Wednesday, 1 May 2024
WeeklyColumnist

ก้าวแรกกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ

ปี 2564 นี้เป็นปีที่ประเทศไทยของเราจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society)” คือมีประชากร “ผู้สูงอายุ” หรือคนที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ประเทศไทยของเรายังขาดความพร้อมอีกหลายด้านในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนี้ เช่น การขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอาชีพ ระบบสาธารณูปโภคที่รองรับผู้สูงวัย รัฐสวัสดิการของผู้สูงอายุ เป็นต้น

ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งที่เราพูดกันมานาน แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ก็คือ เงินที่จะใช้ในการดำรงชีพของผู้สูงวัยที่เกษียณจากการทำงาน ที่มีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุหลายคนจะมีเงินไม่พอใช้ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

หลายครอบครัวจึงส่งเสริมให้ลูกหลานไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการ เพราะแม้ว่าเงินเดือนจะไม่มาก แต่มีความมั่นคงในอาชีพสูง และที่สำคัญ คือ เมื่อเกษียณอายุ รัฐก็เลี้ยงดูโดยการจ่ายเงินบำนาญให้จนกว่าจะลาโลกนี้ไป

ต่างจากการทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชน ที่มีเพียงเงินบำนาญหลังเกษียณจาก “กองทุนประกันสังคม” เพียงไม่กี่พันบาทต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเพียงพอต่อค่าครองชีพในอนาคตแน่นอน

ถ้าบริษัทไหนที่มีสวัสดิการดีหน่อย นายจ้างก็อาจจะมีการจัดตั้ง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ทำให้ลูกจ้างมีโอกาสได้รับเงินก้อนหลังจากเกษียณมาจำนวนหนึ่งด้วย

โดยเจ้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้เกิดจากการหักเงินเดือนของลูกจ้างส่วนหนึ่งมาจ่ายสะสมเข้าไปในกองทุน และนายจ้างก็จะจ่ายเงินสมทบให้กับลูกจ้างในทุกเดือน ๆ ด้วย หลังจากนั้นผู้จัดการกองทุนก็จะนำเงินเหล่านั้นไปลงทุนเพื่อให้เงินในกองทุนนั้นงอกเงยขึ้นมา และเมื่อถึงวันที่ลูกจ้างเกษียณ ก็จะได้รับเงินคืนทั้งส่วนที่หักจากเงินเดือนของเรา ทั้งในส่วนของเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบให้ และในส่วนของดอกผลที่ได้รับมาจากการลงทุนด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกบริษัทจะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะกฎหมายปัจจุบัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคสมัครใจ คือ นายจ้างรายใดสมัครใจตั้ง ก็ตั้งได้ รายใดไม่อยากตั้ง ก็ไม่ต้องตั้ง ดังนั้น ไม่ใช่ลูกจ้างทุกรายในภาคเอกชนที่จะได้รับเงินบำเหน็จหลังเกษียณจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังมีลูกจ้างในภาคเอกชนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับสวัสดิการแบบนี้

ทำให้มีเสียงเรียกร้องและพูดคุยกันมาหลายปีแล้วถึง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ” โดยหวังว่าลูกจ้างในภาคเอกชนทุกรายจะมีเงินใช้อย่างเพียงพอภายหลังการเกษียณ ไม่ว่าจะเลือกรับไปในรูปแบบของเงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญ

ล่าสุดคณะรัฐมนตรีก็ได้มติเห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) แล้ว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมานี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับทันที เพราะยังต้องผ่านกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรอีกยาวไกล กว่าจะประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายได้

แต่อย่างน้อย ก็ถือว่าเราได้เริ่มต้นนับหนึ่งแบบเป็นทางการแล้วสำหรับ “กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ”

ทั้งนี้ ร่างกฎหมาย กบช. นี้มีหลักการสำคัญที่จะนำไปใช้ในการพิจารณาร่างเป็นกฎหมายต่อไป ดังนี้

1.) กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาตินี้ จะถือเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ โดยลูกจ้างในภาคเอกชนทุกรายที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี และนายจ้างไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ จะถูกบังคับให้เข้ามาเป็นสมาชิกของ กบช. ทุกราย แต่ถ้านายจ้างที่ใดมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ลูกจ้างก็จะเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงของนายจ้างได้ต่อไปตามปกติ

2.) ลูกจ้างที่เข้ามาเป็นสมาชิก กบช. แล้ว จะถูกหักเงินจากเงินเดือนส่งเข้ากองทุนในอัตราดังนี้

- ทำงานปีที่ 1 – 3 จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 3% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 3% = 600 บาท ส่งเข้ากองทุน

- ทำงานปีที่ 4 – 6 จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 5% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 5% = 1,000 บาท ส่งเข้ากองทุน

 - ทำงานปีที่ 7 - 9 จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 7% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 7% = 1,400 บาท ส่งเข้ากองทุน

- ทำงานปีที่ 10 เป็นต้นไป จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 10% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 10% = 2,000 บาท ส่งเข้ากองทุน

3.) เมื่อลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนแล้ว ฝ่ายนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนด้วยเช่นกัน เช่น เราเป็นลูกจ้าง ถูกหักเงินเดือน 600 บาทเข้ากองทุนนี้ นายจ้างที่จ่ายเงินเดือนให้เราก็จะถูกบังคับให้จ่ายเงิน 600 บาทไปออมเพิ่มให้เราด้วย หมายความว่าเราโดนหักเงินแค่ 600 บาท แต่เราได้เงินออมในกองทุนถึง 1,200 บาทเลยทีเดียว

4.) อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท จะได้รับการยกเว้น โดยเข้าเป็นสมาชิก กบช. แต่ไม่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนแต่อย่างใด แต่ฝ่ายนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนนี้แทน เช่น เราเริ่มทำงานปีแรกได้เงินเดือน 8,000 บาท ความจริงควรจะถูกหัก 3% เข้ากองทุน แต่กฎหมายฉบับนี้ยกเว้นให้ แต่ในส่วนของนายจ้างไม่ได้รับการยกเว้น ก็ยังคงต้องจ่ายเงินสมทบ 8,000 x 3% = 240 บาท เข้าไปเป็นเงินออมให้เรา

5.) เงินค่าจ้างที่จะถูกนำมาคำนวณเพื่อหักเข้ากองทุนสูงสุดนั้นจะอยู่ที่อัตรา 60,000 บาท เช่น ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 20 ปี มีเงินเดือน 100,000 บาท โดยหลักแล้วจะต้องถูกหักเงิน 10% เข้ากองทุน เพราะอายุงานเกินกว่า 10 ปี แต่ในการนำเงินส่งเข้ากองทุน ลูกจ้างรายนี้จะถูกหักเงินเพื่อนำส่งเข้ากองทุนเพียง 60,000 x 10% = 6,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น

6.) เงินสะสมของลูกจ้าง และเงินสมทบของนายจ้างที่ถูกส่งเข้าไปในกองทุนนี้ กบช. จะนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวให้กับลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างอายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับเงินคืน โดยสามารถเลือกได้ 2 รูปแบบ คือ รับเป็นเงินบำเหน็จก้อนเดียว หรือ รับเป็นเงินบำนาญรายเดือนไป 20 ปี

จะเห็นได้ว่า กบช. นี้จะเป็นการบังคับลูกจ้างในภาคเอกชนให้ออมเงินเพื่อการเกษียณ และเมื่อเกษียณแล้วลูกจ้างก็จะสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จ หรือ บำนาญก็ได้ โดยรัฐบาลหวังว่าเงินออมเหล่านี้จะช่วยให้ลูกจ้างมีเงินเพื่อการดำรงชีพต่อไปได้ภายหลังการเกษียณ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากครับ

แม้ว่าหลักการของกฎหมายฉบับนี้จะออกมาดูดีมีประโยชน์ แต่ยังมีเรื่องที่รัฐบาลจะต้องไปทำการบ้านต่ออีกมาก เพราะ ปัจจุบันบ้านเรามีกองทุนเพื่อการออมหรือเพื่อการเกษียณจำนวนมาก เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนเงินออมแห่งชาติ (กบช.) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งบางกองทุนเป็นแบบสมัครใจ บางกองทุนก็เป็นแบบบังคับ ทำให้มีความซ้ำซ้อนอยู่มาก

ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างที่ทำงานในบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว เมื่อลาออกแล้วย้ายไปทำงานบริษัทใหม่ ปรากฏว่าบริษัทนั้นไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างรายนั้นก็จะถูกบังคับให้เข้าไปเป็นสมาชิก กบช. แล้วแบบนี้จะมีการโอนย้ายเงินและนับอายุกันต่อไปอย่างไร

หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างสามารถขอรับคืนทั้งก้อนได้ตอนสิ้นสุดสัญญาจ้าง แต่กองทุน กบช. ลูกจ้างจะมีสิทธิได้เงินตอนอายุ 60 ปีเท่านั้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในทางปฏิบัติของสมาชิกกองทุนทั้งสอง รัฐบาลก็จะต้องออกกฎหมายมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วย

รวมทั้งระบบข้อมูลสมาชิกกองทุนต่าง ๆ ที่จะต้องบูรณาการเข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการออมข้ามไปมาระหว่างกองทุน

ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้รัฐบาลและภาคเอกชนจะต้องร่วมกันศึกษาและเตรียมการกันอีกปีสองปีกว่าจะออกมาใช้บังคับได้จริง แต่ถึงอย่างไร การที่ร่างกฎหมาย กบช. นี้ผ่าน ครม. ออกมาได้แล้ว ก็ถือเราได้ออกเดินก้าวแรกแล้ว แต่ไม่ว่าหนทางจะยาวไกลสักเพียงใดถึงจะถึงจุดหมาย มันก็ต้องเริ่มต้นที่ก้าวแรกเสมอ ดังสุภาษิตจีนที่ว่า “หนทางหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก”

คิดถึง “Dilwara” วัดเชนที่งดงามและทรงคุณค่าที่สุดในปฐพี

เพราะเจ้าโควิดนี่เองที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศกันได้เกินกว่า 1 ปีแล้ว ทั้ง ๆ ที่ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่ก่อนเกษียณอายุราชการว่า หลังเกษียณจะทำสามสิ่งคือ “นอนตื่นสาย บ่ายเดินห้าง ว่าง ๆ ไปต่างประเทศ” แต่เอาเข้าจริงก็ทำไม่ได้เลยสักอย่าง ส่วนหนึ่งก็เพราะเจ้าโควิดนี่เอง โดยในสามสิ่งที่อยากทำและเสียดายมากที่สุดก็คือการเดินทางท่องเที่ยวไปในต่างประเทศที่เล็งไว้หลายที่

มีเพื่อนฝูงถามไถ่มาหลายคนว่าถ้าหมดโควิด (ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะอีกนานแค่ไหน) จะไปเที่ยวประเทศไหนเป็นประเทศแรก ผมก็ตอบได้ทันทีแบบไม่ต้องคิดเลยว่า “อินเดีย” เพราะเคยประจำการอยู่ที่เมืองมุมไบหลายปีและได้หลงเสน่ห์อินเดียแบบถอนตัวไม่ขึ้นไปแล้ว โดยสถานที่แรกในอินเดียที่ผมจะต้องไปให้ได้และคิดถึงอยู่ตลอดก็คือ Dilwara วัดเชนที่แสนจะงดงามบนภูเขาที่ชื่อว่า Mount Abu ในรัฐราชสถานนั่นเอง

แต่ก่อนที่ผมจะพาทุกท่านไปพบกับความงดงามของ Dilwara ผมขออนุญาตเกริ่นนำให้รู้จักกับ “ศาสนาเชน” (ที่อินเดียจะออกเสียงเป็น “เจน”) ซึ่งเป็นที่มาของ “วัดเชน” เสียก่อนด้วยข้อมูลเบื้องต้นจาก Wikipedia โดยศาสนาเชน (Jainism) มาจากคำว่า “ไชนะ” หรือ “ชินะ” ในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่า “ผู้ชนะ” และสามารถลุยข้ามสายน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ เป็นศาสนาเก่าแก่ของอินเดีย เป็นหนึ่งในลัทธิสำคัญทั้งหกที่เกิดร่วมสมัยกับพระโคตมพุทธเจ้าหรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน โดยในศาสนาเชนเชื่อว่ามีศาสดาที่เรียกว่า “ตีรถังกร” อยู่ด้วยกัน 24 องค์ในจักรวาลปัจจุบัน องค์แรกคือ พระอาทินาถ และองค์สุดท้ายก็คือ พระมหาวีระหรือพระมหาวีร์ โดยตีรถังกรคือบุคคลผู้บรรลุเกวลญานหรือเป็นสัพพัญญู และเผยแผ่ธรรมะนั้น โดยในบรรดาตีรถังกรทั้ง 24 องค์นั้น ที่ได้รับการเคารพบูชาสูงสุดมีอยู่สี่องค์คือ พระอาทินาถ พระเนมินาถ พระปารศนาถ และพระมหาวีระหรือมหาวีร์ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายมีชีวิตอยู่ราว 500 ปีก่อนคริสตกาล

โดยศาสนิกชนในศาสนาเชนที่เคร่งจะถือปฏิญญา 5 ประการ คือ อหิงสา (ความไม่รุนแรง) สัตยะ (ความจริง) อสตียะ (ไม่ลักขโมย) พรหมจรรย์ (การถือพรหมจรรย์) และอปริเคราะห์ (ความไม่ยึดติด) ซึ่งหลักการเหล่านี้นำไปสู่วัฒนธรรมเชนที่มีลักษณะเฉพาะหลายประการโดยเฉพาะการรับประทานอาหารมังสวิรัติที่เข้มงวดมากเพื่อป้องกันการทำลายสัตว์ต่าง ๆ และรบกวนวงจรชีวิตของมัน เพราะฉะนั้นศาสนิกชนในศาสนาเชนจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ไข่ และส่วนของพืชที่มาจากใต้ดินเนื่องจากการขุดดินลงไปอาจไปทำลายสัตว์เล็ก ๆ รวมทั้งแมลงหรือไข่ของแมลงที่อยู่ใต้ดินได้ โดยศาสนาเชนมีคติพจน์ว่า “ปรัสปโรปัครโห ชีวานาม” อันแปลว่า “หน้าที่ของสิ่งมีชีวิตหนึ่งคือการช่วยเหลือกัน” เพราะฉะนั้นนักบวชในศาสนาเชนจึงไม่สามารถนั่งยานพาหนะใด ๆ ได้เพราะการเดินทางโดยยานพาหนะอาจจะไปทำลายสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ระหว่างการเดินทางโดยไม่ตั้งใจ ก็เลยทำให้การเผยแพร่ศาสนาเชนเป็นไปได้ยาก

