Sunday, 28 April 2024
ตำรวจไซเบอร์

'ตำรวจไซเบอร์' ขยายผลทลายเครือข่ายคดีหลอกลงทุน Turtle Farm จับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติม ตรวจยึดของกลางกว่า 100 ล้านบาท

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการชักชวนหลอกลวงให้ลงทุนออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าเป็นภัยออนไลน์ที่ได้สร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าความเสียหายจากการถูกหลอกลวงทั้งหมด 

วันนี้ (15 ก.ย. 65) เวลา 11.00 น. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร., พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.มนเทียร พันธ์อิ่ม รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข ผบก.สอท.1, พล.ต.ต.ออมสิน ตรารุ่งเรือง ผบก.สอท.3, นายปิยะ ศรีวิกะ ผู้อำนวยการกองคดี 2 สำนักงาน ปปง. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการขยายผลทลายเครือข่ายหลอกลงทุน Turtle Farm จับกุมผู้ต้องหา และตรวจยึดของกลางเป็นจำนวนมาก มีรายละเอียดดังนี้

ตามที่เมื่อวันที่ (5 ส.ค. 65) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้แถลงผลการทลายเครือข่ายหลอกลงทุน Turtle Farm จับกุมผู้ต้องหาที่ได้หลอกลวงชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนปลูกเห็ด กัญชา พืชกระท่อม เลี้ยงผึ้ง ฯลฯ โฆษณาผ่านแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยอ้างว่าผู้ที่เข้าร่วมลงทุนจะได้ผลตอบแทนเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ต่อมาผู้ต้องหากับพวกอ้างเหตุขัดข้องต่างๆ ไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้เสียหายได้ ผู้เสียหายจึงแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย จากนั้นพนักงานสอบสวนปากคำผู้เสียหาย และรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 9 ราย 

ผลการปฏิบัติสามารถทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับได้ 4 ราย อยู่ระหว่างหลบหนี 5 ราย และสามารถอายัดเงินในบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องกว่า 72 บัญชี อายัดเงิน ได้กว่า 17.5 ล้านบาท นั้น ต่อมาในระหว่างเดือน ส.ค.65 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. สามารถทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับ ได้เพิ่มเติมอีก 2 ราย รวมจับกุมผู้ต้องหาได้ 6 ราย อยู่ระหว่างหลบหนี 3 ราย 

กระทั่งจากการสืบสวนขยายผลพบว่า บริษัท พี เอ็น ดิจิทัล มาเก็ตติ้ง ออนไลน์ จำกัด มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับบริษัท ไมน์นิ่งมายน์ เอ็กซ์ จำกัด และ หจก. สถานีหลักสี่ ของกลุ่มผู้ต้องหา โดยถูกว่าจ้างให้ทำการโฆษณา สร้างภาพลักษณ์ สร้างความน่าเชื่อถือ หลอกลวงประชาชนให้มาร่วมลงทุน โดยได้รับเงินจากกลุ่มผู้ต้องหากว่า 72 ครั้ง รวมเป็นเงิน 134 ล้านบาท พงส. จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญามีนบุรีขออนุมัติศาลออกหมายค้นสถานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 จุด คือ 
1. บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ ตรวจยึดของกลาง 57 รายการ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์, สมุดบัญชีธนาคาร, บัตรกดเงินอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องประดับทองคำ, นาฬิกา, โฉนดที่ดิน และเงินสด จำนวน 10.6 ล้านบาท
2. บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ แขวงคลองสามวา เขตสามวาตะวันตก กรุงเทพฯ ตรวจยึดของกลาง ตู้นิรภัยบรรจุเงินสด จำนวน 88 ล้านบาท รถยนต์ ยี่ห้อ ปอร์เช่ (Porsche) สีส้ม รุ่น Boxster PDK 1 คัน

