Wednesday, 1 May 2024
WeeklyColumnist

สีจิ้นผิง ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง ‘เติ้ง’ และ ‘เหมา’

“มหาอำนาจ” คือคำที่ใช้เรียกรัฐที่ถูกยอมรับว่ามีความสามารถในการแผ่ขยายอิทธิพลได้ในระดับโลก ไม่มีหลักเกณฑ์หรือลักษณะจำกัดความของคำว่ามหาอำนาจ หากแต่เป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัด ขาดรอย ซึ่งตัดสินได้จากลักษณะเชิงประสบการณ์ในตัวผู้ประเมิน อันคุณสมบัติร่วมของประเทศมหาอำนาจทั่วโลก คือการครอบครองอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจ ตลอดจนอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการทูต

หากจะพูดถึงรัฐมหาอำนาจในปัจจุบันนอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็มีจีนในยุค ‘สี จิ้นผิง’ นี่แหละครับ ที่กำลังมาแรงและมีโอกาสลุ้นแซงสหรัฐฯ ขึ้นเป็นรัฐมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกในอนาคต

ขอบคุณรูปภาพจาก : www.macroviewblog.com

ต้องเกริ่นก่อนครับ ว่าสิ่งที่ทำให้รัฐใดรัฐหนึ่งก้าวขึ้นไปสู่การเป็นมหาอำนาจได้นั้นประกอบด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากร รวมถึงจำนวนและคุณภาพประชากร หากรัฐใดมีสิ่งเหล่านี้ครบถ้วน รัฐนั้นย่อมมีโอกาสในการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจ แต่อีกปัจจัยใจที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือ “ผู้นำที่ดี” หากรัฐใดอุดมไปด้วยทรัพยากรตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่อยู่ภายใต้การบริหารของผู้นำที่ไร้วิสัยทัศน์ ทรัพยากรที่มีมากไปก็ไร้ความหมาย

หากพูดถึงการเป็นผู้นำ (ทางการเมือง) ตามหลักการของ  Niccolo Machiavelli (ค.ศ. 1469-1527) ซึ่งเขียนตำราว่าด้วยผู้ปกครองที่ดี “The Prince” ผู้นำที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะ 3 ข้อ ได้แก่ ปัญญาที่ฉลาดเฉียบแหลม กระบวนการคิดที่เป็นระบบ และความกล้าหาญ 

ขอบคุณรูปภาพจาก : www.amazon.com

“ผู้นำที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติของสิงโต และหมาป่าในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ก้าวร้าว ห้าวหาญ และสง่างามเหมือนสิงโต แต่ชาญฉลาดและแยบยล เหมือนหมาป่า”

สำหรับประเทศจีน มีตัวอย่างผู้นำทางการเมืองมากมายที่น่ายกย่อง ตั้งแต่จักรพรรดิเฉียนหลง เจียชิ่ง จิ๋นซีฮ่องเต้ ซุนยัดเซ็น ประธานเหมา ตลอดจนเติ้งเสี่ยวผิง แต่ในวันนี้ เราจะมาพูดถึง ‘สีจิ้นผิง’ ผู้นำคนปัจจุบันของจีน ในแง่ของความเป็นผู้นำที่มีส่วนผสมของทั้ง ‘เหมาเจ๋อตง’ และ ‘เติ้งเสี่ยวผิง’

หากจะพูดถึงระบบการปกครองของจีนในปัจจุบัน ก็ต้องพูดถึงบุคคลที่เปรียบดั่งบิดาผู้ให้กำเนิดจีนยุคคอมมิวนิสต์หรือยุค “จีนใหม่” อย่างประธานเหมา หรือเหมาเจ๋อตง หนึ่งในสมาชิกยุคก่อตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีคนแรกในยุคสาธารณะรัฐประชาชนจีน

ประธานเหมาเป็นผู้นำที่ทั้งห้าวหาญและสง่างาม ทั้งยังมีความคิดเฉียบแหลม โดยเฉพาะความสามารถในด้านของการบริหารอำนาจอันแสดงออกผ่านการตัดสินใจที่เด็ดขาด และให้แนวทางที่ชัดเจนต่อคนในชาติตั้งแต่ช่วงแรกของยุคจีนใหม่ ด้วยการเรียกร้องให้คนในชาติ “站起来 – จ้านฉี่หลาย” แปลว่า “จงลุกขึ้นยืน” หมายถึงการให้คนจีนร่วมกันยืนบนลำแข้งของตัวเองหลังจากถูกต่างชาติข่มเหงรังแกมาตลอดหลายร้อยปี

แต่กระนั้นการบริหารเศรษฐกิจของประธานเหมายังมีข้อบกพร่องอยู่มาก อีกทั้งยังก่อความผิดพลาดอย่างมหันต์ในการริเริ่มการปฏิวัติวัฒนธรรมอันทำให้การพัฒนาของประเทศต้องหยุดชะงักไปนานถึง 10 ปี

คาแรคเตอร์ของประธานเหมานั้นอยู่คนละขั้วกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์รุ่นที่สองอย่างเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำและนักปฏิบัตินิยมผู้มีความคิดเปิดกว้างพอที่จะลดความเข้มงวดในวิถีการปกครองด้วยอุดมการณ์สังคมนิยม และใจกล้าพอที่จะปฏิรูปเปิดประเทศ รับระบบตลาดเสรีจากตะวันตกเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจ เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติจนทำให้จีนกลายเป็น “โรงงานของโลก” ในเวลาต่อมา

“富起来 - ฟู่ฉี่หลาย” มีความหมายประมาณว่า “สร้างเนื้อสร้างตัว” หลังจากคนจีนยืนบนลำแข้งตัวเองได้ตั้งแต่ในยุคของประธานเหมา ก็ถึงเวลาที่ประชาชนชาวจีนจะต้องลืมตาอ้าปาก หลุดพ้นจากความจน และกอบโกยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ซึ่งนโยบายของเติ้งเสี่ยวผิงก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นมามีบทบาทบนเวทีการค้าโลก แต่หากจะพูดถึงข้อเสียของเติ้งนั้น ก็เห็นจะเป็นการที่เขาเลือกที่จะอะลุ่มอล่วยต่อพฤติกรรมคดโกงและการคอรัปชั่นของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ในพรรค

สำหรับ ‘สีจิ้นผิง’ ผู้นำจีนในปัจจุบัน มีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่ากลยุทธ์การบริหารประเทศของสีจิ้นผิงมีความคล้ายคลึงกับเติ้งเสี่ยวผิง คือการยอมรับระบบตลาดแบบทุนนิยม แต่ยึดมั่นในอุดมการณ์หลักของความเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นการผสมผสานที่ถูกนิยามว่า “สังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์ของจีน”

ในส่วนของการดำเนินนโยบายต่างประเทศ หลังจากประธานสีขึ้นรับตำแหน่ง ก็ยึดเอายุทธศาสตร์ One Belt One Road เส้นทางสายไหมทางทะเล และใช้กลยุทธ์การเผยแพร่วัฒนธรรมด้วยการให้ทุนเรียนฟรีกับนักเรียนต่างชาติปีละหลักล้านคนจนเกิดเป็นกระแส “汉语热 - ฮั่นหยวี่เร่อ” ซึ่งเป็นกระแสที่นักเรียนทั่วโลกมีความต้องการมาศึกษาภาษาจีนที่ประเทศจีน โดยมีเป้าหมายในการใช้ภาษาจีนดำรงวิชาชีพหรือทำการค้าขายกับประเทศจีน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการอัดฉีดเงินในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร และยังประกาศชัดเจนว่าจะนำประเทศจีนให้เป็นผู้นำ 5G และกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี AI ปัญญาประดิษฐ์ของโลกในอนาคต

นั่นทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าวิธีการบริหารของสีจิ้นผิงนั้นเป็นไปในทิศทางใกล้เคียงกับในยุคของผู้นำเติ้ง..

แต่ก็มิพักจะสงสัยว่า ตัวตนของสีจิ้นผิง แท้จริงแล้วมีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่าผู้นำเติ้ง สังเกตได้จากการที่เขาบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีสังคมนิยม Marxist - Leninist ลงไปในหลักสูตรการศึกษาของเยาวชน และปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนทางทะเลต่าง ๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฟิลิปินส์ เวียดนาม และบรูไน รวมถึงการขัดขวางความพยายามของฮ่องกงและไต้หวันในการแบ่งแยกดินแดน เรียกได้ว่าแม้เพียงแค่ตารางนิ้วเดียวก็จะไม่ยอมให้สูญเสียไป

นอกจากนี้ สีจิ้นผิงมองว่าพฤติกรรมการคอรัปชั่นของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่พรรคนั้นถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งสิ่งที่อภัยไม่ได้ เขาใช้มาตรการในการกวาดล้างการคอรัปชั่นอย่างจริงจัง มีข่าวการจับกุมและลงโทษขั้นเด็ดขาดต่อผู้กระทำผิดฐานคดโกงนับร้อยคดี จนการคอรัปชั่นกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากมากในจีนปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้ทำให้สีจิ้นผิงสามารถรวมศูนย์อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ และผ่านการลงมติรับรองจากสภาประชาชนแห่งชาติให้เป็น "ประธานาธิบดีตลอดชีวิต" และกลายเป็นหนึ่งในผู้นำทางการเมืองที่ทรงอำนาจและมีอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์จีน ทำเอานักวิเคราะห์จากหลายสำนักเห็นตรงกันว่าสถานภาพของสีจิ้นผิง นับวันจะใกล้เคียงกับคำว่า “จักรพรรดิ” ขึ้นไปทุกที 

ในแง่ของการบริหารอำนาจ สีจิ้นผิงมีความคล้ายคลึงกับประธานเหมามากกว่าผู้นำเติ้ง....

อย่างไรก็ตามแต่ ไม่ว่าจะเป็นเหมาเจ๋อตงหรือเติ้งเสี่ยวผิง ทั้งคู่ต่างเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ที่หากไม่มีพวกเขา ก็คงจะไม่มีจีนวันนี้ ซึ่งตามทรรศนะของผู้เขียนเอง ผู้นำจีนคนปัจจุบันอย่างสีจิ้นผิงนั้นคือการนำจุดเด่นของทั้งประธานเหมาและผู้นำเติ้งมารวมเป็นคนเดียวกัน กล่าวคือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง “หยิน” กับ “หยาง” เป็นผู้นำแห่งแดนมังกรที่มีความเป็นสิงโต และหมาป่าในเวลาเดียวกัน

“强起来 – เฉียงฉี่หลาย” 
แปลว่า “จงแข็งแกร่ง” เป็นเป้าหมายและปรัชญาในการบริหารบ้านเมืองของสีจิ้นผิง ในขณะเดียวกันก็เป็นวลีที่ใช้ปลุกระดมให้คนในชาติให้ร่วมมือกันสร้างความแข็งแกร่งในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง การทูต และแสนยานุภาพทางทหาร อันเป็นสิ่งตอกย้ำชัดเจนในเป้าหมายละความทะเยอทยานของจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิง หลังจากที่ยืนบนลำแข้งตัวเองได้ และค่อย ๆ สร้างเนื้อสร้างตัวจนมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ก้าวต่อไป จีนจะต้องเดินเกมเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างแน่นอน

หากพิจารณาจากคุณสมบัติความเป็นผู้นำของสีจิ้นผิงแล้ว ท่านผู้อ่านคิดว่าเขาจะสามารถพาประเทศจีนขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจได้จริงหรือไม่ 


ข้อมูลอ้างอิง 
ขอบคุณรูปภาพจาก : th.wikipedia.org
 

แกว่งแขน​อย่างไร !! ข้อไหล่ไม่บาดเจ็บ

ในช่วงที่ผ่านมากระแสการออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขนเพื่อลดพุง​ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากเป็นการออกกำลังกายที่ง่าย​ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ​ สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานวันละหลายชั่วโมง แทบไม่ได้ลุกไปไหน หากได้ออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขน จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายและกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด เพราะการแกว่งแขนช่วยให้เลือดลมหมุนเวียนได้ดี

แต่อย่างไรก็ตามการแกว่งแขน​สามารถก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ เพราะหลายคนมุ่งเป้าไปที่การแกว่งแขนด้วยความแรงและจำนวนครั้งที่มากเกินไปหรือแกว่งแขนด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเอ็นรอบหัวไหล่​และตามมาด้วยโรค​ไหล่ติด​ (Frozen shoulder)​ ทำให้ปวดไหล่และมีผลกระทบต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภาวะหลังค่อมหรือผู้สูงอายุ อาจเกิดการเสียดสีของเอ็นรอบข้อไหล่และเยื่อหุ้มไหล่ จนเกิดการอักเสบของถุงน้ำรอบข้อไหล่ได้ นอกจากนี้ภาวะเกร็งหรือขาดความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อสะบักก็มีส่วนทำให้แกว่งแขนด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย

ดังนั้นหากมีอาการไหล่ห่อหรือหลังค่อม​ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังด้วยการแกว่งแขน​ ควรเริ่มจากการออกกำลังกายเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อสะบักและหลังส่วนบน เพื่อเป็นการปรับให้หลังตรงขึ้น จะช่วยลดการบาดเจ็บข้อไหล่ได้​ โดยใช้ท่าออกกำลังกายดังนี้

1.​) ในท่านั่งหรือนอนตะแคง เริ่มจากท่างอศอกเป็นมุมฉาก อาจใช้ผ้าขนหนูสอดไว้ที่ใต้รักแร้ มือข้างหนึ่งกำหนังยางหรือที่ยกน้ำหนัก(ดัมเบล) ออกแรงยกแขนไปทางด้านข้างลำตัวดังภาพ​ ทำ 10 - 15​ ครั้ง​ต่อรอบ จำนวน 3 รอบต่อวัน

2.​) ในท่ายืนตรง นำมือทั้งสองข้างประสานกันไว้ทางด้านหลัง เหยียดแขนตรง ออกแรงยกแขนทั้งสองข้างขึ้นจนรู้สึกตึงกล้ามเนื้อหน้าอก ค้างไว้ 10 - 15 วินาที ทำ 10 - 15 ครั้ง

3.)​ ในท่าแพลงค์ (half plank) ศอกและเข่าวางลงบนพื้นตามรูป เกร็งค้างไว้ 30​ วินาทีต่อรอบ ทำ 3 รอบต่อวัน​ หากเป็นผู้สูงอายุ​ให้ลงน้ำหนักที่ข้อศอก​และ​ต้นขาด้านหน้า

การแกว่งแขนที่ถูกต้อง คือการออกแรงเกร็งสลับผ่อนคลาย โดยมีการถ่ายน้ำหนักไปทางด้านหน้าและด้านหลัง​ ตามจังหวะการเคลื่อนไหวของแขน โดยเป้าหมายอยู่ที่การเกร็งกล้ามเนื้อขา​ ข้อเท้า​ หน้าท้อง​ และลำตัว​ มีข้อควรปฏิบัติดังนี้​

1.) ยืนตรง กางขาเท่ากับระยะห่างของไหล่​ 2​ ข้างและงอเข่าเล็กน้อย

2.) ปล่อยแขนวางข้างลำตัวแล้วค่อยเริ่มแกว่งแขนไปทางด้านหน้าและด้านหลังช้าๆปล่อยแรงไปตามธรรมชาติ โดยมุมการเคลื่อนไหวอาจไม่เท่ากันในแต่ละคน

3.) ขณะแกว่งแขนจะมีการถ่ายน้ำหนักไปทางด้านหน้าและด้านหลัง (ปลายเท้าสลับกับส้นเท้า)

4.) แขม่วพุง​และขมิบก้นไปด้วย เพื่อรักษาการทรงท่าไม่ให้หลังแอ่น

5.) การแกว่งแขนที่ถูกต้องไม่เน้นออกกำลังกายที่ส่วนบน แต่เน้นออกกำลังกายขา

6.) แกว่งแขนรอบละ​ 10 นาที​ วันละ 3​ รอบ

ข้อควรระวัง

ห้ามกลั้นหายใจ ควรหายใจเข้าออกช้าๆตามจังหวะการแกว่งแขน​อย่างเป็นธรรมชาติ​ อย่าแกว่งแขนแรงจนเกินไป แม้ว่าการแกว่งแขนจะมีประโยชน์มากมาย แต่หากทำด้วยความรุนแรงหรือท่าทางที่ไม่เหมาะสมอาจก่อนให้เกิดการบาดเจ็บได้ ดังนั้นควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนและหลังแกว่งแขนทุกครั้ง เนื่องจากข้อไหล่​มีเอ็นและกล้ามเนื้อหลายมัด​ การบาดเจ็บหรือการอักเสบอาจส่งผลให้เยื่อหุ้มข้อไหล่มีการหดรั้งและเกิดโรคไหล่ติดได้

หากเกิดการบาดเจ็บขณะออกกำลังกายควรหยุดแกว่งแขนและเริ่มดูแลตนเองเบื้องต้น​ด้วยการประคบความเย็นรอบข้อไหล่​ ครั้งละ 15​ นาที​ วันละ 3 - 4​ รอบ​ จนกว่าอาการปวดและอักเสบดีขึ้น

สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บของข้อไหล่ที่มารับบริการในคลินิกกายภาพบำบัด นอกจากเกิดจากการแกว่งแขนแล้วยังเกิดจากกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้งานคอมพิวเตอร์, การอุ้มลูกหรือคุณครูที่เอื้อมมือเขียนกระดานสูงๆ เป็นต้น ซึ่งจะได้เห็นว่าบางกิจกรรม​ไม่น่าจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้​ แต่เมื่อทำกิจกรรมนั้นด้วยระยะเวลานานหรือท่าทางไม่เหมาะสม จะส่งผลให้กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อไหล่เกร็งเกิดการบาดเจ็บเรื้อรังตามมาได้

ดังนั้นหากเริ่มมีอาการบาดเจ็บของข้อไหล่​ ไม่ควรฝืนออกกำลังกายเพราะจะยิ่งทำให้บาดเจ็บมากขึ้น​ เมื่อเริ่มรู้สึกถึงอาการเจ็บหรือเสียว​ในข้อไหล่ สิ่งแรกที่ควรทำ​คือ ประคบด้วยความเย็น​ และ​ ฟังเพลง "พักก่อน" ของ Milli และถ้าไม่ดีขึ้นก็ควรไป​ "หาหมอก่อน" จะได้ไม่บาดเจ็บเรื้อรังค่ะ


ข้อมูลอ้างอิง

https://fullfunctionrehab.com/blog-shoulder-impingement-syndrome/

http://www.rbf-bjpt.org.br/en-kinesiologic-considerations-for-targeting-activation-articulo

https://www.sportsinjurybulletin.com

https://flawlessphysio.co.uk/3-core-exercises-for-runners/

https://foodtalk4you.com/a-new-trend-in-exercise-the-plank/

https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/880

https://www.gangbeauty.com/exercise/106178

https://www.health.harvard.edu/shoulders/stretching-exercises-frozen-shoulder

https://www.therapeuticassociates.com/athletic-performance/running/stretching-for-runners/biceps/

ไอร์แลนด์เหนือ มรดกแห่งความขัดแย้งของอังกฤษ ความสงบที่ถูกสั่นคลอนจากผลสะท้อนของ Brexit

ไอร์แลนด์เหนือ 1 ใน 4 ประเทศที่เป็นองค์ประกอบของสหราชอาณาจักร เป็นประเทศเขตเดียวที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเกาะบริเตนใหญ่เหมือนอย่างอังกฤษ สก็อตแลนด์ และ เวลส์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของเกาะไอร์แลนด์ ที่ถูกแยกออกมา 2 ส่วน คือ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศอิสระ กับ ไอร์แลนด์เหนือที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร

ไอร์แลนด์เหนือ ถูกมองว่าเป็นหนึ่งลูกที่มีปัญหาของอังกฤษมาช้านาน ราวกับว่า "ความขัดแย้ง" คือมรดกที่ตกทอดไปสู่ลูก ๆ หลาน ๆ ของชาวไอร์แลนด์เหนือ ที่ล่าสุดตอนนี้ได้ลุกฮือขึ้นมาประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีปี และขยายตัวเป็นความรุนแรง มีการเผารถเมล์สาธารณะ ขว้างปาก้อนอิฐ ระเบิดขวดข้ามไปยังกำแพงแห่งสันติภาพ เส้นแบ่งความขัดแย้งแห่งประวัติศาสตร์ของชาวไอร์แลนด์เหนือมานานมากกว่า 50 ปี

ความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือ เกิดจากปัญหาในหลายมิติ ที่ทับถมกันมานานถึง 1 ศตวรรษเต็มๆ ทั้งปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา การเมือง สิทธิมนุษยชน จนวันนี้ มีปัญหาใหม่เพิ่มเข้ามาถมอีก นั่นก็คือ Covid19 และ Brexit

มรดกความขัดแย้งของไอร์แลนด์เหนือมีที่มาจากอะไร วันนี้เรามาลองมาทำความเข้าใจกันสักหน่อยดีกว่า

ก่อนหน้าที่จะมีการแบ่งเกาะไอร์แลนด์เป็น 2 ส่วนอย่างทุกวันนี้ ทั้งเกาะไอร์แลนด์เคยเป็นของอังกฤษทั้งหมด จากการพิชิตของกองทัพอังกฤษในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ในปี 1542 และได้สถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งไอร์แลนด์

ในตอนนั้นประชากรส่วนใหญ่บนเกาะไอร์แลนด์เป็นชาวไอริช ที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก แต่ทางตอนเหนือของเกาะจะมีชุมชนของชาวอัลสเตอร์ ที่อพยพมาจากฝั่งสก็อตแลนด์ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปแตสแตนท์

จนมาถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวเกาะไอร์แลนด์ที่เป็นชาวไอริชก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแยกตัวออกจากอังกฤษเสียที แต่ชาวอัลสเตอร์ที่อยู่อย่างหนาแน่นทางตอนเหนือของเกาะ ยังต้องการอยู่กับอังกฤษ จึงได้ลงนามตกลงแบ่งประเทศ ตอนใต้กลายเป็นสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ปกครองโดยรัฐบาลชาวไอริช ที่ส่วนใหญ่เป็นคาทอลิก มีเมืองหลวงที่กรุงดับลิน ส่วนทางตอนเหนือแยกเป็นประเทศไอร์แลนด์เหนือ มีกรุงเบลฟาสเป็นเมืองหลวง ที่ยังขอเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ ปกครองโดยรัฐบาลชาวอัลสเตอร์ ที่เป็นโปแตสแตนท์ในปี 1921

แต่ปัญหาของไอร์แลนด์เหนือกลับไม่จบง่าย ๆ เพราะยังคงมีชาวไอริชคาทอลิกหลงอยู่ทางตอนเหนือที่กลายเป็นชนกลุ่มน้อยทันที ในสังคมไอร์แลนด์เหนือที่เต็มไปด้วยชาวโปแตสแตนท์ ที่จงรักภักดีกับอังกฤษ บางส่วนจึงได้รวมตัวเป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ แล้วเรียกตนเองขบวนการกู้ชาติไอริช Irish Republican Army หรือ IRA มีเป้าหมายเพื่อรวมชาติไอร์แลนด์เหนือกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐไอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งกลุ่ม IRA ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านการเงิน และอาวุธจากชาวไอริชทางตอนใต้ และชาวไอริชที่อยู่ในต่างประเทศ เช่นในยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อก่อความไม่สงบในไอร์แลนด์เหนือ และในอังกฤษอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วางระเบิด ลอบสังหาร ปล้นธนาคาร จนถึงระดับก่อการร้าย ส่วนฝ่ายชาวอัสเตอร์โปแตสแตนท์เองก็มีกองกำลังติดอาวุธของตนเอง ออกมาสู้กับขบวนการ IRA เช่นเดียวกัน

ความขัดแย้งระหว่าง ชาวไอริชคาทอลิก และชาวอัลสเตอร์ โปแตสแตนท์ ในไอร์แลนด์เหนือ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยาวนานนับจากนั้น ช่วงเวลาที่ขัดแย้งรุนแรงที่สุด รู้จักในชื่อยุค "The Troubles" ที่กินเวลายาวนานถึง 30 ปี ตั้งแต่ 1960-1990 จนรัฐบาลอังกฤษต้องเข้ามาแทรกแซง และได้สร้างกำแพงกั้นระหว่างชุมชนฝั่งคาทอลิก และฝั่งโปสแตสแตนท์ในปี 1969 ที่ชาวไอร์แลนด์เหนือเรียกว่า Peace Wall - กำแพงสันติภาพ

แต่หน้าที่ของกำแพงไม่ได้ส่งเสริมสันติภาพตามชื่อของมันแม้แต่น้อย แต่กลับสร้างความแบ่งแยกระหว่างเชื้อชาติ และ ศาสนาในดินแดนไอร์แลนด์เหนือให้กว้างยิ่งขึ้นไปอีก

ผลจาก Peace Wall ทำให้เกิดการแบ่งแยกโซนออกมาอย่างชัดเจน เด็กชาวไอร์แลนด์เหนือมากกว่า 90% เข้าเข้าเรียนโรงเรียนที่สร้างขึ้นเฉพาะของกลุ่มเชื้อชาติ ศาสนาของตน โดยแทบไม่มีโอกาสได้รู้จักชุมชนอีกด้านหนึ่งของกำแพง

นอกจากนี้ กลุ่มชาวไอริชคาทอลิกที่เป็นชนกลุ่มน้อยมักถูกเลือกปฏิบัติ และมีโอกาสในหน้าที่การงานน้อยกว่าชาวโปแตสแตนท์ ที่มีเสียงในรัฐบาลไอร์แลนด์เหนือที่มากกว่า

ความขัดแย้งยังคงฝังรากลึกรุนแรงต่อเนื่อง เมื่อชาวไอริชในไอร์แลนด์เหนือได้รวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ที่เท่าเทียมของตน จนเกิดจลาจลรุนแรง ทางอังกฤษได้ส่งกองกำลังเข้ามาปราบปรามในวันที่ 30 มกราคม 1972 จนมีชาวไอริชเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นถึง 26 คน เหตุการณ์นั้นได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ของไอร์แลนด์เหนือว่าเป็น "Bloody Sunday หรืออาทิตย์นองเลือด 1972"

