Thursday, 16 May 2024
กระทรวงแรงงาน

รมว.'พิพัฒน์' ห่วงใย ลงพื้นที่สงขลา รุดเยี่ยมให้กำลังใจ มอบสิ่งของช่วยผู้ประกันตนทุพพลภาพ

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ได้ลงพื้นที่เยี่ยม เพื่อพูดคุยให้กำลังใจรวมถึงนำสิ่งของเครื่องอุปโภคและบริโภค ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นมามอบให้กับผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลา จำนวน 2 ราย รายแรกคือ นายบุญตา ศรีสุชาติ อายุ 62 ปี เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ทุพพลภาพจากอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เดือนละ 2,400 บาท รายที่ 2 คือ นางวันดี จันทศิริ อายุ 56 ปี เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ทุพพลภาพจากอาการจอประสาทตาเสื่อม เป็นเหตุให้ตาทั้งสองข้างมองเห็นไม่ชัดเจน ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เดือนละ 2,400 บาท   

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม พร้อมดูแลผู้ประกันตนทุกคนให้มีหลักประกันความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะผู้ประกันตนทุกคนคือครอบครัวประกันสังคม

‘กระทรวงแรงงาน’ ตั้งเป้าปี 67 ส่งออกแรงงานไทย 1 แสนคน เผย ‘ไต้หวัน-อิสราเอล-เกาหลีใต้’ ติด 3 อันดับจัดส่งมากที่สุด

(20 พ.ย. 66) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายสำคัญให้กับกระทรวงแรงงานไว้ว่า ให้ส่งเสริมและขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ จำนวน 100,000 อัตรา ภายในปีงบประมาณ 2567

โดยรายชื่อประเทศกลุ่มเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน 100,000 คน ในปีงบประมาณ 2567 พบส่งไปทำงานแถบเอเชียมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 72,000 คน อันดับ 1 ไต้หวัน เป้าหมาย 20,300 คน ขณะที่ อิสราเอล ยังคงเป็นประเทศเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน ในอันดับที่ 2 เป้าหมาย 7,700 คน ตามด้วย สาธารณรัฐเกาหลี เป้าหมาย 7,500 คน

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ตนได้มอบให้กรมการจัดหางาน เตรียมแผนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศไว้เรียบร้อยแล้ว เน้นส่งเสริมรักษาการจ้างงานในตลาดแรงงานเดิม ควบคู่กับการขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีความต้องการจ้างแรงงานในตำแหน่งที่กำลังขาดแคลน หรือประเทศที่มีแนวโน้มการจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น

ในปีงบประมาณ 2567 ตั้งเป้าหมายจัดส่งไปทำงานแถบเอเชียมากที่สุด รวม 72,000 คน รองลงมาคือแถบยุโรป 14,000 คน ตะวันออกกลาง 10,500 คน อเมริกาเหนือ 1,800 คน แอฟริกา 1,100 คน และอเมริกาใต้ ออสเตรเลียและโอเชียเนีย 600 คน

ขณะที่เป้าหมายอันดับหนึ่ง ในการจัดส่งยังคงเป็นตลาดแรงงานในไต้หวัน จำนวน 20,300 คน รองลงมาคือ อิสราเอล จำนวน 7,700 คน สาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 7,500 คน ญี่ปุ่น และสวีเดน เป้าหมายจัดส่งจำนวนเท่ากันที่ 6,000 คน และมาเลเซีย 4,000 คน หากดูจากตัวเลขประมาณการ คาดว่าจะจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งในตลาดแรงงานเดิมและตลาดแรงงานใหม่ได้รวม 100,000 อัตราแน่นอน

รมว.แรงงาน 'พิพัฒน์' จัดเต็มมอบของขวัญ 2567 ให้แรงงาน11ชิ้น ชูแคมเปญ เพิ่ม ฟรี ปรับขึ้น สะดวก ช่วยปลดหนี้ 'อุ่นใจผู้ให้ สุขใจผู้รับ'

