Tuesday, 30 April 2024
หม่องคำมิน

‘เมืองแปร’ มิแปรเปลี่ยนใจ สถานที่แห่งความทรงจำ กาลครั้งหนึ่งในเมียนมา

ผมมีโอกาสได้เดินทางไปในเมียนมาตั้งแต่เหนือจรดใต้ ได้พบสถานที่มากมาย ผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมและแนวคิด รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว แต่มีสถานที่หนึ่งที่มีความงดงามทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ผู้คนจนผมไม่มีวันลืม ที่นั่นคือ ‘เมืองแปร’ หรือ ‘เมืองปีย์’ ในภาษาพม่านั่นเอง

เมืองแปร ห่างจากย่างกุ้งออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 300 กิโลเมตร โดยการเดินทางสามารถไปได้ 2 ทางคือเดินทางผ่านเมืองมอว์บิ (Hmawbi) ขึ้นไปทางเมืองสายาวดี (Tharawaddy) จนถึงเมืองแปร ซึ่งเส้นนี้ระยะทางจะอยู่ที่ประมาณ 300 กิโลเมตร แต่หากคุณเป็นสายท่องเที่ยวแวะเมืองนั้นเมืองนี้ด้วยแล้วละก็สามารถไปอีกทางหนึ่งคือไปทางรัฐอิรวดีผ่านเมืองซาลุน (Zalun) แวะสักการะเจดีย์ Zalun Pyi Taw Pyan ที่มีตำนานว่าเคยเกือบฆ่าพระนางวิคตอเรียมาแล้ว โดยเรื่องราวนี้มีอยู่ว่าเมื่ออังกฤษยึดพม่าเป็นเมืองขึ้นได้แล้วก็ขนทองเหลืองกลับไปอังกฤษเพื่อหลอมทำปืนใหญ่ ซึ่งทองเหลืองที่ติดไปด้วยในครั้งนั้นคือพระพุทธรูปแห่งเมืองซาลุนแห่งนี้ 

เมื่อไปถึงช่างหลอมปืนใหญ่ก็ป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาหายตายไปเรื่อย ๆ ส่วนพระนางวิคตอเรียในขณะนั้นก็ทรงพระสุบินประหลาดว่ามีคนน่ากลัวมาบอกว่าหากไม่นำพระพุทธรูปแห่งเมืองซาลุนที่อยู่ในห้องเก็บทองเหลืองสำหรับหล่อปืนใหญ่กลับไปคืน พระนางจะสิ้นพระชนม์ภายใน 10 วัน เมื่อพระนางตื่นจากความฝันก็ทรงให้เหล่าทหารไปค้นหาว่ามีพระพุทธรูปนี้จริงไหม สรุปว่ามีจริง…ทำให้พระนางรีบส่งพระพุทธรูปนี้กลับจากอังกฤษมายังพม่าเพื่อกลับมาประดิษฐานยังที่นี่นับจากนั้นเป็นต้นมา

พระพุทธรูป Zalun Pyi Taw Pyan ที่พระนางวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรยังหวาดหวั่นในความศักดิ์สิทธิ์

แต่เส้นทางนี้จะสมบุกสมบันกว่าเส้นทางแรกและมีระยะทางยาวกว่า 100 กิโลเมตร และยังใช้เวลาเดินทางมากกว่าทางแรกมากกว่า 2 ชั่วโมงอีกด้วย หากใครใจไม่รักในการเที่ยวแบบลุย ๆ เสียเวลานั่งรถชมวิวไปเรื่อยแล้วละก็แนะนำเส้นทางแรกดีกว่า

เมื่อมาถึงเมืองแปรแล้ว ที่นี่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายแต่สถานที่ที่เป็นไฮไลท์ของที่นี่เลย ผมขอแนะนำ 2 ที่สำหรับใครที่มาเมืองแปรแล้วถ้าไม่มาที่นี่ถือว่ามาไม่ถึง ที่แรกคือแหล่งมรดกโลกอาณาจักรศรีเกษตร (Thayay Khittayar Ancient Cities) ที่นี่คือจุดกำเนิดของจักรวรรดิเมียนมาที่ยิ่งใหญ่ ที่นี่เป็นอาณาจักรของชาวพิว (Pyu) ในภาษาไทยมักจะเขียนว่าพยู หรือ ปะยู เป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่เจริญรุ่งเรืองในช่วงเดียวกันกับอาณาจักรฟูนัน ศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ที่เมืองศรีเกษตร ปัจจุบันคือเมืองเมืองฮมอซา (Hmawza) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองแปร (Pyay) ไปทางใต้ 6 ไมล์ มีอาณาบริเวณครอบคลุมบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดีในภาคกลาง และภาคใต้ของประเทศพม่าในปัจจุบัน ชนชาติปะยูนับถือพระพุทธศาสนา ได้รับความเจริญทางอักษรศาสตร์จากอินเดีย ชนชาติพิวนั้นมีเชื้อสายเดียวกับพม่า โดยอพยพลงมาจากทิเบตและทางตอนใต้ของจีน ในยุคที่รุ่งเรืองอาณาจักรนี้มีอำนาจปกครองเกือบตลอดแหลมมลายู จากนั้นถูกชนชาติมอญและอาณาจักรน่านเจ้ารุกราน และเริ่มเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ หลังจากนั้นก็ตกอยู่ในอำนาจของอาณาจักรพุกาม เมื่อพระเจ้าอโนรธามังช่อ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกาม เข้ามารุกรานทำให้อาณาจักรศรีเกษตรล่มสลายไป

มีหลักฐานมากมายว่าชาวพิว มีความสัมพันธ์กับชาวพม่าในยุคต่อ ๆ มา โดยแสดงออกมาทางสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่พบในเมืองศรีเกษตร อย่างเช่นเจดีย์ขนาดใหญ่แบบก่อตัน เป็นเจดีย์ทรงระฆังชื่อว่าเจดีย์บอบอจี (Bawbaw Gyi) และเจดีย์ปะยาจีย์ (Pya Gi) ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นแบบให้กับงานสถาปัตยกรรมของพม่าในยุคต่อ ๆ มา ได้แก่ เจดีย์ชเวดากอง มิงกาลาเจดีย์ เจดีย์ธรรมยันสิกะ เป็นต้น มีเจดีย์วิหารเป็นสิ่งก่อสร้างจากอิฐที่มีลักษณะรวมกันระหว่างเจดีย์ก่อตันและอาคาร (วิหาร) ที่เข้าไปใช้สอยพื้นที่ภายในในการประกอบพิธีกรรมได้ เจดีย์วิหารที่สำคัญ ได้แก่ วิหารเบเบจี (Bebe Gyi) และวิหารเลเมียทนา (Limyethna) อาคารลักษณะนี้เชื่อว่าพัฒนาไปเป็นเจดีย์วิหารที่มีขนาดใหญ่ในสมัยพุกามต่อมา นอกจากนี้ยังพบหลักฐานงานประติมากรรมที่ทำจากหินสลัก ประติมากรรมดินเผา ซึ่งพบว่าเป็นดินชนิดเดียวกับอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารและเจดีย์ ประติมากรรมสำริด โดยมีการพบหลักฐานชิ้นสำคัญคือ ประติมากรรมสำริดกลุ่มนักดนตรีและนักเต้นรำ โดยที่ท่ารำนั้นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างอารยธรรมของอาณาจักรอินเดียและอาณาจักรศรีเกษตร

