ไอร์แลนด์เหนือ มรดกแห่งความขัดแย้งของอังกฤษ ความสงบที่ถูกสั่นคลอนจากผลสะท้อนของ Brexit

ไอร์แลนด์เหนือ 1 ใน 4 ประเทศที่เป็นองค์ประกอบของสหราชอาณาจักร เป็นประเทศเขตเดียวที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเกาะบริเตนใหญ่เหมือนอย่างอังกฤษ สก็อตแลนด์ และ เวลส์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของเกาะไอร์แลนด์ ที่ถูกแยกออกมา 2 ส่วน คือ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศอิสระ กับ ไอร์แลนด์เหนือที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร

ไอร์แลนด์เหนือ ถูกมองว่าเป็นหนึ่งลูกที่มีปัญหาของอังกฤษมาช้านาน ราวกับว่า "ความขัดแย้ง" คือมรดกที่ตกทอดไปสู่ลูก ๆ หลาน ๆ ของชาวไอร์แลนด์เหนือ ที่ล่าสุดตอนนี้ได้ลุกฮือขึ้นมาประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีปี และขยายตัวเป็นความรุนแรง มีการเผารถเมล์สาธารณะ ขว้างปาก้อนอิฐ ระเบิดขวดข้ามไปยังกำแพงแห่งสันติภาพ เส้นแบ่งความขัดแย้งแห่งประวัติศาสตร์ของชาวไอร์แลนด์เหนือมานานมากกว่า 50 ปี

ความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือ เกิดจากปัญหาในหลายมิติ ที่ทับถมกันมานานถึง 1 ศตวรรษเต็มๆ ทั้งปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา การเมือง สิทธิมนุษยชน จนวันนี้ มีปัญหาใหม่เพิ่มเข้ามาถมอีก นั่นก็คือ Covid19 และ Brexit

มรดกความขัดแย้งของไอร์แลนด์เหนือมีที่มาจากอะไร วันนี้เรามาลองมาทำความเข้าใจกันสักหน่อยดีกว่า

ก่อนหน้าที่จะมีการแบ่งเกาะไอร์แลนด์เป็น 2 ส่วนอย่างทุกวันนี้ ทั้งเกาะไอร์แลนด์เคยเป็นของอังกฤษทั้งหมด จากการพิชิตของกองทัพอังกฤษในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ในปี 1542 และได้สถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งไอร์แลนด์

ในตอนนั้นประชากรส่วนใหญ่บนเกาะไอร์แลนด์เป็นชาวไอริช ที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก แต่ทางตอนเหนือของเกาะจะมีชุมชนของชาวอัลสเตอร์ ที่อพยพมาจากฝั่งสก็อตแลนด์ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปแตสแตนท์

จนมาถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวเกาะไอร์แลนด์ที่เป็นชาวไอริชก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแยกตัวออกจากอังกฤษเสียที แต่ชาวอัลสเตอร์ที่อยู่อย่างหนาแน่นทางตอนเหนือของเกาะ ยังต้องการอยู่กับอังกฤษ จึงได้ลงนามตกลงแบ่งประเทศ ตอนใต้กลายเป็นสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ปกครองโดยรัฐบาลชาวไอริช ที่ส่วนใหญ่เป็นคาทอลิก มีเมืองหลวงที่กรุงดับลิน ส่วนทางตอนเหนือแยกเป็นประเทศไอร์แลนด์เหนือ มีกรุงเบลฟาสเป็นเมืองหลวง ที่ยังขอเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ ปกครองโดยรัฐบาลชาวอัลสเตอร์ ที่เป็นโปแตสแตนท์ในปี 1921

