‘เมืองแปร’ มิแปรเปลี่ยนใจ สถานที่แห่งความทรงจำ กาลครั้งหนึ่งในเมียนมา

ผมมีโอกาสได้เดินทางไปในเมียนมาตั้งแต่เหนือจรดใต้ ได้พบสถานที่มากมาย ผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมและแนวคิด รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว แต่มีสถานที่หนึ่งที่มีความงดงามทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ผู้คนจนผมไม่มีวันลืม ที่นั่นคือ ‘เมืองแปร’ หรือ ‘เมืองปีย์’ ในภาษาพม่านั่นเอง

เมืองแปร ห่างจากย่างกุ้งออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 300 กิโลเมตร โดยการเดินทางสามารถไปได้ 2 ทางคือเดินทางผ่านเมืองมอว์บิ (Hmawbi) ขึ้นไปทางเมืองสายาวดี (Tharawaddy) จนถึงเมืองแปร ซึ่งเส้นนี้ระยะทางจะอยู่ที่ประมาณ 300 กิโลเมตร แต่หากคุณเป็นสายท่องเที่ยวแวะเมืองนั้นเมืองนี้ด้วยแล้วละก็สามารถไปอีกทางหนึ่งคือไปทางรัฐอิรวดีผ่านเมืองซาลุน (Zalun) แวะสักการะเจดีย์ Zalun Pyi Taw Pyan ที่มีตำนานว่าเคยเกือบฆ่าพระนางวิคตอเรียมาแล้ว โดยเรื่องราวนี้มีอยู่ว่าเมื่ออังกฤษยึดพม่าเป็นเมืองขึ้นได้แล้วก็ขนทองเหลืองกลับไปอังกฤษเพื่อหลอมทำปืนใหญ่ ซึ่งทองเหลืองที่ติดไปด้วยในครั้งนั้นคือพระพุทธรูปแห่งเมืองซาลุนแห่งนี้ 

เมื่อไปถึงช่างหลอมปืนใหญ่ก็ป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาหายตายไปเรื่อย ๆ ส่วนพระนางวิคตอเรียในขณะนั้นก็ทรงพระสุบินประหลาดว่ามีคนน่ากลัวมาบอกว่าหากไม่นำพระพุทธรูปแห่งเมืองซาลุนที่อยู่ในห้องเก็บทองเหลืองสำหรับหล่อปืนใหญ่กลับไปคืน พระนางจะสิ้นพระชนม์ภายใน 10 วัน เมื่อพระนางตื่นจากความฝันก็ทรงให้เหล่าทหารไปค้นหาว่ามีพระพุทธรูปนี้จริงไหม สรุปว่ามีจริง…ทำให้พระนางรีบส่งพระพุทธรูปนี้กลับจากอังกฤษมายังพม่าเพื่อกลับมาประดิษฐานยังที่นี่นับจากนั้นเป็นต้นมา

พระพุทธรูป Zalun Pyi Taw Pyan ที่พระนางวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรยังหวาดหวั่นในความศักดิ์สิทธิ์

แต่เส้นทางนี้จะสมบุกสมบันกว่าเส้นทางแรกและมีระยะทางยาวกว่า 100 กิโลเมตร และยังใช้เวลาเดินทางมากกว่าทางแรกมากกว่า 2 ชั่วโมงอีกด้วย หากใครใจไม่รักในการเที่ยวแบบลุย ๆ เสียเวลานั่งรถชมวิวไปเรื่อยแล้วละก็แนะนำเส้นทางแรกดีกว่า

