Wednesday, 1 May 2024
WeeklyColumnist

ปวดหลังร้าวลงขา​ อาจไม่ใช่กระดูกทับเส้นเสมอไป

เมื่อมีอาการปวดหลังจากการนั่งทำงานนาน ๆ หรือ ยกของหนักแล้วมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง อาการที่เกิดขึ้นมักเป็น ๆ หาย ๆ ก่อให้เกิดความรำคาญใจ ร่วมกับมีอาการชาหรือไม่มีแรง ทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แต่แท้ที่จริงแล้วอาการดังกล่าวอาจเป็นเพียงการบาดเจ็บ​ การอักเสบ​หรือเป็นพังผืดของกล้ามเนื้อสะโพกชั้นลึกที่เรียกว่า กล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า​ "สลักเพชร"

กล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ ที่มักเกิดการเกร็งหรือบาดเจ็บ​จากการใช้งานในชีวิตประจำวันของเรา เช่น การนั่ง การเดิน การวิ่ง ทำให้เกิดอาการปวด​ "สลักเพชร" หรือก้นทางด้านหลัง กล้ามเนื้อมัดนี้เป็นทางผ่านของเส้นประสาทใหญ่​ที่ลงไปเลี้ยง​และรับส่งสัญญาณไปกลับระหว่างขากับไขสันหลัง เมื่อเส้นประสาทดังกล่าวได้รับการหนีบ จากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อนี้ ทำให้อาการแสดงที่เกิดขึ้นมีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคกระดูกทับเส้นประสาท

ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดหลังร้าวลงขา ขอให้รีบไปพบนักกายภาพบำบัดหรือแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง อย่าวิตกกังวลหรือกลัวว่าจะต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเสมอไป เพราะอาจไม่ใช่โรคกระดูกทับเส้นประสาท

อาการนี้มักพบบ่อยในคน​ 4 กลุ่ม​คือ

- ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุล้มก้นกระแทก​ หรือ เล่นกีฬาที่มีการปะทะ

- ยกของหนักเดินขึ้นลงบันได

- วิ่งขึ้นลงทางชัน

- นั่งเก้าอี้เตี้ยนาน ๆ (เก้าอี้ที่ระดับก้นต่ำกว่าเข่า)​

ผู้ป่วยส่วนมากที่มารับการรักษากล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสที่คลินิกกายภาพบำบัด คือกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวที่ชื่นชอบการออกกำลังกายในฟิตเนส​ โดยเฉพาะคนที่อยากปั้นสะโพกหรือก้นให้เฟิร์มเบอร์เดียวกับเจนนิเฟอร์โลเปส​ หรือ​ กัปตันอเมริกา​ ดังนั้นกลุ่มนี้​จะได้รับการฝึกท่าก้นอย่างหนักสารพัดท่า​ ซึ่งถ้าหากฝึกหนักเกินไปหรือฝึกจนเกิดความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อก็จะเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสได้เช่นกัน

การป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสคือ​ หลีกเลี่ยงการเป็นคน​ 4​ กลุ่มทางด้านบน​ และออกกำลังกล้ามเนื้อก้นด้วยความพอดี​ อย่ากดดันตัวเอง หรือเทรนเนอร์มาก​เกินไป​ ซึ่งความพอดีและการมีทางสายกลาง​ คือ​ หนทางป้องกันโรคนี้ได้

การรักษาทางกายภาพบำบัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นักกายภาพบำบัดจะใช้การยืดกล้ามเนื้อเพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส และใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดเพื่อคลายความเจ็บปวดหรือลดการอักเสบของกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส พร้อมทั้งแนะนำการปรับการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำอีก

คำถามยอดฮิตสำหรับทุกคนที่มีอาการเหล่านี้ คือ

สามารถไปนวดได้ไหม? คำตอบคือ​ ถ้ายังไม่มีอาการชา​หรือปวดร้าวลงขา​ ก็สามารถไปนวดได้​ แต่ถ้ามีอาการชา​หรือปวดร้าวลงขาแล้ว​ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดจะดีกว่า

การประคบด้วยความร้อนหรือเย็นช่วยได้ไหม ? ต้องบอกว่าการประคบด้วยความร้อนหรือเย็นจะได้ผลดีกับเนื้อเยื่อที่อยู่ชั้นตื้นหรือชั้นบนเท่านั้น​ ไม่สามารถส่งผลไปถึงกล้ามเนื้อชั้นลึกอย่างกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสได้​ แต่หากจะประคบเพื่อบรรเทาปวดเบื้องต้น​ก็สามารถทำได้

เชิญชวนมายืดเหยียดกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสและกล้ามเนื้อรอบสะโพก โดย 2 ท่านี้เป็นท่าที่ง่ายและสามารถทำได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ ยืดค้างไว้จนรู้สึกตึงบริเวณก้น นาน 10 - 20 วินาที อย่าให้เจ็บมาก เมื่อทำเป็นประจำสามารถช่วยป้องกันโรคนี้ได้ในระดับหนึ่ง

ท่าที่ 1 นั่งเก้าอี้ นำข้อเท้าข้างหนึ่งวางไว้บนหน้าขาอีกข้างหนึ่งตามรูป พยายามก้มตัวลงทางด้านหน้าให้มากที่สุดจนรู้สึกตึงบริเวณก้นทางด้านหลัง ค้างไว้ 10 - 20 วินาที

ท่าที่ 2 นั่งขัดสมาธิบนพื้นด้วยการงอขาข้างหนึ่งทางด้านหน้า ส่วนขาอีกข้างเหยียดไปทางด้านหลังตามรูป ยืดลำตัวตั้งตรง จะรู้สึกก้นทางด้านหลังและหน้าขา ค้างไว้ 10 - 20 วินาที

.

เอกสารอ้างอิง

E R Benson and S F Schutzer. Posttraumatic piriformis syndrome: diagnosis and results of operative treatment. J Bone Joint Surg Am. 1999. P.941-949.

https://www.physio-pedia.com/Piriformis_Syndrome

http://www.freyagilmore.uk/2016/08/30/piriformis-syndrome/

https://www.precisionnutrition.com/doctor-detective-sciatic-pain

https://www.inquirer.com/philly/health/personal-best/an-integrative-stretching-plan-to-combat-tight-hips-20171206.html


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ทางเลือกการลงทุนใน “ทองคำ” เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน

การจัดสรรเงินออมในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อนำไปลงทุนเพิ่มค่าของเงินด้วยวิธีการต่าง ๆ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้นั้น ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างความมั่นคงทางการเงินส่วนบุคคลที่สำคัญ แต่อย่างไรก็ตามภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบให้การลงทุนในหลายรูปแบบมีความผันผวน ดังนั้นนักลงทุนจึงจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงลักษณะ ผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการลงทุน ก่อนตัดสินใจนำเงินไปลงทุนในทางเลือกนั้น ๆ

โดยในบทความนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึง “การลงทุนในทองคำ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวที่นักลงทุนเลือกเพื่อเก็งกำไร เนื่องจาก ทองคำมักมีมูลค่าเพิ่มในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่รักษามูลค่าและไม่เสื่อมสภาพ สามารถแปลงเป็นเงินสดได้เร็วโดยที่ไม่กระทบต่อมูลค่ามากนัก ตลอดจนนักลงทุนหลายคนนิยมใช้ทองคำเป็นเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนรวมอีกด้วย

การลงทุนในทองคำแบบดั้งเดิม คือการลงทุนซื้อ “ทองคำแท่ง หรือ ทองรูปพรรณ” ผ่านหน้าร้านตามราคาที่ทางร้านประกาศไว้ โดยอ้างอิงจากราคากลางของสมาคมค้าทองคำ น้ำหนักทองคำ 1 ออนซ์ ซึ่งเป็นหน่วยวัดในระดับสากล จะเท่ากับทองคำประมาณ 2 บาทตามหน่วยวัดของไทย ทั้งนี้ในการซื้อขายทองคำในตลาดสากลนิยมทองคำบริสุทธิ์ 99.9% ในขณะที่การซื้อขายทองคำในตลาดไทยเป็นไปตามมาตรฐานที่ 96.5% โดยนักลงทุนทองคำเพื่อเก็งกำไรมักเลือกลงทุนในทองคำแท่ง ที่มีค่าบล็อคเล็กน้อย ไม่มีค่ากำเหน็จ และเวลาขายคืนจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทองรูปพรรณ

ทั้งนี้นักลงทุนจะสามารถทำกำไรจาการลงทุนในทองคำด้วยการดูราคาทองคำในตลาดปัจจุบันและคาดคะเนความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งโดยปกตินักลงทุนมักจะเทขายเมื่อราคาทองคำสูงขึ้น 2-5% จากราคาต้นทุน อย่างไรก็ดีปัจจุบันการลงทุนในทองคำแท่งและทองรูปพรรณยังสามารถซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ และแพลตฟอร์มออนไลน์

อาทิเช่น

วายแอลจี พรีเชียส บนเว็บไซต์ https://www.ylgprecious.co.th

ฮั่วเซ่งเฮง บนเว็บไซต์ https://www.huasengheng.com/buy-sell-online

แม่ทองสุก บนเว็บไซต์ http://trade.mtsgold.co.th/goldonline

App บนมือถือ “HSHtrade” เป็นต้น

สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินทุนน้อย อาจเลือกลงทุนในทองคำผ่านรูปแบบการ “ออมทอง” โดยนักลงทุนจะเปิดบัญชีกับบริษัทที่ให้บริการ จากนั้นจึงทยอยจ่ายเงินลงทุนซื้อทองทุกเดือน โดยมียอดขั้นต่ำเดือนละ 1,000 บาท เสมือนการทยอยซื้อทองน้ำหนัก 5 - 10 สตางค์ ทุกเดือนไปเรื่อย ๆ จนครบน้ำหนักทอง 1 บาท

นักลงทุนก็สามารถไปขอรับเป็นทองจริงได้จากบริษัทที่เลือกลงทุน อาทิเช่น ฮั่วเซ่งเฮง, ออสสิริส, โกลเบล็ก, จีแคป, Hello Gold เป็นต้น ทั้งนี้การออมทองจะเป็นการถัวเฉลี่ยซื้อในแต่ละเดือน ทำให้ราคาทองที่ลงทุนจึงเป็นค่าเฉลี่ยของการซื้อในแต่ละครั้งของช่วงเวลาที่มีการออม ดังนั้นนักลงทุนจึงควรพิจารณาความผันผวนของราคาทองที่เป็นไปตามราคาตลาดโลกควบคู่ประกอบการตัดสินใจออมทองไปด้วย

