Monday, 20 May 2024
WorldWhy

การคมนาคมในสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) : ใช้ชีวิตด้วยการเดินทาง ที่มีเวลาและระเบียบเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้...ชื่นชอบสวิตเซอร์แลนด์

ถ้าพูดถึงเรื่องการเดินทางในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็น่าจะเป็นรถยนต์ส่วนตัว และรถสาธารณะหรือรถประจำทางที่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุด ส่วนทางน้ำคือการใช้เรือและเรือข้ามฟากก็พอมีบ้าง แต่อาจเทียบเป็นเปอร์เซนต์แล้วได้ค่อนข้างน้อย จักรยาน หรือ ebike ก็เช่นกัน รถยนต์น่าจะมีเปอร์เซนต์สูงที่สุดแล้ว

สวิสเป็นประเทศที่ค่อนข้างเล็กจากเหนือจรดใต้ห่างกันเพียง 220 กิโลเมตร และจากตะวันออกถึงตะวันตก 348 กิโลเมตร เท่านั้น และมีประชากรเพียง 8.723.277 ล้านคน ในปี 2020 วันนี้เลยอยากเล่าไปถึงเมื่อสมัย 20 ปีที่แล้ว ตอนที่ผู้เขียนพึ่งมาอยู่สวิสใหม่ ๆ มีรถยนต์บนท้องถนนไม่มากเท่ากับทุกวันนี้ เทียบปี 2000 กับ 2020 มีรถยนต์เพิ่มขึ้นประมาณ 31 % เลยนะ แถมโมเดลของรถก็ค่อนข้างเปลี่ยนไป สมัยก่อนเราจะเห็นแต่รถคันเล็ก ๆ เป็นรถเพื่อการใช้งานโดยเฉพาะ แต่เดี๋ยวนี้เราจะเห็นรถคันใหญ่ ๆ แบบในอเมริกาเยอะขึ้น บริบทของสังคมเริ่มเปลี่ยนไป รถยนต์ไม่ใช่เพื่อการใช้งานเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการบอกสถานะทางสังคมไปด้วย ซึ่งแน่นอนไม่ใช่ทั้งหมดเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น คนสวิสนิยมซื้อรถมือสองมากกว่าผ่อนไฟแนนซ์ อย่างที่บอกคือเพื่อใช้งานอ่ะเนอะ รถใหม่ก็อาจเป็นพวกคนชอบเล่นรถจริง ๆ หรือแบบคนฐานะดีมาก ๆ แต่คนประเภทนี้ก็จะเปลี่ยนบ่อย ๆ ไม่รอให้ราคาตกมากก็ไปเทิร์นคันใหม่ ประหนึ่งว่าผ่อนไม่เคยหมดคัน

ด้านรถโดยสารก็จะมีรถไฟ และรถบัส การรถไฟของสวิสมีบริการรถไฟโดยสาร 5,000 ขบวนโดยประมาณ ซึ่งครอบคลุมระยะทาง 274,000 กิโลเมตรต่อวันเชียวนะ ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่เดินทางโดยรถบัสและรถไฟไปทำงานในเมืองซูริคทุกวัน จากประตูบ้านถึงหน้าออฟฟิศใช้เวลา 1 ชั่วโมงพอดิบพอดี อาจแลดูเหมือนนานแต่จริง ๆ ไม่นานเลยนะ จากบ้านขึ้นรถบัสเพื่อไปสถานีรถไฟ มีเวลาเปลี่ยนรถ 5 นาที ขึ้นรถไฟไปลงสถานีหลักที่ซูริค จากนั้นต่อรถไฟอีกขบวนไปที่ทำงาน บนรถไฟภาพที่เห็นจนชินตาคือจะเห็นคนนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ฟรีที่แจกตามสถานีรถไฟนั่นแหล่ะ บางคนก็ใส่หูฟัง ฟังเพลง บางคนเอาโน๊ตบุ้คขึ้นมานั่งทำงาน บรรยากาศจะเงียบสงบมาก แต่พอถึงเวลาลงเมื่อไหร่ละก็ เดินแทบจะชนกันเลยล่ะ

ในซูริค ช่วงเร่งด่วนคือเช้ากับเย็น ผู้คนจะเดินกันขวักไขว่และเดินค่อนข้างเร็วไม่เหมือนบ้านเรา ที่รู้เพราะเวลาครอบครัวมาเยี่ยม หรือเพื่อน ๆ มาหาจากเมืองไทยจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำไมเดินเร็วจัง จริง ๆคือไม่เคยสังเกตตัวเองเลย

บางขบวนรถไฟก็จะมีโบกี้เด็กด้วยนะ มีซไลเดอร์ของเล่นสำหรับเด็ก ทำให้การเดินทางไม่น่าเบื่อสำหรับผู้โดยสารตัวน้อย การเดินทางที่สวิสตรงต่อเวลามาก สามารถกะเวลาได้แบบเป๊ะ ๆ เลย ปี ๆ นึงจะมีการล่าช้าอยู่ไม่กี่ครั้งหรอก ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหนก็จะมีรถประจำทางเสมอทำให้เราเดินทางไปไหนมาไหนค่อนข้างสะดวก

จริง ๆ ผู้เขียนก็ขับรถเป็นมีใบขับขี่แต่แทบจะไม่ได้แตะรถเลย เพราะรถโดยสารมันสะดวกมาก ถ้าเทียบเรื่องค่าใช้จ่ายก็น่าจะไม่ได้แตกต่างกันมาก เพราะรถส่วนตัวจะมีค่าภาษีรถ ภาษีถนน และอื่น ๆ อีก การขับรถบนไฮเวย์ก็จะเสียค่าสติ๊กเกอร์แปะรถต่อปีคือ 40 สวิสฟรังค์เท่านั้น ซึ่งถูกมากถ้าเทียบกับประเทศใกล้เคียง

ผู้คนค่อนข้างรักษากฎจราจรเคร่งครัดเพราะปรับจริงยึดใบขับขี่จริง จะเห็นก็มีแต่จักรยานที่ไม่ค่อยรักษากฎเท่าไหร่ โดยเฉพาะในเมือง เช่นในซูริค จักรยานจะขี่แบบเย้ยฟ้าท้าดินมาก ผ่าไฟแดงบ้างอะไรบ้างเป็นเรื่องที่เห็นกันชินตา และถ้าจะไม่พูดถึง ebike นี่ไม่ได้เลยนะ ช่วงหลายปีมานี้คือมาแรงมาก เป็นจักรยานที่มีแบตเตอรี่ การปั่นอีไบค์ ก็เหมือนการปั่นจักรยานทั่วไปนั่นแหละ เป็นเครื่องทุ่นแรงเพราะสภาพภูมิประเทศของสวิสที่มีภูเขาน้อยใหญ่ บางครั้งขี่ขึ้นเนินมันก็ง่ายขึ้นอ่ะเนอะถ้ามีมอเตอร์ส่งแรงได้ แถมบางทีเร็วมากด้วยนะ ซึ่งคนสวิสชอบขี่จักยาน ไม่ว่าจะเป็น ebike mountainbike (จักรยานเสือภูเขา), Rennrad (จักรยานเสือหมอบ)

อีกหนึ่งการเดินทางที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้คือทางเรือ เนื่องจากสวิสมีทะเลสาบเยอะ และหน้าร้อนผู้คนก็ชอบที่จะนั่งเรือเล่น อย่างเช่นตัวผู้เขียนเองจะชอบนั่งเรือเล่นจากสถานที่หนึ่งไปสถานที่หนึ่ง และนั่งรถไฟกลับ หรือกลับกัน อาจนั่งรถไฟไปและนั่งเรือกลับ ซึ่งวิวที่นี่มันว๊าวมากขอบอก !! การได้เดินทางและชมบรรยากาศมันเป็นการพักผ่อนอีกรูปแบบหนึ่งของคนสวิสเลยทีเดียว บนเรือก็คล้าย ๆ กับรถไฟ มีชั้นหนึ่งกับชั้นสอง ถ้าเราซื้อตั๋วชั้นสองแต่ไปนั่งชั้นหนึ่งก็มีสิทธิ์ที่จะโดนค่าปรับที่แสนจะแพงด้วยนะเออ เพราะฉะนั้นสังเกตหมายเลขไว้ให้ดี ส่วนเรือข้ามฟากก็มีได้เลือกใช้ แต่รู้สึกว่าไม่ได้เยอะมาก และเรือก็เป็นเรือเล็ก ๆ ที่จุรถได้ไม่เยอะมาก ทุกอย่างเป็นเวลาและเป็นระเบียบ และนี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบในสวิตเซอร์แลนด์

ส่องฟาร์ม​ 'แอปเปิ้ล'​ ในแดนสวิสฯ 'ฟาร์มอดิเรก'​ สุดเก๋ !! ของคนอยากเติมพลังใจ ไม่ใช่แค่นำไปขายเอารวย

ตอนนี้ที่สวิส คือฤดูใบไม้ผลิ ถ้าพูดถึงความสวยงามของดอกไม้ที่กำลังผลิบานก็ต้องบอกว่าดอกของต้นแอปเปิ้ล มีความสวยงาม น่ารัก เปรียบดังสาวแรกรุ่นไม่แพ้ดอกไม้อื่น ๆ เลยทีเดียว ที่บอกแบบนั้นเพราะดอกของแอปเปิ้ลจะเป็นสีขาวแต่มีสีชมพูแซม เห็นไหมล่ะว่ามีความเป็นสาวน้อยแรกรุ่นยังไง 

ที่ฟาร์มนอกจากต้นไม้ต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว เราก้อจะซื้อมาปลูกเพิ่มอยู่เรื่อย ๆ เราจะมีที่ ที่เราไปซื้อประจำไม่ไกลจากบ้านมากเท่าไหร่ วิธีการที่เค้าปลูกน่ะเหรอ เป็นการเอาเมล็ดของต้นแอปเปิ้ลป่ามาเพาะ ที่ทำแบบนี้เพราะต้นแอปเปิ้ลป่าหรือที่มันขึ้นมาตามธรรมชาตินั้น ต้นมันจะมีความแข็งแรง แข็งแกร่ง และทนทาน พอต้นที่เพาะโตได้สักประมาณ 1 ปี เราก็จะเอามาตอนกิ่งกับพันธุ์ที่เราต้องการอยากจะได้ แต่วิธีนี้เป็นวิธีการดั้งเดิมสำหรับไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ คือต้นไม้สูง ซึ่งต้นนึงเนี่ยสูงหลายเมตรเลยทีเดียว ถ้าเป็นวิธีแบบนี้ทางฟาร์มเราเอาแต่พันธุ์เก่าแก่มาปลูกซึ่งโดยปกติแล้วอายุ 5-10 ปีกว่าจะให้ผล ซึ่งถ้าเป็นแบบที่ว่าคือจะมีอายุได้ยาวนานถึง 200 ปีเลยทีเดียว

ที่ฟาร์มของวี่มีอาณาเขต 44 ไร่เศษ มีต้นไม้ทั้งหมดประมาณ 80 กว่าต้น เฉพาะแอปเปิ้ลอย่างเดียว 28 ต้น มี 27 สายพันธุ์ เพราะบางต้นมีถึง 6 สายพันธุ์เลยนะ มีอยู่ต้นนึงที่วี่รักมาก แต่เมื่อสิงหาคมปี 2013 ที่ผ่านมามีพายุหนัก ต้นนี้เป็นหนึ่งในหลายต้นที่โค่นลงมา ณ ตอนนั้นมีอายุ 140 ปี สาเหตุที่รักต้นนี้เป็นพิเศษคือ ต้นและกิ่งเขาสวยมาก แถมต้นนี้ต้นเดียวให้ผลแอปเปิ้ลมากถึง 1,000 กิโลกรัมเลยทีเดียว ใช่ฮะ ไม่ต้องตกใจ ช่วงที่ผลเริ่มออกเราต้องหาไม้มาค้ำยันกิ่งไว้ไม่ให้กิ่งหักเพราะรับน้ำหนักที่มากเกินไป พูดถึงทีไรก็สุขใจปนเศร้าใจไปซะทุกที...