ทั้งนี้ ศาสนาเชนหลัก ๆ แล้วจะแบ่งออกเป็นสองนิกาย ได้แก่ นิกายทิฆัมพร (นักบวชจะนุ่งลมห่มฟ้าเป็นชีเปลือย) กับนิกายเศวตัมพร (นักบวชจะนุ่งห่มด้วยผ้าสีขาว) และยังมีสาขาย่อยแตกออกไปอีกมากมาย ในปัจจุบันศาสนาเชนมีศาสนิกชนทั่วโลกแค่ประมาณ 4 - 5 ล้านคน โดยส่วนมากอยู่ในประเทศอินเดียแต่ก็มีสัดส่วนอยู่แค่เพียง 0.4% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของอินเดียเท่านั้น นอกจากนี้ ส่วนน้อยนอกอินเดียก็จะอยู่ที่แคนาดา ยุโรป เคนยา สหราชอาณาจักร ฮ่องกง ฟิจิ และสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนศาสนิกชนในศาสนาเชนจะมีจำนวนน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนรวยมีฐานะทางเศรษฐกิจดีเนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรได้ เพราะการขุดดินหรือการไถพรวนดินจะทำให้สิ่งมีชีวิตในดินถูกทำลายลงซึ่งขัดกับคำสอนของศาสนา เพราะฉะนั้น ศาสนิกชนในศาสนาเชนส่วนใหญ่จึงเป็นนักการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพ่อค้าเพชรซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรัฐคุชราตและในเมืองมุมไบในรัฐมหาราษฎร์ของอินเดีย และนั่นก็คือสาเหตุสำคัญที่วัดเชนทุกวัดจะถูกสร้างขึ้นมาอย่างสวยงามเพราะมีสปอนเซอร์ดีนั่นเอง

สำหรับ Dilwara Temples เป็นหมู่ศาสนสถานของศาสนาเชนที่ถูกสร้างขึ้นมาอยู่ในบริเวณเดียวกันจำนวน 5 วัดหรือ 5 มณเฑียร บางครั้งก็เขียนเป็น Delwara ตามการออกเสียง ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่า Mount Abu บนระดับความสูงประมาณ 1,219 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ในรัฐราชสถาน โดยหมู่มณเฑียรทั้งห้านี้ตั้งอยู่รวมกันภายในกำแพงสูงหนึ่งเดียวท่ามกลางขุนเขาที่ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ แต่ละแห่งมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของตน โดยชื่อ Dilwara ก็มาจากชื่อของหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่หมู่มณเทียรนี้ตั้งอยู่ ซึ่งหมู่มณเทียรทั้งห้าแห่งนั้นประกอบด้วย

- วัดพระศรีอาทินาถหรือวัดวิมลวาซาฮี (Vimal Vasahi) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรหรือพระศาสดาองค์แรกหรือพระศรีอาทินาถ

- วัดพระศรีเนมินาถหรือวัดลูนาวาซาฮี (Luna Vasahi) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 22 ซึ่งก็คือ พระศรีเนมินาถ

- วัดปิตตัลหาร์ (Pittalhar) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์แรก พระศรีอาทินาถ

- วัดพระศรีปรศวนาถ (Parshvanath) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 23 หรือพระศรีปารศนาถ

- วัดพระศรีมหาวีระสวามี (Mahavir Swami) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 24 ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายคือ พระศรีมหาวีระหรือพระศรีมหาวีร์

แต่ว่าทั้ง 5 มณเฑียรของ Dilwara ปรากฏว่ามีเพียง 2 มณเฑียรเท่านั้นที่เสร็จสมบูรณ์ คือ วัดวิมลวาซาฮีกับวัดลูนาวาซาฮี ส่วนที่เหลืออีก 3 มณเฑียรสร้างไม่เสร็จ แต่แค่ 2 มณเฑียรที่สร้างเสร็จก็งดงามวิจิตรพิศดารด้วยงานแกะสลักหินอ่อนที่ละเอียดอ่อนช้อยและตระการตา ยากจะหาที่อื่นใดในโลกนี้มาเทียบได้ โดยทั้ง 5 มณเฑียรล้วนแต่สร้างขึ้นมาด้วยหินอ่อนทั้งสิ้น และเป็นหินอ่อนชั้นเยี่ยมที่มาจากเมืองมกรานา (Makrana) ในรัฐราชาสถาน แหล่งเดียวกับหินอ่อนที่ใช้ในการสร้างทัชมาฮาล ซึ่งถือเป็นแหล่งหินอ่อนคุณภาพสูงที่มีชื่อเสียงที่สุดของอินเดียโดยใช้ช้างในการขนส่งขึ้นภูเขามาสร้าง Dilwara แห่งนี้

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า Dilwara เป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามที่สุดเหนือกว่าสิ่งก่อสร้างไหน ๆ ในอินเดีย ครั้งแรกที่เดินทางไปถึงด้านหน้าของวัด Dilwara ก็รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมากเพราะดูแล้วไม่มีอะไรจนแอบหวั่นใจว่าจะโดนหลอก เพราะมองไปก็เห็นเหมือนสิ่งก่อสร้างทั่วไปที่สร้างด้วยปูนซีเมนต์ แต่พอเดินเข้าไปในวัดเท่านั้นแหละ ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับงานแกะสลักหินอ่อนที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนและหลงรัก Dilwara มาตั้งแต่บัดนั้น และทุกครั้งที่มีเวลาว่างก็จะเดินทางไปเยือนสถานที่แห่งนี้เสมอ นับถึงปัจจุบันก็มากกว่า 10 ครั้งแล้วและก็จะยังกลับไปเยือนอีกถ้ามีโอกาส

สำหรับมณเฑียรที่โดดเด่นและสร้างเสร็จสมบูรณ์มีอยู่ 2 มณเฑียรคือ วัดพระศรีอาทินาถหรือวัดวิมลวาซาฮี (Shri Adinath Temple หรือ Vimal Vasahi Temple) กับวัดพระศรีเนมินาถหรือลูนาวาซาฮี (Shri Neminath Temple หรือ Luna Vasahi) โดยเราจะใช้เวลาเกือบทั้งหมดในการชมสองมณเฑียรนี้ ซึ่งตามปกติจะเปิดให้เข้าชมได้ทุกวันระหว่างเวลา 12.00 - 18.00 น. โดยไม่ต้องเสียค่าเข้าชม สาเหตุที่เปิดให้เข้าชมเฉพาะช่วงบ่ายก็เพราะว่าในช่วงเช้าศาสนิกชนที่นับถือศาสนาเชนจะเข้าไปสวดมนต์ตามปกติ ทางวัดก็เลยไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมได้

ในส่วนของวัดพระศรีอาทินาถหรือวัดวิมลวาซาฮี สร้างขึ้นโดยวิมล ชาห์ (Vimal Shah) รัฐมนตรีและผู้บัญชาการกองทัพบกของ Bima Dev I เจ้าผู้ครองแห่งราชวงศ์โซลังกี ออกแบบโดย วัสตุปาล (Vastupala) สร้างขึ้นในปี 1032 และมีชื่อเสียงด้วยงานหินอ่อนและงานแกะะสลักหินอ่อนอันประณีต ที่นี่เป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญหนึ่งของศาสนาเชน และได้รับการเชิดชูว่าเป็นวัดเชนหรือมณเทียรที่ออกแบบมาได้สวยงามที่สุด โดยมีทางเข้าที่หรูหรา ส่วนตัวอาคารนั้นสร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย อันสะท้อนถึงคุณค่าของศาสนาเชนในความซื่อสัตย์และความประหยัด รายละเอียดของการแกะสลักตกแต่งไชนมนเทียรเหล่านี้มีความตระการตามาก เชื่อกันว่าช่างแกะสลักที่นี่ได้รับค่าว่าจ้างเป็นทองเท่ากับน้ำหนักของผงหินอ่อนที่เขาแกะสลัก วัดนี้เป็นวัดเชนที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาวัดเชนทั้ง 5 วัดใน Dilwara มีอายุประมาณ 1,000 ปี ภายในวัดประกอบไปด้วยโดมหลายโดมที่มีการแกะสลักเป็นรูปเทพที่สวยงามสมส่วนทั้งองค์เล็กองค์น้อยจำนวนมาก และทั้งวัดล้อมรอบด้วยพระระเบียงที่มีการแกะสลักหินอ่อนที่เสาและเพดานที่มีการแบ่งพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสจำนวนมากล้อมรอบวัด

อีกวัดหนึ่งคือ วัดพระศรีเนมินาถหรือวัดลูนาวาซาฮี (Luna Vasahi) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 22 ซึ่งก็คือ พระศรีเนมินาถ วัดอันงดงามแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 1230 โดยพี่น้อง Porwad สองคนคือ Vastupal และ Tejpal รัฐมนตรีทั้งสองของ Virdhaval ผู้ปกครอง Vaghela ของแคว้นคุชราต เพื่อรำลึกถึง Lunig พี่ชายผู้ล่วงลับไปแล้ว วิหารมีโครงสร้างคล้ายกับวัดวิมาลวาซาฮี แต่ความมีชีวิตชีวาของการแกะสลักภายในนั้นยิ่งใหญ่กว่า ห้องโถงใหญ่มีโดมตรงกลางซึ่งมีการแกะสลักอย่างประณีต มีรูปสลักของติรถังกรจำนวน 72 รูปอยู่ในท่านั่งและด้านล่างของวงนี้คือรูปสลักพระเชนขนาดเล็ก 360 รูปในอีกวงหนึ่งล้อมรอบรูปสลักของติรถังกร แต่จุดเด่นของวัดนี้จะอยู่ที่รูปแกะสลักซึ่งส่วนใหญ่จะแกะเป็นช่อดอกไม้ห้อยย้อยมาจากเพดานจำนวนมาก ดูเหมือนโคมไฟแชนเดอเลียร์ที่สวยงาม แต่เป็นฝีมือการแกะสลักหินอ่อนที่ละเอียดงดงามยากที่งานแกะสลักหินอ่อนที่ใดในโลกจะสามารถเทียบได้

ยิ่งเขียนยิ่งคิดถึง Dilwara ตอนนี้ก็แค่รอว่าโควิดหมดไปเมื่อไหร่ Dilwara จะเป็นสถานที่แห่งแรกในต่างประเทศที่ผมจะรีบเดินทางไปเยือนทันที

เรื่องราวความเป็นมาของคลองสุเอซ (Suez Canal) ซึ่งมีเรือบรรทุกสินค้าใช้เส้นทางถึง 15% ของการขนส่งทางน้ำทั่วโลก

ข่าวของเรือ Ever Given เรือบรรทุกสินค้าขนาดยักษ์ของบริษัท Shoei Kisen Kaisha ญี่ปุ่น โดยมี Evergreen Marine บริษัทเรือสินค้าระดับโลกของไต้หวัน และเป็นเจ้าของสายการบิน EVA ด้วยเช่าใช้ ตัวเรือมีความยาวประมาณ 400 เมตร และมีระวางขับน้ำกว่า 200,000 ตัน ประสบเหตุเกยตื้นชายฝั่งคลองสุเอซ โดยเรือเกยตื้นเป็นแนวเอียงขวางสองฝั่งคลองจนกลายเป็นการปิดการจราจรของคลองสุเอซไปโดยปริยาย ขณะเดียวกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาว่าจะสามารถเคลื่อนย้ายเรือได้ว่าเมื่อใดยิ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับทุกฝ่าย ด้วยอาจเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมให้กับเส้นทางการเดินเรือสินค้าทั่วโลก โดยในส่วนของการจราจรทางเรือที่ผ่านคลองสุเอซนั้น มีอัตราความหนาแน่นคิดเป็น 12% ของการเดินเรือสินค้าทั่วโลก (วันละเฉลี่ย 51.5 ลำ เฉลี่ยระวางบรรทุกถึง 300 ล้านตันต่อปี) โดยคลองสุเอซเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรป (ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มหาสมุทรแอตแลนติก) กับทวีปเอเชีย (ทะเลแดง มหาสมุทรอินเดีย)

คลองสุเอซเป็นเส้นทางน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับมหาสมุทรอินเดียผ่านทะเลแดง ช่วยให้สามารถเดินเรือระหว่างยุโรปและเอเชียได้โดยตรงมากขึ้น ทำให้การเดินทางจากมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือไปยังมหาสมุทรอินเดียได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องวนรอบทวีปแอฟริกาอ้อมแหลม Good Hope (ซึ่งต้องใช้ระยะทางเพิ่มขึ้นอีก 6,500 กิโลเมตร และเวลาเพิ่มขึ้นอีกราว 9 วัน) จึงเป็นเส้นทางน้ำที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ และด้วยเหตุนี้จึงเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งนับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2412 คลองสุเอซทอดยาว 120 ไมล์จาก Port Said บนทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในอียิปต์ทางใต้ไปยังเมืองสุเอซ (ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตอนเหนือของอ่าวสุเอซ) ของอียิปต์เช่นกัน ใช้เวลาสร้าง 10 ปีและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2412

แนวคิดในการก่อสร้างคลองสุเอซเกิดจากความสนใจในเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ คลองเล็ก ๆ หลายสายที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำไนล์ (และขยายต่อไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) ไปยังทะเลแดงถูกนำมาใช้ตั้งแต่ช่วง 2000 ปีก่อนคริสตกาล อย่างไรก็ตามการเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดงถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อันเนื่องจากข้อกังวลที่ว่า ระดับความสูงของน้ำทะเลที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงเชื่อมด้วยเส้นทางบกหลายสายโดยใช้รถม้า และต่อมามีการใช้รถไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่จักรวรรดิอังกฤษซึ่งทำการค้ากับอาณานิคมของตนทั้งอินเดียและปากีสถานในปัจจุบัน

Linant de Bellefonds นักสำรวจและวิศวกรชาวฝรั่งเศสซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของอียิปต์ได้เสนอแนวคิดเรื่องคลองขนาดใหญ่ที่เป็นเส้นทางตรงระหว่างทะเลทั้งสองแห่งนี้ และได้รับการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1830 โดย Bellefonds ทำการสำรวจคอคอดของสุเอซ และยืนยันว่า ระดับน้ำทะเลของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดงนั้นตรงกันข้ามกับความเชื่อเพราะมีระดับความสูงเท่ากัน ซึ่งหมายความว่า สามารถสร้างคลองที่ไม่มีประตูได้ จึงทำให้การก่อสร้างง่ายขึ้นเป็นอย่างมาก