แต่ปัญหาของไอร์แลนด์เหนือกลับไม่จบง่าย ๆ เพราะยังคงมีชาวไอริชคาทอลิกหลงอยู่ทางตอนเหนือที่กลายเป็นชนกลุ่มน้อยทันที ในสังคมไอร์แลนด์เหนือที่เต็มไปด้วยชาวโปแตสแตนท์ ที่จงรักภักดีกับอังกฤษ บางส่วนจึงได้รวมตัวเป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ แล้วเรียกตนเองขบวนการกู้ชาติไอริช Irish Republican Army หรือ IRA มีเป้าหมายเพื่อรวมชาติไอร์แลนด์เหนือกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐไอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งกลุ่ม IRA ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านการเงิน และอาวุธจากชาวไอริชทางตอนใต้ และชาวไอริชที่อยู่ในต่างประเทศ เช่นในยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อก่อความไม่สงบในไอร์แลนด์เหนือ และในอังกฤษอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วางระเบิด ลอบสังหาร ปล้นธนาคาร จนถึงระดับก่อการร้าย ส่วนฝ่ายชาวอัสเตอร์โปแตสแตนท์เองก็มีกองกำลังติดอาวุธของตนเอง ออกมาสู้กับขบวนการ IRA เช่นเดียวกัน

ความขัดแย้งระหว่าง ชาวไอริชคาทอลิก และชาวอัลสเตอร์ โปแตสแตนท์ ในไอร์แลนด์เหนือ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยาวนานนับจากนั้น ช่วงเวลาที่ขัดแย้งรุนแรงที่สุด รู้จักในชื่อยุค "The Troubles" ที่กินเวลายาวนานถึง 30 ปี ตั้งแต่ 1960-1990 จนรัฐบาลอังกฤษต้องเข้ามาแทรกแซง และได้สร้างกำแพงกั้นระหว่างชุมชนฝั่งคาทอลิก และฝั่งโปสแตสแตนท์ในปี 1969 ที่ชาวไอร์แลนด์เหนือเรียกว่า Peace Wall - กำแพงสันติภาพ

แต่หน้าที่ของกำแพงไม่ได้ส่งเสริมสันติภาพตามชื่อของมันแม้แต่น้อย แต่กลับสร้างความแบ่งแยกระหว่างเชื้อชาติ และ ศาสนาในดินแดนไอร์แลนด์เหนือให้กว้างยิ่งขึ้นไปอีก

ผลจาก Peace Wall ทำให้เกิดการแบ่งแยกโซนออกมาอย่างชัดเจน เด็กชาวไอร์แลนด์เหนือมากกว่า 90% เข้าเข้าเรียนโรงเรียนที่สร้างขึ้นเฉพาะของกลุ่มเชื้อชาติ ศาสนาของตน โดยแทบไม่มีโอกาสได้รู้จักชุมชนอีกด้านหนึ่งของกำแพง

นอกจากนี้ กลุ่มชาวไอริชคาทอลิกที่เป็นชนกลุ่มน้อยมักถูกเลือกปฏิบัติ และมีโอกาสในหน้าที่การงานน้อยกว่าชาวโปแตสแตนท์ ที่มีเสียงในรัฐบาลไอร์แลนด์เหนือที่มากกว่า

ความขัดแย้งยังคงฝังรากลึกรุนแรงต่อเนื่อง เมื่อชาวไอริชในไอร์แลนด์เหนือได้รวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ที่เท่าเทียมของตน จนเกิดจลาจลรุนแรง ทางอังกฤษได้ส่งกองกำลังเข้ามาปราบปรามในวันที่ 30 มกราคม 1972 จนมีชาวไอริชเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นถึง 26 คน เหตุการณ์นั้นได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ของไอร์แลนด์เหนือว่าเป็น "Bloody Sunday หรืออาทิตย์นองเลือด 1972"

ความเจ็บแค้นในครั้งนั้นก่อให้เกิดการตอบโต้อย่างรุนแรงจากกลุ่มกองกำลังกู้ชาติไอริช หรือ IRA ซึ่งหนึ่งในการโต้ตอบที่สะเทือนขวัญชาวอังกฤษอย่างมาก คือการลอบสังหาร ท่านเอิร์ล เมาท์แบทเทิ่น ด้วยการวางระเบิดเรือตกปลาส่วนตัวของครอบครัว ขณะที่มีบุตรสาวคนโต และครอบครัวลูกหลานของเอิร์ลเมาท์แบทเทิ่นกำลังไปพักผ่อนตกปลาร่วมกันถึง 7 คน เหตุลอบสังหารครั้งนั้น ทำให้เอิร์ลเมาท์แบทเทิ่น พร้อมสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตรวม 4 คน