ต้นแอปเปิ้ลที่เก่าแก่ที่สุดในฟาร์มวี่ มีอายุถึง 150 ปี มากกว่าพวกเราอีกเนาะ ส่วนต้นที่สูงที่สุดอยู่ที่ 15 เมตร แอปเปิ้ลที่ฟาร์ม ไม่เหมาะสำหรับการนำมาขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านทั่วไปเพื่อบริโภค แต่เพื่อทำอาหาร ทำน้ำผลไม้และเพื่อทำเหล้าโดยเฉพาะ วี่ชอบเอามาอบเค้กแอปเปิ้ล เรามีหลากหลายสายพันธุ์มาก ๆ แต่อย่างที่ย้ำ ๆ คือเรามีแต่พันธุ์เก่าแก่

ทั้งนั้น  เราจะเริ่มทำการเก็บแอปเปิ้ลช่วงกลางกันยายนถึงประมาณกลางตุลาคม ณ ตอนนี้ปี ๆ หนึ่งจะได้ประมาณ 2,000 กิโลกรัม นี่เฉพาะแอปเปิ้ลอย่างเดียวนะ สมัยก่อนเมื่อเก็บได้เราจะเอาไปส่งผู้ผลิตรายใหญ่ ในราคาต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก ๆ พูดไปจะต้องตะลึงแน่นอน คือต่อ 100 กิโลกรัม เพียงแค่ 11 สวิสฟรังค์เท่านั้น มีอยู่ปีหนึ่งที่เขาจะให้ราคาเรา 8 ฟรังค์ พอกันทีอ่ะเนอะ ตั้งแต่นั้นมาเราส่งเฉพาะคนที่ต้องการแอปเปิ้ลพันธุ์เก่าแก่นี่ละ ในราคาประมาณ 20-23 ฟรังค์ บางทีเขามารับ บางทีเราไปส่ง 

เขาบอกว่าแอปเปิ้ลเราดี และทำน้ำอร่อย ส่วนวิธีการเก็บเกี่ยวก็คือชาวนาอินดี้ (สามีวี่เอง) จะปีนขึ้นไปตามกิ่งต่าง ๆ และขย่ม ๆ ๆ ๆ จนลูกแอ๊ปเปิ้ลร่วงพลุ่บ ๆ ๆ ๆ เต็มพื้นไปหมด เสร็จแล้วก็ทำการเก็บ และเก็บอย่างเดียวเท่านั้น 

ลูกที่ไม่สวยมาก ๆ เกินจะรับไหวเราก็ไม่ได้ทิ้งนะ เอามาใส่เครื่องปั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้แพะของเรากิน ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบมาก

เรื่องการดูแล เราดูแลแบบจะเรียกว่าออร์แกนิคก็ได้ เพราะไม่ใช้สารเคมีใด ๆ เลยกับต้นไม้ทุกต้นในฟาร์ม เราจะตัดแต่งกิ่งทุกปีช่วงต้นธันวาคมเป็นต้นไปจนถึงปลายมีนาคม เพราะพอหลังจากนี้จะเริ่มออกดอก เพื่อให้กิ่งมีความแข็งแรงและให้ใบที่จะผลิได้รับแสงแดดที่ทั่วถึง อ้อ...สิ่งที่สำคัญและจะขาดไปไม่ได้เลยคือการจับหนู ใช่ ที่สวิสก็มีหนูนาด้วยนะเออ เราจะมีกับดักหนูแล้วเอาเหล็กด้ามแหลม ๆ ทิ่มลงไปในดินถ้ามีหนูมันจะเป็นโพรง วี่ชอบบอกว่าหนูมันสร้างถนนเหมือนกับคนนั่นแหละเพื่อไปโน่นนี่ เสร็จแล้วเราก็ขุดหลุมแล้วเอากับดักใส่ลงไป เอาไม้ปักไว้เพื่อให้เราสามารถเห็นได้ง่ายเพราะบางทีหญ้าสูงแล้วหากับดักไม่เจอ เมื่อรูนี้เคยดักหนูได้แล้วเราจะเอาไม้หนีบ หนีบไม้ไว้เพื่อให้รู้ บางครั้งรูนึงดักหนูได้ตั้งหลายตัว (แต่ครั้งละตัวเดียวเท่านั้นนะ) กับดักหนูเรามีประมาณ 30 อันเลยทีเดียว มันไม่ใช่สิ่งที่อยากทำนะ แต่ต้องทำ ถ้าไม่ทำหนูจะกินรากไม้ ไม่นานเดี๋ยวต้นไม้จะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ จนตายไป 

ฟาร์มของเราเป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้น เพราะทุกคนในครอบครัวมีงานประจำทำ แต่เพราะโตมากับฟาร์มชาวนาอินดี้จึงอยากอนุรักษ์ รักษาไว้ให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุดโดยใช้วิธีที่ยังค่อนข้างเป็นธรรมชาติเหมือนเมื่อสมัยห้าสิบปีที่แล้ว ใช้อุปกรณ์และเครื่องต่างๆที่ทันสมัยน้อย ใช้แรงกำลังซะเป็นส่วนใหญ่ วี่มีความสุขเพียงแค่ไปนั่งมองต้นไม้ฟังเสียงนกร้องดูแพะเล็มหญ้า มันเหมือนได้ชาร์จพลังชีวิต ธรรมชาติบำบัดมันเป็นแบบนี้นี่เองเนอะ

เป็นภัยต่อเพื่อนร่วมชาติ!! ‘บรูไน’ ตัดสินโทษ ชายวัย 44 จำคุก 3 ปี 9 เดือน ฐานทำตัวกร่าง-คุกคามเจ้าหน้าที่

นาย ‘Azlan bin Awang Damit’ ชายอายุ 44 ปี ถูกศาลบรูไนพิพากษาจำคุก 3 ปี 9 เดือนแล้ว เมื่อวันเสาร์ ที่ 24 เมษายน พ.ศ.2564 ด้วยการกระทำความผิด 3 ข้อหา คือ ไม่ให้ความร่วมมือ , ข่มขู่หมอ/พยาบาล และทำชีวิตเพื่อนร่วมชาติให้ตกอยู่ในความเสี่ยงในช่วงวิกฤตโรคระบาดเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ขณะได้เข้ารับการทดสอบ หรือตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วทราบผลออกมาเป็นบวก หรือทราบว่าตนติดเชื้อโควิด จากนั้น นาย ‘Azlan bin Awang Damit’ ได้กระทำการดังนี้

ข้อหาที่ 1 ตามมาตรา 506 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหมวด 22 สำหรับการข่มขู่ทางอาญามาตรา 
จากเหตุการณ์ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ปีที่ผ่านมา นาย ‘Azlan bin Awang Damit’ หรือจำเลย กระทำการขู่ว่าจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ดูแลที่ศูนย์สงเคราะห์บ้านสวัสดิการ 

ข้อหาที่ 2 ตามมาตรา 269 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหมวด 22 สำหรับการกระทำโดยประมาทซึ่งมีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อของโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
จากเหตุการณ์ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2563 นาย ‘Azlan bin Awang Damit’ หรือจำเลย ไอใส่บุคลากรทางการแพทย์ โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย เพราะรู้ว่าตนเองได้รับการตรวจแล้วทราบว่าตนเองได้รับเชื้อโควิด-19 เป็นการกระทำโดยประมาท และกระทำการโดยรู้ว่าเขาอาจแพร่เชื้อของโรคที่เป็นอันตรายไปยังคนรอบข้างให้เกิดอันตรายได้

ข้อหาที่ 3 ตามมาตรา 352 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหมวด 22 สำหรับการทำร้าย และใช้อาวุธ
นาย ‘Azlan bin Awang Damit’ หรือจำเลย ได้กระทำการขมขู่ และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ขณะที่มีมีดพกด้วย

หลังจากที่ศาล และรักษาการผู้พิพากษาอาวุโส ‘Hajah Ervy Sufitriana binti Haji Abdul Rahman’ ไม่เห็นความสำนึกผิดใด ๆ และนาย ‘Azlan bin Awang Damit’ ก็ยังยืนยันว่าการกระทำของเขาไม่ได้ทำให้ใครได้รับเชื้อจากเขา การปฏิเสธนี้ไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในขณะนี้ นาย ‘Azlan bin Awang Damit’ ถูกศาลบรูไนพิพากษาจำคุก 3 ปี 9 เดือน

สำหรับบรูไนแล้ว ถือเป็นข้อหาที่ค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะการกระทำให้ชีวิตเพื่อนร่วมชาติตกอยู่ในความเสี่ยง บรูไนไม่มีการรอลงอาญา หรือไม่มีการลดหย่อนโทษแม้ว่าจะประพฤติตัวดีในคุกแล้วก็ตาม โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้น จึงได้มีการใช้กฏหมายลงโทษที่รุนแรงขึ้นไปอีกด้วย เนื่องจากทางการบรูไนมีกำหนดบังคับใช้กฎหมายอาญาภายใต้กฎหมายชารีอะห์ ที่มีบทลงโทษรุนแรง ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. พ.ศ.2562 

แต่กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายทางศีลธรรมของศาสนาอิสลาม โดยมีมาตรการลงโทษที่พิจารณาจากความผิดที่ก่อขึ้น ซึ่งจะมีบทลงโทษจากสถานเบาไปสู่สถานหนัก ทั้งโทษปรับ จำคุก เฆี่ยนตี ตัดมือและอวัยวะอื่น ๆ ไปจนถึงการขว้างปาหินใส่ผู้กระทำผิด หรือแขวนคอ กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ต่อชาวบรูไนทั้งหมด ทั้งที่นับถือศาสนาอิสลาม และศาสนาอื่น ๆ รวมทั้งชาวต่างชาติที่อยู่ในบรูไนด้วย

Migration of Generation Me ย้ายประเทศกันเถอะ

ปรากฎการณ์ 'ย้ายถิ่น' ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนัก แต่เมื่อถูกนำมาใช้เป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อจะสื่อว่า “ประเทศนี้ไม่น่าอยู่” ทำให้กลายเป็นกระแสที่สังคมจับตามอง โดยเฉพาะเมื่อมีคนเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มจากจำนวนหมื่น สู่จำนวนหลายแสน จนใกล้หลักล้านอย่างรวดเร็ว

อันที่จริงแล้ว การย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า มีมาตั้งแต่โบราณกาล จึงได้มีคนต่างเชื้อชาติอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างในสหรัฐอเมริกา ผู้คนจากทวีปเอเชีย เริ่มอพยพเข้าไปหางานทำ และสร้างฐานะกันมากมายจนเป็นปรากฎการณ์สำคัญที่ต้องมีการปรับตัวบทกฎหมายว่าด้วยผู้อพยพเข้าประเทศและการถือสัญชาติกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ หากย้อนไปในช่วงทศวรรษ 1960s มีผู้อพยพจากเอเชียจำนวน 5 แสนคน และเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมทุกทศวรรษตลอดมา ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนผู้อพยพจากเอเชียอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ถึง 14 ล้านคน และถือเป็น 31% ของผู้อพยพทั้งหมดจำนวน 45 ล้านคน 

สำหรับการอพยพจากประเทศบ้านเกิด ไปยังประเทศอื่นนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจ เพื่อแสวงหาโอกาส ในการเพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มการศึกษา เพิ่มรายได้ให้กับตนเอง และก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก ได้แก่ การแสวงหาเสรีภาพทางศาสนา เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและครอบครัวจากภัยทางการเมือง จากสงคราม หรือภัยธรรมชาติ 

แรงผลักดัน และความจำเป็นในการอพยพไปยังประเทศอื่นในส่วนนี้ จึงไม่เกี่ยวกับความรู้สึกเกลียดชังแผ่นดินเกิดหรือไม่แต่อย่างใด!! เพราะผู้คนที่ยังคงรักประเทศบ้านเกิด ยังเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมและยึดมั่นในสิ่งต่าง ๆ ที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ก็ย้ายถิ่นฐานโดยพกความรักชาติติดตัวไปด้วย

ย้อนกลับมาที่ภาพในปัจจุบัน การร้องตะโกนว่า ประเทศบ้านเกิดของตนนั้น ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต อาจดูเป็นชุดคำพูดที่ไม่เป็นความจริงสำหรับพลเมืองทั้งประเทศไทย เพราะผู้คนจำนวนมาก ยังใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ยอมรับวิถีของสังคม กฎหมาย และความมานะอุตสาหะ พัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จได้ และเห็นว่าความเป็นไปในบ้านเกิดยังให้ความสุขแก่ชีวิตได้ 

การประกาศก้องว่าจะย้ายประเทศ จึงไม่สามารถสร้างความตระหนกตกใจ ให้กับใครได้ ไม่ว่าจะมีความพยายามที่จะปั่นกระแสขนาดไหน การอ้างถึงปรากฎการณ์ “สมองไหล” ก็ไม่มีน้ำหนัก เพราะคำว่าสมองไหล หมายถึงการสูญเสียทรัพยากรบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญพิเศษ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ช่างทักษะระดับสูง นักวิชาการ และอื่น ๆ 

ฉะนั้นหากระดับความสามารถทางวิชาชีพของท่านใด อยู่ในระดับกลุ่มแรงงาน จะไม่อยู่ในข่ายสมองไหล เมื่อมีการแสดงออกถึงความใฝ่ฝันที่จะไปสร้างอนาคตในประเทศอื่น จึงไม่มีใครต้าน และต่างอวยพรให้ไปดีมีชัย!! 

