Monday, 29 April 2024
บอสตัน

ลุยรถไฟใต้ดิน ครั้งแรก!! การใช้บริการระบบรางสู่ ม.บอสตัน ถามตัวเองว่า “เราจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่อีกกี่ปีหนอ”

เช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น เราก็รีบตื่นนอนก่อนคนอื่น เพื่อที่จะได้ใช้ห้องน้ำให้เสร็จ ญาติๆ จะได้ไม่ต้องมาทนฟังเราทำธุรกิจส่วนตัวให้ขยะแขยงโสตประสาท พอคุณอาหญิงตื่นขึ้นมา ก็บอกให้เราหาอาหารทาน 

ตอนเช้าบ้านคุณอา น้องๆ จะทานซีเรียลกันก่อนไปโรงเรียน ส่วนเราเป็นคนไม่ชอบทานอาหารเช้า เราก็เลยขอบคุณคุณอาและไปนั่งดื่มกาแฟอ่านนิตยสารไทยรอไปพลางๆ ในห้องนั่งเล่น เมื่อคุณอาทั้งสองอาบน้ำแต่งตัวเสร็จก็พาเราเข้าเมืองไปพร้อมๆ กัน 

ขณะที่ขับรถจะผ่านโรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น (Mount Auburn Hospital) ในเมืองแคมบริดจ์ (Cambridge) คุณอาทั้งสองก็เล่าให้ฟังว่า ในหลวงรัชกาลที่เก้าประสูติที่โรงพยาบาลนี้ เราถึงกับปลื้มใจยกมือไหว้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านมีต่อประเทศชาติและเหล่าพสกนิกร และทำเช่นนี้ทุกครั้งที่ผ่านโรงพยาบาลนี้ เมื่อมาถึงร้านแว่นตาที่คุณอาทั้งสองทำงาน คุณอาหญิงก็บอกว่าท่านจะสอนให้เราเดินทางไปกลับจากที่ทำงานท่านและโรงเรียนสอนภาษา ตอนนั้นที่ทำงานท่านอยู่ในถนนบอยล์สตัน (Boylston Street) ถนนช็อปปิ้งสายหลักของบอสตัน ซึ่งมีร้านค้าต่างๆ มากมาย 

นอกจากนั้นสถานีรถไฟใต้ดินก็อยู่ใกล้กับออฟฟิศคุณอา เดินไม่เกินสามนาทีก็ถึง ท่านสอนเราง่ายๆ ว่าเวลาเรานั่งรถจากออฟฟิศท่านไปโรงเรียนให้ขึ้นสถานีออกนอกเมือง (Outbound) และลงที่สถานีบียูเซ็นทรัล (BU Central) ส่วนขากลับมาหาท่านให้ขึ้นสถานีเข้าเมือง (Inbound) และลงที่ป้ายถนนบอยล์สตัน เนื่องจากเป็นวันแรกที่เราใช้ขนส่งมวลชนของรัฐ (MBTA หรือ Massachusetts Bay Transportation Authority) คุณอาเลยให้เหรียญที่จ่ายค่าโดยสาร (token) เป็นเหรียญทองเหลืองใหญ่กว่าเหรียญบาท แต่เล็กกว่าเหรียญห้าบาทปัจจุบัน ท่านให้ไว้สองเหรียญ เพื่อขาไปและกลับ และชี้ให้เราเห็นตู้ที่มีพนักงานขายเหรียญ 

ท่านบอกว่าจริงๆ แล้วเราสามารถที่จะเอาเศษเหรียญจริงๆ จำนวนแปดสิบห้าเซ็นต์มาหยอดได้ ไม่ต้องแลกเหรียญค่าโดยสารก็ได้ แต่บางทีคนก่อนเราอาจจะหยอดเหรียญไม่ครบ ทำให้เราต้องเสียเวลามาจ่ายค่าต่างแทนคนอื่น ดังนั้นแลกเหรียญจ่ายค่าโดยสารไว้ใช้ดีที่สุด โดยเฉพาะบางสถานีจะไม่มีพนักงานขายเหรียญ ถ้าเราไม่มีเงินจ่าย คนขับรถจะพาลไม่ให้ขึ้นเอา ต้องเดินขาลากมาออฟฟิศคุณอา เราได้ยินดังนั้นก็จำไว้ติดใจว่าต้องมีเหรียญไว้จ่ายค่าเดินทางไว้ติดกระเป๋าอยู่เสมอเพื่อไม่ให้พลาดรถ

เมื่อพูดถึงรถไฟใต้ดินของรัฐแมสซาซูเซตส์ ต้องขออนุญาตนอกเรื่องเล่าถึงระบบและสายรถไฟต่างๆ ในยุคนั้นไว้เป็นสังเขป จริงๆ แล้วการที่ใช้คำว่ารถไฟใต้ดินนั้นไม่ถูกเลยทีเดียว เพราะรถโดยสารประเภทนี้ลงทั้งใต้ดินและแล่นบนถนนเคียงข้างกับรถยนต์ ควรจะเรียกว่ารถรางจะเหมาะกว่า ส่วนที่ว่าคนไทยติดใช้คำว่ารถไฟใต้ดินคงจะเป็นเพราะคุ้นเคยกับระบบรถใต้ดินจริงๆ ของปารีสที่รู้จักกันอย่างดีในนามเมโทร (Metro) ส่วนรถใต้ดินของรัฐแมสซาซูเซตส์นั้นเรียกว่าซับเวย์ (Subway) หรือผู้โดยสารทั่วๆ ไปจะเรียกย่อๆ ว่าที (T) มีสี่สาย แต่ละสายใช้สีต่างๆ เป็นสัญลักษณ์คือ เขียว, แดง, ส้ม และน้ำเงิน 

