Monday, 29 April 2024
กระทรวงแรงงาน

'รองปลัดหญิงกระทรวงแรงงาน' ถือฤกษ์ 09.00 น. เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน ในโอกาสรับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงแรงงาน

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น. นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย ประกอบด้วย พระพุทธสุทธิธรรมบพิตร พระพุทธชินราช ศาลพ่อปู่ชัยมงคล ศาลท้าวมหาพรหมเทวฤทธิ์ และศาลพ่อปู่สุชินพรหมมา ในโอกาสรับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงแรงงาน ณ บริเวณกระทรวงแรงงาน

สำหรับ นางสาวบุปผา เรืองสุด สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท สาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่ง ได้แก่ นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการกรมสำนักงานประกันสังคม รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน

 

‘รมว.สุชาติ’ มอบ ‘ปลัดแรงงาน ร่วมคณะ พล.อ.ประวิตร’ ให้กำลังใจอาสาสมัครแรงงาน และมอบสุขาลอยน้ำแก่ผู้ประสบอุทกภัย จ.ขอนแก่น

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดขอนแก่น โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่จากนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จุดแรกที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จุดที่สองที่วัดโพธิบัลลังก์ บ้านดอนแดง ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อพบปะผู้นำชุมชนและมอบถุงยังชีพจำนวน 300 ชุด พร้อมมอบสุขาลอยน้ำของกระทรวงแรงงานให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 5 หลัง

โดยมี นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมทั้งอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) จังหวัดขอนแก่นมาร่วมต้อนรับ และนำน้ำดื่มมามอบให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่ด้วย ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้ให้กำลังใจแก่อาสาสมัครแรงงานจังหวัดขอนแก่นที่มาร่วมต้อนรับและมาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งอาสาสมัครแรงงานมีภารกิจในการประสานการให้บริการด้านแรงงานในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีงานทำ มีทักษะฝีมือ มีอาชีพมีรายได้ ได้รับคุ้มครองและมีหลักประกันทางสังคมที่ยั่งยืนอีกด้วย ปัจจุบันมีอาสาสมัครแรงงานทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 8,110 คน จุดที่สามที่วัดบ้านเทพบูรณาราม บ้านหนองบัวดีหมี หมู่ที่ 20 ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เพื่อพบปะผู้นำชุมชนและมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัย จำนวน 300 ชุด

นายบุญชอบ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ผมได้รับมอบหมายจากท่าน รมว.แรงงาน กำชับให้ส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดขอนแก่นได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งฟื้นฟูเยียวยาภายหลังน้ำลดตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน สำนักงานจัดหางานจังหวัดบริการจัดหางานและส่งเสริมการประกอบอาชีพ สำนักงานแรงงานจังหวัดจัดโครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือ โดยสนับสนุนค่าตอบแทนรวมถึงวัสดุอุปกรณ์ฝึกอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้อย่างต่อเนื่อง สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดจะให้คำปรึกษาด้านสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดดูแลสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประสบภัย เรื่องสิทธิประกันสังคม จัดทีมแพทย์และพยาบาลร่วมกับโรงพยาบาลในเครือข่ายให้บริการตรวจรักษาเบื้องต้นในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

 

‘เลขาธิการ สปส.’ ลุย! ตรวจติดตามการขับเคลื่อนโครงการ “Factory Sandbox” จ.สมุทรปราการ

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่ในจังหวัดสมุทรปราการ ตรวจเยี่ยมโรงงาน ตามโครงการ “Factory Sandbox” ณ บริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม จำกัด (มหาชน) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีนายพินิจ ผุดไซตู ประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ นายสุรศักดิ์ คุณานันทกุล ผู้อำนวยการบริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม จำกัด (มหาชน) นายฮิโรยูกิ อิโนกูจิ รองผู้อำนวยการ บริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม จำกัด (มหาชน) นายแพทย์เขตโสภณ จัตวัฒนกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิครินทร์ สมุทรปราการ พร้อมเจ้าหน้าที่ และพนักงานบริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม จำกัด (มหาชน) ร่วมให้การต้อนรับ

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ “Factory Sandbox” ภายใต้นโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงแรงงานในการกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกภาคส่วนของประเทศ กระทรวงแรงงาน

โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีแนวคิดในการจัดการโครงสร้างและกระบวนการในลักษณะ “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” ที่มุ่งเป้าดำเนินการควบคู่กันระหว่าง สาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิต ซึ่งถือเป็นกลไกหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน โดยมีหลักการสำคัญ คือ ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล เพื่อให้การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเกิดประโยชน์สูงสุดและตรงกลุ่มเป้าหมาย ให้ผู้ประกันตนในสถานประกอบการที่ดำเนินกิจการในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมส่งออก

ซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ในพื้นที่ 11 จังหวัดนำร่องที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง ลพบุรี สระบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ได้รับการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 โดยให้มีการจำกัดอยู่ในพื้นที่ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างอันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนสุขภาวะของประชาชนทั่วประเทศ ตามแนวทางโครงการ “Factory Sandbox”

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีความมุ่งมั่น และทุ่มเทการทำงาน พร้อมร่วมช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจไปต่อโดยไม่ต้องหยุดการผลิต และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนในทุกสถานการณ์อย่างทันท่วงที และรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบในทุกด้านเพื่อหาแนวทางกำหนดมาตรการแก้ไขให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

 

 

'รมว.เฮ้ง' กำชับนายจ้างพาแรงงานข้ามชาติ ดำเนินการตามมติครม.ภายในกำหนด 

กระทรวงแรงงาน แนะแนวทางการดำเนินการตามมติครม. 29 ธ.ค. 63  มติครม. 13 ก.ค. 64 มติครม. 28 ก.ย. 64 และกลุ่มคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดโดยผลของกฎหมาย เพื่ออยู่ทำงานได้ถึง 13 ก.พ. 66

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน  ให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานข้ามชาติอย่างยิ่ง โดยมีมติครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 มติครม.เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 64 และมติครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 64 เพื่อเปิดโอกาสให้นายจ้าง/สถานประกอบการดำเนินการขออนุญาตทำงานให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ภาครัฐสามารถให้ความคุ้มครองและความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนแรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งสำหรับคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่อยู่ในประเทศไทย แรงงานไทยในสถานประกอบการ ตลอดจนชุมชนโดยรอบ

“ผมขอสรุปโดยง่าย สำหรับแรงงานข้ามชาติทั้ง 3 สัญชาติ ที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทย หากยังดำเนินการในขั้นตอนใดไม่สำเร็จก็ให้เร่งดำเนินการ โดยติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1- 10 ที่เป็นสถานที่ตั้งของสถานประกอบการ สำหรับกลุ่มมติครม. 29 ธ.ค. 63 ที่ถือ บต.48 มีการชำระค่าธรรมเนียมและยื่นขออนุญาตทำงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในวันที่ 13 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา ควรเร่งติดต่อขอรับใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด 
สำหรับกลุ่มมติครม. 13 ก.ค. 64 ที่ถือบัตรชมพู ต้องยื่นเรื่องขอต่อใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานเดิมหมดอายุ ภายใน 31 มี.ค. 65 กลุ่มที่ถือ บต. 23 ต้องยื่นแจ้งขอเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานเดิมหมดอายุ ซึ่งหากยังไม่ได้ตรวจสุขภาพต้องดำเนินการให้ทัน ภายใน 31 มี.ค. 65 ในส่วนกลุ่ม MoU ต้องขอต่อใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานเดิมสิ้นสุด เพื่ออยู่และทำงานต่ออีก 2 ปี

และกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 จนถึงวันที่ 3 ส.ค. 64 นายจ้างต้องยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวและชำระค่าธรรมเนียม ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป – 1 ธ.ค. 64 ตรวจและทำประกันสุขภาพ ตรวจลงตราวีซ่า รวมทั้งขอหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางฉบับใหม่กรณีเอกสารเดิมหมดอายุ ภายใน 1 ส.ค. 65  ซึ่งถ้าเอกสารประจำตัวหมดอายุ ต้องทำเล่มใหม่และตรวจลงตรากับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภายใน วันที่ 1 ส.ค. 65 เพื่อได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานในประเทศไทย ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 66

สำหรับการเข้าตรวจสถานประกอบการตามมติครม.วันที่ 28 ก.ย. 64 นั้น มีผลบังคับใช้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงาน ตั้งแต่ 1 พ.ย. 64  ซึ่งกระทรวงแรงงานจะลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการเป็นเวลา 30 วัน เพื่อให้คำแนะนำนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ ในการขออนุญาตทำงานให้แก่ลูกจ้าง เพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมายต่อไป ซึ่งกระทรวงแรงงานขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการให้ความสำคัญและดำเนินการภายในกำหนดเพื่อประโยชน์ของท่านและลูกจ้างในความดูแล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