ทีนี้ลองมาดูภาพการอพยพของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ที่ไปสร้างชีวิตใหม่ทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา เป็นการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกันสักเล็กน้อย

กลุ่มคนใน SEA ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเชีย ไทย และฟิลิปปินส์นั้น ต่างกระจายตัวทำงานอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมันนี ฝรั่งเศส แคนาดา และอีกหลายประเทศทั่วโลก (ยังมีธุรกิจที่ผู้อพยพจาก SEA เป็นเจ้าของกิจการรวมอยู่ด้วย)

การสำรวจในปี 2019 พบว่า มีผู้อพยพชาวฟิลิปปินส์อยู่ในสหรัฐฯ 2 ล้านคน, เวียดนาม 1.4 ล้านคน, ไทย 2.5 แสนคน, ลาว 1.8 แสนคน และเมียนมา 1.5 แสนคน นี่คือจำนวนคนอพยพสะสมมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960s 

ว่าแต่สงสัยไหมว่า ทำไมต้องเป็นสหรัฐฯ ? 

เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ดึงดูดนักเรียนนักศึกษาจากทุกมุมโลก ผู้คนในวัยเรียนจึงวางแผนที่จะไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ และการได้ศึกษาต่อจนจบการศึกษา ยังเป็นการกรุยทางให้อยู่ต่อเพื่อฝึกงาน ทำงาน หรือวางแผนที่จะย้ายมาตั้งรกรากอย่างถาวร 

เรื่องนี้น่าสนใจตรงจำนวนนักเรียนนักศึกษาจาก SEA ที่ศึกษาต่อในอเมริกานั้น สามารถสะท้อนถึงโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาในประเทศต้นทางไปพร้อมกัน เพราะหากประเทศต้นทางจัดการศึกษาได้ทั่วถึงและมีคุณภาพดี จำนวนพลเมืองที่เดินทางออกไปแสวงหาการศึกษาในประเทศอื่นจะไม่สูงนัก 

ทั้งนี้ ตัวเลขนักศึกษาจากทวีปเอเชียที่เข้าศึกษาต่อในสหรัฐฯ ในช่วงปี 2019-2020 มากที่สุดจะประกอบไปด้วย... 

1. จีน 2. อินเดีย 3. เกาหลีใต้ 4. ซาอุดิอาราเบีย 5. เวียดนาม  6. ใต้หวัน 7. ญี่ปุ่น 8. เนปาล 9. อิหร่าน 10. ตุรกี

กลุ่มคนพลัดถิ่น (Diaspora) ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจ หรือถูกบีบบังคับจากสถานการณ์เลวร้ายต่าง ๆ จากทวีปเอเชีย ในสหรัฐอเมริกา ที่มีจำนวนมากที่สุด มีดังนี้... 

1. จีน 2. อินเดีย 3. ฟิลิปปินส์ 4. เวียดนาม 5. เกาหลี

ส่วนข้อมูลจำนวนนักศึกษาจากประเทศไทย ที่เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ในปี 2018 รวมทั้งสิ้น 6,636 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เช่นนักศึกษาจากเวียดนามในปีเดียวกันมีจำนวนมากกว่า 3 หมื่นคน อินโดนีเซีย 9,000 คน และมาเลเชีย 7,864 คน ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีประชากรไม่ถึง 6 ล้านคน มีนักศึกษาจากสิงคโปร์กำลังศึกษาในสหรัฐฯ ในปี 2020 เป็นจำนวนถึง 4,500 คน โดยในจำนวนนี้เรียนในระดับปริญญาตรี 40% ปริญญาโทและเอก 30% อีก 30% เป็นการฝึกงานหรือเพิ่มเติมทักษะทางวิชาชีพ

การมีความใฝ่ฝันที่จะแสดงหาสังคมที่ให้โอกาสแก่เรา ในการสร้างฐานะ หากดูเพียงรายได้ที่มากกว่า เมื่อเทียบกับเกณฑ์รายได้ในเมืองไทยก็คงไม่ผิดอะไร แต่การไปอยู่ต่างแดน ยังมีมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นสัดส่วนรายได้ต่อค่าครองชีพ การปรับตัวในสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ความสามารถในการสื่อสารอย่างคล่องแคล่ว ความสุขทางใจ ความรู้สึกที่มั่นคงอันได้จากความอบอุ่นของครอบครัวที่ทิ้งไว้เบื้องหลัง การได้รับการยอมรับจากสังคมรอบตัว และการมีสถานภาพเป็นผู้มาอาศัย หรือเป็นคนพลัดถิ่นในประเทศใหม่ 

ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ย้ายถิ่นฐานจะได้แค่เงิน แต่ไร้ซึ่งความสุขไปทั้งหมด เพราะความสามารถทางภาษา และการปรับตัวทางวัฒนธรรมและสังคมนั้น เป็นความสามารถส่วนตัว การที่จะมีความสุขในสภาพแวดล้อมใหม่ ไม่ได้มีกำแพงกั้นสำหรับใคร

แต่หัวใจสำคัญคือ การสร้างต้นทุนไว้ให้พร้อม ทั้งเงินเก็บ ผลการศึกษาที่จะช่วยให้ได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมีระดับ ความชำนาญทางภาษาที่ใครได้ยินได้ฟังแล้วนับถือว่าเป็นผู้มีการศึกษา รวมถึงการซึมซับวัฒนธรรมของประเทศนั้น เพื่อใช้ปรับตัวให้มีความสบายใจ และสร้างเพื่อนใหม่ได้ แม้ชาติพันธุ์จะแตกต่าง แต่เมื่อมีความรู้ความสามารถ ก็จะทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น และรอดตัวจากการเหยียดเชื้อชาติได้ในสถานการณ์ปกติ

เมืองเล็กๆที่ “Arosa” (อาโรซา) ความธรรมดาที่แสนพิเศษในสวิส เส้นทางที่เต็มไปด้วย ‘กระรอก’ และหิมะแห่งความงาม

ถ้าพูดถึงสวิตเซอร์แลนด์ก็คงจะต้องนึกถึงธรรมชาติ ภูเขาสูงตระหง่าน ทะเลสาปแสนสวย ทุ่งหญ้าเขียวขจีแซมดอกหญ้าสีเหลือง นี่คือสิ่งที่แม้วี่จะอยู่มา 20 ปีแล้ว แต่ไม่เคยเบื่อและยังตกหลุมรักสวิสอยู่ วันนี้เลยอยากมาแบ่งปันสถานที่หนึ่งซึ่งรักมากและไปทุกปีให้ทุก ๆ คนได้รู้จัก

Arosa (อโรซ่า) เป็นเมืองเล็ก ๆ ตั้งอยู่ที่ความสูง 1,700 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในรัฐ Graubünden (กราวบึนเด่น) เมืองนี้ขึ้นชื่อเรื่องอากาศที่บริสุทธิ์และวิวที่สวยงามเพราะมีภูเขาล้อมรอบ ภูเขาที่เป็นจุดเด่นของเมืองก็คงจะเป็นภูเขา Weisshorn (ไวซ์ฮอร์น) ที่มีความสูง 2,653 เมตร จากระดับน้ำทะเล เมืองนี้เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวและคนสวิสเองรู้จักเป็นอย่างดีว่าเป็นสวรรค์ของคนเล่นสกี รวมถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมาที่นี่เพื่อทรงสกีและไอซ์เสก็ต อยู่บ่อยครั้ง หากต้องการตามรอยเสด็จฯ ให้ไปที่โรงแรม Arosa Kulm Hotel & Alpin Spa ภายในโรงแรมจะมีพระบรมฉายาลักษณ์ของราชสกุลมหิดลมากมาย โดยเฉพาะห้อง 427 เป็นห้องที่ราชสกุลมหิดลเลือกประทับเป็นประจำและข้างในยังคงถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีเลยทีเดียว (ที่มา: สารคดี สถานที่ตามรอยพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9)

ช่วงเวลาที่วี่ชอบไปคือช่วงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ช่วงนี้เป็นเหมือนช่วงเบรคซีซั่น เพราะโรงแรมใหญ่ ๆ และกระเช้าขึ้นเขาที่สำคัญ ๆ จะปิดบริการหมด ซึ่งเหมาะกับวี่ที่ชอบเที่ยวแบบสบาย ๆ คนไม่ค่อยเยอะ การเดินทางก็สามารถขับรถไปได้ง่าย ๆเพียงแต่ทางค่อนข้างชันแถมต้องขับรถข้ามเขาที่มีโค้งร้อยกว่าโค้ง ใครเมารถแนะนำให้เอามะม่วงดอง บ๊วยเค็มและยาดมติดกระเป๋าไปด้วย แต่ถ้าไม่อยากขับรถก็สามารถนั่งรถไฟจากเมือง Chur (คัวร์) ใช้เวลาเพียงแค่หนึ่งชั่วโมงก็มาถึงแล้ว แถมตลอดเส้นทางที่ไต่เขามายังสวยสะกดอีกต่างหากทำให้หนึ่งชั่วโมงเป็นช่วงเวลาที่เพลิดเพลินไม่น่าเบื่อเลย

เกริ่นมาตั้งนานยังไม่ยอมเข้าเรื่องสักทีเนอะ เมื่อลงจากรถไฟก็จะเจอวิวของทะเลสาบ Obersee (โอเบอร์เซ) แต่ถ้าขับรถมาเห็นทะเลสาปกับสถานีรถไฟเมื่อไหร่ ก็จะเห็นที่จอดรถลานกว้าง ๆ เลย เนื่องจากวี่ไปช่วงเมษา ดังนั้นส่วนมากทะเลสาปที่วี่เห็นก็คือจะปกคลุมไปด้วยหิมะ บางปีหนาวมาก ๆ ทั้งทะเลสาปก็กลายร่างเป็นน้ำแข็งไปหมด ดูสวยไปอีกแบบ

เดินออกจากตรงนี้ไปไม่ไกลก็จะเป็นทาง Hiking ที่สามารถเดินเล่นได้ง่าย ๆ ชิล ๆ ประมาณเด็กเดินได้ผู้ใหญ่เดินดี เส้นทางที่วี่เดินคือเข้าทางหนึ่งออกอีกทางหนึ่งระยะทางจะประมาณ 5 กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อเริ่มเดินผ่านทางเข้ามาแล้ววี่จะหยิบถุงถั่วออกมา ส่วนใหญ่วี่จะใช้เป็นถั่ว Hazelnut (ฮาเซลนัท) เดินไปเขย่าถุงไป เจ้ากระรอกทั้งหลายจะชินกับเสียงคนและเสียงถุงพลาสติกอยู่แล้ว