ประสบการณ์แห่งการเงียบที่ทำท้อใจ แต่นานไปกลับพูดได้จนน่าแปลกใจตัวเอง

ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่าผู้เขียนได้มาที่ตึกนี้แล้วครั้งหนึ่งแล้วเพื่อมาสอบเทียบระดับภาษา ตอนนั้นทั้งใจเสียที่เรามาหลังจากวันโรงเรียนเปิดเทอม ทั้งกลัวที่จะไม่มีที่ซุกหัวนอน และทั้งหัวสมองมึนเพราะต้องปรับตัวกับเวลาที่หมุนช้าจากกรุงเทพฯไปสิบเอ็ดชั่วโมง เราเลยไม่มีเวลาสำรวจว่าสถานศึกษาที่อเมริกากับประเทศเราต่างกันอย่างไร 

งวดนี้มาตัวคนเดียวเป็นหนแรกความอยากรู้อยากเห็นเลยบันดาลใจให้เราสังเกตสิ่งรอบตัวมากขึ้น ตึกเป็นตึกค่อนข้างเก่าผสมทั้งอิฐและปูนซีเมนต์ ประตูเข้าเหมือนประตูสำนักงานห้องแถวทั่ว ๆ ไป ความคิดที่แว่บขึ้นมาตอนนั้นเดาว่าตึกนี้คงเคยเป็นของภาควิชาอื่นมาก่อน เมื่อภาคนั้นขยายจำนวนอาจารย์และนักเรียนเลยย้ายไปที่ตึกสร้างใหม่ ตึกนี้จึงยกให้กับโรงเรียนสอนภาษา จึงไม่มีการบูรณะให้เข้ากับสมัย 

ข้างล่างเป็นห้องโถงโล่ง ๆ กลิ่นเก่าชื้น ๆ มีโปสเตอร์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยและโปรแกรมภาษาอังกฤษแปะเต็มไปหมด ไม่มีพนักงานหรือยามคอยให้ข้อมูลนักเรียนที่มาใหม่ มีป้ายอธิบายแผนกต่าง ๆ ในแต่ละชั้นแต่ไม่เด่น เนื่องจากเราเคยมาแล้วถึงรู้ว่าสำนักงานและห้องเรียนนั้นอยู่บนชั้นสอง

เมื่อเดินขึ้นบันไดขั้นสุดท้าย ข้างหน้ามีเคาน์เตอร์ยาวซึ่งพนักงานกำลังง่วนให้ข้อมูลต่าง ๆ กับนักเรียนอยู่ บนบอร์ดไม้ข้าง ๆ พนักงานมีกระดาษแปะเลขที่ห้องเรียนและชื่อนักเรียน เรามองหาชื่อตัวเองซึ่งไม่ยากนักเพราะว่าทั้งชื่อทั้งนามสกุลนั้นขึ้นด้วย C จึงเป็นคนต้น ๆ ของนักเรียนในห้อง พอเรารู้เลขที่ห้องเรียนแล้วเลยจรลีไปหาที่นั่งหลังห้อง เพื่อนร่วมห้องก็มองอย่างแปลกใจเพราะวันแรกไม่เห็นเราในห้อง เราก็ยิ้มเขิน ๆ ให้พวกเขาและนั่งรอจนครูเข้าห้องมา 

ครูของเราเป็นผู้หญิงรูปร่างสันทัดชื่อเอเดรียน ซัลส์ (Adrienne Saltz) อายุประมาณสามสิบปีผมดำหยักศกตัดสั้นประคอดูกระฉับกระเฉง เนื่องจากเป็นวันแรกที่เราเข้าเรียนครูก็แนะนำตัวเองโดยใช้ชื่อ,นามสกุล,ชื่อที่ต้องการให้คนในห้องเรียนเรียก, และเมืองและประเทศที่มา 

เมื่อได้ยินครูบอกว่าให้เรียกเธอว่าเอเดรียน เราก็รู้สึกแปลกใจมากเพราะเท่าที่ได้ฟังมาจากภาพยนตร์อเมริกันนั้น ครูส่วนใหญ่จะให้นักเรียนเรียกคำนำหน้ามิสเตอร์ มิส หรือมิสซิสแล้วตามด้วยนามสกุล ในกรณีอย่างครูเอเดรียนนี่ควรจะเป็นมิสซิสซัลส์ เพราะเธอใส่แหวนแต่งงานนิ้วนางซ้ายแล้ว แต่ตอนหลังถึงเข้าใจว่าครูสอนภาษาส่วนใหญ่ให้เรียกชื่อต้นเพื่อความเป็นกันเองนักเรียนจะได้สนทนาภาษาอังกฤษอย่างไม่เคอะเขิน 

ส่วนตัวเราเองนั้นชาวต่างชาติเรียกว่าโจมาตั้งแต่อายุเก้าขวบตอนที่มาเยี่ยมพี่ชายคนโตที่รัฐโอไฮโอ ตอนนั้นมาอยู่ที่อเมริกาสามเดือน คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้อยู่บ้านเฉย ๆ เลยส่งให้ไปเรียนกับเด็กอนุบาลเพื่อให้เราได้ภาษา คุณพ่อก็กลัวว่าเด็ก ๆ จะเรียกชื่อจริงหรือชื่อเล่นไทยไม่ได้ เลยเอาชื่อหมาที่เฝ้าบ้านที่กรุงเทพฯ มาตั้งให้ เพราะเป็นชื่อที่มาจากภาษาอังกฤษอยู่แล้ว หลังจากที่เราแนะนำตัวเองเพื่อน ๆ แต่ละคนก็แนะนำตัวเอง เพื่อน ๆ ในห้องนั้นมาจากหลากประเทศทั่วโลก แต่คนที่เราสนิทด้วยก็คือ เพื่อนสาวชาวไทยชื่อเหมียวและชาวฝรั่งเศสชื่อกาเบรียล (Gabrielle)

เนื่องจากเราเรียนภาษาระดับสูง ตอนบ่ายเราสามารถจะเลือกเรียนวิชาที่เตรียมตัวไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ ตอนนั้นมีให้เลือกสามสายคือ การเมือง วรรณคดี และธุรกิจ ตัวเราเองนั้นตั้งใจจะมาเรียนต่อทางด้านโฆษณาจึงเลือกสายธุรกิจ ซึ่งครูเอเดรียนจะเอานิตยสารทางด้านธุรกิจ เช่น Forbes หรือ Businessweek มาให้อ่าน แล้วเหล่านักเรียนก็จะตอบคำถามของครูเพื่อเช็กความเข้าใจบทความที่อ่านไป 

