ดอกประดู่กับสงกรานต์ในเมียนมาร์

โควิด-19 ได้พรากเทศกาลสงกรานต์ในเมียนมาร์หรือในภาษาพม่าเรียกว่า ตะจ่าน (Thingyan ภาษาเขียนออกเสียงว่าติงจ่าน) เทศกาลตะจ่าน เป็นวัฒนธรรมของชาวพม่าที่มีมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีแล้ว และถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อกำหนดวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ถึง 16 เมษายน ช่วงนี้จะเป็นช่วงสิ้นปีมีการเล่นสาดน้ำต้อนรับปีใหม่ และในวันที่ 17 เมษายน จะถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ คนเมียนมาร์จะทำความสะอาดบ้าน และนิมนต์พระมาฉันที่บ้าน อีกทั้งมีการบริจาคอาหารหรือขนมให้เพื่อนบ้าน รวมถึงบางครอบครัวมีการผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้านก็จะทำการสระผม ตัดเล็บให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัว ยามเย็นจะมีการนิมนต์พระมาสวดขับไล่สิ่งไม่ดี โชคร้าย โรคภัยไข้เจ็บให้ออกไปจากสถานที่แห่งนี้

และในเทศกาลตะจ่านนี้เอง มีดอกไม้ชนิดหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลนี้นั่นคือ ดอกปะเด้าก์ (Padauk) หรือดอกประดู่นั่นเอง ชาวเมียนมาร์จะมีการนำดอกประดู่มาประดับประดาตามอาคารบ้านเรือน สำนักงาน รถโดยสาร และบางคนจะทัดช่อดอกประดู่ไว้ที่ผมดูน่าชม   

สาเหตุที่ดอกประดู่ถือเป็นดอกไม้ประจำเทศกาลตะจ่านก็เพราะว่า ก่อนเทศกาลตะจ่านในเมียนมาร์ทุกปีจะมีฝนโปรยปราย ในเวลานั้นเอง ต้นประดู่จะแทงดอกออกรับน้ำฝนซึ่งจะบานเต็มที่ในช่วงเดือนเมษายน ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของปีใหม่ ดั่งดอกประดู่ที่เกิดใหม่อีกครั้งโดยการแทงดอกจนเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งเมือง

และในช่วงเวลานี้คนพม่าจะนิยมทำขนมที่เรียกว่า โมน โลน เหย่บอว์ เป็นขนมที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งข้าวเหนียวโดยใส่น้ำตาลโตนดไว้เป็นไส้ โดยทุกคนในบ้านหรือในชุมชนนนั้นจะช่วยกันในการปั้นขนมแล้วโยนลงไปในน้ำเดือดแต่สำหรับใครที่อยากจะแกล้งใครก็อาจจะใส่พริกเป็นไส้แทนน้ำตาลโตนดที่คนพม่าเรียกว่า ทันเนี่ยะ ก็ได้

และแม้ปีนี้ในเมียนมาร์ไม่ว่าจะมีการจัดเทศกาลตะจ่านหรือไม่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ผมก็หวังว่าคนเมียนมาร์คงยังไม่สิ้นหวังและกลับมายืนขึ้นใหม่ได้อีกครั้งเหมือนดั่งดอกประดู่ที่กลับมาบานใหม่ทุกปี