วันที่ 22 ธันวาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานแถลงข่าวของขวัญปีใหม่กระทรวงแรงงาน ปี 2567 โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ บริเวณโถงชั้นล่างอาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ฯ ได้กล่าวถึงผลงานตลอด 3 เดือน ตั้งแต่มารับตำแหน่งที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งช่วยแก้ปัญหาให้กับพี่น้องแรงงานไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาทิ การช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบในอิสราเอลให้ได้รับเงินเยียวยา ทั้งจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ จำนวนคนละ 15,000 บาท และเสนอคณะรัฐมนตรีเพิ่มเงินเยียวยาอีกคนละ 50,000 บาท รวมถึงพักหนี้ให้กับแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบรายละไม่เกิน 150,000 บาท และเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. เพื่อส่งเสริมคุ้มครองคุณภาพชีวิตแรงงานอิสระเข้าถึงสิทธิพื้นฐานความปลอดภัยในการทำงาน ครอบคลุมถึงการสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 และมาตรา 39 เพื่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการคุ้มครองแรงงาน เป็นต้น

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน ทุกกลุ่ม และได้สั่งการให้ทุกกระทรวงพิจารณาของขวัญที่จะมอบให้ประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นกำลังใจแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ รวมทั้งพี่น้องแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ  ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานนั้นในปี 2567 นี้มีของขวัญปีใหม่ จำนวน 11 ชิ้น ในหัวข้อ “เพิ่ม ฟรี ปรับขึ้น สะดวก ช่วยปลดหนี้” ภายใต้แคมเปญ “อุ่นใจผู้ให้ สุขใจผู้รับ”เพื่อมอบความสุขแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ดังนี้

ชิ้นที่ 1 “เพิ่ม”อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 6 สาขาอาชีพ 54 สาขา ตามร่างอัตราค่าจ้าง ตามมาตรฐานฝีมือ 54 สาขา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังจากวันที่ประกาศแล้ว

ชิ้นที่ 2 “ปรับขึ้น”อัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยคณะกรรมการไตรภาคีได้พิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 และได้นำมาทบทวนอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น ซึ่งที่ประชุมไตรภาคีได้มีมติเห็นชอบให้ใช้มติเดิม ผมเองก็จะนำมติในเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เพื่อขอความเห็นชอบให้มีผลใช้บังคับในช่วงเดือนมกราคม 2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องแรงงาน

ชิ้นที่ 3 “ฟรี”กู้เงินกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ดอกเบี้ย 0% จำนวน 24 เดือน โดยมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือค่าธรรมเนียม ร้อยละ 0 ต่อปี ในงวดที่ 1 - 24 โดยไม่ปลอดเงินต้น และงวดที่ 25 เป็นต้นไปจนสิ้นสุดสัญญา คิดอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ผู้รับงานไปทำที่บ้านรายบุคคลยื่นคำขอกู้ไม่เกิน 50,000 บาท รายกลุ่มบุคคลกู้ไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลายื่นคำขอกู้ ตั้งแต่1 ธ.ค.66 - 31 ส.ค.67 กรอบวงเงิน 5,000,000 บาท ทำให้มีผู้จดทะเบียนเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านกว่า 6,000 ราย เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า 16.2 ล้านบาทต่อปี

ชิ้นที่ 4 “ฟรี”ตรวจเช็คสภาพรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ก่อนเดินทาง 7 วัน ช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 22 – 28 ธ.ค. 66 ในวันและเวลาราชการ ฟรี 10 รายการ ได้แก่ ล้อ/ลมยาง ระบบเบรก กรองอากาศ ระบบไฟเลี้ยว/ไฟสัญญาณ ใบปัดน้ำฝน ระบบปรับอากาศ น้ำยาฉีดกระจก แบตเตอรี่ น้ำกลั่นพวงมาลัย/แฮนด์/แตร

ชิ้นที่ 5 “ฟรี” ฝึกอบรมออนไลน์ หลักสูตรภาษาอังกฤษ ภาษาจีน การตลาดออนไลน์ และดิจิทัล ฟรีจำนวน 10,000 สิทธิ์ เพื่อแรงงานไทยได้ Up skill ตนเอง ทุกที่ ทุกเวลา ตั้งแต่วันที่ 22 – 28 ธ.ค.66 หรือจนกว่าจะครบ 

ชิ้นที่ 6 “ช่วยปลดหนี้” ผ่านโครงการเงินกู้สร้างสุข ปลดทุกข์หนี้นอกระบบ ในวงเงินไม่เกินคนละ 100,000 บาท เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจ นำไปปลดหนี้สิน หรือลงทุนประกอบอาชีพเสริม ในวงเงินโครงการ จำนวน 50,000,000 บาท เพื่อพัฒนารายได้แก่ตนเองและครอบครัวให้แรงงานได้รับสวัสดิการที่ดีสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างรากฐานความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 