ทางเลือกการลงทุนในทองคำรูปแบบถัดไป เป็นการลงทุนที่ไม่มีการถือทองคำจริง เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ ได้แก่ การลงทุนทองคำผ่าน ”กองทุนรวม” ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนนำเงินไปลงทุนในทองคำให้กับนักลงทุน โดยแต่ละกองทุนจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลเรื่องการลงทุน วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ และความผันผวนของราคาของคำที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ จะมีค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการกองทุนรวมเป็นค่าใช้จ่ายของนักลงทุน การลงทุนทองคำผ่านกองทุนรวมนี้ นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปของเงินปันผล และกำไรจากส่วนต่างในมูลค่าหน่วยลงทุน (Capital Gain)

สำหรับทางเลือกการลงทุนในทองคำที่มีความซับซ้อนขึ้น สามารถเก็งกำไรทองได้ ทั้งในภาวะขาขึ้นและขาลง ทำให้มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูง แต่ก็มีความเสี่ยงจากการลงทุนที่สูงเช่นกัน ได้แก่ การลงทุนในทองคำผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ “การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส” ที่อ้างอิงราคาทองคำแท่งที่ผู้ลงทุนคาดการณ์ในอนาคต ทั้งนี้ผู้ลงทุนจะซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สไว้ก่อน เมื่อคาดว่าทองจะขึ้นในอนาคต และทำกำไรเท่ากับส่วนต่างของราคาซื้อและขาย เมื่อราคาทองคำในอนาคตนั้นปรับตัวขึ้นจริง ในขณะที่ผู้ลงทุนจะขายโกลด์ฟิวเจอร์สล่วงหน้า เมื่อคาดว่าราคาทองจะปรับตัวลดลง การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สนี้จะเป็นการซื้อขายโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) หรือ TFEX มีบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ประกันการชำระราคา และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้กำกับดูแลการซื้อขาย

และทางเลือกลงทุนในทองคำรูปแบบใหม่ล่าสุด ได้แก่ “โทเคนทองคำ” ที่ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายทองคำดิจิทัลได้เสมือนกับได้ครอบครองกรรมสิทธิ์ในทองคำแท่ง ผ่านเหรียญ xBullion (GOLD), UPXAU, และ GoldGo โดยมีการ Backup ทองคำจริงเอาไว้ และใช้เทคโนโลยี blockchain และรหัสทองคำ เพื่อรักษาความปลอดภัยของการซื้อขายของนักลงทุนแต่ละราย เพิ่มภาพคล่อง และสามารถโอนรายการระหว่างกันได้อย่างรวดเร็ว

จากรูปแบบการลงทุนทั้งหมดที่ผู้เขียนได้กล่าวถึง ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการลงทุนในทองคำที่นักลงทุนควรคำนึงถึงได้แก่ นโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน ตลอดจน Demand supply หรือความต้องการซื้อขายทองคำในตลาด เป็นต้น

.

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.tfex.co.th/th/education/files/2011-09-GF-Th.pdf


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

Non Degree เพื่อการ Re skill & Up skill การเรียนรู้ตลอดชีวิต ในช่วงสถานการณ์ Covid19

แนวโน้มที่คาดการณ์กันว่า ในอนาคตมหาวิทยาลัยทุกแห่งจะประสบปัญหามีผู้เรียนลดจำนวนลงหลายแห่ง จึงเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ด้วยการนำระบบการเรียนแบบออนไลน์ มาช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน เปิดสาขาวิชาทางเลือกเฉพาะกลุ่ม และหันไปสอนหลักสูตรระยะสั้นให้คนในวัยทำงาน หรือกระทั่งคนในวัยเกษียณมากขึ้น หรือเปิดโอกาสให้คนวัยทำงาน เข้ามาสังเกตการณ์การเรียนการสอนในบางวิชา


จากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในรอบปีที่ผ่านมา หลายมหาวิทยาลัยได้จำนวนผู้เรียนไม่เป็นไปตามเป้าในการรับนิสิตนักศึกษา จากเด็กที่เข้าเรียนในระบบมัธยมศึกษาจะสอบเข้าในระดับอุดมศึกษา มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนที่มหาลัยเปิดรับ แต่ในทางกลับกัน ประชาชนทั่วไปหรือคนในวัยทำงาน รวมถึงคนที่เกษียณอายุ ไปสู่ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคนกลุ่มวัยทำงานนี้เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงการนำไปสู่การหาเลี้ยงชีพของตัวเอง เห็นภาพชัดขึ้น ในช่วงปี 63 ที่ผ่านมา ที่เราเจอกับสถานการณ์ Covid19 มีผลต่อการทำงาน ของคนในวัยทำงานเป็นอย่างมากบางบริษัท


ในอนาคตก็จะมีผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาลดลง แต่จะมีกลุ่มคนทำงาน และผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น นอกจากการสร้างบัณฑิตแล้ว สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องมีภาระกิจในการพัฒนาคนกลุ่มนี้ ด้วยการ Reskill Upskill รวมถึงการพัฒนา New skill เพื่อการนำไปพัฒนางานเดิม ประกอบอาชีพ หรือเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการเอง 


ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาคนทุกช่วงวัน รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้างและออกแบบ หลักสูตร Non Degree จะช่วยได้อีกทาง และหาก Non Degree ที่ได้เรียนนั้น สามารถนำไปสู่ Degree ได้ โดยมีระบบการเทียบโอน หรือ ระบบสะสมหน่วยกิต ที่เรียกว่าธนาคารหน่วยกิต (Cedit Bank) รวมถึงการเทียบโอนประสบการณ์ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างแท้จริง  เป็นการเรียนการสอนแบบนอกเหนือจากภาคปกติ เรียนจบแล้วได้รับใบประกาศนียบัตร


หลักสูตร Non Degree เพื่อการ Re skill และ Up skill ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้น ต้องเปิดโอกาสให้แก่คนทุกวัยทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นคนวัยทำงานหรือคนวัยเกษียณ คือ เรียนวิชาที่นำไปใช้ แล้วสามารถใช้งานได้จริงสำหรับการประกอบอาชีพ ไม่ได้เน้นเชิงวิชาการหรือเชิงทฤษฎีเหมือนภาคปกติ แต่เป็นวิชาสำหรับประกอบอาชีพเสริม เช่น การทำการเกษตรแนวใหม่ การเลี้ยงปลาสวยงามหรือปลาเศรษฐกิจ การเรียนที่ออกแบบขึ้นนั้น จะศึกษาความต้องการของตลาดเราจะทำผลิตภัณฑ์อะไรที่ตอบโจทย์กับตลาด หลังจากนั้น ก็เริ่มลงมือปฎิบัติจริง หรือเรียนรู้ในสถานประกอบการ เป้าหมายของการเรียน คือ คิดเป็น วางแผนเป็น และแก้ปัญหาเป็น สู่การเป็นผู้ประกอบการ และสามารถสร้างรายได้ ได้อีกด้วย


วิทยาลัยบูรณาการศาสตร์ ม.เกษตร เปิด Non Degree รองรับคนทุกช่วงวัย หลายชุดวิชา อาทิ ชุดวิชาการสร้างความสุขของสังคมผู้สูงวัย เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยากทำธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งต้องมีจิตวิทยาในการดูแลผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุมีความสุข เพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย อีกกลุ่มก็คือหลักสูตรการดูแลเด็กปฐมวัยช่วงก่อนเข้าโรงเรียน สำหรับโรงเรียนอนุบาลภาคเอกชนที่มักจะไม่ค่อยมีอาจารย์ที่จบทางด้านปฐมวัย หรือด้านศึกษาศาสตร์โดยตรง


“วิชาเหล่านี้สามารถนำไปสะสมเป็นปริญญาตรีอีก 1 ใบได้ หลักสูตร Non Degree เราให้หน่วยกิตไว้ประมาณ 20 หน่วย และเรามีโครงการธนาคารหน่วยกิต ซึ่งเมื่อคุณจบ 1 ชุดวิชา แล้วคุณก็จะเก็บหน่วยกิตได้ 20 หน่วย และเมื่อคุณเรียนเพิ่มอีก 1 ชุดวิชา ก็จะได้อีก 20 หน่วย โดยใครที่จบปริญญาตรีมาแล้ว ก็สามารถใช้เทียบเป็นอีก 1 ปริญญาได้เลย”


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

สะเทือนถึงดวงดาว !! รู้จัก XPCC บริษัทจีนผู้ปั้นความเจริญสู่ถิ่นทุรกันดาร กับข้อครหา ฆ่าล้าง ‘ชาวอุยกูร์’ ที่สะเทือนภาพลักษณ์จีน

หากพูดถึงบริษัท Xinjiang Production and Construction Corps หรือ XPCC หลายคนอาจไม่คุ้นหู และคิดว่าเป็นบริษัทก่อสร้าง หรือผลิตสินค้าอะไรสักอย่าง แต่คิดว่าหลายคนคงเคยเห็นข่าวเกี่ยวกับ ‘ค่ายปรับทัศนคติ’ หรือ ‘ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพ’ ชาวซินเจียง อุยกูร์ ที่กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในโลก ที่เชื่อว่าค่ายเหล่านี้ไม่ต่างจากสถานกักกัน และจีนถูกมองว่ากำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน จนถึงระดับ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ชาวอุยกูร์ 


โดยบริษัท Xinjiang Production and Construction Corps หรือ XPCC ถูกนำไปเชื่อมโยงกับค่ายวิชาชีพของชาวอุยกูร์ จนนำไปสู่การคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ โดยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมพ์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2020 ที่สั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากฝ้ายที่ผลิตจากบริษัท XPCC เพราะเชื่อว่ามีการใช้แรงงานชาวอุยกูร์อย่างผิดหลักจริยธรรมด้านสิทธิมนุษยชน 


และล่าสุดในเดือนมีนาคม 2021 ชาติพันธมิตรตะวันตก อย่างสหรัฐ, แคนาดา, อังกฤษ และหลายประเทศในสหภาพยุโรป ก็ตัดสินใจคว่ำบาตรบริษัท XPCC รวมถึงแบนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัท ไม่ให้เข้าประเทศ พร้อมยึดบัญชีทรัพย์สินที่ฝากไว้ในประเทศเหล่านั้นด้วย


ทั้งนี้ หากลองมาดูโครงสร้างของบริษัท XPCC แล้ว ก็จะพบว่าไม่ใช่บริษัทเล็ก ๆ เลย เฉพาะผลิตภัณฑ์ฝ้ายจากบริษัท มีมากถึง 30% ของฝ้ายที่ผลิตได้ในจีนทั้งหมด ที่สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 17% ของ GDP ในเขตปกครองซินเจียง มีหน่วยงานในสังกัดถึง 14 หน่วย มีหนังสือพิมพ์เป็นของตัวเอง มีมหาวิทยาลัย 2 แห่ง และมีสมาชิกในสังกัดมากกว่า 2 ล้านคน

