Sunday, 19 May 2024
เรื่องเล่า

ลุยรถไฟใต้ดิน ครั้งแรก!! การใช้บริการระบบรางสู่ ม.บอสตัน ถามตัวเองว่า “เราจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่อีกกี่ปีหนอ”

เช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น เราก็รีบตื่นนอนก่อนคนอื่น เพื่อที่จะได้ใช้ห้องน้ำให้เสร็จ ญาติๆ จะได้ไม่ต้องมาทนฟังเราทำธุรกิจส่วนตัวให้ขยะแขยงโสตประสาท พอคุณอาหญิงตื่นขึ้นมา ก็บอกให้เราหาอาหารทาน 

ตอนเช้าบ้านคุณอา น้องๆ จะทานซีเรียลกันก่อนไปโรงเรียน ส่วนเราเป็นคนไม่ชอบทานอาหารเช้า เราก็เลยขอบคุณคุณอาและไปนั่งดื่มกาแฟอ่านนิตยสารไทยรอไปพลางๆ ในห้องนั่งเล่น เมื่อคุณอาทั้งสองอาบน้ำแต่งตัวเสร็จก็พาเราเข้าเมืองไปพร้อมๆ กัน 

ขณะที่ขับรถจะผ่านโรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น (Mount Auburn Hospital) ในเมืองแคมบริดจ์ (Cambridge) คุณอาทั้งสองก็เล่าให้ฟังว่า ในหลวงรัชกาลที่เก้าประสูติที่โรงพยาบาลนี้ เราถึงกับปลื้มใจยกมือไหว้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านมีต่อประเทศชาติและเหล่าพสกนิกร และทำเช่นนี้ทุกครั้งที่ผ่านโรงพยาบาลนี้ เมื่อมาถึงร้านแว่นตาที่คุณอาทั้งสองทำงาน คุณอาหญิงก็บอกว่าท่านจะสอนให้เราเดินทางไปกลับจากที่ทำงานท่านและโรงเรียนสอนภาษา ตอนนั้นที่ทำงานท่านอยู่ในถนนบอยล์สตัน (Boylston Street) ถนนช็อปปิ้งสายหลักของบอสตัน ซึ่งมีร้านค้าต่างๆ มากมาย 

นอกจากนั้นสถานีรถไฟใต้ดินก็อยู่ใกล้กับออฟฟิศคุณอา เดินไม่เกินสามนาทีก็ถึง ท่านสอนเราง่ายๆ ว่าเวลาเรานั่งรถจากออฟฟิศท่านไปโรงเรียนให้ขึ้นสถานีออกนอกเมือง (Outbound) และลงที่สถานีบียูเซ็นทรัล (BU Central) ส่วนขากลับมาหาท่านให้ขึ้นสถานีเข้าเมือง (Inbound) และลงที่ป้ายถนนบอยล์สตัน เนื่องจากเป็นวันแรกที่เราใช้ขนส่งมวลชนของรัฐ (MBTA หรือ Massachusetts Bay Transportation Authority) คุณอาเลยให้เหรียญที่จ่ายค่าโดยสาร (token) เป็นเหรียญทองเหลืองใหญ่กว่าเหรียญบาท แต่เล็กกว่าเหรียญห้าบาทปัจจุบัน ท่านให้ไว้สองเหรียญ เพื่อขาไปและกลับ และชี้ให้เราเห็นตู้ที่มีพนักงานขายเหรียญ 

ท่านบอกว่าจริงๆ แล้วเราสามารถที่จะเอาเศษเหรียญจริงๆ จำนวนแปดสิบห้าเซ็นต์มาหยอดได้ ไม่ต้องแลกเหรียญค่าโดยสารก็ได้ แต่บางทีคนก่อนเราอาจจะหยอดเหรียญไม่ครบ ทำให้เราต้องเสียเวลามาจ่ายค่าต่างแทนคนอื่น ดังนั้นแลกเหรียญจ่ายค่าโดยสารไว้ใช้ดีที่สุด โดยเฉพาะบางสถานีจะไม่มีพนักงานขายเหรียญ ถ้าเราไม่มีเงินจ่าย คนขับรถจะพาลไม่ให้ขึ้นเอา ต้องเดินขาลากมาออฟฟิศคุณอา เราได้ยินดังนั้นก็จำไว้ติดใจว่าต้องมีเหรียญไว้จ่ายค่าเดินทางไว้ติดกระเป๋าอยู่เสมอเพื่อไม่ให้พลาดรถ