ชิ้นที่ 7 “ฟรี”อบรม Safety 10,000 คน เพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ลดอุบัติเหตุ อุบัติภัยจากการทำงาน ทำให้ลูกจ้างได้รับการดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัย 
อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงาน จำนวน 1,000,000 คน 

ชิ้นที่ 8 “ฟรี”ตรวจสุขภาพ 14 รายการ ผู้ประกันตนสุขภาพดีถ้วนหน้า อาทิ มะเร็งปากมดลูก ตรวจคัดกรอกมะเร็งลำไส้ ตรวจเต้านม ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เชื้อไวรัสตับอักเสบ ตรวจไขมันในเลือด เริ่ม 1 มกราคม 2567

ชิ้นที่ 9 “สะดวก”ผู้ประกันตนฟันดีด้วยรถทันตกรรมเคลื่อนที่ ณ สถานประกอบการ (SSO Mobile e-Dent) วงเงิน 900 บาท/คน/ปี  โดยผู้ประกันตนเข้ารับบริการทันตกรรมด้วยรถ Mobile Service สะดวก ไม่ต้องสำรองจ่าย มอบสิทธิประโยชน์ทำฟันสะดวก อุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน และผ่าตัดฟันคุด ที่สถานประกอบการ ด้วยรถทันตกรรมเคลื่อนที่ประกันสังคม ผู้ประกันตนสะดวก ทำฟันสะดวก ที่สถานประกอบการ ไม่ต้องหยุดงาน ไม่ต้องเดินทาง เริ่ม 1 ม.ค. – 31 มี.ค.67

ชิ้นที่ 10 “ฟรี”บริการประกันสังคมครบจบใน APP เดียว “SSO plus+”ภายใต้โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล กลางเชื่อมต่อบริการประกันสังคม ให้ผู้ประกันตนอย่างเฉพาะเจาะจง และแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อรวมศูนย์การบริการตามภารกิจหลักของกองทุนเงินทดแทน เพื่อความสะดวกให้ผู้ประกันตน เริ่ม 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป 

ชิ้นที่ 11 “ฟรี”ติดตั้งระบบรายงานจุดเสี่ยงอันตรายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และประเมิน ความเสี่ยงขั้นต้น เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 – 31 ม.ค.67 สถานประกอบกิจการมีระบบรายงานจุดเสี่ยงอันตราย และประเมินความเสี่ยงขั้นต้นเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน 

ต่อจากนั้น รมว.แรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้เยี่ยมชมบูธกิจกรรมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานและหน่วยงานภาคเอกชนที่เข้าร่วมที่ให้บริการตรวจสุขภาพในเบื้องต้น โดยแพทย์เฉพาะทางได้แก่ บริการประกันสังคมครบจบในแอพเดียว SSO Plus+ ตรวจสุขภาพฟรี 14 รายการ ผู้ประกันตนสุขภาพดีถ้วนหน้า และผู้ประกันตนทำฟันฟรีด้วยรถ ทันตกรรมเคลื่อนที่ ณ สถานประกอบการ จากสำนักงานประกันสังคม อบรม Safety 10,000 คน และเงินกู้สร้างสุข ปลดทุกข์หนี้นอกระบบ จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้านดอกเบี้ย 0 % จากกรมการจัดหางาน T-OSH Application : ระบบรายงานจุดเสี่ยงอันตราย จาก สถาบันส่งเสริม ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) และ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 6 สาขาอาชีพ จากสำนักงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นต้น

รมว.แรงงาน 'พิพัฒน์' ตามผลผู้ฝึกแรงงานอิสระเชียงราย และแรงงานจากอิสราเอล Up Skill นำความรู้ติดตัว ต่อยอดอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน

วันที่ 19 มกราคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย และตรวจเยี่ยมพบปะให้คำแนะนำ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการประกอบอาชีพให้แรงงานที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอล ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระยุค 4.0 และหลักสูตรขับเคลื่อนและส่งกำลังยานยนต์ไฟฟ้า โดยมี นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเชียงราย และผู้เข้ารับการฝึกอบรม ร่วมให้การต้อนรับ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เชียงรายเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก ทำให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวภาคเหนือคึกคัก ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญเร่งส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน ทำให้ประชาชนมีทักษะฝีมือ มีงานทำ มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ในวันนี้ผมพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ติดตามผลการฝึกอบรมหลักสูตรการประกอบอาชีพให้แรงงานอิสระและแรงงานที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอล อาทิ หลักสูตรการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก เพื่อเป็นอาชีพเสริมจากภาคเกษตร สามารถทำงานเพื่มรายได้ที่อิสราเอลได้ และหลักสูตรการบำรุงรักษารถจักรยานยนต์เบื้องต้น เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของแรงงานในการบำรุงรักษา ซ่อมด้วยตนเอง เป็นต้น