เมื่อมาถึงเมืองแปรแล้ว ที่นี่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายแต่สถานที่ที่เป็นไฮไลท์ของที่นี่เลย ผมขอแนะนำ 2 ที่สำหรับใครที่มาเมืองแปรแล้วถ้าไม่มาที่นี่ถือว่ามาไม่ถึง ที่แรกคือแหล่งมรดกโลกอาณาจักรศรีเกษตร (Thayay Khittayar Ancient Cities) ที่นี่คือจุดกำเนิดของจักรวรรดิเมียนมาที่ยิ่งใหญ่ ที่นี่เป็นอาณาจักรของชาวพิว (Pyu) ในภาษาไทยมักจะเขียนว่าพยู หรือ ปะยู เป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่เจริญรุ่งเรืองในช่วงเดียวกันกับอาณาจักรฟูนัน ศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ที่เมืองศรีเกษตร ปัจจุบันคือเมืองเมืองฮมอซา (Hmawza) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองแปร (Pyay) ไปทางใต้ 6 ไมล์ มีอาณาบริเวณครอบคลุมบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดีในภาคกลาง และภาคใต้ของประเทศพม่าในปัจจุบัน ชนชาติปะยูนับถือพระพุทธศาสนา ได้รับความเจริญทางอักษรศาสตร์จากอินเดีย ชนชาติพิวนั้นมีเชื้อสายเดียวกับพม่า โดยอพยพลงมาจากทิเบตและทางตอนใต้ของจีน ในยุคที่รุ่งเรืองอาณาจักรนี้มีอำนาจปกครองเกือบตลอดแหลมมลายู จากนั้นถูกชนชาติมอญและอาณาจักรน่านเจ้ารุกราน และเริ่มเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ หลังจากนั้นก็ตกอยู่ในอำนาจของอาณาจักรพุกาม เมื่อพระเจ้าอโนรธามังช่อ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกาม เข้ามารุกรานทำให้อาณาจักรศรีเกษตรล่มสลายไป

มีหลักฐานมากมายว่าชาวพิว มีความสัมพันธ์กับชาวพม่าในยุคต่อ ๆ มา โดยแสดงออกมาทางสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่พบในเมืองศรีเกษตร อย่างเช่นเจดีย์ขนาดใหญ่แบบก่อตัน เป็นเจดีย์ทรงระฆังชื่อว่าเจดีย์บอบอจี (Bawbaw Gyi) และเจดีย์ปะยาจีย์ (Pya Gi) ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นแบบให้กับงานสถาปัตยกรรมของพม่าในยุคต่อ ๆ มา ได้แก่ เจดีย์ชเวดากอง มิงกาลาเจดีย์ เจดีย์ธรรมยันสิกะ เป็นต้น มีเจดีย์วิหารเป็นสิ่งก่อสร้างจากอิฐที่มีลักษณะรวมกันระหว่างเจดีย์ก่อตันและอาคาร (วิหาร) ที่เข้าไปใช้สอยพื้นที่ภายในในการประกอบพิธีกรรมได้ เจดีย์วิหารที่สำคัญ ได้แก่ วิหารเบเบจี (Bebe Gyi) และวิหารเลเมียทนา (Limyethna) อาคารลักษณะนี้เชื่อว่าพัฒนาไปเป็นเจดีย์วิหารที่มีขนาดใหญ่ในสมัยพุกามต่อมา นอกจากนี้ยังพบหลักฐานงานประติมากรรมที่ทำจากหินสลัก ประติมากรรมดินเผา ซึ่งพบว่าเป็นดินชนิดเดียวกับอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารและเจดีย์ ประติมากรรมสำริด โดยมีการพบหลักฐานชิ้นสำคัญคือ ประติมากรรมสำริดกลุ่มนักดนตรีและนักเต้นรำ โดยที่ท่ารำนั้นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างอารยธรรมของอาณาจักรอินเดียและอาณาจักรศรีเกษตร

อีกสถานที่หนึ่งที่ผมขอแนะนำในแปรคือ ภูเขาอะก๊อกต่อง (A Kauk Taung) รูปหินสลักพระพุทธเจ้าที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิรวดี หากใครจะเดินทางไปชมจะต้องไปลงเรือของชาวบ้านแล้วเดินทางไปยังที่แห่งนี้  เชื่อว่ารูปสลักหินที่นี่มีอายุร่วมสมัยกับอาณาจักรศรีเกษตรคือมากกว่า 2500 ปีเลยทีเดียว

แม้ผมจะเคยไปมาแล้ว แต่ที่นี่ก็ยังอยู่ในความประทับใจไม่ลืมเลือนและหากสถานการณ์ในเมียนมาเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อใด ผมจะกลับไปเยือนอีกครั้งแน่นอน และที่นี่คือ “เมืองแปร สถานที่ที่เวลาไม่เคยทำให้มนต์เสน่ห์ของเมืองแปรเปลี่ยนไป”