เมื่อกระรอกเริ่มออกมา แนะนำให้เบาเสียงลง ไม่เคลื่อนไหวเร็ว ๆ ช่วงแรกเอามือที่ถือถั่ววางลงบนพื้นก่อน เมื่อกระรอกเริ่มกล้าที่จะมาเอาถั่วที่มือเราทีนี้เราก็ขยับยกมือให้สูงขึ้น บางตัวถึงกับปีนขึ้นมาเอาบนขาเลยทีเดียว สิ่งนึงที่อยากบอกคืออย่าจับตัวน้อง เพราะน้องเป็นกระรอกป่าไม่ได้เชื่องถึงขนาดจะให้อุ้มได้ อาจโดนกัดและอาจมีเชื้อโรค สังเกตได้ว่าบางตัวจะขี้ตกใจมากเป็นพิเศษอาจเป็นเพราะเคยโดนจับนี่แหละ แล้วเขาจะไม่มาเอาถั่วอีกเพราะจะไม่เชื่อใจและขี้กลัวไปเลย เดินไปตามทางก็จะมีกระรอกไปตลอดทั้งทางเช่นกัน

ที่มากพอ ๆ กับกระรอกก็เห็นจะเป็นนก ซึ่งก็มีหลากหลายสายพันธุ์และสวยงามมาก เราสามารถทุบถั่วให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ และวางบนขอนไม้เดี๋ยวเจ้านกตัวน้อยก็จะบิ่นมาคาบไปกินเตรียมกล้องพร้อมชักภาพได้เลย หรือจะทำแบบวี่คือวางถั่วที่ฝ่ามือยื่นออกจากตัวยืนให้นิ่งที่สุดและร้องเพลงรอ กว่าเจ้านกจะมาเกาะมือและกินถั่วที่มืออาจมีเหน็บกินกันบ้าง และถึงแม้ว่าเส้นทางจะเพียงห้ากิโลเมตรเท่านั้นแต่วี่ให้เวลาตัวเองดื่มด่ำกับความสวยงามของธรรมชาติ เสียงนกเจื้อยแจ้ว และเจ้ากระรอกที่วิ่งไปมาขวักไขว่อย่างเต็มที่

แม้สวิสจะมีสิ่งปลูกสร้างมากขึ้นกว่ายี่สิบปีที่แล้วที่วี่มาอยู่ใหม่ ๆ แต่ยังคงรักษาธรรมชาติไว้ได้อย่างดี มีทาง Hiking ทั่วไปและมีหลายระดับความยากตามความฟิตของแต่ละคนให้เลือก และวิวทิวทัศน์ระหว่างทางที่สวยงาม เอาแค่วิวหน้าต่างห้องนอนที่บ้านวี่เอง ตื่นมาวิวไม่เคยเหมือนเดิมเลยสักวัน วี่ชอบธรรมชาติ ชอบที่เปิดหน้าต่างมาตอนเช้าแล้วได้ยินเสียงกระดิ่งของวัวข้างบ้าน เสียงนกคุยกันเจื้อยแจ้ว หรือภาพแกะของเพื่อนบ้านเล็มหญ้าอย่างเอร็ดอร่อย บางครั้งการมีความสุขได้กับความธรรมดาในโลกปัจจุบันถือเป็นความโชคดีที่สุดแล้ว...

Legal Sex Workers โลกของโสเภณี ที่มีใบอนุญาต

ช่วงนี้กระแสความสนใจในการหาช่องทางด้านอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในต่างแดน มีความแพร่หลายอย่างมาก ในเพจเฟซบุ๊ก ‘โยกย้าย มาโยกย้ายส่ายสะโพก’ เป็นเพจหนึ่งที่ได้แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ ขึ้นมานับร้อยอาชีพ เพื่อสนองต่อผู้ที่อพยพย้ายถิ่นฐานได้สำเร็จแล้วนั้น 

แน่นอนว่าในสาระสำคัญของอาชีพที่เชื่อหลายคนคงคุ้นเคยกันดี ก็จะมีตั้งแต่ พยาบาล, โปรแกรมเมอร์, แอร์โฮสเตส, หมอนวด, ครู, งานครัว, งานบนเรือสำราญ ฯลฯ 

แต่ที่น่าสนใจ คือ มีกลุ่มอาชีพที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึงปรากฎขึ้นมาจากข้อมูลในเพจดังกล่าวให้สืบค้นต่อ!! ซึ่งมีอะไรบ้าง เด่วจะไล่กันแบบจากเบาไปหาหนัก 

อาชีพที่ว่าได้แก่...

1.) นักสปารองเท้าและกระเป๋า

2.) คนทำความสะอาดสุสาน 

และ ๆ ๆ

3.) อาชีพโสเภณีอย่างถูกกฎหมาย 

เกิดแรงสะดุด จนนิ้วไม่กล้าคลิกข้ามอาชีพ ‘โสเภณี’ เพราะมันเตะลูกกะตายิ่งนัก!!

และก็เชื่ออย่างแรงว่าผู้คนที่เข้าไปแวะเวียนในเพจดังกล่าว ก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน เพราะมีการโพสต์สอบถามเกี่ยวกับอาชีพโสเภณีมากมาย มีผู้กด Like กว่า 3 หมื่น และมีการคอมเมนต์ สอบถาม และพูดคุยกันกว่า 5 พันคอมเมนต์ในช่วงเวลาเพียง 2 วัน 

ที่น่าสนใจมากๆ คือ มีข้อมูลยืนยันจากผู้ใช้กฎหมายในประเทศนั้นๆ หรือจากผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศนั้นเป็นเวลานาน มาแถลงไขจนใครที่เข้าไปอ่าน สามารถเข้าใจลักษณะการค้ากามารมณ์แบบครบถ้วน ตั้งแต่ขั้นตอนการขอใบประกอบอาชีพโสเภณีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อได้ใบอนุญาตแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อ 

ณ ที่นี้ ขอยกตัวอย่างหนึ่งจากโสเภณีต่างชาติที่เข้าไปทำงานกันเล็กน้อย ซึ่งตัวอย่างนี้มาจากสิงคโปร์ โดยเผยว่าถ้าจะทำงานที่นั่นต้อง…

- มีการเซ็นสัญญาการทำงาน ระหว่าง 6 เดือน ถึง 2 ปี

- ระหว่างนั้นห้ามแต่งงานกับคนสิงคโปร์

- หลังหมดสัญญาแล้วจะไม่สามารถเดินทางเข้าสิงคโปร์ได้อีก

- สัญญาจะระบุเวลาการทำงาน มีทั้งเริ่มแต่เช้า 10.00 น. หรือ เที่ยง หรือบ่าย หรือเย็น

- วันหยุดคือวันที่มีประจำเดือน โดยจะได้หยุด 3 วัน

- สถานที่ทำงานนั้นเรียกว่า ‘บ้าน’

- โสเภณีประจำบ้าน จะออกจากบ้านได้หลังจากเลิกงานแล้วเท่านั้น และต้องแจ้งเวลากลับบ้านให้ชัดเจน

- ต้องตรวจสุขภาพตามกำหนด

- ค่าอาหารต้องออกเอง/บางบ้านอุปกรณ์ทำงานก็ต้องออกเอง

- ค่าแรงในการทำงาน อยู่ที่ 20-25 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 580 บาท) ต่องานไม่เกิน 30 นาที

- ไม่เน้นคุณภาพการให้บริการ เมื่อหมดเวลาแล้วพร้อมรับแขกต่อไป

โอ้โห!! ฟังละอึ้ง

นอกจากสิงคโปร์แล้ว ยังมีผู้ให้ข้อมูลการประกอบอาชีพโสเภณีในเยอรมนี ซึ่งเป็นอีกพิกัดมีชื่อเรื่องธุรกิจกามารมณ์ที่ถูกกฎหมายมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในช่วงท้ายของทศวรรษ 60s นั้น มาจนถึงปัจจุบัน เยอรมนีมีซ่องขนาดใหญ่ลือเลื่องรู้กันดีทั่วโลก 

โดยมีคนไทยที่ทำอาชีพโสเภณีอย่างถูกกฎหมายในเยอรมนีได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ตัวเธอเรียนจบปริญญาตรี และปริญญาโท จากเมืองไทย และตั้งใจจะมาเรียนปริญญาเอกในยุโรป แต่ชีวิตผิดแผน กลายมาเป็นโสเภณีอย่างถูกต้อง มีใบอนุญาต ได้รับการดูแลจากรัฐ เช่นเดียวกับอาชีพอื่น ๆ อย่างช่วงโควิด-19 ก็ได้รับเงินช่วยเหลือเกือบ 1 ล้านบาท 

ยิ่งไปกว่านั้นรายได้จากการประกอบอาชีพของเธอ สามารถส่งเสียครอบครัวในเมืองไทยได้อย่างสบาย เวลาติดต่อราชการไม่เจอสายตาเหยียด หรือกริยาดูถูก 

พอเห็นแบบนี้แล้ว ก็ทำให้รู้สึกคัน (คันไม้คันมืออยากค้นหาข้อมูลนะ) จนไปไล่ดูว่า...ทุกวันนี้จำนวนประเทศที่ผ่านกฎหมายให้ อาชีพโสเภณี เป็นอาชีพถูกกฎหมายนั้นมีมากน้อยแค่ไหน

ปรากฎว่ามีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เหตุผลเพราะทางรัฐของประเทศที่เห็นชอบมองว่า การตรวจตราธุรกิจที่ดำเนินอย่างเปิดเผย ย่อมง่ายกว่าธุรกิจหลบซ่อน ในบางประเทศเห็นว่า การค้าประเวณีอย่างถูกต้องช่วยลดอาชญากรรมทางเพศ และลดความรุนแรงในครอบครัว หรือด้วยหลักการอื่น ๆ

เอาเป็นว่ามาลองไล่เรียง เป็นความรู้กัน!! ว่า ‘อาชีพโสเภณี’ ในโลกกว้างนี้ มีมิติเช่นไรกันบ้าง?

สำหรับประเทศในยุโรป ที่อาชีพโสเภณีที่ได้รับการจดทะเบียน เป็นอาชีพถูกต้องตามกฎหมายและมีการตรวจตราอย่างเป็นระบบ ได้แก่ เยอรมนี, สวิสเซอร์แลนด์, ออสเตรีย, กรีซ, ตุรกี, เบลเยี่ยม, สาธารณรัฐเช็กฯ, เนเธอร์แลนด์, ฮังการี, อิตาลี, สเปน, โปรตุเกส และ ลัตเวีย

ส่วนในแถบสแกนดิเนเวียและใกล้เคียง ได้แก่ ฟินแลนด์, เอสโตเนีย, สโลเวเนีย, โปแลนด์ และยังมีประเทศอื่น ๆ ที่อาชีพโสเภณีไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่มีการตรวจตราควบคุม 

ข้ามมาฟากแถบทวีปอเมริกา ในอาร์เจนตินา อาชีพโสเภณี ก็เป็นอาชีพถูกกฎหมาย แต่ไม่อนุญาตให้หาประโยชน์จากโสเภณี จึงไม่อนุญาตให้มีพ่อเล้า แม่เล้า และห้ามค้าประเวณีในเขต 500 เมตรที่มีโรงเรียนตั้งอยู่ 

ในออสเตรีย อาชีพโสเภณีถูกต้องตามกฎหมายแต่มีการตรวจตราดูแลอย่างรัดกุม 3 ระดับคือ ระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับชุมชน

โสเภณีในบังคลาเทศ ค้าประเวณีได้อย่างถูกกฎหมาย แต่สังคมยังตราหน้าว่าเป็นอาชีพที่ไร้เกียรติ ทำให้โสเภณีถูกมองว่าเป็นอาชญากร