แล้วที่มาของบริษัทแห่งนี้ มีต้นกำเนิดจากไหน ? วันนี้เรามาทำความรู้จักกับบริษัท Xinjiang Production and Construction Corps กันดีกว่า

จุดเริ่มต้นของบริษัท นี้ ย้อนไกลถึงสมัย ‘เหมา เจ๋อตุง’ ในปี 1954 ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ในเขตซินเจียง ที่เหมา เจ๋อตุง มองว่าอยู่ไกลปืนเที่ยง มีชาวจีนฮั่นอยู่อย่างเบาบางมากเกินไปหากเทียบกับประชากรมุสลิมอุยกูร์ในท้องที่ ซึ่งในช่วงเวลานั้น เขตซินเจียง มีชาวอุยกูร์อาศัยอยู่ถึง 75% แต่มีชาวจีนฮั่นเพียง 7% เท่านั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ยังแห้งแล้ง กันดาร มีพื้นที่ใช้อยู่อาศัยได้ไม่ถึง 10% 

ด้วยเหตุนี้ เหมา เจ๋อตุง จึงสั่งการให้ หวัง เจิ้ง นายพลคนสนิท นำกองทัพกว่า 175,000 คน ไปประจำการในเขตซินเจียง และได้ก่อตั้งบริษัท Xinjiang Production and Construction Corps ขึ้น 

ที่ต้องใช้กำลังกองทัพตั้งบริษัท เพราะ XPCC ของ เหมา เจ๋อตุง ต้องทำหน้าที่ถึง 2 อย่างคือ พัฒนาผลผลิตการเกษตร และป้องกันดินแดนไปด้วยในคราวเดียวกัน เพราะพื้นที่ในเขตนี้เคยมีประวัติการลุกฮือเพื่อแยกดินแดน และมีการแทรกซึมจากคนภายนอกประเทศ ที่หวังมีอิทธิพลในเขตซินเจียง

เป้าหมายที่ เหมา เจ๋อตุง มองไว้ คือ การยกระดับพื้นที่เกษตรในเขตซินเจียง ที่ยังล้าหลัง สร้างผลผลิตน้อยที่เป็นสาเหตุของความยากจน ให้กลายเป็นเมืองเกษตรอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งภาคการเกษตร และการทำเหมืองแร่ เพื่อขยายเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ให้โตขึ้น ที่ต้องทำทั้งหมดนี้ก็เพื่อจูงใจให้ชาวจีนฮั่นอพยพไปอยู่ในเขตซินเจียงมากขึ้น มากพอที่จะทำให้มีชาวจีนฮั่นในสัดส่วนสมดุลกับจำนวนประชากรชาวอุยกูร์ เพื่อความมั่นคงในการปกครอง

และก็ดูท่าจะประสบความสำเร็จเสียด้วย เพราะตั้งแต่เกิดโครงการ XPCC นำร่อง ก็มีชาวจีนฮั่นอพยพไปอยู่ในเขตซินเจียงตอนเหนือมากขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันสัดส่วนประชากรชาวจีนฮั่น กับชาวอุยกูร์ ใกล้เคียงกันมาก ที่ 40.48% ต่อ 45.84%

ระบบจัดการของ XPCC ดัดแปลงจากระบบปฏิรูปเกษตรกรรมในสมัยราชวงศ์ฮั่น ที่รัฐจะให้สวัสดิการอุปกรณ์ เครื่องมือ ที่ดินในราคาถูก และรับผลผลิตบางส่วนเป็นค่าตอบแทน แต่ระบบ XPCC ไปไกลกว่านั้น ด้วยการผนวกเอากองกำลังป้องกันดินแดน ระบบเกณฑ์แรงงาน จากกลุ่มกบฏ ผู้ลี้ภัย มาใช้ลงแรงในไร่นา การก่อสร้างพัฒนาเมือง และนำผลผลิตมาบริหารจัดการในรูปแบบบริษัทขนาดใหญ่ แบบองค์กรกึ่งรัฐวิสาหกิจ กึ่งบริษัท กึ่งกองทัพ ที่บางคนนำไปเปรียบเทียบกับโมเดลบริษัท บริติส อีสต์ อินเดีย ในยุคล่าอาณานิคม 

บริษัท XPCC เคยถูกยุบไปรวมกับรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลซินเจียงในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม เข้าสู่ปลายยุคของเหมา เจ๋อตุง แต่หลังจากถูกยุบไปได้ไม่นาน ทางการจีนก็นำโครงการ XPCC กลับขึ้นมาใช้ใหม่ในช่วงปี 1981 เนื่องจากมีเหตุจำเป็นจากภายนอกประเทศ ซึ่งเวลานั้นได้เกิดเหตุสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมข้ามมาในเขตซินเจียงของจีนเพิ่มมากขึ้น บางส่วนมาเพื่อซ่องสุมกำลังเพื่อโจมตีกองทัพโซเวียต โดยใช้พื้นที่ของพันธมิตรชาวมุสลิมอุยกูร์เป็นที่มั่น

ดังนั้น การมีอยู่ของ XPCC จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาเขตพื้นที่ห่างไกล ที่แฝงไว้ด้วยการรักษาความสงบ และมั่นคงในเขตชายแดนที่อ่อนไหว ที่มีข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ อินเดีย, ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน และโซเวียต เป็นต้น 

แต่ทั้งนี้การรุกคืบของรัฐบาลจีนที่เร่งสร้างชุมชนชาวจีนฮั่น ภายใต้โครงการ XPCC ก็กลายเป็นความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยในพื้นที่เดิมที่โดนแย่งทรัพยากรแหล่งน้ำ และพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด และด้วยการแทรกซึมของต่างชาติ ขบวนการเรียกร้องอิสรภาพที่มีอยู่เดิมในกลุ่มชาวอุยกูร์ กลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหว East Turkestan Islamic Movement ที่ต้องการแยกดินแดนซินเจียงออกมาตั้งเป็นประเทศมุสลิมใหม่ ในชื่อ ‘สาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก’ ที่นำไปสู่ความไม่สงบในพื้นที่ในเขตมณฑลซินเจียงมากขึ้น 

และด้วยรัฐบาลจีนที่ยึดมั่นกับนโยบาย ‘จีนเดียว’ มาตลอด ก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับเงื่อนไขของกลุ่มก่อความไม่สงบ ที่ต่อมาถูกทางการจีนหมายหัวให้เป็นกลุ่มก่อการร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดน และได้ส่งกองกำลังปราบปรามอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน

ความไม่สงบยังไม่จางหายจากเขตซินเจียง แต่จีนยังคงมุ่งหน้าเต็มคันเร่งสู่ยุคแห่งเศรษฐกิจใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ ที่เปิดโครงการที่ปัจจุบันนับว่าเป็นงานลงทุนภาครัฐที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ที่รู้จักในชื่อ Belt and Road Initiative หรือ BRI การสร้างเส้นทางสายไหมแห่งเศรษฐกิจที่จะเชื่อโยงไปกว่าค่อนโลก ยาวถึงยุโรปตะวันตก ซึ่งประตูทางออกสู่เส้นทางสายไหมของท่านประธาน สีจิ้นผิง เริ่มต้นที่เขตซินเจียง ที่จะทำให้มณฑลแห่งนี้กลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จีนจะปล่อยให้เกิดความไม่สงบไม่ได้

ดังนั้น XPCC จึงได้รับการคาดหวังจากรัฐบาลจีน ในการรักษาเสถียรภาพ และความสงบในพื้นที่นี้ให้มากที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ด็อกเตอร์ เป่า ยาจุน อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์จีน มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เคยให้ความเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลจีนต้องการ คือการหลอมรวมชาวอุยกูร์ และชาวฮั่น ให้เป็นสังคมหนึ่งเดียวกัน ซึ่ง XPCC ก็กลายเป็นหน่วยงานที่ได้มอบหมายให้ทำหน้าที่นั้น 

ขณะที่ทางรัฐบาลจีนก็ได้เพิ่มงบประมาณให้ XPCC เร่งเสริมกำลังด้านการทหาร และเข้าถึงพื้นที่ในชุมชนโดยใส่มุมมองความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเข้าไป ให้ภาคเกษตรกรรมของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในพื้นที่เขตซิงเจียงตอนใต้ ที่มีชาวอุยกูร์อยู่อย่างหนาแน่นกว่าชาวจีนฮั่น ให้เข้ามาอยู่ในระบบ XPCC ผ่านค่ายฝึกอบรมวิชาชีพ และส่งเสริมค่านิยมความเป็นจีน

และนั่นอาจเป็นที่มาของค่าย ‘ปรับทัศนคติ’ ที่ถูกมองว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนชาวอุยกูร์ ให้เป็นชาวจีนฮั่น และมีการต้อนชาวอุยกูร์เข้าค่ายอบรมนับล้านคน นานนับปี ที่มีข่าวในแง่ลบออกมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องการทำร้ายร่างกาย ขมขู่บังคับ ขืนใจ กดขี่ให้ละทิ้งความเชื่อทางศาสนา และบังคับให้คุมกำเนิด เพื่อควบคุมประชากรชาวอุยกูร์ในพื้นที่ 

เมื่อมีข้อมูลด้านลบออกมาเช่นนี้ แถมทางจีนก็ไม่เปิดเผยข้อมูลค่ายอบรมแรงงานขนาดใหญ่ดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นเรื่องภายในประเทศ จึงกลายเป็นเป้าโจมตีอย่างหนักในสื่อกระแสหลักของโลกเสรีตะวันตก 

และนี่จึงเป็นปัจจัยเบื้องหลังที่ XPCC ของจีนถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังการบริหารจัดการค่ายอบรมชาวอุยกูร์ ที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และในที่สุด สหรัฐอเมริกาก็ตัดสินใจแบน ระงับการนำเข้าฝ้ายและมะเขือเทศของ XPCC ที่ผลิตในมณฑลซินเจียงทั้งหมด เพราะเชื่อว่ามีการใช้แรงงานชาวอุยกูร์เยี่ยงทาสเพื่อผลผลิต

และตามมาด้วยการร่วมแบนบริษัท XPCC ในกลุ่มพันธมิตรชาติตะวันตกของสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของจีน ไม่เฉพาะแค่รายได้ในเขตซินเจียงเท่านั้น เพราะนอกจาก XPCC จะเป็นเจ้าของผลผลิตฝ้ายรายใหญ่ที่สุดในจีนแล้ว ยังประกอบด้วยบริษัทในเครืออีก ถึง 10 บริษัทที่ดูแลผลผลิตการเกษตรจำนวนมาก ตั้งแต่ ผัก, ผลไม้, น้ำมันพืช, น้ำตาล, มะเขือเทศ และสินค้าแปรรูปการเกษตรอื่น ๆ อย่าง ไวน์, เบียร์, กระดาษ, ปูนซีเมนต์, สิ่งทอ, พลาสติก และอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ที่สร้างรายได้ให้จีนสูงถึง 4 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ฯ ในแต่ละปี  

จากที่เล่ามาทั้งหมดนั้น ปัญหาเรื่องความขัดแย้งของจีนในเขตปกครองซินเจียง-อุยกูร์ ดูจะไปไกลเกินกว่าที่จีนจะมองว่าเป็นแค่เรื่องภายในประเทศเสียแล้ว ยิ่งมีรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ของนายโจ ไบเดน มาผสมโรงด้วยการชูประเด็นสิทธิมนุษยชนเพื่อกดดันจีนในทุกมิติ ก็เชื่อว่านี่จะเป็นอีกตัวแปรที่ช่วยทำลายภาพลักษณ์ของจีนต่อสายตาชาวโลกในระยะยาวได้พอดู แถมยังเป็นการสกัดธุรกิจภาคการเกษตรไปในตัวด้วย

นาทีนี้ บริษัทกึ่งรัฐ กึ่งกองทัพ ที่มีอายุมานานกว่า 60 ปี อย่าง XPCC ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการบุกเบิกดินแดนซินเจียง ที่เคยเป็นที่รกร้าง ให้กลายเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญกับจีนทั้งในแง่ภาคการเกษตร และยุทธศาสตร์การเมืองอย่างที่เห็นในปัจจุบัน กำลังสั่นคลอนเพราะตัวเองหรือ ‘ใคร’ กันแน่ ?