เมื่อพูดถึงรถไฟใต้ดินของรัฐแมสซาซูเซตส์ ต้องขออนุญาตนอกเรื่องเล่าถึงระบบและสายรถไฟต่างๆ ในยุคนั้นไว้เป็นสังเขป จริงๆ แล้วการที่ใช้คำว่ารถไฟใต้ดินนั้นไม่ถูกเลยทีเดียว เพราะรถโดยสารประเภทนี้ลงทั้งใต้ดินและแล่นบนถนนเคียงข้างกับรถยนต์ ควรจะเรียกว่ารถรางจะเหมาะกว่า ส่วนที่ว่าคนไทยติดใช้คำว่ารถไฟใต้ดินคงจะเป็นเพราะคุ้นเคยกับระบบรถใต้ดินจริงๆ ของปารีสที่รู้จักกันอย่างดีในนามเมโทร (Metro) ส่วนรถใต้ดินของรัฐแมสซาซูเซตส์นั้นเรียกว่าซับเวย์ (Subway) หรือผู้โดยสารทั่วๆ ไปจะเรียกย่อๆ ว่าที (T) มีสี่สาย แต่ละสายใช้สีต่างๆ เป็นสัญลักษณ์คือ เขียว, แดง, ส้ม และน้ำเงิน 

ประสบการณ์แห่งการเงียบที่ทำท้อใจ แต่นานไปกลับพูดได้จนน่าแปลกใจตัวเอง

ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่าผู้เขียนได้มาที่ตึกนี้แล้วครั้งหนึ่งแล้วเพื่อมาสอบเทียบระดับภาษา ตอนนั้นทั้งใจเสียที่เรามาหลังจากวันโรงเรียนเปิดเทอม ทั้งกลัวที่จะไม่มีที่ซุกหัวนอน และทั้งหัวสมองมึนเพราะต้องปรับตัวกับเวลาที่หมุนช้าจากกรุงเทพฯไปสิบเอ็ดชั่วโมง เราเลยไม่มีเวลาสำรวจว่าสถานศึกษาที่อเมริกากับประเทศเราต่างกันอย่างไร 

งวดนี้มาตัวคนเดียวเป็นหนแรกความอยากรู้อยากเห็นเลยบันดาลใจให้เราสังเกตสิ่งรอบตัวมากขึ้น ตึกเป็นตึกค่อนข้างเก่าผสมทั้งอิฐและปูนซีเมนต์ ประตูเข้าเหมือนประตูสำนักงานห้องแถวทั่ว ๆ ไป ความคิดที่แว่บขึ้นมาตอนนั้นเดาว่าตึกนี้คงเคยเป็นของภาควิชาอื่นมาก่อน เมื่อภาคนั้นขยายจำนวนอาจารย์และนักเรียนเลยย้ายไปที่ตึกสร้างใหม่ ตึกนี้จึงยกให้กับโรงเรียนสอนภาษา จึงไม่มีการบูรณะให้เข้ากับสมัย 

ข้างล่างเป็นห้องโถงโล่ง ๆ กลิ่นเก่าชื้น ๆ มีโปสเตอร์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยและโปรแกรมภาษาอังกฤษแปะเต็มไปหมด ไม่มีพนักงานหรือยามคอยให้ข้อมูลนักเรียนที่มาใหม่ มีป้ายอธิบายแผนกต่าง ๆ ในแต่ละชั้นแต่ไม่เด่น เนื่องจากเราเคยมาแล้วถึงรู้ว่าสำนักงานและห้องเรียนนั้นอยู่บนชั้นสอง

เมื่อเดินขึ้นบันไดขั้นสุดท้าย ข้างหน้ามีเคาน์เตอร์ยาวซึ่งพนักงานกำลังง่วนให้ข้อมูลต่าง ๆ กับนักเรียนอยู่ บนบอร์ดไม้ข้าง ๆ พนักงานมีกระดาษแปะเลขที่ห้องเรียนและชื่อนักเรียน เรามองหาชื่อตัวเองซึ่งไม่ยากนักเพราะว่าทั้งชื่อทั้งนามสกุลนั้นขึ้นด้วย C จึงเป็นคนต้น ๆ ของนักเรียนในห้อง พอเรารู้เลขที่ห้องเรียนแล้วเลยจรลีไปหาที่นั่งหลังห้อง เพื่อนร่วมห้องก็มองอย่างแปลกใจเพราะวันแรกไม่เห็นเราในห้อง เราก็ยิ้มเขิน ๆ ให้พวกเขาและนั่งรอจนครูเข้าห้องมา 