ความเจ็บแค้นในครั้งนั้นก่อให้เกิดการตอบโต้อย่างรุนแรงจากกลุ่มกองกำลังกู้ชาติไอริช หรือ IRA ซึ่งหนึ่งในการโต้ตอบที่สะเทือนขวัญชาวอังกฤษอย่างมาก คือการลอบสังหาร ท่านเอิร์ล เมาท์แบทเทิ่น ด้วยการวางระเบิดเรือตกปลาส่วนตัวของครอบครัว ขณะที่มีบุตรสาวคนโต และครอบครัวลูกหลานของเอิร์ลเมาท์แบทเทิ่นกำลังไปพักผ่อนตกปลาร่วมกันถึง 7 คน เหตุลอบสังหารครั้งนั้น ทำให้เอิร์ลเมาท์แบทเทิ่น พร้อมสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตรวม 4 คน

ซึ่งเอิร์ล เมาท์แบทเทิ่นถือเป็นนายพลแห่งราชนาวีอังกฤษที่มีชื่อเสียงมาก และมีศักดิ์เป็นถึงพระปิตุลาของเจ้าชายฟิลิปแห่งเอดิบเบอระ พระสามีในสมเด็จพระราชินี อลิซเบธที่ 2

แต่หลังจากที่ตึงเครียดวุ่นวายมานาน ในที่สุดทั้งไอร์แลนด์เหนือ ไอร์แลนด์ อังกฤษ ก็สามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพร่วมกันในวันที่ 10 เมษายน 1998 ข้อตกลงฉบับนั้นมีชื่อว่า Good Friday Agreement เห็นชอบที่จะยุติความรุนแรงทุกฝ่าย ให้ชาวไอริชคาทอลิกมีสิทธิ์ มีเสียงในระบบการเมืองสภาไอร์แลนด์เหนือมากขึ้น นักประวัติศาสตร์อังกฤษต่างยกให้การบรรลุข้อตกลง Good Friday เป็นการสิ้นสุดยุค The Troubles ในไอร์แลนด์เหนือ

แม้ว่าความวุ่นวายจะยุติ แต่ความขัดแย้งในสังคมชาวไอร์แลนด์เหนือ ไม่เคยจางหายไป

ชาวโปแตสแตนท์ และชาวคาทอลิกในไอร์แลนด์เหนือ ยังคงอยู่ภายในกำแพงจำกัดเขตในชุมชนของตนไปอย่างเงียบ ๆ จนกระทั่งเกิดเรื่องที่กลับมาตอกลิ่มความแตกแยกให้ประทุมาอีกครั้ง นั่นคือการลงประชามติ Brexit ในปี 2016

แม้ว่าภาพรวมของการลงคะแนนทั่วทั้งสหราชอาณาจักรจะเห็นชอบให้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่หากมองคะแนนในแต่ละภูมิภาคจะพบว่าในเสียงไอร์แลนด์เหนือส่วนใหญ่ยังอยากอยู่กับ EU แถมชนะขาดเกือบ 11%

แต่เมื่อต้องร่วมหัวจมท้ายไปกับอังกฤษก็ต้องเป็นตามนั้น แต่ปัญหาอยู่ที่พรมแดนไอร์แลนด์เหนือ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์

จากเดิมที่ไม่มีปัญหาเพราะอังกฤษและไอร์แลนด์เป็นสมาชิก EU ทั้งคู่ สามารถเดินทางไปมาข้ามพรมแดนได้อย่างอิสระ แต่พออังกฤษแยกตัวออกจาก EU ตามเงื่อนไขของประเทศนอกสมาชิก จำเป็นต้องมีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและ กำแพงภาษีสินค้า

แต่ทั้งนี้อังกฤษขอต่อรองในเรื่องนี้ ยื้อกันนานกว่า 3 ปีจนสรุปออกมาได้ว่า EU จะยอมผ่อนผันเรื่องกำแพงระหว่างไอร์แลนด์เหนือ และประเทศไอร์แลนด์ได้ เพราะเห็นแก่ข้อตกลงสันติภาพ Good Friday 1998 แต่เขตแดนทางทะเลจำเป็นต้องมี

แม้จะไม่ได้เป็นกำแพงทางกายภาพ แต่เส้นแบ่งทางทะเลนี้จะรวมเขตไอร์แลนด์เหนือ เป็นเขตเดียวกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ จึงทำให้ฝ่ายนิยมสหราชอาณาจักร หรือกลุ่มอัลสเตอร์โปแตสแตนท์ไม่พอใจมาก ที่ดูเหมือนอังกฤษ และชาว EU ผลักไสพวกเขาไปอยู่ฝั่งเดียวกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ และมีการประท้วง เขียนกำแพงต่อต้านเส้นแบ่งทะเลไอร์แลนด์อยู่ทั่ว ๆ ตามแนวชายฝั่ง และท่าเรือที่มีแรงงานชาวไอริชคาทอลิกอยู่

ยิ่งมาเกิดการแพร่ระบาด Covid-19 มีการประกาศมาตรการล็อคดาวน์ และงดการชุมนุมในที่สาธารณะ ที่ชาวอัลสเตอร์โปแตสแตนท์ถูกห้ามไม่ให้ชุมนุม

แต่พอมีข่าวการเสียชีวิตของนายบ๊อบบี้ สโตร์ลีย์ อดีตหัวหน้าหน่วยของขบวนการ IRA รัฐบาลไอร์แลนด์เหนือกลับให้จัดพิธีศพใหญ่โตได้ ที่มีผู้ไปร่วมงานอย่างเนืองแน่นกว่า 2,000 คน รวมถึง มิชเชล โอ'นีลล์ รองนายกรัฐมนตรีของไอร์แลนด์เหนือ กลับไปร่วมงานได้โดยไม่ผิดกฏมาตรการควบคุมโรคระบาดของรัฐ

เหตุและผลสะสมกันมานานหลายเรื่องก็ระเบิดออกมากลายเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ โดยฝ่ายชาวโปแตสแตทน์นิยมอังกฤษ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกคับข้องใจว่าพวกเขารู้สึกเหมือนถูกละเมิดสิทธิ์ และกำลังจะถูกผลักไปอยู่รวมกับอีกฝ่ายที่อยู่คนละด้านของกำแพง

และหากเป็นเช่นนั้นจริงในอนาคต พวกเขาก็จะกลับกลายเป็นคนกลุ่มน้อยในเกาะไอร์แลนด์ทั้งหมดที่เป็นชาวคาทอลิกหรือไม่

การประท้วงเริ่มต้นตั้งแต่ 29 มีนาคม 2021 ที่ผ่านมาในเขตเดอร์รี ลอนดอนเดอร์รี และลามไปถึงเบลฟาสท์ กินเวลานานหลายวัน มีการขว้างปาก้อนอิฐ ระเบิดขวดข้ามกำแพง Peace Wall เข้าไปในฝั่งของชาวไอริช เผารถเมล์ โจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บาดเจ็บไปแล้วถึง 74 คนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นการประท้วงที่ดุเดือดที่สุดในไอร์แลนด์เหนือในรอบสิบปี ที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะกระทบกับข้อตกลง Good Friday ที่เคยสร้างความหวังว่าไอร์แลนด์เหนือจะสงบสุขได้จริง ๆ เสียที

จากการประท้วงครั้งล่าสุดนี้ ทำให้ผู้นำทั้ง 3 ดินแดน บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ อาร์ลีน ฟอสเตอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งไอร์แลนด์เหนือ และ ไมเคิล มาร์ติน นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ และพยายามหาทางออกด้วยสันติวิธี ตามหลักข้อตกลง Good Friday

ส่วนทั้งชาวโปแตสแตนท์ และชาวคาทอลิกในไอร์แลนด์เหนือต่างออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างมากมาย หลายความเห็นมองว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้เกิดไม่ทันความอลหม่านของบ้านเมืองในยุค The Troubles พวกเขามองกำแพง Peace Wall ด้วยความไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องเกิดมาเพื่อเจอสิ่งเหล่านี้

ไอร์แลนด์เหนือจะมีโอกาสได้พบกับยุคทองแห่งความสงบสุขบ้างหรือไม่ หรือความแตกแยกจะอยู่คู่กับไอร์แลนด์เหนือราวกับมรดกต้องคำสาปเช่นนี้ตลอดไป


ข้อมูลอ้างอิง :

https://edition.cnn.com/2021/04/09/uk/northern-ireland-violence-explainer-gbr-intl/index.html

https://abcnews.go.com/International/wireStory/explainer-latest-unrest-ireland-76990771?cid=clicksource_4380645_10_heads_posts_card_hed

https://www.bbc.com/news/uk-northern-ireland-56664378

https://en.m.wikipedia.org/wiki/The_Troubles

เสียง (เพรียก) แห่งสายน้ำปัตตานี... ตอนที่ 4

‘อัยเยอร์เวงและฆุนังซีลีปัต’ น่าจะเป็นชื่อคุ้นหูใครหลายคน คำที่โด่งดังจากทะเลหมอกและสกายวอร์คซึ่งเป็นจุดชมวิวเลื่องชื่อระดับประเทศ คนแห่กันไปถ่ายรูปและเช็คอินกันล้นหลาม ส่วนหนึ่งเพราะโดยตัวสถานที่เองที่มีความโดดเด่นและเป็นจุดขายในตัวมันเอง อีกส่วนหนึ่งคงเพราะมีการแชร์ข้อมูลต่อ ๆ กันไปผ่านโลกโซเชี่ยล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์และเน็ตไอดอลทั้งหลายนั่นเอง 

แต่ละแวกนี้ไม่ได้มีเฉพาะจุดชมวิวทะเลหมอกเท่านั้น ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ อย่างเช่นสายน้ำปัตตานี รวมถึงขนบประเพณีของคนเชื้อสายมลายูให้ได้ซึมซับชื่นชมยามไปเยือนพื้นที่นี้ อย่างที่บังบิ๊บกับผมกำลังทำกันอยู่คือกิจกรรมพายเรือล่องแก่งก็เป็นสีสันอีกอย่างหนึ่ง บังบิ๊บเองนอกจากเป็นนักเดินทางท่องโลกแล้ว เขายังจัดกิจกรรมทัวร์ผจญภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนพื้นที่สามจังหวัดอีกด้วย กิจกรรมพายเรือคายักได้ดำเนินการอยู่แล้วในพื้นที่ ให้ทั้งความสนุกและมีความปลอดภัยสูง แถมยังสามารถทำได้แม้ในช่วงหน้าร้อนซึ่งแตกต่างจากการล่องแก่งในภาคเหนือซึ่งมักจะจัดกันเฉพาะฤดูน้ำหลากเท่านั้น แต่ล่องแก่งของที่นี่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง สาเหตุอาจเพราะขาดการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและด้วยวิธีการจัดการภายในท้องถิ่นเองก็เป็นได้

สำหรับผม การได้หนีหมอกควันที่เชียงใหม่มาพื้นที่สามจังหวัดแบบนี้ถือว่าเป็นรางวัลโดยตัวมันเองอยู่แล้ว อากาศบริสุทธิ์กว่าโดยประการทั้งปวง มองไปทางไหนก็ยังคงเขียวขจี (แม้จะเป็นสวนยางเสียเยอะก็ตาม) ที่ผิดคาดกว่าก็คือช่วงค่ำและกลางคืนอากาศเย็นกว่าที่คิดด้วยสิ ยิ่งได้มาพายเรือแล้วเจอแก่งน้ำเชี่ยวให้ได้ตื่นเต้นยิ่งเกินคุ้ม หากถามว่าปลอดภัยไหม สุ่มเสี่ยงในเรื่องการก่อการร้ายหรือไม่ ต้องบอกว่าตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในพื้นที่นี้ไม่ได้รู้สึกไม่ปลอดภัยแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ชาวบ้านที่ผ่านไปพบต้อนรับขับสู้ด้วยน้ำใจไมตรี ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงจากสิ่งที่ประโคมเขียนกันตามสื่อต่าง ๆ แน่นอน ยังคงมีความขัดแย้งและผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวระหว่างหน่วยงานรัฐกับคนในพื้นที่ แต่นักท่องเที่ยวก็ยังไปเที่ยวได้ตามปกติ ชาวบ้านที่นั่นเขาก็ยังคงดำเนินชีวิตกันเป็นปกติ ต่างทำมาหากิน จับจ่ายใช้สอย ท่องเที่ยวพักผ่อนไม่ต่างจากที่ไหนในประเทศไทยเช่นกัน