ในช่วงทศวรรษที่ 1850 เมื่อมองเห็นโอกาสของอียิปต์และจักรวรรดิออตโตมันซึ่งปกครองประเทศในเวลานั้น Khedive Said Pasha (ข้าหลวงของจักรวรรดิออตโตมานผู้ดูแลอียิปต์และซูดาน) ได้อนุญาตให้ Ferdinand de Lesseps นักการทูตฝรั่งเศสได้รับอนุญาตให้ตั้งบริษัทเพื่อขุดคลอง ในที่สุดบริษัทดังกล่าวก็กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ Suez Canal Company และได้รับสัญญาเช่า 99 ปีสำหรับเส้นทางน้ำ และพื้นที่บริเวณโดยรอบ การดำเนินการครั้งแรกของ Lesseps คือการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสากล (Commission Internationale) เพื่อการรับรู้ de l’isthme des Suez หรือ International Commission for the Piercing of the Isthmus of Suez คณะกรรมาธิการดังกล่าวประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ 13 คนจาก 7 ประเทศ ซึ่งรวมถึง Alois Negrelli ซึ่งเป็นวิศวกรโยธาชั้นของโลกนำในขณะนั้น รายงานขั้นสุดท้ายของคณะกรรมาธิการเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2399 สองปีต่อมา บริษัท คลองสุเอซจึงได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ภายหลังจากการศึกษาผลงานของ Bellefonds และการสำรวจพื้นที่ดั้งเดิมของ Bellefonds แล้ว Negrelli จึงทำการขุดคลองสุเอซอย่างมีประสิทธิภาพ และมีบทบาทนำในการพัฒนาแผนสถาปัตยกรรมตามแนวคิดของ Bellefonds สำหรับคลองสุเอซ

การขุดคลองสุเอซเริ่มขึ้นที่ปลายสุดของคลอง Port Said ทางตอนเหนือสุดในช่วงต้นปี พ.ศ. 2402 การขุดใช้เวลา 10 ปี และมีคนประมาณ 1.5 ล้านคนร่วมทำงานในโครงการนี้ น่าเสียดายที่การคัดค้านของนักลงทุนชาวอังกฤษฝรั่งเศสและอเมริกันคัดค้านแรงงานทาสไม่เป็นผล และเชื่อกันว่า มีแรงงานหลายหมื่นคนเสียชีวิตขณะทำงานจากอหิวาตกโรคและสาเหตุอื่น ๆ ความวุ่นวายทางการเมืองในภูมิภาคส่งผลเสียต่อการสร้างคลอง อียิปต์ถูกปกครองโดยอังกฤษในเวลาต่อมา และฝรั่งเศสในเวลานั้นมีการก่อการกบฏหลายครั้งเพื่อต่อต้านการปกครองอาณานิคม สิ่งนี้ประกอบกับข้อจำกัดของเทคโนโลยีการก่อสร้างในยุคนั้นทำให้ต้นทุนทั้งหมดในการขุดคลองสุเอซเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าประมาณการเดิมถึงสองเท่า

ภาพวาด Ismail Pasha, Khedive แห่งอียิปต์และซูดานทำพิธีเปิดคลองสุเอซอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2412 โดยเรือลำแรกที่เดินเรือผ่านคลองอย่างเป็นทางการคือเรือยอทช์ของจักรพรรดินี Eugenie แห่งฝรั่งเศส เรือ L’Aigle ตามด้วยเรือ Delta ซึ่งเป็นเรือเดินสมุทรของอังกฤษ และ HMS Newport ซึ่งเป็นเรือรบของกองทัพเรืออังกฤษเป็นเรือลำแรกที่เข้าสู่ร่องน้ำโดยกัปตันได้นำเรือภายใต้ความมืดในคืนก่อนพิธีเปิด กัปตัน George Nares ถูกตำหนิอย่างเป็นทางการสำหรับการกระทำดังกล่าว แต่ยังได้รับการยกย่องอย่างลับ ๆ จากรัฐบาลอังกฤษสำหรับความพยายามของเขาในการส่งเสริมผลประโยชน์และเกียรติภูมิของชาติในภูมิภาคนี้ และเรือ S.S. Dido เป็นเรือลำแรกที่ผ่านคลองสุเอซจากใต้สู่เหนือ

Ismail Pasha, Khedive ข้าหลวงจักรวรรดิออตโตมันแห่งอียิปต์และซูดานได้ทำพิธีเปิดคลองสุเอซอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2412 โดยเรือลำแรกที่เดินเรือผ่านคลองอย่างเป็นทางการคือ เรือยอทช์ของจักรพรรดินี Eugenie แห่งฝรั่งเศส เรือ L’Aigle ตามด้วยเรือ Delta ซึ่งเป็นเรือเดินสมุทรของอังกฤษ แต่อันที่จริงแล้ว HMS Newport ซึ่งเป็นเรือรบของกองทัพเรืออังกฤษเป็นเรือลำแรกที่เข้าสู่ร่องน้ำของคลองสุเอซโดยกัปตัน George Nares ได้นำเรือผ่านคลองสุเอซภายใต้ความมืดในคืนก่อนพิธีเปิด กัปตัน George Nares ถูกตำหนิอย่างเป็นทางการสำหรับการกระทำดังกล่าว แต่ยังได้รับการยกย่องอย่างลับ ๆ จากรัฐบาลอังกฤษสำหรับความพยายามของเขาเพื่อเป็นการส่งเสริมผลประโยชน์และเกียรติภูมิของชาติในภูมิภาคนี้ และเรือ S.S. Dido เป็นเรือลำแรกที่ผ่านคลองสุเอซจากแนวทิศใต้สู่ทิศเหนือ

ในตอนแรกมีเพียงเรือกลไฟเท่านั้นที่สามารถแล่นผ่านคลองได้ เนื่องจากเรือเดินทะเลที่ใช้ใบยังคงมีปัญหาการเดินเรือในช่องทางแคบด้วยกระแสลมที่ไม่เสถียรของภูมิภาค แม้ว่าการจราจรจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วง 2 ปีแรกของการขุดคลองอันเนื่องมาจากผลกระทบอย่างมากจากปัญหาเศรษฐกิจการค้าของโลก แต่คลองสุเอซก็มีบทบาทสำคัญในการล่าอาณานิคมของแอฟริกาโดยมหาอำนาจของยุโรป ถึงกระนั้นก็ตามบริษัทเจ้าของคลองสุเอซก็ประสบปัญหาทางการเงิน Ismail Pasha และคนอื่น ๆ ถูกบังคับให้ขายหุ้นของตนให้จักรวรรดิอังกฤษในปี พ.ศ. 2418 อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเจ้าของสัญญาเช่าคลอง 99 ปี

ภาพถ่ายทางอากาศของคลองสุเอซในปี พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934) โดย Walter Mittelholzer นักบินและช่างภาพชาวสวิส

คลองสุเอซในช่วงสงคราม ในปี พ ศ. 2431 อนุสัญญากรุงคอนสแตนติโนเปิลได้กำหนดให้คลองสุเอซดำเนินการโดยถือเป็นเขตที่เป็นกลางภายใต้การคุ้มครองของอังกฤษ ซึ่งในตอนนั้นถือว่ามีการควบคุมพื้นที่โดยรอบรวมทั้งอียิปต์และซูดาน อังกฤษได้ปกป้องคลองจากการโจมตีของจักรวรรดิออตโตมันในปี พ.ศ. 2458 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สนธิสัญญาแองโกล - อียิปต์ปี พ.ศ. 2479 ยืนยันอีกครั้งว่า อังกฤษสามารถควบคุมเส้นทางน้ำที่สำคัญนี้ ซึ่งมีความสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อฝ่ายอักษะโดยอิตาลีและเยอรมันพยายามยึดครอง แม้จะคลองสุเอซจะมีสถานะเป็นกลางก็ตาม แต่เรือของฝ่ายอักษะก็ถูกห้ามไม่ให้แล่นผ่านคลองสุเอซในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2494 อียิปต์ได้ถอนตัวจากสนธิสัญญาแองโกล - อียิปต์ หลังจากการเจรจาหลายปีอังกฤษได้ถอนทหารออกจากคลองสุเอซในปี พ.ศ. 2499 และส่งมอบการควบคุมให้กับรัฐบาลอียิปต์เพื่อให้มีประสิทธิภาพภายใต้การนำของประธานาธิบดี Gamal Abdel Nasser โดยประธานาธิบดี Nasser ได้จัดการควบคุมการดำเนินงานของคลองสุเอซอย่างรวดเร็ว และได้โอนความเป็นเจ้าของให้กับ Suez Canal Authority (SCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของอียิปต์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2499 ทั้งสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาต่างโกรธเคืองในความเคลื่อนไหวนี้เช่นเดียวกับความพยายามของรัฐบาลอียิปต์ในการสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตในเวลานั้น ในขั้นต้นทั้งสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาถอนสัญญาการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการปรับปรุงตามแผนในพื้นที่สุเอซรวมถึงการก่อสร้างเขื่อนอัสวาน

อย่างไรก็ตามทั้งสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจอื่น ๆ ในยุโรปต่างก็โกรธแค้นมากด้วยการตัดสินใจของรัฐบาล Nasser ที่จะปิดช่องแคบ Tiran ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำที่เชื่อมระหว่างอิสราเอลกับทะเลแดง โดยห้ามเรืออิสราเอลทั้งหมด และเพื่อเป็นการตอบโต้ ตุลาคม พ.ศ. 2499 กองกำลังจากอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอล ได้ขู่ว่าจะบุกอียิปต์ซึ่งนำไปสู่วิกฤตสุเอซ ต่อมา Lester B. Pearson รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดาได้เสนอให้สหประชาชาติให้จัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพขึ้น ซึ่งถือเป็นกองกำลังรักษาความสงบแห่งแรกเพื่อทำการปกป้องคลองสุเอซ และเพื่อเป็นการรับรองการเข้าถึงการใช้คลองสุเอซของทุกชาติ สหประชาชาติให้สัตยาบันข้อเสนอของ Pearson ในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 แม้ว่า SCA ยังคงดำเนินการบริหารจัดการคลองสุเอซ ต่อไปก็ตาม แต่กองกำลังของสหประชาชาติยังคงอยู่เพื่อรักษาสันติภาพในคาบสมุทรไซนายที่อยู่ใกล้เคียง และนี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่คลองสุเอซจะมีบทบาทสำคัญต่อความขัดแย้งระหว่างประเทศ

สงครามอาหรับ - อิสราเอล เมื่อเริ่มสงครามหกวันปี 1967 ประธานาธิบดี Nasser ได้สั่งให้กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติถอนออกจากคาบสมุทรไซนาย อิสราเอลจึงส่งทหารเข้าไปในภูมิภาคนี้ทันที และในที่สุดก็สามารถเข้าควบคุมฝั่งตะวันออกของคลองสุเอซ ประธานาธิบดี Nasser จึงให้ทำการปิดล้อมการจราจรทางทะเลทั้งหมดเพื่อไม่ต้องการให้เรือของอิสราเอลสามารรถเข้าถึงคลองสุเอซ จนทำให้เรือบรรทุกสินค้า 15 ลำที่แล่นเข้ามาในคลองสุเอซในช่วงเวลาของการปิดล้อมต้องติดค้างอยู่ในคลองสุเอซเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งมีการเปิดใช้คลองสุเอซ หลังจากกองเรือกวาดทุ่นระเบิดของสหรัฐฯและอังกฤษเข้ากวาดล้างทุ่นระเบิดในคลองสุเอซจนปลอดภัยอีกครั้ง ประธานาธิบดีคนใหม่ของอียิปต์ในขณะนั้น Anwar Sadat ได้เปิดใช้คลองสุเอซอีกครั้งในปี พ.ศ. 2518 และเป็นผู้นำขบวนเรือมุ่งหน้าตามคลองสุเอซไปทางเหนือไปยัง Port Said อย่างไรก็ตามกองกำลังอิสราเอลยังคงอยู่ในคาบสมุทรไซนายจนถึงปี พ.ศ. 2524 อันเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาสันติภาพอียิปต์ - อิสราเอล ปี พ.ศ. 2522 กองกำลังนานาชาติและผู้สังเกตการณ์ถูกส่งไปประจำการที่นั่นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันคลอง ซึ่งยังคงประจำอยู่จนถึงทุกวันนี้

อาคาร Suez Canal Authority (SCA) ผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการคลองสุเอซ

สำนักงานบริหารและจัดการตลองสุเอซ (Suez Canal Authority : SCA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 โดยประธานาธิบดี Gamal Abdel Nasser เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและเป็นหน่วยงานอิสระนิติบุคคล ซึ่ง SCA จะรายงานต่อนายกรัฐมนตรีของอียิปต์ ประกอบด้วยหน่วยงานทั้งหมดที่จำเป็นในการบริหารจัดการคลองสุเอซ รวมทั้งการดำเนินการขุดลอกคลองสุเอซ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อปฏิบัติ และระบบของรัฐบาล โดย SCA เป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่จัดการดำเนินในการใช้ บำรุงรักษา และปรับปรุงคลองสุเอซ และโดยเฉพาะในการออกและบังคับใช้กฎการเดินเรือในคลองสุเอซ ตลอดจนกฎและข้อบังคับอื่น ๆ ที่ช่วยให้การบบริหารจัดการให้การเดินเรือในคลองสุเอซเป็นระเบียบเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ โดย SCA อาจจัดตั้ง สนับสนุน หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งโครงการที่เกี่ยวข้องกับคลองสุเอซ เมื่อจำเป็น SCA ในการปฏิบัติตามหน้าที่และภาระผูกพันโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ SCA อาจให้เช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของตน และอาจเช่าที่ดิน เมื่อจำเป็น SCA ในการปฏิบัติตามหน้าที่และภาระผูกพันโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ SCA อาจให้เช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของตน และอาจเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่นเช่นกันเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในการบริหารจัดการคลองสุเอซ และเพื่อสวัสดิการของพนักงาน หรือเพื่อสร้างโครงการและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการคลองสุเอซเพื่อช่วยให้การใช้งานคลองสุเอซได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นสถานีน้ำและโรงไฟฟ้า ฯลฯ

