Migration of Generation Me ย้ายประเทศกันเถอะ

ปรากฎการณ์ 'ย้ายถิ่น' ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนัก แต่เมื่อถูกนำมาใช้เป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อจะสื่อว่า “ประเทศนี้ไม่น่าอยู่” ทำให้กลายเป็นกระแสที่สังคมจับตามอง โดยเฉพาะเมื่อมีคนเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มจากจำนวนหมื่น สู่จำนวนหลายแสน จนใกล้หลักล้านอย่างรวดเร็ว

อันที่จริงแล้ว การย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า มีมาตั้งแต่โบราณกาล จึงได้มีคนต่างเชื้อชาติอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างในสหรัฐอเมริกา ผู้คนจากทวีปเอเชีย เริ่มอพยพเข้าไปหางานทำ และสร้างฐานะกันมากมายจนเป็นปรากฎการณ์สำคัญที่ต้องมีการปรับตัวบทกฎหมายว่าด้วยผู้อพยพเข้าประเทศและการถือสัญชาติกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ หากย้อนไปในช่วงทศวรรษ 1960s มีผู้อพยพจากเอเชียจำนวน 5 แสนคน และเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมทุกทศวรรษตลอดมา ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนผู้อพยพจากเอเชียอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ถึง 14 ล้านคน และถือเป็น 31% ของผู้อพยพทั้งหมดจำนวน 45 ล้านคน 

สำหรับการอพยพจากประเทศบ้านเกิด ไปยังประเทศอื่นนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจ เพื่อแสวงหาโอกาส ในการเพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มการศึกษา เพิ่มรายได้ให้กับตนเอง และก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก ได้แก่ การแสวงหาเสรีภาพทางศาสนา เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและครอบครัวจากภัยทางการเมือง จากสงคราม หรือภัยธรรมชาติ 

แรงผลักดัน และความจำเป็นในการอพยพไปยังประเทศอื่นในส่วนนี้ จึงไม่เกี่ยวกับความรู้สึกเกลียดชังแผ่นดินเกิดหรือไม่แต่อย่างใด!! เพราะผู้คนที่ยังคงรักประเทศบ้านเกิด ยังเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมและยึดมั่นในสิ่งต่าง ๆ ที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ก็ย้ายถิ่นฐานโดยพกความรักชาติติดตัวไปด้วย

ย้อนกลับมาที่ภาพในปัจจุบัน การร้องตะโกนว่า ประเทศบ้านเกิดของตนนั้น ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต อาจดูเป็นชุดคำพูดที่ไม่เป็นความจริงสำหรับพลเมืองทั้งประเทศไทย เพราะผู้คนจำนวนมาก ยังใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ยอมรับวิถีของสังคม กฎหมาย และความมานะอุตสาหะ พัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จได้ และเห็นว่าความเป็นไปในบ้านเกิดยังให้ความสุขแก่ชีวิตได้ 

การประกาศก้องว่าจะย้ายประเทศ จึงไม่สามารถสร้างความตระหนกตกใจ ให้กับใครได้ ไม่ว่าจะมีความพยายามที่จะปั่นกระแสขนาดไหน การอ้างถึงปรากฎการณ์ “สมองไหล” ก็ไม่มีน้ำหนัก เพราะคำว่าสมองไหล หมายถึงการสูญเสียทรัพยากรบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญพิเศษ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ช่างทักษะระดับสูง นักวิชาการ และอื่น ๆ 

ฉะนั้นหากระดับความสามารถทางวิชาชีพของท่านใด อยู่ในระดับกลุ่มแรงงาน จะไม่อยู่ในข่ายสมองไหล เมื่อมีการแสดงออกถึงความใฝ่ฝันที่จะไปสร้างอนาคตในประเทศอื่น จึงไม่มีใครต้าน และต่างอวยพรให้ไปดีมีชัย!! 

ทีนี้ลองมาดูภาพการอพยพของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ที่ไปสร้างชีวิตใหม่ทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา เป็นการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกันสักเล็กน้อย

กลุ่มคนใน SEA ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเชีย ไทย และฟิลิปปินส์นั้น ต่างกระจายตัวทำงานอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมันนี ฝรั่งเศส แคนาดา และอีกหลายประเทศทั่วโลก (ยังมีธุรกิจที่ผู้อพยพจาก SEA เป็นเจ้าของกิจการรวมอยู่ด้วย)

การสำรวจในปี 2019 พบว่า มีผู้อพยพชาวฟิลิปปินส์อยู่ในสหรัฐฯ 2 ล้านคน, เวียดนาม 1.4 ล้านคน, ไทย 2.5 แสนคน, ลาว 1.8 แสนคน และเมียนมา 1.5 แสนคน นี่คือจำนวนคนอพยพสะสมมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960s 

ว่าแต่สงสัยไหมว่า ทำไมต้องเป็นสหรัฐฯ ? 

เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ดึงดูดนักเรียนนักศึกษาจากทุกมุมโลก ผู้คนในวัยเรียนจึงวางแผนที่จะไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ และการได้ศึกษาต่อจนจบการศึกษา ยังเป็นการกรุยทางให้อยู่ต่อเพื่อฝึกงาน ทำงาน หรือวางแผนที่จะย้ายมาตั้งรกรากอย่างถาวร 

เรื่องนี้น่าสนใจตรงจำนวนนักเรียนนักศึกษาจาก SEA ที่ศึกษาต่อในอเมริกานั้น สามารถสะท้อนถึงโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาในประเทศต้นทางไปพร้อมกัน เพราะหากประเทศต้นทางจัดการศึกษาได้ทั่วถึงและมีคุณภาพดี จำนวนพลเมืองที่เดินทางออกไปแสวงหาการศึกษาในประเทศอื่นจะไม่สูงนัก 

ทั้งนี้ ตัวเลขนักศึกษาจากทวีปเอเชียที่เข้าศึกษาต่อในสหรัฐฯ ในช่วงปี 2019-2020 มากที่สุดจะประกอบไปด้วย... 

1. จีน 2. อินเดีย 3. เกาหลีใต้ 4. ซาอุดิอาราเบีย 5. เวียดนาม  6. ใต้หวัน 7. ญี่ปุ่น 8. เนปาล 9. อิหร่าน 10. ตุรกี

กลุ่มคนพลัดถิ่น (Diaspora) ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจ หรือถูกบีบบังคับจากสถานการณ์เลวร้ายต่าง ๆ จากทวีปเอเชีย ในสหรัฐอเมริกา ที่มีจำนวนมากที่สุด มีดังนี้... 

1. จีน 2. อินเดีย 3. ฟิลิปปินส์ 4. เวียดนาม 5. เกาหลี

ส่วนข้อมูลจำนวนนักศึกษาจากประเทศไทย ที่เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ในปี 2018 รวมทั้งสิ้น 6,636 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เช่นนักศึกษาจากเวียดนามในปีเดียวกันมีจำนวนมากกว่า 3 หมื่นคน อินโดนีเซีย 9,000 คน และมาเลเชีย 7,864 คน ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีประชากรไม่ถึง 6 ล้านคน มีนักศึกษาจากสิงคโปร์กำลังศึกษาในสหรัฐฯ ในปี 2020 เป็นจำนวนถึง 4,500 คน โดยในจำนวนนี้เรียนในระดับปริญญาตรี 40% ปริญญาโทและเอก 30% อีก 30% เป็นการฝึกงานหรือเพิ่มเติมทักษะทางวิชาชีพ

การมีความใฝ่ฝันที่จะแสดงหาสังคมที่ให้โอกาสแก่เรา ในการสร้างฐานะ หากดูเพียงรายได้ที่มากกว่า เมื่อเทียบกับเกณฑ์รายได้ในเมืองไทยก็คงไม่ผิดอะไร แต่การไปอยู่ต่างแดน ยังมีมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นสัดส่วนรายได้ต่อค่าครองชีพ การปรับตัวในสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ความสามารถในการสื่อสารอย่างคล่องแคล่ว ความสุขทางใจ ความรู้สึกที่มั่นคงอันได้จากความอบอุ่นของครอบครัวที่ทิ้งไว้เบื้องหลัง การได้รับการยอมรับจากสังคมรอบตัว และการมีสถานภาพเป็นผู้มาอาศัย หรือเป็นคนพลัดถิ่นในประเทศใหม่ 

ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ย้ายถิ่นฐานจะได้แค่เงิน แต่ไร้ซึ่งความสุขไปทั้งหมด เพราะความสามารถทางภาษา และการปรับตัวทางวัฒนธรรมและสังคมนั้น เป็นความสามารถส่วนตัว การที่จะมีความสุขในสภาพแวดล้อมใหม่ ไม่ได้มีกำแพงกั้นสำหรับใคร

แต่หัวใจสำคัญคือ การสร้างต้นทุนไว้ให้พร้อม ทั้งเงินเก็บ ผลการศึกษาที่จะช่วยให้ได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมีระดับ ความชำนาญทางภาษาที่ใครได้ยินได้ฟังแล้วนับถือว่าเป็นผู้มีการศึกษา รวมถึงการซึมซับวัฒนธรรมของประเทศนั้น เพื่อใช้ปรับตัวให้มีความสบายใจ และสร้างเพื่อนใหม่ได้ แม้ชาติพันธุ์จะแตกต่าง แต่เมื่อมีความรู้ความสามารถ ก็จะทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น และรอดตัวจากการเหยียดเชื้อชาติได้ในสถานการณ์ปกติ