จากจุดพักแรมคืนที่ผ่านมา ยังคงต้องล่องแก่งกันต่ออีกหลายกิโลเมตร สนุกสนานตื่นเต้นกันไป พ้นจากช่วงนั้นน้ำจึงเริ่มนิ่งมากขึ้น สาเหตุเพราะข้างหน้ามีเขื่อนบางลางขวางลำน้ำ เขื่อนนี้สร้างมาได้หลายสิบปีแล้ว หน้าที่หลักคือผลิตกระแสไฟฟ้าและปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เหนือเขื่อนรองรับการท่องเที่ยวบ้าง พวกเราต้องพายจ้ำกันมากขึ้น ยิ่งพายภูมิทัศน์ยิ่งเปลี่ยน พื้นน้ำกว้างออก กลายเป็นทะเลสาบ

ในขณะที่มองเห็นภูเขาล้อมรอบในระยะห่างออกไป ความท้าทายประจำวันนี้ คือลมปะทะแรง ยิ่งบ่ายคล้อยลมยิ่งทวีความรุนแรง เหมือนต้องพายเรือทวนน้ำยังไงยังงั้น เรียกว่าหยุดพายก็เท่ากับโดนลมตีให้ถอยหลัง เป็นความทรมานบันเทิงชนิดหนึ่งของคนประเภทไม่ชอบอยู่บ้านทำงานออฟฟิศ แต่ชอบหาเรื่องทำกิจกรรมโลดโผนโจนทะยานข้างนอกเช่นนี้แล แน่นอน การอยู่กับที่กับทางสบายกายกว่าอยู่แล้ว ไม่เถียง แต่กับคนบางจำพวก สบายกายไม่ได้สอดคล้องกับสบายใจ และลำบากกายอาจจะนำพาสู่ความสบายใจและความสุขของชีวิตมากกว่า

พายกันจนย่ำค่ำจนถึงท่าเรือตาพระเยา เพื่อนบางส่วนมารับไปพักบ้านพวกเขา ต้อนรับขับสู้ด้วยสำรับกับข้าว นอกจากพิซซ่าโฮมเมดแล้ว เมนูเชื่อมสัมพันธ์พิเศษของคนที่นี่คือซุปเป็ด เป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่มิตรผู้ชายทั้งหลาย เวลาจะสังสรรค์กันใครมีอะไรก็นำมาเพื่อต้มซุปด้วยกัน เครื่องปรุงหลัก ๆ ก็มีข่า กระเทียม หัวหอม มะนาว ตะไคร้ มะเขือเทศ ลักษณะคล้ายต้มยำน้ำใส รสชาติจัดจ้านคละเคล้าบทสนทนาออกรส ทำให้มื้ออาหารอร่อยมากขึ้นอีกหลายเท่า

อิ่มหมีพีมันและเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทางมาทั้งวันแล้ว ก็อาบน้ำท่าแล้วเข้านอน เพื่อเรียกเรี่ยวแรงกลับคืนมาสำหรับออกลุยล่องแม้น้ำปัตตานีกันต่อในวันรุ่งขึ้น

ทำความรู้จัก “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน : Infrastructure Fund” เพื่อวางกลยุทธ์การลงทุนในช่วงวิกฤต

แม้ในช่วงวิกฤติจะส่งผลให้การลงทุนเกิดความผันผวนอย่างมาก ทั้งต่อระดับความเสี่ยงจากการลงทุน และผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับก็ตาม แต่หากนักลงทุนวางกลยุทธ์การลงทุนโดยเลือกสินทรัพย์ที่เหมาะสม ก็จะช่วยพลิกวิกฤติเป็นโอกาส และสามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยลดต่ำทั่วโลก การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund :IFF) เป็นทางเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนในระดับที่สูงกว่าตราสารหนี้ และมีความผันผวนในระดับที่ต่ำกว่าตลาดหุ้น เนื่องจากจุดเด่นของอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่มีอุปสงค์ยืดหยุ่นต่ำ ไม่ผันแปรตามสภาวะเศรษฐกิจ เพราะเป็นสินค้าและบริการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน อีกทั้งเป็นธุรกิจที่มี Barrier of Entry สูง (เป็นเจ้าตลาด หรือ ธุรกิจผูกขาด) จึงทำให้มีคู่แข่งขันเข้ามายาก ตลอดจนความสามารถในการขึ้นราคาเมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้นหรือในภาวะเงินเฟ้อได้อีกด้วย

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ภาครัฐและเอกชนใช้ในการระดมทุนจากผู้ลงทุนทั่วไปทั้งรายย่อยและสถาบัน เพื่อนำเงินไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในวงกว้างของประเทศ 10 ประเภท ประกอบด้วย ระบบขนส่งทางราง, ประปา, ไฟฟ้า, ถนน, สนามบิน, ท่าเรือน้ำลึก, โทรคมนาคม, พลังงานทางเลือก, ระบบบริหารจัดการน้ำหรือชลประทาน และระบบป้องกันภัยธรรมชาติ โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล และกำไรจากส่วนต่างราคา นอกจากนี้ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดายังได้รับยกเว้นภาษีจากรายได้เงินปันผลดังกล่าวเป็นระยะเวลา 10 ปี ทั้งนี้ในประเทศไทยมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่

1.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ TFFIF

2.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี หรือ SUPEREIF

3.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ EGATIF

4.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF

5.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF

6.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF

7.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ หรือ ABPIF และ

8.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRRGIF

นักลงทุนที่สนใจลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ

1.) การซื้อหุ้น IPO ที่ทำการเสนอขายครั้งแรก ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่บริหารจัดการจัดการกองทุนนั้น รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ หรือโบรกเกอร์ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย และ

2.) ภายหลังจากหมดช่วง IPO แล้ว กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานก็จะถูกนำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และซื้อขายเช่นเดียวกับหุ้นทั่วไปบนกระดานหุ้น ดังนั้นผู้ลงทุนจึงต้องเปิดบัญชีและทำการซื้อขายหุ้นโครงสร้างพื้นฐานผ่านโบรกเกอร์ได้


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.set.or.th/th/products/listing2/set_iff_p1.html

https://www.finnomena.com/finnomena-ic/scbgif/

ฟ้าผ่า ภัย(ไม่)เงียบ ที่มาพร้อมกับพายุ ฝนฟ้าคะนอง

ช่วงนี้เชื่อแน่ว่าหลายพื้นที่คงได้รับผลกระทบจากการเกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านลบ คือบ้านเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างเกิดความเสียหาย หรือด้านบวก คือทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับน้ำฝน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช แต่มีอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นภัยที่มากับพายุ และไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเวลาและสถานที่ไหน นั้นคือปรากฏการณ์ฟ้าผ่า และหนึ่งในนั้นเป็นเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่หลายท่านคงได้ยินข่าว นั่นคือฟ้าผ่าลงกลางสนามฟุตบอลในขณะที่นักฟุตบอลกำลังเล่นฟุตบอลกันอย่างสนุกสนาน ส่งผลให้ผู้ที่กำลังเล่นฟุตบอลเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บด้วยกันหลายคน

ในวันนี้จะมาเล่าถึงการเกิดฟ้าผ่า สาเหตุของการเกิด และแนวทางในการป้องกันฟ้าผ่ากันครับ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อน ตามหลักการทางฟิสิกส์แล้ว สสารทุกชนิดจะมีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่ โดยประจุไฟฟ้ามี 2 ชนิดคือประจุบวและประจุลบ คุณสมบัติของประจุไฟฟ้า ก็คือเมื่อเป็นประจุชนิดเดียวกันจะเกิดแรงผลักกัน แต่ถ้าเป็นประจุต่างชนิดกันจะเกิดแรงดูดกัน ทั้งนี้เมื่อประจุไฟฟ้าเคลื่อนที่ก็จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า หรือที่เราเรียกว่าไฟฟ้ากระแสที่มีการใช้งานทั่วไปนั่นเอง

โดยทั่วไปถ้าไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ เกิดขึ้น สสารทุกชนิดจะมีความเป็นกลางทางประจุไฟฟ้า คือมีประจุบวกเท่ากับประจุลบ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีการทำปฏิกิริยาเกิดขึ้น เช่นการขัดหรือถูกันระหว่างสสาร ก็จะทำให้เกิดการถ่ายเทประจุจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ทำให้สสารนั้นขาดความเป็นกลางทางประจุไฟฟ้า เช่นปรากฏการณ์ที่เราเห็นได้ง่ายคือการเอาไม้บรรทัดถูกับผ้าที่แห้ง ทำให้ประจุที่สะสมอยู่ในไม้บรรทัดสูญเสียความเป็นกลางทางไฟฟ้า ประจุบวกกับลบแยกกันอยู่คนละด้านของไม้บรรทัด เมื่อเรานำมาวางไว้ใกล้กระดาษ จะส่งผลให้ประจุที่ไม่เป็นกลางที่อยู่ในไม้บรรทัด พยามที่จะดึงเอาประจุตรงข้ามที่อยู่ที่กระดาษ ทำให้เกิดแรงดึงดูดระหว่างกระดาษกับไม้บรรทัด นั่นคือกระดาษเคลื่อนเข้าหาไม้บรรทัดนั่นเอง เรียกปรากฏการณ์ลักษณะนี้ว่า การเหนี่ยวนำให้เกิดประจุไฟฟ้า 

ทีนี้เมื่อมาเปรียบเทียบกับการเกิดฟ้าผ่า ตามหลักโดยทั่วไปแล้ว ก้อนเมฆซึ่งเป็นไอน้ำก็เป็นสสารชนิดหนึ่งเช่นกัน นั่นแสดงว่าต้องมีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่ ยิ่งก้อนเมฆมีขนาดใหญ่มากเท่าไร นั่นแสดงว่ามีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่เป็นจำนวนมากตามไปด้วย และเมื่อก้อนเมฆมีการเคลื่อนที่ ทั้งนี้สาเหตุเกิดจากลม ซึ่งโดยทั่วไปลมจะเกิดจากการเคลื่อนที่ของอนุภาคอากาศ และเมื่อก้อนเมฆที่มีขนาดใหญ่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเกิดการเสียดสีกันระหว่างหยดน้ำ และน้ำแข็งที่อยู่ในก้อนเมฆ ทำให้เกิดการถ่ายเทประจุ ส่งผลให้ประจุไฟฟ้าที่อยู่ในก้อนเมฆ แยกตัวออกเป็นสองส่วน โดยประจุบวกจะสะสมอยู่ด้านบนหรือด้านยอดของเมฆ และประจุลบสะสมอยู่ด้านล่างหรือฐานของเมฆ เมื่อเกิดการสะสมประจุเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการถ่ายระหว่างประจุที่แตกต่างกัน ซึ่งก็คือเกิดการถ่ายเทกระแสไฟฟ้าที่มีจำนวนมหาศาล ถ้าเกิดระหว่างก้อนเมฆก็จะเป็นปรากฏการฟ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆ ที่เรามักได้ยินเสียงแต่นั่นเอง


โดยชนิดของเมฆที่ทำให้เกิดฟ้าผ่า คือเมฆที่เกิดฝน หรือเรียกว่าเมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus) ซึ่งจะมีฐานของเมฆที่สูงกว่าพื้นดินประมาณ 2 กิโลเมตรขึ้นไป และเมฆบางก้อนมีขนาดใหญ่จนยอดของเมฆสูงกว่าพื้นดินเกือบ 20 กิโลเมตร เลยทีเดียว ในขณะเดียวกันเนื่องจากพื้นดินที่เราอาศัยอยู่ก็มีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก โดยทั่วไปจะมีความเป็นกลางทางประจุไฟฟ้า  แต่เมื่อถูกเหนี่ยวนำด้วยประจุต่างชนิดจากประจุของก้อนเมฆ ที่เคลื่อนที่เข้าใกล้พื้นดินมาก ก็อาจจะส่งผลให้ประจุบริเวณพื้นดินที่อยู่ใต้เงาก้อนเมฆ หรือบริเวณใกล้เคียงอาจเป็นประจุบวกหรือลบก็ได้ และเมื่อประจุไฟฟ้าที่อยู่บนก้อนเมฆเคลื่อนที่ลงมาหาประจุตรงข้ามที่อยู่บนพื้นดิน ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนมากลงมายังพื้นดินด้วย พอเจอกับสิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ หรือต้นไม้ ก็จะทำให้เกิดการไหลของกระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนมากในสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ดังนั้นลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่โดนฟ้าผ่าจึงมีลักษณะคล้ายกับสิ่งมีชีวิตที่ถูกกระแสไฟฟ้าแรงสูงช็อต นั่นเอง

ทั้งนี้ลักษณะการผ่าของฟ้าเกิดได้หลายแบบ ได้แก่ฝ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆเดียวกัน เกิดจากการถ่ายเทประจุในก้อนเมฆเดียวกัน โดยอาจเกิดจากฐานเมฆไปยังยอดเมฆ หรือยอดเมฆมายังฐานก็ได้ ฟ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆหนึ่งไปยังอีกก้อนหนึ่ง เกิดจากการถ่ายเทประจุระหว่างก้อนเมฆแต่ละก้อน ทั้งนี้ฟ้าผ่าทั้งสองชนิดนี้จะไม่มีผลต่อมนุษย์เรา จะได้ยินแค่เสียงฟ้าร้องและฟ้าแลบเท่านั้น