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ผมได้ให้นโยบายเร่งด่วนไปกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในหลักสูตรที่แรงงานต้องการฝึกอบรม 5 อันดับแรก ได้แก่ การเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร การติดตั้งโซล่าเซลล์ระบบ lOT เพื่อการเกษตรกรรม การซ่อมรถจักรยานยนต์ การซ่อมรถยนต์ และการเชื่อมโลหะตามลำดับ เพื่อให้แรงงานอิสระสามารถนำไปประกอบอาชีพ มีรายได้ทันที ส่วนผู้ว่างงานที่ต้องการ Up Skill ทักษะฝีมือของตัวเอง สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 

มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ จับมือ หน่วยงานกระทรวงแรงงาน จ.เชียงราย และกลุ่มไทยสมายล์ ขึ้นเหนือ มอบสิ่งของแก่โรงเรียนบ้านห้วยหาน

วันนี้ 23 มกราคม 2567 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อมด้วย หน่วยงานกระทรวงแรงงานจังหวัดเชียงราย และผู้บริหารกลุ่มไทยสมายล์ กรุ๊ป ลงพื้นที่มอบเครื่องอุปโภคบริโภค ให้กับโรงเรียนบ้านห้วยหาน ณ บ้านห้วยหาน หมู่ที่ 9 ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย โดยมีนายสิทธิพงษ์ รัตนเดชาสกุล รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยหาน เป็นผู้รับมอบ

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า ในวันนี้ดิฉันในนามมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ได้ร่วมมือกับ คุณกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานบริหารกลุ่มไทยสมายล์ กรุ๊ป นำเครื่องอุปโภคบริโภค อาทิ เครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้า ผ้าห่ม มามอบให้กับน้องๆ นักเรียนที่โรงเรียนบ้านห้วยหานแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเชียงราย และสำนักอุทยานภูชี้ฟ้า นำกิจกรรมต่างๆ มาให้บริการ

ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสนนำกิจกรรมสาธิตทำขนมและประชาสัมพันธ์โครงการให้เด็กนักเรียน ม.3 ที่จบใหม่มาฝึกอาชีพตามโครงการตรวจการแผ่นดิน สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงราย ออกบูธประชาสัมพันธ์โครงการ 3 ม. มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และความมั่นคงในชีวิต ได้ศึกษาต่อในสาขาวิชาที่ต้องการ เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น โดยได้ทำงานในสถานประกอบการ ได้รับค่าจ้าง และสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย

สำหรับโรงเรียนบ้านห้วยหาน ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวนประมาณ 400 คน การที่มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ได้นำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคมามอบให้กับโรงเรียนในครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิในด้านการสร้างสาธารณประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และที่สำคัญจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเขาเหล่านี้จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

ช่างเชื่อมไทยฮอต!! ตลาดอุตสาหกรรมต่างประเทศ ทุ่มค่าจ้าง มีความต้องการสูง รมว.แรงงาน พิพัฒน์ มอบใบการันตีช่างฝีมือ ป้อนส่งโกอินเตอร์

วันที่ 30 มกราคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่แรงงานไทยที่ผ่านการฝึกอบรมและทดสอบฝีมือเพื่อคนหางาน พร้อมเยี่ยมชมการฝึกอบรมสาขาช่างเชื่อม ฟลักซ์คอร์ 3 จี ก่อนไปทำงานในอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ ประเทศเกาหลีใต้ โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในพิธี นายคมสันต์ ญาณวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นางสาวอรัญญา สกุลโกศล ประธานสมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทยนายบรรจง ฉุดพิมาย ที่ปรึกษาสมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทย นายสมชาติ นาคบรรจง ผู้บริหารสถานทดสอบฝีมือแรงงานเคทีซี ลำลูกกาคลอง 4 ผู้ประกอบการภาคเอกชน และหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดปทุมธานี ร่วมให้การต้อนรับ ณ สถานทดสอบฝีมือแรงงาน เคทีซี ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกำ จังหวัดปทุมธานี

