Monday, 20 May 2024
WorldWhy

เมื่อวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชาวพม่ามีนัดชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์ ที่เรียกว่าวันลุกฮือ ‘22222 uprising’ (จากตัวเลขวันที่ 22/2/2021) ที่จะเป็นการนัดหยุดงานร่วมเดินขบวนประท้วงต่อต้านการรัฐประหารของทัพพม่าครั้งใหญ่ที่สุด

การนัดชุมนุมครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่มีข่าวยืนยันการเสียชีวิตของ ‘มยา ตะเวง ตะเวง คาย’ หญิงสาวพม่า หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกกระสุนปืนจริงที่ศีรษะเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามมาด้วยการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริงโดยเจ้าหน้าที่ในเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย และบาดเจ็บกว่า 30 คน

และในวันนี้ ชาวพม่าจึงพร้อมใจกันนัดหยุดงานทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่ช่วงเช้า โดยเฉพาะในย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และกรุงเนปิดอว์ ที่มีผู้มาร่วมชุมนุมกันมากมายมหาศาลมากกว่าแสนคน เนืองแน่นเต็มท้องถนน ซึ่งชาวเน็ตในพม่าต่างออกมารายงานสถานการณ์ในแต่ละเมือง และพบว่ามีการนัดเดินขบวนประท้วงร่วมกันเกือบทุกเมืองแล้วทั่วประเทศ

บริษัท ห้าง และร้านค้าหลายแห่ง ก็หยุดทำการในวันนี้ อาทิเช่น KFC และ บริษัทขนส่ง Food Panda ที่อนุญาตให้พนักงานเข้าร่วมชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนชาวพม่าในการเรียกร้องประชาธิปไตย ส่วนธนาคาร โรงพยาบาล สถานที่ราชการยังคงเปิดทำการ แต่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ออกไปร่วมชุมนุมได้ แต่ให้จัดสรรบุคลากรอย่างเหมาะสม เพื่อยังคงเปิดให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทั่วไปได้

ถึงแม้ว่ารัฐบาลทหารได้ออกคำสั่งว่าการนัดหยุดงานเพื่อเข้าร่วมชุมนุม หรือเป็นสัญลักษณ์ของการอารยะขัดขืนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีการจับกุมและลงโทษตามกฎหมาย แต่บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ 12 แห่งในพม่าได้ออกแถลงการณ์ สนับสนุนพนักงานชาวพม่าหากต้องการจะหยุดงานเพื่อร่วมชุมนุมตามหลักสิทธิเสรีภาพ

ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง 12 แห่งได้แก่ บริษัท เบียร์ คาร์ลสเบิร์ก และ ไฮเนเกน, เนสท์เล่, โคคา-โคลา, บริษัทผลิตเสื้อผ้า H&M, บริษัทเทเลคอม Telenor และ Ooredoo, บริษัทน้ำมัน Unocal, Total และ Woodside, บริษัทขนส่ง Maersk และบริษัทผลิตอุปกรณ์สื่อสารอย่าง Ericsson ซึ่งได้เข้ามาลงทุนและจ้างแรงงานพม่ารวมกันมากกว่า 100,000 คน

โดยทางกลุ่มบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ เน้นย้ำว่ายังต้องการที่จะทำธุรกิจในพม่า แต่ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนสากล ที่เน้นความสำคัญของการแสดงออกตามแนวทางประชาธิปไตย และเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าแก้ไขสถานการณ์ในประเทศโดยเร็วที่สุด ให้สอดคล้องกับเจตนารมย์ของประชาชนชาวพม่า

และชาวพม่าก็หวังว่าการลุกฮือ 22222 ในวันนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ของพม่า แต่ทั้งนี้การจับกุมแกนนำกลุ่มผู้ประท้วงยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จับกุมกลุ่มต่อต้านไปแล้วถึง 640 คน และตัดสัญญาอินเตอร์เน็ตติดต่อกันเป็นวันที่ 8 ส่วนประสิทธิภาพของสัญญาณโดยรวมลดลงเหลือเพียง 13% ของระดับการใช้งานปกติ แต่ก็ยังไม่อาจยับยังการนัดชุมนุมของหนุ่ม-สาว ชาวพม่าจากทั่วประเทศได้


อ้างอิง:

https://www.aljazeera.com/news/2021/2/22/myanmar-new

https://www.mmtimes.com/news/least-two-more-dead-tensions-escalate-myanmar.html

https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/myanmar-protesters-plan-even-bigger-rallies-after-deadly-clashes

เวียดนามแซงหน้าไทยในหลายดัชนี ทั้งการส่งออก #Export ทุนต่างชาติไหลเข้า #FDI (แม้ไทยยังคงมี GDP และ GDP per capita สูงกว่าเวียดนาม)

ในขณะนี้ เวียดนามแซงหน้าไทยในหลายดัชนี ทั้งการส่งออก #Export ทุนต่างชาติไหลเข้า #FDI (แม้ไทยยังคงมี GDP และ GDP per capita สูงกว่าเวียดนาม) ล่าสุด “อังค์ถัด” เผยไทยถดถอยใน global supply chain ขาดความน่าสนใจลงทุน ในขณะที่ #นวัตกรรมเวียดนาม เป็นรองแค่ สิงคโปร์ -มาเลเซีย

#จุดแข็งเวียดนาม คนเวียดนามขยัน / เรียนรู้ / ปรับตัว / ไม่ทำตัวเป็นกบต้ม และมีการเมืองนิ่ง มีกลไกรัฐที่เข้มแข็ง และจริงจังจะเป็นปัจจัยเอื้อในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้วิ่งฉิวได้

เหรียญมี 2 ด้าน #เวียดนามยังมีจุดอ่อนในหลายด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ยังครอบคลุมไม่ทั่วทั้งประเทศ แต่เวียดนามไม่มัวแต่ชะล่าใจ ยอมรับปัญหา/เร่งพัฒนา เพื่อขจัดจุดอ่อนตัวเอง

เวียดนามมีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน ประเทศจะไปทางไหน จนตอนนี้กลายเป็นฐานผลิต Smart Phone อันดับต้นของโลก

เวียดนามมีแบรนด์รถที่ผลิตเองแล้ว #Vinfast และมี Startup ระดับ Unicorn #VNG แต่ไทยยังไม่มีสักอย่าง

เวียดนามมีดัชนีด้านนวัตกรรม Global Innovation Index (GII) ที่แซงหน้าไทย และดัชนี Pisa ชนะไทยมาตั้งแต่ปี 2015 แล้วด้วย

เวียดนาม กลายเป็นคู่ค้าหลักของจีนที่ขยายตัวเร็วมากในยุคสีจิ้นผิง จึงดันให้สถิติอาเซียนทั้งกลุ่ม (10 ประเทศ) ก้าวขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนในปี 2020 (แซงอียูและสหรัฐ)

ยุคนี้ เวียดนาม "อยู่เป็น" ในความสัมพันธ์กับจีน เวียดนามเน้นก้าวข้ามประเด็นความขัดแย้งกับจีน (พักปัญหาเอาไว้ก่อน) หันมาเน้นทำมาหากิน สร้างบ้านสร้างเมือง #ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต้องมาก่อน ต้องแข็งแกร่งให้ได้ก่อน เวียดนามฉลาดในการ #แปลงจีนให้เป็นโอกาส ด้วยจ้า

เวียดนามมียุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งทำ Digitalization เพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วน 20% ของจีดีพีเวียดนาม ภายในปี 2025

ถ้าสนใจอ่านความสัมพันธ์จีน-เวียดนาม คลิกอ่านบทความนี้ของ อ.ษร ได้เลย “ไหนว่าไม่รักกัน : ความสัมพันธ์จีน-เวียดนาม” https://www.the101.world/china-and-vietnam/

#ข้อได้เปรียบเวียดนาม ด้าน FDI มีอย่างน้อย 4 เรื่อง เช่น

1) โครงสร้างองค์กร จังหวัดมีกรม/กองที่ดูแลเรื่องการต่างประเทศและการส่งเสริมการลงทุนของตัวเองระดับหนึ่ง

2) กระทรวงการต่างประเทศเวียดนามมีกรมการต่างประเทศเพื่อจังหวัด ประสานส่งเสริมจังหวัดตามข้อ 1

3) USAID ร่วมกับ VCCI สำรวจ วิเคราะห์และรายงานผล Provincial Competitiveness Index มา 15 ปีแล้ว รวมทั้ง “ความโปร่งใส” และ “ความยากง่ายในการทำธุรกิจ”

4) คณะกรรมระดับชาติส่งเสริมเรื่องการใช้ประโยชน์จากคนเวียดนามโพ้นทะเล โดยเฉพาะและส่งเสริมมานานหลายสิบปีตั้งแต่ระดับผู้นำประเทศลงมา

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนาม ประกาศ #เเผนเศรษฐกิจ 5 ปี ฟื้นฟูประเทศจากพิษ COVID-19 ตั้งเป้าจีดีพีเติบโตสูงสุดถึง 7% เร่งพัฒนาให้เป็น ‘ศูนย์กลางใหม่’ ของการลงทุนเทคโนโลยีไฮเทค

*** ปัญหากบต้ม โดย Noel Tichy อธิบาย สภาพปัญหาเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น โดยคนทั่วไปไม่รู้ตัว /ชะล่าใจ จึงไม่ป้องกันตัวเองหรือปรับตัว เสมือนเป็นกบนอนแช่ในหม้อต้ม ตอนแรกสภาพน้ำเย็นสบาย ก็ชะล่าใจ แล้วพอน้ำค่อยๆ อุ่นขึ้น แทนที่กบจะกระโดดหนีกลับนอนแช่ทนต่อน้ำที่อุ่นขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นน้ำเดือด ในที่สุด จึงกลายเป็น “กบต้ม”ตายคาหม้อต้ม

             


อ่านเพิ่มเติมได้จาก

https://positioningmag.com/1317386?fbclid=IwAR2dtuk6qA3fMD4A-PCiMFoqP8ZhHXlRnLHEdg8qfN69TQDTSswMxRApGqw

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/923755

โดย ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

https://www.facebook.com/1037140385/posts/10222738872353895/

พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา เตือนเรื่องการเพิกถอนใบอนุญาตของสื่อมวลชนรายใดก็ตาม ที่ยังคงใช้คำว่า 'คณะรัฐประหาร' หรือ​ 'รัฐบาลทหาร' และ 'ระบอบ'

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงการสื่อสารของเมียนมาเคยส่งหนังสืออย่างเป็นทางการถึงสมาคมสื่อแห่งชาติ ว่ารายงานข่าวด้วยการใช้คำว่า "รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร" กับรัฐบาลทหารนั้น "ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของจรรยาบรรณสื่อ" พร้อมทั้งเตือนการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย และการถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ของกฎหมายด้านข่าวสาร ที่ระบุแนวทางปฏิบัติงานของสื่อมวลชนทุกแขนงในเมียนมา ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐ "อย่างเคร่งครัด"

ขณะที่สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของเมียนมา รายงานว่า พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ กล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่ากองทัพ "ส่งคำเตือน" ไปยังสื่อทุกแห่งในประเทศ ว่าจะใช้มาตรการ "เด็ดขาด" ที่รวมถึงการเพิกถอนใบอนุญาต หากสื่อมวลชนรายใดก็ตามยังคงรายงานว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา "คือการรัฐประหาร"

ทั้งนี้​ มีรายงานด้วยว่า ผู้สื่อข่าวอาวุโสหลายคนของเมียนมา ไทม์ส ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเพียงไม่กี่ฉบับของเมียนมา พร้อมใจยื่นใบลาออก หลังได้รับคำสั่งจากฝ่ายบริหาร ให้ใช้คำว่า "การถ่ายโอนอำนาจ" แทน "การรัฐประหาร"