ส่วนฟ้าผ่าที่มีผลต่อเราได้แก่ ฟ้าผ่าที่เกิดจากประจุลบบริเวณฐานเมฆที่ถ่ายเทประจุ มายังพื้นดินซึ่งเป็นประจุบวกที่เป็นเงาของเมฆทับอยู่ โดยทั่วไปจะเกิดเฉพาะบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองเท่านั้น 

และฟ้าผ่าจากประจุบวกที่อยู่บนยอดเมฆถ่ายเทประจุลงมายังพื้นดินที่เป็นลบ ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องผ่าลงบริเวณเกิดฝน อาจผ่าลงบริเวณใกล้เคียงก็ได้ ซึ่งลักษณะของฟ้าผ่าแบบนี้จะมีระยะผ่าที่ไกลกว่าบริเวณที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองได้ ทั้งนี้ในเวลาที่ฟ้าผ่าเราจะเห็นแสงและได้ยินเสียงร้องคำรามของฟ้าที่มีความดังสูงนั้น เกิดจากการที่ประจุไฟฟ้า เคลื่อนที่ผ่านอากาศด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดการเสียดสีกับอากาศอย่างรุนแรง อากาศเกิดความร้อนขยายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นคลื่นกระแทก (shock wave) จึงเกิดทั้งแสงและเสียงที่ดังกึกก้องกัมปนาท คล้ายกับการเสียงของเครื่องบินรบที่บินด้วยความเร็วสูงนั่นเอง

ทั้งนี้เรามักจะมองเห็นแสงฟ้าแลบก่อนที่จะมีเสียงฟ้าร้อง เนื่องจากแสงมีความเร็วมากกว่าเสียงมาก ทำให้แสงวิ่งมาถึงตัวเราที่รับรู้ได้โดยสายตา ก่อนที่จะได้ยินเสียงที่รับรู้ได้ด้วยหูนั่นเอง การเกิดฟ้าผ่านั้นนอกจากเรารับรู้ได้ว่ามักจะเกิดบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง หรือบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น นอกเหนือจากนี้เราไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ว่าจะเกิดเวลาใด หรือบริเวณไหนของฝนฟ้าคะนองดังกล่าว

วิธีการป้องกันได้ดีที่สุดคือเวลาฝนตก ไม่ควรจะอยู่ในบริเวณที่โล่งแจ้งหรือต้นไม้ใหญ่ ควรอยู่ในบริเวณอาคารบ้านเรือน ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรสวมใส่โลหะที่เป็นตัวนำไฟฟ้า ถึงแม้จะยังไม่มีบทพิสูจน์อย่างชัดเจนได้ว่า การสวมใส่โลหะในขณะเกิดฝนตกจะเป็นตัวล่อให้เกิดการเหนี่ยวนำไฟฟ้าจากก้อนเมฆมายังโลหะตัวนำนั้น แต่ก็มีการค้นพบว่าเมื่อเกิดฟ้าผ่า บริเวณที่มีตัวนำไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และในอาคารที่สูงควรจะมีการติดตั้งวัสดุที่เรียกว่าสายล่อฟ้า ซึ่งจะมีหน้าที่ในการเหนี่ยวนำให้ประจุจากก้อนเมฆวิ่งลงมายังสายล่อฟ้า แล้ววิ่งลงไปยังพื้นดินข้างล่างที่ต่อกับสายล่อฟ้าไว้ ซึ่งประจุไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นอันตราย และที่สำคัญที่สุด เวลามีพายุ ฝนฟ้าคะนอง ควรงดทำกิจกรรมที่อยู่ในที่โล่งแจ้งทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ตาม แค่นี้เราทุกคนก็จะปลอดภัยจากปรากฏการณ์ฟ้าผ่าได้ครับ

ตำนานลูกมะพร้าว ที่มาของเจ้าที่ในบ้านของคนเมียนมาร์

ใครที่เคยมีเพื่อนที่เป็นคนเมียนมาร์เวลาไปเยี่ยมเพื่อนเขาที่บ้าน นอกจากจะเห็นหิ้งพระใหญ่โตแล้ว หากคุณเป็นคนสายตาดีคุณจะสังเกตเห็นมุมหนึ่งที่เขาจะตั้งลูกมะพร้าวไว้บนแท่นบูชาหรือแขวนไว่มุมหนึ่งของบ้าน จนเราต้องสงสัยว่าจะแขวนมะพร้าวไว้ที่บ้านทำไม แต่นี่คือเทพหรือนัท ที่คนเมียนมาร์กราบไว้บูชามีพลังอำนาจในการปกป้องบ้านเรือนจากเหล่าภูตผีและวิญญาณชั่วร้ายต่าง ๆ นัทองค์นี้มีชื่อว่า “เมงมหาคีรี”

นัทองค์นี้ มีตำนานเริ่มที่ยุคพุกาม ก่อนที่พุกามจะรวมเป็นราชอาณาจักรเดียว ที่เมืองตะโกง ใกล้ ๆ กับเทือกเขาโปป้า มีชายหนุ่มคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้น เขามีนามว่า ‘ติน เต’ เขาเกิดมาพร้อมกับพลังมหาศาลและร่างกายอันแข็งแกร่ง อาวุธต่าง ๆ ไม่สามารถทำอันตรายเขาได้ เมื่อเขาโตขึ้นเขาทำงานเป็นช่างตีดาบในเมืองนี้ และเขายังมีน้องสาวอีก 2 คน เมื่อเรื่องราวของชายหนุ่มผู้มีพละกำลังมหาศาลรู้ไปถึงหูของกษัตริย์เมืองตะโกง ทางกษัตริย์ก็กลัวว่านายติน เต คนนี้สักวันจะมาชิงราชบัลลังก์ กษัตริย์จึงออกอุบายให้ไปจับนายติน เต มาเพื่อสังหารซะ แต่สุดท้ายทหารก็ไม่สามารถจับเขาได้ แต่นายติน เต ผู้นี้ก็หนีไปได้ ทางกษัตริย์จึงบอกให้ทหารไปจับน้องสาวทั้งสองของเขาที่อาศัยอยู่ที่บริเวณหุบเขาโปป้ามา แต่แทนที่จะออกอุบายจับน้องสาวทั้งสองมาสังหาร แต่กษัตริย์เมืองตะโกงกลับออกอุบายว่าจะอภิเษกกับน้องสาวทั้งสองของติน เต แทน และบอกให้น้องสาวทั้งสองของติน เต ขอร้องให้พี่ชายของเขามาพบในฐานะผู้กล้า หลายครั้งที่กษัตริย์ตรัสกับเมียสองพี่น้องว่าถ้าพี่ชายเขามาเป็นแม่ทัพให้เมืองตะโกง เมืองตะโกงจะยิ่งใหญ่ไพศาลมีอำนาจมากมาย จนทำให้น้องสาวของติน เต ทั้งสองหลงเชื่อใจกษัตริย์ ดังนั้นน้องสาวทั้งสองของติน เต จึงชวนพี่ชายเขาให้มาเข้าวังเพื่อพบกับกษัตริย์

เมื่อติน เต เขามาในวังแล้วกษัตริย์ก็วางอุบายจับเขามัดไว้กับต้นจำปีไว้ แต่พอทหารใช้ศาสตราวุธใด ๆ ก็ไม่สามารถเจาะผ่านผิวของติน เต ได้ กษัตริย์จึงออกคำสั่งให้เผาติน เต ทั้งเป็น เมื่อน้องสาวทั้งสองเห็นพี่ชายตนเองกำลังจะตายอย่างทุรนทุราย ทั้งสองจึงได้กระโดดไปในกองไฟตายร่วมกับพี่ชายของเขา

เมื่อ ติน เต และน้องสาวทั้งสองตายไปแล้ว วิญญาณของทั้งสามก็สิงสถิตย์ที่จุดที่เป็นต้นจำปีนั้น เมื่อมีใครผ่านไปผ่านมาก็มักจะปรากฎร่างให้เห็น จนผู้คนในเมืองตะโกงต่างกลัว เรื่องราวได้ยินไปถึงหูของกษัตริย์เมืองตะโกงอีกครั้ง กษัตริย์จึงสั่งให้ทหารไปถอนรากต้นจำปีที่ไหม้ไปแล้วขึ้นมาเอาไปลอยในแม่น้ำอิรวดี รากไม้นี้ลอยไปจนถึงเมืองท่าของพุกามที่นั่น ก่อนที่รากไม้นี้จะลอยมาถึงกษัตริย์แห่งพุกามนามว่า เตเลเจาง์  ท่านทรงสุบินถึงรากจำปีนี้และเรื่องราวของติน เต และน้องสาวทั้งสอง เมื่อรากจำปีลอยมาติดที่ท่าเมืองพุกาม กษัตริย์เตเลเจาง์ จึงดำรัสให้นำรากจำปีขึ้นจากน้ำ จึงสร้างรูปสักการะ และมอบสถานที่ให้วิญญาณทั้งสามสถิตย์เพื่อที่พุกาม และประกาศให้ทุกบ้านสักการะในฐานะนัทผู้คุ้มครองภูเขาโปป้า รวมทั้งให้ภารกิจนัททั้งสามว่ามีหน้าที่ปกป้องบ้านเรือนของผู้คนจากวิญญาณร้ายและภูติผี และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ‘เมงมหาคีรี’

เมื่อถึงยุคพระเจ้าอโนรธามังช่อ เป็นยุคที่พุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลในพม่า ในตอนนั้นพระเจ้าอโนรธามังช่อไม่ชอบ จะลงโทษคนที่สักการะนัท ดังนั้นทุกบ้านจะต้องเอารูปสักการะนัทออกไปทิ้ง แต่ชาวบ้านยังศรัทธาในการสักกการะนัทเมงมหาคีรีแม้จะไม่สามารถมีองค์สักการะที่บ้านได้ ดังนั้นชาวบ้านจึงนำลูกมะพร้าวมาตกแต่งโดยการรวมคองบอง หรือ ผ้าโพกหัวและมีตาลปัตรที่เป็นสัญลักษณ์ของนัทเมงมหาคีรีไว้ที่บ้านเพื่อศรัทธา

การบูชานัทองค์นี้จะต้องมีผ้าแดงปิด โดยยามกลางวันจะเปิดผ้าแดงไว้ แต่เมื่อยามวิกาลมาถึง เมื่อแต่ละบ้านต้องจุดไฟ จะต้องปิดผ้าแดงคลุมลูกมะพร้าวไว้ เนื่องจากนัทเมงมหาคีรี ตายเพราะไฟ ดังนั้นท่านจึงไม่ถูกกับไฟนั่นเอง การบูชาเมงมหาคีรีนั้น ต้องห้ามจุดธูป จุดไฟ และถวายดอกจำปาเด็ดขาด สามารถถวายอาหารคาว ยกเว้นเนื้อสัตว์ น้ำ และผลไม้ ดอกไม้ทั่วไปยกเว้นจำปีได้ และในทุก ๆ ปีจะถวายมะพร้าวสักการะลูกใหม่พร้อมกับถวายเครื่องเซ่น อย่างเช่น  Mont San เป็นขนมที่ทำมาจากแป้งข้าวเหนียว น้ำตาลและมะพร้าว ใบชา หมากพลู และกล้วยในวันก่อนวันเข้าพรรษาและหลังวันออกพรรษา และหลายครอบครัวก็มีการให้เครื่องเซ่นเมื่อมีสมาชิกเข้ามาอาศัยในบ้าน เช่น แต่งงานมีสะใภ้เข้าบ้าน หรือหลังจากลูกเกิด 49 วัน

และนี่เป็นอีกหนึ่งนัทที่อยู่คู่กับคนเมียนมาร์มานับพันปีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเชื่อว่าความเชื่อนี้ยังคงอยู่ต่อไปอีกแสนนานเช่นเดียวกับคนไทยเชื้อสายจีนบูชาตี่จู่เอี้ยนั่นเอง

ประเทศที่ปราศจากกองทัพ

เข้าสู่อากาศร้อนจัดของเดือนเมษายน จึงขอลดความร้อนแรงของความร้อนด้วยเรื่องของประเทศที่ไม่มีกองทัพ ซึ่งในโลกของเรามีร่วมสามสิบประเทศที่ไม่มีกองทัพ คำว่าประเทศในที่นี้หมายถึงรัฐที่มีอธิปไตย โดยการป้องกันประเทศของตนกลายเป็นความรับผิดชอบของประเทศอื่นไป หรือมีกองทัพที่มีลักษณะเป็นทางเลือกเป็นกองกำลังติดอาวุธสำหรับการป้องกันประเทศตามแต่จะใช้เพื่อสนับสนุนนโยบายภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลนั้น ๆ บางประเทศที่มีการระบุไว้เช่น Iceland (ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือเพียงประเทศเดียวที่ไม่มีกองกำลังทหารประจำการ) และ Monaco ไม่มีกองทัพหลัก แต่ยังคงมีกองกำลังทหารที่ไม่ใช่ตำรวจ ด้วยกองทัพมีค่าใช้จ่ายสูงในโลกปัจจุบัน และสำหรับหลายประเทศเหล่านี้การยกเลิกหรือไม่มีกองกำลังทหารจะสามารถจัดหาเงินทุนสำหรับบริการสาธารณะอื่น ๆ ได้อีกมาก