ชมบ้านใหม่ แท็กติกหาอพาร์ตเมนต์เช่าในบอสตัน ต้องกล้าต่อรอง เพื่อทางเลือกที่ดีที่สุด

จบจากประสบการณ์ในการปรับปูพื้นฐานภาษาไปเมื่อตอนก่อน ในตอนนี้ผมจะเล่าถึงพี่ลิซสาวสวยผมยาวตาโตและยิ้มหวานเป็นแฟนลูกชายของคุณป้า ซึ่งผมเคยรู้จักพี่ลิซแบบเผินๆ ตอนที่พี่เขาเรียนที่รัฐศาสตร์จุฬาฯ 

ตอนที่เจอพี่ลิซที่บอสตันนั้น พี่เขาก็เรียนที่ BU เหมือนกัน แต่เขาอยู่กับน้องสาวที่อพาร์ตเมนต์นอกเมืองที่ Natick เมืองทางตะวันตกของบอสตัน เพราะพี่เขาชอบห้องนอนกว้างและตู้เสื้อผ้าใหญ่ที่ขนาดครึ่งหนึ่งของห้องนอน เวลาพี่เขาจะขับมาเรียนก็ใช้เวลาเกือบชั่วโมง ส่วนเรานั้นเป็นคนที่ไม่ชอบขับรถไกล ยิ่งมาใหม่ ๆ ยังไม่คุ้นชินกับถนนหนทาง สมัยนั้นยังไม่มีจีพีเอส ต้องดูแผนที่ซึ่งเราดูไม่เป็น จากเหนือเป็นใต้ เราก็เลยบอกให้พี่เขาช่วยหาที่พักใกล้ขนส่งมวลชน ไปไหนมาไหนจะได้ขึ้นรถใต้ดินอย่างสบายใจเฉิบ 

พี่เขาพาผมไปดูอพาร์ตเมนต์หลายแห่ง แต่ราคาค่อนข้างสูงประมาณมากกว่าหนึ่งพันเหรียญต่อเดือน ไอ้เราก็เกรงใจคุณพ่อคุณแม่เลยขอดูที่ถูกกว่า ซึ่งพอดีพี่เขาก็เห็นโฆษณาอพาร์ตเมนต์สร้างใหม่ในแหล่งช็อปปิงหรู Copley Place ในใจกลางเมืองบอสตัน เขาจึงพาเรามาลองดูเผื่อว่าจะมีโปรโมชันดีสำหรับตึกที่พักใหม่ 

เรานัดพนักงานฝ่ายเช่ามาก่อน พอเรามาถึงที่ตึก ก็มีผู้หญิงผมทองตาสีเขียวทับทิมตัวสูงเปรียวอายุประมาณสามสิบปลาย ๆ นั่งรออยู่ที่ล็อบบี้ เธอแนะนำตัวเองว่าชื่ออแมนดา แล้วพาเราผ่านพนักงานเฝ้าประตูเพื่อขึ้นลิฟต์ไปดูห้องพัก สีที่ใช้ในตึกนี้มีอยู่สี่สีคือแดงเลือดนก ดำ ขาว และน้ำตาลเข้ม 

อแมนดาพาเราไปดูห้องพักชั้นสิบซึ่งเป็นห้องนอนเดียวขนาดใหญ่ ซึ่งค่าเช่าประมาณหนึ่งพันสองร้อยเหรียญ เราบอกอแมนดาว่าห้องนี้เกินงบที่เราตั้งไว้ เราไม่อยากได้ห้องที่เกินพันเหรียญ เธอบอกว่ามีห้องขนาดกลางชั้นสามที่ยังว่างอยู่ราคาเดือนละแปดร้อยห้าสิบเหรียญ เราได้ยินราคาเลยหูผึ่งสนใจ พอเปิดประตูห้อง ห้องน้ำอยู่ด้านซ้ายติดกับห้องนอน ด้านขวาของประตูเข้ามีครัวเป็นซอกเล็ก ๆ โดยมีกำแพงกั้นเป็นสัดเป็นส่วนจากห้องนั่งเล่น สภาพห้องต่าง ๆ มีกลิ่นสีใหม่ นอกจากประตูหลักที่เปิดเข้าห้องทีเป็นสีแดงเลือดนกแล้ว ทุกอย่างในห้องชุดนั้นเป็นสีขาวโพลนหมด เมื่อเรามองห้องอีกทีจากประตูเข้า ก็คิดในใจว่าขนาดของห้องเหมาะสมกับสองคนอยู่เผื่อตอนแฟนเรามาจากเมืองไทย เราจึงตอบตกลงอแมนดาว่า เราตัดสินใจที่จะเช่าห้อง

เมื่อพี่ลิซได้ยินเราตอบกับอแมนดา เธอก็รีบส่งสัญญาณจุ๊ปากว่าอย่าเพิ่ง แล้วเธอก็รีบบอกอแมนดาสวนไปว่าจริง ๆ แล้วเธอกำลังจะพาเราไปดูอพาร์ตเมนต์อีกที่แถว Allston ใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย แถมทางผู้บริหารของตึกนั้นทำโปรโมชันค่าเช่าเดือนแรกฟรี

กว่าจะได้ขึ้นบ้านใหม่ ขอบคุณบุญคุณอันยิ่งใหญ่ของ ‘คุณอา’ แต่ต้องเหวอกันถ้วนหน้า เมื่อรถแวนหายไป

หลังจากตอนก่อน ที่ผมได้ไปดูอพาร์ตเมนต์กับพี่ลิซ ผมก็รีบกุลีกุจอไปทำบัตรประกันสังคมเพื่อที่จะได้เลขที่ของบัตรมาเปิดบัญชีธนาคาร 