ที่มา: https://www.dailynews.co.th/foreign/827268

ศาลปักกิ่ง​ สั่งสามีจ่ายเงินชดเชยภรรยาร่วม 2 แสนบาท​ ฐานปล่อย​ 'ทำงานบ้านหนัก'​ อย่างโดดเดี่ยว​ ด้านชาวเน็ตท้วง​ จ่ายแค่นี้ยังน้อยไปกับสิ่งที่ภรรยาต้องแบก

นับเป็นคดีแรกภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งใหม่ของจีน เมื่อศาลแห่งหนึ่งของปักกิ่งได้สั่งสามีรายหนึ่งจ่ายเงินหลายหมื่นหยวน แก่ภรรยาที่กำลังหย่าร้างกัน เป็นเงินชดเชยจากการทำงานหนักและชีวิตแสนน่าเบื่อหน่ายตลอดเวลา 5 ปีของชีวิตสมรส ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นคดีที่จุดชนวนการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนบนสื่อสังคมออนไลน์

ข้อมูลจาก China Women’s News ระบุว่าโจทก์แซ่หวัง ซึ่งเป็นภรรยาได้ยื่นขอหย่าจากสามีแซ่เฉินเมื่อปีที่แล้ว​ โดยเธออ้างว่าสามีไม่ใส่ใจหรือไม่มีส่วนร่วมใดๆ​ ในงานบ้านทั้งหลายเลย เขาออกไปทำงานทุกวัน ทิ้งให้เธออยู่บ้านเลี้ยงลูกตามลำพัง

และท้ายที่สุดศาลแขวงในกรุงปักกิ่ง ก็พิพากษาเข้าข้างเธอ สั่งให้ เฉิน จ่ายเงินชดเชย 50,000 หยวน​ (ราว 2.3 แสนบาท) โทษฐานละเลยแบ่งภาระหน้าที่ภายในครอบครัว

ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งใหม่ของจีน ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม ระบุว่า​ สามีหรือภรรยา ซึ่งแบกกับความรับผิดชอบมากกว่าอีกฝ่าย ทั้งเลี้ยงลูก ดูแลญาติ ๆ​ คนชรา ทำงานบ้านหรือทำหน้าที่อื่นๆ​ ที่จำเป็น​ โดยบ่อยครั้งกลับเป็นหน้าที่ที่อีกฝ่ายมองไม่เห็นค่า เขาหรือเธอมีสิทธิ์เรียกเงินชดเชยจากอีกฝ่าย เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาคิดหย่าร้างกัน

กฎหมายสมรสใหม่นี้​ ถูกนำมาแทนที่ประมวลกฎหมายแพ่งเดิม ซึ่งกำหนดให้คู่สมรสที่กำลังหาทางหย่าร้าง สามารถเรียกเงินชดเชยกันได้ก็ต่อเมื่อทั้งคู่ลงนามในสัญญาก่อนสมรสเท่านั้น โดยสัญญาก่อนสมรสนั้นจะระบุเงื่อนไขต่าง ๆ​ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่ปฏิบัติกันนักในหมู่คู่รักชาวจีน

ด้าน จาง หยาน เลขาธิการทั่วไปของคณะกรรมการด้านกฎหมายสมรสและครอบครัวของสมาคมทนายความเสิ่นหยาง ให้ความเห็นว่ากฎหมายเงินชดเชยใหม่จะช่วยปกป้องสิทธิของแม่บ้านมากยิ่งขึ้น

"แม่บ้านไม่ใช่แค่ต้องแบกรับทำงานหนัก แต่การไม่มีงานทำ ก็ทำให้พวกเธอเจอกับปัญหาขาดการติดต่อกับสังคมในระยะยาว" จาง​ หยานกล่าวและว่า "ในแง่ของพลวัตในความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยา โดยทั่วไปแล้วฝ่ายหญิงจะอยู่ในฐานะที่อ่อนแอกว่า"

สำหรับเรื่องดังกล่าวได้หลุดไปถึงสื่อสังคมออนไลน์​ โดยบางส่วนบ่งชี้ว่า​ คำตัดสินของศาลเป็นก้าวย่างในทางบวก เพื่อมุ่งสู่การตระหนักถึงคุณค่าภาระหน้าที่ภายในครอบครัว แต่ก็มีหลายคนที่ประชดประชันว่า​ จำนวนเงินชดเชยที่เสนอนั้นค่อนข้างน้อย ไม่สมเหตุสมผลกับภาระอันหนักอึ้งที่เหล่าภรรยาชาวจีนต้องแบกรับ

ทั้งนี้​ ขัอมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน บ่งชี้ว่าในปี 2018 ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องทำงานบ้านเฉลี่ยแล้ว 3 ชั่วโมง 20 นาทีต่อวัน มากกว่าฝ่ายสามีถึงราว ๆ 1 ชั่วโมงครึ่ง

ขณะเดียวกันจากผลสำรวจทางออนไลน์ของสื่อมวลชนแห่งหนึ่ง พบว่า 93% ของผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 40,000 คน บอกว่าฝ่ายโจทก์ควรได้รับเงินมากกว่า 50,000 หยวน สำหรับการตรากตรำทำงานหนักนานหลายปี


ที่มา: https://mgronline.com/around/detail/9640000018222

'Bitcoin' หลบไป! 'ดิจิทัลรูปี' กำลังมา

ต้องยอมรับถึงความร้อนแรงของตลาดการเงินดิจิทัลตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยิ่งมีข่าวการกระโดดเข้ามาร่วมทุนอย่างเต็มตัวของเจ้าพ่อ Tesla อย่าง อีลอน มัสก์ ที่ยอมเทกระเป๋าลงทุนใน Bitcoin ไปแล้วถึง 45,000 ล้านบาท ก็ยิ่งทำให้ Botcoin กลายเป็นที่สนใจ และทำราคาพุ่งทะลุ 5 หมื่นดอลลาร์/ บิทคอยน์ เพิ่มขึ้นเท่าตัวในเวลาเพียง 2 เดือน