.

ข้อมูลอ้างอิง

http://www.lawinfochina.com/display.aspx?id=122&lib=dbref&SearchKeyword=&SearchCKeyword=&EncodingName=big5

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Xinjiang_Production_and_Construction_Corps

https://www.aljazeera.com/economy/2021/1/13/us-bans-all-cotton-tomato-products-from-chinas-xinjiang-region

https://www.reuters.com/article/us-usa-trade-china-idUSKBN28C38V

https://www.bsg.ox.ac.uk/node/3661


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

เสียง (เพรียก) แห่งสายน้ำปัตตานี... ตอนที่ 2

แม่น้ำปัตตานีจัดว่าเป็นสายน้ำสั้นเมื่อเทียบกับแม่น้ำอื่น ๆ เพราะระยะทางยาวไม่เกิน 130 กิโลเมตร หากจ้ำพายคงใช้เวลาไม่เกิน 4 วัน พวกเรามีเวลา 7 วัน จึงมากพอที่จะอ้อยอิ่งและแวะทักทายพูดคุยกับผู้คน ขณะเดียวกันก็ไม่ถึงกับต้องรีบเก็บข้อมูลสายน้ำที่ได้รับการไหว้วานจากเพื่อนด้วย

ต้นน้ำปัตตานี ประกอบด้วยลำคลองสาขามากมายซึ่งไหลมาบรรจบกันจนสายน้ำลึกและใหญ่มากขึ้น จากที่กว้างเพียงไม่กี่เมตร กลายเป็นสิบเมตร ยี่สิบเมตร และกว้างกว่านั้นในช่วงปลายน้ำก่อนที่จะไหลออกสู่ทะเล

ยอมรับว่าไม่ได้ศึกษารายละเอียดของการเดินทางรอบนี้มากนัก เพราะรู้ว่าจะพายกับเพื่อนซึ่งเป็นคนในพื้นที่ เมื่อไม่ได้ทำการบ้านมาล่วงหน้า จึงไม่รู้ว่าจะคาดหวังอะไรกับสายน้ำนี้ มีแค่แอบหวั่นใจเล็ก ๆ ลึก ๆ ว่าอาจจะเจอกลุ่มคนน่ากลัวหรือเหตุการณ์อันน่าประหวั่น ส่วนแม่น้ำปัตตานีคิดว่าก็คงไหลเรียบ ๆ ไม่น่าจะมีเกาะแก่งสร้างความตื่นเต้นหวือหวา แต่ปรากฎว่าทุกวันพบเจอเรื่องราวและกิจกรรมสนุกตื่นเต้น ไฮไลต์ของแต่ละวันแตกต่างกันแทบจะโดยสิ้นเชิง อย่างวันแรกนั้นกว่าจะได้เริ่มพายก็บ่ายคล้อยมากแล้ว ล่องกันไปเพียงชั่วโมงครึ่งก็ต้องเริ่มมองหาสถานที่พักแรมแล้ว แต่ก็ดี เพราะถือเป็นการทำความคุ้นเคยกันระหว่างสองเกลอที่เพิ่งเจอกัน

และได้เริ่มสังเกตภูมิประเทศโดยรอบไปในตัวด้วย รู้สึกดีที่ได้ร่อนเร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่แปลกและสงบเช่นนี้ น้ำไหลเอื่อย บางช่วงตื้นเขิน ทำให้ท้องเรือครูดดินหิน ตามโค้งน้ำบางจุดมีกิ่งก้านไม้ขวาง ต้องพายฉวัดตวัดหลบบ้าง สนุกดี เสียงนกดังมาจากสุมทุมพุ่มไม้ ประกอบกับช่วงแดดร่มลมตกด้วยแล้วยิ่งทำให้จิตใจสงบได้อย่างน่าประหลาด พวกเราได้จุดพักแรมริมน้ำ เป็นหาดทรายกว้างพอให้สยายเต็นท์สองหลังกับเหลือพื้นที่สำหรับนั่งเล่นและทำสำรับกับข้าวอีกนิดหน่อย



ตลิ่งสูงสองฝั่งน้ำเป็นพื้นที่สวนยาง เขาต้องปลูกกันเป็นขั้น เพราะเป็นพื้นที่ค่อนข้างชัน มีกล้วยและทุเรียนปลูกสลับในบางพื้นที่ด้วย จุดสังเกตประการหนึ่งที่ค่อนข้างสร้างความประหลาดใจ คือแม้จะเข้าสู่เดือนมีนาคมแล้ว แต่ต้นไม้ใบหญ้ายังคงเขียวขจี ไม่เห็นไม้สลัดใบชัดเจนเหมือนป่าทางภาคเหนือ ที่ดีกว่ามากหลายเท่าก็คืออากาศสะอาด ไม่มีหมอกควันที่ส่งผลต่อทัศนวิสัยและต่อระบบทางเดินหายใจของคน ต้องบอกว่าคนแถวนี้โชคดีกว่าประชากรชาวเหนือโดยแท้

แต่สิ่งที่ไม่ค่อยต่าง คือมลพิษปนเปื้อนในน้ำ แม้จะลงไปอาบน้ำท่าในน้ำซึ่งคล้ายจะใส แต่ก็รู้สึกแขยงบ้าง ทั้งนี้เพราะรู้เห็นมาว่าต้นน้ำแถวเมืองเบตงนั้นมีสภาพเป็นน้ำครำ ถึงแม้จะเจือจางมาบ้างแล้วจากลำห้วยสาขาอื่น ๆ ก็ตามที แต่ระดับสิ่งเจือปนอันไม่พึงประสงค์น่าจะยังคงมากพอสมควร เช่นนี้แล้ว หากสามารถสะท้อนเสียงกลับไปยังเมืองต้นทางน้ำเสียได้บ้าง ก็อยากให้มีการจัดการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ หากคุณภาพน้ำในแม่น้ำดี ก็จะเอื้อประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศด้วยเช่นกัน


 

มื้อเย็นทำทานกันง่าย ๆ ข้าวหม้อแกงหม้อ กินอิ่มหมีพีมันแล้วนั่งคุยสัพเพเหระกับเขียนอะไรต่อมิอะไรลงสมุดบันทึกสักพักก็แยกย้ายกันมุดเต็นท์ตัวเอง ตกกลางคืนอากาศเย็นเกือบหนาว ต้องนอนห่มผ้า ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด เพราะเข้าใจผิด คิดว่าภาคใต้มีแต่ฝนกับร้อนเท่านั้น เสียงน้ำไหลเป็นบทเพลงกล่อมนอนขนานเอก ถือเป็นเสียงดนตรีธรรมชาติบำบัดที่ดีมาก สำหรับตัวเองแล้ว ผมพบว่าการพาตัวเองไปให้ขุนเขาและสายน้ำโอบกอดนั้นเป็นการรีชาร์จแบตเตอรี่ชีวิต หรือเปรียบเทียบคล้ายกับเด็กทารกในอ้อมกอดมารดา หลับปุ๋ยอย่างอบอุ่นปลอดภัย

8 ท่าโยคะอย่างง่าย ทำเองได้ที่บ้าน ป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม

ในยุคที่มีการแข่งขันสูง การใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ การทำงานด้วยความเครียด และการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆทำให้ทุกคนใช้เวลาในแต่ละวันอย่างน้อย 8 - 9 ชั่วโมงในการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ใช้มือถือ แทปเลต ประกอบกับท่านั่งที่ไม่เหมาะสม จึงเกิดการใช้งานกล้ามเนื้อแบบผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อสูญเสียความยืดหยุ่น ร่วมกับการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน ส่งผลไปยังข้อต่อและกระดูกต่าง ๆ บางคนอาจมีอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจากการปวดบริเวณกล้ามเนื้อคอลุกลามไปยังกล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ โดยการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นจากการทำงานเรียกว่า “โรคออฟฟิศซินโดรม”

ข้อแนะนำสำหรับผู้เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม

พักยืดเส้นยืดสาย หรือลุกขึ้นจากเก้าอี้และเปลี่ยนอิริยาบททุก 1 ชั่วโมง เปลี่ยนจากการจ้องมองหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วมองไปยังพื้นที่สีเขียวหรือต้นไม้

ปรับสภาพโต๊ะทำงานให้เหมาะสม ระดับหน้าจอคอมพิวเตอร์, คีย์บอร์ดและการวางเม้าส์อยู่ในองศาการใช้งานที่ถูกต้องตามสรีระ

ปรับความสูงของเก้าอี้พนักพิง มีการเสริมหมอนหนุนหลังเพื่อให้นั่งสบายขึ้นและเลือกใช้เก้าอี้ที่มีที่วางแขน

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ไม่นั่งหลังค่อม ไม่ห่อไหล่

ท่าโยคะอย่างง่ายป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม

ท่าแรก

: นอนคว่ำ วางแขนห่างกันเท่าความกว้างของหัวไหล่ ใช้มือดันตัวขึ้น

: เหยียดข้อศอก ยกศีรษะ ไหล่ หน้าอก เอว ให้สูงขึ้นเงยหน้าไปด้านหลัง

: สะโพกด้านหน้า ต้นขา และเท้า วางราบกับพื้น

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณหลังและหน้าท้องเล็กน้อย หายใจเข้าออกปกติ ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

ท่าที่สอง

: นอนหงาย ยกขาขึ้น2ข้าง (ถ้าตึงมากให้ยกทีละข้าง)