ตามข้อมูลของ CIA World Factbook (เอกสารข้อมูลรายปีของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) จัดทำขึ้น โดยเอกสารชุดนี้จะสรุปข้อมูลประมาณ 2-3 หน้าเกี่ยวกับ ประชากรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การสื่อสาร การปกครอง เศรษฐกิจ และการทหารของประเทศ และรัฐที่มีการปกครองตนเอง 267 แห่งทั่วโลก) ได้ระบุว่า มี 32 ประเทศที่ไม่มีกองกำลังทหารประจำการในขณะนี้

Cos de Policia d'Andorra ของราชรัฐ Andorra

1.) ราชรัฐ Andorra หนึ่งในรัฐที่เล็กที่สุดในยุโรป ตั้งอยู่ระหว่างฝรั่งเศสและสเปน มีประชากรประมาณ 85,000 คนเท่านั้น เป็นประเทศซึ่งอยู่ในเทือกเขา Pyrenees โดยมีกองตำรวจที่เรียกว่า Cos de Policia d'Andorra แต่ไม่มีกำลังทหารประจำการ ซึ่งการป้องกันอธิปไตยของรัฐนี้เป็นความรับผิดชอบของสเปนและฝรั่งเศสด้วยเป็นประเทศที่อยู่ใกล้กัน

2.) Aruba ประเทศในเครือของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เกาะ Aruba ตั้งอยู่ในทะเลแคริบเบียน และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 เป็นรัฐที่มีสถานะเป็นรัฐอิสระปกครองตนเองที่แยกจากกันของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยว โดยการป้องกันประเทศซึ่งมีประชากร 116,000 คน ถือเป็นความรับผิดชอบของเนเธอร์แลนด์ หน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งชาติของ Aruba เน้นไปที่การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและการก่อการร้าย

3.) หมู่เกาะ Cayman เป็นหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียนซึ่งอยู่ในดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษ (เหมือนฮ่องกงในอดีต ก่อน ปี ค.ศ. 1997) อันหมายความว่า สหราชอาณาจักรยังคงรับผิดชอบในการป้องกันหมู่เกาะที่อยู่ห่างจากประเทศคิวบาไปทางใต้ประมาณ 150 ไมล์ อย่างไรก็ตามหมู่เกาะ Cayman ยังคงมีกองกำลังตำรวจแห่งชาติที่เรียกว่า กองกำลังตำรวจหมู่เกาะ Cayman ประชากรส่วนใหญ่ของหมู่เกาะ Cayman อาศัยอยู่บนเกาะ Grand Cayman ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในสามเกาะ

4.) หมู่เกาะ Cook มีประชากรราวหนึ่งหมื่นคน ตั้งชื่อตามกัปตัน James Cook เป็นเกาะทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกที่เป็นอิสระ แต่มีความสัมพันธ์และการติดต่อกับนิวซีแลนด์ โดยถือว่า หมู่เกาะ Cook เป็นเขตปกครองตนเองของนิวซีแลนด์ ดังนั้นนิวซีแลนด์จึงต้องรับผิดชอบในการป้องกันประเทศของหมู่เกาะ Cook แต่เป็นไปตามที่หมู่เกาะ Cook ร้องขอเท่านั้น

Public Force of Costa Rica ทำหน้าที่เป็นตำรวจ และ พิทักษ์ชายแดน และมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันประเทศอีกด้วย

5.) สาธารณรัฐ Costa Rica ไม่มีกองกำลังติดอาวุธในคอสตาริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 ประเทศซึ่งมักเรียกกันว่า "สวิตเซอร์แลนด์แห่งอเมริกากลาง" ได้ประกาศความเป็นกลางอย่างถาวรและปราศจากอาวุธในปี ค.ศ. 1983 โดยมีกองกำลังกึ่งทหารขนาดเล็ก (Public Force of Costa Rica) ทำหน้าที่เป็นตำรวจ และ พิทักษ์ชายแดน และมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันประเทศอีกด้วย แต่ในทางปฏิบัติแล้วความเป็นจริงก็คือ Costa Rica ได้รับความคุ้มครองในทางอธิปไตยโดยกองทัพสหรัฐฯ

6.) Curacao เป็นหนึ่งในสี่ประเทศที่เป็นรัฐที่มีสถานะเป็นรัฐอิสระปกครองตนเองในเครือของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เป็นเกาะในทะเลแคริบเบียนที่ไม่มีกองกำลังทหาร อย่างไรก็ตามรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยังคงดูแลกิจการต่างประเทศและการป้องกันประเทศ เกาะมีขนาด 171 ตารางไมล์ ซึ่งมีประชากรราว 150,000 คน 0kdการลงประชามติในปี ค.ศ. 2009 ชาว Curacao ลงคะแนนเสียงให้ Curacao เป็นประเทศที่ปกครองตนเองภายใต้ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ดังนั้นหน่วยยามฝั่งแคริบเบียนแห่งเนเธอร์แลนด์ (DCCG) ยังคงทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางทะเลให้อยู่จนปัจจุบัน

7.) เครือรัฐ Dominica หมู่เกาะสุดท้ายของหมู่เกาะแคริบเบียนที่เคยเป็นอาณานิคม ของยุโรป เป็นรัฐหมู่เกาะใน Lesser Antilles และเป็นสมาชิกของเครือจักรภพ โดยมีกองกำลังตำรวจที่เรียกว่า Commonwealth of Dominica Police Force ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยป้องกันชายฝั่งด้วย การป้องกันประเทศเป็นไปตาม ข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการป้องกันและความมั่นคงของภูมิภาคแคริบเบียนตะวันออก (The Regional Security System (RSS)) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศภูมิภาคแคริบเบียนตะวันออก (Antigua and Barbuda (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982) Barbados (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982) Dominica (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982) Grenada (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985) Saint Kitts และ Nevis (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983) Saint Lucia (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982) Saint Vincent และ the Grenadines (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982) กับสหรัฐฯ และแคนาดา

8.) หมู่เกาะ Faroe หมู่เกาะนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป ถือเป็นเขตการปกครองตนเองของราชอาณาจักรเดนมาร์ก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือระหว่างเกาะอังกฤษ นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ มีประชากรราว 51,000 คน ไม่มีกองกำลังติดอาวุธประจำ โดยรัฐบาลเดนมาร์กรับผิดชอบในการป้องกันอธิปไตยให้ ด้วยกองกำลังอาร์กติกของกองทัพเดนมาร์กทำหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันดินแดนของหมู่เกาะ Faroe


9.) French Polynesia ประเทศโพ้นทะเลในเครือของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก และประกอบด้วยเกาะขนาดเล็กและขนาดใหญ่จำนวนมาก เกาะที่มีชื่อเสียงที่สุดของดินแดนคือ Tahiti มีประชากรราว 290,000 คน แต่ไม่มีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตัวเอง โดยรัฐบาลฝรั่งเศสรับผิดชอบทำหน้าที่ในป้องกันอธิปไตยของ French Polynesia

10.) Greenland ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปในปี ค.ศ. 1985 เนื่องจากข้อพิพาทเกี่ยวกับโควตาในการทำประมงที่เข้มงวด เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในทางภูมิศาสตร์เป็นของส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกาเหนือ แต่ถือเป็นเขตการปกครองตนเองของราชอาณาจักรเดนมาร์ก ดินแดน ในปี ค.ศ. 2008 ได้รับการลงคะแนนให้มีการปกครองตนเอง และรับผิดชอบในกิจการภายในประเทศเอง ในปี ค.ศ. 2009 Greenland ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติการปกครองตนเอง โดยตระหนักว่าพลเมืองของตนมีสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามรัฐบาลเดนมาร์กยังคงมีอำนาจควบคุมในด้านนโยบายหลายประการ รวมถึงนโยบายด้านการต่างประเทศ ความมั่นคง และการเงินการคลัง ทำให้รัฐบาลเดนมาร์กต้องรับผิดชอบในการป้องกันอธิปไตยของ Greenland ด้วย

11.) Grenada หนึ่งในประเทศเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร เป็นเกาะทางตอนเหนือของ Lesser Antilles ในทะเลแคริบเบียน นับตั้งแต่การบุก Grenada ของกองทัพสหรัฐฯในปี พ.ศ. 1989 ประเทศนี้ก็ไม่มีกำลังทหารของตนเองอีกต่อไป อย่างไรก็ตามมีกองกำลังตำรวจที่เรียกว่า กองกำลังตำรวจ Grenada ซึ่งทำหน้าที่เป็นยามชายฝั่งด้วย การป้องกันประเทศเป็นไปตาม ข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการป้องกันและความมั่นคงของภูมิภาคแคริบเบียนตะวันออก (The Regional Security System (RSS)) เช่นกัน

Viking Squad หน่วยปฏิบัติการพิเศษสังกัดหน่วยยามฝั่งของสาธารณรัฐ Iceland

12.) สาธารณรัฐ Iceland แม้ว่าจะเป็นสมาชิกของ NATO แต่ก็ไม่มีกองกำลังทหารประจำการ NATO จึงทำหน้าที่ในการป้องกันประเทศให้ Iceland ด้วย และตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 กองกำลังทั้งหมดของสหรัฐฯได้ถอนกำลังออกจาก Iceland มีกองกำลังยามฝั่งประกอบด้วยเรือและอากาศยานจำนวนหนึ่ง

13.) สาธารณรัฐ Kiribati เข้าร่วมองค์การสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1999 มีบทบาทอย่างมากในความพยายามระหว่างประเทศเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รัฐคิริบาสเป็นเอกราชตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก และมีประชากร 109,000 คน เคยเรียกว่า หมู่เกาะGilbert ไม่มีกองกำลังประจำการและการจัดตั้งกองทัพเป็นเรื่องต้องห้ามตามนรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามยังคงมีกองกำลังตำรวจ โดยออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ทำหน้าที่ในการป้องกันอธิปไตยของประเทศให้ด้วย

สมาชิกของกองกำลังตำรวจแห่งชาติ ราชรัฐ Liechtenstein

14.) ราชรัฐ Liechtenstein เป็นรัฐที่เล็กที่สุดเป็นอันดับหกของโลก แม้ว่าประเทศนี้จะไม่มีกองกำลังทหารประจำการ แต่กองกำลังตำรวจแห่งชาติก็มีร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกองทัพของประเทศเพื่อนบ้านทั้ง ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์

15.) สาธารณรัฐหมู่เกาะ Marshall หลังจากเกือบสี่ทศวรรษภายใต้การบริหารของสหรัฐฯ ในที่สุดหมู่เกาะ Marshall ก็ได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1986 แต่ไม่มีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตนเองดังนั้น สหรัฐฯจึงยังคงต้องทำหน้าที่ในการป้องกันอธิปไตยของประเทศให้ด้วย

16.) สาธารณรัฐ Mauritius เป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย และมีประชากร 1.3 ล้านคน ประเทศได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1968 แม้ว่าจะไม่มีกองกำลังติดอาวุธประจำ แต่ก็มีกองกำลังตำรวจ (The Mauritius Police Force (MPF)) ซึ่งมีกำลังราว 12,500 นาย และหน่วยทหารที่เรียกว่า Special Mobile Force 1,500 นาย และยามฝั่งอีก 500 นาย (ทั้งสองหน่วยนี้อยู่ในสังกัดของ MPF ด้วย) เป็นหลักประกันความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกประเทศ

17.) สหพันธรัฐ Micronesia อดีตดินแดนภายใต้การดูแลของสหประชาชาติในแปซิฟิกตะวันตก ภายใต้การบริหารของสหรัฐฯ ซึ่งได้รวมเข้าด้วยกันในปี พ.ศ.1979 โดยมีและใช้รัฐธรรมนูญของตนเอง เป็นสหพันธรัฐ Micronesia ไม่มีกำลังทหารเป็นของตัวเอง ดังนั้นการป้องกันจึงต้องอาศัยกองกำลังของกองทัพสหรัฐฯ

ทหารรักษาพระองศ์ ราชรัฐ Monaco

18.) ราชรัฐ Monaco รัฐที่เล็กที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของฝรั่งเศส นครรัฐซึ่งครอบคลุมพื้นที่เพียง 0.78 ตารางไมล์มี ประชากรทั้งหมด 31,000 คน ฝรั่งเศสเป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกันประเทศ แต่ยังคงมีกองทหารประจำการเป็นกองทหารรักษาพระองศ์ 255 นาย และกองกำลังตำรวจแห่งชาติอีก 515 นาย

19.) Montserrat อยู่ในทะเลแคริบเบียน ถือเป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2326 เนื่องจากการปะทุของภูเขาไฟซ้ำหลายครั้งผู้อยู่อาศัยในเกาะจำนวนมากจึงอพยพไปต่างประเทศในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา แม้ว่า Montserrat จะมีกองกำลังตำรวจเป็นของตัวเอง แต่ก็ไม่มีทหารประจำการ และการป้องกันอธิปไตยอยู่ภายใต้การดูแลของสหราชอาณาจักร