ย้อนความไปเล็กน้อยว่า สมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต เวลาต้องการข้อมูลเกี่ยวกับอะไรสักอย่าง ต้องถามคนที่มีประสบการณ์ เราก็เลยถามคุณอาผู้หญิงว่า เราจะไปทำบัตรประกันสังคมได้ที่ไหน คุณอาบอกว่าต้องไปที่ตึกของทางรัฐบาลกลาง (Federal building) ซึ่งอยู่ในใจกลางเมืองที่เรียกว่า North Station และถ้าหากเราจะไปตั้งต้นจากโรงเรียนต้องนั่งรถใต้ดินสายเขียว B เข้าเมือง (Inbound) และลงเปลี่ยนรถสายเขียวอีกขบวนที่จุดปลายทางคือ North Station ที่สถานี Boylston ซึ่งใกล้กับที่ทำงานคุณอา คุณอาเลยบอกว่าถ้าเรามาถึงที่สถานีแล้วให้เดินมาหาท่าน จะได้ไปด้วยกัน 

พอเราไปถึงตึกรัฐบาลกลางแล้ว เราต้องเดินผ่านโต๊ะต้อนรับ พนักงานที่จุดนั้นบอกให้ทุกคนหยุดเข้าแถวเพื่อรอตรวจเอกสารว่ามีครบตามที่ทางการได้ระบุไว้หรือไม่ ถ้าใครมีเอกสารไม่ครบ เขาก็จะให้กลับไปและมาใหม่เมื่อมีเอกสารพร้อม พอถึงตาเราเขาก็ตรวจว่าเรามีหนังสือเดินทางและเอกสารที่ทางโรงเรียนรับรองว่าเราเป็นนักเรียน (I-20) หรือเปล่า เมื่อเขาเห็นว่าเรามีครบ เขาก็ยื่นบัตรคิวให้เรา 

ผมรออยู่สักประมาณชั่วโมงกว่า ๆ กว่าจะทำเรื่องเสร็จ แต่แล้วก็อึ้งสนิทเมื่อพนักงานบอกว่าบัตรจะส่งมาที่บ้านภายใน 7-10 วัน เราก็นึกในใจว่าทางอพาร์ตเมนต์เขาคงยึดเงินมัดจำที่พี่ลิซให้ไว้แน่ ๆ เพราะกว่าบัตรจะมาเพื่อให้เราไปเปิดบัญชีธนาคาร ก็คงผ่านหนึ่งอาทิตย์ไปแล้ว 

ตอนนั้นผมมืดแปดด้าน ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จึงปรับทุกข์กับคุณอา ท่านบอกว่าเดี๋ยวท่านจะลองติดต่อไปหาอแมนดาเผื่อจะมีวิธีแก้ไข เมื่อถึงออฟฟิศคุณอา ท่านก็โทรคุยกับอแมนดาอยู่พักใหญ่ พอท่านวางหู ท่านก็บอกให้เราเตรียมตัวเดินไปหาอแมนดาด้วยกัน 

ตึกอพาร์ตเมนต์อยู่ประมาณสามสี่ช่วงตึกจากออฟฟิศคุณอา เดินประมาณสิบนาทีก็ถึง พอเราสองคนเจออแมนดา คุณอาก็หยิบสมุดเช็คออกมาแล้วเขียนเช็คให้อแมนดาสองใบ ซึ่งเป็นเงินมัดจำค่าเช่าเดือนสุดท้ายและค่าประกันความเสียหายของห้อง หลังจากที่อแมนดารับเช็คเธอก็ยื่นเอกสารมาให้เราและคุณอาเซ็น เราก็ถึงบางอ้อว่าคุณอาช่างมีความกรุณามาค้ำประกันให้เราได้มีบ้านอยู่ เราตื้นตันใจในความมีน้ำใจของคุณอา และตั้งปณิธานว่าเราจะไม่ลืมท่าน ทุกวันนี้ผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว เรายังโทรหาท่านและซื้อของฝากท่านอย่างสม่ำเสมอ

ขับรถในบอสตัน กฎระเบียบสุดเคร่งครัด ‘ทั้งจอด-ทั้งขับ’ สุ่มสี่สุ่มห้า เจอค่าปรับแบบไร้ปรานี

ความเดิมจากตอนที่แล้ว...เมื่อทุกคนไม่เห็นรถแวนที่จอดทิ้งไว้ ต่างก็หน้าม่อยไปตาม ๆ กัน คิดว่ารถถูกสอยไปเรียบร้อยแล้ว เผอิญคุณอาผู้หญิงมองรอบ ๆ อีกครั้ง ตาท่านก็ไปหยุดอยู่ที่ป้ายบนเสา ที่มีตัวหนังสือสีเขียว ‘ที่จอดรถของผู้พักอาศัย’ (Resident Permit Parking) ท่านเลยถึงบางอ้อ!! ว่ารถของท่านจอดผิดกฎหมาย คงถูกบริษัทลากรถเอาไปไว้ที่รถชานเมืองแน่ ๆ 

เมื่อคิดได้ดังนั้น ท่านจึงโทรศัพท์ไปที่อู่จอดรถ เราสามคนต้องนั่งรถแท็กซี่ไป ตอนลงรถจ่ายรวมค่าบริการ 30 เหรียญ แถมต้องจ่ายค่าปรับอีก 100 เหรียญ รวมแล้วก็มากโขอยู่สำหรับค่าของเงินเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ว่าแล้วผู้เขียนก็ขออนุญาตเอาเรื่องที่เกิดขึ้นกับคุณอามาเป็นอุทาหรณ์สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจจะไปเที่ยวหรือเรียนที่รัฐแมสซาซูเซตส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในใจกลางเมืองบอสตันว่า ‘อย่าจอดรถสุ่มสี่สุ่มห้า’ ให้สังเกตสภาพแวดล้อมให้ดีเสียก่อน อ่านป้ายที่ทางการติดไว้ให้เข้าใจว่าจอดได้จริงๆ จำไว้ว่าถ้าเราหยอดมิเตอร์แล้วจ่ายเงินเต็มช่วงเวลา สมมติว่าหยอดมิเตอร์ได้สูงสุดสองชั่วโมง เขาไม่อนุญาตให้เรามาหยอดต่อเมื่อใกล้หมดสองชั่วโมง เราต้องย้ายไปจอดที่อื่น มิฉะนั้นเขาจะปรับ 40 เหรียญ 