เรือบรรทุกเครื่องบิน USS America (CV-66) ขณะแล่นผ่านคลองสุเอช

SCA จะกำหนดและเรียกเก็บค่าผ่านทางสำหรับการนำทางและการขนส่งผ่านคลองสุเอซและในการนำร่อง การลากจูง การจอดเรือ และการดำเนินการอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันตามกฎหมายและข้อบังคับ SCA มีงบประมาณแยกต่างหากซึ่งเป็นไปตามกฎที่ใช้กับโครงการเชิงพาณิชย์ ปีงบประมาณเริ่มในวันที่ 1 กรกฎาคม และสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายนของทุกปี SCA จะไม่ดำเนินการใด ๆ ที่ขัดต่อบทบัญญัติของอนุสัญญาคอนสแตนติโนเปิล ปี ค.ศ. 1888 เกี่ยวกับการเดินเรืออย่างเสรีในคลองสุเอซทางทะเล และจะไม่ให้สิทธิพิเศษใด ๆ กับเรือหรือบุคคลปกติ / ตามกฎหมายที่ไม่ได้รับในสถานการณ์เดียวกัน สำหรับเรือลำอื่น ๆ หรือบุคคลปกติ / ตามกฎหมาย และจะไม่เลือกปฏิบัติต่อลูกค้าบางรายเพื่อสนับสนุนลูกค้ารายอื่น คลองสุเอซในปัจจุบันทุกวันนี้มีเรือเดินเรือผ่านคลองสุเอซโดยเฉลี่ย 51.5 ลำทุกวัน ซึ่งมีระวางบรรทุกสินค้ามากกว่า 300 ล้านตันต่อปี ในปี พ.ศ. 2557 รัฐบาลอียิปต์ได้จัดทำโครงการขยายคลองสุเอซมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งขยายคลองสุเอซจาก 61 เมตรเป็น 312 เมตร เป็นระยะทาง 21 ไมล์ โครงการนี้ใช้เวลาหนึ่งปีในการดำเนินการ และด้วยเหตุนี้คลองสุเอซจึงสามารถรองรับเรือที่จะแล่นผ่านพร้อมกันทั้งสองทิศทางได้

แม้ว่าจะมีเส้นทางที่กว้างขึ้น แต่ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 05:40 UTC (07:40 น. ตามเวลาท้องถิ่น) เรือบรรทุกสินค้า Ever Given เรือคอนเทนเนอร์ขนาดยักษ์ที่ดำเนินการโดยบริษัท Evergreen Marine ไต้หวัน ซึ่งมีความยาวประมาณ 400 เมตร และระวางขับน้ำกว่า 200,000 ตัน มุ่งหน้าจากจีนไปยุโรปก็ติดอยู่ในคลองสุเอซ จนปิดกั้นเรือเดินทะเลรวมแล้วมากกว่า 350 ลำ ณ ปลายแต่ละด้านของคลองสุเอซ หลังจากที่มีความพยายามขุดลอกทรายตลอดช่วงสุดสัปดาห์ ทีมกู้ภัยเรือจาก SCA และทีมงานจากบริษัท Smit Salvage ของเนเธอร์แลนด์ ก็ได้เริ่มใช้เรือลากจูงกว่า 10 ลำดึงเรือยักษ์จากทั้งส่วนหัวและท้ายตั้งแต่ช่วงกลางดึกของวันนี้ (29 มีนาคม) ล่าสุด SCA ยืนยันว่า เรือ Ever Given ได้ถูกดึงกลับมาอยู่ในแนวขนานกับลำคลองเรียบร้อยแล้ว

โดยทีมกู้ภัยจะเริ่มปฏิบัติการลากจูงเรืออีกครั้งหลังจากที่กระแสน้ำขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถเปิดคลองสุเอซให้เรือสินค้าสัญจรผ่านได้ตามปกติหลังจากที่เรือ Ever Given ถูกนำไปยังบริเวณ Great Lakes ซึ่งเป็นจุดที่ลำคลองมีความกว้างเป็นพิเศษ การขนส่งสินค้าทางน้ำราว 15% ของทั่วโลกจะต้องผ่านคลองสุเอซ ซึ่งช่วยดึงเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศอียิปต์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ วิกฤตเรือยักษ์ขวางคลองครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลอียิปต์ต้องสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 14 - 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน และการที่เรือลำนี้จอดปิดเส้นทางอยู่ก็ส่งผลให้อัตราค่าขนส่งของเรือบรรทุกน้ำมันพุ่งขึ้นเกือบ 2 เท่า ทั้งนี้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือบางรายตัดสินใจนำเรือไปอ้อมแหลม Good Hope แทน ซึ่งจะต้องใช้เวลาเดินทางนานขึ้นประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ ทำให้ต้นทุนของเชื้อเพลิงสูงอีกขึ้นด้วย

เรือ Ever Given ได้ถูกดึงกลับมาอยู่ในแนวขนานกับลำคลองเรียบร้อยแล้ว

นาคในพม่า ตำนานที่มีตัวตน

“นาค” เป็นสัตว์ที่มีอยู่ในตำนานของพระพุทธศาสนา และผูกพันกับคนไทย ลาว และเขมรหรือเราเรียกว่าผู้คนลุ่มน้ำโขงมาช้านาน ในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้พิทักษ์ศาสนสถานและโบราณสถานต่าง ๆ แต่ต้นกำเนิดของคำว่านาคนั้นห่างไทย ลาว และเขมรมาก ลึกเข้าไปในดินแดนที่เป็นพรมแดนอินเดียและเมียนมาร์ในปัจจุบัน และพวกเขายังมีตัวตนอยู่ พวกเขาคือ “เหล่านาคา”

เผ่านาคา หรือนากา เป็นชนเผ่าโบราณเชื่อว่ามีมาก่อนสมัยพุทธกาลอาศัยอยู่บริเวณรัฐมณีปุระ (Manipur) รัฐอรัณาจัล ประเทศ (Arunachal Pradesh) และรัฐอัสสัม (Assam) ในอินเดีย จวบจนถึงรัฐสะกาย (Sagaing) และรัฐคะฉิ่น (Kachin) ในเมียนมาร์แต่สถานที่ที่มีชาวนาคาอยู่มากที่สุดคือ นากานาคาแลนด์ได้รับการจัดตั้ง ขึ้นเป็นรัฐที่ 16 ของประเทศอินเดียในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2506

โดยแบ่งการปกครองภายในออกเป็น 11 เขต อันได้แก่ Kohima (เมืองหลวง), Phek, Mokokchung, Wokha, Zunheboto, Tuensang, Mon, Dimapur, Kiphire, Longleng และ Peren สภาพภูมิประเทศของนากาแลนด์ส่วนใหญ่มีพื้นที่เป็นภูเขา โดยมีเทือกเขา Naga Hills เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียง ใต้ของรัฐนาคาแลนด์ มีจุดที่สูงที่สุด คือ ภูเขาสรามาติ (Mount Saramati) ซึ่งมีความสูง 3,826 เมตร อีกทั้งเทือกเขานากา นี้ยังเชื่อมต่อกับทิวเขา Patkai ของประเทศเมียนม่าร์อีกด้วย เผ่านาคาไม่ใช่ชนเผ่าศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

เผ่านากาก็เฉกเช่นชนกลุ่มน้อยทั่วไปซึ่งมีหลายกลุ่ม โดยจะแบ่งเผ่านากาใหญ่ ๆ ในเมียนมาร์ได้เป็น 8 กลุ่มแยกตามภาษาที่สื่อสารคือ Konyak, Lainong, Makury, Nokko, Para, Somra Tangkhul, Tangshang, Anal Naga นอกจาก 8 กลุ่มนี้แล้วยังมีกลุ่มย่อย ๆ อีกมากมาย ส่วนชาวนากาในอินเดียนั้นประกอบไปด้วยประชากรที่เป็น ชนเผ่า หลัก 16 เผ่า และ เผ่าย่อย ๆ อีกมากมาย ภาษา ท้องถิ่นที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างชาวนากาแลนด์จึงมีมากถึง 60 ภาษา ทั้งหมดอยู่ในตระกูลภาษา Tibeto – Burman ดังนั้นการสื่อสารระหว่างเผ่า และ ภาษาราชการในนากาแลนด์จึงใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสื่อสาร

สาเหตุว่าทำไมคนในอดีตถึงเรียกเผ่านี้ว่าเผ่านากา มีปรากฎในงานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวไว้ในความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2519 อธิบายความหมายของคำว่า “นากา” หรือ “นาค” ไว้ดังนี้ คือ ‘ชาวอารยันยุคโบราณ สมัยที่ยังไม่เกิดเป็นรัฐประชาชาตินั้น มีการเหยียดหยามดูถูกพวกนาคมาก ถือเป็นพวกลักขะพวกหนึ่ง และคำเรียกชื่อชนชาติก็กล่าวกันว่ามาจากภาษาอัสสัม ซึ่งเขียน naga แต่อ่านออกเสียงเป็น นอค (noga) แปลว่า เปลือย แก้ผ้า บ้างก็มาจากภาษาฮินดูสตานีว่า นัค (nag) แปลว่า คนชาวเขา ในขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ในนาคในประวัติศาสตร์อุษาอาคเนย์ ตีพิมพ์โดยมติชน เมื่อปี พ.ศ. 2546 สรุปความว่า สังคมอินเดียเมื่อสมัยพุทธกาลมีการเหยียดหยามคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่มีอารยธรรมด้อยกว่าตน เหยียดลงให้เป็นผี เป็นสัตว์ เป็นยักษ์ ไม่อาจเทียบชั้นกับพวกตนที่เป็นมนุษย์ได้ โดยเฉพาะการไม่ยอมรับชนเผ่านาคหรือนาคาว่าเป็นมนุษย์ แม้จะพูดคุยภาษามนุษย์ด้วยกันรู้เรื่อง โดยมองพวกเขาเป็นเพียงสัตว์อย่างลิงค่างบ่างชะนีป่าเถื่อน จึงไม่ยอมรับให้ชนเผ่านาคหรือนาคาเข้าอุปสมบทในพุทธศาสนา

เป็นความเชื่อกันว่า คำว่า “นากา” หรือ “นาค” เป็นคำในภาษาอินเดียซึ่งใช้เรียกชนกลุ่มน้อยของตนที่ถูกมองว่ามีอารยธรรมต่ำต้อยกว่าในเชิงดูถูก ในขณะที่บางท่านเชื่อว่า คำว่า “นากา หรือ นาค” นี้ ชาวอินเดียหมายถึงผู้คนในแถบอุษาคเนย์ทั้งหลายด้วย เป็นลักษณะของพวกคนเถื่อนไม่นุ่งผ้าไร้อารยธรรมนั่นเอง แต่ก็ได้หลักฐานทางวิชาการอีกฝ่ายกล่าวว่า คำว่า “นากา” (Naga) เป็นคำที่มาจากคำว่า “Naka” ในภาษาพม่า แปลว่า “ผู้ที่เจาะจมูก”… ก็เพราะชาวนาคาในอดีตเจาะจมูกห้อยห่วงไว้ตามขนบประเพณีของพวกเขานั่นเอง

แต่หากมองจากอีกมุมจะเห็นว่าเผ่านากา หรือ นาคนั้นเป็นชนเผ่าที่มีการรักษาเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่นผ่านกาลเวลาและภูมิประเทศแม้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 แผ่นดินแต่มิอาจแบ่งแยกวัฒนธรรมของเผ่านากาได้

ปัจจุบันมีพิธี Hornbill Festival ในอินเดียเป็นงานมหกรรมวัฒนธรรมประจำรัฐที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวนากาแลนด์ จัดขึ้นเป็นประจำระหว่างวันที่ 1 - 7 ธ.ค.ของทุกปี (วันที่ 1 ธ.ค.เป็นวันก่อตั้งรัฐนากาแลนด์) ชื่องานนี้แปลตรงตัวว่า “เทศกาลนกเงือก” ส่วนในเมียนมาร์นั้นมีงานเทศกาลปีใหม่ของชาวนากาที่จัดขึ้นทุกเดือนมกราคมของทุกปีช่วงหลังเก็บเกี่ยว

ในอดีตก่อนที่จะมีนากาแลนด์ชาวนากาคือนักรบผู้ยิ่งใหญ่หลายคนรู้จักพวกเขาในนามนักล่าหัวคนและหลังจากที่อินเดียพยายามผนวกดินแดนนากาแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียนั้น พวกเขาก็ต่อสู้เพื่อเอกราชของเขามาตลอดจนอินเดียเลือกที่จะทำสนธิสัญญาหยุดยิงและให้มอบนากาแลนด์ให้เป็นเขตพื้นที่ปกครองตนเองเช่นเดียวกับฝั่งเมียนมาร์ที่มอบพื้นที่ให้เป็นเขตปกครองตนเองนากาเช่นกัน


ขอบคุณข้อมูลจาก

1. เพจศิลปะวัฒธรรมเวปไซต์วิกิพีเดีย

2. เวปไซต์วิกิพีเดีย

3. เวปไซต์สถานทูตไทยในกรุงเดลฮี

เสียง (เพรียก) แห่งสายน้ำปัตตานี... ตอนที่ 3

เช้าแสนอ้อยอิ่งผ่านไปพร้อมกับมื้อเช้าง่าย ๆ คือขนมและกาแฟ รอบนี้เอากาแฟคั่วจากสวนตัวเองลงมาด้วย ตั้งเตาต้มน้ำ พลางบดกาแฟ เทลงในหม้อ เติมน้ำเดือดลงไป รอราวสามนาทีก็นำช้อนเขี่ยผงกาแฟที่ลอยอยู่ให้จมลง ตักเอาฟองและเศษที่เหลือออก แค่นี้ก็พร้อมเสิร์ฟแล้ว นี่ถือว่าเป็นการชงกาแฟที่เรียบง่ายที่สุดและเป็นการเลียนแบบวิธีการทำคัปปิ้ง (อธิบายง่ายสั้นก็คือการดมชิมกาแฟ) นั่นเอง

“เอาเชือกรัดสัมภาระต่าง ๆ ในเรือ “แล้วก็อย่าลืมใส่ชูชีพด้วยนะพี่” บังบิ๊บบอกเช่นนั้น เสียงค้านในใจบอกไม่เห็นจะจำเป็นสักหน่อย น้ำไหลเอื่อยแบบนี้ไม่ต้องแน่นหนาขนาดนั้นก็ได้ แต่เอาน่ะ คนเขาอยู่ในพื้นที่ น่าจะมีเหตุผลมากพอหากเขาแนะนำเช่นนั้น ผมจึงหยิบเชือกออกมามัดกระเป๋าสองสามใบไว้

การพายคายักในวันนี้เริ่มต้นแบบไม่ต้องออกแรงจ้วงไม้พายมากนัก เพราะน้ำไหลเรื่อย สองฝั่งร่มรื่นไปด้วยแมกไม้เขียวขจี อากาศยามเช้าแสนจะเป็นใจ บางครั้งผ่านบ้านเรือนผู้คน เด็กน้อยโบกมือและวิ่งลงมาทักทายคนแปลกถิ่น เป็นภาพที่สวยงาม แต่มีสิ่งที่เห็นแล้วรกสายตามาก คือขยะทั้งหลายโดยเฉพาะพลาสติกที่ลอยไปติดอยู่ตามกิ่งก้านไม้ในช่วงน้ำหลาก เมื่อน้ำลดจึงค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เห็นแล้วรู้สึกขัดหูขัดตา สำหรับเผ่าพันธุ์มนุษย์แล้วขยะย่อยสลายยากอาจแค่ทำให้รู้สึกไม่สบายตา ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว ขยะเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศค่อนข้างมาก และถ้าเพียงแค่เราต่างตระหนักว่าการกระทำของเราสามารถทำลายอีกหลายชีวิตโดยไม่ตั้งใจ เราอาจจะระมัดระวังการใช้ชีวิตในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ก็เป็นได้ เราอาจจะลดการสร้างขยะหรืออย่างน้อยก็พยายามรับผิดชอบด้วยการจัดการขยะที่เราสร้างขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม

เอาเถอะถือว่าเป็นการสะท้อนมุมมองและความรู้สึกบางด้านจากการพายเรือผ่านแม่น้ำปัตตานีละกัน 

กลับมาที่ไฮไลต์ประจำวันกันอีกครั้ง ซึ่งก็คือดีกรีความตื่นเต้นที่สายน้ำนี้มอบให้ มันค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามช่วงเวลาของวัน ยิ่งพายยิ่งเจอสิ่งที่ทำให้อะดรีนาลีนหลั่งมากขึ้น ก็แก่งทั้งหลายไงล่ะครับ ค่าที่ยังนับว่าเป็นมือใหม่หัดพาย จึงยังคงต้องสะสมชั่วโมงพายเรือ เพื่อสั่งสมความชำนาญและความมั่นใจในการอ่านสายน้ำไปทีละเล็กละน้อย การได้มาเจอโจทย์ประเภทแก่งน้ำเชี่ยวจึงเป็นทั้งเรื่องสนุกและในขณะเดียวกันก็สร้างความกังวลด้วย ยิ่งไปก็ยิ่งเจอแก่งถี่ขึ้น ต้องคอยคัดซ้ายคัดขวาเพื่อให้เรือไหลไปตามร่องน้ำตามที่วางแผนไว้ในใจ พวกเราร้องตะโกนด้วยความดีใจเวลาที่สามารถผ่านแต่ละความท้าทายเล็ก ๆ เหล่านั้นได้ รู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กชายซน ๆ กันอีกครั้ง เชื่อว่าผู้ใหญ่จำนวนมากคงไม่ต่างจากผม ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งเคร่งขรึมเกินเหตุ หลงลืมการหัวเราะร่าเริงและการไม่ต้องจริงจังไปเสียทุกเรื่อง เป็นเหตุให้กลายเป็นพวกแบกโลกอยู่บ่อย ๆ จนกระทั่งเด็กน้อยถูกปลุกให้ตื่นอีกครั้งเมื่อได้กลับมาทำกิจกรรมกลางแจ้งหัวหกก้นขวิดแบบนี้

อย่างที่บอกว่าดีกรีความตื่นเต้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นเพราะลำธารสาขาไหลมาสมทบมากขึ้น ผมไม่แน่ใจนักว่าเขาจัดระดับความแรงหรือความเสี่ยงของแก่งกันอย่างไร จึงขอแบ่งแบบระดับตามความเผ็ดของพริกที่ใส่ลงไปในอาหารละกัน จากแก่งประเภทพริกเม็ดสองเม็ด พอคล้อยบ่ายจำนวนพริกขี้หนูหลายเม็ดเริ่มมากจนเผ็ดจัดจ้านแสบร้อนมากขึ้น น้ำลึกมากขึ้น สายน้ำแคบลง เพราะถูกบีบให้ไหลเข้าไปในโตรกหินผา รู้สึกได้ถึงพลังมหาศาลของมวลน้ำที่ทวีการไหลดุดันมากขึ้นตามลำดับ ผมไม่แน่ใจนัก ว่าการยอมปล่อยตัวเองและคายักผ่านลงไปในแก่งเชี่ยวกรากน้ำกระจายแตกฟองสีขาวโดยไม่ได้ตรวจสอบเสียก่อนนั้นเป็นเรื่องดีและสมควรหรือไม่ รู้แค่ว่าการไม่รู้อะไรล่วงหน้าส่งผลให้ยอมเสี่ยงกระโจนลงไปหาความท้าทายเหล่านั้น กระเด้งกระดอนคลอนแคลนเพราะเรือถูกน้ำซัดต่างระดับจนน้ำกระฉอกเข้าเรือแทบครึ่งค่อนลำ ต่อเมื่อพ้นแก่งพวกนั้นมาได้จึงยิ้มกริ่มด้วยความสะใจ ไม่ใช่เพราะชะล่าใจว่าสามารถเอาชนะหรือต่อกรกับธรรมชาติได้ ทว่าเป็นความภูมิใจลึก ๆ ที่สามารถสะสมทักษะการพายเรือได้มากขึ้นอีกระดับหนึ่งแล้วนั่นเอง แต่สิ่งที่ตรงกันข้าม คือมีอย่างน้อยหนึ่งแก่งในวันนี้ที่ผมยอมเสียเวลากับการไปสำรวจโดยเทียบเรือแล้วเดินเลียบตลิ่งชันด้านข้าง เมื่อมองดูแก่งนั่นแล้วเกิดภาพน่ากลัวขึ้นในหัว กลายเป็นใจฝ่อไปเสียนั่น รำพึงในใจว่าถ้าไม่รู้เห็นก็สิ้นเรื่อง สู้ให้เรือพลิกคว่ำยังจะดีเสียกว่าไหม สรุปก็คือเมื่อภาพในหัวน่ากลัวกว่าความเป็นจริงผมก็เลยต้องยกสัมภาระทุกอย่างเลาะตลิ่งสูงดังกล่าว ลงไปยังท้ายแก่ง ในขณะที่บังบิ๊บอาจอาญกว่าผมหลายเท่า เขาอ่านทางน้ำแล้วตัดสินใจลุยและเขาก็ทำได้!

แล้วก็มาถึงจุดที่ผมได้รับประสบการณ์เรือคว่ำจนได้ ซึ่งก็ไม่ใช่แก่งใหญ่น่ากลัวแต่ประการใด ความท้าทายคือมันเป็นโค้งน้ำแคบหักศอก ต้องประคองตัวและวางตำแหน่งตัวเองให้ถูกต้องเพื่อให้สมดุล แต่ผมไม่รู้เทคนิค แค่แม่น้ำตบเบา ๆ ทำเอาเรือพลิก ทุกอย่างรวมทั้งตัวผมลอยตุ๊บป่อง ดีที่ใส่ชูชีพไว้ตามคำแนะนำของเพื่อน จึงลอยตัวได้สบาย พยายามคว้าเรือไว้ ส่วนรองเท้าแตะจำปล่อยให้ลอยหายไป บังบิ๊บตามมาช่วยด้วยอีกแรง เพราะถ้าเลยไปอีกหน่อยก็จะเจออีกแก่งหนึ่งแล้วนั่นเอง

โหดสุดของวันนี้คือมหาแก่ง แค่ระยะสั้น ๆ ราวยี่สิบเมตร แต่ต่างระดับราวห้าเมตรในแนวดิ่ง มันคือน้ำตกดี ๆ นี่เอง ที่สำคัญแก่งนี้ยังอยู่ในโตรกแคบ หมายถึงระดับความเผ็ดน่าจะถึงขั้นอุจจาระราดกันได้เลยทีเดียวหากริจะเล่นกับมัน ผมน่ะยอมศิโรราบแต่โดยดีอยู่แล้ว ในขณะที่บังบิ๊บเห็นว่าหากอุปกรณ์และทีมพร้อมเขาอยากวัดใจกับแก่งนี้ดูสักครั้ง ที่แน่ ๆ ไม่ใช่รอบนี้แน่นอน พวกเราจึงแบกเรือและสัมภาระลงไปยังท้ายแก่งกัน จากนั้นจึงประกอบทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้วออกพายต่อ ผ่านจุดนี้มาแล้วแม่น้ำปัตตานีก็เปิดกว้าง โตรกผาค่อย ๆ หายไป กลายเป็นตลิ่งที่เห็นไกลออกไป แม่น้ำก็เปิดกว้างขึ้น ทว่าก็ยังคงมีแก่งให้ผ่านกันอีกหลายแก่ง อากาศเริ่มเย็น อาทิตย์ลับขอบฟ้า ความมืดเริ่มปกคลุมทั่วบริเวณ พวกเรายังคงไม่

เหตุการณ์เรือ Ever Given กับการประกันภัยทางทะเล

ช่วงเดือนที่ผ่านมามีข่าวใหญ่เกี่ยวกับอุบัติเหตุการขนส่งทางทะเล นั้นคือการที่เรือคอนเทนเนอร์ขนาดยักษ์ Ever Given เกยตื้นแล้วขวางเส้นทางเดินเรือของคลองสุเอซ วันนี้จะขอมาเล่าเกี่ยวกับการประกันภัยทางทะเลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ เพราะการประกันภัยทางทะเลจัดได้ว่าเป็นการประกันวินาศภัยที่เก่าแก่ที่สุดและมีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง

เริ่มจากเรือที่มักจะทำประกันภัยตัวเรือและเครื่องจักร (Hull and machinery insurance) ที่ให้ความคุ้มครองทั้งตัวเรือ เครื่องจักร ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก และค่าใช้จ่ายในการกู้ภัย แต่มีข้อแม้ว่าเจ้าของเรือต้องร่วมจ่ายค่าเสียหายด้วยบางส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความประมาทในการดำเนินงาน 

ในบรรดาเจ้าของเรือก็มองว่าค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ต้องออกเองเมื่อเกิดความเสียหายนั้นจำนวนก็ไม่ใช่น้อย หากต้องชดใช้ด้วยตนเองทั้งหมดอาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของตน จึงรวมกลุ่มกันเพื่อก่อตั้งเป็นการประกันภัยแบบสหการ (Mutual insurance) เพื่อรับประกันภัยจากสมาชิกซึ่งเป็นเจ้าของเรือด้วยกัน และการรวมกลุ่มดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ P&I Club มาจากคำว่า Protection and indemnity insurance club ที่มีอยู่ทั้งหมด 13 แห่งทั่วโลก และในกรณีของ Ever Given นั้นเป็นสมาชิกอยู่ใน UK P&I Club และให้ความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในวงเงินสูงถึง 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะมีการเรียกร้องค่าเสียหายจากเรือ Ever Given เป็นมูลค่าที่สูงมาก ทั้งจากความเสียหายของคลองสุเอซ การสูญเสียรายได้จากค่าผ่านคลอง หรือค่าใช้จ่ายของเรือลำอื่นที่ล่าช้า

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งหากมีการตกลงชดเชยค่าเสียหายกันได้แล้วทาง UK P&I Club ก็ไม่ได้ควักเงินจ่ายค่าเสียหายอยู่ฝ่ายเดียว เพราะมีการประกันภัยต่อไปยัง P&I Club อีก 12 แห่ง แห่งละไม่เกิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนที่เหลือก็ส่งต่อให้บริษัทรับประกันภัยต่อระดับโลกอีก 20 บริษัท สาเหตุที่ต้องมีการรับประกันภัยต่อหลายรายเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในกรณีที่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนมาก

ในส่วนของสินค้าที่ขนมาบนเรือนั้นก็มักจะทำประกันภัยสินค้าโดยรูปแบบความคุ้มครองส่วนใหญ่อ้างอิงจากประกันภัย ICC (Institute cargo clauses) ที่จัดทำโดยกลุ่มผู้รับประกันภัยในประเทศอังกฤษ มีความคุ้มครอง 3 แบบ คุ้มครองมากที่สุดคือ ICC(A) รองลงมาคือ ICC(B) และน้อยสุดคือ ICC(C)  ถ้าหากสินค้าเสียหายจากเหตุการณ์นี้ก็สามารถได้รับเงินชดจากทั้งสามแบบ เพราะทุกแบบให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากเรือเกยตื้น

ถึงแม้สินค้าจะไม่ได้เสียหายจากเหตุการณ์นี้ เจ้าของสินค้าก็อาจต้องมีส่วนร่วมออกค่าใช้จ่ายในการกู้ภัยตามหลัก General average หรือความเสียหายทั่วไป โดยหลักการนี้มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมัน นั้นคือหากเรือเกิดอุบัติเหตุแล้วกัปตันตัดสินใจต้องทิ้งสินค้าบางส่วนลงน้ำเพื่อรักษาทรัพย์สินส่วนรวมให้รอดปลอดภัย ทรัพย์สินส่วนนั้นจะได้รับการชดใช้คืน โดยยึดถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบันตามที่ได้มีการปรับปรุงตามกฎ York-Antwerp Rules และในไทยเองก็มีกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องนี้ คือ พ.ร.บ.การเฉลี่ยความเสียหายทั่วไปจากภยันตรายในการเดินเรือ พ.ศ. 2547 และให้ความหมายของความเสียหายทั่วไป คือ “ความสูญเสีย หรือความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นผลโดยตรงจากการเสียสละทรัพย์สิน หรือค่าใช้จ่ายเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจงใจกระทำขึ้นตามสมควรเพื่อปกป้องรักษาเรือและทรัพย์สินที่เผชิญภัยอันตรายร่วมกัน” ดังนั้นค่าใช้ในการกู้ภัยเรือจึงถือว่าเป็นความเสียหายทั่วไปด้วย หากเจ้าของเรือ Ever Given ประกาศว่ามีความเสียหายทั่วไปแล้ว จะมีการแบ่งส่วนเฉลี่ยคิดตามมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น และคาดการณ์ว่าน่าจะใช้เวลาเป็นปีในการสรุปค่าใช้จ่ายเพราะด้วยขนาดเรือที่ขนสินค้ามาจำนวนมากและมีเจ้าของสินค้าหลายราย

ขอยกตัวอย่างกรณีของเรือ Maersk Honam ที่เกิดเหตุไฟไหม้บนเรือในปี 2018 จากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้มีการเรียกเฉลี่ยความเสียหายทั่วไปมากถึง 54% ของมูลค่าทรัพย์สิน นั้นคือหากเป็นเจ้าของสินค้ามูลค่า 1 ล้านบาท จะต้องร่วมเฉลี่ยความเสียหายทั่วไป 540,000 บาท สินค้าของใครที่ทำประกันภัย ICC ก็สบายใจได้เพราะให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่ใครที่ไม่ได้ทำก็คงต้องออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง และทางสายเรือจะกักสินค้าเอาไว้จนกว่ากว่าจะนำเงินส่วนนี้มาจ่าย