ครูของเราเป็นผู้หญิงรูปร่างสันทัดชื่อเอเดรียน ซัลส์ (Adrienne Saltz) อายุประมาณสามสิบปีผมดำหยักศกตัดสั้นประคอดูกระฉับกระเฉง เนื่องจากเป็นวันแรกที่เราเข้าเรียนครูก็แนะนำตัวเองโดยใช้ชื่อ,นามสกุล,ชื่อที่ต้องการให้คนในห้องเรียนเรียก, และเมืองและประเทศที่มา 

เมื่อได้ยินครูบอกว่าให้เรียกเธอว่าเอเดรียน เราก็รู้สึกแปลกใจมากเพราะเท่าที่ได้ฟังมาจากภาพยนตร์อเมริกันนั้น ครูส่วนใหญ่จะให้นักเรียนเรียกคำนำหน้ามิสเตอร์ มิส หรือมิสซิสแล้วตามด้วยนามสกุล ในกรณีอย่างครูเอเดรียนนี่ควรจะเป็นมิสซิสซัลส์ เพราะเธอใส่แหวนแต่งงานนิ้วนางซ้ายแล้ว แต่ตอนหลังถึงเข้าใจว่าครูสอนภาษาส่วนใหญ่ให้เรียกชื่อต้นเพื่อความเป็นกันเองนักเรียนจะได้สนทนาภาษาอังกฤษอย่างไม่เคอะเขิน 

ส่วนตัวเราเองนั้นชาวต่างชาติเรียกว่าโจมาตั้งแต่อายุเก้าขวบตอนที่มาเยี่ยมพี่ชายคนโตที่รัฐโอไฮโอ ตอนนั้นมาอยู่ที่อเมริกาสามเดือน คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้อยู่บ้านเฉย ๆ เลยส่งให้ไปเรียนกับเด็กอนุบาลเพื่อให้เราได้ภาษา คุณพ่อก็กลัวว่าเด็ก ๆ จะเรียกชื่อจริงหรือชื่อเล่นไทยไม่ได้ เลยเอาชื่อหมาที่เฝ้าบ้านที่กรุงเทพฯ มาตั้งให้ เพราะเป็นชื่อที่มาจากภาษาอังกฤษอยู่แล้ว หลังจากที่เราแนะนำตัวเองเพื่อน ๆ แต่ละคนก็แนะนำตัวเอง เพื่อน ๆ ในห้องนั้นมาจากหลากประเทศทั่วโลก แต่คนที่เราสนิทด้วยก็คือ เพื่อนสาวชาวไทยชื่อเหมียวและชาวฝรั่งเศสชื่อกาเบรียล (Gabrielle)

เนื่องจากเราเรียนภาษาระดับสูง ตอนบ่ายเราสามารถจะเลือกเรียนวิชาที่เตรียมตัวไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ ตอนนั้นมีให้เลือกสามสายคือ การเมือง วรรณคดี และธุรกิจ ตัวเราเองนั้นตั้งใจจะมาเรียนต่อทางด้านโฆษณาจึงเลือกสายธุรกิจ ซึ่งครูเอเดรียนจะเอานิตยสารทางด้านธุรกิจ เช่น Forbes หรือ Businessweek มาให้อ่าน แล้วเหล่านักเรียนก็จะตอบคำถามของครูเพื่อเช็กความเข้าใจบทความที่อ่านไป 

ชมบ้านใหม่ แท็กติกหาอพาร์ตเมนต์เช่าในบอสตัน ต้องกล้าต่อรอง เพื่อทางเลือกที่ดีที่สุด

จบจากประสบการณ์ในการปรับปูพื้นฐานภาษาไปเมื่อตอนก่อน ในตอนนี้ผมจะเล่าถึงพี่ลิซสาวสวยผมยาวตาโตและยิ้มหวานเป็นแฟนลูกชายของคุณป้า ซึ่งผมเคยรู้จักพี่ลิซแบบเผินๆ ตอนที่พี่เขาเรียนที่รัฐศาสตร์จุฬาฯ 