ในประเทศโบลิเวีย ผู้ที่อายุเกิน 18 ปี สามารถค้าประเวณีได้อย่างถูกกฎหมาย จึงสามารถพบเห็นผู้ยึดอาชีพโสเภณีได้ทั่วไป แต่ไม่มีกฎหมายที่จะให้ความคุ้มครองหรือดูแล ทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งทั้งด้านสุขภาพ และความปลอดภัยต่อชีวิตของโสเภณี ทั้งกามโรคต่าง ๆ และการค้ามนุษย์ การบังคับให้ผู้อายุต่ำกว่าเกณฑ์ร่วมเพศกับลูกค้า

สาธารณรัฐโดมินิกัน ให้อาชีพโสเภณีเป็นอาชีพถูกต้องตามกฎหมาย และได้ทำให้โดมิกันเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของการท่องเที่ยวเพื่อเซ็กซ์

ส่วนในเอกวาดอร์ นอกจากอาชีพโสเภณีถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ยังไม่ห้ามการหาประโยชน์จากโสเภณี เช่น การตั้งช่อง หรือสถานที่ให้บริการทางเพศ หรือการเป็นพ่อเล้า หรือแม่เล้า หรือนายหน้า แถมเอกวาดอร์ ยังดึงดูดโสเภณีจากโคลอมเบีย ให้มาหากินในเอกวาดอร์ เพราะค่าตอบแทนเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ต่างจากเงินเปโซของโคลอมเบียที่ไม่เสถียร ซึ่งมีการสำรวจคร่าว ๆ ในเอกวาดอร์พบว่า มีโสเภณีจำนวนไม่น้อยกว่า 35,000 คนกันเลยทีเดียว

ในเอลซัลวาดอร์ กฎหมายระดับชาติ ไม่มีบทลงโทษผู้ค้าประเวณี แต่กฎหมายในระดับเทศบาลสามารถเอาผิดในคดีค้าประเวณีได้ ดังนั้นกลุ่มลูกค้า จึงได้พัฒนาเขตเฉพาะขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อโสเภณีและการดำเนินกิจกรรมค้าประเวณี 

เอธิโอเปีย อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุเกิน 18 ปี ประกอบอาชีพโสเภณีได้อย่างถูกกฎหมาย จึงพบเห็นโสเภณีได้ทั่วไป แต่กฎหมายยังจำกัดการหาผลประโยชน์จากโสเภณี และอาชีพแมงดาให้เป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่

การค้าประเวณีและการซื้อขายเซ็กซ์ในฟินแลนด์ เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากผู้ซื้อได้ตกลงซื้อบริการทางเพศ จากผู้ขายที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ผู้ซื้อจะมีความผิดโดยบทลงโทษนั้น มีทั้งโทษปรับและจำ

การค้าประเวณีเป็นสิ่งถูกกฎหมายสำหรับผู้มีอายุเกิน 18 ปี ในอิสราเอล แต่มีบทลงโทษจำคุก 3 ปี ต่อผู้ซื้อเซ็กซ์จากผู้เยาว์ และอาชีพ ‘แมงดา’ จะถูกจำคุก 5 ปี 

ส่วนในญี่ปุ่น กฎหมายระบุว่า การซื้อขายเซ็กซ์นั้นผิดกฎหมาย โดยมีการระบุนิยามความหมายเพิ่มเติมความผิดภายใต้คำว่า ‘กิจกรรมทางเพศ’ ไว้ ซึ่งหมายถึงว่าการร่วมเพศกับอวัยวะเพศหญิงเท่านั้นที่ผิด ฉะนั้นกิจกรรมทางเพศ ที่ไม่ได้กระทำต่ออวัยวะเพศหญิง จึงถือว่าไม่ผิดกฎหมาย (อ่า)

ในมอลตา ประเทศเกาะกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน การประกอบอาชีพโสเภณีด้วยความสมัครใจถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่การกระทำใด ที่เป็นการล่อหลอก หว่านล้อม หรือบังคับ ให้ผู้อื่นประกอบอาชีพโสเภณีนั้นผิดกฎหมาย และการหาประโยชน์จากโสเภณีมีบทลงโทษ

เม็กซิโก ประกอบด้วยรัฐ 32 รัฐ และมีกฎหมายกลางที่ใช้กับทุกรัฐ ระบุกว่า ห้ามจัดตั้งซ่อง แหล่งค้าประเวณี หรือเป็นพ่อเล้า แม่เล้า ผู้ประกอบอาชีพโสเภณี ต้องจดทะเบียนและพกบัตรตรวจโรคติดตัวไว้ตลอดเวลา การซื้อขายเซ็กซ์ไม่ผิดกฎหมาย แต่อนุญาตให้แต่ละท้องถิ่น ออกกฎหมายบังคับใช้เพิ่มเติมได้ ดังนั้นกฎหมายว่าด้วยโสเภณีและการค้าประเวณีของเม็กซิโก จึงไม่มีลักษณะปูพรมผืนเดียวทั้งประเทศ มีความแตกต่างในแต่ละภูมิภาคและเมือง

กฎหมายว่าด้วยการค้าประเวณีของนอร์เวย์ มีความแตกต่างและน่าสนใจ คือ กฎหมายอนุญาตให้คนสัญชาตินอร์เวย์ขายบริการทางเพศได้ แต่ห้ามไม่ให้ผู้มีสัญชาตินอร์เวย์ หรือผู้ที่พำนักในนอร์เวย์ ซื้อบริการทางเพศ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือนอกประเทศ การซื้อบริการทางเพศมีโทษทั้งปรับ และจำคุกนาน 1 ปี ในสวีเดนก็ไม่ต่างกันคือ ชาวสวีเดนสามารถค้าประเวณีได้ แต่ห้ามเป็นผู้ซื้อ

ในเซเนกัล เกณฑ์อายุที่จะยึดอาชีพโสเภณีได้คือ 21 ปี ซึ่งเป็นเกณฑ์อายุในการประกอบอาชีพที่สูงกว่าประเทศอื่น และมีการตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการตรวจโรคและการไม่ถูกหลอกลวง หรือตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มค้าประเวณี หรือพ่อเล้า แม่เล้า

ส่วนในสิงคโปร์นั้น แม้อาชีพโสเภณีไม่ผิดกฎหมาย แต่มีกฎหมายผูกพันมากมาย เช่น ห้ามหาลูกค้าในสถานที่สาธารณะ ห้ามหาประโยชน์จากโสเภณี ห้ามเป็นเจ้าของซ่อง ห้ามโฆษณาหรือประกาศขายเซ็กซ์ รวมทั้งทางอินเตอร์เน็ต 

จะเห็นได้ว่า ในประเทศที่อนุญาตให้อาชีพโสเภณีถูกต้องตามกฎหมาย มักจะเน้นว่า ห้ามหาผลประโยชน์จากโสเภณี 

แต่ในความเป็นจริง ก็เชื่อว่าการหากินบนหลังโสเภณีนั้นมีอยู่ จึงต้องมีกฎหมายคุ้มครอง ‘ในทางปฎิบัติ’ เพราะอาชีพนี้ มันยากมากที่จะปลอดจาก แมงดา พ่อเล่า หรือแม่เล้า  

อย่างไรก็ตาม โสเภณี ก็เป็นอาชีพอย่างอิสระอย่างหนึ่ง และก็ควรจะได้รับสิทธิในการคุ้มครองที่ดี การปฏิบัติตน การให้เกียรติจากสังคม เพื่อไม่ให้โสเภณีเหล่านั้น หลุดเข้าไปสู่วัฏจักรอันเลวร้าย วนเวียนสู่วงจรของอาชญากรรมจัดตั้ง

ที่นำมาเล่านี้ เป็นประสบการณ์ของอาชีพหนึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้เป็นการส่อแววอนาจารหรือสนับสนุนใด ๆ เพียงแต่เป็นการตีแผ่เรื่องจริง ที่ได้แรงหนุนจากบรรดาคอมเมนต์ ‘เพจโยกย้ายฯ’ ก็มีคอนเทนต์มากมายทั้งชุดคำพูดสนุกสนาน ขบขัน หรือข้อมูลความรู้ทั่วไปแบบเล่าสู่กันฟัง 

แต่อย่างไรเสีย บทสรุปของอาชีพนี้ ที่ทิศทางคำถามได้ในแนวเดียวกัน คือ “ทำไมถึงอยากเป็นโสเภณี?” 

คำตอบแบบชัด ๆ อาจระบุไม่ได้ แต่หากให้คลี่คลายอย่างผิวเผินและไม่เป็นทางการนั้น มีความจริงเพียงแค่หนึ่งเดียว...

“เพราะค่าตอบแทนคุ้มค่าแรงไง”

“แค่นั้นจริงๆ”

Hiking แบบฟิน ๆ เดินฝัน ๆ บนสันเขาสวิส

ถ้าพูดถึงการพักผ่อนหย่อนใจหรือใช้เวลาว่างของคนสวิสแล้ว จะต้องมี Hikking หรือ Trekking การเดินท่องเที่ยวตามเทือกเขาลำเนาไพรรวมอยู่ด้วยแน่ ๆ และสวิสก็ขึ้นชื่อเรื่องวิวทิวทัศน์ที่สวยงามอยู่แล้ว ทำให้การเดินป่าเดินเขาไม่น่าเบื่อเลย แม้ว่าเส้นทาง Hiking จะใช้เวลา 2-8 ชั่วโมงในการเดินทางไปและกลับ โดยมีปลายทางสิ้นสุดคือกลับมาที่จุดเริ่มต้น การเดินอาจจะเดินไปและกลับบนเส้นทางเดิม หรือเดินเป็นวงรอบกลับมาที่จุดเดิม หรือบางเส้นทาง Hiking อาจจะมีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดเป็นคนละที่ แต่เส้นทาง Hiking มีการจัดตามระดับความฟิตของแต่ละคนอีกด้วย


มาดูระดับความฟิต และป้ายบอกเส้นทางแบบคร่าว ๆ กัน 

1. T1 Hiking จะมีป้ายบอกเป็นสีเหลือง
2. T2 Mountain hiking จะมีป้ายบอกเป็นสีขาวแดงขาว
3. T3 Challenging mountain hiking สีขาวแดงขาวเหมือน T2 
4. T4 Alpine hiking จะเป็นสีขาวฟ้าขาว 
5. T5 Challenging Alpine hiking สีขาวฟ้าขาวเหมือน T4
6. T6 Difficult Alpine hiking ส่วนใหญ่ไม่มีป้ายบอกเป็นกิจลักษณะ
7. Winter hiking ป้ายจะเป็นสีชมพู

เอาหล่ะ !! มาถึงเส้นทางที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ดีกว่า วี่เลือกเป็นเส้นทางสันเขาระดับ T3 เหมือนว่าจะง่าย ๆ แต่ทางขึ้น ๆ ลง ๆ เอาเรื่องเพราะเป็นการข้ามจากอีกเขามาอีกเขา แต่รับรองว่าทำให้หัวใจเต้นรัว ๆ ได้เลยทีเดียว 


ส่วนใหญ่เวลาวี่มาที่นี่จะขับรถมาที่ Schwyz (ชวีส)-Schlatti (ชรัตตี้) เป็นรัฐตอนกลางของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว จากตรงนี้เราจะเจอกับ Funicular Railway ทางรถรางที่มีเส้นทางที่ชันที่สุดในโลก ซึ่งหลังจากใช้เวลาในการวางแผนและก่อสร้างจนแล้วเสร็จใช้เวลาประมาณ 14 ปี ก็ได้มีการเปิดตัวไปเมื่อ 15 ธันวาคม 2017 แทนที่เก่าที่สร้างมาตั้งแต่ปี 1933 วิ่งที่ความสูง 744 เมตรจากระดับน้ำทะเลระหว่างเมือง Schywz Schlatti ไปยังหมู่บ้านในหุบเขา Stoos โดยมีความลาดเอียง 110% เลยทีเดียว และสามารถจุคนได้ถึงครั้งละ 136 คน โดยทำลายสถิติโลกก่อนหน้านี้ ที่เคยเป็นของเป็นของ Gelmerbahn (เกลเมอร์บาน) ที่เมือง Bern ของสวิส โดยมีความชันอยู่ที่ 106% ส่วนอันดับที่สามอยู่ที่อังกฤษใน East Hill Cliff Railway โดยมีความชันอยู่ที่ 78%