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศนั้น ทักษะภาษาอังกฤษนับเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะต้องใช้ในการสื่อสารให้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง รวมถึงต้องใช้ติดต่อสื่อสารในการดำรงชีวิตประจำวัน  ดังนั้น ผู้ที่ผ่านการทดสอบทักษะฝีมือเพื่อไปทำงานต่างประเทศต้องได้รับการฝึกทักษะด้านภาษาควบคู่กันไปด้วย  ต้องขอชื่นชมผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม ซึ่งได้ทราบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 120 คน เป็นผู้ที่ผ่านการทดสอบทักษะฝีมือเพื่อไปทำงานต่างประเทศ ด้านงานเชื่อม รวมถึงผ่านการอบรมในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ ผ่านการฝึกอบรมความรู้สัญญาณเครน (Rigger) การฝึกอบรมการขับรถบูมลิฟท์ เอ็กลิฟท์ การติดตั้งนั่งร้านแบบริงล็อค การเคลื่อนย้ายสิ่งของในที่สูง และความปลอดภัยในที่ทำงาน ทำให้เชื่อมั่นว่าผู้ที่ผ่านฝึกอบรมในครั้งนี้มีความรู้ ทักษะ และสามารถไปทำงานในต่างประเทศในฐานะแรงงานฝีมือ มีรายได้เลี้ยงตัวเองและส่งกลับมายังครอบครัว เพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า สถานทดสอบฝีมือแรงงาน เคทีซี ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกำ จังหวัดปทุมธานี  เป็นสถานทดสอบฝีมือคนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ ที่ได้รับอนุญาตให้เป็นสถานทดสอบฝีมือจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีหน่วยงานในพื้นที่เป็นผู้อนุญาตคือ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี ซึ่งสถานทดสอบฝีมือ เคทีซี ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการทดสอบฝีมือคนหางาน ใน 4 สาขา ได้แก่ 1. สาขาช่างเชื่อม มีทั้ง ช่างเชื่อมไฟฟ้า ช่างเชื่อมประกอบโครงสร้าง ช่างประกอบท่อ ช่างเชื่อมเอ็กซเรย์ ช่างเชื่อมก๊าซ ช่างตัดโลหะ ช่างทำท่อส่งลมและโลหะแผ่นบาง และช่างหุ้มฉนวน 2. สาขาช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย ช่างไฟฟ้าอาคาร ช่างไฟฟ้าโรงงานหรือช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม และช่างทำความเย็นและปรับอากาศ 3. สาขาช่างยนต์ ประกอบด้วย ช่างเครื่องยนต์เบนซิน ช่างสีรถยนต์ พนักงานขับรถยนต์ และพนักงานควบคุมเครื่องจักรกลหนัก 4. สาขาช่างก่อสร้าง ประกอบด้วย ช่างเหล็กเสริมคอนกรีต ช่างไม้แบบ ช่างประปา (สุขภัณฑ์/เดินท่อ/ประกอบท่อ) ช่างปูกระเบื้อง ช่างฉาบปูน ช่างก่ออิฐ ช่างสีอาคาร ช่างประกอบนั่งร้าน และพนักงานให้สัญญาณเครน ซึ่งการทดสอบฝีมือดังกล่าวจะทำตามแบบที่นายจ้างกำหนด     

“ขอขอบคุณสมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทย และคณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมด้านศักยภาพของแรงานไทยเพื่อไปทำงานในต่างประเทศและผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้แรงงานไทยได้มีโอกาสไปทำงานในต่างประเทศ ช่วยให้มีงานทำ และมีรายได้กลับเข้าประเทศไทยด้วย” รมว.พิพัฒน์ กล่าว
    
ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ร่วมกับสมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทย จัดตั้งสถานทดสอบฝีมือแรงงาน เคทีซี ซึ่งที่นี้เป็นทั้งศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงานอีกด้วย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการพัฒนาศักยภาพของแรงงานก่อนจัดแรงงานไทยออกไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันสาขาช่างเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ซึ่งยังต้องการแรงงานรุ่นใหม่เป็นจำนวนมากกระทรวงแรงงานจึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการให้แรงงานเหล่านี้ได้มา Up skill ให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง เพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น โดยเฉพาะ เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศ ค่าจ้างเริ่มต้น 50,000 บาท ไปจนถึงหลักแสนบาทต่อเดือน