จากที่เล่ามาข้างต้นจะเห็นได้ว่าธรรมเนียมปฏิบัติของการขนส่งสินค้าทางทะเลมีมาอย่างยาวนานและมีรูปแบบเฉพาะที่มีความแตกต่างจากการขนส่งด้วยวิธีอื่น ผู้นำเข้าส่งออกควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองสินค้า เพราะถึงแม้สินค้าของตนจะไม่เกิดความเสียหาย แต่อาจมีการเรียกเก็บส่วนเฉลี่ยค่าเสียหายทั่วไปที่มียอดเงินไม่น้อยเลยทีเดียว


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.agcs.allianz.com/news-and-insights/expert-risk-articles/suez-canal-marine-insurance-claims.html

https://www.hellenicshippingnews.com/suez-canal-insurance-claims-loom-as-ever-given-blocks-shipping/

https://theloadstar.com/lengthy-wait-for-cargo-as-ever-given-owner-declares-general-average/

ดอกประดู่กับสงกรานต์ในเมียนมาร์

โควิด-19 ได้พรากเทศกาลสงกรานต์ในเมียนมาร์หรือในภาษาพม่าเรียกว่า ตะจ่าน (Thingyan ภาษาเขียนออกเสียงว่าติงจ่าน) เทศกาลตะจ่าน เป็นวัฒนธรรมของชาวพม่าที่มีมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีแล้ว และถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อกำหนดวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ถึง 16 เมษายน ช่วงนี้จะเป็นช่วงสิ้นปีมีการเล่นสาดน้ำต้อนรับปีใหม่ และในวันที่ 17 เมษายน จะถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ คนเมียนมาร์จะทำความสะอาดบ้าน และนิมนต์พระมาฉันที่บ้าน อีกทั้งมีการบริจาคอาหารหรือขนมให้เพื่อนบ้าน รวมถึงบางครอบครัวมีการผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้านก็จะทำการสระผม ตัดเล็บให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัว ยามเย็นจะมีการนิมนต์พระมาสวดขับไล่สิ่งไม่ดี โชคร้าย โรคภัยไข้เจ็บให้ออกไปจากสถานที่แห่งนี้

และในเทศกาลตะจ่านนี้เอง มีดอกไม้ชนิดหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลนี้นั่นคือ ดอกปะเด้าก์ (Padauk) หรือดอกประดู่นั่นเอง ชาวเมียนมาร์จะมีการนำดอกประดู่มาประดับประดาตามอาคารบ้านเรือน สำนักงาน รถโดยสาร และบางคนจะทัดช่อดอกประดู่ไว้ที่ผมดูน่าชม   

สาเหตุที่ดอกประดู่ถือเป็นดอกไม้ประจำเทศกาลตะจ่านก็เพราะว่า ก่อนเทศกาลตะจ่านในเมียนมาร์ทุกปีจะมีฝนโปรยปราย ในเวลานั้นเอง ต้นประดู่จะแทงดอกออกรับน้ำฝนซึ่งจะบานเต็มที่ในช่วงเดือนเมษายน ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของปีใหม่ ดั่งดอกประดู่ที่เกิดใหม่อีกครั้งโดยการแทงดอกจนเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งเมือง

และในช่วงเวลานี้คนพม่าจะนิยมทำขนมที่เรียกว่า โมน โลน เหย่บอว์ เป็นขนมที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งข้าวเหนียวโดยใส่น้ำตาลโตนดไว้เป็นไส้ โดยทุกคนในบ้านหรือในชุมชนนนั้นจะช่วยกันในการปั้นขนมแล้วโยนลงไปในน้ำเดือดแต่สำหรับใครที่อยากจะแกล้งใครก็อาจจะใส่พริกเป็นไส้แทนน้ำตาลโตนดที่คนพม่าเรียกว่า ทันเนี่ยะ ก็ได้

และแม้ปีนี้ในเมียนมาร์ไม่ว่าจะมีการจัดเทศกาลตะจ่านหรือไม่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ผมก็หวังว่าคนเมียนมาร์คงยังไม่สิ้นหวังและกลับมายืนขึ้นใหม่ได้อีกครั้งเหมือนดั่งดอกประดู่ที่กลับมาบานใหม่ทุกปี

คำสารภาพของ วาเอล โกนิม (Wael Ghonim) ผู้นำอาหรับสปริง ในโลกโซเชียลของอียิปต์

ในปี ค.ศ. 2011 วิศวกรคอมพิวเตอร์หนุ่มวัย 28 ปี (ในขณะนั้น) วาเอล โกนิม ยังทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือให้กับบริษัท Google แม้ว่าเขาจะเป็นชายหนุ่มที่อายุยังน้อยในความคิดของใคร ๆ แต่สิ่งที่เขาได้ทำนั้นกลับสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ได้อย่างเหลือเชื่อ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังพลังแห่งโซเชียลมีเดียที่โค่นอำนาจเผด็จการในอียิปต์และโลกอาหรับ เมื่อเขาได้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการปลุกกระแสปฏิวัติในอียิปต์ให้เกิดขึ้น จนกลายเป็นอาหรับสปริงในอียิปต์บ้านเกิดของเขา ด้วยการตั้งเพจ Facebook ง่าย ๆ โพสต์ข้อความเรียกร้องให้ประชาชนชาวอียิปต์ออกไปชุมนุมกันกว่า 1 ล้านคน ในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 2011 จนสามารถขับไล่ประธานาธิบดีมูบารัคที่อยู่ในตำแหน่งนานกว่า 30 ปี ได้สำเร็จ

ต่อมาเขาได้เปิดเผยว่า เมื่อการปฏิวัติเกิดขึ้นบนท้องถนน มันกลับเปลี่ยนความหวังเป็นความยุ่งเหยิง จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นความน่ารังเกียจเดียรฉันท์อันแสนจะเจ็บปวด และการใช้โซเชียลมีเดียที่ตามมาทำให้โลกอินเตอร์เน็ตซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งสำหรับ การรวบรวมข้อมูล การมีส่วนร่วม และการแบ่งปัน กลับกลายเป็นสมรภูมิที่มีการแบ่งขั้วแบ่งข้างอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และหลังจากนั้นแล้วในที่สุดเขาได้ออกมาพูด และสารภาพถึงความผิดหวังต่อสิ่งที่เขาได้ทำลงไป จากคลิป “วาเอล โกนิม กับความจริงที่เขาตระหนักรู้หลังจากที่ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จนั้นผ่านไป” ดังนี้

25 มกราคม ค.ศ. 2011 ชาวอียิปต์ก็ออกมาเดินจนเต็มถนนในกรุงไคโร และเมืองอื่น ๆ เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ทำลายกำแพงแห่งความกลัว และประกาศศักราชใหม่ และแล้วที่สุดมันก็ได้ผล

ผมเคยพูดว่า “ถ้าเราต้องการปลดปล่อยสังคม สิ่งที่เราจำเป็นต้องมีก็แค่อินเตอร์เน็ต” แต่ผมคิดผิด ผมเคยพูดประโยคนี้เมื่อ ปี ค.ศ. 2011 ตอนที่ผมสร้างเพจบน Facebook โดยไม่เปิดเผยตัวตน แล้วมันก็ช่วยจุดชนวนการปฏิวัติในอียิปต์ เหตุการณ์อาหรับสปริงไม่เพียงเผยให้เห็นถึงความสามารถสูงสุดของสื่อสังคมออนไลน์ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงจุดที่แย่ที่สุดของมันด้วย เครื่องมือเดียวกันที่ช่วยให้เราสามารถรวบรวมกำลังเพื่อล้มล้างเหล่าผู้นำเผด็จการ แต่สุดท้ายก็ทำให้เราต้องแตกแยกกัน ผมขอแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และพูดเกี่ยวกับความยากลำบาก และความท้าทายต่าง ๆ ที่ผมเจอมาเองกับตัว และเราสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง 

วาเอล โกนิม ได้สร้างเพจบน Facebook และตั้งชื่อเพจว่า “เราทุกคนคือ คาเลด ซาอิส” (We are all Khaled Said) เพียงแค่ 3 วัน มีคนเข้ามาติดตามเพจนี้เกิน 100,000 คน

ในช่วงต้นปี 2000 บรรดาเว็บของชาวอาหรับกำลังปั่นป่วนเว็บ มีความรู้สึกกระหายความรู้และโอกาส และอยากติดต่อกับผู้คนทั่วโลก เราหนีความจริงเกี่ยวกับการเมืองอันหน้าผิดหวัง และไปใช้ชีวิตอยู่บนโลกเสมือนจริงซึ่งแตกต่าง ผมก็เหมือนชาวอาหรับเหล่านั้นที่ไม่เคยสนใจการเมืองจนกระทั่งปี ค.ศ. 2009 เมื่อผมได้ล็อกอินเข้าใช้สื่อสังคมออนไลน์ ผมเริ่มเห็นชาวอียิปต์มากขึ้นและมากขึ้นเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ มันทำให้ผมรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2010 อินเตอร์เน็ตเปลี่ยนของชีวิตผมไปตลอดกาล ขณะที่กำลังเล่น Facebook ผมก็เห็นรูปถ่ายถ่ายอันน่าสยดสยอง ศพที่ผ่านทารุณกรรมของชายหนุ่มอียิปต์คนหนึ่ง เขาชื่อ “คาเลด ซาอิส” (Khaled Said) ชายหนุ่มวัย 29 ปี ชาวเมืองอเล็กซานเดรียซึ่งถูกตำรวจสังหาร ผมรู้สึกว่าเหมือนเห็นตัวเองในรูปเหล่านั้น ผมคิดว่า “เราก็อาจเป็นเหมือนคาเลดได้” คืนนั้นผมนอนไม่หลับ และตัดสินใจทำบางอย่าง ผมสร้างเพจบน Facebook และตั้งชื่อเพจว่า “เราทุกคนคือ คาเลด ซาอิส” (We are all Khaled Said) เพียงแค่ 3 วัน มีคนเข้ามาติดตามเพจนี้เกิน 100,000 คน ซึ่งเป็นเหล่ามิตรสหายชาวอียิปต์ที่มีความเห็นร่วมกันเช่นเดียวกับผมในประเด็นนี้ เราต้องหยุดการกระทำอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ 

มกราคม ค.ศ. 2011 Zine El Abidine Ben Ali อดีตประธานาธิบดีของตูนีเซียต้องหนีออกจากประเทศตัวเอง หลังจากพ่ายแพ้ต่อกลุ่มผู้ชุมนุต่อต้านรัฐบาล

ผมรับเอา อับเดล ราห์มัน แมนเซอร์ (Abdel Rahman Mansour) มาช่วยดูแลเพจนี้ ผมทำงานร่วมกับเขาตลอดเวลา เราร่วมกันสร้างสรรค์กลุ่มคน เพื่อเสาะหาแนวคิดจากผู้คน เรายอมให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วม เราได้รวมตัวกันเรียกร้องให้มีการทำอะไรสักอย่าง และแชร์ข่าวที่รัฐบาลไม่ต้องการให้ชาวอียิปต์รับรู้ จนกลายเป็นเพจที่คนติดตามมากที่สุดในโลกอาหรับ มีจำนวนลูกเพจมากกว่าองค์กรสื่อที่เคยจัดตั้งมาก่อนหน้านี้ และยังมากกว่าเพจคนดัง ๆ แถวหน้าเสียอีก ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2011 เมื่อ Zine El Abidine Ben Ali อดีตประธานาธิบดีของตูนีเซียต้องหนีออกจากประเทศตัวเอง หลังจากพ่ายแพ้ต่อกลุ่มผู้ชุมนุต่อต้านรัฐบาล ผมได้เห็นประกายแสงแห่งความหวัง ชาวอียิปต์ในสื่อสังคมออนไลน์กำลังสงสัยว่า “ถ้าตูนีเซีย ทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้?” ผมจึงโพสต์งานกิจกรรมการเคลื่อนไหวลงใน  Facebook โดยตั้งชื่อว่า “การปฏิวัติต่อต้าน การคอรัปชั่น ความไม่เป็นธรรม และอำนาจเผด็จการ” ผมตั้งคำถามกับผู้ใช้งานในเพจจำนวน 300,000 คน ณ ตอนนั้นว่า วันนี้คือ วันที่ 14 มกราคม และวันที่ 25 มกราคมเป็นวันตำรวจแห่งชาติ เป็นวันหยุดประจำชาติ ถ้าพวกเรา 100,000 คนออกไปเดินบนท้องถนนทั่วกรุงไคโร คงไม่มีใครเข้ามาหยุดเราได้ ผมอยากรู้ว่า พวกเราจะทำได้มั้ย เพียงแค่ไม่กี่วัน มีการส่งคำเชิญนี้ไปยังผู้คนกว่า 1 ล้านคน และมีผู้คนกว่า 100,000 คน ตอบยืนยันการเข้าร่วมกิจกรรม โดยสื่อสังคมออนไลน์มีความสำคัญต่อการรณรงค์ครั้งนี้เป็นอย่างมาก มันช่วยปลุกระดมการเคลื่อนไหวของผู้คนตามจุดต่าง ๆ ทำให้ผู้คนตระหนักว่า พวกเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ทำให้เห็นว่า เรามีโอกาสหยุดรัฐบาลได้ แม้ว่าเวลานั้นพวกเขายังไม่เข้าใจนักว่า มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 2011 ชาวอียิปต์ก็ออกมาเดินจนเต็มถนนในกรุงไคโร และเมืองอื่น ๆ เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ทำลายกำแพงแห่งความกลัว และประกาศศักราชใหม่ และแล้วที่สุดมันก็ได้ผล

ประธานาธิบดี Hosni Mubarak ถูกกดดันให้ลงจากตำแหน่ง

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนรัฐบาลจะทำการตัดสัญญาณ โทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต ประมาณเที่ยงคืน ขณะที่ผมกำลังเดินบนถนนที่มืดมิดในกรุงไคโร ผมพึ่งจะทวิตไปว่า “ขอพระเจ้าคุ้มครองอียิปต์ รัฐบาลคงเตรียมการสังหารหมู่ในวันพรุ่งนี้แน่ ๆ” ผมก็ถูกตีเข้าที่หัวอย่างแรง ผมสูญเสียการทรงตัวและล้มลง ทำให้รู้ว่า มีชายติดอาวุธ 4 คนล้อมผมอยู่ คนหนึ่งปิดปากผม ส่วนคนอื่น ๆ จับผมไว้ ผมรู้ตัวว่า กำลังโดนอุ้มโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาล ผมรู้ตัวอีกทีก็อยู่ในคุกแล้ว ถูกสวมกุญแจมือ ปิดตา ผมรู้สึกกลัวมาก ครอบครัวผมก็เช่นกัน พวกเขาพยายามตามหาผม ทั้งโรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือแม้แต่ในห้องดับจิต เพื่อนร่วมงานผมส่วนหนึ่งที่รู้ว่า ผมเป็นแอดมินของเพจนั้น ได้บอกกับสื่อเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของผมกับเพจนั้น และผมน่าจะถูกอุ้มโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาล เพื่อนร่วมงานของผมที่บริษัท Google เริ่มการรณรงค์เพื่อหาตัวผม และเพื่อน ๆ ซึ่งชุมนุมที่จัตุรัสก็เรียกร้องให้ปล่อยตัวผม หลังจาก 11 วันที่ต้องอยู่กับความมืดมิด ผมถูกปล่อยเป็นอิสระ และ 3 วันให้หลังประธานาธิบดี Hosni Mubarak ถูกกดดันจนต้องลงจากตำแหน่ง มันเป็นช่วงเวลาที่ให้แรงบันดาลใจ และทำให้ผมมีพลังมากที่สุดในชีวิต มันเป็นเวลาของความหวังอันยิ่งใหญ่ ชาวอียิปต์ใช้เวลาอันสงบสุขบนสังคมในอุดมคติเป็นเวลา 18 วันในระหว่างการปฏิวัติ พวกเขามีความเชื่อร่วมกันว่า พวกเราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าพวกเราจะแตกต่างกัน อียิปต์หลังจากยุค Mubarak จะเป็นของทุก ๆ คน