ตำรวจบุกจับครูหนุ่มรร.ดัง ย่านสมุทรปราการ เปิดกลุ่มลับในแอปฯ VK ขายคลิปลามกเด็ก

ตำรวจไซเบอร์ บุกจับครูประถม  รร.ดังย่านสมุทรปราการ เปิดกลุ่มลับใน  VK ตั้งชื่อตามหนังดัง WAKANDA และ T’Challa เผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็ก และล่วงละเมิดทางเพศเด็ก

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. สั่งการให้ พล.ต.ต.กานตพงศ์ ชัยรุ่งเรือง ผบด.ตอท. พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผกก.กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต บก.ตอท.พ.ต.ต.เขมอธิษฐ์ ทองคำ สว.พ.ต.ต.ณัฐพงค์ เผือกเนียม สว., พ.ต.ต.กวิน  นิติธรรมตระกูล สว. กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต บก.ตอท นำกำลังจับกุมนายณัฐดนัย (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี ครูสอนวิชาสังคมศาสตร์ ป.4. โรงเรียนชื่อดังย่านสมุทรปราการ ในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามก, 2. ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเพศสำหรับตนเองหรือผู้อื่น และ3. เพื่อความประสงค์แห่งการค้า หรือโดยการค้า เพื่อการแจกจ่ายหรือเพื่อการแสดงอวดแก่ประชาชน ทำ ผลิต มีไว้ นำเข้าหรือยังให้นำเข้าในราชอาณาจักร ส่งออกหรือยังให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พาไปหรือยังให้พาไปหรือทำให้แพร่หลายโดยประการใด ๆ ซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็ก พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือ , คอมพิวเตอร์ , ซิมโทรศัพท์ และบัญชีธนาคาร รวม10 รายการ จับกุมได้ที่คอนโด ภายใน ซอยสุขุมวิท 105 ถนนสุขุมวิท แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กทม.

บิ๊กเด่นส่งทีม PCT ทลายกลุ่ม startup คอลเซ็นเตอร์เมืองไทย หลังจิ๊กโพยของบอสจากประเทศเพื่อนบ้าน ข้ามกลับมาเปิดเองในประเทศไทยได้ 2 เดือน

ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้เป็นอันดับหนึ่งเพราะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน โดยล่าสุด ทีมนักวิเคราะห์แผนประทุษกรรมของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มือปราบคอลเซ็นเตอร์ได้วิเคราะห์ข้อมูลพบแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลุ่มใหม่เกิดขึ้นในข้อมูลระบบการรับแจ้งความออนไลน์ ชักชวนให้ลงทุนและทำภารกิจ ภายใต้บริษัทปลอมที่ใช้ชื่อว่า E-SHIPING.SHOP พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. ในฐานะหัวหน้าชุด ศปอส.ตร. (PCT) ชุดที่ 5 ดำเนินการสืบสวนจนทราบว่าแก๊งดังกล่าวอยู่ในประเทศไทย ซึ่งตามปกติจะอยู่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน จนสืบสวนทราบถึงสถานที่ตั้งก่อนนำกำลังบุกทลาย ภายในคอนโดย่าน ต.ท้ายบ้านใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ มีผู้ร่วมขบวนการภายในห้องมีจำนวน 4 คน ตรวจยึดคอมพิวเตอร์ 3 เครื่อง  โทรศัพท์มือถือจำนวน 9 เครื่อง สมุดบัญชีจำนวน 5 เล่ม ซิมการ์ดโทรศัพท์ 38 ซิม จากการตรวจสอบพบว่าข้อมูล รูปแบบการหลอกลวงเรียกได้ว่าถอดแบบมาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งท้ายสุด หนึ่งในผู้ร่วมขบวนการได้ยอมรับว่าได้นำความรู้ นำ Knowhow ที่ได้จากการไปทำในประเทศเพื่อนบ้านกลับมาทำเอง เพราะคิดว่าตัวเองมีความรู้ระดับอาจารย์ไม่จำเป็นที่จะต้องไปทำในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรับเปอร์เซ็นต์จากคนจีนแค่ 3% โดยวาดฝันไว้ว่าตนเองจะเป็นผู้ก่อตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ของคนไทยเจ้าแรก และจะเป็น Start Up เพื่อขยายกิจการในประเทศไทย แต่ทำได้เพียง 2 เดือนก็มาถูกจับเสียก่อน

