ตำนานลูกมะพร้าว ที่มาของเจ้าที่ในบ้านของคนเมียนมาร์

ใครที่เคยมีเพื่อนที่เป็นคนเมียนมาร์เวลาไปเยี่ยมเพื่อนเขาที่บ้าน นอกจากจะเห็นหิ้งพระใหญ่โตแล้ว หากคุณเป็นคนสายตาดีคุณจะสังเกตเห็นมุมหนึ่งที่เขาจะตั้งลูกมะพร้าวไว้บนแท่นบูชาหรือแขวนไว่มุมหนึ่งของบ้าน จนเราต้องสงสัยว่าจะแขวนมะพร้าวไว้ที่บ้านทำไม แต่นี่คือเทพหรือนัท ที่คนเมียนมาร์กราบไว้บูชามีพลังอำนาจในการปกป้องบ้านเรือนจากเหล่าภูตผีและวิญญาณชั่วร้ายต่าง ๆ นัทองค์นี้มีชื่อว่า “เมงมหาคีรี”

นัทองค์นี้ มีตำนานเริ่มที่ยุคพุกาม ก่อนที่พุกามจะรวมเป็นราชอาณาจักรเดียว ที่เมืองตะโกง ใกล้ ๆ กับเทือกเขาโปป้า มีชายหนุ่มคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้น เขามีนามว่า ‘ติน เต’ เขาเกิดมาพร้อมกับพลังมหาศาลและร่างกายอันแข็งแกร่ง อาวุธต่าง ๆ ไม่สามารถทำอันตรายเขาได้ เมื่อเขาโตขึ้นเขาทำงานเป็นช่างตีดาบในเมืองนี้ และเขายังมีน้องสาวอีก 2 คน เมื่อเรื่องราวของชายหนุ่มผู้มีพละกำลังมหาศาลรู้ไปถึงหูของกษัตริย์เมืองตะโกง ทางกษัตริย์ก็กลัวว่านายติน เต คนนี้สักวันจะมาชิงราชบัลลังก์ กษัตริย์จึงออกอุบายให้ไปจับนายติน เต มาเพื่อสังหารซะ แต่สุดท้ายทหารก็ไม่สามารถจับเขาได้ แต่นายติน เต ผู้นี้ก็หนีไปได้ ทางกษัตริย์จึงบอกให้ทหารไปจับน้องสาวทั้งสองของเขาที่อาศัยอยู่ที่บริเวณหุบเขาโปป้ามา แต่แทนที่จะออกอุบายจับน้องสาวทั้งสองมาสังหาร แต่กษัตริย์เมืองตะโกงกลับออกอุบายว่าจะอภิเษกกับน้องสาวทั้งสองของติน เต แทน และบอกให้น้องสาวทั้งสองของติน เต ขอร้องให้พี่ชายของเขามาพบในฐานะผู้กล้า หลายครั้งที่กษัตริย์ตรัสกับเมียสองพี่น้องว่าถ้าพี่ชายเขามาเป็นแม่ทัพให้เมืองตะโกง เมืองตะโกงจะยิ่งใหญ่ไพศาลมีอำนาจมากมาย จนทำให้น้องสาวของติน เต ทั้งสองหลงเชื่อใจกษัตริย์ ดังนั้นน้องสาวทั้งสองของติน เต จึงชวนพี่ชายเขาให้มาเข้าวังเพื่อพบกับกษัตริย์

เมื่อติน เต เขามาในวังแล้วกษัตริย์ก็วางอุบายจับเขามัดไว้กับต้นจำปีไว้ แต่พอทหารใช้ศาสตราวุธใด ๆ ก็ไม่สามารถเจาะผ่านผิวของติน เต ได้ กษัตริย์จึงออกคำสั่งให้เผาติน เต ทั้งเป็น เมื่อน้องสาวทั้งสองเห็นพี่ชายตนเองกำลังจะตายอย่างทุรนทุราย ทั้งสองจึงได้กระโดดไปในกองไฟตายร่วมกับพี่ชายของเขา

