‘บอสตัน’ เมืองที่เต็มไปด้วย ‘โรงละคร’ เก่าแก่ หนึ่งเมืองที่สร้างนักแสดง สู่ในละครเวทีบรอดเวย์

เมื่อ College of Communication ของ BU ได้รับเราเข้าเรียนในโปรแกรมปริญญาโทแล้ว เราก็รู้สึกตัวเบาลง เราเลยคิดว่าเราน่าจะหาสันทนาการที่ไม่ใช่เต้นรำในคลับทำดูบ้าง สมัยนั้นยังไม่มีข้อมูลที่หาได้ง่ายเหมือนในโลกออนไลน์ของปัจจุบันนี้ ถ้าเราอยากจะได้รับข่าวสารและข้อมูลต้องพึ่งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งตีพิมพ์ เช่นนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์เป็นต้น 

ส่วนใหญ่คนมักจะชอบซื้อหนังสือพิมพ์วันอาทิตย์อ่าน เพราะเป็นฉบับพิเศษที่แยกส่วนบันเทิงไว้ต่างหาก ถ้าผู้อ่านอยากจะทราบว่าอาทิตย์ต่อมามีอะไรเกิดขึ้นในเมืองหรือรอบๆ บอสตันก็จะใช้หนังสือพิมพ์ไว้อ้างอิง 

ส่วนตัวเรานั้นโชคดีกว่าคนอีกหลายๆ คนเพราะเพื่อนๆ ของเราชอบดูหนัง ละครทีวี และคอนเสิร์ต ถ้ามีอะไรที่น่าสนใจพวกเขาก็กริ๊งกร๊างมาชวนไปร่วมชม คุยกันซะหลายเรื่องจนลืมเล่าไปว่าเจมและไมเคิลแนะนำให้เราได้รู้จักพี่แม็กซ์ซึ่งเป็นรุ่นพี่คนไทยเพื่อนสนิทของพวกเขา 

พี่แม็กซ์ทำงานเป็นผู้จัดการร้านอาหารไทยแถวทางใต้ของรัฐแมสซาชูเซตส์ พี่เขาจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากบียูแต่ยังไม่อยากกลับเพราะอยากจะหาประสบการณ์ไปก่อน อยู่ไปอยู่มาเลยติดลมจนยี่สิบปีผ่านไปจึงกลับบ้าน ตอนนี้พี่แม็กซ์ทำงานชั้นบริหารขององค์กรอาหารชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ตอนที่รู้จักพี่แม็กซ์นั้นมีเขาก็มีแววเป็นผู้นำ ซึ่งมักจะให้คำปรึกษาที่ดีๆ ต่อเพื่อนๆ และคนรอบข้าง เป็นคนที่มีความรู้รอบตัว ตัดสินใจเด็ดขาด และมีน้ำใจต่อเพื่อนสนิท 

ที่บ้านที่พี่แม็กซ์เช่า มีสาวข้ามเพศชาวเวียดนามและหนุ่มเกย์ชาวเขมรร่วมอาศัยอยู่ เรามักจะไปขลุกตัวอยู่บ้านพี่แม็กซ์เพราะเราเหงาอยู่คนเดียว พี่เขามักจะเตือนให้เราขยันเรียนจะได้จบปริญญาโทไวๆ พี่แม็กซ์หยุดทำงานแค่วันเดียวในหนึ่งอาทิตย์จึงแทบไม่ค่อยได้ไปเที่ยวไหนทั้งๆ ที่พี่เขาชอบดูโชว์ทุกรูปแบบ ถึงเราจะซื้อหนังสือพิมพ์อาทิตย์ประจำ เราก็ไม่ค่อยได้อ่าน เน้นแต่จะตัดคูปองและดูใบปลิวของลดราคาจากร้านต่างๆ เราจะเสียเวลาอ่านทำไมในเมื่อเราสนิทกับพี่แม็กซ์ซึ่งเป็นเหมือนกูเกิลบันเทิงประจำกลุ่ม มีหนังหรือโชว์อะไรดีๆ พี่แกจะมาบอกให้พวกเราฟังอยู่เป็นอาจิน ถ้าพี่แม็กซ์ทำธุระส่วนตัวเสร็จในวันหยุดเราก็จะไปดูหนังหรือชอปปิงด้วยกัน 