20.) สาธารณรัฐ Nauru ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของหมู่เกาะ Marshall เป็นสาธารณรัฐที่เล็กที่สุดในโลก หลังจากถูกยึดครองโดยหลายประเทศ ในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ประเทศนี้ได้รับการประกาศให้เป็นดินแดนภายใต้การดูแลของสหประชาชาติภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1968 เกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ได้รับเอกราช ประชากรราว 10,000 คน แต่ตามข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการ ความรับผิดชอบในการป้องกันอธิปไตยของประเทศอยู่ภายใต้ออสเตรเลีย

21.) Niue ตั้งอยู่ในแปซิฟิกใต้ มีประชากรเพียง 1,600 คน และเป็นดินแดนที่ปกครองตนเองโดยมีความสัมพันธ์เสรี (Free association) กับประเทศนิวซีแลนด์ด้วย นั่นหมายความว่าประมุขโดยชอบธรรมของนิวซีแลนด์เป็นประมุขรัฐของ Niue ด้วย แม้ว่าเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้จะไม่มีกองทหารประจำการ แต่ก็มีกองกำลังตำรวจเป็นของตัวเอง การป้องกันอธิปไตยของประเทศเกาะที่โดดเดี่ยวแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของนิวซีแลนด์

22.) สาธารณรัฐ Palau มีประชากรประมาณ 21,516 คน ตั้งอยู่ทางตะวันตกของหมู่เกาะแคโรไลน์ ในอดีตมีประชามติไม่เห็นด้วยกับการรวมกลุ่มเข้ากับสหพันธรัฐ Micronesia ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1978 และได้ประกาศเอกราชเป็นสาธารณรัฐปาเลา ยังคงมีข้อตกลงเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯและปาเลา ดังนั้นกองทัพสหรัฐฯจึงได้รับอนุญาตให้ส่งทหารประจำการในพื้นที่ของ Palau ได้ โดย Palau ยังมีกองกำลังตำรวจแห่งชาติอยู่ และการป้องกันอธิปไตยต้องอาศัยกองกำลังของกองทัพสหรัฐฯ

23.) สาธารณรัฐ Panama เป็นประเทศในอเมริกากลาง ยกเลิกกองทัพประจำการในปี ค.ศ. 1990 เป็นประเทศที่สองต่อจาก Costa Rica โดยจัดตั้ง The Panamanian Public Forces มาแทนที่ ซึ่งประกอบด้วย กองกำลังตำรวจแห่งชาติ กองกำลังรักษาความมั่นคงภายใน หน่วยบินและหน่วยลาดตระเวนทางน้ำชาติขนาดเล็กทำหน้าที่ตรวจตราตามพรมแดน มีกำลังประจำการราวสามหมื่นนาย และกองกำลังอาสาสมัครอีกห้าหมื่นนาย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 รัฐธรรมนูญของปานามาได้ห้ามการจัดตั้งกองทัพที่มีทหารประจำการ

24.) Saint Lucia รัฐหมู่เกาะอยู่ในหมู่เกาะอินเดียตะวันตก และเป็นสมาชิกของเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร เป็นรัฐไม่มีกองทหารประจำการ แต่มีกองกำลังตำรวจ รวมทั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษและหน่วยยามฝั่ง ทั้งหมด 116 นาย และการป้องกันอธิปไตยอยู่ภายใต้การดูแลของสหรัฐฯในฐานะชาติพันธมิตร

25.) Saint Vincent และ the Grenadines มีขนาดเป็นสองเท่าของกรุงวอชิงตัน ดี ซี ตั้งอยู่ในทะเลแคริบเบียน ได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1979 หลังจากตกเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรเป็นเวลานาน ชาวเกาะมีจำนวน 102,000 คนไม่มีกองทหารประจำการ แต่มีกองกำลังตำรวจเป็นของตัวเองซึ่งมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษและยามฝั่ง โดยการป้องกันอธิปไตยอยู่ภายใต้การดูแลของสหรัฐฯในฐานะชาติพันธมิตรเช่นเดียวกับ Saint Lucia

26.) รัฐเอกราช Samoa เป็นรัฐเกาะของชาวโพลีนีเซียชาติแรกที่ได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1962 ไม่มีโครงสร้างการป้องกันประเทศอย่างเป็นทางการ หรือกองกำลังติดอาวุธทั่วไป แต่มีกองกำลังตำรวจ นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศอย่างไม่เป็นทางการกับนิวซีแลนด์ ภายใต้สนธิสัญญามิตรภาพ ค.ศ. 1962


กองทหารสมัครใจที่ทำหน้าที่กองเกียรติยศในพิธีการต่าง ๆ สาธารณรัฐ San Marino

27.) สาธารณรัฐ San Marino นโยบายต่างประเทศของ San Marino สอดคล้องกับสหภาพยุโรป แม้ว่าจะไม่ได้เป็นสมาชิกก็ตาม San Marino ไม่เพียง แต่เป็นสาธารณรัฐที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นรัฐในยุโรปที่เล็กที่สุดเป็นอันดับสามอีกด้วย ล้อมรอบไปด้วยดินแดนอิตาลี ไม่มีกองกำลังติดอาวุธประจำการ แต่มีกองทหารสมัครใจที่ทำหน้าที่กองเกียรติยศในพิธีการต่าง ๆ และสามารถใช้เพื่อสนับสนุนภารกิจของตำรวจได้ ในกรณีฉุกเฉินรัฐสงวนสิทธิ์ในการเรียกพลเมืองซานมาริโนทุกคนที่มีอายุระหว่าง 16 ถึง 60 ปีเพื่อเป็นทหาร อย่างไรก็ตามความรับผิดชอบในการป้องกันประเทศขึ้นอยู่กับอิตาลี

28.) Sint Maarten เกาะ Sint Maarten อยู่ในทะเลแคริบเบียน เป็นเขตปกครองตนเองในเครือของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ อยู่ทางตอนเหนือของเกาะ Saint-Martin ซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส Sint Maarten ไม่มีกองกำลังติดอาวุธประจำการ และการป้องกันดินแดนของเกาะนี้อยู่ในความรับผิดชอบของเนเธอร์แลนด์

29.) หมู่เกาะ Solomon เป็นสมาชิกเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร นับตั้งแต่การประกาศเอกราชของหมู่เกาะโซโลมอนในปี พ.ศ. 2521 มีการจลาจลรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก และอัตราการก่ออาชญากรรมบนหมู่เกาะนี้ก็อยู่ในระดับสูง ระหว่างปี พ.ศ. 2546 ถึง 2560 ภารกิจช่วยเหลือซึ่งประกอบด้วย ตำรวจ ทหาร และที่ปรึกษาพลเรือนจากทั้งหมด 15 ประเทศได้เข้าประจำการในหมู่เกาะโซโลมอน เป้าหมายของภารกิจเหล่านี้คือการฟื้นฟูระเบียบ ทางแพ่ง และทางการเมือง หมู่เกาะโซโลมอนไม่มีกองทัพที่ยืนอยู่ แต่คงมีกองกำลังตำรวจ 1,153 นาย และสถานีตำรวจอีก 43 แห่ง

30.) Tuvalu เป็นสมาชิกเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร ประชากรประมาณ 11,000 คน ได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2521 เกาะตูวาลูในมหาสมุทรแปซิฟิกได้รับการขนานนามว่าเป็นหมู่เกาะเอลลิซ (อาณานิคมของอังกฤษ) โดยเป็นรัฐที่เล็กที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลกมีประชากรประมาณ 11,000 คนและไม่มีทหารประจำการเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม Tuvalu มีกองกำลังตำรวจของตัวเอง

31.) สาธารณรัฐ Vanuatu ได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2523 อยู่ในกลุ่มนิวเฮบริดส์ซึ่งเป็นดินแดนของหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกหลายแห่งที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ประกอบด้วยเกาะกว่า 80 เกาะ และไม่มีทหารประจำการ แต่มีกองกำลังตำรวจ Vanuatu องกำลังเคลื่อนที่เร็ว Vanuatu และ The Vanuatu Mobile Force (VMF)


สวิสการ์ด (Pontifical Swiss Guard) นครรัฐ Vatican

32.) นครรัฐ Vatican มีสวิสการ์ด (Pontifical Swiss Guard) เป็นหน่วยติดอาวุธที่มีหน้าที่ถวายอารักขาองค์พระสันตะปาปา แม้ว่าจะไม่มีสนธิสัญญาป้องกันกับอิตาลี เนื่องจากจะละเมิดความเป็นกลางของนครรัฐ Vaticanแต่กองทัพอิตาลีมีหน้าที่ปกป้องนครรัฐ Vatican อย่างไม่เป็นทางการ

เหล่านี้คือ รายชื่อประเทศที่ไม่มีกองกำลังติดอาวุธ โดยทั่วไปแล้วสามสิบเอ็ดประเทศที่ระบุไว้ในที่นี้มักจะมีข้อตกลงอันยาวนานกับประเทศที่เคยยึดครองในอดีต ตัวอย่างหนึ่งคือข้อตกลงระหว่าง Monaco และฝรั่งเศสซึ่งมีมาแล้ว 300 ปี เป็นอย่างน้อย หมู่เกาะ Marshall สหพันธรัฐ Micronesia และ Palau ต่างต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกาในการป้องกันประเทศ ด้วยมั่นใจว่า ข้อกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติของประเทศเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขผ่านการประชุมคณะกรรมการร่วมประจำปีเพื่อหารือเรื่องการป้องกันร่วมกันกับกองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ Andorra มีกองทัพขนาดเล็ก และสามารถขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสในการป้องกันได้หากมีความจำเป็น ในขณะที่ Iceland มีข้อตกลงเฉพาะกับสหรัฐอเมริกาซึ่งดำเนินมาจนถึงปี พ.ศ. 2549 ซึ่งกำหนดให้พวกเขาต้องให้การป้องกัน Iceland เมื่อจำเป็น ประเทศที่เหลือต้องรับผิดชอบในการป้องกันของตนเอง และดำเนินการโดยไม่มีกองกำลังติดอาวุธใด ๆ หรือด้วยกองกำลังทหารที่จำกัด บางประเทศเช่น สาธารณรัฐ Costa Rica และ Grenada เข้าสู่กระบวนการปลอดทหาร ประเทศอื่น ๆ ถูกจัดตั้งขึ้นโดยไม่มีกองกำลังติดอาวุธเช่น รัฐเอกราช Samoa เมื่อ 60 ปีที่แล้ว เหตุผลหลักคือ พวกเขายังคงอยู่ภายใต้การคุ้มครองจากชาติอื่น ณ จุดที่ได้รับเอกราช ประเทศเหล่านี้มีขนาดประวัติศาสตร์ และเหตุผลที่แตกต่างกันไปในการเลือกที่จะไม่มีกองทัพประจำการ บางแห่งแยกตัวออกจากประเทศใหญ่ เพราะมีขนาดเล็ก และมีทรัพยากรน้อยมากจนเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดตั้งกองกำลังทหารขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ประเทศอื่น ๆ มีข้อตกลงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขอรับการสนับสนุนกำลังทหารตามความจำเป็น

แม้ว่าหลายรัฐเหล่านี้จะไม่มี “กองกำลังทหารประจำการ” ตามคำจำกัดความของ CIA World Factbook แต่กองกำลังตำรวจแห่งชาติของรัฐเหล่านี้ก็ทำหน้าที่เป็นกองกำลังทหารโดยพฤตินัย ตัวอย่างเช่น Vanuatu’s Mobile Force หรือ Public Forces of Costa Rica มีหน้าที่ในการปกป้องพรมแดนของประเทศของตน ถึงแม้ค่าใช้จ่ายในด้านการทหารจะสูงมาก แต่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกล้วนแล้วแต่มีกองทัพประจำการ เพราะไม่อาจให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติด้วยการฝากอธิปไตยไว้กับประเทศอื่น สำหรับภูมิภาค ASEAN แม้ว่าจะดูมีความสงบมานานพอสมควร แต่ประเทศในภูมิภาคนี้กลับมีการสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์สูงมาก ส่วนหนึ่งด้วยหลายประเทศเกรงภัยคุกคามจากมหาอำนาจ สำหรับบ้านเราอาจจะมีเหตุกระทบกระทั่งกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่บ้าง แต่ได้พยายามหลบเลี่ยงการใช้กำลังทหารโดยไม่จำเป็น โดยอาศัยการเจรจาพูดคุยผ่านคณะกรรมการชายแดนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ ที่มีพรมแดนติดกัน 

“แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์ ศัตรูกล้ามาประจัน จะอาจสู้ริปูสลาย” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6

เสียง (เพรียก) แห่งสายน้ำปัตตานี... ตอนที่ 5

พายเรือผ่านพ้นช่วงต้นน้ำจนถึงช่วงกลางของสายน้ำกันแล้ว ครึ่งหลังเป็นการล่องจากท้ายเขื่อนบางลางเพื่อไปจบที่ตัวเมืองปัตตานีซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวไทย ยังมีเวลาคายักกันแบบไม่ต้องรีบร้อนอีกหลายวัน ระหว่างทางได้พบเจอทั้งเรื่องราวประทับใจ และเหตุการณ์ไม่สบอารมณ์นัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกของการเดินทางและของชีวิตนั่นแหละ 