: พยายามใช้มือแตะปลายเท้า ถ้าไม่ถึงให้ใช้ผ้าขนหนูคล้องปลายเท้า

: ออกแรงดึงขายกสูงขึ้นมาทางศีรษะโดยให้เข่าเหยียดตรงตลอด

: สะโพกลอยพ้นพื้นเล็กน้อย คอและไหล่วางบนพื้นด้วยความผ่อนคลาย

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อขาโดยเฉพาะด้านหลังของเข่า ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

ท่าที่สาม

: นั่งขัดสมาธิ หลังตรง มือสอดใต้สะโพก (นั่งทับ)

: ก้มศีรษะเล็กน้อย เอียงศีรษะทางซ้าย มือซ้ายจับศีรษะ กางศอกออก กดลงเบาๆ

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อคอและบ่าด้านตรงข้าม ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

: สลับข้าง ทำเช่นเดียวกัน

ท่าที่สี่ : นั่งขัดสมาธิ หลังตรง มือสอดใต้สะโพก (นั่งทับ)

: ก้มศีรษะลงกดคางชิดอก เอียงศีรษะทางซ้าย มือซ้ายจับศีรษะ กดศอกเอียงด้านหน้า

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณคอสะบักขวา ค้างไว้ 10 - 20 วินาที แล้วตั้งศีรษะตรง ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

: สลับข้าง ทำเช่นเดียวกัน นั่งทับมือซ้าย แล้วก้มเอียงศีรษะทางขวา มือขวาออกแรงกดเบาๆ

ท่าที่ห้า : นั่งขัดสมาธิ หลังตรง พาดแขนซ้ายมาด้านหน้าอก

: นำศอกขวากดศอกซ้าย เข้าหาไหล่ขวา หันหน้าไปทางด้านซ้าย

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณต้นแขนด้านหลังและสะบัก ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

: สลับข้าง ทำเช่นเดียวกัน แขนขวาพาดด้านหน้า ศอกซ้ายกดหาไหล่ซ้าย หันหน้าไปทางขวา

ท่าที่หก : นั่งขัดสมาธิ หลังตรง ประสานมือทั้ง 2 ข้างด้านหลัง บีบมือเข้าหากันให้แน่น

: ยืดอก ยืดหลังขึ้น บีบสะบักเข้าหากัน ดันแขนออกไปไกลลำตัวให้มากที่สุด

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณต้นแขน หน้าอกและสะบัก ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

ท่าที่เจ็ด : นั่งหลังตรง เหยียดขาซ้ายไปด้านหน้า ขาขวาข้ามวางข้างเข่าซ้ายด้านนอก

: ศอกซ้ายออกแรงดันเข่าขวาไปทางซ้าย บิดตัวไปทางขวาให้มากที่สุด

: มือขวาวางด้านหลัง หันหน้ามองข้ามไหล่ขวาไปด้านหลัง

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณสะโพกและลำตัวด้านข้างขวา ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

: สลับข้าง ทำเช่นเดียวกัน เหยียดขาขวา งอเข่าซ้าย ศอกขวาออกแรงดัน บิดตัวไปทางซ้าย

ท่าที่แปด : นั่งขัดสมาธิ หลังตรง จากนั้นเหยียดขาขวาออกไปด้านข้างให้ตั้งฉากมากที่สุด

: มือขวาจับเข่าซ้าย บิดตัวไปทางซ้าย ยกมือซ้ายขึ้นแนบหู เอื้อมหลังศีรษะไปจับปลายเท้าขวา

: ถ้าตึงขาหรือลำตัวมาก จับไม่ถึง ให้ใช้ผ้าคล้องปลายเท้าขวาช่วยได้

: ท่านี้จะรู้สึกตึงลำตัวและต้นแขนซ้าย ต้นขาหลังและน่องขวา ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

: สลับข้าง ทำเช่นเดียวกัน งอเข่าขวา เหยียดขาซ้าย มือซ้ายจับเข่าขวา มือขวาจับปลายเท้าซ้าย

Game Changer ของวิกฤติ Covid-19

อินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก 60% ของวัคซีนที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ผลิตในอินเดีย และ 2 ใน 3 ของเด็ก และ ทารกทั่วโลก ต้องเคยได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 ชนิดที่ผลิตในอินเดีย

และวันนี้ อินเดียกำลังจะกลายเป็นผู้ผลิตวัคซีน Covid - 19 ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว ที่คาดหมายว่าจะเป็นจุดพลิกชะตา จบเกมส์ Covid-19 ได้เลยทีเดียว ที่หลายฝ่ายมั่นใจเช่นนี้ เพราะปรัชญาการผลิตเวชภัณฑ์ของรัฐบาลอินเดีย มีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกระดับชั้น โดยเฉพาะ ชาวอินเดียที่มีความหลากหลายในวรรณะ และชาติพันธุ์ ที่อยู่รวมกันมากถึง 1.3 พันล้านคน

ซึ่งปรัชญานี้ ก็ใช้กับการผลิตวัคซีน Covid-19 วัคซีนซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุดในโลกแล้วในขณะนี้

และหากพูดถึงการผลิตวัคซีน Covid-19 ในอินเดีย บริษัทที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลยก็คือ Serum Institute of India หรือ SII บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย และเป็นพาร์ทเนอร์คนสำคัญที่ร่วมในการทดลองและพัฒนาวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca

SII ตั้งเป้าหมายในการผลิตวัคซีน AstraZeneca ให้ได้ถึง 1 พันล้านโดสภายในสิ้นปี 2021 รวมทั้ง ยังต้องผลิตวัคซีนเข้าโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลกถึง 200 ล้านโดส เพื่อแจกจ่ายให้กับประเทศในโลกที่ 3

บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่เข้ามารับภารกิจระดับโลกครั้งนี้ มีที่มาเช่นไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก Serum Institute of India - SII กัน

จุดเริ่มต้นของบริษัท Serum Institute of India เกิดจาก ครอบครัวผู้เพาะพันธุ์ม้าในเมืองปูเน่ รัฐมหาราษฎระ ทางตะวันตกของอินเดีย โดยนาย ไซปรัส ปูนะวัลลา รับหน้าที่ดูแลคอกม้าให้พ่อ แต่มาวันหนึ่ง แม่ม้าตัวหนึ่งของเขาโดนงูกัด แล้วเขาได้พยายามติดต่อสัตวแพทย์ หาเซรุ่มแก้พิษงูมาฉีดให้ม้า แต่ปรากฏว่าทั้งเมืองหาเซรุ่มไม่ได้ ศูนย์เซรุ่มที่อยู่ใกล้ที่สุดคือบอมเบย์ ที่ห่างไปไกลเกิน 100 กิโลเมตร และต้องรอเจ้าหน้าที่รัฐอนุมัติเสียก่อนถึงจะเบิกเซรุ่มมาใช้ได้

การสื่อสารก็ติดขัด หน่วยงานราชการทำงานล่าช้ามาก และหากจำเป็นต้องสั่งเซรุ่มจากต่างประเทศ ก็ราคาสูงมาก จนเขาไม่คิดว่าคนยากจน ที่ถูกงูกัดจะสามารถซื้อได้

และกว่าจะได้เซรุ่มมา ใช้เวลานานถึง 4 วัน ซึ่งไม่ทันที่จะช่วยชีวิตแม่ม้าของเขาได้ ความเสียใจนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปณิธานของเขาว่า เขาจะตั้งโรงงานผลิตวัคซีน และเซรุ่ม ในราคาถูก มีคุณภาพดี และมีปริมาณเพียงพอให้ชาวอินเดียสามารถเข้าถึงได้ทุกคน ไม่ว่าจะยากจนแค่ไหน

ครอบครัวปูนะวัลลา ก็ได้ลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีน Serum Institute of India (SII) ในปี 1966 ที่ผลิตตั้งแต่เซรุ่มแก้พิษงู วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ บาดทะยัก โรคหัด ไข้หวัดใหญ่ และอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก ในราคาประหยัด แต่ได้มาตรฐานสูง รับประกันคุณภาพผลงานด้วยการได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตยา และวัคซีนให้แก่องค์กรระดับโลก อย่างองค์การอนามัยโลก Unicef Pan American Health Organization และอีกหลายองค์กร

จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2020 ทางบริษัทก็ได้รับการติดต่อจาก AstraZeneca ที่กำลังพัฒนาวัคซีนต้าน Covid-19 และต้องการให้ SII ร่วมทดสอบวัคซีน และเป็นฐานการผลิตให้กับ AstraZeneca หลังจากผ่านการทดสอบขั้นสุดท้าย

ซึ่งทางครอบครัวปูนะวัลลา ที่ปัจจุบัน อดาร์ ปูนะวัลลา บุตรชายของนาย ไซปรัส ผู้ก่อตั้ง เป็นผู้สืบทอดกิจการ และดำรงตำแหน่งประธานบริหารสูงสุด ก็รู้ทันทีว่าข้อตกลงครั้งนี้ พ่วงมาด้วยความกดดันในทุกขั้นตอนของการผลิต โดยต้องประสานงานกับโรงพยาบาลกลางในเมืองปูเน่ ในการทดลองวัคซีนให้กับ AstraZeneca ในเฟส 2 และ 3 เพื่อดูผลการทดสอบอย่างใกล้ชิด

เมื่อมีการรับรองผลการทดสอบวัคซีนในขั้นสุดท้ายแล้ว SII ก็ได้รับใบอนุญาตในการผลิตวัคซีน AstraZenca ทันทีภายใต้ชื่อวัคซีน Covashield ในช่วงที่อินเดียกำลังเจอกับวิกฤติครั้งใหญ่ ของการแพร่ระบาดของ Covid-19 พอดี ที่ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นไปเป็นอันดับ 2 ของโลก

SII ต้องเร่งขยายฐานการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณที่ต้องผลิตวัคซีน Covid-19 ที่ไม่ใช่แค่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศเท่านั้น แต่ต้องผลิตให้มากพอที่จะส่งให้กับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย

อดาร์ ปูนะวัลลา เล่าว่า แค่เพิ่มสต็อคขวดบรรจุวัคซีนเพียงอย่างเดียว ทางบริษัทต้องลงทุนเพิ่มอีกหลายสิบล้านดอลลาร์ ยังไม่รวมการเพิ่มแรงงาน ที่ทำงานกันไม่หยุด 7 วัน 24 ชั่วโมง และทุกวันก่อนเที่ยงคืน ก็จะมีข้อความผ่านทาง WhatApp จาก ด็อกเตอร์ เค. วิชัยราฆวัน ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ เพื่อติดตามรายงานความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนให้กับรัฐบาลเป็นประจำ ถึงจะมีการเตรียมงานอย่างดี และมีประสบการณ์ในด้านการผลิตวัคซีนมานานกว่า 50 ปี แต่กลับมีอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อโรงงานหลังหนึ่งของ SII ถูกไฟไหม้! เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2021