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 65 เวลาประมาณ 13.00 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.  พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.  พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น./ หน.ชุดปฏิบัติการ PCT ที่ 5 พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง พ.ต.ท.ชัยวัฒน์ จงเจริญ พ.ต.ต.คณิตนนท์ ถนอมศรี ร.ต.อ.วุฒินันท์ คงดี ร.ต.อ.ปรมา ปราณี ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศปอส.ตร. (PCT) ชุดที่ 5 ร่วมกับชุดลาดตระเวนออนไลน์ บก.สส.บช.น. สืบสวนติดตามนำมาสู่การเข้าตรวจค้น ห้องพักเลขที่ 188/130 คอนโดน๊อตติ้งฮิลล์ ถ.แพรกษา ต.ท้ายบ้านใหม่ อ.เมือง จว.สมุทรปราการ ตามหมายค้นศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 762/2565 ลงวันที่ 4 ธ.ค. 65 จับกุมตัวผู้ต้องหาดังนี้

นายสุพรพงษ์ ปัญญาไว หรือแบงค์ อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 977/64 ถนนสามเสน แขวงถนนนครชัยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบุคคลตามหมายจับศาล จ.สุพรรณบุรีที่ จ.236/2565 ลงวันที่ 4 ธ.ค. 65 โดยกล่าวหาว่า 'ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น พร้อมยึดของกลางไว้ ดังนี้
1. คอมพิวเตอร์ อออินวัน จำนวน 3 เครื่อง
2. โทรศัพท์มือถือจำนวน 9 เครื่อง
3. สมุดบัญชีจำนวน 5 เล่ม
4. ซิมการ์ดโทรศัพท์ 38 ซิม
จับกุมตัวผู้ต้องหาได้ที่ภายในคอนโดย่าน ต.ท้ายบ้านใหม่ อ.เมือง จว.สมุทรปราการ
พฤติการณ์กล่าวคือ ทีมนักวิเคราะห์แผนประทุษกรรมของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ 
ผบ.ตร. (มือปราบคอลเซ็นเตอร์) ได้วิเคราะห์ข้อมูลพบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ “กลุ่มใหม่” เกิดขึ้นในข้อมูลระบบการรับแจ้งความออนไลน์ ซึ่งมีรูปแบบการหลอกลวงให้หลงรักก่อน จากนั้นจะชักชวนให้ 'ลงทุนและทำภารกิจ' ภายใต้บริษัทปลอมที่ชื่อว่า E-SHIPING.SHOP 

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. หรือ หัวหน้าชุด ศปอส.ตร. (PCT) ชุดที่ 5 สืบสวนจนทราบว่าแก๊งดังกล่าวนี้มีอฟฟิศตั้งอยู่ที่ ห้องพักเลขที่ 188/130 คอนโดน๊อตติ้งฮิลล์ ถ.แพรกษา ต.ท้ายบ้านใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งโดยปกติออฟฟิศของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงคนไทยจะอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีการตั้งอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ซึ่งต่อมา พล.ต.ต.ธีรเดชฯ ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุด PCT5 เข้าตรวจค้น ห้องพักเลขที่ 188/130 คอนโดน๊อตติ้งฮิลล์ ถ.แพรกษา ต.ท้ายบ้านใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ตามหมายค้นศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 762/2565 ลงวันที่ 4 ธ.ค. 65 ซึ่งเป็นที่ตั้งออฟฟิศแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว ผลการตรวจค้นพบนายสุพรพงษ์ ปัญญาไว หรือแบงค์ ผู้ต้องหา นางสาวทิพวรรณ ปัญญาไว หรือแหม่ม    น.ส.สิริธร หมื่นโฮ้ง หรือแสตมป์ และน.ส.คณิณัช จิรโชควนิช หรือแฟง ทั้ง 4 คน อาศัยอยู่ภายในห้องพัก และตรวจค้นพบ คอมพิวเตอร์ 3 เครื่อง , โทรศัพท์มือถือจำนวน 9 เครื่อง , สมุดบัญชีจำนวน 5 เล่ม , ซิมการ์ดโทรศัพท์ 38 ซิม ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลทั้งในโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ทำให้ทราบว่าทั้ง 4 ได้ร่วมกันหลอกลวงโดยมีแผนประทุษกรรมคือ จะสร้างเฟสบุ๊คปลอม (อวตาร) โดยใช้ภาพโปรไฟล์เป็นสาวสวยแล้วขักชวนเพื่อนในเฟสบุ๊ค 