“สุชาติ” รมว.แรงงาน ห่วงใยผู้ประกันตน มอบที่ปรึกษาแรงงาน “ธิวัลรัตน์” ลงพื้นที่ช่วยผู้ประกันตนทุพพลภาพ ที่จังหวัดชุมพร

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประกันตนทุพพลภาพ ในการนี้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ นางวันทนา ณัฐพูลวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม นายพูลศักดิ์ ประมงค์ ประกันสังคมจังหวัดชุมพร ร่วมคณะลงพื้นที่ด้วย

นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใย ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ประสบอันตรายหรือมีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น จนเป็นเหตุให้เป็นผู้ทุพพลภาพ รวมถึงให้ความสำคัญในการดูแลผู้ประกันตนอย่างใกล้ชิด ในทุก ๆ ด้าน แม้ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนประสบอันตราย จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในวันนี้ ตนได้รับมอบหมายจากนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ในจังหวัดชุมพร เพื่อเยี่ยมสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ทุพพลภาพและครอบครัว ได้มีความรู้สึกอบอุ่น และมีความรู้สึกที่ดีต่อระบบประกันสังคม อีกทั้งรับทราบปัญหาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามกฎหมายของผู้ทุพพลภาพ รวมทั้งติดตามอาการเจ็บป่วย เพื่อนำสู่การรักษา และฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ

ด้าน นางวันทนา ณัฐพูลวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ร่วมคณะลงพื้นที่จังหวัดชุมพรกับนางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำของใช้จำเป็นมามอบให้กับผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดชุมพร ที่บ้านพักของตนเองจำนวน 2 ราย ได้แก่

นายสมชาย โกสุมา ปัจจุบันอายุ 39 ปี เป็นผู้ประกันตาม มาตรา 33 อยู่บ้านเลขที่ 10/2 หมู่ 2 ตำบลบางหมาก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานถูกรถบรรทุกถอยหลังมาชนเป็นผู้ทุพพลภาพตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ปัจจุบันได้รับเงินทดแทนรายเดือน เดือนละ 5,642 บาท ตลอดชีวิต (ได้รับเงินแล้วทั้งสิ้น ณ กันยายน 2564 เป็นเงินประมาณ 174,300.- บาท ) 

 

นราธิวาส - พัฒนาฝีมือแรงงานนราธิวาส! ประชุมขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพ แก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ

นายบุญพาศ รักนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมบางนรา สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส เพื่อพิจารณากำหนดแผนการดำเนินงานโครงการ กำหนดหลักสูตรที่จะเปิดอบรม มอบหมายหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาจัดทำแบบสอบถามและแบบสรุปการสำรวจและจำแนกนักเรียนของจังหวัดนราธิวาส รวมถึงความร่วมมือจัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมในการดำเนินโครงการฯ นอกเหนือจากงบประมาณปกติของสถาบันฯ

นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส เปิดเผยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับจังหวัดนราธิวาสจากหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนราธิวาส และกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ภาคการศึกษา ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม จำนวน 28 คน มีอำนาจหน้าที่อำนวยการวางแผนการดำเนินโครงการ โดยให้ความเห็นชอบปฏิบัติ ขั้นตอนการดำเนินงาน 12 ขั้นตอน ให้ความเห็นชอบหลักสูตรและงบประมาณ และจัดเตรียมตลาดแรงงาน มอบหมายและประสานการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับติดตามในการสำรวจและจำแนกกลุ่มนักเรียนเป้าหมาย ติดตามและสนับสนุนในการดำเนินการฝึกอาชีพและประเมินผลการดำเนินการโครงการ

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงานโครงการฯ โดยกำหนดประชุมชี้แจงผู้อำนวยการโรงเรียนและครูแนะแนว ระหว่างวันที่ 7 – 9 ธันวาคม 2564 สถานศึกษานำนักเรียนกลุ่มเป้าหมายเข้าศึกษาดูงาน ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส ระหว่างวันที่ 21 – 25 ธันวาคม 2564 แต่เนื่องจากกลางเดือน เมษายน - พฤษภาคม 2564 เป็นช่วงเทศกาลถือศีลอด ดังนั้นจึงได้กำหนดวันรายงานตัวและปฐมนิเทศ ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 สำหรับหลักสูตรที่เปิดฝึก เป็นหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน ระยะเวลาฝึก 420 ชั่วโมง

 

 

‘รมว.สุชาติ’ ลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์ฟื้นฟูคนงานฯ ภาค 5 สงขลา พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกันตนทุพพลภาพ และส่งเสริมการมีงานทำ