อีกสถานที่หนึ่งที่ผมขอแนะนำในแปรคือ ภูเขาอะก๊อกต่อง (A Kauk Taung) รูปหินสลักพระพุทธเจ้าที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิรวดี หากใครจะเดินทางไปชมจะต้องไปลงเรือของชาวบ้านแล้วเดินทางไปยังที่แห่งนี้  เชื่อว่ารูปสลักหินที่นี่มีอายุร่วมสมัยกับอาณาจักรศรีเกษตรคือมากกว่า 2500 ปีเลยทีเดียว

แม้ผมจะเคยไปมาแล้ว แต่ที่นี่ก็ยังอยู่ในความประทับใจไม่ลืมเลือนและหากสถานการณ์ในเมียนมาเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อใด ผมจะกลับไปเยือนอีกครั้งแน่นอน และที่นี่คือ “เมืองแปร สถานที่ที่เวลาไม่เคยทำให้มนต์เสน่ห์ของเมืองแปรเปลี่ยนไป”

แฝดคนละฝา !! วัฒนธรรม​ 'เมียนมา-อินเดีย'​ ที่ยากจะแยกออก

คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศที่รับวัฒนธรรมของอินเดียมาแบบเต็ม ๆ แม้จะไม่ได้เป็นประเทศที่นับถือฮินดูเป็นศาสนาหลัก และไม่ได้เป็นเขตอิทธิพลของชมพูทวีปมาก่อน ประเทศนั้นคือเมียนมานั่นเอง สังเกตได้จากเวชภัณฑ์ในเมียนมาร์ส่วนใหญ่มาจากอินเดีย รวมถึงภาพยนตร์อินเดียในเมียนมาก็ยังได้รับความนิยมอย่างสูง

Biogesic ยาพาราเซตามอลจากอินเดียที่ขายดีในเมียนมา

และที่เห็นจนชินตาในสังคมเมียนมา จนนึกว่านี่คือวัฒนธรรมต้นตำรับของเมียนมาแล้วละก็...นั่นคืออาหารอินเดีย ที่มีอยู่มากมายและหลากหลายเมนู ถูกสอดแทรกในร้านอาหารพม่าจนคิดว่านี่คืออาหารพม่าไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ‘ซาโมซา’ และ ’นานเปีย เปียง’  หรือในไทยคือ ‘โรตีโอ่ง’ อาหารชื่อดังของแม่สอด ที่พบเห็นได้เป็นปกติในร้านชาในเมียนมมา รวมถึงร้านชานมใหญ่ ๆ บางร้าน มีอาหารเช้าสไตล์อินเดียอย่าง โตเช ซึ่งเป็นแป้งกรอบทานกับมันฝรั่งบดและซุปถั่วสไตล์อินเดีย

อาหารอินเดียที่พบเห็นได้ในร้านอาหารเช้าในเมียนมา

โตเช

แนนเปียกับชานม

ซาโมซา ทานกับชานม และปาท่องโก๋

แต่ที่เราอาจจะลืมไปแล้ว ว่านี่คือเมนูยอดฮิตของคนเมียนมาที่เป็นอาหารอินเดียแท้ ๆ เลยแบบไม่ได้ทวิสต์แบบไทยคือ ข้าวหมก หรือในพม่าเรียกว่า ‘Dan Pauk’ ออกเสียงว่า ‘แดนเป๊าก์’ ซึ่งในเมียนมามี 2 แบบ คือ ข้าวหมกไก่ และข้าวหมกแพะ เนื่องจากคนเมียนมาส่วนใหญ่ทานเนื้อแพะมากกว่าเนื้อวัว จึงไม่มีข้าวหมกเนื้อขาย

ข้าวหมกในเมียนมานี่เรียกได้ว่าแทบจะถอดแบบข้าวหมกของอินเดียมาแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะอุดมไปด้วยกลิ่นของเครื่องเทศแล้ว บางทีตักข้าวขึ้นมาเคี้ยว ๆ ติดลูกกะวาน ใบกานพลูขึ้นมาด้วยซ้ำ ข้าวหมกในเมียนมาร์ส่วนใหญ่จะมีใส่ธัญพืชเข้าไปด้วยเช่นเม็ดถั่วลันเตา แครอทเข้าไปเพื่อเพิ่ม Texture ในการทานให้มีความอร่อยมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมียนมา คนเมียนมานิยมใช้ไก่พื้นบ้านของเมียนมามาทำเป็นข้าวหมกไก่ เพราะเนื้อไก่ที่ได้จะมีเนื้อแน่น เวลาทานจะสู้ฟันกว่าไก่ฟาร์มซึ่งจะออกไปทางเนื้อฟู คนเมียนมาจะนิยมทานกับซอสมะม่วงที่มีรสชาติเปรี้ยวเค็ม และพริกป่น ซึ่งจะต่างจากไทยที่ทานกับซอสบ๊วยที่มีรสหวาน


ข้าวหมกไก่ของพม่า  

ข้าวหมกไก่ของไทย

ข้าวหมกในเมียนมาราคาจะอยู่ที่ประมาณ จานละ 1,500 จ๊าด สำหรับแบบสตรีทฟู๊ด ไปจนถึง 3,500 จ๊าด ที่เป็นร้านข้าวหมกมีแบรนด์และมีสาขา คิดเป็นราคาไทยประมาณ 30-70 บาทต่อจาน ข้าวหมกเจ้าดังที่มีหลายสาขาในเมียนมาร์ก็มี KSS, KK, Nilar, Kyat Shar Soe โดยแต่ละร้านจะมีรสชาติแตกต่างกันไปตามแต่ละร้าน ตามแต่ใครชอบรสชาติแบบไหน หากคุณมาเมียนมาและอยากสัมผัสกลิ่นอายของอินเดีย นอกจากอาหารอินเดียที่หาทานได้จากร้านชามแล้ว ข้าวหมกก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก ที่อยากให้คุณได้ลิ้มลองความเป็นอินเดียที่ฝังอยู่ในวิถีชีวิตของคนเมียนมาร์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน


ข้อมูลอ้างอิง : ขอบคุณภาพจาก
Biogesic Myanmar Facebook Page
ข้าวหมกไก่สยาม
KSS Briyani Shop
 

นัตจินหน่อง ผู้มีเมียแก่คราวแม่

คำว่า คนพม่าไม่นิยมมีเมียแก่ เพราะพอใครที่มีเมียอายุมากกว่าตนมักจะโดนแซวว่ามีเมียแก่แบบนัตจินหน่อง แล้วนัตจินหน่องคือใครนะหรือครับ นัตจินหน่อง หรือออกเสียงให้ถูกคือ นะฉิ่นเหน่าง์ หรือตามพงศาวดารไทยเรียกเขาว่า นักสาง เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าตองอูเมงยีสีหตู ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าบุเรงนองนั่นเอง นัดจินหน่องหรือนะฉิ่นเหน่าง์นั้นเป็นที่เลื่องลือในพม่าว่าเป็นมีความสามารถหลายด้าน เขามีทักษะในการขี่ม้าตั้งแต่อายุยังน้อย เขาเก่งในการใช้ดาบและหอก และเขายังเล่นพิณได้ดี การกวีสูงอย่างยิ่ง รวมถึงมีความรอบรู้ในพระไตรปิฎกเป็นอย่างมาก และได้เป็นกษัตริย์ตองอูต่อจากพระราชบิดาต่อมา

นัตจินหน่องได้อภิเษกกับพระนางราชธาตุกัลยา (Yaza Datu Kalayar) หลังจากที่พระสวามีคนแรกคือ มังกะยอชะวา (Mingyi Swa) หรือคนไทยเรารู้จักในชื่อมังสามเกียดหรือพระมหาอุปราชา ราชบุตรของพระเจ้านันทบุเรงสิ้นพระชนม์ โดยพระนางมีอายุห่างกับนัตจินหน่องถึง 20 ปี กล่าวคือ นัตจินหน่องประสูติเมื่อปี 1579 แต่พระนางประสูติเมื่อ 1559 เส้นทางรักของทั้งคู่ไม่ได้สวยหรู เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะแม้นัตจินหน่องจะรักใคร่ชอบพอพระนางราชธาตุกัลยา แต่ทางพระเจ้าตองอูก็ไม่ได้สมยอมให้นัตจินหน่องอภิเษกกับนาง จนนัตจินหน่องคิดไปว่าสาเหตุที่ตนไม่ได้อภิเษกกับพระนางราชธาตุกัลยาเสียที เป็นเพราะพระเจ้านันทบุเรง ที่เป็นผู้ขัดขวางและนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นัตจินหน่องวางยาพระเจ้านันทบุเรง  

แต่ทว่าเมื่อหลังจากพระเจ้านันทบุเรงสวรรคตไปแล้ว นัตจินหน่องก็ยังไม่ได้พระบรมราชานุญาตให้อภิเษกกับพระนางราชธาตุกัลยาอยู่ดี  ต้องรอถึง 3 ปีกว่าจะได้อภิเษก แม้ความรักจะมีอุปสรรคและอายุห่างกัน 20 ปีก็ตาม แต่นัตจินหน่องก็รักพระนางราชธาตุกัลยามาก ในพงศาวดารข้างพม่าได้กล่าวว่าพระนางราชธาตุกัลยานั้นมีรูปโฉมงดงามมาก งามขนาดนัตจินหน่องได้นิพนธ์บทกวีถึงความงามของพระนางกันเลยทีเดียว แต่ทั้งคู่ก็ครองรักกันได้เพียงแค่ 7 เดือนเท่านั้นพระนางราชธาตุกัลยาก็สวรรคตทำให้นัตจินหน่องเสียใจเป็นอย่างมาก

แม้เส้นทางรบของนัตจินหน่องจะเป็นเรื่องราว เป็นตำนานที่หาอ่านได้จากอินเตอร์เนตโดยทั่วไปแต่ชีวิตรักของพระเจ้าตองอูผู้นี้มีการแปลออกมาเป็นภาษาไทยน้อยมาก แต่ในฝั่งคนพม่าถ้ามีใครถูกล้อว่าเป็นนัตจินหน่องเหรอ นั่นหมายถึง คนนั้นมีเมียแก่กว่าตัวเองมาก ๆ นั่นเอง ซึ่งคำนี้คนเมียนมาร์ก็ไม่ชอบเอาเสียด้วยดังนั้น ทราบกันแล้วอย่าไปล้อใครที่เขามีแฟนหรือภรรยาแก่กว่าด้วยคำนี้นะครับ


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ตำนานลูกมะพร้าว ที่มาของเจ้าที่ในบ้านของคนเมียนมาร์

ใครที่เคยมีเพื่อนที่เป็นคนเมียนมาร์เวลาไปเยี่ยมเพื่อนเขาที่บ้าน นอกจากจะเห็นหิ้งพระใหญ่โตแล้ว หากคุณเป็นคนสายตาดีคุณจะสังเกตเห็นมุมหนึ่งที่เขาจะตั้งลูกมะพร้าวไว้บนแท่นบูชาหรือแขวนไว่มุมหนึ่งของบ้าน จนเราต้องสงสัยว่าจะแขวนมะพร้าวไว้ที่บ้านทำไม แต่นี่คือเทพหรือนัท ที่คนเมียนมาร์กราบไว้บูชามีพลังอำนาจในการปกป้องบ้านเรือนจากเหล่าภูตผีและวิญญาณชั่วร้ายต่าง ๆ นัทองค์นี้มีชื่อว่า “เมงมหาคีรี”