ความรุนแรงของเหตุไฟไหม้ ทำลายบางส่วนของอาคารโรงงาน และมีผู้เสียชีวิตในโรงงานถึง 5 คน ซึ่งโรงงานนั้นก็เป็นหนึ่งในฝ่ายการผลิตวัคซีน AstraZeneca

แม้จะไม่ทราบสาเหตุของต้นเพลิง แต่ SII ยังต้องเดินหน้าการผลิตวัคซีนตามเป้าหมายต่อไป ยังโชคดีที่สามารถควบคุมเพลิงได้เร็ว ทำให้โรงงานส่วนใหญ่ไม่เสียหายมากนัก จึงยังคงดำเนินการผลิตต่อไปได้

แม้ในวันนี้ SII ยังคงเร่งผลิตวัคซีน AstraZenca อย่างต่อเนื่องด้วยความเร็ว 5,000 ขวดต่อนาที กับแรงงานของพนักงานหลายร้อยชีวิตที่นี่ ต่างทำงานอย่างขมักเขม้น ที่พวกเขาต่างตระหนักรู้ว่า นี่ไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อผลิตสินค้า แต่เป็นการต่อสู้กับภัยโรคระบาดระดับโลก ซึ่งทาง SII มั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตวัคซีนให้ได้ 1 พันล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน

และนอกจากจะผลิตวัคซีน AstraZeneca แล้ว SII ก็เพิ่งเซ็นข้อตกลงร่วมพัฒนาวัคซีน Covid-19 ให้อีก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Novavax ที่อยู่ขั้นการทดลองวัคซีนช่วงสุดท้ายแล้ว และคาดหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของวัคซีนราคาประหยัด และสามารถเก็บได้ในตู้แช่ทั่วไปได้ เช่นเดียวกับ AstraZeneca และ ล่าสุด Codagenix วัคซีน Covid-19 รุ่นใหม่ ที่ใช้หยอดทางจมูกแทนการฉีดเข้าร่างกาย

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่ไปในทิศทางเดียวกันทั้งภาครัฐ และ เอกชน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมอินเดีย ถึงได้รับฉายาว่าเป็นคลังวัคซีนโลก แต่จะเป็นผู้ปิดเกมส์เจ้าไวรัส Covid-19 ได้จริง ๆ อย่างที่หลายคนคาดไว้หรือไม่ คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ที่สามารถยืนยันได้แล้วในตอนนี้ คือ อินเดีย สามารถพลิกวิกฤติ Covid-19 ให้กลายเป็นโอกาสให้กับเศรษฐกิจอินเดีย และเป็นหนึ่งในผู้ที่มอบแสงสว่างในปลายอุโมงค์ให้แก่ประชาชนในประเทศยากจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน Covid-19 ได้นับล้านคนทั่วโลกทีเดียว


อ้างอิง

https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-india-serum-insigh/how-one-indian-company-could-be-worlds-door-to-a-covid-19-vaccine-idINKBN22Y2BI?edition-redirect=in

https://www.straitstimes.com/asia/south-asia/indias-serum-institute-a-look-inside-the-worlds-biggest-covid-19-vaccine-factory

https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2021/03/18/978065736/indias-role-in-covid-19-vaccine-production-is-getting-even-bigger

https://en.wikipedia.org/wiki/Serum_Institute_of_India

มายาคติ...ต่อผู้สูงอายุ

ช่วงนี้สนใจอยากพูดถึงเรื่องของผู้สูงอายุในบ้านเรา เพราะไม่ปีนี้ก็ปีหน้าคาดว่าประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือ มีสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศแล้ว ดังนั้นการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง และในฐานนักวิชาการด้านสื่อก็เกิดความสนใจว่าการศึกษาด้านสื่อกับผู้สูงอายุในเมืองไทยนั้นมีมากน้อยเพียงใดและว่าด้วยเนื้อหาเรื่องใดบ้าง ก็ไปพบว่าอาจารย์กาญจนา แก้วเทพ ได้ทำการศึกษาประเด็นการสื่อสารกับผู้สูงวัย (2554)

อาจารย์พบว่างานวิจัยเกี่ยวกับการสื่อสารกับผู้สูงอายุในประเทศไทยตั้งแต่ประมาณปี พศ.2525 มาจนถึงช่วงเวลาปัจจุบัน รวมเป็นเวลาเกือบ 30 ปีนั้น มีงานวิจัยที่ระบุหัวข้อชื่อตรงกับผู้สูงอายุและการสื่อสารไม่เกิน 10 เล่มทั้งที่จำนวนผู้สูงอายุนั้นมีถึงเกือบร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และยังพบว่าการวิจัยในประเด็นผู้สูงอายุที่มักเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยการสำรวจขนาดใหญ่นั้นไม่ช่วยเห็นลักษณะเฉพาะของความเป็นผู้สูงอายุได้และเมื่อผสมกับการขาดแนวคิดเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่รอบด้านและชัดเจนจึงทำให้ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีข้อค้นพบเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของผู้สูงอายุในแง่มุมของการสื่อสาร และเมื่อศึกษางานวิจัยอื่น ๆ พร้อม ๆ ไปกับการสังเกตรายการในหน้าจอทีวี สังเกตได้ว่ามีความเข้าใจผิดหรือมีมายาคติเกี่ยวกับผู้สูงอายุอยู่มากในเรื่องใช้สื่อของผู้สูงอายุ ลองมาดูกันค่ะว่าเราเองก็เข้าใจผู้สูงอายุผิดไปหรือไม่

มายาคติผู้สูงอายุตื่นแต่มืดแต่ดึก : ผู้สูงอายุชอบตื่นแต่เช้ามืด ตี 4 - 5 มาดูทีวี มาฟังวิทยุ จริงหรือ?

อาจจะพูดได้ว่าการคิดว่าผู้สูงอายุชอบตื่นแต่เช้ามืดดังนั้นถ้าจะทำสื่อให้ผู้สูงอายุต้องใช้ช่วงเวลาตีสี่ตีห้า แต่แทนจริงแล้วเป็นเพียงมายาคติที่สังคมมองมายังผู้สูงอายุ เพราะมีงานวิจัยหลายเรื่องที่พบว่าผู้สูงอายุไม่ได้เปิดรับสื่อช่วงเช้ามืดอย่างที่สังคมเข้าใจ เช่น จากการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ ของ จารุวรรณ นิธิไพบูลย์, สันทัด ทองรินทร์ และวิทยาธร ท่อแก้ว (2559) พบว่าผู้ชมที่มีอายุระหว่าง 60 - 65 ปีมีความต้องการในการชมรายการโทรทัศน์ ช่วงเช้า (06.01 น. - 09.00 น.) และ ช่วงสาย (09.01 น. - 12.00 น.) ผู้ชมที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีความต้องการในการชมรายการโทรทัศน์ช่วงเช้า (06.01 น. - 09.00 น.) และช่วงเย็น (16.01 น. - 19.00 น.) และพนม คลี่ฉายา (2555) ได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง ความต้องการข่าวสาร การใช้สื่อ และนิสัยการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุไทย โดยมีสำรวจการเปิดรับสื่อ โดยพบว่าเปิดรับสื่อเป็นประจำมากที่สุด ได้แก่ โทรทัศน์ บุคคลใกล้ชิด และโทรศัพท์มือถือ ผู้สูงอายุมักจะชมโทรทัศน์มากที่สุด โดยชมรายการข่าวเป็นประจำ ในช่วงเวลา 17.01 - 21.00 น. ใช้เวลาในการชม คือ 1 - 3 ชั่วโมง/ครั้ง สอดคล้องกับแนวคิดของบริษัทอาร์เอสโปรโมชั่น ในการผลิตรายการโทรทัศน์ช่องเพลินทีวี ทีวีเพื่อผู้สูงอายุ ระบุว่าผู้สูงอายุมีวิถีชีวิต (Lifestyle) ในการรับชมโทรทัศน์อยู่กับบ้านเฉลี่ยมากกว่าบุคคลวัยอื่นถึงร้อยละ 10 โดยที่เวลาไพร์มไทม์ของกลุ่มคนสูงอายุอยู่ในช่วงเวลา 17.30 - 21.30 น. (แต่แอบกระซิบเบา ๆ ว่าหลังจากที่ออกอากาศได้เพียงแค่ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558 บริษัทอาร์เอสฯได้ประกาศยุติออกอากาศในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ)

ดังนั้นจะเห็นว่าสังคมมีความเข้าใจผิดคิดว่าผู้สูงอายุนั้นมักชอบชมรายการโทรทัศน์หรือฟังวิทยุในช่วงเวลาเช้ามืดนั้นไม่เป็นความจริง และหากจะถามหาเวลาที่เหมาะในการทำสื่อเพื่อผู้สูงอายุควรจะเป็นช่วงเย็น ๆ มากว่าช่วงเช้ามืดด้วยซ้ำไป

มายาคติผู้สูงอายุชอบทำบุญเข้าวัด : ผู้สูงอายุชอบรายการธรรมะที่สุด จริงหรือ?

มายาคติอีกเรื่องที่ไม่รู้ใครบัญญัติมาให้เชื่อตาม ๆ กัน คือการเหมารวมว่าการที่ผู้สูงอายุชอบเข้าวัดทำบุญดังนั้นจึงชอบดูรายการธรรมะที่สุด แต่จริง ๆ แล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่?

จากการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ ของ จารุวรรณ นิธิไพบูลย์, สันทัด ทองรินทร์ และวิทยาธร ท่อแก้ว (2559) ในประเด็นการเปิดรับความต้องการและการใช้ประโยชน์รายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ พบว่าส่วนใหญ่มีการใช้ประโยชน์จากการชมรายการโทรทัศน์ 3 อันดับแรก ได้แก่

1) เพื่อรับทราบข้อมูลข่าวสาร

2) เพื่อสร้างความเบิกบานใจ ความสุข และคลายเหงา

3) เพื่อนำเนื้อหาไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเอง ลักษณะเนื้อหาในสื่อที่ผู้สูงอายุต้องการ จากผลงานวิจัยนี้ทำให้เชื่อมโยงได้ว่าผู้สูงอายุชอบรายการที่ให้ทราบข้อมูลข่าวมากว่ารายการธรรมะแน่ ๆ นอกจากนี้ยัง พบว่า

ผู้สูงอายุต้องการเนื้อหาให้สื่อนำเสนอให้เห็นถึงศักยภาพของผู้สูงอายุ ส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกหรือเชิดชูผู้สูงอายุ เนื้อหาที่แสดงให้เห็นความรักความผูกพันระหว่างผู้สูงอายุกับครอบครัว และเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การรักษาสุขภาพ สิทธิทางกฏหมาย และสวัสดิการต่างๆ เป็นต้นด้วย จากงานวิจัยที่กล่าวไปนี้น่าจะพอสรุปได้ว่ารายการธรรมะอาจไม่ได้เป็นรายการที่ผู้สูงอายุจะชื่นชอบที่สุดหรือจะเลือกชมเป็นลำดับต้นๆด้วยซ้ำไป

มายาคติว่าผู้สูงอายุทุกคนก็ชอบอะไรเหมือน ๆ กัน : ผู้สูงอายุมีความต้องการใช้สื่อเหมือน ๆ กันหมดจริงหรือ?

