ผจญภัยในสนามบิน ประสบการณ์ ‘คนเข้าเมือง’ สู่ถิ่นลุงแซม อาการวิตกจริต ที่ทั้งตื่นเต้นและตื่นตัว 

เมื่อเครื่องบินมาลงที่สนามบินโอแฮร์ที่ชิคาโก เราก็เข้าแถวยาวเหยียดรอตรวจคนเข้าเมือง 

พวกนักเรียนที่จะมาเรียนต่อที่สหรัฐฯ นอกจากต้องขอวีซ่านักเรียนที่เรียกว่า F-1 แล้ว ยังต้องพกเอกสารหนาปึ๊กที่เรียกว่า I-20 มาให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองด้วย 

เราก็ใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่หน้าดุจะถามอะไรบ้าง เขาจะอนุญาตให้เราเข้าประเทศไหม หรือเราจะโดนส่งกลับบ้าน ในใจปลอบตัวเองว่าส่งกลับบ้านได้ก็ดี เราจะได้กลับไปเจอเพื่อนๆ และแฟนของเรา 

และแล้วเมื่อมาถึงตาเรา เจ้าหน้าที่หน้าดุถามว่าจะมาเรียนอะไร เราก็ตอบอย่างฉาดฉานและมั่นใจสุดๆ ว่าเราจะมาต่อปริญญาโท แต่เราจะมาเรียนภาษาก่อน เขาพยักหน้าและตีตราหนังสือเดินทางให้ แถมยังเอ่ยปากต้อนรับเราสู่อเมริกา

หลังจากที่ผ่านตรวจคนเข้าเมืองแล้ว เราก็ต้องไปที่เอากระเป๋าเดินทาง ขณะที่เรารอกระเป๋าตรงสายพาน มีเจ้าหน้าที่สนามบินเดินเตร็ดเตร่กับสุนัขหูตูบ เราก็สงสัยว่าเค้าเดินไปมาทำไม สักพักก็เห็นว่าเจ้าตูบไปดมๆ สูดๆ กระเป๋าของผู้โดยสารบางคนโดยไม่ยอมตีจาก จนเจ้าหน้าที่ที่เดินกับเจ้าตูบต้องสั่งให้ผู้โดยสารเอากระเป๋าไปเปิดที่ตรวจ 

มองตามพวกเขาไป ก็เห็นว่าของบางชิ้นที่เป็นอาหารถูกโยนทิ้งถังขยะใหญ่ยักษ์ 

เอาล่ะหว่า!! ตัวเราจะโดนทิ้งของบ้างไหมนี่ 

สมัยนั้นเดินทางกันทีนักเดินทางจะขนของไปล้นหลามกันแทบทุกคน เพราะรู้กันดีว่า ถ้ากระเป๋าเกินพิกัดน้ำหนัก ทางสายการบินจะอะลุ่มอล่วยไม่ต้องเสียเงินค่าน้ำหนักเกิน แถมตอนนั้นตัวเราจะมาอาศัยอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน จึงคิดว่าตัวเองต้องแต่งตัวเก๋ล้ำแฟชั่นกว่าคนอื่น เลยขนเสื้อผ้าดีไซเนอร์ไทยมาเพียบ ทั้งยัสปาลเอย, เกรย์ฮาวด์เอย, โซดากายเอย เต็มปรี่หนึ่งกระเป๋า 

ส่วนทางคุณพ่อคุณแม่เป็นห่วงกลัวเราไม่มีอาหารและของขบเคี้ยวไทยกิน ท่านก็สั่งจัดน้ำพริกปลาดุกฟู น้ำพริกเผา กรอบเค็ม และข้าวเกรียบทรงเครื่องมาเต็มล้นอีกหนึ่งกระเป๋า พอถึงเวลาจะปิดกระเป๋าที ต้องเอาก้นของเราและคนงานที่บ้านไปนั่งทับอย่างสุดแรงแล้วถึงจะกดที่ปิดลงได้ 

ดังนั้นเมื่อเห็นคนอื่นเขาถูกเปิดกระเป๋าตรวจ เราเกิดอาการวิตกจริตว่า ถ้ากระเป๋าเราถูกเรียกตรวจ ของคงเด้งดึ๋งดั๋งออกจากกระเป๋าเหมือนติดสปริง ไม่มีทางที่จะยัดกลับเข้าไปหมด เราจึงแอบจ้องไอ้ตูบที่กำลังเดินวนเวียนอยู่ใกล้ๆ แล้วแผ่เมตตาให้ว่าอย่ามาจองเวรกะฉันเลย  