ส่วนใหญ่การมาที่หมู่บ้าน Stoos ก็มักจะมีจุดหมายปลายทางที่ Fronalpstock (ฟรอนอัลปชต๊อก) ยอดเขาที่อยู่เหนือหมู่บ้านขึ้นไป เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทะเลสาบได้ถึง 10 ทะเลสาบด้วยกัน (ถ้าอากาศดีฟ้าเปิดนะ) เช่น Vierwaldstättersee (เฟียร์วัลชแต๊ตเตอร์เซ), Zugersee (ซูเกอร์เซ), Ägerisee (แอเกอร์รี่เซ) และอื่น ๆ แถมยังมีร้านอาหารที่นั่งได้ทั้งด้านในและด้านนอกสำหรับดื่มกาแฟชิล ๆ ยามมีแดด 

อ้อ !! แล้วมีชาวบ้านแถวนี้เอาชีสภูเขามาขายด้วย จะแอบบอกว่าอร่อยมาก ๆ โดยจากหมู่บ้าน Stoos เราจะต้องนั่ง chairlift (กระเช้าห้อยขา 6 ที่นั่ง)  ขึ้นไปสู่ยอดเขาอีกสองต่อถึงจะไปถึงยอดเขา Fronalpstock (ฟรอนอัลปชต๊อก) แต่วี่ไม่ได้ไปแบบนั้นหลังจากนั่ง funicular railway มาที่หมู่บ้าน Stoos แล้ววี่เดินไปขึ้น Chairlift เพื่อขึ้นไปที่ยอดเขา Klingenstock (คลิ้งเง่นชต๊อก) เพื่อเดินข้ามเขาไปที่ Fronalpstock นั่นแหล่ะ 


การเดินบนสันเขาจาก Klingenstock ไป Fronalpstock ระยะทางประมาณ 4.7 กิโลเมตร และจะมีการไต่ระดับความสูงประมาณ 402 เมตร เส้นทางค่อนข้างเล็ก บางช่วงบางตอนที่เป็นทางอันตรายก็มีราวให้เกาะเดินด้วย คนสวิสจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่วี่ใช้เวลารวมพักกินข้าวและหยุดถ่ายรูปเป็นระยะ ๆ รวมแล้วประมาณ 3 ชั่วโมงนิด ๆ 


วิวบนสันเขานี้สามารถใช้คำว่า ‘Breathtaking’ ได้จริง ๆ สวยสะกดและน่าประทับใจที่สุด เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่คนสวิสว่ากันว่าควรมาสักครั้งในชีวิต ส่วนตัววี่เองนั้นมาทุกปีเพื่อ Hiking เป็น The must คือเป็นทริปบังคับของตัวเอง เพราะรักบรรยากาศและวิวที่นี่มาก ตอนที่พาแม่มา แม่บอกว่าที่นี่สวยกว่า Jungfrau Joch (ยุงเฟรายอค) อีกนะ (แต่นี่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น) อยากรู้ว่าจริงไหมก็แนะนำให้มาลองด้วยตัวเองสักครั้งเถอะ


ส่วนราคาค่าขึ้นก็ไม่แพงเลยจริง ๆ ราคาอยู่ที่ 46 สวิสฟรังค์ หรือประมาณ 1,600 บาทไทย ถ้ามีบัตรครึ่งราคา ก็อยู่ที่ 36 ฟรังค์ หรือประมาณ 1,200 บาทเท่านั้น ถ้าเทียบกับวิวและบรรยากาศต้องบอกว่าเกินคุ้มจริง ๆ และเป็นการขึ้น funicular railway หนึ่งต่อบวก chairlift อีกสองต่อ คือคุ้มสุด ๆ 


และแนะนำว่าถ้าจะขึ้นไปเดินบนสันเขาเส้นทาง Klingenstock-Fronalpstock ควรจะใส่รองเท้าสำหรับ Hiking และเตรียมน้ำดื่มสำหรับระหว่างทาง เสื้อกันลม และเสื้อกันหนาวให้พร้อมเพราะอยู่ที่ความสูงถึง 1920 เมตรจากระดับน้ำทะเลเลยทีเดียว อากาศอาจบาง ๆ นิดหน่อย ถ้าไปวันที่อากาศดี ฟ้าเปิดจะมองเห็นความสวยงามไปได้ไกลสุดลูกตาเลยทีเดียว 

บางครั้งการพาตัวเองไปอยู่กับธรรมชาติมันเยียวยาชีวิตประจำวันที่แสนจะวุ่นวายได้ดีเหลือเกิน นี่แหล่ะธรรมชาติบำบัด เวลาเราออกเดินทางและเมื่อตอนเย็นที่เรากลับบ้านหัวเราอาจจะยุ่ง ๆ รองเท้าเราอาจจะเลอะเทอะ แต่แบตเตอรี่หัวใจของเรามันจะเต็มเปี่ยมเลยนะ ลองดูสิ

‘สื่อพลเมือง’ (Citizen Media) ‘อิสรภาพ’ ที่ไร้ความรับผิดชอบ

คำว่า 'สื่อพลเมือง' อาจฟังดูไม่ชัดเจนหรือดูเข้าใจง่ายเท่ากับคำว่า 'สื่อภาคประชาชน' หรือ 'นักข่าวประชาชน'

แต่คำๆ นี้เริ่มมีบทบาทกับโลกของสื่อยุคใหม่ โดยบางครั้งผู้ที่ทำหน้าที่เป็นนักข่าวเฉพาะกิจ ไม่ว่าจะทำเพราะเป็นกิจกรรมที่ชอบโดยส่วนตัว หรือด้วยความรู้สึกท้าทายว่าตนทำหน้าที่เสนอข่าวและข้อมูลได้ดี จนหวังการอวยยศให้เป็น 'นักข่าวอิสระ' ก็ตามนั้น มีสิ่งหนึ่งที่ผมแอบห่วง!! 

สื่อพลเมือง สามารถเสนอเนื้อหาได้อย่างมีอิสระ ไม่มีใครควบคุมหรือกลั่นกรองข้อมูล

สื่อพลเมือง สามารถนำเสนอเรื่องราวได้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งทางวิทยุ, ทีวี, พอดแคสท์, ยูทูบ, โซเชียลมีเดียทุกรูปแบบ, บล็อกและเว็บไซต์

สื่อพลเมือง อาจทำงานลำพัง หรือมีผู้ร่วมงานและทีม ช่วยกันคิดรูปแบบ คอนเทนต์ และสไตล์อันจะสร้างความแตกต่างให้ตนเด่นขึ้นมา

สื่อพลเมือง เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันที่หามาได้ในราคาไม่แพง ทำให้ความฝัน ที่อยากเป็น 'สื่อพลเมือง' กลายเป็นจริงได้ง่ายกว่าแต่ก่อน เช่น กล้องจากโทรศัพท์มือถือ มีคุณภาพสูงพอเพียงทั้งสำหรับภาพนิ่งและภาพวิดิโอ ซอฟท์แวร์ตัดต่อภาพและเสียง ที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อแบบจัดเต็ม ก็สร้างลูกเล่นจากฟังก์ชั่นที่สามารถผลิตคลิปวิดิโออันเร้าใจและอยู่ระดับมาตรฐานสากลได้ 

สื่อพลเมือง สามารถเพิ่มพูนทักษะของตนได้จากการอ่าน, คำแนะนำจากผู้อื่น, บทความออนไลน์, ดูจากคลิปออนไลน์, เรียนจากการสอนออนไลน์

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ คือ ศักยภาพของสื่อพลเมืองยุคใหม่ ที่เรียนรู้ทุกอย่างของอาชีพสื่อได้หมดโดยไม่ต้องจบการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยใดๆ

พูดแบบนี้ แล้วรู้สึกว่าต่อจากนี้ไม่ต้องมีระบบการศึกษาที่เกี่ยวกับสื่ออีกเลยก็น่าจะได้!! 

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการเรียนรู้ในระบบอุดมศึกษา ไม่ได้ว่าด้วยการพัฒนาทักษะทางด้านเทคนิค หรือครอบคลุมเฉพาะเรื่อง 'เนื้อหา' ของการนำเสนอ ทั้งข่าว สารคดี งานบันเทิง การคิดเชิงวิเคราะห์ หลักการวิจารณ์ ที่ดูๆ แล้ว สื่อพลเมือง ก็คงเรียนลัดเองได้ไม่ยาก

แต่สิ่งที่ระบบการศึกษาได้สอน และเชื่อได้ว่า 'สื่อพลเมือง' จะไม่มีวันเรียนรู้ได้ คือ... 

จริยธรรมของการเป็นสื่อ!! 

สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับผู้อ่านในที่นี้ คือ ผู้ที่เรียนลัดและก้าวไปสู่การเป็น 'สื่อพลเมือง' นั้น มักจะมีข้อเสียสุดยิ่งใหญ่จากความเชื่อมั่นในวิจารณญาณของตนจนไร้ขอบเขต

สิ่งนั้น คือ ความรู้ด้านจริยธรรม หรือจรรยาบรรณของสื่อมวลชน!! 

ในกระบวนการด้านการศึกษาที่จัดทำเป็นรายวิชานั้น จะมีวิชาหนึ่งที่นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชนต้องเรียน รวมทั้งยังมีหนังสือ, ตำราวิชาการ และเนื้อหาเชิงวิเคราะห์จากผู้ประกอบอาชีพสื่อและนักวิชาการที่มีชื่อเสียง มาถ่ายทอดเป็นความรู้แก่ผู้ที่ประกอบอาชีพสื่อโดยไม่ได้จบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนโดยตรงมากมายด้วย

อันที่จริงจรรยาบรรณของสื่อ ไม่ใช่กรอบความคิดที่นิ่งอยู่กับที่ หรือไม่แปรเปลี่ยน หากแต่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยไม่ต่างจากจรรยาบรรณในสาขาอื่นๆ

โดยบรรทัดฐานที่เคยใช้เป็นแนวทางในการเสนอข้อมูลต่อสาธารณชน จะมีการเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมและค่านิยมของผู้เสพสื่อ ยิ่งเมื่อทุกสิ่งถาโถมเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่เน้นการเสนอข้อมูลแบบแข่งขันกันด้วยความรวดเร็ว ความรอบคอบและความใส่ใจ ต่อความถูกต้องก็ลดน้อยลง เรื่องจริยธรรมจึงเป็นสิ่งที่ควรเข้ามามีบทบาทอย่างเข้มข้นขึ้น

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ...ทุกวันนี้หลายคนคงเห็นข่าวปลอม ข่าวผิด ข่าวมั่ว ข่าวโจมตี ข่าวปลุกปั่น ที่ไหลซัดมาพร้อมกับความเร็ว แต่บังเอิญเป็นความเร็วที่มากับการมุ่งที่จะแข่งขันเพียงแค่หวังสร้างความนิยม และฉวยโอกาสจากยอดการติดตามเท่านั้น

หมายความว่าอะไร? 