นางสาวอรัญญา สกุลโกศล ประธานสมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทย กล่าวขอขอบคุณนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารที่ได้มาเยี่ยมชมศูนย์ทดสอบอบรมฝีมือ เคทีซี ลำลูกกา ซึ่งจะได้เห็นว่าภาคเอกชนมีการเตรียมความพร้อมแรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศในระดับสูง เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก โดยแรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีฝีมือ พร้อมที่จะไปทำงานต่างประเทศ โดยขอให้กระทรวงแรงงาน และทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือสนับสนุนภาคเอกชน ในนามสมาคมยินดีจะทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน และรัฐบาล เพื่อจะไปเปิดตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศทั่วโลก โดยปัจจุบันมีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศกว่าแสนคน และส่งเงินกลับมาในประเทศไทยกว่า 200,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้สนใจเข้าฝึกอบรมหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือสามารถติดต่อที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือติดตามข่าวสารการฝึกอบรมหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานได้ที่ www.dsd.go.th เลือก สมัครฝึกอบรม หรือสมัครทดสอบมาตรฐานฝีมือ ทั้งนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

รมว.'พิพัฒน์' ดูแลแรงงานอิสระ รับจ้าง เกษตรกร กว่า 1.8 แสนคน จ.พัทลุง สร้างหลักประกัน ม.40 ประกันสังคม เจ็บป่วยนอนพัก ได้เงินทดแทนขาดรายได้

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการประกันสังคมทั่วไทย สู่แรงงานภาคอิสระ รุ่นที่ 1 โดยมี นางนิศากร วิศิษฎ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงแรงงานจังหวัดพัทุลง ผู้ประกันตน เครือข่าย ผู้เข้าร่วมโครงการฯ พร้อมประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมร้อยทองรีสอร์ท จังหวัดพัทลุง 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ เพราะแรงงานถือเป็นฟันเฟืองที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของชาติ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบหรือนอกระบบควรได้รับการคุ้มครอง และมีหลักประกันในการดำรงชีวิตที่ดี อีกทั้งมีความพร้อมในการประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาประเทศ ตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน “การสร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการคุ้มครองแรงงาน” โดยในวันนี้ ผมได้รับเกียรติเป็นประธานเปิดโครงการประกันสังคมทั่วไทย สู่แรงงานภาคอิสระ รุ่นที่ 1 ที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งพัทลุงถือเป็นเมืองที่มีธรรมชาติที่สวยงาม มีความสำคัญด้านศิลปะ วัฒนธรรม เป็นต้น    

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า พัทลุงยังเป็นถิ่นกำเนิดของศิลปะการแสดงที่ขึ้นชื่ออย่างมโนราห์ และหนังตะลุงซึ่งตกทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของภาคใต้ อีกทั้ง พัทลุงมีผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวนทั้งสิ้น 53,566 คน ที่ประกอบด้วย ผู้ประกอบอาชีพอิสระกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มผู้รับจ้างทั่วไป กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแปรรูปอาหาร ที่ยังขาดการคุ้มครองตามหลักประกันสังคมมาตรา 40 อีกเป็นจำนวนมาก และเป็นจังหวัดที่มีผู้ประกันตนส่งเงินสมทบต่อเนื่องมากเป็นลำดับที่ 1 ของภาคใต้ และเป็นลำดับที่ 6 ของประเทศ ทั้งนี้ โครงการประกันสังคมทั่วไทย สู่แรงงานภาคอิสระ จัดขึ้นเพื่อเป็นการรณรงค์เชิญชวนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ให้เข้าถึงหลักประกัน โดยประกันสังคมมาตรา 40 ได้ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกันตนทั้งสิ้น 5 กรณี ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองกรณีเงินทดแทนการขาดรายได้จากการเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร ในปัจจุบันทั่วประเทศมีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จำนวน 10,958,136 คน ตัวแทนเครือข่ายประกันสังคม จำนวน 24,645 คน เครือข่าย “บวร” กลุ่มสมาชิกบ้าน วัด โรงเรียน และโรงงาน จำนวน 265,214 คน   

ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การจัดโครงการประกันสังคมทั่วไทย สู่แรงงานภาคอิสระ รุ่นที่ 1 ประจำปี 2567 ณ จังหวัดพัทลุง เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นต่อเนื่องจากปี 2566 โดยโครงการทั้ง 6 รุ่นในปีที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนผู้ประกอบอาชีพอิสระในพื้นที่ต่างๆ เป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบัน พี่น้องกลุ่มแรงงานนอกระบบให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิต รวมถึงมีความต้องการสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ในการนี้ ขอให้ทุกท่านมั่นใจได้ว่า สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ

รมว.พิพัฒน์ ลุยเพิ่มการจ้างงาน วัยเรียน แรงงานอิสระ กระตุ้นเศรษฐกิจ พัทลุง ผู้สนใจกว่า 3 หมื่นคน ในงาน 'สร้างงาน เส้นทางสู่อาชีพ@พัทลุง'

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสร้างงาน และเส้นทางสู่อาชีพ ณ จังหวัดพัทลุง โดยมี นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน  นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในพิธี นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวรายงาน นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นางกัญจนา สุขมาก นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน จัดหางานจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดพัทลุง ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมร้อยทองรีสอร์ท อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จังหวัดพัทลุงเป็นเมืองรองที่มีศักยภาพโดดเด่นด้วยความเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อภาคใต้ตอนบนและภาคใต้ตอนล่าง เป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านไปยังจังหวัดต่างๆ และพร้อมก้าวสู่การเป็นเมืองแห่งความยั่งยืน ด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานจึงจัดงาน “สร้างงานและเส้นทางสู่อาชีพ จังหวัดพัทลุง” ขึ้นที่นี่ เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานภายในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อรองรับความเจริญเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทุกภาคส่วนของจังหวัด ด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้คนหางาน และสถานประกอบการที่มีตำแหน่งงานว่าง มีโอกาสมาพบกัน เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐ เข้าถึงข้อมูลอาชีพ - การศึกษา รู้สภาวะและแนวโน้มตลาดแรงงาน เปิดโลกทัศน์ สร้างสรรค์และจุดประกายไอเดียการประกอบอาชีพและเห็นทิศทางของอาชีพยุคใหม่ ตลอดจนรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อสามารถพัฒนาทักษะและปรับตัวเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างเหมาะสม บรรลุเป้าหมายการจ้างงาน 1 ล้านอัตรา ภายในปี 2567 

ด้าน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การรับสมัครและสัมภาษณ์งานโดยตรงกับนายจ้าง สถานประกอบการในจังหวัดพัทลุง และจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 33 แห่ง มีตำแหน่งงานว่าง 681 อัตรา อาทิ พนักงานขายสินค้า พนักงานบริการลูกค้า พนักงานธุรการ ช่างเทคนิค ฯลฯ การรับสมัครงานกลุ่มคนพิเศษ ค้นหาตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศจากรถบริการจัดหางานเคลื่อนที่ Mobile Unit การสาธิตอาชีพและฝึกปฏิบัติอาชีพอิสระ 6 อาชีพ ได้แก่ บาริสต้า การทำขนมชั้น การทำเบเกอรี่ การทำแกงไตปลาแห้ง การพิมพ์ลายผ้าจากใบไม้ การติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ นิทรรศการแนะแนวการศึกษาต่อสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ใกล้เรียนจบ บริการแนะแนวอาชีพ การทดสอบความพร้อมทางอาชีพและทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อการสมัครงาน นิทรรศการโลกของอาชีพและการเรียนรู้เสมือนจริง การให้คำปรึกษาแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ การให้คำปรึกษาและรับลงทะเบียนผู้สนใจไปทำงานต่างประเทศ และการให้บริการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าของผู้รับงานไปทำที่บ้าน และผลิตภัณฑ์ของผู้พิการ รวมทั้งหาไอเดียการทำธุรกิจ Food Truck & Franchise น่าลงทุน โดยมีผู้ให้ความสนใจการจัดงานครั้งนี้ จำนวน 32,586 คน 

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ขอเชิญชวนคนหางาน นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่สนใจหางาน ต้องการพัฒนาทักษะฝีมือ และหาไอเดียในการประกอบอาชีพเสริม มาพบกันในงาน "สร้างงาน และเส้นทางสู่อาชีพ @พัทลุง” ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. หรือหากไม่สามารถมาร่วมงานในวันนี้ได้ ยังสามารถเข้าร่วมงาน ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 1-2 มีนาคม 2567 โดยลงทะเบียนสมัครงานเพื่อความสะดวกได้ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน e-Service.doe.go.th “ไทยมีงานทำ” หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดพัทลุง โทร 0 7461 4141 ต่อ 18

มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ จับมือ หน่วยงานกระทรวงแรงงาน จ.นครนายก และกลุ่มไทยสมายล์ ลงพื้นที่ เติมกำลังใจ มอบรถเข็นวีลแชร์และอุปกรณ์ให้ผู้พิการและผู้ยากไร้

วันที่ 7 มีนาคม 2567 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อมด้วยหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน จ.นครนายก พร้อมทีมงานมวลชนสัมพันธ์ (CSR) กลุ่มไทยสมายล์ และ รายการร้องทุกข์ลงป้ายนี้ สถานีข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่มอบรถเข็นวีลแชร์ และอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ จำนวน 2 ราย ในพื้นที่ ต.พรหมณี อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า ในวันนี้ดิฉันในนามประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน จ.นครนายก  ทีมงานมวลชนสัมพันธ์ (CSR) กลุ่มไทยสมายล์ และ รายการร้องทุกข์ลงป้ายนี้ สถานีข่าวไทยพีบีเอส นำอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้พิการและผู้ยากไร้ ประกอบไปด้วย รถเข็นวีลแชร์ 2คันซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กลุ่มไทยสมายล์ (รถและเรือโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า) มามอบให้กับ ผู้สูงอายุและผู้พิการ ตามที่ได้รับการประสานจาก นางสาวทิพวรรณ ธงศรี จัดหางานจังหวัดนครนายก จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายสน ฉิมพลี (อายุ 80 ปี) อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 110 หมู่ที่ 17 และ น.ส.ชัยชนะ บุญมาถึง (อายุ 78 ปี) อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 63/2 หมู่ที่ 15 ซึ่งทั้งสองราย เป็นกลุ่มเปราะบาง มีฐานะยากจน และประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม การที่มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ได้นำอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ยากไร้ มามอบในครั้งนี้ 

เพื่อต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน เติมขวัญและกำลังใจ ให้แก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิในด้านการสร้างสาธารณประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และที่สำคัญจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ซึ่งมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ต้องการอุปกรณ์ช่วยเหลือดังกล่าวมากกว่าบุคคลทั่วไป ทำให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันจัดหาอุปกรณ์และสิ่งอำนวย
ความสะดวกเป็นลำดับแรก

มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ จับมือ หน่วยงานกระทรวงแรงงาน จ.เชียงใหม่ ลงพื้นที่ ส่งน้ำใจ มอบรถเข็นวีลแชร์และอุปกรณ์ให้ผู้พิการและผู้ยากไร้

วันที่ 18 มีนาคม 2567 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อม จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ และประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงรายการร้องทุกข์ลงป้ายนี้ สถานีข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่มอบรถเข็นวีลแชร์ และอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ จำนวน 2 ราย ในพื้นที่ อ.เมือง และ พื้นที่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ 

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า ในวันนี้ดิฉันในนามประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ได้ร่วมมือกับ จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ประกันสังคม จ.เชียงใหม่ และรายการร้องทุกข์ลงป้ายนี้ สถานีข่าวไทยพีบีเอส นำอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้พิการและผู้ยากไร้ ประกอบไปด้วย รถเข็นวีลแชร์ 2 คัน วอร์คเกอร์ช่วยเดิน 2 ชิ้น และ ไม้เท้าสามขา ช่วยพยุง 2 ชิ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก กลุ่มไทยสมายล์ (รถและเรือโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า) มามอบให้กับ ผู้สูงอายุและผู้พิการ ตามที่ได้รับการประสานจาก นายเอกลักษณ์  อุ่นภักดิ์ จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่และ นางกำไร บุ้งเงิน ประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายประพันธ์ กล้วยหอม อายุ 48 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่  27 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ นางจันทร์ ปันอ้าย อายุ 85 ปี บ้านเลขที่ 39 หมู่ 11 ตำบลทุ่งต้อม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ 50120 

ซึ่งทั้งสองราย เป็นกลุ่มเปราะบาง มีฐานะยากจน และประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม การที่มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ได้นำอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ยากไร้ มามอบในครั้งนี้ เพื่อต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน เติมขวัญและกำลังใจ ให้แก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิในด้านการสร้างสาธารณประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และที่สำคัญจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ซึ่งมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ต้องการอุปกรณ์ช่วยเหลือดังกล่าวมากกว่าบุคคลทั่วไป ทำให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันจัดหาอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นลำดับแรก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top