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พร้อมด้วย พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นางวันทนา ณัฐพูลวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

โดยมี นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายสมเกียรติ สิริชูทรัพย์ ประกันสังคมจังหวัดสงขลา นายปฐพี จิระวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 จังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผู้ประกอบการ SME อาสาสมัครแรงงาน และบัณฑิตแรงงานในจังหวัดสงขลา และผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ให้การต้อนรับ

นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ประสบอันตรายหรือมีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น จนเป็นเหตุให้เป็นผู้ทุพพลภาพรวมถึงให้ความสำคัญในการดูแลผู้ประกันตนอย่างใกล้ชิดในทุก ๆ ด้าน แม้ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนประสบอันตราย กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม พร้อมเข้าดูแลผู้ประกันตนอย่างใกล้ชิดในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีอย่างเต็มที่ รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน

ในโอกาสนี้ ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้โอกาสมาติดตามการดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 จังหวัดสงขลา ที่กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพ แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และผู้ประกันตน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533  

โดยหากมีการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญเสียอวัยวะ สามารถที่จะเข้ารับการฟื้นฟูฯ ได้เต็มตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีรูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน เป็นกระบวนการต่อเนื่องและจำเป็นสำหรับลูกจ้าง ที่สูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน สูญเสียอวัยวะ พิการหรือ ทุพพลภาพและผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ หลังสิ้นสุดการรักษาจากโรงพยาบาลแล้ว

ประกอบด้วย 2 ประการ คือ เป็นกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ในรูปแบบที่สมบูรณ์ครบวงจร ได้แก่ การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ การฟื้นฟู สมรรถภาพด้านอาชีพ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านจิตใจ และสังคม และเป็นการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ

โดยดูองค์รวม ได้แก่ การให้บริการโดยพิจารณาภาพรวมของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นรายบุคคลในทุก ๆ ด้านไปพร้อมกัน โดยมุ่งเน้นการประสานงาน ของทีมงานทุกด้าน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกจ้าง และผู้ประกันตน

 

รมว.เฮ้ง สั่งกกจ.ดันโครงการช่วย SMEs หวั่นนายจ้าง สถานประกอบการ SMEs ลงทะเบียนรับสิทธิไม่ทัน

รมว.แรงงาน ย้ำเตือนนายจ้างสถานประกอบการ ลงทะเบียนร่วมโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อรับสิทธิภายใน วันที่ 20 พ.ย. 64  มอบกกจ.แจงชัดวิธีลงทะเบียน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เชิญชวนนายจ้าง/สถานประกอบการภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม และมีลูกจ้างรวมทุกสาขาไม่เกิน 200 คน ลงทะเบียนร่วมโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ผ่านเว็บไซต์ “ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th” เพื่อรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในเดือนพฤศจิกายน 2564 -มกราคม 2565 โดยเงินจำนวนนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วแต่กรณี ไม่ต้องนำไปคิดเป็นรายได้ หรือคำนวณเป็นรายจ่ายในการหักภาษี ซึ่งการอุดหนุนเงินช่วยนายจ้างในโครงการฯ นี้เป็นสิทธิประโยชน์ของนายจ้าง ที่รัฐบาลโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน เห็นถึงความสำคัญที่จะต้องเสริมสภาพคล่อง สร้างความแข็งแรงและฟื้นฟูกิจการในธุรกิจ SMEs อย่างไรก็ดีตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. - 8 พ.ย. 64 มีสถานประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 98,135 ราย หรือร้อยละ 24.86 ช่วยรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย 1,645,539 คน หรือร้อยละ 40.8 โดยมีนายจ้างจำนวนมากที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนร่วมโครงการ ซึ่งกรมการจัดหางานกำหนดให้ลงทะเบียนได้ถึง วันที่ 20 พ.ย. 64  หรือขณะนี้เหลือเวลาเพียง 12 วันเท่านั้น
“ผมฝากถึงพี่น้องสื่อมวลชน ช่วยเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs อีกแรง เพื่อให้นายจ้างในกิจการเล็กๆ ที่ยังไม่ทราบข่าวว่าตนมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐไปฟื้นฟูกิจการ เงื่อนไขของโครงการไม่ยาก หลักฐานที่ต้องยื่นเฉพาะที่จำเป็นเพื่อเป็นยืนยันว่านายจ้างมีตัวตน เป็นสถานประกอบการตัวจริง มีการจ้างงาน และจ่ายประกันสังคมให้พนักงานของท่านจริงเท่านั้น ผมเองได้สั่งการกรมการจัดหางาน เร่งโทรศัพท์หานายจ้างในพื้นที่รับผิดชอบทุกวัน หวังให้นายจ้างไม่เสียสิทธิ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า  