สื่อพลเมือง กำลังเข้ามามีบทบาทในการ 'ลด' เพดานของจรรยาบรรณสื่อ เพื่อที่จะแต่งเติมให้พาดหัวข่าว กระตุ้นความสนใจได้ สื่อใช้ภาพประกอบที่ไม่ตรงกับเรื่อง หรือนำภาพของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับการอนุญาติ และทำให้สื่อหลักที่น่าเชื่อถือ ยังหลงประพฤติตนตาม เพื่อยอดรับชม

ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญที่ลุกลามในกลุ่ม 'สื่อพลเมือง' ส่วนหนึ่งผมมองแง่บวกว่าเพราะทำงานกันอิสระ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดการช่วยกันกลั่นกรองตรวจตรา ขาดประสบการณ์ที่ตกผลึก หรือผู้รู้ที่จะช่วยกรองข้อมูลที่ผิดพลาด ล่อแหลมและล่วงละเมิดออกไปจากเนื้อหาและพาดหัวเรื่อง

>> Citizen media is here to stay – สื่อพลเมืองจะอยู่ตลอดไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง ในบทบาทของสื่อพลเมือง แต่เชื่อว่า 'สื่อพลเมือง' จะอยู่กับเราตลอดไป และจะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาทดแทนสื่อหลักในอดีต  

ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากเห็น ในวันที่สื่อพลเมือง พร้อมจะแปลงร่างเป็นสื่อหลักได้ทุกเมื่อ คือ การยกระดับศักยภาพของสื่อพลเมือง เมื่อคิดจะเป็นสื่อ ต้องเป็นสื่ออย่าง 'มืออาชีพ' เหมือนกับสื่อที่มีสังกัดชัดเจน ที่เขียนข่าวหรือบทความให้กับหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือค่ายวิทยุข่าว (ทั้งข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม ข่าวบันเทิง และข่าวกีฬา)

ผมไม่อยากเห็นสื่อพลเมือง อาศัยความเป็นอิสระและรู้สึกว่าไม่ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่นำเสนอ

ยิ่งสื่อพลเมือง ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก มีอิทธิพลต่อการรับรู้และพฤติกรรมของผู้ติดตามมากไม่น้อยกว่าสื่อสำนักใหญ่ ยิ่งควรทำงานด้วยความระมัดระวัง 

>> เพราะนี่คือการก้าวเข้าเท้ามาในสายสื่อแล้วแบบค่อนตัว
>> จริยธรรมและจรรยาบรรณในการสร้างสรรค์สื่อจึงควรพึงมี 
>> และจงพึงรับรู้ว่าทุกการสื่อสารของคุณ ควรต้องอยู่บนเกียรติและศักดิ์ศรีของตนและผู้อื่น
>> เนื่องจากสื่อของคุณอาจเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใครบางคน จงท่องให้ขึ้นใจว่า "อะไรคือความรับผิดชอบต่อสังคม" 

อย่างไรซะ ก็ไม่ใช่ว่าจะมาพูดจาเพียงเพื่อกล่าวโทษ อิสรภาพของสื่อพลเมืองที่นำมาสู่จริยธรรมอันมืดบอด แต่อยากบอกทางรอดให้ในตัว โดยผมอยากให้ภาคส่วนที่มีบทบาทต่อห่วงโซ่ของสื่อต้องตื่นตัว!!  

ควรมีการจัดอบรมเพื่อเติมเต็มให้กับความรู้และแนวคิดด้านสื่อสารมวลชนแก่ สื่อพลเมือง อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะจะเป็นสถาบันหรือหน่วยงานที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอาชีพได้ ก็จัดมาให้เต็มที่ เช่น มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวารสารศาสตร์และนิเทศศาสตร์ บริษัทโฆษณา สำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และอื่นๆ

หน่วยงานเหล่านี้ ต้องออกมาเล่นเกมรุก ต้องมุ่งอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับสื่อพลเมือง โดยมีเงื่อนไขที่ว่าอย่าพยายามยัดเยียดบุคลากรของตน หรือผู้อาวุโสทางตำแหน่งเข้าไปในการอบรม แบบนั้นมันเอาท์!! ในทางตรงกันข้าม ต้องคัดเฟ้นบุคลากรด้านวิชาการที่มีเครดิตเป็น 'นักคิด' และผู้มีประสบการณ์ในการทำงานสื่อตัวจริงในโลกยุคใหม่ ซึ่งตรงนี้ไม่ติดว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่า แต่ขอเป็นบุคคลที่เชื่อมโซ่ข้อกลางของวงการสื่อยุคนี้ให้ได้

จับคนเหล่านี้มาเจอกัน เรียนรู้กันและกัน แลกเปลี่ยนไปด้วยกัน ตรงนี้จะทำให้เกิดเครือข่ายด้านอาชีพที่มีลักษณะจับต้องได้ ยิ่งไปกว่านั้นจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำสื่อจากเพื่อนร่วมอาชีพที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้สื่อพลเมืองต้องพัฒนาตนเองเพื่อจะได้อยู่ในระนาบเดียวกับเพื่อนร่วมอาชีพในแง่ของมาตรฐานและจริยธรรม

นอกจากนี้ อยากให้ตระหนักถึง 'การคัดเลือก' โดยการเฝ้าติดตาม หรือสร้างการประกวดเพื่อมอบรางวัลแก่สื่อบ่อยๆ ฟังดูอาจเป็นวิธีที่ล้าสมัย แต่การชนะรางวัลเอย การมีวุฒิบัตรเอย โล่ห์เกียรติคุณเอย ย่อมผลักดันให้อาชีพนั้นๆ อยากรักษาและปรับปรุงคุณภาพของงานให้ดีขึ้นต่อไป ซึ่งอาชีพสื่อก็ไม่ต่างกัน

และนั่นอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้บรรดา สื่อพลเมือง อยากก้าวเข้าสู่กระบวนการผลิตข่าวอย่างถูกต้อง ปัญหาการสร้างข่าว หรือเขียนข้อมูลขึ้นมาเองจะค่อยๆ หมดไป 

สิ่งที่จะตามมา คือ พวกเขาจะต้องแน่ใจว่าข่าว และข้อมูลที่นำเสนอทั้งหมดเป็นความจริง มีหลักฐานยืนยันได้ ก่อนนำออกเสนอหรือตีพิมพ์ จะต้องแน่ใจว่าไม่มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ทั้งโดยตัวอักษรหรือภาพ และต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย 

เชื่อไหมว่า ทุกวันนี้ สื่อพลเมือง หลายกลุ่มกำลังย่ำแย่ เนื่องจากไม่มีความเข้าใจในด้านกฎหมาย เพราะด้วยความที่ไม่มีสังกัด หรือองค์กร คิดว่าอิสรภาพของตนไร้ขอบเขต พอเจอฟ้องเอาผิด ก็หาคนช่วยเหลือหรือปกป้องคอนเทนต์ไม่ได้ สุดท้ายต้องมาเสียทั้งเงินและเวลาเอาง่ายๆ

แน่นอนว่า วันนี้จุดแข็งของ สื่อพลเมือง และผู้ผลิตสื่อในรูปแบบต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต คือ การสร้างสูตรในการนำเสนอ จนผมเชื่อมั่นเหมือนกันว่า บรรดาสื่อพลเมืองเหล่านี้ ก็ได้สร้างบรรทัดฐานของความสำเร็จ จนเหมือนเป็นนักวิชาการอิสระ ที่ช่วยชี้นำทิศทางของอุตสาหกรรมสื่อได้มาก

เพียงแต่พวกเขา ควรต้องมีพื้นที่ยืนอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เกิดเกียรติภูมิในอาชีพ มีตัวตนที่จับต้องได้ และมีความภูมิใจ ที่จะเสนอเนื้อหาที่มีพร้อมรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes
คลิก ????  https://lin.ee/vfTXud9

Verzasca Valley ลำธารสีมรกตในหุบเขา ความงดงามล้ำค่าของ Tessin

Tessin (เทสซิน) ในภาษาเยอรมันหรือ Ticino (ทิชีโน่) ในภาษาอิตาลี เป็นรัฐเดียวในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่ใช้ภาษาอิตาลี และอยู่ติดกับทางชายแดนอิตาลี มีประชากร 351.491 คนจากสถิติเมื่อปี 2019 เมืองหลักคือเมือง Bellinzona (เบลลินโซน่า) เมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐคือเมือง Lugano (ลูกาโน่) 

Tessin เป็นรัฐที่คนสวิสเองนิยมไปพักร้อนกันมากในวันหยุดพักผ่อน เพราะบรรยากาศและอากาศเป็นหลัก สำเนียงอิตาเลียน, อาหาร, สถาปัตยกรรม, ทัศนคติและไลฟ์สไตล์ที่ผ่อนคลายกว่าทุกที่ในสวิสเซอร์แลนด์ แถมอากาศจะค่อนไปทางอบอุ่นมีแดดมากกว่ารัฐทางเหนือเช่น Zürich (ซูริค) เข้าเขต Tessin เมื่อไหร่ก็จะเห็นพวกต้นปาล์มและต้นไม้เขตร้อนอื่น ๆ เหมือนว่าเราไปต่างประเทศเลยทีเดียว 

ที่พูดถึงรัฐนี้เพราะพอดีว่าเมื่ออาทิตย์ก่อนวี่มี Vacation บวกวันหยุดนักขัตฤกษ์ด้วยเกือบสองอาทิตย์ เลยลงไปเที่ยวทางใต้ ก็คือรัฐ Tessin เนี่ยแหละ และได้มีโอกาสไป Verzasca Valley ลำธารสีมรกตในหุบเขา ที่ว่ากันว่าเป็นเพชรเม็ดงามของ Tessin ซึ่งปี 2019 ได้ไปมาครั้งหนึ่งก็รู้สึกประทับใจและคิดอยู่เสมอว่าจะต้องหาโอกาสไปอีกให้ได้ จนประจวบเหมาะว่าในกลุ่มลงมติกันว่าจะไปแต่ประสบการณ์ครั้งนี้มันน่าจดจำ และสวยงามกว่าคราวก่อนก็ตรงที่ได้ Hiking ด้วย

ไฮไลต์ของ Verzasca Valley ก็น่าจะเป็นสะพานหิน Ponte del Salti ที่ปกติคนจะแน่นมากโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวเอเซีย รวมถึงคนไทยด้วย แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิดเลยมีคนสวิสซะเยอะ (แต่ก็ยังน้อยถ้าเทียบกับสถานการณ์ปกติที่มีนักท่องเที่ยว) ในหน้าร้อนคนชอบมาที่สะพานเพื่อกระโดดลงไปที่ลำธาร ถึงแม้น้ำจะเย็นมากแต่ก็จะมีคนเล่นน้ำ ดำน้ำตลอด ตามโขดหินก็มีคนนอนอาบแดด นั่งเล่นเป็นภาพที่เห็นจนชินตา 

แต่วี่ไม่ได้ไปแค่ตรงนี้หรอก เมื่อปี 2019 เคยไปมาแล้วตอนหน้าร้อนเลยไม่ค่อยได้เก็บเกี่ยวอะไรมากเท่าไหร่ แต่ครั้งนี้เรานั่ง Postauto (โพสต์เอาโต้) หรือรถบัสสีเหลืองสาย 321 จากป้าย Lavertezzo, Monda ไปสองป้าย ไปลงที่ป้าย Brione (Verzasca) ความบังเอิญทำให้พบกับความสวยงามแท้ ๆ เพราะวี่ลงผิดป้าย ตอนแรกกะจะไปไกลกว่านี้ตรงจุดเริ่มต้นคือ Sonogno ซึ่งเป็นเส้นทาง Hiking ที่มีระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร แต่พอมาดูข้อมูลคือเขาว่ากันว่าช่วง Brione ถึง Lavertezzo คือช่วงที่วิวสวยที่สุด วี่รู้สึกโชคดีมากที่ลงผิด

จะบอกว่าเดินแค่นี้ก็เหนื่อยแล้ว เพราะมีเด็กน้อยไปด้วย 2 คน และเส้นทางค่อนข้างเป็นเส้นทางธรรมชาติ วี่หมายถึงทางเดินบางช่วงเป็นหินที่มีน้ำเซาะผ่านอาจลื่นนิด ๆ บางช่วงบนพื้นคือมีรากไม้เยอะมากหากเดินไม่ระวังอาจมีสะดุดล้มได้ง่าย ๆ แต่คือมันดีแบบที่สุดและคิดว่าต้องไปอีกแน่ ๆ วิวทุกช่วงทุกตอนมันว๊าว !! มีสิบให้เต็มสิบ มีร้อยก็ให้เต็มร้อยนะ พื้นที่มีโขดหิน หรือพื้นที่ตรงลำธารทำให้เราได้นั่งพักและปิ๊กนิกเป็นระยะ ๆ ระหว่างทางเราก็จะเห็นน้ำสีเขียวมรกต โขดหินหลากสี สลับกับป่าสีเขียวขจีและน้ำตกน้อย เวลาเรายืนอยู่ใกล้ ๆ น้ำตก แล้วน้ำกระเซ็นมาที่หน้ามันรู้สึกชุ่มฉ่ำอย่างบอกไม่ถูกเลยล่ะ