ความแรงและการไหลของน้ำขึ้นอยู่กับการเปิดประตูน้ำของเขื่อน ในช่วงที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าก็ต้องปล่อยน้ำเพื่อให้เครื่องจักรกลทำงาน ปกติแล้วมีการเปิดปิดน้ำวันละรอบ ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงขึ้นลงทุกวัน 

สายน้ำ และเด็ก ๆ เป็นของคู่กันเสมอ ภาพชินตาพบเห็นเวลาบ่ายเสาร์อาทิตย์ คือโขยงเด็กน้อยวัยประถมถึงมัธยมต้นทั้งชายและหญิงลงมากระโดดน้ำ ดำผุดดำว่าย หยอกล้อเล่นกัน เสาร์อาทิตย์เด็ก ๆ ยังคงต้องไปเรียนหลักศาสนาอิสลาม ชั้นเรียนเลิกแล้วก็พากันไปเล่นต่อ ชนบทแบบนี้ไม่มีห้างสรรพสินค้าหรือสวนสนุก จึงอาศัยหลังบ้านเป็นสนามเด็กเล่น เมื่อเจอชายต่างถิ่นแปลกหน้าสองคนพายเรือผ่าน จึงตะโกนทักทายแบบกล้า ๆ กลัว ๆ ขณะเดียวกันก็ใส ๆ และเป็นมิตร บางคนชักชวนให้เล่นน้ำกับพวกเขา หรือเด็กผู้ชายบางคนก็ขออนุญาติขึ้นมานั่งบนเรือ ล่องไปด้วยกันจนถึงท้ายหมู่บ้านก็ลาแล้วกระโดดลงน้ำว่ายขึ้นฝั่งกันไป เด็ก ๆ มักตะโกนบอกให้เดินทางปลอดภัยบ้าง โชคดีบ้าง เป็นความรู้สึกดีและน่าประทับใจมาก


“อีกันมูเด๊ะ” นั่นคือคำบอกเล่าจากปากผู้เฒ่าผู้อาศัยอยู่ริมน้ำแต่อ้อนออกท่านหนึ่ง และอันที่จริงนี่เป็นคำสามัญภาษามลายูท้องถิ่นซึ่งคนรุ่นตั้งแต่อายุเลย 50 ปีขึ้นไปคุ้นเคยกันดี หมายความว่าการอพยพขึ้นสู่ต้นน้ำของปลาเพื่อหาที่ซึ่งอาหารอุดมสมบูรณ์และสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการวางไข่และการอพยพกลับลงมาของตัวอ่อนมายังปลายน้ำเพื่อเติบโตและสืบเผ่าพันธุ์ วงจรซึ่งเกิดขึ้นมาเนิ่นนาน จวบจนกระทั่งเมื่อระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทำให้บรรดาปลาแม่น้ำทั้งหลายต้องปรับตัวแบบ “นิวนอร์มอล” พวกที่ปรับตัวไม่ได้ก็ค่อย ๆ ลดจำนวนลงจนในที่สุดสูญพันธุ์ไปนั่นเอง ผู้เฒ่าเล่าว่าสมัยแกยังเด็กปริมาณลูกปลาเคยล่องกลับลงมาเยอะมากขนาดเอาผ้าช้อนเล่นก็ติดผ้ามาแล้ว เป็นช่วงที่ฝูงนกบินว่อนเหนือแม่น้ำโฉบจับปลากกันทั้งวัน อาหารการกินเคยอุดมสมบูรณ์ขนาดนั้น

ปัจจัยซึ่งนำการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบนิเวศสายน้ำปัตตานีอย่างแน่นอนที่สุดกว่าสิ่งอื่นใด คือเขื่อนบางลางนั่นเอง พูดแบบนี้เหมือนเขื่อนเป็นผู้ร้ายเลยใช่ไหม ถ้าจะว่าใช่ก็ถูก จะว่าไม่ใช่ก็ต้องมองอีกมุมล่ะ ท้ายที่สุดแล้วอาจจะต้องมาชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีหรือประโยชน์กับข้อเสียหรือผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนว่าอย่างไหนมากกว่ากัน และ “คุ้มค่า” แค่ไหน อย่างเขื่อนบางลางนั้นสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์หลักคือผลิตกระแสไฟฟ้าและการประมงในทะเลสาบเหนือเขื่อน โดยหน่วยงานภาครัฐนำพันธุ์ปลาต่างถิ่นอย่างปลาบึกมาปล่อย ทว่า คุ้มกันไหม แค่เมื่อต้องแลกสิ่งที่ได้มากับอิกันมูเด๊ะ

หลายเดือนก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ตั้งแต่บริเวณเหนือเขื่อนไปจนถึงเมืองปัตตานี จากการปล่อยน้ำของเขื่อนบางลางโดยไม่มีการแจ้งข่าวเตือนล่วงหน้า ส่งผลทำให้ผู้คนต้องหนีกันจ้าละหวั่น บ้านเรือนจมน้ำได้รับความเสียหาย เรือกสวนถูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนยืนต้นตาย ตลิ่งถูกกัดเซาะโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงโค้งน้ำนั้นผืนดินบางแปลงหายไปเลยก็มี หรือไม่ต้นยางพาราริมน้ำบางแถวถูกน้ำเซาะจนล้มไปเลยก็มี นี่ยังไม่นับกระชังปลาบริเวณปลายน้ำของชาวบ้านหลายคนที่ถูกน้ำซัดเสียหายไปกันคนละหลักแสนบาท ทว่า กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อความเสียหายดูเหมือนจะยังคงนิ่งเฉย ไม่ได้ออกมาอธิบายใด ๆ ต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งนี่อาจกลายเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มการสะสมตัวของความขุ่นมัวอึมครึมที่มีมาก่อนหน้านี้อย่างยาวนานอยู่แล้วด้วยก็เป็นได้

นอกจากเขื่อนใหญ่แล้ว ยังมีฝายกั้นน้ำเพื่อการเกษตรอีกหลายแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ช่วงปลายของสายน้ำ พายเรือผ่านช่วงนี้ให้ความรู้สึกคล้ายกับการพายเรือผ่านแม่น้ำปิงที่ต้องยกเรือข้ามฝายเป็นว่าเล่น 

สิ่งสามัญที่พบเห็นคือทหารและเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงแห่งชาติประจำการตามจุดต่าง ๆ หรือออกลาดตระเวนทั้งทางบกและทางน้ำ พาหนะก็ตั้งแต่รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ หรือกระทั่งรถถัง เจ้าหน้าที่ต้องใส่เสื้อเกราะกันกระสุน ในฐานะนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่มองว่ายังมีการระแวงระวังกันระหว่างคนท้องถิ่นและภาครัฐในระดับหนึ่ง ในมุมของชาวบ้านไม่แน่ใจว่าพวกเขาอึดอัดมากแค่ไหนเมื่อต้องโดนเรียกตรวจหรือสอบถามประหนึ่งเป็นผู้ต้องสงสัย ขณะเดียวกันก็ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเองก็สะสมอาการเครียดจากการทำงานในพื้นที่แค่ไหนเช่นกัน

เดินทางกันหลายวัน ระหว่างทางได้รับน้ำใจไมตรีและความช่วยเหลือทั้งจากคนท้องถิ่นและเพื่อนที่อยู่ในเมือง ในที่สุด บ่ายแก่ของวันที่ 7 ของการเดินทางพวกเราก็ไปถึงเมืองปัตตานี มิตรสหายต่างพากันมารอต้อนรับประหนึ่งจะจัดมหรสพริมน้ำให้ แดดร่มลมตกวันนั้นเราร่วมสรุปทริปกันสั้น ๆ ส่วนตัวผมมองว่าประสบการณ์ครั้งนี้มีค่ามาก เพราะลดทอนความกลัว “สามจังหวัด” ในใจลงไปโดยสิ้นเชิง ได้เพื่อนใหม่อีกหลายคน และสำคัญที่สุดก็คือ แม่น้ำปัตตานีได้หยิบยื่นสารพัดสารพันให้แก่ผมมากกว่าที่ผมคาดไว้มากทีเดียว ประทับใจและขอบคุณมากครับ


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

Land Bridge กับพิธีการศุลกากร

การส่งสินค้าระหว่างประเทศ นอกจากจะต้องพิจารณาถึงเส้นทาง ระยะเวลา หรือรูปแบบการเดินทาง ยังมีเรื่องของกฎระเบียบทางพิธีศุลกากรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในตอนนี้จึงขอมาเล่ากรณีศึกษาการเลือกใช้เส้นทางการขนส่งที่มีผลมาจากพิธีทางศุลกากร

จากเดิมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไอร์แลนด์และยุโรป ใช้วิธีการขนส่งทางรถบรรทุก แล้วรถบรรทุกขึ้นเรือเฟอร์รี่ที่กรุงดับลิน เมืองหลวงของไอร์แลนด์ เพื่อข้ามฝากมายังเมือง Holyhead ของอังกฤษ ต่อจากนั้นรถบรรทุกก็วิ่งลอดอุโมงค์ข้ามช่องแคบอังกฤษเพื่อไปยังทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ซึ่งเรียกเส้นทางนี้ว่า UK Land Bridge


คาดการณ์กันว่ามีรถบรรทุกใช้เส้นทางนี้ถึงปีละ 150,000 คัน เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการเดินทางไม่เกิน 20 ชั่วโมง  หากเทียบกับการที่รถบรรทุกขึ้นเรือเฟอร์รี่แล้วลงที่ท่าเรือในเรือที่ยุโรป (Roll-on/roll-off : RoRo) ที่ใช้ระยะเวลาประมาณ 40 ชั่วโมง หรือการขนสินค้าขึ้นลงที่ท่าเรือตามวิธีปกติ (Lift-on/lift-off : LoLo) ที่ใช้ระยะขนส่งนานถึง 60 ชั่วโมง  นอกจากนั้นการขนส่งด้วยรถบรรทุกเส้นทางนี้ยังสามารถแวะรับส่งสินค้าระหว่างทางในอังกฤษได้ตามข้อตกลงของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป

แต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงกำหนดที่สหราชอาณาจักรสิ้นสุดสถานภาพการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อย่างเป็นทางการ สินค้าที่นำเข้า-ส่งออก และผ่านแดนไปยังยุโรป ต้องผ่านพิธีศุลกากรซึ่งต่างจากเดิมสามารถวิ่งผ่านได้เลย เนื่องจากเป็นไปตามข้อตกลงทางศุลกากรของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ส่งผลให้การเลือกใช้เส้นทางนี้ต้องพบกับการขั้นตอนการตรวจสอบ ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณด่านชายแดนที่อุโมงค์ข้ามช่องแคบอังกฤษ จุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างอังกฤษกับยุโรปที่คาดการณ์ว่าน่าจะมีรถบรรทุกรอตรวจสอบมากถึง 7,000 คัน และอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าได้มากถึง 48 ชั่วโมง

ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเลือกเส้นทางที่มีความเสี่ยงต่อความล่าช้าน้อยกว่า ถึงแม้จะใช้ระยะเวลาในการขนส่งที่นานกว่าก็ตาม ผู้นำเข้าส่งออกของไอร์แลนด์จึงเลือกใช้วิธีการขนส่งตรงไปยังทวีปยุโรปแทน ส่งผลให้รถบรรทุกที่ใช้เส้นทาง UK Land Bridge ลดลงถึง 50% และเที่ยวเรือที่วิ่งตรงระหว่างไอร์แลนด์กับยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 12 เที่ยวเป็น 42 เที่ยวต่อสัปดาห์

จากเรื่องที่เล่ามาจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับความเสี่ยงต่อความล่าช้าในการขนส่งมากกว่าความเร็ว เพราะถึงแม้ระยะเวลาการขนส่งจะนานขึ้นก็สามารถปรับแผนการสั่งซื้อสินค้า การวางแผนสินค้าคงคลังได้ใหม่ แต่หากระยะเวลาขนส่งไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในโซ่อุปทาน และขั้นตอนการผ่านพิธีศุลกากรก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความล่าช้าในการขนส่ง

สำหรับประสิทธิภาพด้านการดำเนินงานพิธีศุลกากร ทางธนาคารโลก (World Bank) ได้มีการประเมินไว้เป็นหัวข้อหนึ่งใน Logistics Performance Index (LPI) และในปี 2018 ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ลำดับ 36 จาก 160 ประเทศทั่วโลก ถ้าเทียบกับสิงคโปร์ที่ถูกจัดอันดับในลำดับที่ 6  ประเทศไทยยังต้องพัฒนาประสิทธิภาพในด้านนี้หากต้องการส่วนแบ่งเรือขนสินค้าที่แล่นผ่านช่องแคบมะละกาให้มาผ่านแลนด์บริดจ์ที่กำลังศึกษากันอยู่  

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.instituteforgovernment.org.uk/explainers/trade-uk-landbridge
https://www.thejournal.ie/less-landbridge-mroe-action-how-irish-trade-changes-5356884-Mar2021/
https://lpi.worldbank.org/international/global?sort=asc&order=Customs#datatable 


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top