ซึ่งเอิร์ล เมาท์แบทเทิ่นถือเป็นนายพลแห่งราชนาวีอังกฤษที่มีชื่อเสียงมาก และมีศักดิ์เป็นถึงพระปิตุลาของเจ้าชายฟิลิปแห่งเอดิบเบอระ พระสามีในสมเด็จพระราชินี อลิซเบธที่ 2

แต่หลังจากที่ตึงเครียดวุ่นวายมานาน ในที่สุดทั้งไอร์แลนด์เหนือ ไอร์แลนด์ อังกฤษ ก็สามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพร่วมกันในวันที่ 10 เมษายน 1998 ข้อตกลงฉบับนั้นมีชื่อว่า Good Friday Agreement เห็นชอบที่จะยุติความรุนแรงทุกฝ่าย ให้ชาวไอริชคาทอลิกมีสิทธิ์ มีเสียงในระบบการเมืองสภาไอร์แลนด์เหนือมากขึ้น นักประวัติศาสตร์อังกฤษต่างยกให้การบรรลุข้อตกลง Good Friday เป็นการสิ้นสุดยุค The Troubles ในไอร์แลนด์เหนือ

แม้ว่าความวุ่นวายจะยุติ แต่ความขัดแย้งในสังคมชาวไอร์แลนด์เหนือ ไม่เคยจางหายไป

ชาวโปแตสแตนท์ และชาวคาทอลิกในไอร์แลนด์เหนือ ยังคงอยู่ภายในกำแพงจำกัดเขตในชุมชนของตนไปอย่างเงียบ ๆ จนกระทั่งเกิดเรื่องที่กลับมาตอกลิ่มความแตกแยกให้ประทุมาอีกครั้ง นั่นคือการลงประชามติ Brexit ในปี 2016

แม้ว่าภาพรวมของการลงคะแนนทั่วทั้งสหราชอาณาจักรจะเห็นชอบให้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่หากมองคะแนนในแต่ละภูมิภาคจะพบว่าในเสียงไอร์แลนด์เหนือส่วนใหญ่ยังอยากอยู่กับ EU แถมชนะขาดเกือบ 11%

แต่เมื่อต้องร่วมหัวจมท้ายไปกับอังกฤษก็ต้องเป็นตามนั้น แต่ปัญหาอยู่ที่พรมแดนไอร์แลนด์เหนือ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์

จากเดิมที่ไม่มีปัญหาเพราะอังกฤษและไอร์แลนด์เป็นสมาชิก EU ทั้งคู่ สามารถเดินทางไปมาข้ามพรมแดนได้อย่างอิสระ แต่พออังกฤษแยกตัวออกจาก EU ตามเงื่อนไขของประเทศนอกสมาชิก จำเป็นต้องมีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและ กำแพงภาษีสินค้า

แต่ทั้งนี้อังกฤษขอต่อรองในเรื่องนี้ ยื้อกันนานกว่า 3 ปีจนสรุปออกมาได้ว่า EU จะยอมผ่อนผันเรื่องกำแพงระหว่างไอร์แลนด์เหนือ และประเทศไอร์แลนด์ได้ เพราะเห็นแก่ข้อตกลงสันติภาพ Good Friday 1998 แต่เขตแดนทางทะเลจำเป็นต้องมี

แม้จะไม่ได้เป็นกำแพงทางกายภาพ แต่เส้นแบ่งทางทะเลนี้จะรวมเขตไอร์แลนด์เหนือ เป็นเขตเดียวกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ จึงทำให้ฝ่ายนิยมสหราชอาณาจักร หรือกลุ่มอัลสเตอร์โปแตสแตนท์ไม่พอใจมาก ที่ดูเหมือนอังกฤษ และชาว EU ผลักไสพวกเขาไปอยู่ฝั่งเดียวกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ และมีการประท้วง เขียนกำแพงต่อต้านเส้นแบ่งทะเลไอร์แลนด์อยู่ทั่ว ๆ ตามแนวชายฝั่ง และท่าเรือที่มีแรงงานชาวไอริชคาทอลิกอยู่