วันหนึ่งพี่แม็กซ์รีบวิ่งมาหาพวกเราอย่างตื่นเต้นว่า ‘The Phantom of the Opera’ ของ Andrew Lloyd Webber กำลังจะมาเล่นที่บอสตันอีกหกเดือน แล้วเขาให้จองตั๋ววันศุกร์ที่จะถึง พี่เขาจะขอหยุดงานไปดูและชวนเพื่อนๆ ว่าใครจะไปบ้าง เราไม่เคยชมละครบรอดเวย์ก็เลยพากันตื่นเต้นตามพี่เขาขอจองตั๋วสองใบสำหรับตัวเราและแฟนเราที่จะตามมาอยู่อีกไม่นานนี้ เพื่อนคนอื่นๆ ติดเรียนหรือทำงานจึงไม่ได้ซื้อตั๋ว 

เนื่องจากในยุคนั้นคนอเมริกันส่วนใหญ่จะแต่งตัวสุภาพไปชมละคร และโอเปร่า พวกเราทั้งสามจึงพากันใส่เสื้อสูทและเชิ้ตเพื่อไปชมละครเพลง เมื่อวันโชว์มาถึง ตอนที่เขาพาเราไปนั่งเราก็พากันอึ้งกิมกี่เพราะที่นั่งของเราอยู่ชั้นเกือบบนสุดมองเห็นตัวนักแสดงขนาดเท่ามด บางคนที่เอากล้องส่องมาก็โชคดีไปเพราะได้มองเห็นฉากและนักแสดงได้ชัดขึ้น พวกเราสามคนปลอบใจกันเองว่าอย่างน้อยเราซื้อบรรยากาศมานั่งฟังเพลงบรอดเวย์ที่ร้องสด 

เมื่อไฟในโรงดับและไฟเวทีเจิดจ้า เราก็ไม่รู้สึกผิดหวังอีกต่อไป ทั้งระบบเสียงและการจัดฉากที่อลังการทำให้ผู้ชมในโรงละครไม่ว่าจะอยู่ในจุดไหนดื่มด่ำไปกับเพลงและเนื้อหา โดยเฉพาะตอนไคลแมกซ์ที่โคมไฟแชนเดอเรียหล่นลงพื้นเหมือนจริงจนพวกเราใจหายวี้ดว้ายกันจนเสียงแหบแห้ง  

ใครที่สนใจชมละครเวที บอสตันก็มีโชว์ดีๆ มาให้ชมอย่างไม่ขาดสาย แต่ถ้าท่านผู้อ่านติดกับตัวดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง ก็ต้องไปชมที่นิวยอร์กเพราะพวกเขาจะแสดงกันที่นั่น นักแสดงที่เดินทางไปแสดงตามรัฐต่างๆ เป็นนักแสดงที่มีความสามารถไม่แพ้กับพวกดาราที่นิวยอร์ก แต่พวกเขายังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเท่าเหล่าดารา Broadway บ่อยครั้งที่ละครจะเริ่มเปิดตัวที่บอสตันก่อนเพื่อทดสอบปฏิกิริยาของผู้ชมและปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นเมื่อย้ายไปนิวยอร์ก ‘Moulin Rogue’ ก็เปิดรอบปฐมทัศน์และแสดงที่บอสตันอยู่พักหนึ่งก่อนที่ไปดังเป็นพลุแตกที่บรอดเวย์ 

โรงละครในบอสตันส่วนใหญ่จะเป็นโรงละครขนาดกลาง โรงละครที่ใหญ่ที่สุดในเมืองคือ Wang Theater  ซึ่งจุผู้ชมประมาณ 3,600 กว่าคน โรงละครแห่งนี้สร้างในปีค.ศ.1925 โดยใช้ชื่อว่า The Metropolitan Theater  30 ปีต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น The Music Hall และหลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็น The Metropolitan Center เนื่องจากโรงละครโรงนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นองค์กรที่สร้างกำไร จึงต้องหาเงินบริจาคจากธุรกิจภายนอกเพื่อช่วยในการอนุรักษ์ และจัดการโรงละคร 