และอย่าคิดว่าถ้ามีมิเตอร์ให้หยอดเหรียญจ่ายค่าจอดแล้วเราจะจอดได้ทั้งวันทั้งคืน เพราะบางแห่ง วันจันทร์ถึงศุกร์หลัง 6 โมงเย็น จนถึง 10 เช้าของวันถัดไป เขาอนุญาตให้แต่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นที่มีสติ๊กเกอร์จอด ป้ายจะเขียนว่า ‘Resident Permit Parking 6 pm - 10 am Mon. to Fri.’ ถ้าเราไปฝืนกฎ เราต้องจ่ายค่าปรับหกสิบเหรียญ 

นอกจากนั้นแล้ว ต้องระมัดระวังวันและเวลาที่ทางเมืองทำความสะอาดถนน บางแห่งจะจอดข้ามคืนไม่ได้ในวันที่เขากำหนดเช่น ‘Street Cleaning Tuesday 2 AM - 7 AM’ ถ้าวันที่เราจะจอด เช่น วันจันทร์กลางคืนข้ามไปถึงอังคารเช้า เราก็ต้องไปหาที่อื่น บางแห่งป้ายยิ่งชวนงง เช่น ‘Street Cleaning 2nd & 4th Tuesday 12 noon - 4 pm’ ถ้าเจอแบบนี้ ต้องงัดปฏิทินในมือถือมาดูว่าอังคารนี้ที่ 2 หรือ 4 ของเดือนหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็ห้ามจอดจากเที่ยงวันถึง 4 โมงเย็น ถ้าฝืนเราจะโดนปรับ 40 เหรียญ 

แต่ส่วนใหญ่หลังจาก 30 พฤศจิกายน ถึง 31 มีนาคม เขาจะไม่ทำความสะอาดถนน เพราะเข้าฤดูหนาว สิ่งที่เราต้องระวังในช่วงนั้นคือเขามีป้าย ‘No Parking During Snow Emergency’ หรือเปล่า ถ้ามี เราเห็นหิมะตก เราต้องคอยดูข่าวว่ามีประกาศห้ามจอดหรือไม่ ถ้าขี้เกียจดูข่าว ก็สามารถโทรไปเช็กที่ (617) 635-3050 ถ้าเราดันทุรังจอด เราจะต้องจ่าย 45 เหรียญ ที่แย่กว่านั้นถ้าหากรถเราโดนลากไปอู่ เราต้องจ่ายทั้งค่าปรับและค่าลาก ยิ่งไปกว่านั้นสมมติว่าเราจอดในช่วงที่เขาประกาศห้ามจอดเพราะหิมะตกหนัก แล้วรถเราถูกลาก เราต้องจ่ายค่าปรับ 45 เหรียญบวกกับค่าลากอีกประมาณ 100 เหรียญ รวมสะระตะแล้ว 145 เหรียญเลยครับ แล้วโปรดจำไว้ด้วยว่าเขารับแค่เงินสดเท่านั้น 

ฉะนั้นถ้าหากเราสงสัยว่ารถถูกลาก แล้วอยากจะรู้ว่ารถเราอยู่อู่ไหน เราสามารถไปเว็บไซต์ https://www.cityofboston.gov/towing/search แล้วใส่เบอร์ทะเบียนรถเราลงไป เราก็จะได้ข้อมูลว่ารถเราถูกลากหรือไม่ ถ้าถูกลาก เขาจะบอกว่าเราจะไปเอารถได้จากอู่ไหน

กลับมาที่เหตุการณ์ปัจจุบัน หลังจากที่ย้ายเข้าบ้านอีกไม่นาน ผมก็ต้องไปสอบใบขับขี่เพื่อที่จะไปเอารถที่พี่ชายทิ้งไว้ให้ที่บ้านลูกพี่ลูกน้องในเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ โดยปัจจุบันสมัครสอบข้อเขียนได้ที่ https://www.mass.gov/how-to/apply-for-a-passenger-class-d-learners-permit สำหรับใบขับขี่รถส่วนตัว ซึ่งทางอเมริกาเขาเรียกว่าใบขับขี่แบบ ‘Class D’ พอกรอกใบสมัครเสร็จ อย่าลืมขอคู่มือผู้ขับรถ (Driver’s Manual) จากในเว็บไซต์มาอ่านและจำให้ขึ้นใจเพราะข้อสอบจะมาจากข้อมูลในหนังสือเล่มนั้น เมื่อถึงวันสอบทางรัฐแมสซาซูเซตส์ให้ยื่นเอกสารที่แสดงว่าเราถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ามีเอกสาร I-20 ทางสถานศึกษาหรือวีซ่าทำงานก็ใช้ได้ พร้อมด้วยเลขที่บัตรประกันสังคม (Social Security Number) และหลักฐานว่าเราอยู่อาศัยในรัฐ เช่นใบแจ้งหนี้จากบริษัทไฟฟ้า น้ำ หรือสัญญาเช่าอพาร์ตเมนต์ 

ย้ำว่า!! ทุกเอกสารต้องเป็นตัวจริง ก่อนจะไปสมัครสอบข้อเขียนควรจะเช็กข้อมูลอีกทีที่เว็บไซต์ https://mass.gov/guides/massachusetts-identification-id-requirements เพราะได้อ่านข่าวมาว่าทางรัฐกำลังจะเปลี่ยนแปลงให้คนต่างด้าวที่อยู่อย่างผิดกฎหมายสมัครใบขับขี่ได้ ถ้าสอบข้อเขียนผ่าน ก็จะได้ใบขับขี่ชั่วคราว (Learner’s Permit) แต่ไม่สามารถขับรถได้ถ้าหากไม่มีผู้ที่มีใบขับขี่ในรัฐมาแล้วหนึ่งปีขึ้นไปนั่งในรถไปด้วย 