ยิ่งมาเกิดการแพร่ระบาด Covid-19 มีการประกาศมาตรการล็อคดาวน์ และงดการชุมนุมในที่สาธารณะ ที่ชาวอัลสเตอร์โปแตสแตนท์ถูกห้ามไม่ให้ชุมนุม

แต่พอมีข่าวการเสียชีวิตของนายบ๊อบบี้ สโตร์ลีย์ อดีตหัวหน้าหน่วยของขบวนการ IRA รัฐบาลไอร์แลนด์เหนือกลับให้จัดพิธีศพใหญ่โตได้ ที่มีผู้ไปร่วมงานอย่างเนืองแน่นกว่า 2,000 คน รวมถึง มิชเชล โอ'นีลล์ รองนายกรัฐมนตรีของไอร์แลนด์เหนือ กลับไปร่วมงานได้โดยไม่ผิดกฏมาตรการควบคุมโรคระบาดของรัฐ

เหตุและผลสะสมกันมานานหลายเรื่องก็ระเบิดออกมากลายเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ โดยฝ่ายชาวโปแตสแตทน์นิยมอังกฤษ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกคับข้องใจว่าพวกเขารู้สึกเหมือนถูกละเมิดสิทธิ์ และกำลังจะถูกผลักไปอยู่รวมกับอีกฝ่ายที่อยู่คนละด้านของกำแพง

และหากเป็นเช่นนั้นจริงในอนาคต พวกเขาก็จะกลับกลายเป็นคนกลุ่มน้อยในเกาะไอร์แลนด์ทั้งหมดที่เป็นชาวคาทอลิกหรือไม่

การประท้วงเริ่มต้นตั้งแต่ 29 มีนาคม 2021 ที่ผ่านมาในเขตเดอร์รี ลอนดอนเดอร์รี และลามไปถึงเบลฟาสท์ กินเวลานานหลายวัน มีการขว้างปาก้อนอิฐ ระเบิดขวดข้ามกำแพง Peace Wall เข้าไปในฝั่งของชาวไอริช เผารถเมล์ โจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บาดเจ็บไปแล้วถึง 74 คนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นการประท้วงที่ดุเดือดที่สุดในไอร์แลนด์เหนือในรอบสิบปี ที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะกระทบกับข้อตกลง Good Friday ที่เคยสร้างความหวังว่าไอร์แลนด์เหนือจะสงบสุขได้จริง ๆ เสียที

จากการประท้วงครั้งล่าสุดนี้ ทำให้ผู้นำทั้ง 3 ดินแดน บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ อาร์ลีน ฟอสเตอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งไอร์แลนด์เหนือ และ ไมเคิล มาร์ติน นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ และพยายามหาทางออกด้วยสันติวิธี ตามหลักข้อตกลง Good Friday

ส่วนทั้งชาวโปแตสแตนท์ และชาวคาทอลิกในไอร์แลนด์เหนือต่างออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างมากมาย หลายความเห็นมองว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้เกิดไม่ทันความอลหม่านของบ้านเมืองในยุค The Troubles พวกเขามองกำแพง Peace Wall ด้วยความไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องเกิดมาเพื่อเจอสิ่งเหล่านี้

ไอร์แลนด์เหนือจะมีโอกาสได้พบกับยุคทองแห่งความสงบสุขบ้างหรือไม่ หรือความแตกแยกจะอยู่คู่กับไอร์แลนด์เหนือราวกับมรดกต้องคำสาปเช่นนี้ตลอดไป


ข้อมูลอ้างอิง :

https://edition.cnn.com/2021/04/09/uk/northern-ireland-violence-explainer-gbr-intl/index.html

https://abcnews.go.com/International/wireStory/explainer-latest-unrest-ireland-76990771?cid=clicksource_4380645_10_heads_posts_card_hed

https://www.bbc.com/news/uk-northern-ireland-56664378

https://en.m.wikipedia.org/wiki/The_Troubles