นัทองค์นี้ มีตำนานเริ่มที่ยุคพุกาม ก่อนที่พุกามจะรวมเป็นราชอาณาจักรเดียว ที่เมืองตะโกง ใกล้ ๆ กับเทือกเขาโปป้า มีชายหนุ่มคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้น เขามีนามว่า ‘ติน เต’ เขาเกิดมาพร้อมกับพลังมหาศาลและร่างกายอันแข็งแกร่ง อาวุธต่าง ๆ ไม่สามารถทำอันตรายเขาได้ เมื่อเขาโตขึ้นเขาทำงานเป็นช่างตีดาบในเมืองนี้ และเขายังมีน้องสาวอีก 2 คน เมื่อเรื่องราวของชายหนุ่มผู้มีพละกำลังมหาศาลรู้ไปถึงหูของกษัตริย์เมืองตะโกง ทางกษัตริย์ก็กลัวว่านายติน เต คนนี้สักวันจะมาชิงราชบัลลังก์ กษัตริย์จึงออกอุบายให้ไปจับนายติน เต มาเพื่อสังหารซะ แต่สุดท้ายทหารก็ไม่สามารถจับเขาได้ แต่นายติน เต ผู้นี้ก็หนีไปได้ ทางกษัตริย์จึงบอกให้ทหารไปจับน้องสาวทั้งสองของเขาที่อาศัยอยู่ที่บริเวณหุบเขาโปป้ามา แต่แทนที่จะออกอุบายจับน้องสาวทั้งสองมาสังหาร แต่กษัตริย์เมืองตะโกงกลับออกอุบายว่าจะอภิเษกกับน้องสาวทั้งสองของติน เต แทน และบอกให้น้องสาวทั้งสองของติน เต ขอร้องให้พี่ชายของเขามาพบในฐานะผู้กล้า หลายครั้งที่กษัตริย์ตรัสกับเมียสองพี่น้องว่าถ้าพี่ชายเขามาเป็นแม่ทัพให้เมืองตะโกง เมืองตะโกงจะยิ่งใหญ่ไพศาลมีอำนาจมากมาย จนทำให้น้องสาวของติน เต ทั้งสองหลงเชื่อใจกษัตริย์ ดังนั้นน้องสาวทั้งสองของติน เต จึงชวนพี่ชายเขาให้มาเข้าวังเพื่อพบกับกษัตริย์

เมื่อติน เต เขามาในวังแล้วกษัตริย์ก็วางอุบายจับเขามัดไว้กับต้นจำปีไว้ แต่พอทหารใช้ศาสตราวุธใด ๆ ก็ไม่สามารถเจาะผ่านผิวของติน เต ได้ กษัตริย์จึงออกคำสั่งให้เผาติน เต ทั้งเป็น เมื่อน้องสาวทั้งสองเห็นพี่ชายตนเองกำลังจะตายอย่างทุรนทุราย ทั้งสองจึงได้กระโดดไปในกองไฟตายร่วมกับพี่ชายของเขา

เมื่อ ติน เต และน้องสาวทั้งสองตายไปแล้ว วิญญาณของทั้งสามก็สิงสถิตย์ที่จุดที่เป็นต้นจำปีนั้น เมื่อมีใครผ่านไปผ่านมาก็มักจะปรากฎร่างให้เห็น จนผู้คนในเมืองตะโกงต่างกลัว เรื่องราวได้ยินไปถึงหูของกษัตริย์เมืองตะโกงอีกครั้ง กษัตริย์จึงสั่งให้ทหารไปถอนรากต้นจำปีที่ไหม้ไปแล้วขึ้นมาเอาไปลอยในแม่น้ำอิรวดี รากไม้นี้ลอยไปจนถึงเมืองท่าของพุกามที่นั่น ก่อนที่รากไม้นี้จะลอยมาถึงกษัตริย์แห่งพุกามนามว่า เตเลเจาง์  ท่านทรงสุบินถึงรากจำปีนี้และเรื่องราวของติน เต และน้องสาวทั้งสอง เมื่อรากจำปีลอยมาติดที่ท่าเมืองพุกาม กษัตริย์เตเลเจาง์ จึงดำรัสให้นำรากจำปีขึ้นจากน้ำ จึงสร้างรูปสักการะ และมอบสถานที่ให้วิญญาณทั้งสามสถิตย์เพื่อที่พุกาม และประกาศให้ทุกบ้านสักการะในฐานะนัทผู้คุ้มครองภูเขาโปป้า รวมทั้งให้ภารกิจนัททั้งสามว่ามีหน้าที่ปกป้องบ้านเรือนของผู้คนจากวิญญาณร้ายและภูติผี และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ‘เมงมหาคีรี’

เมื่อถึงยุคพระเจ้าอโนรธามังช่อ เป็นยุคที่พุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลในพม่า ในตอนนั้นพระเจ้าอโนรธามังช่อไม่ชอบ จะลงโทษคนที่สักการะนัท ดังนั้นทุกบ้านจะต้องเอารูปสักการะนัทออกไปทิ้ง แต่ชาวบ้านยังศรัทธาในการสักกการะนัทเมงมหาคีรีแม้จะไม่สามารถมีองค์สักการะที่บ้านได้ ดังนั้นชาวบ้านจึงนำลูกมะพร้าวมาตกแต่งโดยการรวมคองบอง หรือ ผ้าโพกหัวและมีตาลปัตรที่เป็นสัญลักษณ์ของนัทเมงมหาคีรีไว้ที่บ้านเพื่อศรัทธา

การบูชานัทองค์นี้จะต้องมีผ้าแดงปิด โดยยามกลางวันจะเปิดผ้าแดงไว้ แต่เมื่อยามวิกาลมาถึง เมื่อแต่ละบ้านต้องจุดไฟ จะต้องปิดผ้าแดงคลุมลูกมะพร้าวไว้ เนื่องจากนัทเมงมหาคีรี ตายเพราะไฟ ดังนั้นท่านจึงไม่ถูกกับไฟนั่นเอง การบูชาเมงมหาคีรีนั้น ต้องห้ามจุดธูป จุดไฟ และถวายดอกจำปาเด็ดขาด สามารถถวายอาหารคาว ยกเว้นเนื้อสัตว์ น้ำ และผลไม้ ดอกไม้ทั่วไปยกเว้นจำปีได้ และในทุก ๆ ปีจะถวายมะพร้าวสักการะลูกใหม่พร้อมกับถวายเครื่องเซ่น อย่างเช่น  Mont San เป็นขนมที่ทำมาจากแป้งข้าวเหนียว น้ำตาลและมะพร้าว ใบชา หมากพลู และกล้วยในวันก่อนวันเข้าพรรษาและหลังวันออกพรรษา และหลายครอบครัวก็มีการให้เครื่องเซ่นเมื่อมีสมาชิกเข้ามาอาศัยในบ้าน เช่น แต่งงานมีสะใภ้เข้าบ้าน หรือหลังจากลูกเกิด 49 วัน