กล่าวคือเป็นการพูดคุยเชิงชู้สาวเพื่อชักชวนมาลงทุน โดยเมื่อเหยื่อสนใจ จะเชิญเข้า 'กลุ่มไลน์' โดยอ้างว่าเป็นบริษัทที่ชื่อว่า E-SHIPING.SHOP ซึ่งแท้จริงเป็นบริษัทที่ไม่มีอยู่จริง และจากนั้นจะให้คุยกับ อ.กอล์ฟ ซึ่งเป็นตัวตนปลอมที่อุปโลกน์ตนเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน หลอกเสนอขายแผนโปรแกรม หลายๆแบบ เช่นการท่องเที่ยว การแต่งงาน แล้วหลอกให้โอนเงินร่วมลงทุนตามแผนงานต่าง ๆ เหล่านั้น เหมือนเป็นการหลอกให้ทำภารกิจโดยอ้างว่าเมื่อเหยื่อโอนเงินมาแล้วทำภารกิจเสร็จจะได้เงินคืนในจำนวนมากกว่าเดิม โดยภายในกลุ่มไลน์ดังกล่าวจะมีเหยื่ออยู่ในกลุ่มเพียงคนเดียว ที่เหลือจะเป็นหน้าม้าทั้งหมด โดยจะมีการให้หน้าม้าแสร้งสงภาพสลิปการโอนเงินทำทีว่าได้รับเงินจริง

แต่แท้จริงเป็นสลิปการโอนเงินปลอม ซึ่งเมื่อเหยื่อเห็นว่าคนในกลุ่มได้รับเงินโอนจริงจะเกิดความโลภและยอมโอนเงินลงทุนในที่สุด และเมื่อเหยื่อโอนเงินแล้วจะทำทีแสดงข้อมูลในโปรแกรมโชว์ยอดรายได้ให้เหยื่อเห็น แต่เหยื่อต้องการถอนเงินก็จะไม่สามารถถอนได้ โดยจะอ้างว่าเหยื่อทำผิดวิธี และจะชักชวนให้ลงทุนเพิ่มไปเรื่อยๆ โดยรูปแบบการวางระบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลุ่มนี้เป็นรูปแบบเดียวกับหลายๆแก๊งที่ตั้งออฟฟิศอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน แต่กลุ่มนี้สามารถรวบรัดระบบต่างๆไว้ในห้องๆเดียวด้วยคอมพิวเตอร์เพียง 3 เครื่อง และใช้คนจัดการเพียง 4 คน ซึ่งมีทั้งการทำระบบหลังบ้าน , ระบบการแบ่งห้องไลน์สนทนา , ระบบแถว 1 ที่การชักชวนเหยื่อ , การปลอมสลิปด้วยเทมเพลตในโปรแกรม Photoshop และอีกหลายขั้นตอน ซึ่งบ่งบอกถึงประสบการณ์และความเข้าใจในการทำแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นอย่างดี  ซึ่งหลังเสร็จสิ้นการตรวจค้น ชุดจับกุมได้ทำการจับกุมตัว นายสุพรพงษ์ ปัญญาไว หรือแบงค์ ตามหมายจับของศาล นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ดำเนินคดีตามกฏหมาย และได้นำตัวอีก 3 รายมาซักถามปากคำที่ สภ.เมืองสมุทรปราการ  

