ในห้องนั่งเล่น เมื่อคุณอาทั้งสองอาบน้ำแต่งตัวเสร็จก็พาเราเข้าเมืองไปพร้อมๆ กัน 

ขณะที่ขับรถจะผ่านโรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น (Mount Auburn Hospital) ในเมืองแคมบริดจ์ (Cambridge) คุณอาทั้งสองก็เล่าให้ฟังว่า ในหลวงรัชกาลที่เก้าประสูติที่โรงพยาบาลนี้ เราถึงกับปลื้มใจยกมือไหว้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านมีต่อประเทศชาติและเหล่าพสกนิกร และทำเช่นนี้ทุกครั้งที่ผ่านโรงพยาบาลนี้ เมื่อมาถึงร้านแว่นตาที่คุณอาทั้งสองทำงาน คุณอาหญิงก็บอกว่าท่านจะสอนให้เราเดินทางไปกลับจากที่ทำงานท่านและโรงเรียนสอนภาษา ตอนนั้นที่ทำงานท่านอยู่ในถนนบอยล์สตัน (Boylston Street) ถนนช็อปปิ้งสายหลักของบอสตัน ซึ่งมีร้านค้าต่างๆ มากมาย 

นอกจากนั้นสถานีรถไฟใต้ดินก็อยู่ใกล้กับออฟฟิศคุณอา เดินไม่เกินสามนาทีก็ถึง ท่านสอนเราง่ายๆ ว่าเวลาเรานั่งรถจากออฟฟิศท่านไปโรงเรียนให้ขึ้นสถานีออกนอกเมือง (Outbound) และลงที่สถานีบียูเซ็นทรัล (BU Central) ส่วนขากลับมาหาท่านให้ขึ้นสถานีเข้าเมือง (Inbound) และลงที่ป้ายถนนบอยล์สตัน เนื่องจากเป็นวันแรกที่เราใช้ขนส่งมวลชนของรัฐ (MBTA หรือ Massachusetts Bay Transportation Authority) คุณอาเลยให้เหรียญที่จ่ายค่าโดยสาร (token) เป็นเหรียญทองเหลืองใหญ่กว่าเหรียญบาท แต่เล็กกว่าเหรียญห้าบาทปัจจุบัน ท่านให้ไว้สองเหรียญ เพื่อขาไปและกลับ และชี้ให้เราเห็นตู้ที่มีพนักงานขายเหรียญ 

ท่านบอกว่าจริงๆ แล้วเราสามารถที่จะเอาเศษเหรียญจริงๆ จำนวนแปดสิบห้าเซ็นต์มาหยอดได้ ไม่ต้องแลกเหรียญค่าโดยสารก็ได้ แต่บางทีคนก่อนเราอาจจะหยอดเหรียญไม่ครบ ทำให้เราต้องเสียเวลามาจ่ายค่าต่างแทนคนอื่น ดังนั้นแลกเหรียญจ่ายค่าโดยสารไว้ใช้ดีที่สุด โดยเฉพาะบางสถานีจะไม่มีพนักงานขายเหรียญ ถ้าเราไม่มีเงินจ่าย คนขับรถจะพาลไม่ให้ขึ้นเอา ต้องเดินขาลากมาออฟฟิศคุณอา เราได้ยินดังนั้นก็จำไว้ติดใจว่าต้องมีเหรียญไว้จ่ายค่าเดินทางไว้ติดกระเป๋าอยู่เสมอเพื่อไม่ให้พลาดรถ

เมื่อพูดถึงรถไฟใต้ดินของรัฐแมสซาซูเซตส์ ต้องขออนุญาตนอกเรื่องเล่าถึงระบบและสายรถไฟต่างๆ ในยุคนั้นไว้เป็นสังเขป จริงๆ แล้วการที่ใช้คำว่ารถไฟใต้ดินนั้นไม่ถูกเลยทีเดียว เพราะรถโดยสารประเภทนี้ลงทั้งใต้ดินและแล่นบนถนนเคียงข้างกับรถยนต์ ควรจะเรียกว่ารถรางจะเหมาะกว่า ส่วนที่ว่าคนไทยติดใช้คำว่ารถไฟใต้ดินคงจะเป็นเพราะคุ้นเคยกับระบบรถใต้ดินจริงๆ ของปารีสที่รู้จักกันอย่างดีในนามเมโทร (Metro) ส่วนรถใต้ดินของรัฐแมสซาซูเซตส์นั้นเรียกว่าซับเวย์ (Subway) หรือผู้โดยสารทั่วๆ ไปจะเรียกย่อๆ ว่าที (T) มีสี่สาย แต่ละสายใช้สีต่างๆ เป็นสัญลักษณ์คือ เขียว, แดง, ส้ม และน้ำเงิน 

