เสียง (เพรียก) แห่งสายน้ำปัตตานี... ตอนที่ 5

พายเรือผ่านพ้นช่วงต้นน้ำจนถึงช่วงกลางของสายน้ำกันแล้ว ครึ่งหลังเป็นการล่องจากท้ายเขื่อนบางลางเพื่อไปจบที่ตัวเมืองปัตตานีซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวไทย ยังมีเวลาคายักกันแบบไม่ต้องรีบร้อนอีกหลายวัน ระหว่างทางได้พบเจอทั้งเรื่องราวประทับใจ และเหตุการณ์ไม่สบอารมณ์นัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกของการเดินทางและของชีวิตนั่นแหละ 

ความแรงและการไหลของน้ำขึ้นอยู่กับการเปิดประตูน้ำของเขื่อน ในช่วงที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าก็ต้องปล่อยน้ำเพื่อให้เครื่องจักรกลทำงาน ปกติแล้วมีการเปิดปิดน้ำวันละรอบ ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงขึ้นลงทุกวัน 

สายน้ำ และเด็ก ๆ เป็นของคู่กันเสมอ ภาพชินตาพบเห็นเวลาบ่ายเสาร์อาทิตย์ คือโขยงเด็กน้อยวัยประถมถึงมัธยมต้นทั้งชายและหญิงลงมากระโดดน้ำ ดำผุดดำว่าย หยอกล้อเล่นกัน เสาร์อาทิตย์เด็ก ๆ ยังคงต้องไปเรียนหลักศาสนาอิสลาม ชั้นเรียนเลิกแล้วก็พากันไปเล่นต่อ ชนบทแบบนี้ไม่มีห้างสรรพสินค้าหรือสวนสนุก จึงอาศัยหลังบ้านเป็นสนามเด็กเล่น เมื่อเจอชายต่างถิ่นแปลกหน้าสองคนพายเรือผ่าน จึงตะโกนทักทายแบบกล้า ๆ กลัว ๆ ขณะเดียวกันก็ใส ๆ และเป็นมิตร บางคนชักชวนให้เล่นน้ำกับพวกเขา หรือเด็กผู้ชายบางคนก็ขออนุญาติขึ้นมานั่งบนเรือ ล่องไปด้วยกันจนถึงท้ายหมู่บ้านก็ลาแล้วกระโดดลงน้ำว่ายขึ้นฝั่งกันไป เด็ก ๆ มักตะโกนบอกให้เดินทางปลอดภัยบ้าง โชคดีบ้าง เป็นความรู้สึกดีและน่าประทับใจมาก


“อีกันมูเด๊ะ” นั่นคือคำบอกเล่าจากปากผู้เฒ่าผู้อาศัยอยู่ริมน้ำแต่อ้อนออกท่านหนึ่ง และอันที่จริงนี่เป็นคำสามัญภาษามลายูท้องถิ่นซึ่งคนรุ่นตั้งแต่อายุเลย 50 ปีขึ้นไปคุ้นเคยกันดี หมายความว่าการอพยพขึ้นสู่ต้นน้ำของปลาเพื่อหาที่ซึ่งอาหารอุดมสมบูรณ์และสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการวางไข่และการอพยพกลับลงมาของตัวอ่อนมายังปลายน้ำเพื่อเติบโตและสืบเผ่าพันธุ์ วงจรซึ่งเกิดขึ้นมาเนิ่นนาน จวบจนกระทั่งเมื่อระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทำให้บรรดาปลาแม่น้ำทั้งหลายต้องปรับตัวแบบ “นิวนอร์มอล” พวกที่ปรับตัวไม่ได้ก็ค่อย ๆ ลดจำนวนลงจนในที่สุดสูญพันธุ์ไปนั่นเอง ผู้เฒ่าเล่าว่าสมัยแกยังเด็กปริมาณลูกปลาเคยล่องกลับลงมาเยอะมากขนาดเอาผ้าช้อนเล่นก็ติดผ้ามาแล้ว เป็นช่วงที่ฝูงนกบินว่อนเหนือแม่น้ำโฉบจับปลากกันทั้งวัน อาหารการกินเคยอุดมสมบูรณ์ขนาดนั้น