และนี่เป็นอีกหนึ่งนัทที่อยู่คู่กับคนเมียนมาร์มานับพันปีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเชื่อว่าความเชื่อนี้ยังคงอยู่ต่อไปอีกแสนนานเช่นเดียวกับคนไทยเชื้อสายจีนบูชาตี่จู่เอี้ยนั่นเอง

ดอกประดู่กับสงกรานต์ในเมียนมาร์

โควิด-19 ได้พรากเทศกาลสงกรานต์ในเมียนมาร์หรือในภาษาพม่าเรียกว่า ตะจ่าน (Thingyan ภาษาเขียนออกเสียงว่าติงจ่าน) เทศกาลตะจ่าน เป็นวัฒนธรรมของชาวพม่าที่มีมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีแล้ว และถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อกำหนดวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ถึง 16 เมษายน ช่วงนี้จะเป็นช่วงสิ้นปีมีการเล่นสาดน้ำต้อนรับปีใหม่ และในวันที่ 17 เมษายน จะถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ คนเมียนมาร์จะทำความสะอาดบ้าน และนิมนต์พระมาฉันที่บ้าน อีกทั้งมีการบริจาคอาหารหรือขนมให้เพื่อนบ้าน รวมถึงบางครอบครัวมีการผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้านก็จะทำการสระผม ตัดเล็บให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัว ยามเย็นจะมีการนิมนต์พระมาสวดขับไล่สิ่งไม่ดี โชคร้าย โรคภัยไข้เจ็บให้ออกไปจากสถานที่แห่งนี้

และในเทศกาลตะจ่านนี้เอง มีดอกไม้ชนิดหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลนี้นั่นคือ ดอกปะเด้าก์ (Padauk) หรือดอกประดู่นั่นเอง ชาวเมียนมาร์จะมีการนำดอกประดู่มาประดับประดาตามอาคารบ้านเรือน สำนักงาน รถโดยสาร และบางคนจะทัดช่อดอกประดู่ไว้ที่ผมดูน่าชม   

สาเหตุที่ดอกประดู่ถือเป็นดอกไม้ประจำเทศกาลตะจ่านก็เพราะว่า ก่อนเทศกาลตะจ่านในเมียนมาร์ทุกปีจะมีฝนโปรยปราย ในเวลานั้นเอง ต้นประดู่จะแทงดอกออกรับน้ำฝนซึ่งจะบานเต็มที่ในช่วงเดือนเมษายน ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของปีใหม่ ดั่งดอกประดู่ที่เกิดใหม่อีกครั้งโดยการแทงดอกจนเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งเมือง

และในช่วงเวลานี้คนพม่าจะนิยมทำขนมที่เรียกว่า โมน โลน เหย่บอว์ เป็นขนมที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งข้าวเหนียวโดยใส่น้ำตาลโตนดไว้เป็นไส้ โดยทุกคนในบ้านหรือในชุมชนนนั้นจะช่วยกันในการปั้นขนมแล้วโยนลงไปในน้ำเดือดแต่สำหรับใครที่อยากจะแกล้งใครก็อาจจะใส่พริกเป็นไส้แทนน้ำตาลโตนดที่คนพม่าเรียกว่า ทันเนี่ยะ ก็ได้

และแม้ปีนี้ในเมียนมาร์ไม่ว่าจะมีการจัดเทศกาลตะจ่านหรือไม่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ผมก็หวังว่าคนเมียนมาร์คงยังไม่สิ้นหวังและกลับมายืนขึ้นใหม่ได้อีกครั้งเหมือนดั่งดอกประดู่ที่กลับมาบานใหม่ทุกปี

นาคในพม่า ตำนานที่มีตัวตน

“นาค” เป็นสัตว์ที่มีอยู่ในตำนานของพระพุทธศาสนา และผูกพันกับคนไทย ลาว และเขมรหรือเราเรียกว่าผู้คนลุ่มน้ำโขงมาช้านาน ในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้พิทักษ์ศาสนสถานและโบราณสถานต่าง ๆ แต่ต้นกำเนิดของคำว่านาคนั้นห่างไทย ลาว และเขมรมาก ลึกเข้าไปในดินแดนที่เป็นพรมแดนอินเดียและเมียนมาร์ในปัจจุบัน และพวกเขายังมีตัวตนอยู่ พวกเขาคือ “เหล่านาคา”

เผ่านาคา หรือนากา เป็นชนเผ่าโบราณเชื่อว่ามีมาก่อนสมัยพุทธกาลอาศัยอยู่บริเวณรัฐมณีปุระ (Manipur) รัฐอรัณาจัล ประเทศ (Arunachal Pradesh) และรัฐอัสสัม (Assam) ในอินเดีย จวบจนถึงรัฐสะกาย (Sagaing) และรัฐคะฉิ่น (Kachin) ในเมียนมาร์แต่สถานที่ที่มีชาวนาคาอยู่มากที่สุดคือ นากานาคาแลนด์ได้รับการจัดตั้ง ขึ้นเป็นรัฐที่ 16 ของประเทศอินเดียในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2506

โดยแบ่งการปกครองภายในออกเป็น 11 เขต อันได้แก่ Kohima (เมืองหลวง), Phek, Mokokchung, Wokha, Zunheboto, Tuensang, Mon, Dimapur, Kiphire, Longleng และ Peren สภาพภูมิประเทศของนากาแลนด์ส่วนใหญ่มีพื้นที่เป็นภูเขา โดยมีเทือกเขา Naga Hills เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียง ใต้ของรัฐนาคาแลนด์ มีจุดที่สูงที่สุด คือ ภูเขาสรามาติ (Mount Saramati) ซึ่งมีความสูง 3,826 เมตร อีกทั้งเทือกเขานากา นี้ยังเชื่อมต่อกับทิวเขา Patkai ของประเทศเมียนม่าร์อีกด้วย เผ่านาคาไม่ใช่ชนเผ่าศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

เผ่านากาก็เฉกเช่นชนกลุ่มน้อยทั่วไปซึ่งมีหลายกลุ่ม โดยจะแบ่งเผ่านากาใหญ่ ๆ ในเมียนมาร์ได้เป็น 8 กลุ่มแยกตามภาษาที่สื่อสารคือ Konyak, Lainong, Makury, Nokko, Para, Somra Tangkhul, Tangshang, Anal Naga นอกจาก 8 กลุ่มนี้แล้วยังมีกลุ่มย่อย ๆ อีกมากมาย ส่วนชาวนากาในอินเดียนั้นประกอบไปด้วยประชากรที่เป็น ชนเผ่า หลัก 16 เผ่า และ เผ่าย่อย ๆ อีกมากมาย ภาษา ท้องถิ่นที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างชาวนากาแลนด์จึงมีมากถึง 60 ภาษา ทั้งหมดอยู่ในตระกูลภาษา Tibeto – Burman ดังนั้นการสื่อสารระหว่างเผ่า และ ภาษาราชการในนากาแลนด์จึงใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสื่อสาร