เวลาวี่ไป Hiking มักจะชอบเข้าไปยืนใกล้ ๆ ต้นไม้ใหญ่ สูดลมหายใจเข้าให้เต็มปอด และผ่อนลมออกให้เต็มที่เป็นการเปลี่ยนถ่ายพลังงานอย่างนึง และกลิ่นป่าธรรมชาติตรงนี้ก็หอมมากจริง ๆ ถ้าใครมีโอกาสได้มาสวิส ที่นี่เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่วี่ขอแนะนำ มาแล้วรับรองว่าจะไม่ผิดหวังแน่นอน


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

อิทธิพลของการสื่อสารแบบปากต่อปาก “Word - of - Mouth” บอกต่อไว้ให้จำอีกนาน

การบอกต่อ (word-of-mouth) เป็นการตลาดภาคพลเมือง (citizen marketing) คือการที่ผู้บริโภครีวิวสินค้าและบริการด้วยความสมัครใจ โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ของตนเอง โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าด้วยความคิดเห็น บทวิเคราะห์ รูปภาพ วิดิโอ หรือจัดทำเป็นโพสต์ในโซเชียลมีเดีย หรือในเว็บไซต์ แต่ความหมายของ “การตลาดภาคพลเมือง” ไม่ได้หมายถึง การชักชวนให้ซื้อสินค้าและบริการเท่านั้น เพราะการรีวิวสินค้าโดยกลุ่มผู้บริโภค อาจจะนำไปสู่การปฎิเสธ หรือการต่อต้านสินค้าและบริการได้เช่นกัน 

การตลาดภาคพลเมือง มีพลัง และมีอิทธิพลอย่างมาก เพราะมาจากคนทั่วไปที่ใช้สินค้าและบริการ ความคิดเห็นต่าง ๆ จึงมีความเป็นอิสระ ไม่ได้มาจากชุดคำพูดที่เอเจนซีโฆษณาสร้างสรรค์ให้ หรือไม่ได้มาจากนักเขียนรีวิว ที่ได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าของสินค้าและบริการ

เมื่อมีการรีวิวจากผู้ซื้อหลาย ๆ ราย ที่ให้รายละเอียดต่าง ๆ โดยมีเจตนาที่จะแจ้งให้ผู้คนทั่วไปที่กำลังสนใจในสินค้าหรือบริการได้ทราบถึง ข้อดี ข้อเสีย ความพึงพอใจ ความผิดหวังในคุณภาพและการใช้งาน

ในกลุ่มผลิตภัณฑ์นั้น สินค้าอุปโภคบริโภคที่อยู่ในตลาดมายาวนาน ผู้ใช้จำนวนมากอาจมีความภักดีในสินค้า (brand loyalty) ในระดับระดับหนึ่ง จากประสบการณ์ส่วนตัวที่พอใจในคุณภาพ จึงไม่มีการรีวิวตัวผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในตลาดมานานหลายปีมากนัก แต่หากเป็นสินค้าชนิดใหม่ ที่เพิ่งปรากฎในตลาด จะมีการรีวิวมากมาย จากผู้ที่ได้ลองซื้อมาใช้ รีวิวเหล่านี้ มีผลต่อความสำเร็จของสินค้า

ผู้ที่รีวิวสินค้าและบริการเหล่านี้ ใช้สิทธิของผู้บริโภคในการวิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ โดยอาจแชร์ความไม่พอใจ ความแตกต่างจากความคาดหวังและกฎเกณฑ์ส่วนตัว ลักษณะสินค้าที่ไม่ตรงปก บางครั้งมีการแนะให้ปรับปรุงสินค้าราวกับเป็นผู้มีส่วนในการออกแบบและวางแผนการตลาดของผลิตภัณฑ์ จนถือว่าเป็นผู้บริโภคที่เรียกว่า proactive consumer หรือผู้บริโภคเชิงรุก หรือ prosumer (producer+consumer)

การรีวิวสินค้านั้น เป็นการบอกต่อ (word-of-mouth) ชนิดหนึ่ง ในอดีต การบอกต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคน จนเกิดการรับรู้ในกลุ่มใหญ่ขึ้นนั้นใช้เวลานาน จากหนึ่งคนกว่าจะรู้กันทั้งหมู่บ้าน จนรู้กันทั่วจังหวัดและประเทศอาจต้องใช้เวลาเป็นปี แต่ในยุคดิจิทัล การสื่อสารด้วยโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ต ทำให้การบอกต่อ ในลักษณะของการรีวิว ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีที่จะรับรู้กันได้ทั้งโลก !!

การทำการตลาดภาคพลเมือง โดยผู้บริโภคเชิงรุกนั้น สร้างผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบได้รุนแรง มีพลังไม่แพ้การโฆษณาที่ใช้งบประมาณมหาศาล

เหตุการณ์ที่แสดงถึงผลกระทบด้านลบต่อสินค้าและบริการ ที่เริ่มต้นโดย citizen marketing มีให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเวลาที่สังคมแตกแยก แบ่งฟาก และนำการเมืองเข้ามาปนกับนโยบายการดำเนินธุรกิจ เห็นได้จากเหตุการณ์ที่ผลิตภัณฑ์ขนมปัง ฟาร์มนมสด ร้านสุกี้ ร้านชาไต้หวัน และสินค้าอื่น ๆ ที่ประกาศตัวว่า ไม่ยินดีให้บริการ “สลิ่ม” ไม่ว่านโยบายที่เชื่อมธุรกิจเข้ากับจุดยืนทางการเมืองดังกล่าว จะมาจากเจ้าของผลิตภัณฑ์เอง หรือคนอื่นถือวิสาสะจัดชุดข้อมูลให้เอง การบอกต่อของสังคมและกลุ่มผู้บริโภค ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจอย่างชัดเจน สินค้าเหลือค้างบนชั้นวางในร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายนมและไอศครีม ซึ่งเคยเป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยม กลายเป็นลูกค้าลดฮวบ 

Citizen marketing ทำโดยผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจ และไม่แคร์ว่า ยอดขายจะลด หรือลูกค้าจะหดหาย เพราะไม่ใช่ปัญหาของนักการตลาดภาคพลเมือง ซึ่งโฟกัสไปที่การกระจายข้อมูลให้กว้างที่สุด แรงที่สุด และเร็วที่สุด 

ในขณะที่นักการตลาดมืออาชีพ จะต้องเก็บข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายในมิติต่าง ๆ เช่น เพศ อายุ การศึกษา รายได้ รสนิยม ไลฟสไตล์ เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคอย่างรอบคอบ นักการตลาดพลเมืองมองสินค้าและบริการแบบแบน ๆ เท่านั้นคือ “เชียร์” หรือ “ต่อต้าน”

การทำการตลาดโดยแสดงการกีดกัน หรือเลือกผู้บริโภค (discriminatory marketing) มีอยู่รอบตัวแต่เราไม่ได้สร้างประเด็น เช่น การตั้งราคาสินค้าให้สูงย่อมเป็นการแบ่งชนชั้น การที่ร้านอาหารตั้งราคาอาหารสูงลิ่ว แม้ว่าคุณภาพและปริมาณอาหารจะไม่ได้ต่างจากร้านทั่วไปมากนัก ถือว่าเป็นการคัดเลือกลูกค้า ร้านกาแฟก็เช่นกัน การทำการตลาดแบบกีดกัน เป็นการเลือกอย่างเต็มใจของผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการ การตั้งราคาสินค้าแพงย่อมมียอดขายน้อยกว่าสินค้าราคาถูกกว่า ร้านอาหารราคาแพง ได้ลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากกว่า แต่ต้องรับแรงกดดันและการคาดหวังของผู้จ่ายเงินเช่นกัน

ในยุคที่บรรยากาศของสังคมเต็มไปด้วยความคับข้องใจทางการเมือง จุดยืนทางการเมืองถูกนำมาใช้ในลักษณะ การตลาดแบบกีดกันมากขึ้น เช่น
>> โรงแรมที่เชียงใหม่ ประกาศตัวว่าไม่ต้อนรับสลิ่ม 
>> ร้านอาหารย่านซอยอารีย์ในกรุงเทพฯ ประกาศตัวว่าพนักงานที่ร้านไม่พูด “นะจ๊ะ” เพื่อเหน็บนายกรัฐมนตรี ถ้าลูกค้าได้ยินขอให้แจ้งทางร้าน จะไล่พนักงานออก 
>> แท็กซี่ติดสติกเกอร์ด้านข้างรถว่า “ไม่รับตำรวจและทหาร” 
>> ร้านขายเนื้อสัตว์และผักสดในตลาด แขวนป้ายประกาศไว้ว่า “ไม่ขายให้ทหารและตำรวจในเครื่องแบบ”

การประกาศแบบกีดกันกลุ่มลูกค้า เป็นสิทธิที่เจ้าของธุรกิจทำได้โดยไม่มีข้อห้าม และเมื่อมี citizen marketing เข้าร่วมช่วยทำการตลาด โดยการบอกต่อ ความต้องการที่จะกีดกันลูกค้ากลุ่มที่ไม่ชอบก็ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่ในขณะที่การกีดกันด้วยราคานั้น สามารถปรับเปลี่ยน แก้ไขไปตามสถานการณ์โดยรอบ เช่น สภาพเศรษฐกิจ โดยการลดราคาให้ถูกกว่าเดิม หรือออกสินค้ารุ่นใหม่ในราคาใหม่

แต่การกีดกันกลุ่มผู้บริโภคด้วยทัศนคติทางการเมือง นอกจากกลุ่มที่ระบุแล้ว ยังมีผลทำให้กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใด เลี่ยงที่จะใช้บริการนั้นด้วย เพราะความรู้สึกว่าผู้ประกอบธุรกิจไม่รู้จักแยกแยะ และกังวลว่า การไปใช้บริการทั้งในร้านอาหาร พักในโรงแรม หรือขึ้นแท็กซี่ อาจไม่รื่นรมย์ ต้องระวังตัวทั้งคำพูด การแต่งกาย และพฤติกรรมต่าง ๆ จึงขอตัดปัญหาโดยการเลือกผู้ให้บริการรายอื่น และการตีตราให้ธุรกิจนั้นจะเป็นที่จดจำไปอีกนาน แม้จะกลับลำภายหลัง ก็ยากที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้

ผู้ประกอบธุรกิจ เชื่อมั่นว่าจะดำเนินธุรกิจเชิงกีดกันกลุ่มผู้บริโภค ควรตั้งชื่อร้านอาหาร โรงแรม และสินค้าต่าง ๆ ให้ชัดเจนไปเลยว่าต้องการลูกค้ากลุ่มไหน สีไหน วัยไหน นอกจากจะให้ความสะดวกแก่กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ต้องการแล้ว ยังช่วยเรียกกลุ่มที่ต้องการให้มาสนับสนุนธุรกิจด้วย

ในต่างประเทศเช่นในสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค โดยร้านอาหารไม่สามารถปฎิเสธลูกค้าด้วยพื้นฐานของ เพศสภาพ เชื้อชาติ สีผิว หรือศาสนา แต่ร้านอาหารมีสิทธิปฎิเสธลูกค้าที่แต่งกายไม่เหมาะสม หรือมีลักษณะที่อาจมีผลกระทบต่อลูกค้าอื่น ๆ ได้ และมีการฟ้องร้องระหว่างร้านอาหารและลูกค้าที่ถูกปฎิเสธ มากมายตลอดมา

การปฎิเสธกลุ่มลูกค้าในเมืองไทย คงไม่ถึงกับขึ้นโรงขึ้นศาล แต่น่าจับตามองเป็นกรณีศึกษา ว่าจะไปต่อได้ตลอดไปจนกลายเป็นแนวทางการตลาดที่ได้รับความนิยมหรือไม่


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top