ชื่อที่ไม่รู้จัก จากเสียงเรียกของ 'พ่อหนุ่มคนขายเสื้อ' สู่ความสัมพันธ์คลุมเครือที่ทำให้ 'มึนตึ้บ'

เสียงเรียกของพ่อหนุ่มคนขายเสื้อดังจน เราต้องหยุดชะงักและหันหลังกลับไปมอง นึกในใจว่าเราคงหยิบของในร้านเขาติดมือมาโดยไม่รู้ตัว เขาจึงจะเรียกเราให้หยุดเพื่อเอาของคืน หรือเรียกยามมาสอยเราไปให้ตำรวจ 

แต่ที่ไหนได้ พ่อหนุ่มรับอาสาจะพาเราไปเที่ยววันรุ่งขึ้นเพราะรู้ว่าเราอยู่คนเดียวกลัวจะเหงา ถึงเราจะมีแฟนแล้วแต่แฟนของเราอยู่เมืองไทย เลยคิดเข้าข้างตัวเองตามประสาคนเจ้าชู้ว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวแฟนเรามาเราค่อยทำตัวดี 

หลังจากคิดได้แบบนั้น เราทั้งสองคนต่างก็แนะนำตัวเองอย่างเป็นทางการ จึงได้รู้ว่าเขาชื่อเจมส์ หลังจากที่ออกมาจากร้าน Le Château ที่เจมส์ทำงาน เราก็เดินเล่นในศูนย์การค้า Copley Place อย่างเป็นทางการ เพราะมัวแต่ยุ่งทำธุระสารพัดสิ่งตั้งแต่ได้มาที่บอสตันจนไม่มีเวลาสำรวจแหล่งช็อปปิงเลยสักครั้ง

เอาจริงๆ ร้านค้าในศูนย์การค้าแห่งนี้ไม่ค่อยมีอะไรพิเศษ นอกจากร้าน Tiffany Gucci และ Louis Vuitton ซึ่งแต่ละร้านเป็นร้านเล็กๆ สินค้าในร้านจะเป็นแบบเรียบๆไม่ค่อยหวือหวาเท่าไหร่ เพื่อเอาใจคนบอสตันซึ่งรักสไตล์อนุรักษ์นิยม 
 
ส่วนห้างสรรพสินค้า Neiman Marcus ที่อยู่ในมอลล์ขายของหรูหราราคาสูง แต่จะไม่ค่อยมีเสื้อผ้าที่มีไซส์คนเอเชียเนื่องจากจะเน้นขายคนอเมริกันซึ่งชอบใส่เสื้อผ้าหลวมโคร่ง ถ้าหากเดินออกจากมอลล์นี้จะมี Saks Fifth Avenue ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าคู่แข่งของ Neiman Marcus ที่มีของขายคล้ายๆ กัน 

พนักงานขายทั้งสองแห่งนี้จะเชิดมองคนเอเซียหัวจรดเท้า คงนึกว่าพวกเราไม่มีเงินที่จะซื้อของเขา ส่วนใหญ่นักเรียนต่างชาติที่ชอบเสื้อผ้าเครื่องประดับดีไซเนอร์มักจะพากันไปที่ร้าน Riccardi ที่อยู่บน Newbury Street เพราะเจ้าของ Riccardo Dalai ชาวอิตาเลียนซึ่งมาจากเมือง Florence มาตั้งรกรากที่บอสตันหลังจากที่แต่งงานกับสาวเปรี้ยวชาวอเมริกัน 

Riccardo เป็นคนมีอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มยินดีต้อนรับทุกคนที่เดินเข้ามาในบูติก ธุรกิจของเขาจึงเป็นที่รู้จักกันดีด้วยปากต่อปากของเหล่านักเรียนต่างชาติจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ 
 
ใครจะเดาได้ว่ายื่สิบปีให้หลัง แหล่งช็อปปิงในบอสตันจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ตอนนี้ถ้าใครอยากซื้อเสื้อผ้าดีไซเนอร์ชื่อดังสามารถไปที่ Copley Place ซึ่งนอกจากเป็นของ Herb Simon สามีของคุณปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก นางงามจักรวาลปี พ.ศ.2531 แล้ว ยังเป็นแหล่งรวมบูติกชั้นนำของโลก เช่น Christian Dior, Gucci, Fendi, Louis Vuitton, Salvatore Ferragamo, Versace ด้วย 

ส่วน Neiman Marcus และ Saks Fifth Avenue ยังดำเนินธุรกิจอยู่เช่นเดิม แต่ตอนนี้ลูกค้าไม่ต้องเดินตากแดดตากลมหนาวอีกแล้ว เพราะเขาสร้างศูนย์การค้าใหม่ Prudential Center ที่มีสะพานปล่องแก้วเชื่อม แถมตอนนี้เหล่าคนขายพากันอ้าแขนรับลูกค้าชาวเอเชียจนแทบจะปูพรมแดงให้เดินในร้าน เพราะเขาตระหนักแล้วว่าพวกเราคือนักช็อปตัวยง ซื้อของทีเหมือนซื้อลูกกวาด (กวาดซะเกือบหมดร้าน) 

ถ้าช็อปเหนื่อยแล้วลองไปหาอาหารทานใน Prudential Center เพราะเต็มไปด้วยร้านอาหารเลิศรส อาทิ Shake Shack ร้านแฮมเบอร์เกอร์ชั้นดีมีคุณภาพ, Anna’s Taqueria ร้านทาโกที่ปรุงรสละม้ายคล้ายเหมือนทานอยู่ที่เม็กซิโก หรือ Eataly แหล่งรวมอาหารอิตาเลียน ถ้าอยากแค่ดื่มกาแฟ อย่าลืมไปจิบ Blue Bottle Coffee ที่อร่อยล้ำจนอาจจะลืมกาแฟนางเงือกเขียวไปเลยเชียว 