13 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ทหารก็เข้ายึดอำนาจจากประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยระบอบประชาธิปไตย หลังจากสามวันที่มีการชุมนุมประท้วงอันดุเดือด และเรียกร้องให้เขาลงจากตำแหน่ง

แต่โชคร้าย เหตุการณ์หลังการปฏิวัติเหมือนกับการถูกตุ้ยท้อง ความสงบได้หายไป เราไม่สามารถทำประชามติกันได้ และความขัดข้องทางการเมืองนำไปสู่การแบ่งขั้วอำนาจ สื่อสังคมออนไลน์ก็แค่ทำให้สถานการณ์ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยใช้เป็นที่เผยแพร่ ข้อมูลเท็จ ข่าวลือ การรับข้อมูลด้านเดียว และการใช้คำในการสร้างความเกลียดชัง สภาพแวดล้อมตอนนั้นเป็นพิษอย่างรุนแรง โลกออนไลน์ของผมกลายเป็นสนามรบ เต็มไปด้วย พวกเกรียน คำโกหก และการใช้คำในการสร้างความเกลียดชัง ผมเริ่มกังวลในความปลอดภัยของครอบครัวของผม แต่ที่แน่ ๆ มันไม่ได้เป็นเรื่องของผมคนเดียว การแบ่งขั้วอำนาจเดินไปจนถึงขีดสุดระหว่างสองขั้วอำนาจหลัก คือ ผู้สนับสนุนทหาร กับกลุ่มมุสลิม คนที่อยู่ตรงกลางเช่นผม เริ่มรู้สึกไร้ที่พึ่ง ทั้งสองกลุ่มต้องการให้เราเลือกข้าง ไม่อยู่ฝั่งเดียวกับพวกเขาก็ต้องอยู่ฝั่งตรงข้าม และวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ทหารก็เข้ายึดอำนาจจากประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยระบอบประชาธิปไตย หลังจากสามวันที่มีการชุมนุมประท้วงอันดุเดือด และเรียกร้องให้เขาลงจากตำแหน่ง 

วันนั้นผมต้องตัดสินใจเรื่องที่ยากอย่างหนึ่ง ผมตัดสินใจที่จะเงียบ เงียบสนิท มันเป็นช่วงเวลาแห่งความพ่ายแพ้ ผมอยู่เงียบ ๆ เป็นเวลานานกว่า 2 ปี และผมได้ใช้เวลานั้นครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด พยายามทำความเข้าใจว่า มันเกิดขึ้นได้ยังไง มันทำให้ผมได้เข้าใจว่า ขณะที่มันเป็นเรื่องจริงที่หลัก ๆ แล้วการขับเคลื่อนจนเกิดการแบ่งขั้วอำนาจนั้น มาจากพฤติกรรมของมนุษย์ สื่อสังคมออนไลน์นั้นทำให้พฤติกรรมดังกล่าวกลายเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และขยายผลกระทบเป็นวงกว้าง สมมติว่า คุณอยากพูดบางอย่างซึ่งไม่ได้มาจากข้อเท็จจริง การรับคำท้าหรือเมินเฉยต่อคนบางคนที่คุณไม่ชอบ เหล่านี้คือ แรงกระตุ้นโดยธรรมชาติของมนุษย์ แต่เพราะด้วยเทคโนโลยี การสนองตอบต่อแรงกระตุ้นนี้ก็แค่ใช้เพียงคลิกเดียวเท่านั้น 

ผมมองว่า มีความท้าทายที่เข้าขั้นวิกฤตอยู่ 5 เรื่อง ในการเผชิญต่อสื่อสังคมออนไลน์เช่นทุกวันนี้ 

เรื่องแรก พวกเราไม่รู้ว่า จะจัดการพวกข่าวลือยังไง ข่าวลือที่ออกมาสนองตอบต่ออคติของผู้เสพ กลายเป็นข่าวที่คนเชื่อและแพร่กระจายไปยังผู้คนนับล้าน 

เรื่องที่สอง เราสร้างการรับข่าวสารข้างเดียวของเราเอง เรามักเลือกที่จะสื่อสารเฉพาะกับกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับเรา และต้องขอบคุณสื่อสังคมออนไลน์ เพราะ เราสามารถ ปิดการแจ้งเตือน ยกเลิกการติดตาม และปิดกั้นใครก็ได้ 

เรื่องที่สาม การสนทนาออนไลน์ลุกลามรวดเร็วจนกลายเป็นกลุ่มผู้ประท้วงที่เกี้ยวกราด เราทุกคนน่าจะรู้อยู่แก่ใจว่า มันเหมือนราวกับ พวกเราลืมไปแล้วว่า คนที่อยู่เบื้องหลังจอนั้น ก็คือคนจริง ๆ นั่นแหละ ไม่ใช่แค่รูปตัวแทน 

เรื่องที่สี่ มันยากมากมากที่จะเปลี่ยนความคิดเห็นของพวกเรา เพราะว่า ความรวดเร็วและกระชับของสื่อสังคมออนไลน์ เราถูกบังคับให้พุ่งประเด็นไปที่ข้อสรุป และเขียนความเห็นสั้น ๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษร เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ซับซ้อนบนโลก และเมื่อเราเขียนมันแล้ว มันจะปรากฏอยู่บนอินเตอร์เน็ตตลอดกาล และเรามีแรงน้อยมากในการเปลี่ยนแปลงมุมมองเหล่านี้ แม้ว่าจะมีการค้นพบหลักฐานใหม่ ๆ ก็ตาม 

เรื่องที่ห้า และในมุมมองของผมนี่คือ เรื่องที่วิกฤตที่สุด ทุกวันนี้ประสบการณ์ในการใช้สังคมออนไลน์ถูกออกแบบด้วยแนวทางที่เน้นการแพร่กระจายข่าวสารมากกว่าการมีส่วนร่วมกับผู้ชม ชอบการโพสต์มากกว่าการถกประเด็น ชอบความเห็นอันตื้นเขินมากกว่าการสนทนาที่ลึกซึ้ง เหมือนกับเรายอมรับว่า เราอยู่ตรงนี้เพื่อพูดจาใส่กัน แทนที่จะพูดคุยร่วมกัน ผมได้เห็นเป็นพยานแล้วว่า เรื่องท้าทายนี้ส่งผลอย่างไรต่อสังคมอียิปต์ที่แตกแยกไปเรียบร้อยแล้ว แต่นี่ไม่ใช่เรื่องของอียิปต์เพียงประเทศเดียว การแบ่งขั้วอำนาจ แบ่งข้าง แบ่งฝ่าย กำลังเกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก 

ในปี ค.ศ. 2011 นิตยสารไทม์ได้ใส่ วาเอล โกนิม ไว้ในรายชื่อ 100 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดประจำปี ค.ศ. 2011

เราต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาวิธีว่า จะนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร มากกว่าที่จะให้เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ทุกวันนี้มีการโต้กันมากมายว่า จะทำอย่างไรจึงจะสามารถต่อสู้กับการคุกคามทางออนไลน์ และต่อกรกับพวกเกรียนได้ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่เราจำเป็นต้องคิดด้วยว่า จะออกแบบประสบการณ์ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างไร จึงจะส่งเสริมความเป็นพลเมืองดี และให้รางวัลแก่ความมีวิจารณญาณ ผมทราบความจริงอย่างหนึ่งว่า ถ้าหากผมเขียนโพสต์ที่กระทบความรู้สึกมากขึ้น เขียนในมุมมองด้านเดียวมากขึ้น และในบางครั้งโกรธและก้าวร้าวมากขึ้น ผมต้องได้คนมาเห็นโพสต์นั้นเป็นแน่ ผมจะได้รับความสนใจมากขึ้น แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราเน้นคุณภาพมากขึ้น อะไรสำคัญกว่า : จำนวนคนอ่านโพสต์ที่คุณเขียน หรือ ใครคือคนที่ได้รับผลกระทบหลังจากอ่านที่คุณเขียน ทำไมเราไม่ทำเพียงแค่กระตุ้นให้ผู้คนเข้าร่วมในบทสนทนามากขึ้น แทนที่จะเอาแต่เผยแพร่ความคิดเห็นอยู่ตลอด หรือให้รางวัลกับคนที่อ่าน และตอบกลับในมุมมองที่พวกเขาก็ไม่เห็นด้วย และทำให้มันเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วยว่า เราเปลี่ยนความคิดเขา หรืออาจแม้แต่จะให้รางวัล ถ้าเรามีเงื่อนไขที่วัดได้ว่า มีคนจำนวนกี่คนที่เปลี่ยนความคิด และกลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเรา ถ้าผมสามารถติดตามว่า มีจำนวนคนกี่คนที่กำลังจะเปลี่ยนความคิด ผมอาจจะเขียนโพสต์บนสื่อโซเชียลอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น ผมจะพยายามทำอย่างนั้นแทนที่จะดึงดูดกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับผมอยู่แล้ว “กดไลค์” จะกลายเป็นด้วยว่า ผมไปสนองอคติของเขา

เราจำเป็นต้องคิดกลไกการร่วมสร้างกลุ่มคนที่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ และให้รางวัลแก่ผู้คนเหล่านั้นที่เข้ามามีส่วนร่วม สิ่งสำคัญคือ เราต้องคิดเรื่องระบบนิเวศน์ของสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันใหม่ และออกแบบประสบการณ์การใช้งานใหม่ด้วย  เพื่อให้รางวัลแก่ความมีวิจารณญาณ ความเป็นพลเมืองดี และความเข้าใจร่วมกัน ในฐานะที่ผมเชื่อในอินเตอร์เน็ต ผมรวบรวมทีมจากกลุ่มเพื่อนไม่กี่คน เพื่อพยายามหาคำตอบและสำรวจความเป็นไปได้ ผลิตภัณฑ์แรกของเราคือ แพลตฟอร์มของสื่อแบบใหม่เพื่อการสนทนา เรากำลังให้บริการการสนทนาที่ส่งเสริมความเข้าใจร่วมกัน และหวังว่า จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแนวคิด เราไม่อวดอ้างว่า เราได้พบคำตอบ แต่เราได้เริ่มทดลองกับการสนทนาที่แตกต่างกันเกี่ยวกับปัญหาการแตกแยกที่รุนแรงต่าง ๆ เช่น การโต้วาทีในเรื่อง ชาติพันธุ์ การควบคุมอาวุธปืน ผู้ลี้ภัย ความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมและการก่อการร้าย เหล่านี้คือ บทสนทนาที่สำคัญ ทุกวันนี้อย่างน้อยหนึ่งในสามของคนบนโลกสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ แต่ส่วนหนึ่งของอินเตอร์เน็ตกำลังถูกจองจำโดยด้านที่มืดบอดของคุณธรรมด้วยพฤติกรรมของมนุษย์เรา เมื่อก่อนผมเคยพูดว่า “ถ้าคุณต้องการปลดปล่อยสังคม สิ่งที่คุณจำเป็นต้องมีก็แค่อินเตอร์เน็ต” แต่วันนี้ผมเชื่อว่า “ถ้าเราต้องการปลดปล่อยสังคม เราต้องเริ่มจากการปลดปล่อยอินเตอร์เน็ตก่อน” ขอบคุณมากครับ

ตอนนี้เราทำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับพฤติกรรมออนไลน์ เราจะใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างความสุภาพ และการโต้แย้งอย่างมีเหตุผลได้อย่างไร URL คลิปที่วาเอล โกนิมพูดเรื่องนี้ (พร้อม Sub Title ไทย) ได้ที่ http://https://youtu.be/HiwJ0hNl1Fw

Revolution 2.0: The Power of the People Is Greater Than the People in Power: A Memoir แต่งโดย วาเอล โกนิม

วาเอล โกนิม ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่สามารถอธิบายข้อสงสัยเกี่ยวกับที่มาของ Facebook "We are all Khalid Said" ซึ่งเชื่อกันว่า มีผู้ริเริ่มสร้างเพจนี้มากกว่าหนึ่งคน ยิ่งไปกว่านั้นมีผู้คนมากกว่า 360,000 คนเข้าร่วม Facebook ส่วนตัวของเขา และอีกกว่า 3,000,000 คนเข้าร่วมเพจ Facebook "We are all Khaled Said" ซึ่งดำเนินการโดยเขา และผู้ดูแลระบบอีกคนคือ อับเดล ราห์มัน แมนเซอร์ (Abdel Rahman Mansour) และ Facebook "We are Khaled Said" มีส่วนอย่างสำคัญในการจุดประกายการปฏิวัติอียิปต์ ในปี ค.ศ. 2011 นิตยสารไทม์ได้ใส่ วาเอล โกนิม ไว้ในรายชื่อ 100 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดประจำปี ค.ศ. 2011 และ World Economic Forum ได้เลือกให้ วาเอล โกนิม เป็นหนึ่งใน Young Global Leaders ในปี ค.ศ. 2012 ด้วย

ด้วย “คำสารภาพของ วาเอล โกนิม” สังคมไทยจะต้องไม่ยอมให้อินเตอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชังและโกรธแค้น แต่ต้องใช้เพื่อการสร้างสรรค์ ประเทืองปัญญา และจรรโลงสังคม ด้วยการแยกแยะ ผิด ชอบ ชั่ว ดี ในการแปลง “ข้อมูล” ให้เป็น “ข่าวสาร” พิจารณาใคร่ครวญให้ “ข่าวสาร” กลายเป็น “ความรู้” ใช้สติและศีลธรรมกำกับ “ความรู้” ให้เกิด “ปัญญา” เพื่อทำให้ สังคมไทย ประเทศชาติบ้านเมือง และโลก ได้มีความสงบสุข สวยสดและงดงาม เจริญรุ่งเรือง ด้วยความดีตลอดไป