ตอนที่เจอพี่ลิซที่บอสตันนั้น พี่เขาก็เรียนที่ BU เหมือนกัน แต่เขาอยู่กับน้องสาวที่อพาร์ตเมนต์นอกเมืองที่ Natick เมืองทางตะวันตกของบอสตัน เพราะพี่เขาชอบห้องนอนกว้างและตู้เสื้อผ้าใหญ่ที่ขนาดครึ่งหนึ่งของห้องนอน เวลาพี่เขาจะขับมาเรียนก็ใช้เวลาเกือบชั่วโมง ส่วนเรานั้นเป็นคนที่ไม่ชอบขับรถไกล ยิ่งมาใหม่ ๆ ยังไม่คุ้นชินกับถนนหนทาง สมัยนั้นยังไม่มีจีพีเอส ต้องดูแผนที่ซึ่งเราดูไม่เป็น จากเหนือเป็นใต้ เราก็เลยบอกให้พี่เขาช่วยหาที่พักใกล้ขนส่งมวลชน ไปไหนมาไหนจะได้ขึ้นรถใต้ดินอย่างสบายใจเฉิบ 

พี่เขาพาผมไปดูอพาร์ตเมนต์หลายแห่ง แต่ราคาค่อนข้างสูงประมาณมากกว่าหนึ่งพันเหรียญต่อเดือน ไอ้เราก็เกรงใจคุณพ่อคุณแม่เลยขอดูที่ถูกกว่า ซึ่งพอดีพี่เขาก็เห็นโฆษณาอพาร์ตเมนต์สร้างใหม่ในแหล่งช็อปปิงหรู Copley Place ในใจกลางเมืองบอสตัน เขาจึงพาเรามาลองดูเผื่อว่าจะมีโปรโมชันดีสำหรับตึกที่พักใหม่ 

เรานัดพนักงานฝ่ายเช่ามาก่อน พอเรามาถึงที่ตึก ก็มีผู้หญิงผมทองตาสีเขียวทับทิมตัวสูงเปรียวอายุประมาณสามสิบปลาย ๆ นั่งรออยู่ที่ล็อบบี้ เธอแนะนำตัวเองว่าชื่ออแมนดา แล้วพาเราผ่านพนักงานเฝ้าประตูเพื่อขึ้นลิฟต์ไปดูห้องพัก สีที่ใช้ในตึกนี้มีอยู่สี่สีคือแดงเลือดนก ดำ ขาว และน้ำตาลเข้ม 

อแมนดาพาเราไปดูห้องพักชั้นสิบซึ่งเป็นห้องนอนเดียวขนาดใหญ่ ซึ่งค่าเช่าประมาณหนึ่งพันสองร้อยเหรียญ เราบอกอแมนดาว่าห้องนี้เกินงบที่เราตั้งไว้ เราไม่อยากได้ห้องที่เกินพันเหรียญ เธอบอกว่ามีห้องขนาดกลางชั้นสามที่ยังว่างอยู่ราคาเดือนละแปดร้อยห้าสิบเหรียญ เราได้ยินราคาเลยหูผึ่งสนใจ พอเปิดประตูห้อง ห้องน้ำอยู่ด้านซ้ายติดกับห้องนอน ด้านขวาของประตูเข้ามีครัวเป็นซอกเล็ก ๆ โดยมีกำแพงกั้นเป็นสัดเป็นส่วนจากห้องนั่งเล่น สภาพห้องต่าง ๆ มีกลิ่นสีใหม่ นอกจากประตูหลักที่เปิดเข้าห้องทีเป็นสีแดงเลือดนกแล้ว ทุกอย่างในห้องชุดนั้นเป็นสีขาวโพลนหมด เมื่อเรามองห้องอีกทีจากประตูเข้า ก็คิดในใจว่าขนาดของห้องเหมาะสมกับสองคนอยู่เผื่อตอนแฟนเรามาจากเมืองไทย เราจึงตอบตกลงอแมนดาว่า เราตัดสินใจที่จะเช่าห้อง

เมื่อพี่ลิซได้ยินเราตอบกับอแมนดา เธอก็รีบส่งสัญญาณจุ๊ปากว่าอย่าเพิ่ง แล้วเธอก็รีบบอกอแมนดาสวนไปว่าจริง ๆ แล้วเธอกำลังจะพาเราไปดูอพาร์ตเมนต์อีกที่แถว Allston ใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย แถมทางผู้บริหารของตึกนั้นทำโปรโมชันค่าเช่าเดือนแรกฟรี

กว่าจะได้ขึ้นบ้านใหม่ ขอบคุณบุญคุณอันยิ่งใหญ่ของ ‘คุณอา’ แต่ต้องเหวอกันถ้วนหน้า เมื่อรถแวนหายไป