เมื่อ ติน เต และน้องสาวทั้งสองตายไปแล้ว วิญญาณของทั้งสามก็สิงสถิตย์ที่จุดที่เป็นต้นจำปีนั้น เมื่อมีใครผ่านไปผ่านมาก็มักจะปรากฎร่างให้เห็น จนผู้คนในเมืองตะโกงต่างกลัว เรื่องราวได้ยินไปถึงหูของกษัตริย์เมืองตะโกงอีกครั้ง กษัตริย์จึงสั่งให้ทหารไปถอนรากต้นจำปีที่ไหม้ไปแล้วขึ้นมาเอาไปลอยในแม่น้ำอิรวดี รากไม้นี้ลอยไปจนถึงเมืองท่าของพุกามที่นั่น ก่อนที่รากไม้นี้จะลอยมาถึงกษัตริย์แห่งพุกามนามว่า เตเลเจาง์  ท่านทรงสุบินถึงรากจำปีนี้และเรื่องราวของติน เต และน้องสาวทั้งสอง เมื่อรากจำปีลอยมาติดที่ท่าเมืองพุกาม กษัตริย์เตเลเจาง์ จึงดำรัสให้นำรากจำปีขึ้นจากน้ำ จึงสร้างรูปสักการะ และมอบสถานที่ให้วิญญาณทั้งสามสถิตย์เพื่อที่พุกาม และประกาศให้ทุกบ้านสักการะในฐานะนัทผู้คุ้มครองภูเขาโปป้า รวมทั้งให้ภารกิจนัททั้งสามว่ามีหน้าที่ปกป้องบ้านเรือนของผู้คนจากวิญญาณร้ายและภูติผี และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ‘เมงมหาคีรี’

เมื่อถึงยุคพระเจ้าอโนรธามังช่อ เป็นยุคที่พุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลในพม่า ในตอนนั้นพระเจ้าอโนรธามังช่อไม่ชอบ จะลงโทษคนที่สักการะนัท ดังนั้นทุกบ้านจะต้องเอารูปสักการะนัทออกไปทิ้ง แต่ชาวบ้านยังศรัทธาในการสักกการะนัทเมงมหาคีรีแม้จะไม่สามารถมีองค์สักการะที่บ้านได้ ดังนั้นชาวบ้านจึงนำลูกมะพร้าวมาตกแต่งโดยการรวมคองบอง หรือ ผ้าโพกหัวและมีตาลปัตรที่เป็นสัญลักษณ์ของนัทเมงมหาคีรีไว้ที่บ้านเพื่อศรัทธา

การบูชานัทองค์นี้จะต้องมีผ้าแดงปิด โดยยามกลางวันจะเปิดผ้าแดงไว้ แต่เมื่อยามวิกาลมาถึง เมื่อแต่ละบ้านต้องจุดไฟ จะต้องปิดผ้าแดงคลุมลูกมะพร้าวไว้ เนื่องจากนัทเมงมหาคีรี ตายเพราะไฟ ดังนั้นท่านจึงไม่ถูกกับไฟนั่นเอง การบูชาเมงมหาคีรีนั้น ต้องห้ามจุดธูป จุดไฟ และถวายดอกจำปาเด็ดขาด สามารถถวายอาหารคาว ยกเว้นเนื้อสัตว์ น้ำ และผลไม้ ดอกไม้ทั่วไปยกเว้นจำปีได้ และในทุก ๆ ปีจะถวายมะพร้าวสักการะลูกใหม่พร้อมกับถวายเครื่องเซ่น อย่างเช่น  Mont San เป็นขนมที่ทำมาจากแป้งข้าวเหนียว น้ำตาลและมะพร้าว ใบชา หมากพลู และกล้วยในวันก่อนวันเข้าพรรษาและหลังวันออกพรรษา และหลายครอบครัวก็มีการให้เครื่องเซ่นเมื่อมีสมาชิกเข้ามาอาศัยในบ้าน เช่น แต่งงานมีสะใภ้เข้าบ้าน หรือหลังจากลูกเกิด 49 วัน

และนี่เป็นอีกหนึ่งนัทที่อยู่คู่กับคนเมียนมาร์มานับพันปีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเชื่อว่าความเชื่อนี้ยังคงอยู่ต่อไปอีกแสนนานเช่นเดียวกับคนไทยเชื้อสายจีนบูชาตี่จู่เอี้ยนั่นเอง