ด้วยความคึกคักของตลาดเงินดิจิทัล ทางรัฐบาลอินเดียยอมรับว่า มีนักลงทุนอินเดียจำนวนไม่น้อยออกไปลงทุนในตลาดเงินดิจิทอล ที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของเงินสกุลรูปีของประเทศในระยะยาว

แต่หากทิศทางของการทำธุรกรรมในอนาคตมีแนวโน้มไปทางโลกดิจิทัล รัฐบาลอินเดียคงไม่สามารถเพิกเฉยต่อกระแสของเศรษฐกิจยุคใหม่ได้ และได้มีการพูดคุยกันถึงการผ่านร่างกฏหมายว่าด้วยเรื่องข้อกำหนดของเงินดิจิทัล และอีกประเด็นที่กำลังเป็นที่น่าจับตาก็คือ การออกเงินสกุล ดิจิทัล รูปี ของอินเดีย

แม้ตอนนี้เพิ่งอยู่ในขั้นตอนการถกประเด็นในสภา แต่การออกดิจิทัล รูปี เริ่มมีเสียงตอบรับและสนับสนุนจากภาคเอกชนบางส่วนในอินเดียที่เห็นด้วยว่า อินเดียควรมีเงินสกุลดิจิทัลเป็นของตัวเอง

นาย ราเคช จุนยุนวาลา อภิมหาเศรษฐีอินเดียที่ได้รับฉายาว่าเป็น วอเรน บัฟเฟตแห่งอินเดียให้ความเห็นว่า รัฐบาลอินเดียควรแบน Bitcoin เพื่อสร้างเงินสกุลดิจิทัล รูปีให้เกิดด้วยซ้ำไป

แต่ทั้งนี้รัฐบาลอินเดียยังไม่ได้พิจารณาถึงขั้นที่จะแบนเงินสกุลดิจิทัลอื่นๆ หรือไม่รับรองการซื้อขายเงินดิจิทอลในตลาดเงินอินเดีย แต่การสร้างเงิน ดิจิทัล รูปี มีโอกาสเกิดขึ้นจริงในเร็วๆ​ นี้ และอาจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งด้วย หากพิจารณาจากศักยภาพของอินเดีย ประเทศที่มี GDP ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก

นอกจากจะมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มากๆ​ แล้ว อินเดียยังสามารถพัฒนาระบบและเทคโนโลยีเป็นของตัวเองได้ และประสบความสำเร็จมากๆ อย่างเช่น ระบบ UPI หรือ Unified Payments Interface ซึ่งเป็นระบบการโอนเงินแบบเรียลไทม์ ที่พัฒนาโดยทีมนักพัฒนาระบบของอินเดียปี 2016 และอยู่ภายใต้การดูแลโดยธนาคารกลางอินเดีย

หลังจากที่ใช้ระบบ UPI ผ่านมาแล้ว 4 ปี ก็พบว่ามีธนาคารมากถึง 207 แห่ง รวมทั้ง Amazon เว็บไซท์ e-Commerce ชื่อดังได้ใช้ระบบ UPI เป็นช่องทางการทำธุรกรรมการเงิน และมีปริมาณการใช้งานต่อเดือนมากกว่า 2,330 ล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยมากถึง 57,800 ล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละเดือน

และหากธุรกรรมการเงินเหล่านี้ใช้เป็นเงินดิจิทัล รูปี ในการซื้อขาย สกุลเงินนี้จะแข็งแกร่งถึงขนาดไหน

แต่การสร้างระบบเงินดิจิทัล รูปี ของอินเดีย รัฐบาลจะต้องสร้างระบบบันทึกรายการธุรกรรมดิจิทัลเป็นของตัวเอง ที่จะเป็นคนละระบบกับเงินดิจิทัลต่างชาติ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมและตรวจสอบ แม้ว่าจะเป็นสิ่งจำเป็นในเรื่องเกี่ยวกับระบบจัดเก็บภาษี ที่อาจมีประเด็นตามมาในเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ที่คงไม่อยากให้รัฐบาลรู้เรื่องเงินทุกบาท ทุกสตางค์ที่เรามีในกระเป๋า

และมีอีกเรื่องหนึ่ง ที่อาจเป็นอุปสรรคของการสร้างเงินดิจิทัล รูปี ก็คือการเข้าถึงเทคโนโลยีเงินดิจิทอลในประเทศ

แม้ในอินเดียจะมีประชากรมากถึง 1,360 ล้านคน แต่ยังมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนไม่ถึง 40% ของประชากร หรือราวๆ 600 ล้านเครื่อง และในจำนวนนี้ มีบัญชีผู้ใช้งานในระบบ UPI หรือระบบโอนเงินดิจิทัลของอินเดียเพียง 100 ล้านบัญชีเท่านั้น การเข้าถึงระบบธุรกรรมดิจิทัลในอินเดียตามสัดส่วนของประชากรทั้งหมดยังถือว่าน้อย

หากต้องการให้เงินดิจิทัล รูปี กลายเป็นอีกหนึ่งเงินสกุลหลักสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ รัฐบาลอินเดียจะต้องพยายามให้ชาวอินเดียเข้าถึงการใช้งานได้ทุกกลุ่ม ในอุปกรณ์ที่หลากหลายกว่าสมาร์ทโฟน เช่น คอมพิวเตอร์แล็บท็อปทั่วไป หรือ บัตรสมาร์ทการ์ด เพื่อผลักดันการใช้เงินดิจิทอล รูปี ในระบบเงินของอินเดียให้ได้อย่างน้อย 12% ของ GDP จึงจะเรียกว่า "ติดตลาด" ได้