ตำรวจไซเบอร์รับแจ้งความแล้วกว่า 60 ราย กรณีผู้เสียหายผูกบัญชีธนาคารไว้กับ Shopee แต่ถูกหักเงินชำระค่าสินค้าโดยไม่ทราบสาเหตุ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์ความคืบหน้ากรณีผู้เสียหายหลายรายผูกบัญชีธนาคาร หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ไว้ชำระค่าสินค้ากับแอปพลิเคชันซื้อขายของออนไลน์ ต่อมาพบว่าถูกหักเงินในบัญชีชำระค่าสินค้าโดยไม่ทราบสาเหตุ  

จากกรณีเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 65 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ประชาสัมพันธ์เตือนภัยเกี่ยวกับการผูกบัญชีธนาคาร หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ไว้ชำระค่าสินค้าออนไลน์นั้น ปัจจุบันพบว่าได้มีผู้เสียหายกว่า 60 ราย ความเสียหายรวมกว่า 1 ล้านบาท โดยผู้เสียหายได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนยังสถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุทั่วประเทศ และแจ้งผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ thaipoliceonline.com เพื่อให้สืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ขณะนี้ทางคดียังอยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความเชื่อมโยงต่างๆ รวมถึงประสานงานไปยังบริษัทแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ดังกล่าวเพื่อตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง และเพื่อให้ผู้เสียหายได้รับความเป็นธรรม ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการที่ผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้เข้าไปกรอกข้อมูลทางการเงินผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปใช้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ  ทั้งนี้ได้รับรายงานว่า Shopee ได้ประกาศปิดช่องทางการชำระเงินผ่านบัญชีธนาคารเพื่อตรวจสอบและป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์  วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งให้ความสำคัญและมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ และการซื้อขายของออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พร้อมสร้างการรับรู้แนวทางป้องกันให้ประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการ  ที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนให้พึงระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยมีแนวทางป้องกัน ดังต่อไปนี้
1. หลีกเลี่ยงการให้หักเงินในบัญชีธนาคารอัตโนมัติ ใช้วิธีเก็บเงินปลายทาง หรือชำระสินค้าผ่าน QR code แทน
2. บัญชีธนาคารที่ผูก หรือเชื่อมไว้กับแอปพลิเคชันซื้อสินค้าออนไลน์ ควรมีจำนวนเงินในบัญชีไม่มาก  
3. หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก ไม่รู้ที่แหล่งมา ควรดาวน์โหลดใน  AppStore หรือ Playstore เท่านั้น  

ตร. จับมือ ไปรษณีย์ไทย ส่งไซเบอร์วัคซีน เตือน 18 รูปแบบกลโกงแห่งปีที่ต้องระวัง แจกจ่ายทั่วประเทศ เป็นด่านแรกรู้เท่าทันกลโกง

วันนี้ (14 ธ.ค. 65) ที่ เวลา 11.00 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พร้อมด้วย ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด  จับมือร่วมลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการประชาสัมพันธ์กลโกงของมิจฉาชีพในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สำหรับแจกจ่ายให้ประชาชน และสถานีตำรวจ ทั่วประเทศ 