สาเหตุว่าทำไมคนในอดีตถึงเรียกเผ่านี้ว่าเผ่านากา มีปรากฎในงานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวไว้ในความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2519 อธิบายความหมายของคำว่า “นากา” หรือ “นาค” ไว้ดังนี้ คือ ‘ชาวอารยันยุคโบราณ สมัยที่ยังไม่เกิดเป็นรัฐประชาชาตินั้น มีการเหยียดหยามดูถูกพวกนาคมาก ถือเป็นพวกลักขะพวกหนึ่ง และคำเรียกชื่อชนชาติก็กล่าวกันว่ามาจากภาษาอัสสัม ซึ่งเขียน naga แต่อ่านออกเสียงเป็น นอค (noga) แปลว่า เปลือย แก้ผ้า บ้างก็มาจากภาษาฮินดูสตานีว่า นัค (nag) แปลว่า คนชาวเขา ในขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ในนาคในประวัติศาสตร์อุษาอาคเนย์ ตีพิมพ์โดยมติชน เมื่อปี พ.ศ. 2546 สรุปความว่า สังคมอินเดียเมื่อสมัยพุทธกาลมีการเหยียดหยามคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่มีอารยธรรมด้อยกว่าตน เหยียดลงให้เป็นผี เป็นสัตว์ เป็นยักษ์ ไม่อาจเทียบชั้นกับพวกตนที่เป็นมนุษย์ได้ โดยเฉพาะการไม่ยอมรับชนเผ่านาคหรือนาคาว่าเป็นมนุษย์ แม้จะพูดคุยภาษามนุษย์ด้วยกันรู้เรื่อง โดยมองพวกเขาเป็นเพียงสัตว์อย่างลิงค่างบ่างชะนีป่าเถื่อน จึงไม่ยอมรับให้ชนเผ่านาคหรือนาคาเข้าอุปสมบทในพุทธศาสนา

เป็นความเชื่อกันว่า คำว่า “นากา” หรือ “นาค” เป็นคำในภาษาอินเดียซึ่งใช้เรียกชนกลุ่มน้อยของตนที่ถูกมองว่ามีอารยธรรมต่ำต้อยกว่าในเชิงดูถูก ในขณะที่บางท่านเชื่อว่า คำว่า “นากา หรือ นาค” นี้ ชาวอินเดียหมายถึงผู้คนในแถบอุษาคเนย์ทั้งหลายด้วย เป็นลักษณะของพวกคนเถื่อนไม่นุ่งผ้าไร้อารยธรรมนั่นเอง แต่ก็ได้หลักฐานทางวิชาการอีกฝ่ายกล่าวว่า คำว่า “นากา” (Naga) เป็นคำที่มาจากคำว่า “Naka” ในภาษาพม่า แปลว่า “ผู้ที่เจาะจมูก”… ก็เพราะชาวนาคาในอดีตเจาะจมูกห้อยห่วงไว้ตามขนบประเพณีของพวกเขานั่นเอง

แต่หากมองจากอีกมุมจะเห็นว่าเผ่านากา หรือ นาคนั้นเป็นชนเผ่าที่มีการรักษาเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่นผ่านกาลเวลาและภูมิประเทศแม้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 แผ่นดินแต่มิอาจแบ่งแยกวัฒนธรรมของเผ่านากาได้

ปัจจุบันมีพิธี Hornbill Festival ในอินเดียเป็นงานมหกรรมวัฒนธรรมประจำรัฐที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวนากาแลนด์ จัดขึ้นเป็นประจำระหว่างวันที่ 1 - 7 ธ.ค.ของทุกปี (วันที่ 1 ธ.ค.เป็นวันก่อตั้งรัฐนากาแลนด์) ชื่องานนี้แปลตรงตัวว่า “เทศกาลนกเงือก” ส่วนในเมียนมาร์นั้นมีงานเทศกาลปีใหม่ของชาวนากาที่จัดขึ้นทุกเดือนมกราคมของทุกปีช่วงหลังเก็บเกี่ยว

ในอดีตก่อนที่จะมีนากาแลนด์ชาวนากาคือนักรบผู้ยิ่งใหญ่หลายคนรู้จักพวกเขาในนามนักล่าหัวคนและหลังจากที่อินเดียพยายามผนวกดินแดนนากาแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียนั้น พวกเขาก็ต่อสู้เพื่อเอกราชของเขามาตลอดจนอินเดียเลือกที่จะทำสนธิสัญญาหยุดยิงและให้มอบนากาแลนด์ให้เป็นเขตพื้นที่ปกครองตนเองเช่นเดียวกับฝั่งเมียนมาร์ที่มอบพื้นที่ให้เป็นเขตปกครองตนเองนากาเช่นกัน


ขอบคุณข้อมูลจาก

1. เพจศิลปะวัฒธรรมเวปไซต์วิกิพีเดีย

2. เวปไซต์วิกิพีเดีย

3. เวปไซต์สถานทูตไทยในกรุงเดลฮี

Burmese Milk Tea เครื่องดื่มนี้มีที่ (เมียน) มา

ในวันที่โลกเปลี่ยนไป สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาร์ด้วยเช่นกัน คือ สิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติชานม แต่ต้นกำเนิดชานมในพม่านั้นมาจากไหน ผมเชื่อได้ว่าแม้กระทั่งคนพม่าเองก็ยังไม่รู้ ส่วนตัวผมเองก็พยายามหาจุดเชื่อมโยงว่าชานมในพม่ามาจากแห่งใด มาจากไต้หวันหรือเปล่า ผมก็พยายามหาข้อมูลก่อนว่าแล้วชานมนั้นกำเนิดมาจากไหนมีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่