และเมื่อพูดถึงโครงการดิจิทัล รูปี ก็อดเทียบกับเงินดิจิทัลของอีกประเทศที่ได้เปิดตัวไปแล้วก่อนหน้านี้ นั่นก็คือ ดิจิทัล หยวน

ในเวลานี้ ทางจีนได้มีการปล่อยเงินดิจิทัล หยวน ทดลองใช้ในตลาดจริงแล้วในบางเมือง เช่น เสิ่นเจิ้น และ ซูโจว ซึ่งชาวจีนก็มีความคุ้นเคยกับการใช้เงินดิจิทอลมาแล้วอย่างแพร่หลาย หากนับจากประชากรจีนที่มีพลเมืองใกล้เคียงกับอินเดีย แต่มีสัดส่วนของผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากถึง 64% ในปี 2020 และมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนสูงเกิน 75% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ซึ่งสกุลเงินดิจิทัล หยวน ก็ยังอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารกลางจีน ที่ทำให้เงินมีความเสถียรสูง และมีความเสี่ยงต่ำ

แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคของการเติบโตของดิจิทอล หยวน ของจีน ไม่ใช่คู่แข่งจากเงินดิจิทอลจากต่างประเทศอย่าง Bitcoin แต่กลับเป็นบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินเอกชนในประเทศ อย่าง Alipay ของ Alibaba และ WeChat ของ Tencent ที่กินส่วนแบ่งในตลาดธุรกรรมการเงินดิจิทอลในจีนมากถึง 95% ซึ่งกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลจีนว่า จะทำอย่างไรให้คนจีนหันมาใช้ ดิจิทอล หยวน ให้แพร่หลายกว่านี้ และจะแข่งกับบริษัทเอกชนที่ครองตลาดอย่างเหนียวแน่น และเข้าถึงผู้ใช้ชาวจีนได้มากกว่าอย่างไร

นับเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ระหว่าง 2 ประเทศ ที่โอกาสของ ดิจิทัล รูปี ยังดูสดใสมากในแง่ของผู้แข่งขันในประเทศยังไม่เด่นชัด และชาวอินเดียเพิ่งเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทอล

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจับตามองมาก หากอินเดียผลักดัน ดิจิทัล รูปี ของตนเองจนประสบความสำเร็จ ก็อาจใช้เป็นโมเดลการสร้างเงินดิจิทัลของประเทศอื่นๆได้เลย


อ้างอิง

https://theprint.in/opinion/govt-can-ban-bitcoin-but-for-digital-rupee-to-succeed-india-has-to-do-a-lot/608542/

https://news.bitcoin.com/indias-warren-buffett-ban-bitcoin-digital-rupee/

https://en.wikipedia.org/wiki/Unified_Payments_Interface

https://www.cnbc.com/2021/02/17/chinas-digital-yuan-needs-to-beat-alipay-wechat-pay-first-piie.html

https://www.statista.com/statistics/309015/china-mobile-phone-internet-user-penetration/

ด่วน!! สหรัฐฯ เปิดปฏิบัติการแรกภายใต้ 'ไบเดน' โจมตีทางอากาศถล่มเป้าหมายในซีเรีย

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้สั่งการให้กองทัพอเมริกาโจมตีทางอากาศทางภาคตะวันออกของซีเรีย ถล่มสิ่งปลูกสร้างต่างๆที่ทางเพนตากอนระบุว่า​ เป็นฐานของกลุ่มนักรบที่อิหร่านหนุนหลัง เพื่อตอบโต้เหตุยิงจรวดโจมตีฐานที่มั่นต่างๆ​ ของสหรัฐฯ​ ในอิรักในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

โดยการโจมตีสถานที่ต่างๆ ของสหรัฐในอิรักก่อนหน้า​ ซึ่งรวมถึงสถานทูตอเมริกันนั้น​ เกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐและอิหร่านกำลังหาทางที่จะกลับเข้าร่วมข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

เจ้าหน้าที่ของอิรักและชาติตะวันตก​ ระบุว่า การโจมตีสหรัฐฯ​ ในอิรักนั้นเป็นฝีมือของกองกำลังติดอาวุธกาตาอิบ เฮสบอลเลาะห์ (Kataib Hezbollah) และกลุ่มกาตาอิบ ซัยยิด อัล-ชูฮาดาอฺ​ ที่ได้รับการสนับสนุนโดยอิหร่าน

เหตุโจมตีดังกล่าว ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานเป็นแห่งแรก ดูเหมือนจะดำเนินการในขอบเขตจำกัด มีความเสี่ยงระดับต่ำที่จะก่อให้เกิดสถานการณ์ลุกลามบานปลาย​ โดยสหรัฐฯ​ ได้ตัดสินใจโจมตีกองกำลังอิหร่านเฉพาะในซีเรียเท่านั้น และไม่ได้ทำการโจมตีในอิรักแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตามการโจมตีทางอากาศในซีเรียครั้งนี้ได้มีพลเรือนเสียชีวิต 1 ราย ขณะที่ทหารของสหรัฐและของกองกำลังพันธมิตรบาดเจ็บหลายนาย


ที่มา: รอสเตอร์ส
https://mgronline.com/around/detail/9640000019103
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/924681

รัฐบาลญี่ปุ่นใจถึง !!​ ใครฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วตาย​ จ่าย​ 12​ ล้านบาท​ หวังจูงใจประชาชนให้เลิกกลัว

จากกรณีเมื่อ วันที่ 17 ก.พ.64 ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลญี่ปุ่น ได้เริ่มการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชน แต่กลับปรากฏว่า มีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนไม่มากนัก

โดยดูจากผลสำรวจความคิดเห็นของสื่อหลายสำนักในญี่ปุ่น พบข้อมูลว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่กล้าไปเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เนื่องจากไม่มั่นใจถึงความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีน

ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงหาวิธีดึงดูด โดยนาย โนริฮิสะ ทะมุระ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศว่า รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยจำนวน 44,200,000 เยน หรือ 12,536,372 บาท ให้แก่ครอบครัวหากฉีดวัคซีนต้าน โควิด-19 แล้วเสียชีวิต และจะจ่ายค่าทำศพอีกไม่เกิน 209,000 เยน หรือ 59,275 บาท หลังพบชาวญี่ปุ่นไม่กล้าฉีดวัคซีน เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย

ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วมีอาการเจ็บป่วย หรือได้รับผลข้างเคียงระยะยาว อาทิ พิการ จะได้รับเงินชดเชยปีละ 5 ล้านเยน หรือ 1,417,096 บาท

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายจ่ายเงินชดเชยผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนอยู่แล้ว แต่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ


ที่มา: https://www.facebook.com/336295587309275/posts/768683140737182/

https://japantoday.com/category/features/health/If-you-die-from-the-COVID-19-vaccine-in-Japan-the-government-will-give-your-family-over-¥44-mil

https://www.independent.co.uk/news/world/asia/japan-covid-vaccine-pay-families-death-b1806799.html

https://www.posttoday.com/world/646333

สีจิ้นผิง ยกย่องความสำเร็จของประเทศที่สามารถขจัดความยากจนขั้นสูงสุดเป็นปาฏิหาริย์ที่จะ “ถูกจารึกในประวัติศาสตร์”

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) และประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง (CMC) เข้าร่วมการประชุมใหญ่ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเชิดชูความสำเร็จด้านการบรรเทาความยากจนและมอบรางวัลต้นแบบการต่อสู้กับความยากจนของประเทศ

สีจิ้นผิงประกาศ “ชัยชนะโดยสมบูรณ์” ในการต่อสู้กับความยากจน ซึ่งเกิดจากความพยายามร่วมกันของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมเน้นย้ำว่าการขจัดความยากจนในชนบทเป็นส่วนสำคัญของการบรรลุเป้าหมายสร้างสังคมมั่งคั่งระดับปานกลางในทุกด้าน โดยจีนได้สร้าง “ตัวอย่างฉบับจีน” ในการลดความยากจน และสร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ในการบรรเทาความยากจนระดับโลก

อนึ่ง ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จีนได้ช่วยเหลือชาวชนบทที่อยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจนหลุดพ้นจากความยากจนถึง 98.99 ล้านคน โดยมีหมู่บ้าน 128,000 แห่ง และอำเภอ 832 แห่ง ถูกปลดออกจากบัญชีพื้นที่ยากไร้

ตั้งแต่ปลายปี 2012 จีนได้สร้างหรือปรับปรุงถนนในชนบทเป็นระยะทางรวม 1.1 ล้านกิโลเมตร จัดหาพลังงานไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพแก่พื้นที่ชนบท และขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตใยแก้วนำแสงและสัญญาณ 4จี (4G) ให้ครอบคลุมหมู่บ้านยากไร้กว่าร้อยละ 98

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ประชาชนยากจนราว 25.68 ล้านคนจาก 7.9 ล้านครัวเรือน ได้รับการปรับปรุงบ้านที่อยู่อาศัยอันชำรุดทรุดโทรม และประชาชนมากกว่า 9.6 ล้านคน ได้รับการโยกย้ายออกจากพื้นที่ทุรกันดารสู่บ้านหลังใหม่ที่ดีกว่าเดิม ด้าน 28 กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีประชากรค่อนข้างน้อย ยังหลุดพ้นจากความยากจนพร้อมกันด้วย

จีนได้ช่วยเหลือชาวชนบทหลุดพ้นจากความยากจน 770 ล้านคน นับตั้งแต่เริ่มต้นการปฏิรูปและเปิดประเทศเมื่อ 40 ปีก่อน หากคำนวณตามเส้นแบ่งความยากจนในปัจจุบันของจีน และคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 70 ของประชากรยากจนทั่วโลก หากอ้างอิงเส้นแบ่งความยากจนสากลของธนาคารโลก

ทั้งนี้ สีจิ้นผิงกล่าวอีกว่า​ จีนได้บรรลุเป้าหมายขจัดความยากจนเร็วกว่าที่กำหนดไว้ใน “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 แห่งสหประชาชาติ” (United Nations 2030 Agenda for Sustainable Development) ถึง 10 ปี


ที่มา: https://www.newtv.co.th/news/77452

Milk Tea Alliance พันธมิตรชานมแห่งเอเชีย ประกาศนัดรวมพลชาวเน็ตทั่วเอเชีย แสดงจุดยืนต่อต้านเผด็จการทหารในพม่าผ่านทางทวิตเตอร์พร้อมกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ตั้งแต่เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป

และจะเป็นการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในการแสดงพลังของเยาวชนชาวโซเชียลอย่างพร้อมเพรียงกันทั้งที่ไต้หวัน ฮ่องกง ไทย พม่า และอีกหลายประเทศในย่านอาเซียน โดยมีอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ต่อต้านกลุ่มอำนาจนิยมเป็นแรงขับเคลื่อนร่วมกัน

การประกาศนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรชานม เกิดขึ้นหลังจากที่มีข่าวการมาเยือนไทยของนาย วันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่า เพื่อประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการร่วมกับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย และ นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยังมีคิวเข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกด้วย

แม้จุดประสงค์ของการมาเยือนนั้นเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า และหาทางออกอย่างสันติวิธี แต่การเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมของไทยครั้งนี้ ได้รับกระแสวิจารณ์ในแง่ลบค่อนข้างมาก ในประเด็นที่รัฐบาลไทยเป็นผู้เชิญทางฝ่ายรัฐบาลพม่า ทำให้ถูกโยงว่ารัฐบาลไทยได้รับรองรัฐบาลทหารพม่าที่เพิ่งผ่านการทำรัฐประหารมา รวมถึงที่มาของ พลเอก ประยุทธ์ ที่เคยเป็นหัวหน้าคณะ คสช. ที่เคยทำรัฐประหารมาก่อน