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยียังมีสถิติเพิ่มสูงขึ้น เฉลี่ยวันละ 600-700 ราย แม้ตำรวจจะเร่งปราบปรามจับกุมทุกมิติมาต่อเนื่อง แต่กลุ่มคนร้ายจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการกลโกง หลอกลวงประชาชนหลายรูปแบบแตกต่างกัน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สิน และกระทบต่อระบบเศรษกิจของประเทศ ตำรวจเพียงหน่วยเดียวจึงไม่สามารถแก้ปัญหา จำเป็นต้องอาศัยภาคีเครือข่ายในการร่วมกันป้องกัน รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะประชาชน ถือเป็นด่านแรกของการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหา จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มไซเบอร์วัคซีนให้ถึงประชาชนโดยเร็วและมากที่สุด ต้องขอบคุณ นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด ที่เข้ามาช่วยผลักดัน ไซเบอร์วัคซีน ให้ถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดย ตร. ได้รวบรวมรูปแบบลักษณะการกระทําผิด แผนประทุษกรรม วิธีการหลอกลวง ที่เกิดขึ้นบ่อย วิธีการป้องกัน และวิธีการตรวจสอบข้อมูลการกระทําผิด ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ สื่อเตือนภัย สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชน (Cyber Vaccine) รู้เท่าทันรูปแบบกลโกงต่างๆ ของมิจฉาชีพ 18 รูปแบบ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จะเป็นผู้จัดส่ง สื่อประชาสัมพันธ์กลโกงของมิจฉาชีพในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในรูปแบบเอกสาร ขนาด A4 สําหรับแจกจ่ายให้ประชาชน ทั่วประเทศ และโปสเตอร์ ขนาด A3 สําหรับสถานีตํารวจทั่วประเทศ โดยจะเริ่มจัดส่งสื่อเอกสารประชาสัมพันธ์ภายในเดือนนี้ ระยะแรก จะจัดส่งใบปลิว ขนาด A4 จำนวน 1,500,000 แผ่น ส่งให้กับประชาชนทั่วประเทศ และโปสเตอร์ ขนาด A3 จำนวน 500,000 แผ่น ส่งให้กับสถานีตำรวจทั่วประเทศ 

ตำรวจไซเบอร์ ฝากเตือนภัยเว็บไซต์ธนาคารปลอมซื้อโฆษณา หลอกให้กรอกข้อมูลทางการเงิน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยเว็บไซต์ธนาคารปลอม หลอกให้กรอกข้อมูลทางการเงิน ดังนี้

ตามที่ในปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึง ตรวจสอบข้อมูล หรือขอเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือทำธุรกรรมการเงินโดยไม่ต้องเดินทางไปยังสถาบันการเงิน หรือธนาคารแต่อย่างใด สามารถใช้โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตเข้าถึงระบบได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสสร้างเว็บไซต์ปลอม ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเว็บไซต์จริง เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนที่ไม่ทันระวัง เข้ามากรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลทางการเงิน เช่น หมายเลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเดบิต/เครดิต รหัสหลังบัตร 3 หลัก รหัส OTP เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลที่ได้ไปถอนเงินของเหยื่อออกจากบัญชี  หรือไปแฮ็กบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ หรือใช้รหัสบัตรเดบิต/เครดิตชำระค่าสินค้า หรือไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย เช่น ในกรณีตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้เสียหายรายหนึ่งได้ขอรายการเดินบัญชีผ่านเว็บไซต์ของธนาคารกรุงเทพ แต่ได้ไปเข้าเว็บไซต์ธนาคารที่ถูกมิจฉาชีพปลอมขึ้นมาโดยการซื้อการโฆษณา จากนั้นได้กรอกข้อมูลทางการเงินต่าง ๆ กระทั่งทราบว่าเงินในบัญชีธนาคารของตนถูกโอนออกไปทั้งหมด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ไปแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยข้อความสั้น (SMS) หลอกให้กดลิงก์รับอั่งเปาในช่วงเทศกาลตรุษจีน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสใช้เทศกาลต่างๆ สำคัญก่อเหตุหลอกลวงประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้
วันตรุษจีน หรือวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีนถือเป็นเทศกาลที่สำคัญ มีการเฉลิมฉลองกันในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยวันตรุษจีนปีนี้ ตรงกับวันที่ 22 มกราคม 2566 ตามธรรมเนียมจะเป็นวันที่จะไปไหว้ขอพรญาติผู้ใหญ่ หรือคนที่เรานับถือ รวมถึงมีการมอบอั่งเปาให้ระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่มอบให้เด็ก ลูกหลานมอบให้พ่อแม่ เป็นต้น