ผู้ที่ชอบเดินสูดลมเมืองบอสตัน เมื่อออกจาก Prudential Center จะเจอ Apple Store ใหญ่ยักษ์สามชั้นอยู่ข้างหน้าบน Boylston Street เดินไปอีกบล็อกหนึ่งก็จะเป็น Newbury street ที่เต็มไปด้วยร้านค้าจากแพงหูฉี่จนถูกอย่างไม่น่าเชื่อ ร้านที่ขายเสื้อผ้ากระเป๋ารองเท้าราคาสูงเช่น Chanel, Valentino, Giorgio Armani, Loro Piana, และ Rimowa จะอยู่ใกล้กับ Boston Public Garden สวนสาธารณะแสนงามดั่งสวนสวรรค์ของเมือง 

ในบล็อกเดียวกันคือที่ตั้งของร้านเครื่องประดับระดับแนวหน้า เช่น Tiffany, Bulgari, Cartier และ Van Cleef & Arpels ถ้าไม่ชอบเทกระเป๋าเงิน เดินลงมาสักสองบล็อกก็จะเจอร้านขายของลดราคา Nordstrom Rack หรือ H&M ร้านขายเสื้อผ้าทันสมัยราคาไม่เว่อร์ 

ถ้าชอบทานของหวานก็อย่าลืมไปแวะ Georgetown Cupcake ที่เน้นขายคัปเค้กหลากหน้า หรือ JP Licks ร้านไอศกรีมชื่อดังของบอสตัน ลืมบอกไปว่าภาษีมูลค่าเพิ่มของบอสตันอยู่ที่ 6.25% แต่ถ้าซื้อเสื้อผ้าต่ำกว่า $175 ต่อชิ้น จะไม่เสียภาษี ถ้าเกิน$175ไป จะคิดแค่ภาษีจากจำนวนที่เกินนะ

‘บอสตัน’ เมืองที่เต็มไปด้วย ‘โรงละคร’ เก่าแก่ หนึ่งเมืองที่สร้างนักแสดง สู่ในละครเวทีบรอดเวย์

เมื่อ College of Communication ของ BU ได้รับเราเข้าเรียนในโปรแกรมปริญญาโทแล้ว เราก็รู้สึกตัวเบาลง เราเลยคิดว่าเราน่าจะหาสันทนาการที่ไม่ใช่เต้นรำในคลับทำดูบ้าง สมัยนั้นยังไม่มีข้อมูลที่หาได้ง่ายเหมือนในโลกออนไลน์ของปัจจุบันนี้ ถ้าเราอยากจะได้รับข่าวสารและข้อมูลต้องพึ่งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งตีพิมพ์ เช่นนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์เป็นต้น 

ส่วนใหญ่คนมักจะชอบซื้อหนังสือพิมพ์วันอาทิตย์อ่าน เพราะเป็นฉบับพิเศษที่แยกส่วนบันเทิงไว้ต่างหาก ถ้าผู้อ่านอยากจะทราบว่าอาทิตย์ต่อมามีอะไรเกิดขึ้นในเมืองหรือรอบๆ บอสตันก็จะใช้หนังสือพิมพ์ไว้อ้างอิง 

ส่วนตัวเรานั้นโชคดีกว่าคนอีกหลายๆ คนเพราะเพื่อนๆ ของเราชอบดูหนัง ละครทีวี และคอนเสิร์ต ถ้ามีอะไรที่น่าสนใจพวกเขาก็กริ๊งกร๊างมาชวนไปร่วมชม คุยกันซะหลายเรื่องจนลืมเล่าไปว่าเจมและไมเคิลแนะนำให้เราได้รู้จักพี่แม็กซ์ซึ่งเป็นรุ่นพี่คนไทยเพื่อนสนิทของพวกเขา 

พี่แม็กซ์ทำงานเป็นผู้จัดการร้านอาหารไทยแถวทางใต้ของรัฐแมสซาชูเซตส์ พี่เขาจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากบียูแต่ยังไม่อยากกลับเพราะอยากจะหาประสบการณ์ไปก่อน อยู่ไปอยู่มาเลยติดลมจนยี่สิบปีผ่านไปจึงกลับบ้าน ตอนนี้พี่แม็กซ์ทำงานชั้นบริหารขององค์กรอาหารชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ตอนที่รู้จักพี่แม็กซ์นั้นมีเขาก็มีแววเป็นผู้นำ ซึ่งมักจะให้คำปรึกษาที่ดีๆ ต่อเพื่อนๆ และคนรอบข้าง เป็นคนที่มีความรู้รอบตัว ตัดสินใจเด็ดขาด และมีน้ำใจต่อเพื่อนสนิท 

ที่บ้านที่พี่แม็กซ์เช่า มีสาวข้ามเพศชาวเวียดนามและหนุ่มเกย์ชาวเขมรร่วมอาศัยอยู่ เรามักจะไปขลุกตัวอยู่บ้านพี่แม็กซ์เพราะเราเหงาอยู่คนเดียว พี่เขามักจะเตือนให้เราขยันเรียนจะได้จบปริญญาโทไวๆ พี่แม็กซ์หยุดทำงานแค่วันเดียวในหนึ่งอาทิตย์จึงแทบไม่ค่อยได้ไปเที่ยวไหนทั้งๆ ที่พี่เขาชอบดูโชว์ทุกรูปแบบ ถึงเราจะซื้อหนังสือพิมพ์อาทิตย์ประจำ เราก็ไม่ค่อยได้อ่าน เน้นแต่จะตัดคูปองและดูใบปลิวของลดราคาจากร้านต่างๆ เราจะเสียเวลาอ่านทำไมในเมื่อเราสนิทกับพี่แม็กซ์ซึ่งเป็นเหมือนกูเกิลบันเทิงประจำกลุ่ม มีหนังหรือโชว์อะไรดีๆ พี่แกจะมาบอกให้พวกเราฟังอยู่เป็นอาจิน ถ้าพี่แม็กซ์ทำธุระส่วนตัวเสร็จในวันหยุดเราก็จะไปดูหนังหรือชอปปิงด้วยกัน 