เชื่อหรือไม่ ศิลปะบำบัด...แก้ปวดนิ้วจากการเล่นมือถือ

มือเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายและใช้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น จากการเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานการล้างหน้า การแปรงฟัน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำเป็นประจำทุกวัน เป็นต้น ทุกคนใช้มือเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงการประกอบอาชีพ ดังนั้นมือจึงควรได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เมื่อมือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการใช้งาน อาจส่งผลให้มือชาหรืออ่อนแรง เช่น อาการชาจากการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) ส่งผลให้ความสามารถในการใช้งานของมือลดลง เช่น การหยิบจับสิ่งของ การฝึกทักษะของมือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูให้มือกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีเช่นเดิม

กิจกรรมฝึกทักษะมือ
โดยปกติแล้วนักกิจกรรมบำบัดมีบทบาทในการตรวจประเมิน ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูความสามารถมือ เมื่อพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมือ เช่น ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อติด มีปัญหาการใช้งานของมือหรือการหยิบจับวัตถุ นักกิจกรรมบำบัดใช้กิจกรรมที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาเป็นสื่อในการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูให้เหมาะสมกับปัญหา โดยเริ่มปรับกิจกรรมจากง่ายไปยาก เพื่อพัฒนาความสามารถอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังนี้

1.) การบริหารมือและนิ้วมือ
กำมือ-แบมือ-กางนิ้วมือ-หุบนิ้วมือ-นิ้วตูมเข้าหากัน-พับนิ้วมือ-จีบนิ้วมือ

2.) การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังมือและนิ้วมือ
ออกแรงบีบวัตถุต่าง ๆ เช่น ลูกบอล ดินน้ำมัน แป้งโดว์ ตัวหนีบผ้า

3.) การฝึกหยิบจับวัตถุรูปแบบต่างๆ จากวัตถุขนาดใหญ่ไปจนถึงวัตถุขนาดเล็ก

นอกจากนี้สามารถผสมผสานกิจกรรมต่างๆ เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา การทำอาหาร มาร่วมในการฝึกทักษะมือ โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ทั้งนี้ยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและเป็นการกระตุ้นให้รู้สึกอยากทำกิจกรรมมากขึ้น 

ศิลปะบำบัดกับการบริหารมือ

1.) กิจกรรมปั้นดินน้ำมัน หรือแป้งโดว์

เริ่มจากออกแรงนวดดินน้ำมันเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อมือ

ใช้นิ้วมือกดดินน้ำมันให้แบน

ใช้ปลายนิ้วบีบดินน้ำมันให้แบน

ปั้นดินน้ำมันเป็นรูปร่างหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

2.) กิจกรรมตัวหนีบผ้า

จับตัวหนีบผ้าด้วยปลายนิ้วโป้งและนิ้วชี้

    

ฝึกจับตัวหนีบผ้าด้วยปลายนิ้วโป้งและด้านข้างของนิ้วชี้

หนีบตัวหนีบผ้าเป็นรูปร่างหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

3.) กิจกรรมตัวปั๊ม

เลือกตัวปั๊มที่ชอบและออกแรงกดตัวปั๊มลงบนแป้นหมึก

ออกแรงกดตัวปั๊มลงบนกระดาษ
ปั๊มเป็นรูปภาพหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

4.) กิจกรรมเสียบหมุดให้เป็นรูปภาพ

ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งหยิบหมุด

อาจใช้นิ้วกลางและนิ้วโป้งหรือนิ้วอื่น ๆ หยิบหมุด

เสียบหมุดเป็นรูปภาพหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ
 

5.) กิจกรรมระบายสี

เลือกรูปภาพและสีที่ชอบ ระบายสีให้สวยงามตามต้องการ 
 


ข้อมูลอ้างอิง 
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วัฒนา. (2531). ปัญหาของมือที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/998/Hand-Exercises

สิงคโปร์ ท้าโลกร้อน ขอเปลี่ยนเมืองร้อนให้เป็นเมือง Cool ด้วยนวัตกรรม

สิงคโปร์ ประเทศเล็ก ๆ แต่รวยมากในย่าน อาเซียน มีความเจริญแทบทุกด้านติดอันดับต้น ๆ ของโลก และเป็นศูนย์กลางธุรกิจการเงินในภูมิภาค ที่หลายคนต่างมองด้วยความทึ่ง ในความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองนี้ 

แต่ถึงจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีจุดแข็งในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็ยังมีปัญหาหนึ่งรัฐบาลสิงคโปร์พยายามแก้ไขมานานหลายสิบปี แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงของปัญหาได้ นั่นก็คือ "ความร้อน" 

สิงคโปร์เป็นประเทศในเขตร้อน อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรเพียง 137 กิโลเมตร สภาพอากาศจัดอยู่ในโซนป่าฝนเขตร้อน จึงมีอากาศร้อนชื้น ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่มักจะค่อนมาทางร้อน แดดจัด  อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ 27 องศาเซลเซียส

แต่นอกเหนือตำแหน่งที่ตั้งของสิงคโปร์ อยู่ในโซนเส้นศูนย์สูตรที่ก็ร้อนอยู่แล้ว สิงคโปร์ยังเจอปัญหาจาก Urban Heat Island Effect หรือปรากฏการณ์โดมความร้อน อันเนื่องจากสิงคโปร์เป็นเกาะที่มีสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกคอนกรีตสูงใหญ่เป็นจำนวนมาก ที่กักเก็บความร้อนให้ระอุอยู่ภายในเมือง จึงทำให้ตัวเมืองมีอากาศร้อนจัด

แต่ชาวสิงคโปร์ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของอดีตรัฐบุรุษผู้ล่วงลับ ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาผู้สร้างชาติสิงคโปร์  นาย ลี กวน ยู ที่มองเห็นว่า เมืองที่มีต้นไม้ร่มรื่นจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชาติ และส่งเสริมสุขภาพทั้งกาย และใจ ให้กับประชาชน 

จึงได้ริเริ่มแคมเปญปลูกต้นไม้ใหญ่บนเกาะสิงคโปร์ให้ได้อย่างน้อยปีละ 10,000 ต้น ตั้งแต่ปี 1963  และต่อมา วัฒนธรรมการปลูกต้นไม้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวสิงคโปร์ ที่จะมีวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ จัดในวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายน ตั้งแต่ปี 1971 โดย นายลี กวน ยู เอง  ที่ชักชวนชาวสิงคโปร์ให้ออกมาปลูกต้นไม้ด้วยกันในวันนี้ ซึ่งเขารักการปลูกต้นไม้มาก และจะเจียดเวลามาปลูกต้นไม้ให้ได้อย่างน้อยปีละ 60 ต้น เป็นประจำ 

และแคมเปญการปลูกต้นไม้ของรัฐบาลสิงคโปร์ ยังคงเดินหน้ามาถึงใน ปัจจุบัน และในปีนี้ 2021 รัฐบาลสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันนำโดย นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง บุตรชายของนายลี กวน ยู ก็ประกาศเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้บนเกาะสิงคโปร์ให้ได้ถึง 1 ล้านต้นภายใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้สิงคโปร์เป็นเมืองกลางสวนเขียวชอุ่มอย่างแท้จริง ตามที่พ่อของเขาเคยตั้งเป้าหมายไว้ 

ถึงแม้การปลูกต้นไม้ใหญ่ และ สร้างสวนสาธารณะชุมชนเพิ่มขึ้น จะบรรเทาความร้อนจากผลกระทบของ Urban Heat Island Effect ไปได้บ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิภายในเมืองสิงคโปร์ลดลง ตรงกันข้าม จากข้อมูลสถิติกลับพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกถึง 2 เท่า 

ซึ่งสิ่งที่มาเป็นตัวเร่ง และแรงเสริมที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในเมืองสิงคโปร์ยังคงพุ่งสูงอย่างน่ากลัว ก็คือปัญหาจากภาวะโลกร้อน  และคาดว่าอาจทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในสิงคโปร์เพิ่มถึง 35-37 องศา ภายในไม่เกินศตวรรษหน้า 

และด้วยปัญหาความร้อนนี้ จึงทำให้ชาวสิงคโปร์จำเป็นต้องพึ่งพาความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ ที่มักมีติดกันทุกบ้าน ทุกอาคาร เพื่อบรรเทาความร้อน ชื้นที่รุนแรงขึ้นทุกปี จึงไม่แปลกใจที่พบว่าในประเทศสิงคโปร์ มีจำนวนเครื่องปรับอากาศต่อประชากรมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

และยิ่งใช้เครื่องปรับอากาศมาก ก็ยิ่งไปเร่งให้เกิดปรากฏการณ์โดมความร้อน และยังเผาผลาญพลังงาน ปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มอีก กลายเป็นห่วงโซ่ของปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ไม่อาจแก้ได้แค่เพียงการปลูกต้นไม้ แต่ต้องลดการใช้พลังงานคาร์บอนและลดการพึ่งพาความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ

หว่อง ยุก เหียน อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เห็นว่า การออกแบบอาคารในสิงคโปร์นับจากนี้ ต้องคำนึงเรื่องการลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ที่สิ้นเปลืองพลังาน และไม่เป็นผลดีต่อสภาพอากาศในสิงคโปร์  เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องหานวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยทำให้อาคารเย็นลง ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบายโดยไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ และทางเลือกนั้นต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

โจทย์นี้ กลายเป็นที่มาของโครงการ Cooling Singapore Project ทีมนักวิจัยที่ต้องการหาทางออกให้กับสิงคโปร์ ด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการออกแบบ ที่ประกอบด้วยกุญแจสำคัญ 7 ประการ อันได้แก่ ความเขียวขจีของต้นไม้, เรขาคณิตของเมือง, การใช้น้ำลดความร้อน, การใช้วัสดุ พื้นผิวที่เหมาะสม. การสร้างร่มเงา, ระบบคมนาคม และการใช้พลังงาน

ดังจะเห็นได้จากรูปแบบสถาปัตยกรรมตึก และอาคารสมัยใหม่ของสิงคโปร์ จะเน้นความสำคัญของการออกแบบให้มีระดับความสูงต่ำ ที่แตกต่างกัน อาคารมีลักษณะโค้งมน และมีการเว้นช่องว่าง แทนที่จะเป็นทรงเหลี่ยม สร้างอย่างทึบแน่น เต็มพื้นที่ หรือเน้นความสูงระฟ้า เพื่อเปิดช่องทางลม ให้หมุนไหลเวียนภายในตัวเมือง ลดการสะสมความร้อนที่เป็นสาเหตุของ Urban Heat Island Effect

นอกจากนี้ยังมีการแทรกสวนหย่อม ต้นไม้ภายในอาคาร มีโซนบ่อน้ำเป็นฉนวนกันความร้อน ใช้วัสดุที่สะท้อนแสง และไม่เก็บความร้อน เน้นสีอ่อน เน้นความพริ้วเบา ที่ช่วยส่งเสริมการถ่ายเทลม

ยกตัวอย่างเช่นอาคาร โรงแรม Park Royal และ Oasis ในสิงคโปร์ ที่ผสานสวนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร  หรือโครงการ The Interlace คอนโดนิเนียมที่ได้รับรางวัลด้านสถาปัตย์ ที่ออกแบบเหมือนบล็อคที่ถูกนำมาวางซ้อนกัน แต่สับหว่างให้เกิดช่องลมไหลเวียนทั่วทั้งโครงการ 

นอกจากมุมมองด้านการออกแบบแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยี Cooling System ระบบทำความเย็นด้วยท่อน้ำเย็นขนาดใหญ่ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินของอาคาร และเดินท่อน้ำเย็นขึ้นไปภายในอาคาร เพื่อช่วยลดความร้อน แทนการใช้เครื่องปรับอากาศ แล้วไหลเวียนกลับสู่ระบบเพื่อปรับอุณหภูมิแล้ววนกลับไปใหม่ ตลอด 24 ชั่วโมง 

ซึ่งอาคารที่ใช้ระบบนี้ และมีชื่อเสียงอย่างมากก็คือ  Marina Bay District ที่มีศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อน้ำเย็นใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ดูแลระบบความเย็นทั้งภายในอาคารทั้งหมดใน Marina Bay District และ บริเวณใกล้เคียง ที่สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 40%  

และในอนาคต รัฐบาลสิงคโปร์มีแนวคิดที่จะขยายระบบท่อน้ำเย็นนี้ ให้ครอบคลุมทั่วทั้งอาคารพาณิชย์ และ อาคารที่อยู่อาศัยของประชาชนด้วย และเชื่อว่าจะสามารถลดการใช้พลังงาน และเครื่องปรับอากาศได้อย่างมาก 

ส่วนขั้นต่อไปของ Cooling Singapore 2.0  คือการขับเคลื่อนเมืองไปสู่ยุค Smart City ด้วยการพัฒนาระบบตรวจสอบประสิทธิภาพของเมือง ด้วยโปรแกรม Digital Urban Climate Twin (DUCT)  ในการประเมินผลลัพธ์ด้านสถาปัตย์ ระบบความเย็น สวนสาธารณะ พลังงานทางเลือก รถยนต์ปลอดคาร์บอน ว่ามีผลต่อสิ่งแวดล้อมภายในเมืองมากน้อยเพียงใด เพื่อประกอบเป็นข้อมูลในการวางผังเมือง การออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการมลภาวะภายในสิงคโปร์ให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการเปิดฉากต่อสู้กับภาวะโลกร้อนในแบบของสิงคโปร์ ประเทศที่ประกาศเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ภายใน ปี 2050 กับความฝันที่อย่างเป็นเมืองแห่งสวนสุด Cool เย็นได้ ไม่ง้อแอร์  ให้ได้จริง ๆ สักวันหนึ่ง 


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.bloomberg.com/news/features/2020-12-01/singapore-climate-change-reducing-heat-takes-trees-and-technology

https://www.todayonline.com/singapore/plant-underground-district-cooling-network-marina-bay-commissioned

https://www.channelnewsasia.com/news/cnainsider/singapore-hot-weather-urban-heat-effect-temperature-humidity-11115384

https://www.straitstimes.com/singapore/environment/cooling-singapore-project-comes-up-with-new-ways-to-beat-the-heat

https://www.clc.gov.sg/events/lectures/view/Building-and-Cooling-Singapore-in-an-Era-of-Climate-Change

https://www.cnbc.com/2016/03/27/lee-kuan-yew-was-actually-singapores-chief-gardener.htm


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top