แต่ก็เป็นหนึ่งในแผนประทุษกรรมเดิมๆ ของมิจฉาชีพที่นำมาใช้ในการหลอกลวงประชาชน โดยมิจฉาชีพจะฉวยโอกาสดังกล่าวส่งลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) อ้างว่าท่านได้รับอั่งเปาฟรี ได้รับสิทธิพิเศษ หรือได้รับเงินรางวัลต่างๆ มิจฉาชีพจะหลอกลวงประชาชนคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ปลอม หลอกลวงให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลทางการเงิน เช่น ชื่อนามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเดบิตหรือเครดิต รหัสหลังบัตร 3 หลัก รหัส OTP เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลไปเข้าถึงบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แล้วไปหลอกยืมเงินผู้อื่น ใช้บัตรเดบิตหรือเครดิตรูดชำระค่าสินค้า หรือถูกโอนเงินจากบัญชีธนาคาร หรือนำไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง

ตำรวจไซเบอร์ เรียนชี้แจงกรณีผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพโอนเงินออกจากบัญชีตามที่ปรากฎเป็นข่าว

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอเรียนชี้แจงกรณี ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ มีผู้เสียหายหลายรายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บช.สอท. แจ้งว่าถูกมิจฉาชีพแฮ็กบัญชีธนาคารในโทรศัพท์มือถือแล้วโอนเงินออกไปจนหมดบัญชี โดยผู้เสียหายคาดว่าเกิดจากการใช้ที่ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ดังต่อไปนี้

กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ได้ซักถามผู้เสียหาย และทำการตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายพบว่า กรณีดังกล่าวเกิดจากการที่ผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพสร้างกลอุบายหลอกลวงให้กดลิงก์ ดาวน์โหลด หรือติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชันที่มีไว้สำหรับการหาคู่, แอปพลิเคชันดูไลฟ์สด ดูภาพลามกอนาจาร และแอปพลิเคชันพูดคุยยอดนิยม เช่น Viber, Sweet meet, Bumble, Snapchat, Kakao Talk และ Flower Dating เป็นต้น โดยเมื่อติดตั้งแอปพลิเคชันดังกล่าวจะขอสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลที่มีความอ่อนไหว (permission) หลายรายการ ทำให้มิจฉาชีพสามารถเชื่อมต่อระบบเข้ามา และควบคุมหน้าจอโทรศัพท์ของเหยื่อเมื่อใดก็ได้ โดยจะทิ้งระยะเวลาให้เหยื่อตายใจ ระหว่างนี้มิจฉาชีพจะสังเกตพฤติกรรมของเหยื่อ เช่น ใช้ธนาคารใด มีเงินในบัญชีเท่าไหร่ และจดจำรหัสผ่านจากที่เหยื่อกดเข้าระบบของแอปพลิเคชันธนาคาร กระทั่งเวลาผ่านไปจนเหยื่อเผลอ เมื่อได้โอกาสมิจฉาชีพจะเชื่อมต่อแล้วโอนเงินออกจากบัญชีไป นอกจากนี้แล้วยังพบการเข้าถึงเว็บไซต์อันตรายหลายรายการอีกด้วย ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องการใช้สายชาร์จโทรศัพท์ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ

ตำรวจไซเบอร์ สนองนโยบายรัฐบาลในการป้องกันปราบปรามภัยออนไลน์ทุกรูปแบบ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (โฆษก บช.สอท.) ขอเรียนชี้แจงผลการดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ดังต่อไปนี้