จึงกลายเป็นที่มาของการนัดระดมพลในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ผ่านทาง Twitter ของกลุ่มพันธมิตรชานม ให้ออกมาเคลื่อนไหวทางโลกโซเชียล เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมในพม่า หลังจากที่มีการพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าและผู้นำไทย เพื่อกดดันกลุ่มผู้นำประเทศอาเซียนให้เคารพผลการเลือกตั้งของชาวพม่า

และตั้งใจให้เป็นการแสดงพลังคู่ขนานไปกับการนัดชุมนุมของในประเทศไทย และพม่าในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งทางเพจพันธมิตรชานมได้ส่งข้อความถึงกลุ่มนักเคลื่อนไหวในไทยทั้ง กลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มนักเรียนเลว กลุ่มพันธมิตรชานมแห่งประเทศไทย รวมถึงกลุ่มพันธมิตรในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ไต้หวัน อินเดีย และล่าสุด พม่า ภายใต้สโลแกน "Make Milk Tea and End Dictatorship 28.2.2021"

จุดเริ่มต้นของพันธมิตรชานม เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2653 จากกระแสดราม่าในโลกอินเตอร์เนตของชาวจีน เกี่ยวกับรูปภาพของนักแสดงหนุ่มชาวไทย ไบร์ท วชิรวิชญ์ ชีวอารี ที่ได้รีทวิตภาพถ่ายอาคาร 4 แห่งของช่างภาพคนหนึ่งและได้ระบุว่าหนึ่งในนั้นถ่ายที่ประเทศฮ่องกง สร้างความไม่พอใจอย่างมากในกลุ่มแฟนคลับชาวจีนที่อ้างฮ่องกงเป็นประเทศเอกราช ซึ่งนักแสดงหนุ่มก็ได้ขอโทษที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และลบทวิตไป

แต่เรื่องไม่จบง่ายๆ เมื่อชาวเน็ตจีนยังตามขุดต่อ และได้พบทวิตเตอร์ของ นิว วีรญา สุขอร่าม แฟนสาวของหนุ่มไบร์ท ที่ใช้ชื่อใน IG และ Twitter ว่า nnevvy เคยรีทวิตข่าวที่กล่าวหาว่าไวรัส Covid-19 ถูกปล่อยจากแล็บในอู่ฮั่น เลยยิ่งทำให้กระแสลุกลามใหญ่โตในจีน ถึงขั้นติด #nnevvy และจะแบนผลงานของหนุ่มไบร์ท

จึงเกิดเป็นสงครามระหว่างชาวเน็ตไทย และ จีนอย่างดุเดือด จนดึงให้ชาวเน็ตในฮ่องกง และไต้หวันออกมาร่วมรบกันในสงครามคีย์บอร์ดจนชาวเน็ตจีนต้องล่าถอย และกลายเป็นที่มาของ Milk Tea Alliance พันธมิตรชานมขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากทั้ง 3 ชาติมีเอกลักษณ์ และความชอบในการดื่มชานมคล้ายๆ​ กัน

ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นการรวมกลุ่มกันแบบเฉพาะกิจ​ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดึงให้แกนนำตัวหลักในฮ่องกงอย่าง โจชัว หว่อง ได้มารู้จักกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวในไทยจากกระแสของพันธมิตรชานม

ต่อมามีการขยายกลุ่มพันธมิตรเพิ่มเติม เมื่ออินเดียและจีนเกิดข้อพิพาทในเขตชายแดนเทือกเขาหิมาลัย ที่นำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรงจนสูญเสียชีวิตทหารทั้งสองฝ่าย เป็นชนวนเหตุให้เกิดกระแสต่อต้านสินค้าจีนในอินเดีย และกลายเป็นหนึ่งในพันธมิตรชานมร่วมกันในที่สุด

และจากกลุ่มพันธมิตรชานมในโลกเสมือน ก็พัฒนาสู่เวทีจริงในช่วงเดือนตุลาคม 2563 เมื่อเกิดเหตุการณ์ชุมนุมครั้งใหญ่ในประเทศไทย เรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน และต่อต้านรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ากลยุทธ์ในการชุมนุมในไทย มีรูปแบบโมเดลคล้ายๆ​ กับการชุมนุมใหญ่ในฮ่องกงที่เคยเกิดขึ้นในปี 2562

เนื่องจากมีการถ่ายทอด "know - how" รูปแบบกลยุทธการจัดชุมนุมแบบใหม่ การใช้แฟลชม็อบ การใช้รหัสลับ การนัดชุมนุมผ่านโซเชียลมีเดียแบบรายวัน การใช้แอปพลิเคชันใหม่ๆ​ ในการสื่อสาร หรือแม้แต่การป้องกันตัวเองหากถูกสลายการชุมนุมด้วยแก๊ซน้ำตา จากกลุ่มแกนนำในฮ่องกงผ่านเครือข่ายพันธมิตรชานม นั่นเอง

และกลุ่มพันธมิตรชานม ก็มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นในกลุ่มเยาวชนที่นิยมเล่นโซเชียลในประเทศย่านเอเชีย ที่มักมีปัญหากับจีนไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เขตพรมแดน การแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติ หรือการเอาเปรียบด้านการค้า

ดังนั้น การรวมกลุ่มกันในโลกโซเชียลของพันธมิตรชานม จึงมีการผสมผสานกันระหว่างแนวร่วมอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ กับประเด็นเรื่องชาตินิยม สังคม เศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์อย่างเข้มข้น และพร้อมที่จะแสดงพลังให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมได้หากเกิดกระแสการชุมนุมที่จุดติด

เช่นเดียวกับการลุกฮือต่อต้านคณะรัฐประหารในพม่า ประเทศสมาชิกล่าสุดของพันธมิตรชานม ที่ใช้สัญลักษณ์การชู 3 นิ้วเหมือนกับของไทย และมีการแชร์ข่าวสารข้อมูลของกลุ่มเคลื่อนไหวร่วมกันในโซเชียล