มายาคตินี้เราเจอกับบ่อย ๆ เพราะการคิดเหมารวมอีกเช่นกันว่าขึ้นชื่อว่าผู้อายุก็คงจะมีความต้องการใช้สื่อเหมือนกันหมดเพราะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน แต่จากการศึกษาพบว่ากลุ่มผู้สูงวัยนั้นก็มีความต้องการในการใช้สื่อที่หลากหลายและแตกต่างกันไม่แพ้วัยเด็กและเยาวชน โดยสิ่งที่เป็นเงื่อนไขปัจจัยมีทั้งปัจจัยส่วนตัว เช่น ลักษณะบุคลิกภาพ ความชอบ ความถนัดและปัจจัยด้านการศึกษา และปัจจัยทางด้านสังคม สภาพครอบครัวและฐานะทางเศรษฐกิจ ตลอดจนปัจจัยทางกายภาพ เช่น พื้นที่อยู่อาศัยนั้น ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้สื่อทั้งสิ้น ส่วนในภาพรวมนั้นอาจกล่าวได้ว่าแม้กลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่ใช้อินเตอร์เน็ตน้อยที่สุดหากเทียบกับกลุ่ม Gen X และ Gen Y สื่อหลักอย่างโทรทัศน์และวิทยุก็ยังคงเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้สูงอายุได้มากที่สุด

โดยที่สื่อวิทยุนั้นจะเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุในเขตต่างจังหวัดได้มากกว่าเขตเมือง แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือมีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุจะใช้สื่อออนไลน์มากขึ้นและสื่อออนไลน์ก็เป็นที่นิยมของผู้สูงอายุมากขึ้น และยังพบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุแตกต่างกัน มีความพึงพอใจในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์แตกต่างกัน ดังเช่นงานวิจัยของ กันตพล บันทัดทอง (2557) เรื่อง พฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์และความพึงพอใจของกลุ่มคนผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งผลการวิจัยพบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุแตกต่างกัน มีความพึงพอใจในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์แตกต่างกัน โดยผู้สูงอายุที่มีอายุ 66 ปีขึ้นไป มีความพึงพอใจในการใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์น้อยที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 66 ปีขึ้นไป อาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพมากกว่ากลุ่มอื่น เช่น ปัญหาสายตา ปัญญาการใช้นิ้วหรือมือ จึงไม่สามารถใช้บริการเครื่อข่ายสังคมออนไลน์ได้ จึงมีความพึงพอใจต่ำกว่าผู้สูงอายุกลุ่มอื่น

มายาคติที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุที่กล่าวไปข้างต้นนั้นสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยโดยเฉพาะผู้ผลิตสื่อ ยังมีความเข้าใจผิดถึงพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุและยังไม่มีข้อมูลองค์ความรู้สำคัญพื้นฐานที่จะทำให้การผลิตสื่อที่เหมาะสมตรงความต้องการของผู้สูงอายุ ดังนั้นการทำความรู้จักและเข้าใจความต้องการของผู้สูงอายุอย่างถ่องแท้ จะเป็นประโยชน์มากในการพัฒนาสื่อเพื่อผู้สูงอายุ ภาครัฐควรสนับสนุนนโยบาย งบประมาณและพัฒนาบุคลากร เพราะในประเทศไทยการทำสื่อเพื่อผู้สูงอายุก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับการทำสื่อเพื่อเด็ก คือผู้ประกอบการมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่ากับผลกำไรที่ได้ในทางธุรกิจ ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้ามาช่วยหนุนเสริมภารกิจนี้อีกทาง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสื่อเพื่อผู้สูงอายุเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดึงศักยภาพของผู้สูงอายุออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม นอกจากนี้สื่อยังสามารถทำหน้าที่ช่วยให้คนในสังคมที่มีความหลากหลายของช่วงวัยเกิดความเข้าใจซึ่งกันละกัน ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่ยอมรับในความหลากหลายและเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนทุกช่วงวัย อย่างที่ย้ำเสมอว่าการเป็นสังคมผู้สูงอายุไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของเราทุกคนจริง ๆ


ข้อมูลอ้างอิง

กาญจนา แก้วเทพ.(2554).ผู้คนที่หลากหลายในการสื่อสาร: เด็ก สตรี และผู้สูงอายุ.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ.

ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์

พนม คลี่ฉายา. (2555). ความต้องการข่าวสาร การใช้สื่อ และนิสัยการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุไทย: รายงาน

การวิจัย (Information Need, Media Uses and Media Habit of Thai Elderly: Research Report). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

กันตพล บันทัดทอง.(2558) พฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์และความพึงพอใจของกลุ่มคนผู้สูงอายุใน

เขตกรุงเทพมหานคร.บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

“ช่องทีวีคนสูงวัย เซกเม้นท์นี้ “อาร์เอส” จอง.สืบคนเมื่อ 20 มกราคม 2556.จาก http://positioningmag.com/60832

Positioning. (2558) ช่องทีวีคนสูงวัย เซกเม้นท์นี้ “อาร์เอส” จอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559. จาก http://positioningmag.com/60832

เผยแนวโน้ม “สื่อรุ่ง – สื่อร่วง” ปี ’59 ชี้ชะตาอนาคตสื่อปีหน้า ใครจะได้ไปต่อ !! สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม2559. จาก http://www.brandbuffet.in.th/2016/12/kantar-worldpanel-media-profiler-2016

“เมื่อ...เลือกทำในสิ่งที่รัก ไม่ใช่สิ่งที่เรียนมา”

“โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ประโยคที่ทุกคนในวัยเด็กต้องผ่านการตอบคำถามนี้ ประกอบกับท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และจนถึงวันนี้ที่เราต้องอยู่ในสภาวะปกติใหม่ (New Normal) ทำให้อาชีพทุกวันนี้ หลากหลายและมีทางเลือกมากขึ้น บางคนได้ทำในสิ่งที่เรียนมาตรงสาย บางคนอาจจะค้นพบตัวเองหลังจากที่เรียนจบแล้ว ในความเป็นจริงไม่มีสูตรตายตัวสำหรับโลกของการทำงาน

แต่เราต้องทำตัวเองให้พร้อม เพื่อจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ศิลปิน ดารา นักแสดงหลาย ๆ คน ก็ไม่ได้เรียนมาทางนิเทศศาสตร์ แต่ผันตัวเองมาสู่การทำงานในวงการบันเทิง เช่น โดม จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม จบนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์

แต่ด้วยความรักในเสียงเพลง ทำให้โดม ก็มุ่งมั่นงานวงการบันเทิง จนปัจจุบันเปิดค่ายเพลงเป็นของตัวเองกับค่าย LIT ENTERTAINMENT ปั้นเด็กใหม่ให้วงการ T-POP แม้เจ้าตัวจะไม่ได้เรียนทางสายดนตรีมา แต่เก็บเกี่ยวจากประสบการณ์การทำงานมาใช้ในการบริการค่ายเพลง และยังได้นำความรู้จากตอนเรียนมาช่วยเรื่องการทำสัญญา เรื่องลิขสิทธิ์เพลง และแนวคิดในการใช้ชีวิตเรื่องของเหตุและผลต่าง ๆ ที่ปรับเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน

จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าองค์ความรู้ที่เราเรียนมาก็ไม่ได้หล่นหายไปไหน เพียงแค่ความรู้ถูกแปลงไปใช้งานตามสถานการณ์ที่เราได้เจอ เช่นเดียวกันกับอีกหนึ่งศิลปินที่เรียนมาคนละสายกับงานที่ทำในปัจจุบัน ได้แก่ ณัฐ ศักดาทร จบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และก้าวเข้ามาสู่วงการบันเทิง ในการเป็นนักร้อง นักแสดง โดยในงานประชุมวิชาการ “นักเศรษฐศาสตร์และผองเพื่อน” ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศีนครินทร์วิโรฒ ณัฐ ศักดาทร ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ตอนที่เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ เป็นสาขาที่คิดว่าน่าจะสามารถไปประยุกต์ใช้กับสิ่งที่ต่าง ๆ ได้ง่ายในชีวิต โดยสิ่งที่เรียนมาแล้วได้ใช้ในชีวิตประจำวันจริง ๆ ทุกวันเลยคือเรื่อง opportunity cost (ต้นทุนค่าเสียโอกาส) การเลือกซื้อของบางอย่าง เราก็จะต้องแลกกับเงินที่จะไม่ได้ซื้อของบางอย่าง เพราะเรามีทรัพยากรที่จำกัด ซึ่งทรัพยากรตรงนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่รวมถึงเรื่องเวลาด้วย คนเรามี 24 ชั่วโมงเท่ากัน อยู่ที่เราเลือกที่จะทำอะไร ถ้าเราเลือกที่จะเล่นโซเชียลมีเดีย เราก็อาจจะเสียโอกาสในการออกกำลังกาย หรือการพัฒนาทักษะอื่น ๆ” ซึ่งก่อนหน้านี้ ในรายการตามสัญญา ทางช่อง PPTV ณัฐ ศักดาทร ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เคยติดโซเชียลมีเดีย ถึงขั้นต้องพบจิตแพทย์มาแล้ว ดังนั้น การนำหลักคิดเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาสมาใช้ บางทีก็ทำให้เราแยกออกว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรที่จะต้องทำมากกว่ากัน

ณัฐ ศักดาทร ยังทิ้งท้ายไว้ในงานประชุมวิชาการว่า “การเรียนเศรษศาสตร์มาทำให้เรามีความคิดแบบนี้ตลอดเวลา ในการคิดเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาส และการเรียนเศรษฐศาสตร์พอเข้ามาทำงานในวงการบันเทิง มันยังอยู่ในกระบวนการคิดทุก ๆ วัน และการทำงานในวงการบันเทิงมันมีอะไรที่สนับสนุนกันอยู่”

แม้วันนี้ หลาย ๆ คนที่เรียนจบไปแล้ว เราอาจจะไม่ได้เรียนมาตรงกับสิ่งที่เราชอบ หรือไม่ได้ทำตามคำตอบของคำถามที่ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” แต่เราสามารถพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งที่เราชอบได้ ฝึกฝน เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เพื่อให้เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก และความรู้ที่เกิดขึ้นที่เราได้สั่งสมมา วันนี้อาจจะยังไม่ได้หยิบมันขึ้นมาใช้งาน แต่ไม่แน่ว่าอนาคตข้างหน้า เราอาจจะได้รื้อฟื้นกล่องความทรงจำความรู้นั้น ๆ มาใช้แบบไม่รู้ตัว ...