วันหนึ่งพี่แม็กซ์รีบวิ่งมาหาพวกเราอย่างตื่นเต้นว่า ‘The Phantom of the Opera’ ของ Andrew Lloyd Webber กำลังจะมาเล่นที่บอสตันอีกหกเดือน แล้วเขาให้จองตั๋ววันศุกร์ที่จะถึง พี่เขาจะขอหยุดงานไปดูและชวนเพื่อนๆ ว่าใครจะไปบ้าง เราไม่เคยชมละครบรอดเวย์ก็เลยพากันตื่นเต้นตามพี่เขาขอจองตั๋วสองใบสำหรับตัวเราและแฟนเราที่จะตามมาอยู่อีกไม่นานนี้ เพื่อนคนอื่นๆ ติดเรียนหรือทำงานจึงไม่ได้ซื้อตั๋ว 

เนื่องจากในยุคนั้นคนอเมริกันส่วนใหญ่จะแต่งตัวสุภาพไปชมละคร และโอเปร่า พวกเราทั้งสามจึงพากันใส่เสื้อสูทและเชิ้ตเพื่อไปชมละครเพลง เมื่อวันโชว์มาถึง ตอนที่เขาพาเราไปนั่งเราก็พากันอึ้งกิมกี่เพราะที่นั่งของเราอยู่ชั้นเกือบบนสุดมองเห็นตัวนักแสดงขนาดเท่ามด บางคนที่เอากล้องส่องมาก็โชคดีไปเพราะได้มองเห็นฉากและนักแสดงได้ชัดขึ้น พวกเราสามคนปลอบใจกันเองว่าอย่างน้อยเราซื้อบรรยากาศมานั่งฟังเพลงบรอดเวย์ที่ร้องสด 

เมื่อไฟในโรงดับและไฟเวทีเจิดจ้า เราก็ไม่รู้สึกผิดหวังอีกต่อไป ทั้งระบบเสียงและการจัดฉากที่อลังการทำให้ผู้ชมในโรงละครไม่ว่าจะอยู่ในจุดไหนดื่มด่ำไปกับเพลงและเนื้อหา โดยเฉพาะตอนไคลแมกซ์ที่โคมไฟแชนเดอเรียหล่นลงพื้นเหมือนจริงจนพวกเราใจหายวี้ดว้ายกันจนเสียงแหบแห้ง  

ใครที่สนใจชมละครเวที บอสตันก็มีโชว์ดีๆ มาให้ชมอย่างไม่ขาดสาย แต่ถ้าท่านผู้อ่านติดกับตัวดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง ก็ต้องไปชมที่นิวยอร์กเพราะพวกเขาจะแสดงกันที่นั่น นักแสดงที่เดินทางไปแสดงตามรัฐต่างๆ เป็นนักแสดงที่มีความสามารถไม่แพ้กับพวกดาราที่นิวยอร์ก แต่พวกเขายังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเท่าเหล่าดารา Broadway บ่อยครั้งที่ละครจะเริ่มเปิดตัวที่บอสตันก่อนเพื่อทดสอบปฏิกิริยาของผู้ชมและปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นเมื่อย้ายไปนิวยอร์ก ‘Moulin Rogue’ ก็เปิดรอบปฐมทัศน์และแสดงที่บอสตันอยู่พักหนึ่งก่อนที่ไปดังเป็นพลุแตกที่บรอดเวย์ 

โรงละครในบอสตันส่วนใหญ่จะเป็นโรงละครขนาดกลาง โรงละครที่ใหญ่ที่สุดในเมืองคือ Wang Theater  ซึ่งจุผู้ชมประมาณ 3,600 กว่าคน โรงละครแห่งนี้สร้างในปีค.ศ.1925 โดยใช้ชื่อว่า The Metropolitan Theater  30 ปีต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น The Music Hall และหลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็น The Metropolitan Center เนื่องจากโรงละครโรงนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นองค์กรที่สร้างกำไร จึงต้องหาเงินบริจาคจากธุรกิจภายนอกเพื่อช่วยในการอนุรักษ์ และจัดการโรงละคร 

ดังนั้นในปี 1983 นาย An Wang นักธุรกิจทางด้านคอมพิวเตอร์ และภรรยา Lorraine ได้เสนอให้บริษัท Wang Laboratories ของพวกเขาเป็นสปอนเซอร์ของโรงละครแห่งนี้โดยเปลี่ยนชื่อเป็น The Wang Center for the Performing Arts จนถึงปี2006 ซึ่ง Citibank มารับเป็นผู้อุปถัมภ์ต่อและเปลี่ยนชื่อเป็น Citi Performing Arts Center ท้ายสุดในปี 2016 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น The Boch Center เพื่อเป็นเกียรติแก่บริษัท Boch ซึ่งเป็นสปอนเซอร์รายล่าสุด 

นอกจากนี้พวกบริษัทที่สนับสนุนโรงละครแห่งนี้ต้องมีหน้าที่สนับสนุนโรงละคร The Shubert Theater ที่อยู่ตรงข้ามอีกด้วย นอกจากโรงละครสองแห่งนี้ยังมี The Emerson Colonial Theater, The Strand Theater, The Boston Opera House, Paramount Theater และ Modern Theater อีกด้วย 

ถ้าหากใครสนใจอยากจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมการแสดงต่างๆ สามารถคลิกได้จากลิงก์นี้ https://www.boston-theater.com 

ถ้าไม่อยากจ่ายเงินค่าบัตรราคาเต็มท่านอาจจะมีโชคได้ซื้อบัตรในราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ต้องทำใจว่าจะต้องรอซื้อในวันที่การแสดงในเว็บไซต์นี้ https://calendar.artsboston.org/categories/bostix-deals/ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top