นายจ้างสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th” เพื่อรับสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ และหากไม่สะดวกดำเนินการผ่านระบบด้วยตนเอง สามารถนำเอกสารซึ่งประกอบด้วย หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท สำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ สำเนาหน้าสมุดธนาคาร (กรณีใช้บัญชีกระแสรายวัน ให้ใช้สมุดหน้าเช็คที่มีชื่อนายจ้างและเลขบัญชี) และสำเนาหนังสือรับรองการจะทะเบียนนิติบุคคล หรือสำเนาบัตรประชาชน (นายจ้างบุคคลธรรมดา) โดยลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ ติดต่อที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้ หรือหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมให้ติดต่อที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 
สำหรับหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการมีดังนี้ 

‘มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์’ ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ จำนวน 200 ถุง และสุขภัณฑ์เคลื่อนที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.00 น.ที่ผ่านมา มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ นำทีมโดยคุณกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา (ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิฯ) พร้อมด้วยทีมงาน ลงพื้นที่ตำบลบางชะนี อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ร่วมกับคุณเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมอบถุงยังชีพ จำนวน 200 ถุง และสุขภัณฑ์เคลื่อนที่ จำนวน 20 อัน โดยมีชาวบ้าน อำเภอบางบาล ตำบลบางชะนี เป็นผู้รับมอบ เพื่อส่งต่อกำลังใจ และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้

แรงงาน 3 สัญชาติ เฮ! ศบค. เคาะ นำเข้า MoU ตามกระทรวงแรงงานเสนอ 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 18/2564 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยกล่าวว่า กระทรวงแรงงานจะเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานตาม MoU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คาดว่าหลังวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 นายจ้างสามารถยื่นความต้องการจ้างแรงงานที่กรมการจัดหางานได้เลย 

โดยแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยต้องเข้ารับการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด - 19 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ต้องกักตัว 7 วัน หากฉีด 1 เข็ม หรือยังไม่เคยรับวัคซีน จะต้องกักตัว 14 วัน ระหว่างกักตัวจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี RT – PCR 2 ครั้ง โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วยค่าสถานที่กักกัน วันละ 500 – 1,000 บาท และค่าตรวจหาเชื้อโควิด 2 ครั้ง รวม 2,600 บาท กรณีคนต่างด้าวติดเชื้อฯ นายจ้างหรือบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษา ซึ่งวันสุดท้ายของการกักตัวแรงงานต่างด้าวที่ยังรับวัคซีนไม่ครบเกณฑ์ จะได้รับการฉีดวัคซีนโดยกระทรวงแรงงานเป็นผู้จัดหาให้ ในส่วนของเข็มที่ 2 กระทรวงแรงงานจะประสานสาธารณสุขจังหวัดปลายทางเพื่อนัดหมายฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานต่างด้าวตามกำหนด โดยนายจ้างจ่ายแค่ค่าบริการทางการแพทย์

“กระทรวงแรงงานได้รับข้อสั่งการจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้เตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวล่วงหน้า เพื่อให้นายจ้าง และสถานประกอบการมีแรงงานที่เพียงพอในการขับเคลื่อนกิจการตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศ แก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมือง สามารถควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างเป็นระบบ และเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข ความมั่นคง และระบบการจ้างงานของประเทศ ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 มีค่าใช้จ่ายรวมในการนำเข้าฯ ระหว่าง 11,490 – 22,040 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน ประกอบด้วยค่าตรวจโควิด 2 ครั้ง 2,600 บาท ตรวจลงตราวีซ่า (2 ปี) 2,000 บาท ใบอนุญาตทำงาน (2 ปี) 1,900 บาท ตรวจสุขภาพ 6 โรค 500 บาท ค่าประกันสุภาพรวมโรคโควิด-19 (บริษัทประกันภัยเอกชน (4 เดือน)) 990 บาท ค่าบริการทางการแพทย์ (ฉีดวัคซีน) 50 บาท  และค่าสถานที่กักตัว (วันละ 500 – 1,000 บาท) กักตัว 7 วัน 3,500/7,000 บาท และกักตัว 14 วัน 7,000 – 14,000 บาท  โดยมีแนวทางการดำเนินการ 7 ขั้นตอน ดังนี้ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top