หลังจากตอนก่อน ที่ผมได้ไปดูอพาร์ตเมนต์กับพี่ลิซ ผมก็รีบกุลีกุจอไปทำบัตรประกันสังคมเพื่อที่จะได้เลขที่ของบัตรมาเปิดบัญชีธนาคาร 

ย้อนความไปเล็กน้อยว่า สมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต เวลาต้องการข้อมูลเกี่ยวกับอะไรสักอย่าง ต้องถามคนที่มีประสบการณ์ เราก็เลยถามคุณอาผู้หญิงว่า เราจะไปทำบัตรประกันสังคมได้ที่ไหน คุณอาบอกว่าต้องไปที่ตึกของทางรัฐบาลกลาง (Federal building) ซึ่งอยู่ในใจกลางเมืองที่เรียกว่า North Station และถ้าหากเราจะไปตั้งต้นจากโรงเรียนต้องนั่งรถใต้ดินสายเขียว B เข้าเมือง (Inbound) และลงเปลี่ยนรถสายเขียวอีกขบวนที่จุดปลายทางคือ North Station ที่สถานี Boylston ซึ่งใกล้กับที่ทำงานคุณอา คุณอาเลยบอกว่าถ้าเรามาถึงที่สถานีแล้วให้เดินมาหาท่าน จะได้ไปด้วยกัน 

พอเราไปถึงตึกรัฐบาลกลางแล้ว เราต้องเดินผ่านโต๊ะต้อนรับ พนักงานที่จุดนั้นบอกให้ทุกคนหยุดเข้าแถวเพื่อรอตรวจเอกสารว่ามีครบตามที่ทางการได้ระบุไว้หรือไม่ ถ้าใครมีเอกสารไม่ครบ เขาก็จะให้กลับไปและมาใหม่เมื่อมีเอกสารพร้อม พอถึงตาเราเขาก็ตรวจว่าเรามีหนังสือเดินทางและเอกสารที่ทางโรงเรียนรับรองว่าเราเป็นนักเรียน (I-20) หรือเปล่า เมื่อเขาเห็นว่าเรามีครบ เขาก็ยื่นบัตรคิวให้เรา 

ผมรออยู่สักประมาณชั่วโมงกว่า ๆ กว่าจะทำเรื่องเสร็จ แต่แล้วก็อึ้งสนิทเมื่อพนักงานบอกว่าบัตรจะส่งมาที่บ้านภายใน 7-10 วัน เราก็นึกในใจว่าทางอพาร์ตเมนต์เขาคงยึดเงินมัดจำที่พี่ลิซให้ไว้แน่ ๆ เพราะกว่าบัตรจะมาเพื่อให้เราไปเปิดบัญชีธนาคาร ก็คงผ่านหนึ่งอาทิตย์ไปแล้ว 

ตอนนั้นผมมืดแปดด้าน ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จึงปรับทุกข์กับคุณอา ท่านบอกว่าเดี๋ยวท่านจะลองติดต่อไปหาอแมนดาเผื่อจะมีวิธีแก้ไข เมื่อถึงออฟฟิศคุณอา ท่านก็โทรคุยกับอแมนดาอยู่พักใหญ่ พอท่านวางหู ท่านก็บอกให้เราเตรียมตัวเดินไปหาอแมนดาด้วยกัน 

ตึกอพาร์ตเมนต์อยู่ประมาณสามสี่ช่วงตึกจากออฟฟิศคุณอา เดินประมาณสิบนาทีก็ถึง พอเราสองคนเจออแมนดา คุณอาก็หยิบสมุดเช็คออกมาแล้วเขียนเช็คให้อแมนดาสองใบ ซึ่งเป็นเงินมัดจำค่าเช่าเดือนสุดท้ายและค่าประกันความเสียหายของห้อง หลังจากที่อแมนดารับเช็คเธอก็ยื่นเอกสารมาให้เราและคุณอาเซ็น เราก็ถึงบางอ้อว่าคุณอาช่างมีความกรุณามาค้ำประกันให้เราได้มีบ้านอยู่ เราตื้นตันใจในความมีน้ำใจของคุณอา และตั้งปณิธานว่าเราจะไม่ลืมท่าน ทุกวันนี้ผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว เรายังโทรหาท่านและซื้อของฝากท่านอย่างสม่ำเสมอ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top