หลังจากที่หาข้อมูลเรื่องชานมมาร่วมอาทิตย์พบว่าชานมนั้นมีการบริโภคในหลายตำแหน่งของโลก เช่น ชานมฮ่องกงที่เรียกว่า ไหนฉ่า เป็นชาดำที่ผสมนมข้นจืด โดยมีต้นกำเนิดในช่วงการปกครองของอังกฤษ ซึงก็แปลว่าชมนมในฮ่องกงนั้นถูกนำมาจากแห่งไหนสักแห่งที่เคยเป็นอาณานิคมอังกฤษนั่นเอง เมื่อผมพยายามพินิจพิเคราะห์ว่าชานมที่ไหนที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อนและเป็นชาดำ ทำให้คิดถึง “ชาชัก” ที่แพร่หลายในมาเลย์เซีย สิงคโปร์และทางภาคใต้ของไทยนั่นเอง มาถึงจุดนี้เป็นไปได้ว่าชานมในฮ่องกงน่าจะมาจากมาเลย์เซียที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อนนั่นเอง

แต่หากวิเคราะห์ให้ดีก็ชวนให้สงสัยว่าทำไมประเทศมาเลย์เซียและสิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศที่เหมาะกับการปลูกชาแต่เป็นสถานที่ที่แพร่หลายในการดื่มชานม นั่นแสดงว่ามีความเป็นไปได้ ที่ชานมมาจากมาเลย์เซียนั้นถูกนำมาจากแหล่งอื่น ผมจึงหาข้อมูลต่อว่าในโลกนี้มีประเทศไหนดื่มชานมบ้าง และแล้วผมก็ได้ข้อมูลมากขึ้นว่าในโลกนี้มีอีกหลายที่ในโลกดื่มชานม

ในอินเดียมีการนำชาใส่นม และใส่เครื่องเทศต่าง ๆ เช่น มาซาล่า ทำให้ชามีกลิ่นเครื่องเทศและถั่วอัลมอนด์ ที่เรียกว่า Chai แต่นอกจากการใส่นมแล้วหากสูงขึ้นยังทิเบตและภูฏาน ชาวทิเบตและภูฏานนิยมการดื่มชาที่ผสมกับเนย ซึ่งมีกลิ่นและรสชาติเข้มข้นกว่านม ซึ่งในภาษาภูฏานเรียกว่า Suja และอีกชาหนึ่งที่ไม่พูดไม่ได้คือ ชานมพม่า นั่นเอง

มาถึงจุดนี้ หากเราพยายามมองว่าวัฒนธรรมการดื่มชานั้น อาจจะเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนจีน พม่าและอินเดีย เป็นไปได้ว่าพม่าที่เป็นจุดเชื่อมต่อของวัฒนธรรมอินเดียและจีน จะนำวัฒนธรรมการดื่มชามาจากจีนและการนำนมมาผสมในชาอีก เพื่อเพิ่มรสชาติให้ชามีรสและกลิ่นที่ดีขึ้น ยิ่งหากพิจารณาถึงรากเหง้าทางภาษาพม่า ที่เป็นภาษาในกลุ่ม Sino-Tibetan หรือตระกูลภาษาจีน-ทิเบต แยกย่อยไปในกลุ่มภาษา โลโล-พม่า ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นรากภาษา Pyu ซึ่งพัฒนามาเป็นภาษาพม่าในปัจจุบันนั่นเอง

ผมมองว่าวัฒนธรรมกับภาษาย่อมมีการไหลไปคู่กัน ดังนั้นเป็นไปได้ว่า ชานมในพม่าหรือในประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบันนั้น นอกจากจะเป็นเครื่องดื่มแล้ว มันยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของชาวพม่า จีน และอินเดียว่ามีความใกล้ชิดกันมาแต่ครั้งบรรพกาล


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ฤา…‘พม่า’ จะประวัติศาสตร์ ซ้ำรอย!

วันที่ผมเขียนบทความนี้ ผมได้เห็นประกาศของคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพเมียนมา ได้ออกประกาศว่า ประชาชนมีสิทธิ์ในการปกป้องตนเองจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นจากการปราบปรามของคณะรัฐประหาร ซึ่งในความคิดของงผมมองว่า ‘นี่มันไม่ใช่แล้ว’ เพราะการประกาศแบบนี้เสมือนการสั่งให้ประชาชนไปตาย

ผมไม่เห็นประโยชน์อันใดจากคนที่ตายไปแล้ว ยกเว้นคนที่ต้องการหาประโยชน์จากจำนวนศพที่มากขึ้น ผมถามเพื่อนพม่าของผมว่า คนพม่าจะได้ประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าไม่มีชีวิตเข้าคูหาไปเลือกตั้ง เพราะโลกมันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เมียนมาไม่ใช่ประเทศพม่าในอดีต

เมื่อพูดถึงหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ถามว่าดีไหม ผมบอกได้เลยว่าการไม่ยอมแพ้นั้นเป็นสิ่งที่ดีและอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อยุธยาต้องเสียกรุงถึงสองครั้งก็เป็นได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปการที่สู้อย่างไม่ยอมแพ้อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก หากย้อนไปถึงสมัยราชวงศ์คองบองครั้งเมื่อสงครามพม่า - อังกฤษครั้งที่หนึ่ง การที่พม่ายกทัพไปปราบกบฏยะไข่ หากหากพม่าไม่ได้ยกทัพเข้าไปถึงอัสสัมหรือจิตตะกอง นั่นก็ไม่สามารถทำให้อังกฤษอ้างเหตุผลในการรบกับพม่า และหากในช่วงเวลารบนั้น นายพลมหาพันธุละ เลือกที่จะยอมจำนนเมื่อรู้ว่าตนเพลี่ยงพล้ำ ท่านก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเสียชีวิตในสนามรบ และย่างกุ้ง, พะโค จนไปถึงเมืองแปร ก็อาจจะไม่ต้องตกไปเป็นของอังกฤษทั้งหมดก็เป็นได้

เช่นเดียวกันกับในช่วงสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3 หากฝั่งพม่าเลือกดำเนินนโยบายอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับทางบริษัท บอมเบย์ เบอร์มาร์ เทรดดิ้ง คอมปะนี แม้จะเสียบ้าง แต่หัวใจยังอยู่ นั่นก็อาจจะทำให้แผนการเข้ายึดพระราชวังมัณฑะเลย์ไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้

กรณียอมหักไม่ยอมงอของพม่า จะเรียกได้ว่าเป็นนิสัยหรือสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของคนพม่าที่ภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีแต่ในขณะเดียวกันหากเราต้องสู้กับศัตรูที่มีพลังทำลายล้างเหนือเรามาก การยอมหักไม่ยอมงอ มันคือกำแพงที่สูงจนนำพาความล่มสลายมายังชีวิตผู้คนและอาณาจักร หากไม่เหลือแม้กระทั่งชีวิตจะใช้วิธีใดไปทวงคืนเอกราชที่ต้องการกันเล่า