ข้อมูลอ้างอิง

สัมภาษณ์ : จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม

https://www.pptvhd36.com/programs/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B9%89/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2/79328#part-1

https://www.sanook.com/campus/1404051/

คอร์รัปชั่น...ไหมครับท่าน ตอนที่ 3

หน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทยถูกบัญญัติไว้ใน มาตรา 234 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นั่นคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนและวินิจฉัย รวมถึงหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนด โดยมีเจตนารมณ์ให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม นอกจากนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 61 มาตรา 62 มาตรา 63 มาตรา 64 มาตรา 65 และมาตรา 66 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 234 วรรคสอง กําหนดไว้ ด้วยหลักการของบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นศูนย์กลางของการรับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนการทุจริตเจ้าพนักงานของรัฐทุกระดับ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2561

ในตอนนี้จะขอกล่าวถึง ปัญหาการรวมศูนย์ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยอ้างอิง เอกสารสถานการณ์การทุจริตประเทศไทย พ.ศ. 2562

ในปีงบประมาณ 2562 คํากล่าวหาร้องเรียนที่เข้ามาสู่สํานักงาน ป.ป.ช. มีจํานวนทั้งสิ้น 10,382 เรื่อง แยกเป็น หนังสือร้องเรียน จํานวน 4,855 เรื่อง (ร้อยละ 46.76) บัตรสนเท่ห์ จํานวน 2,632 เรื่อง (ร้อยละ 25.35) หนังสือราชการ จํานวน 2,143 เรื่อง (ร้อยละ 20.64) ร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ จํานวน 529 เรื่อง (ร้อยละ 5.10) ร้องเรียนด้วยวาจา จํานวน 184 เรื่อง (ร้อยละ 1.77) เหตุอันควรสงสัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จํานวน 30 เรื่อง (ร้อยละ 0.29) และแจ้งเบาะแส จํานวน 9 เรื่อง (ร้อยละ 0.09) ตามลําดับ

ภายใต้ขั้นตอนของการกลั่นกรองและพิจารณา จากคำกล่าวหาทั้งสิ้น 10,382 เรื่อง สํานักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดําเนินการเอง จํานวน 2,889 เรื่อง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการแยกออกเลขเรื่องเพิ่มขึ้น จํานวน 396 เรื่องรวมเป็นคํากล่าวหาที่สํานักงาน ป.ป.ช. ดําเนินการเองจํานวนทั้งสิ้น 3,285 เรื่อง ส่งหน่วยงานภายนอก 3,488 เรื่อง รวมเป็น จํานวน 6,773 เรื่อง

จากคํากล่าวหาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในภาพรวม พบว่า คํากล่าวหาส่วนใหญ่เป็นประเภทปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่น ละเลย เพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามหน้าที่ กระทําการเกินอํานาจหน้าที่โดยทุจริต และอนุมัติ/ไม่อนุมัติใบอนุญาตโดยมิชอบ เป็นต้น จํานวน 2,541 เรื่อง (ร้อยละ 37.52) รองลงมาเป็นประเภทจัดซื้อจัดจ้าง จํานวน 1,674 (ร้อยละ 24.72) และ ประเภทยักยอก/เบียดบังเงินหรือทรัพย์สินของทางราชการ จํานวน 896 เรื่อง (ร้อยละ 13.23) ตามลําดับ

แม้ว่าคํากล่าวหาที่สํานักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดําเนินการเองในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีการแบ่งขนาดไว้เป็นขนาดเล็ก (S) ขนาดกลาง (M) ขนาดใหญ่ (L) และขนาดใหญ่มาก (XL) โดยการแบ่งขนาดคํากล่าวหาพิจารณาจาก

1) ตําแหน่งของผู้ถูกกล่าวหา

2) จํานวนผู้ถูกกล่าวหา และ/หรือประเด็นข้อกล่าวหา

3) งบประมาณโครงการ/มูลค่าความเสียหาย/ผลกระทบต่อระบบ ราชการหรือสังคมส่วนรวม และ

4) ความยุ่งยากในการรวบรวมพยานหลักฐานหรือพยานบุคคล ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่เป็นคํากล่าวหาขนาดกลาง (M) จํานวน 1,463 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 44.54 ของคํากล่าวหาที่สํานักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดําเนินการเองทั้งหมด (จํานวน 3,285 เรื่อง) รองลงมาเป็นขนาดเล็ก (S) จํานวน 1,183 เรื่อง (ร้อยละ 36.01) ขนาดใหญ่ (L) จํานวน 483 เรื่อง (ร้อยละ 14.70) และขนาดใหญ่มาก (XL) จํานวน 156 เรื่อง (ร้อยละ 4.75) ตามลําดับ

หากพิจารณามูลค่าที่เกี่ยวข้องจะพบว่า จากคํากล่าวหาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่สํานักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดําเนินการเองจํานวน 3,285 เรื่อง เมื่อพิจารณาวงเงินงบประมาณของโครงการและจํานวนเงินที่มีการทุจริตตามคํากล่าวหา มีมูลค่ารวม 236,243,838,413 บาท หากจําแนกตามประเภทคํากล่าวหา พบว่า คํากล่าวหาประเภทจัดซื้อจัดจ้าง มีมูลค่ามากที่สุด จํานวน 207,060,914,215 บาท คิดเป็นร้อยละ 87.65 รองลงมาเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จํานวน 23,840,211,033 บาท (ร้อยละ 10.09) และการบริหารงานบุคคล (การบรรจุ/แต่งตั้ง/เลื่อนตําแหน่ง/โยกย้าย/ลงโทษวินัย) จํานวน 2,053,203,519 ล้านบาท (ร้อยละ 0.87) ตามลําดับ

หากวิเคราะห์จากตัวเลขคํากล่าวหาที่สํานักงาน ป.ป.ช. ดําเนินการเองจํานวนทั้งสิ้น 3,285 เรื่องนั้นสํานักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง มีคํากล่าวหา จํานวน 746 เรื่อง หรือกว่าร้อยละ 22 ของคำกล่าวหาที่ สํานักงาน ป.ป.ช. รับดำเนินการเองทั้งหมด ในแง่ประสิทธิภาพพิจารณาจากภาพรวม สำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเฉลี่ยวันละ 10 เรื่อง โดยที่แต่ละเรื่องอาจมีความยากง่าย ในการสวบสวน ไต่สวน รวบรวมข้อมูลพอสมควร และค่าเฉลี่ยวันละ 10 เรื่องนั้น สํานักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลางรับผิดชอบมากกว่า 2 เรื่องต่อวัน ส่วนที่เหลือ สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1-9 รับผิดชอบเฉลี่ยวันละ 1 เรื่องต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค

นี่คือตัวเลขเพียงปีงบประมาณ 2562 ปีเดียว

หากพิจารณาเรื่องคงค้างประกอบจะพบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สํานักงาน ป.ป.ช. มีเรื่องกล่าวหาคงค้างสะสม (ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2561) จํานวน 16,232 เรื่อง เรื่องกล่าวหารับใหม่ (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2561 -30 กันยายน 2562) จํานวน 3,285 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 19,517 เรื่อง ซึ่งได้ดําเนินการเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้นและในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง รวมทั้งสิ้น 5,893 เรื่อง หากคำนวณผลสำเร็จของการดำเนินการขั้นต้นจะพบว่า สํานักงาน ป.ป.ช. ดำเนินได้สำเร็จประมาณร้อยละ 30 เท่านั้น

หากเราหยุดเวลา โดยใช้อัตราความสำเร็จนี้ หมายความว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องใช้เวลาอีกกว่า 2 ปี ในการดำเนินการเรื่องคงค้างทั้งหมดโดยไม่รับเรื่องใหม่เข้ามา หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นกว่าเท่าเพื่อให้การดำเนินการแล้วเสร็จ ซึ่งในกรณีหลังก็ยากที่จะเป็นไปได้

ดังนั้น หากจะกำหนดตัวชี้วัดหน่วยงาน สมควรพิจารณาอัตราการดําเนินการเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้นและในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง เป็นเป้าหมายในการดำเนินงานของ สำนักงาน ป.ป.ช. หรือเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพหรือไม่ คำถามนี้สำคัญมากๆ ซึ่งต้องดูข้อมูลเพิ่มเติม คือ

เรื่องที่ดําเนินการเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้นและในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง รวมทั้งสิ้น 5,893 เรื่อง ถูกแบ่งออกเป็น (1) เรื่องกล่าวหาที่ดําเนินการเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้น จํานวน 5,470 เรื่อง และ (2) เรื่องกล่าวหาที่ดําเนินการเสร็จในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง จํานวน 423 เรื่อง ซึ่งเรื่องในกลุ่มแรกนั้น จาก 5,470 เรื่อง สำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการต่ออีกใน กลุ่ม “รับไว้ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง” จํานวน 726 เรื่อง

ข้อมูลนี้หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า ผลสำเร็จของการดำเนินการขั้นต้นที่คำนวณไว้ประมาณร้อยละ 30 นั้น “นับซ้ำ” และไม่ใช่อัตราผลสำเร็จที่แท้จริง เพราะเรื่อง 726 เรื่องนั้น ยังต้องดำเนินการต่อ ซึ่งความสำเร็จที่แท้จริงคือ 423 เรื่องที่ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเสร็จรวมกับเรื่องที่อยู่ในกลุ่ม 5,470 เรื่องหักด้วย 726 เรื่อง ซึ่งคิดเป็นอัตราความสำเร็จที่แท้จริง ร้อยละ 26.47 เท่านั้น

ตารางที่แนบมาร้อยละเรื่องคงค้างสะท้อนประสิทธิภาพการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่แม้ว่ามีแนวโน้มดีขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 5 ปี แต่ยังไกลจากเป้าหมายการปลอดคอร์รัปชั่น ที่สำคัญที่สุด ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีมาตราที่ไม่ให้ดำเนินการกับกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นตำแหน่งไปแล้ว 5 ปี ซึ่งจะเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่จะทำให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับผิดชอบกับกรรมที่ตนและพวกได้ก่อไว้ แน่นอนว่า โดยถูกกฎหมาย ผู้อ่านสามารถสังเกตหรือตั้งคำถามกับรายการในปีงบประมาณ 2562 ในกรณี ไม่รับ/ไม่ยกขึ้นพิจารณา ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 2,106 เรื่อง หรือกว่าร้อยละ 40 ของเรื่องที่ดำเนินการแล้วเสร็จ

ในท้ายที่สุดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ประสงค์ให้การปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม กำลังได้รับการพิสูจน์โดยแท้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top