ดังนั้นในปี 1983 นาย An Wang นักธุรกิจทางด้านคอมพิวเตอร์ และภรรยา Lorraine ได้เสนอให้บริษัท Wang Laboratories ของพวกเขาเป็นสปอนเซอร์ของโรงละครแห่งนี้โดยเปลี่ยนชื่อเป็น The Wang Center for the Performing Arts จนถึงปี2006 ซึ่ง Citibank มารับเป็นผู้อุปถัมภ์ต่อและเปลี่ยนชื่อเป็น Citi Performing Arts Center ท้ายสุดในปี 2016 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น The Boch Center เพื่อเป็นเกียรติแก่บริษัท Boch ซึ่งเป็นสปอนเซอร์รายล่าสุด 

นอกจากนี้พวกบริษัทที่สนับสนุนโรงละครแห่งนี้ต้องมีหน้าที่สนับสนุนโรงละคร The Shubert Theater ที่อยู่ตรงข้ามอีกด้วย นอกจากโรงละครสองแห่งนี้ยังมี The Emerson Colonial Theater, The Strand Theater, The Boston Opera House, Paramount Theater และ Modern Theater อีกด้วย 

ถ้าหากใครสนใจอยากจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมการแสดงต่างๆ สามารถคลิกได้จากลิงก์นี้ https://www.boston-theater.com 

ถ้าไม่อยากจ่ายเงินค่าบัตรราคาเต็มท่านอาจจะมีโชคได้ซื้อบัตรในราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ต้องทำใจว่าจะต้องรอซื้อในวันที่การแสดงในเว็บไซต์นี้ https://calendar.artsboston.org/categories/bostix-deals/ 

นอกจากโรงละครในบอสตันเป็นสถานที่จัดการแสดงแล้ว หลายแห่ง ยังรับจองเพื่อเป็นที่จัดงานรื่นเริงหรืองานแต่งงานอีกด้วย ถ้าอยากจัดงานแต่งงานธีมละครฝรั่ง ก็ลองติดต่อโรงละครที่สนใจได้โดยตรงเลย  

หลังจากที่ชมการแสดงที่สนุกๆแล้ว อย่าลืมแวะไปทานร้านอาหารจีนที่อร่อยๆ เช่น Jade Garden หรือ New Jumbo Seafood ใน Chinatown  เพราะโรงละครส่วนใหญ่จะอยู่ใน Theater District ที่ใกล้กับเมืองจีนของบอสตัน ถ้าชอบอาหารเวียดนามควรไป Phở Pasteur ส่วนอาหารมาเลเซียต้องไปร้าน Penang (บทความในอนาคตจะแนะนำร้านอาหารเอเชียอย่างละเอียด) 

นอกจากการแสดงแล้ว ผู้อ่านบางท่านคงถามในใจว่าบอสตันมีอะไรที่สนุกๆให้ดูอีกไหม ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะไม่ถนัดในวงการกีฬา ต้องขอยอมรับว่าบอสตันมีสนามแข่งและทีมกีฬาที่โด่งดังไม่แพ้เมืองอื่นๆ งวดหน้าเราจะพาไปดูว่ามีอะไรน่าสนใจในโลกกีฬาของบอสตันบ้าง อดใจรอนิดนึงนะ

เรื่อง: ดร.ชัยวุฒิ จิตต์กุศล


อักษรจรัสรุ่นที่ 55 อดีตเคยเป็น Senior Lecturer ที่ University of Massachusetts, Boston (สอนเฉพาะวิชาภาษาสเปน) ปัจจุบันหันมาทำไร่ดอกไม้และผลไม้

ติดตามผลงานอื่นๆ ของ ดร.ชัยวุฒิ จิตต์กุศล ได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ชัยวุฒิ%20จิตต์กุศล