และเป้าหมายของกลุ่มคือการผลักดันในเกิด Spring Revolution เช่นเดียวกับที่เกิดกระแสอาหรับ สปริง ในตะวันออกกลาง เริ่มจากการโค่นล้มรัฐบาลทหารพม่า ที่อาจส่งผลถึงกระแสการต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันของไทย และอาจลามต่อไปถึงหลายประเทศในย่านอาเซียนได้

จึงเป็นที่น่าจับตาว่า การนัดแสดงพลังทางออนไลน์ของกลุ่มพันธมิตรชานมอย่างพร้อมเพรียงกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จะสร้างปรากฏการณ์ได้ขนาดไหนในกระแสโลกโซเชียล และการเบ่งบานของกลุ่มพันธมิตรชานมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ จะส่งผลต่ออิทธิพลของชาติมหาอำนาจของโลก อย่างสหรัฐอเมริกา และจีนในภูมิภาคย่านเอเชียอย่างไร เป็นสิ่งที่คนทุกรุ่นต้องติดตามกัน


อ้างอิง:

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4137020

https://twitter.com/alliancemilktea/status/1364888390219497474

https://www.theatlantic.com/international/archive/2020/10/milk-tea-alliance-anti-china/616658/

https://en.wikipedia.org/wiki/Milk_Tea_Alliance

สหราชอาณาจักร (UK) เร่งฉีดวัคซีนสัปดาห์ละ 3 ล้านคน กลุ่มคนอายุ 40 ขึ้นไปในยูเค จะเป็นกลุ่มต่อไปที่จะได้คิวรับวัคซีนป้องกันโควิด หลังจากกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ได้รับการฉีดวัคซีนทุกคนภายในวันที่ 15 เมษายนนี้

โดยใช้เกณฑ์อายุเป็นหลัก ไม่ใช่อาชีพ ที่จะได้รับการจัดลำดับความสำคัญต่อไปในแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในระยะที่สอง

การฉีดวัคซีนตามลำดับอายุเป็นวิธีที่เร็วที่สุดในการลดการเสียชีวิตจากโควิด -19 ในระยะถัดไป ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษารัฐบาล สหราชอาณาจักร กล่าว

คนอายุ 40 ขึ้นไปจะเป็นกลุ่มต่อไป เมื่อการฉีดแผนปัจจุบันเสร็จ

การจัดลำดับความสำคัญตามอาชีพจะ "ซับซ้อนมากขึ้น" และอาจทำให้โปรแกรมการฉีดวัคซีนช้าลงได้ คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรคกล่าว

ทั้ง 4 ประเทศของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ, เวลส์, สก๊อตแลนด์ และ ไอร์แลนด์เหนือ) จะปฏิบัติตามแนวทางนี้โดยมีเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้กับทุกคนทั้งหมดภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

จนถึงขณะนี้มีคนมากกว่า 20 ล้านคนในสหราชอาณาจักรที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว

บุคคลอาชีพ ครูและเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหนึ่งในผู้ที่รณรงค์ให้มีการจัดลำดับความสำคัญในระยะต่อไป - แต่ตอนนี้พวกเขาจะได้รับการฉีดวัคซีนตามกลุ่มอายุ

คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรค (JCVI) ได้พิจารณาถึงหลักฐานในการลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากโควิด -19 ในระยะที่สองของโครงการฉีดวัคซีนของสหราชอาณาจักรกล่าวว่าการจัดลำดับความสำคัญทางอาชีพ อาจทำให้กลุ่มเปราะบาง บางคนต้องรอการฉีดวัคซีนเข็มแรกนานขึ้น

JCVI กล่าวว่า ควรจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มต่อไปนี้เมื่อกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดในระยะที่หนึ่งได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มฉีดไปแล้ว (ภายในกลางเดือนเมษายน): คิวกลุ่มถัดไปคือ

- ทุกคนที่มีอายุ 40 - 49 ปี

- ทุกคนที่มีอายุ 30 - 39 ปี

- ทุกคนที่มีอายุ 18 - 29 ปี

และขอแนะนำ ให้บุคคลบางกลุ่มมารับวัคซีนทันทีเมื่อถึงคิว กลุ่มเหล่านี้คือ :

- ผู้ชาย

- ผู้ที่อยู่ในชุมชนคนผิวสี, เอเชีย และ ชนกลุ่มน้อย (หมายถึงคนไทยทุกคนในสหราชอาณาจักร)

- ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30

- ผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านที่ยากจน

ในระยะที่หนึ่งมีการกำหนดกลุ่มลำดับความสำคัญ 9 กลุ่มตามอายุและสภาวะสุขภาพพื้นฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเพิ่มความเสี่ยง รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพและการดูแล เพื่อปกป้องคนที่เปราะบางที่พวกเขาดูแล

การฉีดวัคซีนกลุ่มเหล่านี้น่าจะป้องกันได้ประมาณ 99% แก่ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจาก Covid-19 มากที่สุด

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีลำดับความสำคัญสูงสุด 4 อันดับแรก - ราว 15 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์ มากกว่า 95% ของผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปีที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนทุกสัปดาห์ จำนวนสัปดาห์ละสามล้านคนในสหราชอาณาจักรด้วยวัคซีน ไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) หรือไม่ก็ ของ อ็อกซ์ฟอร์ด-เอสด้าเซนเนก้า (Oxford-AstraZeneca)

การวิจัยเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า วัคซีนมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในการป้องกันโรคร้ายแรงจาก Covid-19 ในสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีข้อบ่งชี้บางประการที่อาจลดการแพร่กระจายของไวรัสระหว่างคนได้


ที่มา : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=3863670853671897&id=178210772217942

https://www.bbc.com/news/health-56208674


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top