หากย้อนมองดูประเทศไทยในยุคที่ยังเป็นสยามประเทศ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ในช่วง รศ. 112 ไทยเองก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างกับพระเจ้าธีบอ นั่นคือการถูกรุกรานโดยศัตรูที่มีแสงยานุภาพเกินต้านทาน แต่แทนที่ท่านจะเลือกที่จะสู้จนตัวตายสิ้นเอกราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงกลับเลือกเส้นทางที่รักษาหัวใจแห่งแผ่นดินไทย โดยการเฉือนตัดแผ่นดินให้แก่เหล่าประเทศผู้ล่าอาณานิคมไป ดังปรากฏข้อความในพระราชปรารภที่ว่า “—การเสียเขตแดนแต่เพียงเล็กน้อยตามชายพระราชอาณาจักร ซึ่งเราเองก็ทำนุบำรุงรักษาให้เจริญเต็มที่ไม่ได้นั้น ก็เปรียบเหมือนกับเสียปลายนิ้วของเราไป ยังไกลอยู่รักษาหัวใจกับตัวไว้ให้ดีก็แล้วกัน—”

ในวันนี้ผมก็หวังว่าชาวพม่าที่ต้องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศเมียนมานั้น ขอให้ใช้สติตรึกตรองให้ถี่ถ้วน ว่าเรากำลังไปสู้เพื่อผลประโยชน์ของใครหรือเปล่า..?

ทำไมต้องนำชีวิตไปทิ้งในขณะที่คนปลุกระดมไม่เคยออกมานำทัพเองปล่อยให้พวกคุณนำทัพไปตายกันเอง กลับกันหากวันนี้คนพม่าจะถอยสักหนึ่งก้าว อาจจะไม่ใช่การยอมศิโรราบให้แก่ระบบเผด็จการ แต่เป็นการเปิดทางไปสู่หนทางประชาธิปไตยตามที่คณะรัฐประหารได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี

เศรษฐกิจในเมียนมาพังเพราะใคร..?

เป็นเวลากว่า 40 กว่าวันแล้ว ที่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ทางกองทัพเข้าคุมตัวนางอองซานซูจีและสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีตามมาด้วยการตอบของพรรคเอ็นแอลดีโดยการเรียกประชาชนที่สนับสนุนออกมาประท้วงทั่วประเทศ และก็ไม่เป็นเรื่องที่ยากเย็นนักที่ชาวเมียนมาผู้มีบาดแผลที่กองทัพเมียนมาในอดีตเคยกระทำ จะทำให้คนเมียนมาโกรธแค้นและพร้อมใจกันออกมาเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้นำของเขา

กลยุทธ์ทำลายเศรษฐกิจด้วยวิธีอารยะขัดขืน เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการตอบโต้กองทัพเมียนมา ด้วยการไม่ไปทำงาน ซึ่งกลายเป็นความนิยมที่คนพม่าต่างพร้อมใจในการปฏิบัติตาม แต่คนพม่าหารู้ไม่ว่า การทำอารยะขัดขืนด้วยวิธีนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงธุรกิจของกองทัพเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศด้วย

การไม่ทำงานส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดอย่างไม่มีกำหนด หรือเปิดบริการได้แบบเปิด ๆ ปิด ๆ หลายบริษัท ห้าง ร้าน ไม่สามารถค้าขายสินค้าได้ แม้ในช่วงแรกเจ้าของกิจการจะร่วมมืออย่างเต็มร้อย แต่เมื่อใกล้ถึงปลายเดือน เหล่าเจ้าของกิจการได้เริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากการทำอารยะขัดขืนดังกล่าว

การอารยะขัดขืนทำให้รายรับเขาลดลง ไม่ว่าจากการที่เขาต้องปิดกิจการก็ดี ไม่มีพนักงานมาทำงานก็ดี หรือลูกหนี้ของเขาไม่จ่ายเงินเนื่องมาจากการติดขัดจากการที่ธนาคารปิดเพราะทำอารยะขัดขืนก็ดี ในขณะที่รายจ่ายเขายังคงที่ทำให้หลายๆ ธุรกิจก้าวข้ามผ่านเดือนแรกของการปฏิวัติไปอย่างทุลักทุเล เพราะไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาหลายสิบปี หลายๆ คนถึงขั้นต้องนำเงินสำรองออกมาใช้จ่ายเพื่อพยุงธุรกิจให้ผ่านเดือนที่ผ่านมาไปได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อก้าวข้ามสู่เดือนมีนาคม เดือนที่ 2 ของการต่อสู้ หลายธุรกิจเริ่มปรับตัวได้ และเริ่มปรับกลยุทธ์แบบจ่ายเฉพาะวันที่ทำงาน หรือบางคนปรับลดการทำงานและการจ่ายเงินลงเช่นจ่ายเป็น 3 ใน 4 หรือครึ่งเดียวเป็นต้น ในขณะที่บางบริษัทยังดำเนินการเหมือนเดิมโดยการจ่ายเงินเดือนผ่านระบบ Payroll แม้ว่าธนาคารจะหาตู้กดเงินลำบากก็ตาม

ผมจำได้ว่าหลังจากรัฐประหารมาไม่กี่วัน คณะรัฐประหารออกแถลงการณ์ให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างปกติ และทุกวันนี้ยังมีการออกประกาศต่างๆ ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาจากการที่ธนาคารก็ดี หรือ ชิปปิ้งที่ทำเรื่องนำเข้าส่งออกก็ดีทำอารยะขัดขืน โดยล่าสุดก็ยกเลิกการทำเอกสาร Import License เพื่อให้ขั้นตอนการนำเข้าทำได้ง่ายมากขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาการนำระบบแมนนวลกลับมาใช้อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาสินค้าติดค้างตรงชายแดน ซึ่งก็มองว่ารัฐบาลทหารมีความพยายามอย่างมากในการประคับประคองเศรษฐกิจเมียนมาที่เปราะบางใกล้จะพังเต็มที

สุดท้ายคงต้องขึ้นกับประชาชนเมียนมาว่าเขาจะมองประชาธิปไตยสำคัญกว่าปากท้องของเขาหรือไม่ เพราะสุดท้ายไม่มีระบอบไหนที่จะให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขได้โดยไม่ต้องทำงาน และเหล่าบรรดาผู้ประกอบการต่าง ๆ จะสามารถช่วยเหลือประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยของเขาได้นานแค่ไหนเช่นกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top