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์  วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง โดยให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม รวมไปถึงการวางมาตรการการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ แบ่งออกเป็นหลายมิติที่สำคัญ เช่น

ด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การรับจ้างการเปิดบัญชีธนาคาร หรือบัญชีม้า การลักลอบใช้อินเทอร์เน็ตข้ามประเทศผิดกฎหมาย และการใช้ซิมโทรศัพท์มือถืออย่างผิดกฎหมาย รวมไปถึงการตรวจยึดเครื่องตรวจยึดเครื่องส่งสัญญาณ IP-PBX, เครื่อง GSM Gateways (Simbox) ภายใต้ยุทธการซิม-สาย-เสา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการตัดวงจรความเสียหายก่อนที่มิจฉาชีพจะไปก่อเหตุหลอกลวงประชาชน ส่งผลให้แนวโน้มการถูกหลอกลวงประเภทดังกล่าวลดลงกว่าร้อยละ 25 อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีคดีสำคัญอีกหลายคดี เช่น ยุทธการ Shutdown ตัดสายแก๊งคอลเซ็นเตอร์, ยุทธการเด็ดปีกมังกร, ปฏิบัติการ ล้มไม้ค้ำลิดกิ่งก้าน ทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีน ตรวจยึดของกลางกว่า 300 ล้านบาท, ยุทธการหักซิมม้า ตรวจยึดของกลางกว่า 21,000 ซิม, ทลายเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าไทย - มาเลเซีย ตรวจยึดของกลางกว่า 80 ล้านบาท และปฏิบัติการตรวจค้น 13 จุด ทั่วประเทศ ทลายเครือข่ายเว็บไซต์พนันออนไลน์รายใหญ่ SCG9 พบเงินหมุนเวียนกว่า 3,000 ล้านบาท เป็นต้น 

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สายการบินแจกตั๋วเครื่องบินฟรีในฤดูกาลท่องเที่ยว

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สายการบินส่งข้อความสั้น (SMS) และโทรศัพท์ไปหลอกลวงประชาชนแจ้งว่าเป็นผู้โชคดีได้รับคูปองเที่ยวบินฟรี ดังนี้

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (SMS) มายังโทรศัพท์มือถือของตน แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สายการบินต่างๆ เช่น สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ (Thai Lion Air) พร้อมกับข้อความในลักษณะว่า “ ขอบคุณที่ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ท่านได้รับบินเที่ยวฟรี ” โดยให้กดลิงก์ที่แนบมากับข้อความดังกล่าวเพื่อเป็นการเพิ่มเพื่อนสายการบินทางแอปพลิเคชันไลน์ จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ติดต่อไปยังผู้เสียหายสอบถามข้อมูลต่างๆ และหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของสายการบินที่ส่งให้ทางไลน์อีกครั้ง เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อติดตั้งแอปพลิเคชันดังกล่าว มิจฉาชีพจะหลอกให้เข้าไปกรอกข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลทางการเงิน หรือให้ตั้งรหัส PIN 6 หลัก รวมถึงการให้สิทธิ์แอปพลิเคชันเข้าถึงข้อมูลที่ละเอียดอ่อนต่างๆ ทำให้มิจฉาชีพสามารถเชื่อมต่อระบบเข้ามา และควบคุมหน้าจอโทรศัพท์ของเหยื่อเมื่อใดก็ได้ โดยจะทิ้งระยะเวลาให้เหยื่อตายใจ ระหว่างนี้มิจฉาชีพจะสังเกตพฤติกรรมของเหยื่อ เช่น ใช้ธนาคารใด มีเงินในบัญชีเท่าไหร่ และจดจำรหัสผ่านจากที่เหยื่อกดเข้าระบบของแอปพลิเคชันธนาคาร กระทั่งเวลาผ่านไปจนเหยื่อเผลอ เมื่อได้โอกาสมิจฉาชีพจะเชื่อมต่อแล้วโอนเงินออกจากบัญชีไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ ไปหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top