ปัจจัยซึ่งนำการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบนิเวศสายน้ำปัตตานีอย่างแน่นอนที่สุดกว่าสิ่งอื่นใด คือเขื่อนบางลางนั่นเอง พูดแบบนี้เหมือนเขื่อนเป็นผู้ร้ายเลยใช่ไหม ถ้าจะว่าใช่ก็ถูก จะว่าไม่ใช่ก็ต้องมองอีกมุมล่ะ ท้ายที่สุดแล้วอาจจะต้องมาชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีหรือประโยชน์กับข้อเสียหรือผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนว่าอย่างไหนมากกว่ากัน และ “คุ้มค่า” แค่ไหน อย่างเขื่อนบางลางนั้นสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์หลักคือผลิตกระแสไฟฟ้าและการประมงในทะเลสาบเหนือเขื่อน โดยหน่วยงานภาครัฐนำพันธุ์ปลาต่างถิ่นอย่างปลาบึกมาปล่อย ทว่า คุ้มกันไหม แค่เมื่อต้องแลกสิ่งที่ได้มากับอิกันมูเด๊ะ

หลายเดือนก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ตั้งแต่บริเวณเหนือเขื่อนไปจนถึงเมืองปัตตานี จากการปล่อยน้ำของเขื่อนบางลางโดยไม่มีการแจ้งข่าวเตือนล่วงหน้า ส่งผลทำให้ผู้คนต้องหนีกันจ้าละหวั่น บ้านเรือนจมน้ำได้รับความเสียหาย เรือกสวนถูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนยืนต้นตาย ตลิ่งถูกกัดเซาะโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงโค้งน้ำนั้นผืนดินบางแปลงหายไปเลยก็มี หรือไม่ต้นยางพาราริมน้ำบางแถวถูกน้ำเซาะจนล้มไปเลยก็มี นี่ยังไม่นับกระชังปลาบริเวณปลายน้ำของชาวบ้านหลายคนที่ถูกน้ำซัดเสียหายไปกันคนละหลักแสนบาท ทว่า กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อความเสียหายดูเหมือนจะยังคงนิ่งเฉย ไม่ได้ออกมาอธิบายใด ๆ ต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งนี่อาจกลายเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มการสะสมตัวของความขุ่นมัวอึมครึมที่มีมาก่อนหน้านี้อย่างยาวนานอยู่แล้วด้วยก็เป็นได้

นอกจากเขื่อนใหญ่แล้ว ยังมีฝายกั้นน้ำเพื่อการเกษตรอีกหลายแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ช่วงปลายของสายน้ำ พายเรือผ่านช่วงนี้ให้ความรู้สึกคล้ายกับการพายเรือผ่านแม่น้ำปิงที่ต้องยกเรือข้ามฝายเป็นว่าเล่น 

สิ่งสามัญที่พบเห็นคือทหารและเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงแห่งชาติประจำการตามจุดต่าง ๆ หรือออกลาดตระเวนทั้งทางบกและทางน้ำ พาหนะก็ตั้งแต่รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ หรือกระทั่งรถถัง เจ้าหน้าที่ต้องใส่เสื้อเกราะกันกระสุน ในฐานะนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่มองว่ายังมีการระแวงระวังกันระหว่างคนท้องถิ่นและภาครัฐในระดับหนึ่ง ในมุมของชาวบ้านไม่แน่ใจว่าพวกเขาอึดอัดมากแค่ไหนเมื่อต้องโดนเรียกตรวจหรือสอบถามประหนึ่งเป็นผู้ต้องสงสัย ขณะเดียวกันก็ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเองก็สะสมอาการเครียดจากการทำงานในพื้นที่แค่ไหนเช่นกัน

เดินทางกันหลายวัน ระหว่างทางได้รับน้ำใจไมตรีและความช่วยเหลือทั้งจากคนท้องถิ่นและเพื่อนที่อยู่ในเมือง ในที่สุด บ่ายแก่ของวันที่ 7 ของการเดินทางพวกเราก็ไปถึงเมืองปัตตานี มิตรสหายต่างพากันมารอต้อนรับประหนึ่งจะจัดมหรสพริมน้ำให้ แดดร่มลมตกวันนั้นเราร่วมสรุปทริปกันสั้น ๆ ส่วนตัวผมมองว่าประสบการณ์ครั้งนี้มีค่ามาก เพราะลดทอนความกลัว “สามจังหวัด” ในใจลงไปโดยสิ้นเชิง ได้เพื่อนใหม่อีกหลายคน และสำคัญที่สุดก็คือ แม่น้ำปัตตานีได้หยิบยื่นสารพัดสารพันให้แก่ผมมากกว่าที่ผมคาดไว้มากทีเดียว ประทับใจและขอบคุณมากครับ


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32