นอกจากนี้ยังแบ่งสายหลักเป็นสายย่อยๆ อีก เช่นสายเขียวนั้นจะแบ่งเป็นสี่สายย่อย B, C, D และ E ถ้าผู้โดยสารจะต่อรถไฟสายสีอื่น สามารถจะต่อได้โดยจุดเปลี่ยนสายโดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ยกตัวอย่างเช่น ผู้โดยสารที่เรียนที่มหาวิทยาลัยบอสตันจะไปเที่ยวจัตุรัสฮาร์วาร์ด (Harvard Square) จะนั่งรถสายเขียวบีเข้าเมืองมาถึงสถานีพาร์คสตรีท (Park Street) และลงเปลี่ยนขึ้นรถสายแดงปลายทางเอลไวฟ์ (Alewife) ลงที่ป้ายฮาร์วาร์ด ถึงแม้ว่าการเดินทางโดยใช้ทีจะมีการล่าช้าบ้าง ประชาชนในเมืองสามารถเดินทางไปมาอย่างสะดวกโดยไม่ต้องพึ่งรถยนต์ที่จะชวนหัวเสียเพราะรถติดและคนขับรถส่วนใหญ่ด้อยมารยาทการขับ

หลังจากที่หยอดเหรียญชำระค่าโดยสารลงในรูหยอด เราก็เดินผ่านทางเข้าที่มีเหล็กหมุน เนื่องจากตอนนั้นเป็นเวลาประมาณแปดโมงเช้า รถที่ผ่านมาแน่นมาก เราก็นึกในใจว่ารถขบวนต่อไปน่าจะว่างลงหน่อย ที่ไหนได้ผ่านมาอีกสองขบวนยิ่งอัดแบบปลากระป๋อง เราไม่มีทางเลือก เพราะไม่อยากไปถึงโรงเรียนสาย ขาดเรียนไปวันแรกแล้ว เดี๋ยวจะเรียนไม่ทันเพื่อนๆ ในห้อง เมื่อรอผู้โดยสารของรถขบวนต่อไปลงเสร็จ เราก็รีบสวนตัวเข้าไปทันที ขณะที่อยู่ในรถ เราไม่พยายามหาที่จับเพื่อเราจะได้ไม่ล้ม เมื่อรถเบรกกะทันหัน แต่คนแออัดมากเกินกว่าที่เราจะเอื้อมไปหาที่จับเหนือหัวได้ ต้องจำทนทรงตัวด้วยการใช้ร่างกายของผู้โดยสารรอบๆ ข้างเป็นตัวประคอง 

หลังจากที่นั่งไปสักสิบนาที รถก็ขึ้นจากใต้ดินมาแล่นบนรางตรงกลางถนนใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยบอสตันหรือเรียกกันสั้นๆ ว่าบียู รถจอดประมาณสองป้ายก่อนที่จะถึงป้ายของโรงเรียน เมื่อเราจะลงก็มีคนรอบข้างแน่นไปหมด กว่าจะกระแซะตัวออกมาได้ เกือบจะโดนรถปิดประตูงับก้น พอลงจากรถมายืนหน้าตึกของโรงเรียน เราก็ถอนหายใจด้วยความโล่งอกที่มาถึงสิบห้านาทีก่อนเริ่มการเรียน ทันใดนั้นเราฉุกใจถามตัวเองว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่อีกกี่ปีหนอ และเปิดประตูเข้าโรงเรียน


เรื่อง: ดร.ชัยวุฒิ จิตต์กุศล
อักษรจรัสรุ่นที่ 55 อดีตเคยเป็น Senior Lecturer ที่ University of Massachusetts, Boston (สอนเฉพาะวิชาภาษาสเปน) ปัจจุบันหันมาทำไร่ดอกไม้และผลไม้