แล้วก็อย่างกับเจ้าตูบอ่านใจเราออก HE ก็เดินออกไปอีกทาง แล้วเราก็เข็นกระเป๋ากำลังจะออกประตู 

แต่ศุลกากรดันเรียกให้หยุด เราก็สะดุ้งโหยง!! นึกในใจว่าเสร็จแน่ๆ แล้วตรู เขาบอกว่าเราไม่ได้ยื่นใบที่กรอกสำแดงของเข้าเมืองให้เขา พอเรายื่นให้เสร็จ เขาก็ขอบคุณและอวยพรให้เราโชคดี

หลังจากที่เข็นรถวางกระเป๋าออกมา เราก็สังเกตตามคนที่จะต้องต่อเที่ยวบินภายในประเทศว่าเขาต้องเอากระเป๋าโหลดอีกที เราก็จึงพุ่งตัวไปที่เคาน์เตอร์ของสายการบินและเช็กอินกระเป๋า ทางพนักงานบอกเราว่าเครื่องจะออกอีกภายในสี่สิบห้านาที ให้รีบไปอีกเทอร์มิเนิลโดยต้องนั่งรถไฟในสนามบิน ทางพนักงานเห็นเราเหลอหลาเหมือนหนูน้อยหมวกแดงหลงป่า เธอก็เลยเวทนาโทรเรียกเจ้าหน้าที่สนามบินให้พาเราไปที่รถไฟและกำชับว่าให้ลงที่เทอร์มินัลที่เครื่องบินเราจะออกไปโคลัมบัส เมืองหลวงของรัฐโอไฮโอ

ท่านผู้อ่านคงงงล่ะสิว่า...ทำไมเราถึงไปโคลัมบัส ในเมื่อเราบอกแต่แรกว่าเราจะไปเรียนที่บอสตัน ความชราทำให้เราลืมบอกไปว่าพี่ๆ ทั้งสามคนเคยเรียนและอาศัยอยู่ที่โคลัมบัสมาเกินกว่าสิบปี เมื่อพวกเขากลับแล้ว เพื่อนสนิทของพวกเขายังอยู่ที่นั่นอยู่อีกมากมาย โดยเฉพาะเพื่อนพี่ของพี่ชายคนโตที่เคยสนิทกับเราตอนที่เราไปเยี่ยมพี่ๆ หลังสอบติดอักษรฯ จุฬาฯ 

พี่คนนี้เป็นห่วงเราว่าเราเดินทางมาเรียนคนเดียวเป็นครั้งแรก อาจจะทำอะไรเคอะๆ เขินๆ พี่เขาเลยอาสาขับรถไปส่งที่บอสตันและดูแลจนเราเข้าโรงเรียนภาษาให้เรียบร้อย รวมๆ แล้วขับรถจากโอไฮโอมารัฐแมสซาชูเซตส์ ใช้เวลา18ชั่วโมง ไม่รวมเวลาที่พี่เขานอนพักประมาณหนี่งชั่วโมงในที่จอดรถของนักเดินทาง ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Rest Area’ ซึ่งที่พักรถบางแห่งจะเป็นเหมือนสวนอาหารเร็วย่อมๆ มีร้านแฮมเบอร์เกอร์ อิตาเลียน และร้านจีน แถมปั๊มน้ำมัน บางแห่งก็เป็นแค่ที่จอดรถกับห้องน้ำ แถมตู้หยอดของขบเคี้ยว น้ำดื่ม และน้ำอัดลม 

พี่เขาเลือกไปจอดพักที่ประเภทหลัง เพราะเงียบและไม่พลุ่งพล่าน เหมาะสำหรับการงีบเอาแรง ขณะที่เราขับรถก็ผ่านหลายรัฐ ทั้งนิวยอร์ก ทั้งคอนเนทิคัต ทั้งโรดไอแลนด์ เนื่องจากพี่เขารีบอยากให้เราถึงบอสตัน เขาไม่ได้หยุดให้เราไปชมรัฐต่างๆ เราจึงชมแต่ถนนทางด่วนที่เชื่อมต่อรัฐและทัศนียภาพของต้นไม้ต้นใหญ่ๆ ตามทาง ตื่นเต้นว่าเราจะเจออะไรน่าสนใจบ้างเมื่อเราถึงบอสตัน

เขียนมาซะยาวเลยงวดนี้ ต้องขอเบรกตัวเองก่อน เดี๋ยวท่านบรรณาธิการกับท่านผู้อ่านจะแอบด่าในใจว่านักเขียนคนนี้เขียนพร่ำเพ้อ ขอลาก่อนด้วยประการฉะนี้ รอเขียนงวดหน้าคงจะได้เล่าสักทีถึงชีวิตในบอสตัน แล้วเจอกันนะครับ